จงกล ไกรฤกษ์
จงกล ไกรฤกษ์ | |
---|---|
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง | |
ดำรงตำแหน่ง 16 มีนาคม – 16 กันยายน พ.ศ. 2500 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 30 กันยายน พ.ศ. 2444 |
เสียชีวิต | 21 สิงหาคม พ.ศ. 2511 (66 ปี) |
พรรคการเมือง | ประชาธิปัตย์ (2489–2511) |
คู่สมรส | สำนึง ไกรฤกษ์ |
ร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์ (30 กันยายน พ.ศ. 2444 – 21 สิงหาคม พ.ศ. 2511) อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในปี พ.ศ. 2500 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก 3 สมัย
ประวัติ
[แก้]ร.ท.จงกล เป็นบุตรของขุนเสาวรักษ์บรรณาคม (ชิด ไกรฤกษ์) จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในปี 2465 และสอบได้เป็นอันดับ 2 ของโรงเรียนเสนาธิการทหาร เขาสมรสกับนางสำนึง ไกรฤกษ์ (สกุลเดิม อมาตยกุล) มีบุตรคือ โกศล ไกรฤกษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และเป็นปู่ของจุติ ไกรฤกษ์[1]
จงกล เริ่มชีวิตราชการทหารที่จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาได้ย้ายมารับตำแหน่งเสนาธิการ มณฑลทหารบกจังหวัดพิษณุโลก (กองทัพที่ 3) เขาเป็นนายทหารประจำพระองค์ของ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกลาโหม ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ที่ได้นำทหารจากหัวเมืองหลายจังหวัด รวมทั้ง ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ที่ยกกำลังจากพิษณุโลกเข้ายึดพื้นที่ดอนเมือง แต่การเจรจากับ "คณะราษฎร" ไม่เป็นผล เกิดการปะทะกัน และคณะกู้บ้านเมืองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ อันเป็นที่มาของ "กบฏบวรเดช" ทำให้เขาถูกจำคุกนาน 11 ปี ทั้งที่เรือนจำบางขวาง และที่เกาะตะรุเตา[1]
หลังจากพ้นโทษกลับมา ร.ท.จงกล ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2491 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยแรก จากนั้นก็ได้รับเลือกอีกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2495 และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[2] ซึ่งในครั้งนี้สมัครในนามพรรคเสรีมนังคศิลา และ ร.ท.จงกล ได้รับเลือกเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 8 ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม - 16 กันยายน พ.ศ. 2500[3]
ร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2511 มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2513 ณ วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2500 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 เปิดตำนานตระกูล “ไกรฤกษ์” บนถนนการเมืองพิษณุโลก เดินเข้าสภาฯ 3 รุ่นตั้งแต่ปี 2491 จนถึงวันนี้
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/D/036/890.PDF
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (พลเอกพระประจนปัจจนึกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายน้อม อุปรมัย เป็นรอง ฯ คนที่ ๑ ร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์ เป็นรอง ฯ คนที่ ๒)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๘๑, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๐๐