บุรณัชย์ สมุทรักษ์
บุรณัชย์ สมุทรักษ์ | |
---|---|
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ | |
ดำรงตำแหน่ง 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 – 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 | |
ก่อนหน้า | องอาจ คร้ามไพบูลย์ |
ถัดไป | ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 16 สิงหาคม พ.ศ. 2509 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2544–ปัจจุบัน) |
นายแพทย์ บุรณัชย์ สมุทรักษ์ (เกิด 16 สิงหาคม พ.ศ. 2509) ชื่อเล่น ท็อป หรือที่สื่อมวลชนนิยมเรียกว่า หมอท็อป อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ อดีตโฆษกพรรคประชาธิปัตย์
ประวัติ
[แก้]บุรณัชย์ เกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2509 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ พล.อ.เมธี สมุทรักษ์ อดีตประธานคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองทางทหาร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิพย์วัลย์ สมุทรักษ์ อดีต สว.สรรหา และ อดีตคณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
การศึกษา
[แก้]นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ จบมัธยมศึกษาจาก โรงเรียน สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน เมื่อปี พ.ศ. 2527 สำเร็จปริญญาตรี แพทยศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คะแนนยอดเยี่ยมอันดับที่ 1 (ศัลยกรรมทรวงอก) ปี พ.ศ. 2533 และปริญญาโท 2 สาขา คือ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ (พ.ศ. 2535) และสาขานโยบายและบริหาร มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2537)
ในปี พ.ศ. 2553 เข้ารับการศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ของสถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรุ่นที่ 11 และเป็นรุ่นเดียวกันกับนักการเมืองชื่อดังอีกหลายคน อาทินายสรอรรถ กลิ่นประทุม นายประจวบ ไชยสาส์น นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ฯลฯ
การทำงาน
[แก้]ก่อนเข้าสู่วงการเมือง นพ.บุรณัชย์ เคยเป็นอาจารย์ที่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเกี่ยวข้องกับวงการเมืองในปี พ.ศ. 2540 โดยรับตำแหน่งข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล นายชวน หลีกภัย 2 ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 นพ.บุรณัชย์ ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก ในแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ลำดับที่ 39 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 นพ.บุรณัชย์ เข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้านสาธารณสุข ของ พรรคประชาธิปัตย์ น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ และคณะพรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดทำ ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร (มีร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ เสนอรวมทั้งสิ้น 5 ฉบับ คือ 1. ฉบับรัฐบาล เสนอโดย นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2. ฉบับประชาชนเข้าชื่อ 95,410 คน เสนอประธานสภาผู้แทนราษฎร 3. ฉบับที่เสนอโดย น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ และคณะพรรคประชาธิปัตย์ 4. ฉบับที่เสนอโดย น.พ.วินัย วิริยะกิจจา และ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ พรรคชาติไทย และ 5. ฉบับที่เสนอโดย นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ และคณะพรรคไทยรักไทย)
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2550 น.พ.บุรณัชย์ ลงสมัคร ส.ส.แบบสัดส่วน กลุ่ม 6 ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ภายหลังการจัดตั้ง รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ทำให้ พรรคประชาธิปัตย์ มีสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคเดียวในสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์จึงประกาศจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบ และเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบที่มีในต่างประเทศ น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ได้รับเลือกจากทางพรรคให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีเงาช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ตามข้อบังคับพรรค และ น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์
ต่อมา ดร.ประกอบ จิรกิติ ส.ส.สัดส่วน กลุ่ม 6 ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลาออกเพื่อเข้าร่วมทีมบริหารกรุงเทพมหานคร ของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ทำให้ นพ.บุรณัชย์ ที่เป็นผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วน ในลำดับถัดมาได้เลื่อนลำดับขึ้นดำรงตำแหน่ง ส.ส.สัดส่วน ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ[1] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย
ชีวิตส่วนตัว
[แก้]ปัจจุบัน น.พ.บุรณัชย์ สมรสแล้ว มีลูกชายทั้งหมด 3 คน มีกิจกรรมส่วนตัวที่ชื่นชอบ คือ ฟังและเล่นดนตรีในหลายแนว ทั้งป๊อป, ร็อก และแจ๊ส ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนอยู่ โดยเล่นดนตรีร่วมกับนักดนตรีอาชีพหลายคนจนสนิทสนมกัน เช่น เบิร์ดกะฮาร์ท, ภาสกร หุตะวณิช แห่งวงร็อคเคสตร้า, อภิวัฒน์ พงษ์วาท แห่งวงอีทีซี เป็นต้น มีเครื่องดนตรีที่เล่น คือ แซ็กโซโฟน และคีย์บอร์ด[2]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2555 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2552 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคประชาธิปัตย์)
- ↑ บ้านนี้สีฟ้า (รีรัน), รายการทางบลูสกายแชนแนล: พุธที่ 1 พฤษภาคม 2556
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2013-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๓๕ ข หน้า ๘, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒ เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๒๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2509
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากกรุงเทพมหานคร
- นักดนตรีชาวไทย
- อาจารย์คณะแพทยศาสตร์
- แพทย์ชาวไทย
- นักการเมืองไทย
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยแบบบัญชีรายชื่อ
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยแบบสัดส่วน
- นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
- บุคคลจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
- นิสิตเก่าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.