ข้ามไปเนื้อหา

ชาวโตราจา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ชาวโตราจา
เด็กหญิงชาวโตราจาในพิธีแต่งงาน
ประชากรทั้งหมด
1,100,000 คน[1]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
 อินโดนีเซีย:
ซูลาเวซีใต้600,000 คน[2]
ซูลาเวซีตะวันตก179,846 คน (14% ของประชากร)[3]
ภาษา
ภาษาโตราจา-ซะดัน, ภาษากาลุมปัง, ภาษามามาซา, ภาษาตาเอะ, ภาษาตาลนโดะ, ภาษาโตอาละ (ภาษาท้องถิ่น) และภาษาอินโดนีเซีย
ศาสนา
ศาสนาคริสต์ (โปรเตสแตนต์ 69.15%, โรมันคาทอลิก 16.97%), ศาสนาอิสลาม 5.99% และ ศาสนาฮินดูแบบโตราจา (อาลุกโตโดโล) 5.99%[1]
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
มันดาร์, บูกิซ, มากัซซาร์[4]
ที่ตั้งของเกาะซูลาเวซีในประเทศอินโดนีเซีย

ชาวโตราจา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ภูเขาแห่งหนึ่งของจังหวัดซูลาเวซีใต้ ประเทศอินโดนีเซีย มีประชากรประมาณ 1,100,000 คน ในจำนวนนี้มี 450,000 คนที่อาศัยอยู่ในอำเภอตานาโตราจา (Tana Toraja; "ดินแดนโตราจา")[1] ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลามหรือมีความเชื่อแบบวิญญาณนิยมท้องถิ่นที่เรียกว่า อาลุก (aluk; "วิถีทาง") รัฐบาลอินโดนีเซียได้รับรองความเชื่อนี้ในชื่อ อาลุกโตโดโล (Aluk To Dolo; "วิถีบรรพชน")

คำว่า โตราจา (Toraja) มาจากศัพท์ โตรียาจา (to riaja) ซึ่งแปลว่า "คนที่สูง" ในภาษาบูกิซ รัฐบาลอาณานิคมดัตช์เรียกชนกลุ่มนี้ว่าชาว "โตราจา" ครั้งแรกใน ค.ศ. 1909[5] ชาวโตราจาเป็นที่รู้จักจากพิธีศพที่ประณีต สถานที่ฝังศพที่แกะสลักเข้าไปในผาหิน บ้านทรงตงโกนันซึ่งมีหลังคายอดแหลมใหญ่ และงานแกะสลักไม้สีสันสดใส ส่วนพิธีศพของชาวโตราจาเป็นกิจกรรมทางสังคมที่สำคัญ โดยทั่วไปมีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคนและจัดขึ้นเป็นเวลาหลายวัน

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวโตราจาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่มีลักษณะปกครองตนเอง มีพิธีกรรมเกี่ยวกับวิญญาณ และไม่ค่อยมีการติดต่อกับโลกภายนอก จนกระทั่งต้นคริสต์ทศวรรษ 1900 มิชชันนารีชาวดัตช์ได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่และโน้มน้าวให้ชาวโตราจาหันไปนับถือศาสนาคริสต์ เมื่ออำเภอตานาโตราจาเปิดกว้างสู่โลกภายนอกยิ่งขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1970 ตานาโตราจาได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวในประเทศอินโดนีเซีย และถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาเชิงท่องเที่ยวและกลายเป็นเป้าหมายการศึกษาในทางมานุษยวิทยา[6] ในคริสต์ทศวรรษ 1990 ซึ่งการท่องเที่ยวในตานาโตราจามาถึงจุดสูงสุด สังคมโตราจาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากสังคมเกษตรกรรมที่ซึ่งชีวิตทางสังคมและจารีตประเพณีมีรากฐานจากอาลุกโตโดโล ไปสู่สังคมที่มีวัฒนธรรมคริสต์เป็นส่วนใหญ่[7] ในปัจจุบัน การท่องเที่ยวประกอบกับเม็ดเงินที่ชาวโตราจาโพ้นทะเลส่งเข้ามามีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในที่สูงโตราจา มีส่วนในการสร้างชื่อเสียงของโตราจาในบรรดาชนชาติพันธุ์ของอินโดนีเซียและส่งเสริมความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของโตราจา[8]

อัตลักษณ์ชาติพันธุ์

[แก้]
การก่อสร้างบ้านพื้นเมืองในหมู่บ้านโตราจาแห่งหนึ่ง ค.ศ. 1948

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวโตราจามีความรับรู้ตนเองน้อยมากว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างแยกจากกลุ่มอื่น ก่อนการเข้ามาของเจ้าอาณานิคมดัตช์และการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ชาวที่สูงโตราจาแยกอัตลักษณ์ของตนโดยใช้หมู่บ้านและไม่มีความรู้สึกร่วมต่ออัตลักษณ์ในฐานะชาวโตราจา แม้ว่าพิธีกรรมต่าง ๆ จะสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านเหล่านี้ แต่ในแถบที่สูงของซูลาเวซีก็ยังปรากฏความแตกต่างระหว่างหมู่บ้าน ดังที่สังเกตได้ในภาษาถิ่น การจัดลำดับชั้นทางสังคม และรูปแบบการประกอบพิธีกรรม ในช่วงแรกกลุ่มชนที่ลุ่มใช้คำว่า "โตราจา" (มาจากคำว่า โต ซึ่งแปลว่า "ผู้คน" และคำว่า รียาจา ซึ่งแปลว่า "ที่สูง" ในบรรดาภาษาชายฝั่ง) เพื่อเรียกกลุ่มชนที่อยู่บนที่สูง[5] ดังนั้นคำว่า โตราจา ในช่วงนั้นจึงมีที่ใช้ในหมู่คนในกันเองน้อยกว่าเมื่อเทียบกับในหมู่คนนอกอย่างชาวบูกิซและชาวมากัซซาร์ซึ่งเป็นชาวที่ลุ่มส่วนใหญ่ของซูลาเวซี ภายหลังมิชชันนารีชาวดัตช์เดินทางเข้ามายังที่สูง นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความตระหนักในอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์โตราจาในภูมิภาคซะดันโตราจา (Sa'dan Toraja) และความรู้สึกต่ออัตลักษณ์ร่วมนี้ก็เติบโตขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวในอำเภอตานาโตราจา[6] นับแต่นั้นมา จังหวัดซูลาเวซีใต้จึงประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์สี่กลุ่มหลัก ได้แก่ ชาวบูกิซ (ชนส่วนใหญ่ ช่างต่อเรือและชาวเรือ), ชาวมากัซซาร์ (คนค้าขายและชาวเรือในที่ลุ่ม), ชาวมันดาร์ (คนค้าขายและชาวประมง) และชาวโตราจา (คนปลูกข้าวในที่สูง)[9]

ประวัติศาสตร์

[แก้]
นักรบชาวโตราจาจากซูลาเวซีใต้ถือหอกและโล่กันตาแบบดั้งเดิม

นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์ได้สถาปนาอำนาจควบคุมทางการค้าและการเมืองเหนือเกาะซูลาเวซีผ่านบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ เป็นเวลากว่าสองศตวรรษที่เขตที่สูงในซูลาเวซีตอนกลาง (ที่อยู่อาศัยของชาวโตราจา) ไม่ได้รับความสนใจจากชาวดัตช์ เป็นเพราะการเข้าถึงที่ยากลำบากและที่ดินที่ทำการเกษตรได้มีไม่มากนัก กระทั่งเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชาวดัตช์เริ่มกังวลมากขึ้นต่อการขยายตัวของศาสนาอิสลามในซูลาเวซีใต้โดยเฉพาะในหมู่ชาวมากัซซาร์และชาวบูกิซ ชาวดัตช์มองว่ากลุ่มชนผู้นับถือวิญญาณในดินแดนที่สูงเป็นกลุ่มที่สามารถหันมานับถือศาสนาคริสต์ได้ ในคริสต์ทศวรรษ 1920 พันธมิตรมิชชันนารีนิกายปฏิรูป (Reformed Missionary Alliance) ของคริสตจักรปฏิรูปดัตช์จึงเริ่มกิจการมิชชันนารีด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเจ้าอาณานิคมดัตช์[10] นอกจากการเผยแผ่ศาสนาคริสต์แล้ว ชาวดัตช์ยังได้ยกเลิกระบบทาสและบังคับใช้ระบบภาษีในท้องถิ่น มีการขีดเส้นแบ่งรอบพื้นที่ซะดัน (Sa'dan) แล้วตั้งชื่อให้ว่า "ตานาโตราจา" ในระยะแรกตานาโตราจาเป็นเขตการปกครองหนึ่งของอาณาจักรลูวูผู้อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าว[11] ใน ค.ศ. 1946 ชาวดัตช์ได้กำหนดให้ตานาโตราจามีฐานะเป็นเขตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (regentschap) และใน ค.ศ. 1957 รัฐบาลอินโดนีเซียได้รับรองให้เป็นอำเภอ (kabupaten) หนึ่งของประเทศ[10]

มิชชันนารีชาวดัตช์ในยุคแรกต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งขันจากชาวโตราจา โดยเฉพาะจากกลุ่มคนชั้นนำซึ่งไม่พอใจที่ตนต้องสูญเสียผลประโยชน์จากการยกเลิกการค้าทาส[12] ขาวโตราจาบางส่วนถูกชาวดัตช์บังคับให้ย้ายลงไปอาศัยในที่ลุ่มเพื่อจะควบคุมชนกลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น มีการเก็บภาษีในอัตราสูงเพื่อบ่อนทำลายความมั่งคั่งของกลุ่มคนชั้นนำ แต่ท้ายที่สุดอิทธิพลของชาวดัตช์ไม่สามารถทำให้วัฒนธรรมโตราจาอ่อนแอลงได้ และมีชาวโตราจาเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่เปลี่ยนศาสนา[13] ใน ค.ศ. 1950 มีประชากรโตราจาเพียงร้อยละ 10 ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์[12]

ในคริสต์ทศวรรษ 1930 ชาวมุสลิมจากที่ลุ่มเข้าโจมตีชาวโตราจา ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสต์ครั้งใหญ่ในบรรดาผู้ที่เสาะหาพันธมิตรชาวดัตช์เพื่อรับการคุ้มครองทางการเมือง และเพื่อจัดตั้งขบวนการต่อต้านชาวมุสลิมบูกิซและมากัซซาร์ ระหว่าง ค.ศ. 1951 ถึง 1965 (หลังประเทศอินโดนีเซียได้รับเอกราช) ซูลาเวซีใต้ต้องเผชิญกับช่วงเวลาอันอลหม่านเมื่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนดารุลอิสลามต่อสู้เพื่อจัดตั้งรัฐอิสลามขึ้นในซูลาเวซี ช่วงเวลา 15 ปีของการรบแบบกองโจรในพื้นที่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ครั้งใหญ่ในหมู่ชาวโตราจา[14]

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลอินโดนีเซียไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้แก่ชาวโตราจาได้ ใน ค.ศ. 1965 กฤษฎีกาจากประธานาธิบดีกำหนดให้พลเมืองอินโดนีเซียทุกคนต้องนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งในห้าศาสนาที่รัฐให้การรับรองอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ (โปรเตสแตนต์และคาทอลิก) ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธเท่านั้น[15] ความเชื่อท้องถิ่นของโตราจา (อาลุก) ไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมาย ชาวโตราจาได้แสดงความเห็นต่อต้านกฎหมายดังกล่าว ใน ค.ศ. 1969 อาลุกโตโดโล ("วิถีบรรพชน") ได้รับการทำให้ถูกกฎหมายในฐานะนิกายหนึ่งของอาคมฮินดูธรรม ชื่อทางการของศาสนาฮินดูในประเทศอินโดนีเซีย[10]

สังคม

[แก้]

ครอบครัว

[แก้]
ผู้เฒ่าชาวโตราจาในชุดพื้นเมืองขณะรวมตัวกันในงานศพ เดือนมีนาคม ค.ศ. 2014

ครอบครัวเป็นกลุ่มทางสังคมและการเมืองระดับปฐมภูมิในสังคมโตราจา หมู่บ้านหนึ่งหมู่บ้านถือเป็นครอบครัวขยายหนึ่งครอบครัวโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตงโกนันหรือบ้านโตราจาแบบดั้งเดิม ตงโกนันแต่ละแห่งจะมีชื่อเป็นของตนเองซึ่งใช้เป็นชื่อของหมู่บ้านด้วย ผู้นำครอบครัวมีหน้าที่ดูแลรักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของหมู่บ้าน การสมรสระหว่างญาติห่าง ๆ (ญาติตั้งแต่ลำดับที่สี่ขึ้นไป) เป็นธรรมเนียมปฏิบัติโดยทั่วไปที่สร้างความแน่นแฟ้นในเครือญาติ สังคมโตราจาห้ามการแต่งงานระหว่างญาติใกล้ชิด (ญาติตั้งแต่ลำดับที่สามลงมา) ยกเว้นแต่ในชนชั้นสูงเพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพย์สมบัติกระจัดกระจาย[16]

บุคคลแต่ละคนเป็นของทั้งครอบครัวฝั่งแม่และพ่อ ถือเป็นสายตระกูลแบบนับญาติสองข้างเพียงสายเดียวในประเทศอินโดนีเซีย[17]

ก่อนการเริ่มต้นระบบการปกครองหมู่บ้านโตราจาอย่างเป็นทางการโดยอำเภอตานาโตราจา หมู่บ้านโตราจาแต่ละหมู่บ้านเคยปกครองตนเองมาก่อน ในสถานการณ์อันซับซ้อนที่ครอบครัวโตราจาครอบครัวหนึ่ง ๆ ไม่สามารถรับมือกับปัญหานั้นได้เพียงลำพัง หมู่บ้านหลายหมู่บ้านจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม และในบางครั้งหมู่บ้านกลุ่มหนึ่งอาจรวมตัวกันต่อต้านหมู่บ้านกลุ่มอื่น ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวต่าง ๆ แสดงออกผ่านทางสายเลือด การแต่งงาน และบ้านบรรพชนที่อาศัยร่วมกัน (ตงโกนัน) ความสัมพันธ์นี้จะยืนยันในทางปฏิบัติผ่านการแลกเปลี่ยนควายและหมูในพิธีกรรมต่าง ๆ การแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่เพียงแต่สร้างความผูกพันทางการเมืองและวัฒนธรรมระหว่างครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการกำหนดตำแหน่งของแต่ละบุคคลในลำดับชั้นทางสังคมด้วย เช่น ในพิธีกรรม มีผู้มีหน้าที่เทน้ำตาลเมา ผู้มีหน้าที่ห่อศพและเตรียมเครื่องถวาย จุดที่บุคคลหนึ่ง ๆ นั่งได้หรือนั่งไม่ได้ จานอาหารใดที่ควรใช้หรือควรเลี่ยง หรือแม้แต่ส่วนของเนื้อสัตว์ที่บุคคลหนึ่ง ๆ จะได้รับ[18]

ลำดับชั้น

[แก้]
ควายเผือกและเขาที่ประดับเป็นสีทอง

ในสังคมโตราจายุคเริ่มแรก ความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับลำดับชั้นทางสังคม สังคมประกอบด้วยสามช่วงชั้น ได้แก่ ชนชั้นสูง สามัญชน และทาส (ระบบทาสถูกยกเลิกไปใน ค.ศ. 1909 โดยรัฐบาลหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์) ชั้นชนทางสังคมจะสืบทอดผ่านแม่ ดังนั้นจึงมีข้อห้ามแต่งงาน "ลงล่าง" ไปหาหญิงชั้นต่ำกว่า ในขณะที่การแต่งงานกับหญิงชั้นสูงกว่าจะช่วยยกระดับทางสังคมของรุ่นถัดไปได้ ทัศนคติการถือตัวเหนือชั้นชนอื่นของชนชั้นสูงยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบันด้วยเหตุผลเรื่องศักดิ์ศรีของตระกูล[7]

ชนชั้นสูงซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทายาทสายตรงจากผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากสวรรค์[19] อาศัยในตงโกนัน ในขณะที่สามัญชนอาศัยในบ้านที่มีลักษณะเรียบง่ายกว่า (เป็นบ้านที่สร้างจากไม้ไผ่ เรียกว่า "บานูวา") ส่วนทาสอาศัยในกระท่อมซึ่งต้องสร้างขึ้นรอบ ๆ ตงโกนันของเจ้าของทาส สามัญชนสามารถแต่งงานกับใครก็ได้ แต่ชนชั้นสูงนิยมแต่งงานกันในตระกูลมากกว่าเพื่อคงสถานะทางสังคมของตระกูลไว้ บางครั้งชนชั้นสูงอาจแต่งงานกับชนชั้นสูงชาวบูกิซหรือชาวมากัซซาร์ นอกจากนี้ สามัญชนและทาสยังถูกห้ามไม่ให้จัดงานฉลองในพิธีเกี่ยวกับความตาย แม้จะมีความใกล้ชิดทางเครือญาติและการสืบทอดสถานะทางสังคม แต่ในสังคมโตราจาก็ยังมีการเปลี่ยนสถานะทางสังคมเนื่องจากการแต่งงานหรือการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพย์สินอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของแต่ละบุคคลได้[16]

ในสมัยที่ยังมีทาสนั้น ทาสในสังคมโตราจาเป็นทรัพย์สินของครอบครัว บางครั้งชาวโตราจาตัดสินใจมาเป็นทาสโดยขอทำงานชดใช้หนี้ ทาสสามารถถูกยึดครองได้ระหว่างสงครามและการค้าทาสก็เป็นเรื่องปกติ ทาสสามารถซื้ออิสรภาพของตนได้ แต่ลูกยังคงสืบทอดสถานะทาสต่อไป ทาสจะถูกห้ามสวมใส่ทองแดงหรือทอง แกะสลักบ้านของตน กินอาหารโดยใช้จานเดียวกับเจ้าของ[20]

ศาสนา

[แก้]
นักบวชโตราจาในระหว่างเทศกาลหนึ่ง

ระบบความเชื่อพื้นเพดั้งเดิมของชาวโตราจามีลักษณะเป็นลัทธิวิญญาณนิยมแบบพหุเทวนิยม เรียกว่า "อาลุก" หรือ "วิถีทาง" (บางครั้งแปลว่า "กฎ") ตามความเชื่อปรัมปราโตราจา บรรพชนของชาวโตราจาลงมาจากสวรรค์โดยใช้บันไดซึ่งต่อมาชาวโตราจาได้ใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อกับ ปูวังมาตูวา (Puang Matua) ซึ่งเป็นพระผู้สร้าง[21] จักรวาลแบ่งออกเป็นโลกข้างบน (สวรรค์), โลกมนุษย์ (โลก) และโลกข้างใต้[12] ในตอนแรก สวรรค์และโลกได้แต่งงานกัน จากนั้นจึงบังเกิดความมืด การแบ่งแยก และแสงในที่สุด สัตว์อาศัยอยู่ในโลกข้างใต้ซึ่งแทนด้วยพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบด้วยเสา โลกมีไว้สำหรับมนุษยชาติ และโลกสวรรค์ตั้งอยู่ด้านบน ปกคลุมด้วยหลังคาทรงอานม้า เทพเจ้าของโตราจาองค์อื่น ๆ ได้แก่ ปงบังไกดีรันเต (Pong Banggai di Rante; เทพแห่งโลก), อินโดะโองน-โองน (Indo' Ongon-Ongon; เทวีผู้สามารถก่อแผ่นดินไหว), ปงลาลนดง (Pong Lalondong; เทพแห่งความตาย) และ อินโดะเบโลตุมบัง (Indo' Belo Tumbang; เทวีแห่งการแพทย์) เป็นต้น[22]

ผู้มีอำนาจทางโลกเรียกว่า โตมีนาอา (to minaa; นักบวชของอาลุก) คำพูดและการกระทำของ โตมีนาอา แยกออกเป็นด้านชีวิต (เกษตรกรรม) และด้านความตาย (พิธีศพ) อาลุกไม่ได้เป็นเพียงระบบความเชื่อ แต่เป็นการผสมผสานระหว่างกฎหมาย ศาสนา และความประพฤติ อาลุกมีอำนาจเหนือชีวิตทางสังคม เกษตรกรรม และพิธีเกี่ยวเนื่องกับบรรพชน รายละเอียดของอาลุกอาจแตกต่างกันไปตามหมู่บ้าน แต่กฎทั่วไปกฎหนึ่งคือการแยกพิธีเกี่ยวกับชีวิตและพิธีเกี่ยวกับความตายออกจากกัน ด้วยความเชื่อว่าพิธีเกี่ยวกับความตายอาจทำลายศพได้หากนำมาปฏิบัติร่วมกับพิธีเกี่ยวกับชีวิต[23] พิธีทั้งสองมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ในสมัยของมิชชันนารีชาวดัตช์ ชาวโตราจาที่นับถือศาสนาคริสต์ถูกห้ามเข้าร่วมหรือประกอบพิธีเกี่ยวกับชีวิต แต่ยังได้รับอนุญาตให้ประกอบพิธีเกี่ยวกับความตาย[13]

วัฒนธรรม

[แก้]

ตงโกนัน

[แก้]
ธนบัตร 5,000 รูปียะฮ์ แสดงภาพตงโกนัน
อาคารที่ทำการฝ่ายบริหารในรันเตปาโอ สร้างด้วยหลังคาแบบตงโกนัน

บ้านของบรรพชนแบบดั้งเดิมของชาวโตราจาเรียกว่าตงโกนัน (tongkonan) ตั้งอยู่สูงตระหง่านบนกองไม้ มีหลังคาไม้ไผ่แยกชั้นในรูปทรงโค้งแอ่น และมีงานแกะสลักไม้พร้อมรอยบากสีแดง ดำ หรือเหลืองประดับบนผนังด้านนอก คำว่า "ตงโกนัน" มาจากคำในภาษาโตราจาว่า ตงกน (tongkon) ซึ่งแปลว่า "นั่ง"[24]

ตงโกนันเป็นศูนย์กลางของชีวิตทางสังคมโตราจา พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับตงโกนันล้วนเป็นการแสดงออกที่สำคัญของชีวิตทางจิตวิญญาณโตราจา ฉะนั้นสมาชิกทั้งหมดในครอบครัวจึงถูกผลักดันให้เข้าร่วม เนื่องจากในทางสัญลักษณ์นั้น ตงโกนันเป็นตัวแทนความเชื่อมโยงสู่บรรพชน เครือญาติที่มีชีวิตอยู่ และเครือญาติในอนาคต[8][18] ตามตำนานของชาวโตราจา ตงโกนันหลังแรกสร้างขึ้นบนสวรรค์ มีเสาสี่เสารองรับ หลังคาทำมาจากผ้าอินเดีย เมื่อบรรพชนของโตราจาคนแรกเดินทางลงมายังโลก เขาได้สร้างบ้านขึ้นโดยเลียนแบบจากบ้านบนสวรรค์และจัดพิธีฉลองครั้งใหญ่[25]

ตงโกนันแบ่งออกเป็นสามชนิดหลัก ๆ คือ ตงโกนันลายุก (tongkonan layuk) บ้านของผู้มีอำนาจสูงสุดและใช้เป็น "ศูนย์กลางการปกครองและบริหาร" ส่วน ตงโกนันเปกัมเบรัน (tongkonan pekamberan) เป็นของสมาชิกในครอบครัวที่ยังคงมีอำนาจบางอย่างตามธรรมเนียมท้องถิ่น ส่วนสมาชิกในครอบครัวสามัญชนจะอาศัยอยู่ใน ตงโกนันบาตู (tongkonan batu)[26]

งานแกะสลักไม้

[แก้]

ชาวโตราจาแกะสลักไม้เพื่อบอกเล่าแนวคิดทางศาสนาและสังคม งานแกะสลักไม้นั้นเรียกว่า ปะอส์ซูรา (Pa'ssura) งานแกะสลักไม้จึงเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งของชาวโตราจา[27]

งานแกะสลักแต่ละชิ้นมีชื่อเฉพาะเป็นของตัวเอง ลายแม่บทที่นิยมแกะสลักคือสัตว์และพืชซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมบางอย่าง เช่น พืชน้ำและสัตว์น้ำอย่างปู ลูกอ๊อด และวัชพืชน้ำโดยทั่วไปมักใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ ในบางพื้นที่ ผู้อาวุโสที่เป็นชนชั้นสูงอ้างว่าสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งของครอบครัวชั้นสูง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วย ความหมายโดยรวมของกลุ่มลายแม่บทที่แกะสลักกันตามบ้านเรือนยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่[8] และการท่องเที่ยวยิ่งทำให้การถกเถียงนี้ซับซ้อนขึ้นไปอีกเพราะบางคนรู้สึกว่าควรมีคำอธิบายเพียงแบบเดียวให้แก่นักท่องเที่ยว[8] งานแกะสลักไม้โตราจาประกอบด้วยแผงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสจำนวนมาก แต่ละแผงอาจเป็นตัวแทนถึงสิ่งต่าง ๆ เช่น รูปควายเป็นตัวแทนของความปรารถนาถึงความมั่งคั่งสำหรับครอบครัว รูปกล่องและเงื่อนเป็นสัญลักษณ์แทนความหวังว่าลูกหลานทุกคนในครอบครัวจะมีความสุขและอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว รูปสัตว์น้ำบ่งบอกความต้องการงานหนักและเร็วอย่างการเคลื่อนที่ไปบนผิวน้ำ[27]

ความสม่ำเสมอและความเป็นระเบียบเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในงานแกะสลักไม้ของโตราจา (ดูเพิ่มในตารางด้านล่าง) เช่นเดียวกับงานออกแบบแนวนามธรรมและรูปร่างเรขาคณิต ธรรมชาติมักถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานของการตกแต่งแบบโตราจาเพราะธรรมชาติเต็มไปด้วยนัยนามธรรมและรูปทรงเรขาคณิตที่มีความสม่ำเสมอและการจัดระเบียบในตัว[28] ของตกแต่งของโตราจาได้รับการศึกษาในทางคณิตศาสตร์ชาติพันธุ์วรรณนาเพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ของมัน อย่างไรก็ตาม ชาวโตราจาวางรากฐานงานเหล่านี้ขึ้นมาจากการประมาณเท่านั้น[28]

ตัวอย่างลวดลายโตราจา
ปะเตดง
(ควาย)
ปะบาร์เรอัลโล
(พระอาทิตย์ส่องแสง)
ปะเระโปะซางูบา
(เต้นอยู่คนเดียว)
เนะลิมโบงัน
(นักออกแบบในตำนาน)
ภาพราสเตอร์มาจาก [29]

พิธีศพ

[แก้]
พิธีศพขณะแบกหามโลงศพซึ่งทำเป็นรูปเลียนแบบตงโกนัน

ในสังคมโตราจา พิธีศพเป็นพิธีที่ประณีตและมีค่าใช้จ่ายสูงที่สุด ยิ่งบุคคลมีอำนาจและความร่ำรวยมากเท่าใด พิธีศพก็ยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น ในศาสนาอาลุกมีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีสิทธิ์จัดงานฉลองอย่างอลังการในพิธีศพ[30] งานฉลองในพิธีศพของชนชั้นสูงมักมีผู้เข้าร่วมหลายพันคนและกินเวลาหลายวัน สถานที่จัดพิธีกรรมเรียกว่า "รันเต" (rante) ซึ่งมักเป็นทุ่งหญ้าโล่งกว้าง และครอบครัวของผู้ตายจะสร้างที่พักพิงสำหรับผู้เข้าร่วม ยุ้งฉาง และสิ่งก่อสร้างในพิธีศพอื่น ๆ เป็นการเฉพาะ ดนตรีขลุ่ย บทสวดศพ เพลงและบทกวี และการร้องไห้คร่ำครวญเป็นการแสดงออกถึงความเศร้าโศกตามแบบฉบับของชาวโตราจา ยกเว้นเพียงในพิธีศพของเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ที่ยากจนและไม่มีสถานะทางสังคมสูง[31]

พิธีศพอาจจัดขึ้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือแม้กระทั่งหลายปีหลังการตายเพื่อให้ครอบครัวของผู้ตายสามารถรวบรวมทุนสำหรับจ่ายค่าพิธีศพได้[32] ชาวโตราจามีความเชื่อตามธรรมเนียมว่าการตายไม่ใช่ขั้นตอนที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือฉับพลัน แต่เป็นกระบวนการอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ ปูยา (Puya; ดินแดนแห่งวิญญาณหรือชีวิตหลังความตาย) ในช่วงที่รออยู่นั้น ร่างของผู้ตายจะถูกห่อด้วยผ้าหลายชั้นและเก็บไว้ใต้ตงโกนัน เชื่อกันว่าวิญญาณของผู้ตายจะวนเวียนอยู่ในหมู่บ้านจนกว่าพิธีศพจะเสร็จสมบูรณ์ แล้วจึงเริ่มออกเดินทางสู่ปูยา[33]

สถานที่ฝังศพที่แกะสลักจากผาหิน ตาอูตาอู (หุ่นพยนต์) ถูกวางไว้โดยให้หันหน้าออกมายังพื้นที่ของหมู่บ้าน

องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งของพิธีศพคือการฆ่าควาย ยิ่งคนตายมีอำนาจมากเท่าใด ควายที่ถูกฆ่าระหว่างงานฉลองในพิธีศพก็ยิ่งมีจำนวนมากขึ้นเท่านั้น ซากและหัวควายมักถูกนำมาเรียงกันบนลานเพื่อรอคอยเจ้าของ (ผู้ตาย) ซึ่งกำลังอยู่ใน "ระยะหลับใหล" ชาวโตราจาเชื่อว่าผู้ตายจะใช้ควายเหล่านี้ออกเดินทางและจะสามารถเดินทางไปถึงปูยาได้เร็วขึ้นหากมีควายจำนวนมาก การฆ่าควายหลายสิบตัวและหมูหลายร้อยตัวโดยใช้มีดพร้าถือเป็นจุดสูงสุดของงานฉลองอันประณีต พร้อมกันนั้นยังมีการเต้นรำประกอบดนตรีและมีเด็กผู้ชายคอยรองเลือดที่กระเซ็นใส่กระบอกไม้ไผ่ยาว สัตว์บางส่วนที่ถูกฆ่าได้มาจากผู้เข้าร่วมพิธีในฐานะ "ของขวัญ" ที่ได้รับความใส่ใจเป็นอย่างดีเพราะจะถือว่าเป็นหนี้ของครอบครัวผู้ตาย[34] อย่างไรก็ตาม การชนไก่ (bulangan londong) ก็เป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและมีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับการฆ่าหมูและควายเพราะเกี่ยวข้องกับการที่เลือดหยดลงบนแผ่นดิน ตามธรรมเนียมกำหนดไว้ว่าต้องมีการสังเวยไก่อย่างน้อย 3 ตัว อย่างไรก็ตาม การชนไก่อย่างน้อย 25 คู่ก็ถือเป็นเรื่องปกติในบริบทของพิธีศพ[35]

ชาวโตราจาขณะประกอบพิธี มะเนเน ให้กับร่างผู้ตายสองร่าง

การฝังศพมีอยู่สามวิธี โดยอาจวางโลงศพไว้ในถ้ำ วางในที่ฝังศพหินแกะสลัก หรือแขวนไว้ตามหน้าผา ในการฝังศพจะมีการบรรจุข้าวของที่ผู้ตายจะต้องใช้ในโลกหลังความตาย ศพของผู้มั่งคั่งมักจะได้รับการฝังในที่ฝังศพที่แกะสลักจากผาหิน ที่ฝังแบบนี้มักมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะสร้างเสร็จ ในบางพื้นที่อาจใช้ถ้ำหินที่มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับครอบครัวหนึ่งได้ หุ่นพยนต์แกะสลักจากไม้ เรียกว่า ตาอูตาอู (Tau tau) มักนำไปวางในถ้ำโดยให้หันหน้าออกมาสู่ดินแดน[36] ส่วนโลงศพของทารกจะยึดติดเข้ากับโพรงที่ขุดเข้าไปในต้นไม้ซึ่งอาจเรียกว่า "ต้นไม้ทารก"[37]

พิธีกรรมที่เรียกว่า มะเนเน (Ma'Nene) จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยจะนำร่างผู้ตายออกมาจากที่ฝังศพเพื่อล้างทำความสะอาด ตกแต่ง และแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่[38]

การร่ายรำและดนตรี

[แก้]
ผู้แสดงการเต้นรำแบบ ปะเก็ลลู (Pa'gellu) ในตานาโตราจา

ชาวโตราจาแสดงการเต้นรำในหลายโอกาส โดยเฉพาะในระหว่างพิธีศพอันประณีต พวกเขาเต้นรำเพื่อแสดงความเศร้าโศกและเพื่อเป็นเกียรติหรือแม้กระทั่งให้กำลังใจแก่ผู้ตายซึ่งกำลังจะออกเดินทางไกลในโลกหลังความตาย อันดับแรก ชายกลุ่มหนึ่งจะล้อมวงร้องเพลงสวดด้วยเสียงระดับเดียวตลอดทั้งคืนเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ตาย พิธีนี้เรียกว่า มะบาดง (Ma'badong)[9][34] ชาวโตราจาหลายคนถือว่านี่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของพิธี[31] ในพิธีศพวันที่สอง จะมีการร่ายรำนักรบ มะรันดิง (Ma'randing) เพื่อสรรเสริญความกล้าหาญของผู้ตายขณะมีชีวิตอยู่ ชายหลายคนแสดงโดยใช้ดาบ โล่อันใหญ่ที่ทำจากหนังควาย เครื่องสวมศีรษะประดับเขาควาย และเครื่องตกแต่งอื่น ๆ หลังการร่ายรำ มะรันดิง เสร็จสิ้น จะมีขบวนแห่ศพออกจากยุ้งฉางไปสู่ รันเต หรือสถานที่จัดพิธีศพ ระหว่างพิธีศพ หญิงอาวุโสจะแสดงการร่ายรำ มะกาตียา (Ma'akatia) ในชุดขนนกยาวพร้อมกับร้องเพลงร้อยกรองไปด้วย การร่ายรำ มะกาตียา มีขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีระลึกถึงความใจกว้างและความซื่อสัตย์ของผู้ตาย หลังเสร็จสิ้นพิธีเชือดหมูและควายอันนองเลือดแล้ว กลุ่มเด็กทั้งหญิงและชายจะแสดงการเต้นรำประกอบการปรบมือที่เรียกว่า มะดนดัน (Ma'dondan)[34]

เช่นเดียวกับในสังคมเกษตรกรรมอื่น ๆ ชาวโตราจาจะเต้นรำและร้องเพลงในช่วงเวลาเก็บเกี่ยวพืชผล การร่ายรำ มะบูกี (Ma'bugi) เป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลขอบคุณพระเจ้า และการร่ายรำ มะกันดางี (Ma'gandangi) จะมีขึ้นในขณะที่ชาวโตราจากำลังบดข้าว[39] มีการร่ายรำประกอบอาวุธหลายอย่าง เช่น มานิมบง (Manimbong) ของผู้ชาย ซึ่งตามด้วย มะดันดัน (Ma'dandan) ของผู้หญิง ศาสนาอาลุกยังกำหนดโอกาสและวิธีการร่ายรำของชาวโตราจา การร่ายรำที่เรียกว่า มะบูวา (Ma'bua) สามารถจัดขึ้นได้ทุก ๆ 12 ปีเท่านั้น มะบูวาเป็นพิธีเฉลิมฉลองสำคัญพิธีหนึ่งของชาวโตราจาที่ซึ่งนักบวชจะสวมหัวควายและร่ายรำรอบต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์[40]

เครื่องดนตรีดั้งเดิมชนิดหนึ่งของโตราจาคือขลุ่ยไม้ไผ่เรียกว่า ปะซูลิง (Pa'suling; ซูลิง เป็นคำที่ใช้เรียกขลุ่ยในภาษาอินโดนีเซีย) ขลุ่ยหกรู (ปรากฏในวัฒนธรรมอื่นนอกเหนือจากวัฒนธรรมโตราจา) นี้ใช้บรรเลงในการร่ายรำหลายโอกาส เช่น การร่ายรำขอบคุณพระเจ้า มะบนเด็นซัน (Ma'bondensan) ที่ซึ่งมีการแสดงดนตรีขลุ่ยประกอบการเต้นรำของชายที่เปลือยท่อนบนและมีเล็บยาว เครื่องดนตรีท้องถิ่นของโตราจาชนิดอื่น ๆ มี ปะเป็ลเล (Pa'pelle; ทำจากใบปาล์ม) และ ปะการมบี (Pa'karombi; จ้องหน่องแบบโตราจา) โดย ปะเป็ลเล มีไว้ใช้บรรเลงระหว่างพิธีเก็บเกี่ยวและพิธีขึ้นบ้านใหม่[41]

มุมมองต่อรักร่วมเพศ

[แก้]

ในหมู่ชาวซาอาดัน (โตราจาตะวันออก) บนเกาะซูลาเวซี มีหมอผีที่เป็นชายรักร่วมเพศ เรียกว่า โตบูราเกตัมโบลัง (toburake tambolang) ในขณะที่กลุ่มชนข้างเคียงอย่างชาวมามาซา (โตราจาตะวันตก) มีเพียงหมอผีที่เป็นหญิงรักเพศตรงข้ามซึ่งเรียกว่า โตบูราเก (toburake) เท่านั้น[42]

ภาษา

[แก้]

ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์โตราจาพบได้ทั่วไปในตานาโตราจาโดยมีภาษาโตราจา-ซะดัน (Toraja-Sa'dan) เป็นภาษาหลัก ถึงแม้ว่าภาษาอินโดนีเซียจะเป็นภาษาทางการและมีผู้พูดกันในชุมชน[1]

วิธภาษาของภาษาโตราจา เช่น กาลุมปัง (Kalumpang), มามาซา (Mamasa), ตาเอะ (Tae'), ตาลนโดะ (Talondo'), โตอาละ (Toala'), โตราจา-ซะดัน เป็นต้น จัดเป็นภาษาในกลุ่มมลายู-พอลีนีเชียของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน[43] ในระยะแรก ๆ ลักษณะทางภูมิศาสตร์อันโดดเดี่ยวของตานาโตราจาก่อให้เกิดภาษาถิ่นจำนวนมากในบรรดาภาษาของชาวโตราจาเอง ภายหลังการจัดการปกครองตานาโตราจาเป็นระบบ ภาษาโตราจาถิ่นบางภาษาได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่นผ่านแผนการอพยพข้ามถิ่นซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยอาณานิคม และยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความหลากหลายของภาษาโตราจาจนถึงปัจจุบัน[9]

วิธภาษาของภาษาโตราจา
ชื่อ รหัส
ไอเอสโอ 639-3
ประชากร (ข้อมูลจาก ค.ศ) ภาษาถิ่น
กาลุมปัง kli 12,000 คน (1991) การาตาอุน, มับเลอี, มังกี (เอะดา), โบเนฮาอู (ตะดา)
มามาซา mqj 100,000 คน (1991) มามาซาเหนือ, มามาซากลาง, ปัตตาเอะ (มามาซาใต้, ปัตตะบีนูวัง, บีนูวัง, ตาเอะ, บีนูวัง-ปากี-บาเตตางา-อันเตอาปี)
ตาเอะ rob 250,000 คน (1992) รงกง, ลูวูตะวันออกเฉียงเหนือ, ลูวูใต้, บูวา
ตาลนโดะ tln 500 คน (1986)
โตอาละ tlz 30,000 คน (1983) โตอาละ, ปาลีลิ
โตราจา-ซะดัน sda 500,000 คน (1990) มากาเล (ตัลลูเล็มบังนา), รันเตปาโอ (เกซุ), โตราจาบารัต (โตราจาตะวันตก, มัปปา-ปานา)
ที่มา: Gordon (2005).[43]

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของภาษาโตราจาคือมโนทัศน์เกี่ยวกับความเศร้าโศก ความสำคัญของพิธีศพในวัฒนธรรมโตราจาได้หล่อหลอมให้ภาษาโตราจามีลักษณะที่แสดงออกถึงความเศร้าโศกและการไว้อาลัยในระดับซับซ้อน[31] ภาษาโตราจามีศัพท์มากมายสำหรับสื่อถึงความเศร้า ความโหยหา ความหดหู่ และความเจ็บปวดทางจิตใจ การกล่าวแสดงออกถึงผลกระทบของความสูญเสียที่มีต่อร่างกายและจิตใจโดยใช้คำจำกัดความที่ชัดเจนเป็นการปลดเปลื้องอารมณ์รูปแบบหนึ่ง และบางครั้งอาจช่วยลดทอนความเจ็บปวดจากความเศร้าโศกได้[44]

เศรษฐกิจ

[แก้]
ผู้คนกำลังทำนาในตานาโตราจา

ก่อนที่จะเข้าสู่ "ยุคระเบียบใหม่" ของซูฮาร์โต เศรษฐกิจของชาวโตราจามีพื้นฐานเป็นเกษตรกรรม โดยมีการปลูกข้าวแบบเปียกในนาขั้นบันไดตามลาดเขา และมีบ้างที่ปลูกมันสำปะหลังกับข้าวโพด ชาวโตราจาใช้เวลาและพลังงานส่วนมากไปกับการเลี้ยงควาย หมู และไก่ โดยหลัก ๆ เพื่อบริโภคและใช้ในพิธีทางศาสนา[45] กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญชนิดแรกที่มีการผลิตในตานาโตราจา โดยมีผู้นำเข้าไปเพาะปลูกครั้งแรกในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบท้องถิ่นไปสู่การผลิตโภคภัณฑ์เพื่อตลาดภายนอก และได้รับชื่อเสียงที่ยอดเยี่ยมในแง่คุณภาพในตลาดระหว่างประเทศ[46]

หลังการประกาศใช้ระเบียบใหม่ใน ค.ศ. 1965 เศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้พัฒนาและเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ บริษัทคีย์คอฟฟี (Key Coffee) จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาทำไร่กาแฟและตั้งโรงงานกาแฟในตานาโตราจา และกาแฟโตราจากลับมามีชื่อเสียงด้านคุณภาพภายในภาคส่วนกาแฟคัดพิเศษซึ่งกำลังเติบโตในระดับนานาชาติ[47] บริษัทน้ำมันและเหมืองแร่ข้ามชาติเริ่มทำธุรกิจในอินโดนีเซียระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1970 ถึง 1980 ชาวโตราจาโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอายุน้อยโยกย้ายไปทำงานกับบริษัทต่างชาติยังกาลีมันตันเพื่อทำงานเกี่ยวกับไม้และน้ำมัน ยังปาปัวเพื่อทำงานเหมือง ยังเมืองใหญ่ ๆ ในซูลาเวซีและชวา และอีกหลายคนโยกย้ายไปยังประเทศมาเลเซีย การย้ายถิ่นออกของชาวโตราจาดำเนินไปอย่างคงที่จนกระทั่ง ค.ศ. 1985[48] และยังคงดำเนินเรื่อยมานับแต่นั้น เงินที่ส่งกลับมาจากชาวโตราจาโพ้นถิ่นเข้ามามีบทบาทสำคัญภายในเศรษฐกิจร่วมสมัย[49]

การท่องเที่ยวเริ่มมีขึ้นในตานาโตราจาในคริสต์ทศวรรษ 1970 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในคริสต์ทศวรรษ 1980 ถึง 1990 ระหว่าง ค.ศ. 1984 ถึง 1997 ชาวโตราจาจำนวนมากมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว จากการเป็นลูกจ้างหรือเจ้าของโรงแรม มัคคุเทศก์ คนขับรถ หรือคนขายของที่ระลึก ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งทางศาสนาในพื้นที่อื่น ๆ ของซูลาเวซีส่งผลให้การท่องเที่ยวในตานาโตราจาลดลงอย่างมาก โตราจายังคงเป็นที่รู้จักดีในฐานะต้นกำเนิดแห่งหนึ่งของกาแฟอินโดนีเซียซึ่งมีการปลูกตั้งแต่ในไร่ขนาดเล็กไปจนถึงไร่ขนาดใหญ่ ถึงแม้การย้ายถิ่นออกของชาวโตราจาจะยังคงดำเนินอยู่ แต่สำหรับครัวเรือนส่วนใหญ่รวมทั้งครัวเรือนในพื้นที่ชนบทแล้ว เงินส่งกลับและรายได้นอกเหนือจากภาคการเกษตรก็ยังถือว่ามีความสำคัญกว่ามาก[49]

การท่องเที่ยวและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

[แก้]
หมู่บ้านเกะเตะเกซุ [id] สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่รัฐบาลจังหวัดกำหนดไว้

ก่อนคริสต์ทศวรรษ 1970 โตราจาแทบไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงการท่องเที่ยวจากโลกตะวันตก ใน ค.ศ. 1971 มีชาวยุโรปประมาณ 50 คนเดินทางมายังตานาโตราจา ใน ค.ศ. 1972 มีผู้เดินทางมาอย่างน้อย 400 คนเพื่อเข้าร่วมพิธีศพของปูวังแห่งซังกัลลา (Puang of Sangalla) บุคคลชั้นสูงที่สุดในตานาโตราจาซึ่งกล่าวขานกันว่าเป็น "บุคคลชั้นสูงโตราจาเลือดบริสุทธิ์คนสุดท้าย" เนชั่นแนล จีโอกราฟิก ได้บันทึกภาพพิธีศพของเขาไว้และนำไปแพร่ภาพในประเทศยุโรปหลายประเทศ[10] ใน ค.ศ. 1976 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 12,000 คนเดินทางมายังตานาโตราจา และใน ค.ศ. 1981 ประติมากรรมโตราจาได้รับการจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ใหญ่ ๆ ในอเมริกาเหนือ[50]

ใน ค.ศ. 1984 กระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซียประกาศให้อำเภอตานาโตราจาเป็น "ตัวชูโรง" (prima donna) ของจังหวัดซูลาเวซีใต้ ตานาโตราจาได้รับการประกาศยกย่องให้เป็น "จุดหมายที่สองต่อจากบาหลี"[7] การท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อถึง ค.ศ. 1985 มีชาวต่างชาติรวม 150,000 คนที่ได้เดินทางมายังตานาโตราจา (นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวจากในประเทศอีก 80,000 คน)[6] และยอดนักท่องเที่ยวรายปีได้รับการบันทึกไว้ที่ 40,000 คนใน ค.ศ. 1989[10] แผงขายของที่ระลึกเกิดขึ้นจำนวนมากในรันเตปาโอ (Rantepao) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของโตราจา ถนนถูกปิดบริเวณแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้เยี่ยมเยียนมากที่สุด โรงแรมและร้านอาหารที่เน้นรับนักท่องเที่ยวเปิดตัวขึ้นมากมาย ทางขึ้นลงเครื่องบินแห่งหนึ่งเปิดให้บริการในตานาโตราจาเมื่อ ค.ศ. 1981[18]

นักพัฒนาด้านการท่องเที่ยวได้ทำการตลาดตานาโตราจาเป็นการผจญภัยแปลกถิ่น ในฐานะพื้นที่ที่รุ่มรวยวัฒนธรรมบนเส้นทางที่ไม่​เป็นที่คุ้นเคย นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกคาดหวังที่จะได้เห็นหมู่บ้านแบบยุคหินและพิธีกรรมนอกรีต โตราจานั้นมีไว้สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไกลถึงบาหลีและยังต้องการที่จะเห็นเกาะอื่น ๆ ที่มีความดิบเถื่อนและ "ยังไม่ถูกแตะต้อง" อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะได้พบชาวโตราจาที่สวมหมวกกับกางเกงยีนส์และอาศัยอยู่ในสังคมแบบคริสต์เสียมากกว่า[10] นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของตงโกนันและพิธีกรรมโตราจาอื่น ๆ ถูกปรุงแต่งไว้ล่วงหน้าเพื่อหากำไร และตำหนิว่าจุดหมายปลายทางนี้ถูกทำเป็นธุรกิจมากเกินไป สิ่งนี้นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันหลายครั้งระหว่างชาวโตราจากับผู้พัฒนาการท่องเที่ยวซึ่งชาวโตราจามองว่าเป็นคนนอก[6]

การกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้นำท้องถิ่นโตราจากับรัฐบาลจังหวัดซูลาเวซีใต้ (ในฐานะผู้พัฒนาการท่องเที่ยว) ปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1985 รัฐบาลจังหวัดได้กำหนดให้หมู่บ้านโตราจาและสถานที่ฝังศพจำนวน 18 แห่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้จึงมีการออกข้อจำกัดการใช้ที่ดินในพื้นที่เหล่านั้นจนกระทั่งแม้แต่ชาวโตราจาเองยังถูกห้ามเปลี่ยนแปลงตงโกนันและสถานที่ฝังศพของบรรพชน แผนนี้ถูกผู้นำชาวโตราจาบางส่วนต่อต้านเนื่องจากมองว่าพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมของตนกำลังถูกคนนอกเข้ามากะเกณฑ์ ส่งผลให้ใน ค.ศ. 1987 หมู่บ้านเกะเตะเกซุ (Ke'te' Kesu') และสถานที่ท่องเที่ยวที่รัฐกำหนดไว้ต่างปิดประตูไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การปิดนี้ดำเนินไปเพียงไม่กี่วันเนื่องจากชาวบ้านพบว่ารายได้จากการขายของที่ระลึกมีส่วนสำคัญต่อความเป็นอยู่ของตน[6]

นอกจากนี้การท่องเที่ยวยังได้ทำให้สังคมโตราจาเปลี่ยนโฉมไป แต่เดิมมีพิธีที่อนุญาตให้สามัญชนแต่งงานกับชนชั้นสูง (ปูวัง) เพื่อที่ลูกหลานจะได้รับสถานะชนชั้นสูงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของสังคมโตราจาที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการท่องเที่ยว (บ่อยครั้งจากมัคคุเทศก์ที่เป็น "ชนชั้นล่าง") ได้กัดกร่อนระบบลำดับชั้นทางสังคมที่เข้มงวดนี้[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "Tana Toraja official website" (ภาษาอินโดนีเซีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 29, 2006. สืบค้นเมื่อ 2006-10-04.
  2. Zainuddin Hamka (2009). Corak pemikiran keagamaan Gurutta H. Muh. As'ad Al-Bugisi. Departemen Agama RI, Badan Litbang dan Diklat, Puslitbang Lektur Keagamaan. p. 103. ISBN 978-60-287-6601-2.
  3. Sugihandari (February 24, 2009). "Sulawesi Barat, Cermin Politik dalam Dua Masa". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 20, 2013.
  4. ชาวบูกิซและชาวมากัซซาร์อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งรอบดินแดนของชาวโตราจา อันที่จริง กลุ่มชนชายฝั่งเหล่านี้เป็นผู้คิดศัพท์ โตราจา เพื่อใช้เรียกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาอันโดดเดี่ยว
  5. 5.0 5.1 Nooy-Palm, Hetty (1975). "Introduction to the Sa'dan People and their Country". Archipel. 15: 163–192.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 Adams, Kathleen M. (January 31, 1990). "Cultural Commoditisation in Tana Toraja, Indonesia". Cultural Survival Quarterly. 14 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 27, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Adams, Kathleen M. (1995). "Making-Up the Toraja? The Appropriate of Tourism, Anthropology, and Museums for Politics in Upland Sulawesi, Indonesia". Ethnology. 34 (2): 143–153. doi:10.2307/3774103. JSTOR 3774103.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Adams (2006) harvp error: multiple targets (2×): CITEREFAdams2006 (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 Sutton, R. Anderson (1995). "Performing arts and cultural politics in South Sulawesi" (PDF). Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 151 (4): 672–699. doi:10.1163/22134379-90003034. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-06-20. สืบค้นเมื่อ 2021-05-09.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 Volkman, Toby Alice (February 1990). "Visions and Revisions: Toraja Culture and the Tourist Gaze". American Ethnologist. 17 (1): 91–110. doi:10.1525/ae.1990.17.1.02a00060. JSTOR 645254.
  11. Schrauwers, Albert (1997). "Houses, hierarchy, headhunting and exchange; Rethinking political relations in the Southeast Asian realm of Luwu'" (PDF). Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 153 (3): 356–380. doi:10.1163/22134379-90003928. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-06-20. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  12. 12.0 12.1 12.2 cf. Kis-Jovak et al. (1988), Ch. 2, Hetty Nooy-Palm, The World of Toraja, pp. 12–18.
  13. 13.0 13.1 Ngelow, Zakaria J. (Summer 2004). "Traditional Culture, Christianity and Globalisation in Indonesia: The Case of Torajan Christians" (PDF). Inter-Religio. 45. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-06-20. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  14. Volkman, Toby Alice (December 31, 1983). "A View from the Mountains". Cultural Survival Quarterly. 7 (4). สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  15. Yang, Heriyanto (August 2005). "The history and legal position of Confucianism in postindependence Indonesia" (PDF). Marburg Journal of Religion. 10 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2006-09-10. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  16. 16.0 16.1 Waterson, Roxana (1986). "The ideology and terminology of kinship among the Sa'dan Toraja" (PDF). Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 142 (1): 87–112. doi:10.1163/22134379-90003370. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-08-09. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  17. Waterson, Roxana (1995). "Houses, graves and the limits of kinship groupings among the Sa'dan Toraja" (PDF). Bijdragen tot de Taal-, Land- en Volkenkunde. 151 (2): 194–217. doi:10.1163/22134379-90003046. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-08-09. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  18. 18.0 18.1 18.2 Volkman, Toby Alice (1984). "Great Performances: Toraja Cultural Identity in the 1970s". American Ethnologist. 11 (1): 152–169. doi:10.1525/ae.1984.11.1.02a00090. JSTOR 644360.
  19. Wellenkamp, Jane C. (1988). "Order and Disorder in Toraja Thought and Ritual". Ethnology. 27 (3): 311–326. doi:10.2307/3773523. JSTOR 3773523.
  20. Sandra, Jaida n'ha (1998). "From "You, Toradja" to "We Toraya": Ethnicity in the Making" (PDF). Explorations in Southeast Asian Studies. 2 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-01-24. สืบค้นเมื่อ 2022-01-24.
  21. This Toraja myth was directly translated from the history of Toraja at the official Tana Toraja website toraja.go.id, retrieved on 2007-05-18. เก็บถาวร พฤษภาคม 20, 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  22. "Toraja Religion". Overview of World Religion. St. Martin College, UK. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-06. สืบค้นเมื่อ 2006-09-06.
  23. The death rituals are known as "smoke-descending" rituals, while the life rituals are "smoke-ascending" rituals; cf. Wellenkamp (1988).
  24. Adams, Kathleen M. (2006-08-31). Art as Politics: Re-Crafting Identities, Tourism, and Power in Tana Toraja, Indonesia. University of Hawaii Press. p. 80. ISBN 9780824861483.
  25. "Toraja Architecture". Ladybamboo Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-07-27. สืบค้นเมื่อ 2009-09-04.
  26. Sharon, Penulis (2021-08-19). "Rumah Adat Tongkonan, Rumah Toraja Penuh Keunikan!". ruparupa (ภาษาอินโดนีเซีย). สืบค้นเมื่อ 2022-01-24.
  27. 27.0 27.1 Muslimin, Rizal (2016-10-18). "Toraja Glyphs: An Ethnocomputation Study of Passura Indigenous Icons". Journal of Asian Architecture and Building Engineering. 16, 2017 (1): 39–44. doi:10.3130/jaabe.16.39. สืบค้นเมื่อ 2022-01-24.
  28. 28.0 28.1 Palmer, Miquel Alberti (2006). "The Kira-kira method of the Torajan woodcarvers of Sulawesi to divide a segment into equal parts". Third International Conference on Ethnomathematics: Cultural Connections and Mathematical Manipulations. Auckland, New Zealand: University of Auckland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (doc)เมื่อ June 20, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  29. Sande, J.S. (1989). "Toraja Wood-Carving Motifs". Ujung Pandang. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-02. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.
  30. In the present day, when tourism is the main income of the Torajans, funeral feasts have been held by non-noble rich families, mainly performed as tourist attractions. Volkman (1982) called this phenomenon a death funeral inflation.
  31. 31.0 31.1 31.2 Jane C. Wellenkamp (August 1988). "Notions of Grief and Catharsis among the Toraja". American Ethnologist. 15 (3): 486–500. doi:10.1525/ae.1988.15.3.02a00050. JSTOR 645753.
  32. In 1992, the most powerful Torajan, the former chief of Tana Toraja Regency, died, and his family asked US$125,000 of a Japanese TV company as a license fee to film the funeral. Cf. Yamashita (1994).
  33. Hollan, Douglas (December 1995). "To the Afterworld and Back: Mourning and Dreams of the Dead among the Toraja". Ethos. 23 (4): 424–436. doi:10.1525/eth.1995.23.4.02a00030. JSTOR 640296.
  34. 34.0 34.1 34.2 Yamashita, Shinji (October 1994). "Manipulating Ethnic Tradition: The Funeral Ceremony, Tourism, and Television among the Toraja of Sulawesi". Indonesia. 58 (58): 69–82. doi:10.2307/3351103. hdl:1813/54044. JSTOR 3351103.
  35. incito tour เก็บถาวร 2012-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน PT. INCITO PRIMA - Re: Funeral Ceremony in Toraja - Authorised by: Department of Law and Human Rights of Republic of Indonesia
  36. Tau tau have been targeted by grave robbers for antique collectors. On several occasions, a stolen tau tau effigy has appeared in an exhibition show; for instance, at the Brooklyn Museum in 1981 and at the Arnold Herstand Gallery in New York in 1984. Cf. Volkman (1990).
  37. Hoppenbrouwers, Toke; Donzelli, Aurora. "From the womb to the tree; Child-rearing practices and beliefs among the Toraja of Sulawesi". Wacana Journal of the Humanities of Indonesia. 18 (3). doi:10.17510/wacana.v18i3.632. สืบค้นเมื่อ 2022-02-09.
  38. "Toraja Unique Ritual: Cleaning and Changing Clothing Ancestors corpse". Amazingnotes.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 September 2012. สืบค้นเมื่อ 26 August 2012.
  39. "Toraja Dances". www.batusura.de. สืบค้นเมื่อ 2007-05-02.
  40. "Toraja Religion". Division of Religion and Philosophy, University of Cumbria. สืบค้นเมื่อ 2022-01-24.
  41. "Toraja Music". www.batusura.de. สืบค้นเมื่อ 2007-05-02.
  42. VERHANDLINGEN VAN HET KONINKLIJK INSTITUUT VOOR TAAL-, LAND- EN VOLKENKUNDE, 229 = Kees Buijs : Powers of Blessing from the Wilderness and from Heaven. KITLV Pr, Leiden, 2006. p. 140
  43. 43.0 43.1 Gordon, Raymond G. (2005). Ethnologue: Languages of the World. Dallas, Tex.: SIL International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (online version)เมื่อ 2001-10-05. สืบค้นเมื่อ 2006-10-17.
  44. Mangopo, Sisilia (2019). "The Denotational Power of Speech in Ma'marakka Ritual" (PDF). Advances in Social Science, Education and Humanities Research. 424. สืบค้นเมื่อ 2022-01-24.
  45. cf. Volkman (1983).
  46. Bigalke, T.W. (2005). Tana Toraja: a social history of an Indonesian people. Singapore: Singapore University Press.
  47. Neilson, Jeff (2007). "Institutions, the governance of quality and on-farm value retention for Indonesian specialty coffee". Singapore Journal of Tropical Geography. 28 (2): 188–204. doi:10.1111/j.1467-9493.2007.00290.x.
  48. cf. Volkman (1990).
  49. 49.0 49.1 Neilson, Jeff; Shonk, Felicity (2014). "Chained to Development? Livelihoods and global value chains in the coffee-producing Toraja region of Indonesia". Australian Geographer. 45 (3): 269–288. doi:10.1080/00049182.2014.929998. S2CID 154566205.
  50. Volkman, Toby (July 31, 1982). "Tana toraja: A Decade of Tourism". Cultural Survival Quarterly. 6 (3). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 27, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-05-18.

บรรณานุกรม

[แก้]

อ่านเพิ่ม

[แก้]
  • Barley, Nigel (2013). Toraja: Misadventures of an Anthropologist in Sulawesi, Indonesia, Singapore: Monsoon Books. ISBN 978-981-4423-46-5; ebook 978-981-4423-47-2.
  • Buijs, Kees (2006). Powers of blessing from the wilderness and from heaven. Structure and transformations in the religion of the Toraja in the Mamasa area of South Sulawesi. Leiden: KITLV.
  • Hollan, Douglas W. & Wellenkamp, Jane C. (1996). The Thread of Life: Toraja Reflections on the Life Cycle. Honolulu: University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-1839-5.
  • Parinding, Samban C. & Achjadi, Judi (1988). Toraja: Indonesia's Mountain Eden. Singapore: Time Edition. ISBN 978-981-204-016-9.
  • Waterson, Roxana (2009). Paths and Rivers: Sa'dan Toraja Society in Transformation. Leiden: KITLV.
  • de Jong, Edwin B.P. (2013). Making a Living between Crises and Ceremonies in Tana Toraja: The Practice of Everyday Life of a South Sulawesi Highland Community in Indonesia. BRILL. doi:10.1163/9789004252479. ISBN 978-90-04-25247-9.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]