ข้ามไปเนื้อหา

กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน
เกิดพ.ศ. 2493
เสียชีวิต13 มกราคม พ.ศ. 2522 (อายุ 28 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นชื่อ: เจริญ, น้อย
สกุล: อนุกูล
อาชีพรับจ้าง
มีชื่อเสียงจากเป็นนักโทษประหารหญิงชาวไทย, ผู้ถูกเพชฌฆาตยิงแล้วยังไม่ตาย
สถานะทางคดีประหารชีวิตแล้ว
เหตุจูงใจแค้นนายจ้างและประสงค์ต่อทรัพย์
พิพากษาลงโทษฐานลักพาตัวเด็กเพื่อเรียกค่าไถ่, ฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยกระทำทารุณโหดร้ายเพื่อปกปิดความผิดของตน
บทลงโทษประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี
คู่หูปิ่น พึ่งญาติ (ถูกประหารชีวิตในปีพ.ศ. 2522)
เกษม สิงห์ลา (ถูกประหารชีวิตในปีพ.ศ. 2522)
ทองม้วน โกบโคกกรวด
ทองสุข พู่วิเศษ
สะธิ สีดี
รายละเอียด
วันที่17 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2521
ประเทศไทย
ตำแหน่งกรุงเทพมหานคร และจังหวัดนครราชสีมา
เป้าหมายเรียกค่าไถ่ตัว 200,000 บาท
ตายวีระชัย ศรีเจริญสุขยิ่ง อายุ 6 ขวบ
อาวุธปลายแหลม
วันที่ถูกจับ
19 ตุลาคม พ.ศ. 2521
จำคุกที่ทัณฑสถานหญิง

กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน เป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิตหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทยด้วยการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2522 ในข้อหาลักพาตัวเด็กไปเพื่อฆ่า[1] ต่อจากใย สนบำรุง ที่ต้องโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2482 และต่อมา สมัย ปานอินทร์ต้องโทษประหารชีวิตหญิงคนที่ 3 ของประเทศไทยด้วยการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2542

ประวัติและการก่อคดี

[แก้]

กิ่งแก้วเดิมเป็นคนต่างจังหวัด ต่อมาเดินทางเข้ามาหางานทำในกรุงเทพมหานคร มีประวัติรักษาอาการทางจิตเวชที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา หลังการรักษาได้ไปทำงานเป็นแม่บ้านและพี่เลี้ยงเด็กในร้านอาหาร หลังจากทำงานได้เพียง 2 เดือนกิ่งแก้วถูกไล่ออกในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2521[2] เนื่องจากไม่ได้ทำงานอื่นนอกจากดูแลวีระชัย บุตรชาย วัย 6 ปี ของครอบครัว กิ่งแก้วจึงมีความแค้นประกอบกับต้องการเงิน จึงปรึกษากับปิ่น พึ่งญาติ แฟนหนุ่มวัย 28 ปี ซึ่งมีประวัติอาชญากรรมโชกโชน ได้แนะนำให้ลักพาตัวเด็กเพื่อเรียกค่าไถ่ เมื่อเห็นดีด้วยแล้วจึงเริ่มก่อการโดยร่วมกับ ทองม้วน โกบโคกกรวด, ทองสุข พู่วิเศษ, เกษม สิงห์ลา และสะธิ สีดี[1]

แผนการเริ่มขึ้น โดยในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2521 กิ่งแก้วไปรับตัววีระชัยจากโรงเรียนคริสต์ธรรมศึกษาในลักษณะเช่นเดียวกับผู้ปกครองรับเด็กโดยลวงว่าจะพาไปเที่ยวต่างจังหวัด และนำตัวไปซ่อนไว้ที่บ้านญาติในตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มผู้ก่อการส่งจดหมายเรียกค่าไถ่ 200,000 บาทจากครอบครัวแลกกับชีวิตของวีระชัย โดยให้นำถุงเงินโยนลงบนด้านซ้ายของทางรถไฟระหว่างสถานีจันทึกกับสถานีปากช่อง โดยผู้ก่อการจะปักธงสีขาวไว้เป็นสัญลักษณ์จุดโยน หากเลยกำหนดจะฆ่าเด็กทันที แต่ด้วยความมืดในยามค่ำคืน ผู้ปกครองของวีระชัยจึงไม่เห็นธงสัญลักษณ์ ทำให้ไม่สามารถโยนเงินค่าไถ่ลงไปได้ แม้จะพยายามค้นหาอีกโดยสนธิกำลังกับตำรวจก็ไม่พบธงสีขาวแต่อย่างใด กลุ่มผู้ก่อการจึงฆ่าเหยื่อโดยนำตัววีระชัยออกไปที่ไร่ข้าวโพดตรงจุดที่ขุดหลุมดินไว้ ห่างจากบ้านราว 50 เมตร จากนั้นปิ่นจับมือกิ่งแก้วแทงวีระชัยซึ่งหลับอยู่บนตักกิ่งแก้วจนวีระชัยตื่นและเรียกกิ่งแก้วจนกิ่งแก้วสะเทือนใจ จากนั้นผู้ก่อการคนอื่น ๆ ได้ไล่กิ่งแก้วให้กลับบ้านไป แล้วแทงวีระชัยซ้ำและหักคอวีระชัยจนแน่ใจว่าขาดใจตาย จากนั้นฝังศพโดยใช้ดินอุดปากเพื่อข่มวิญญาณไว้

ต่อมามีการจับกุมกิ่งแก้วและผู้ก่อการเกือบทั้งหมดได้ โดยเริ่มจากจับกุมกิ่งแก้ว ทองสุข และทองม้วนในวันที่ 19 ตุลาคม โดยกิ่งแก้วได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และกล่าวว่าตนไม่อยากฆ่าเด็ก แต่ด้วยสถานการณ์พาไปและถูกแฟนหนุ่มบังคับจึงต้องลงมือฆ่า และได้บอกเบาะแสซึ่งนำไปสู่การจับกุมปิ่นและเกษมได้ในเวลาต่อมา[3][4] เชาวเรศน์ จารุบุณย์กล่าวในหนังสือของเขาว่า "กิ่งแก้วในเวลานั้นออกทุกช่วงข่าว ไม่ต่างจากดาราเลย"[1]

การตัดสินคดีและการดำเนินการทางกฎหมาย

[แก้]

หลังจากกิ่งแก้วและผู้ก่อการถูกจับกุมได้นำตัวผู้ต้องหาส่วนใหญ่ฝากขังไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางรัก ในระหว่างนั้นกิ่งแก้วพยายามฆ่าตัวตายหลังจากถูกตำรวจพูดถึงเรื่องโทษทัณฑ์ที่จะได้รับจากการตัดสินที่เด็ดขาดของรัฐบาลในขณะนั้น[4]และพร่ำเพ้อถึงวีระชัย จากนั้นได้นำตัวไปฝากขังที่ทัณฑสถานหญิง[3]

จากนั้นในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นใช้อำนาจตามความในมาตรา 200 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 สั่งลงโทษประหารชีวิตกิ่งแก้ว เสริม และปิ่น โดยดำเนินการประหารชีวิตในวันต่อมา โดยกิ่งแก้วถูกนำตัวมาจากทัณฑสถานหญิงมายังเรือนจำกลางบางขวาง แล้วประหารเป็นคนแรกในเวลา 17.40 น.[4] ระหว่างการดำเนินการการประหารชีวิต หลังจากประหารกิ่งแก้วและตรวจอย่างคร่าว ๆ ว่าถึงแก่ความตายแล้ว[1] จึงนำตัวลงจากหลักประหารเพื่อประหารผู้ต้องโทษรายต่อไป จากนั้นไม่นานพบว่ากิ่งแก้วพยายามส่งเสียงเพื่อร้องขอชีวิตและพยายามลุกขึ้น[5] เมื่อเจ้าพนักงานเห็นเช่นนั้นจึงนำตัวขึ้นหลักประหารและเลื่อนจุดยิงไปทางขวาเล็กน้อยเพื่อยิงซ้ำ กิ่งแก้วจึงสิ้นใจลง ต่อมาสันนิษฐานว่าหัวใจของกิ่งแก้วนั้นตั้งอยู่กลางอกทางซ้ายค่อนมาทางด้านขวามากกว่าคนปกติ จากนั้นจึงดำเนินการประหารเกษมและปิ่นเป็นรายต่อไปตามลำดับ[1] โดยปิ่นก็ต้องยิงถึงสองชุดเช่นเดียวกับกิ่งแก้ว[5] โดยในวันดังกล่าว ประถม เครือเพ่ง เป็นผู้ทำหน้าที่เพชฌฆาต ใช้กระสุนทั้งสิ้น 25 นัดสำหรับกิ่งแก้ว[3] ส่วนทองม้วนต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ทองสุกและสะธิต้องโทษจำคุก 20 ปี และเร่งรัดให้จับตัวสะธิให้ได้โดยเร็ว[2]

กิ่งแก้วในสื่อปัจจุบัน

[แก้]

หลังการประหารชีวิต มีการเล่าลือถึงกระบวนการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมและการประหารชีวิตที่เป็นการทรมานต่อกิ่งแก้ว ตลอดจนวิญญาณของกิ่งแก้วที่คอยตามหลอกหลอนคนในบริเวณรอบเรือนจำกลางบางขวาง เผยแพร่บนสื่อต่าง ๆ จนเผยแพร่ออกไปมาก

ในภาพยนตร์ เพชฌฆาต ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2557 เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นอิงจากประวัติของเชาวเรศน์ จารุบุณย์ เพชฌฆาตยิงเป้าของประเทศไทยที่ได้ยิงเป้านักโทษประหารรายสุดท้ายก่อนเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิต มีฉากหนึ่งที่ทำการประหารนักโทษหญิงดวงใจ ซึ่งลักษณะคล้ายกับกรณีของกิ่งแก้ว โดยฉากดังกล่าวนักโทษหญิงได้ร้องไห้ฟูมฟายด้วยความกลัวและเชื่อว่าตนไม่ควรต้องโทษประหารชีวิต ตัดภาพกับนักโทษชายในคดีเดียวกันที่ตะโกนว่าจะประหารภรรยาตน (ดวงใจ) ทำไมเพราะไม่ได้เป็นผู้ฆ่า ขอให้ยิงแต่ตนซึ่งเป็นผู้ฆ่า จากนั้นภาพตัดไปในห้องประหารชีวิต เมื่อผูกมัดนักโทษหญิงแล้ว เชาวเรศเข้ามาในห้องแล้ววันทยหัตถ์ไปยังเป้ายิงและกรรมการสักขีพยาน เมื่อถึงช่วงลั่นไกยิง เมื่อเจ้าพนักงานโบกธงแดงให้สัญญาณยิง ภาพตัดไปยังหญิงดังกล่าวที่โบกผืนผ้าสีแดงข้างขบวนรถไฟที่กำลังแล่นด้วยความเร็ว จากนั้นภาพจึงตัดสลับกลับไปยังห้องประหารชีวิต เชาวเรศน์ยิงปืนเอาไปชุดหนึ่ง นักโทษหญิงดังกล่าวได้แน่นิ่งไป ตัดกลับไปที่หญิงที่โบกธงดังกล่าวและรถไฟที่เคลื่อนผ่านออกไปพ้นตน จากนั้นภาพกลับไปที่ห้องประหารชีวิตอีกครั้ง เชาวเรศน์วันทยหัตถ์ไปที่เป้ายิงแล้วเปลี่ยนไปที่อีกหลักหนึ่งด้านซ้าย ในเวลาเดียวกันเจ้าหน้าที่นำตัวนักโทษชายเข้าสู่ห้องโดยที่ยังกล่าวเช่นเดิม ระหว่างพันธนาการตัวนักโทษชายภาพตัดที่นักโทษหญิงดวงใจที่เจ้าหน้าที่นำร่างนอนบนพื้นห้อง แพทย์เข้าตรวจโดยคลำชีพจร และรายงานเวลาการเสียชีวิตต่อสักขีพยาน จากนั้นระหว่างรอสัญญาณยิง นักโทษชายได้เรียกนักโทษหญิงดวงใจจนมีเสียงคล้ายอาเจียน เจ้าหน้าที่จึงรุดเข้าไปที่ร่างนักโทษหญิง เห็นว่ากำลังกระอักเลือดอยู่ มีเจ้าพนักงานคนหนึ่งจะบีบร่างนักโทษหญิงให้เสียเลือดมากจนตาย แต่เชาวเรศน์ได้แย้งว่าต้องทำตามระบบและให้คว่ำร่างไว้ก่อน แล้วจึงไปดำเนินการประหารชีวิตนักโทษชายต่อ โดยก่อนถึงการลั่นไก ภาพตัดไปที่หญิงดังกล่าวกำลังขอร้องให้หยุดฆ่าเด็ก และภาพตัดกลับมาที่เชาวเรศน์ยิงปืนเข้าสู่ร่างนักโทษชาย[6]

บนเว็บไซต์สำนักข่าวทีนิวส์ รายงานว่าหลังจากกิ่งแก้วลักพาตัวเด็กและกลุ่มผู้ก่อการส่งจดหมายเรียกค่าไถ่ไป ผู้ปกครองได้โยนเงินผิดจังหวะ จึงพลาดจุดไป กิ่งแก้วได้พยายามห้ามแล้วแต่ผู้ก่อการอื่นได้ทารุณวีระชัยจนปางตายแล้วแยกย้ายกันไป เมื่อพบศพของวีระชัย ได้พบดินในหลอดลมเนื่องจากฝังร่างตอนที่ยังไม่ถึงแก่ความตาย จับจากจับกุมกิ่งแก้วแล้วได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและร้องว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดในกรณีนี้อย่างซ้ำไปซ้ำมาและพยายามฆ่าตัวตายเพื่อหนีโทษประหารชีวิต จากนั้นในวันดำเนินการประหารชีวิต เพชฌฆาตยิงทีละนัดถึง 15 นัด อีกทั้งได้กล่าวอ้างว่าพัศดีที่อยู่ในเหตุการณ์บันทึกว่ากิ่งแก้วพร่ำเพ้อว่าตนไม่มีความผิด และเมื่อเพชฌฆาตยิงกระสุนชุดแรก กิ่งแก้วก็ยังคงร้องเช่นเดิมจนเพชฌฆาตตกใจ ต้องซ้ำครั้งที่สอง แต่ยังเป็นเช่นเดิม แพทย์และพัศดีตรวจร่างเห็นว่าหัวใจอยู่ด้านขวา จึงเลื่อนเป้าให้ตรงแล้วยิงอีกครั้งจนถึงแก่ความตายพร้อมประโยคสุดท้าย "ฉันไม่ผิด" และหลังการประหารชีวิตยังคนมีเสียงของกิ่งแก้วดังจากห้องเก็บศพและปรากฏตัวในรูปวิญญาณให้เห็นที่เรือนจำกลางบางขวาง โดยคาดว่าวิญญาณกำลังรอเปิดเผยเรื่องราวที่แท้จริงอยู่ โดยรายงานนี้ได้แนบคลิปเล่าเรื่องดังกล่าวบนยูทูบอีกด้วย[7]

ส่วนหนังสือ "ผู้หญิง การจำคุก และโทษประหารชีวิตในประเทศไทย" ของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้กล่าวถึงการประหารชีวิตกิ่งแก้วว่า[8]

คุณกิ่งแก้วเป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกประหารชีวิตในข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรมเด็ก (ซึ่งเธอยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาจนวาระสุดท้าย) ... การประหารชีวิตคุณกิ่งแก้วเป็นกรณีที่สยองขวัญอย่างยิ่ง เพราะเธอยังมีลมหายใจอยู่หลังจากถูกกระสุนสิบนัดกระหน่ำไปที่หน้าอก และผู้คุมพยายามที่จะเร่งการเสียเลือดและบีบคอเธอให้ตายสนิท

ถึงกระนั้นก็ตาม กรมราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างปฏิเสธข้อเท็จจริงบางอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

เมื่อไทยรัฐได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางบางขวางที่อยู่ในเหตุการณ์การประหารชีวิต ได้ปฏิเสธถึงการทรมานกิ่งแก้วระหว่างการประหาร และกล่าวว่าตนไม่เคยพบวิญญาณหรือเสียงร้องเลย อาจจะเป็นเรื่องที่ผู้ขับรถรับจ้างบริเวณนั้นแต่งขึ้นมาเพื่อเรียกค่าจ้างรถเท่านั้น[4]

ส่วนอรรถยุทธ พวงสุวรรณ อดีตพี่เลี้ยงผู้ต้องโทษประหารชีวิต และอดีตเจ้าพนักงานเรือนจำกลางบางขวาง กล่าวในคลิปแสดงงานค้นคว้าข่าวและเอกสารที่เกี่ยวข้องถึงประเด็นนี้และค้านประเด็นต่าง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง เช่น

  • กิ่งแก้วไม่รู้ไม่เห็นการฆ่า อรรถยุทธได้ค้านว่ากิ่งแก้วสามารถนำตำรวจไปยังพื้นที่ฝังร่าง ซึ่งห่างไปไกลจากบ้าน 2 กิโลเมตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่กิ่งแก้วจะไม่รับรู้ในคดีนี้
  • กิ่งแก้วถูกจับขณะกำลังช่วยเด็กออกจากหลุมฝัง อรรถยุทธได้ค้านว่ากิ่งแก้วถูกจับที่บ้านห่างจากบริเวณดังกล่าว
  • กิ่งแก้วปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อรรถยุทธได้ค้านว่ากิ่งแก้วปฏิเสธเพียงแค่ตอนต้นเท่านั้น แต่หลังจากการสืบสวนและสอบเค้นกิ่งแก้วจึงได้สารภาพและแจ้งข้อเท็จจริงในคดีทั้งหมด
  • เพชฌฆาตมีอาการตกใจเมื่อยิงปืนชุดแรก อรรถยุทธได้ค้านว่า นายประถม เครือเพ่ง เพชฌฆาตในวันนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่าตนรู้สึกเฉย ๆ เหมือนประหารผู้ต้องโทษคนอื่น ๆ
  • กิ่งแก้วร้อง "ฉันไม่ผิด" ตลอดแม้หลังถูกยิงชุดแรกไปแล้ว อรรถยุทธได้ค้านว่ากิ่งแก้วกล่าวสั้น ๆ ว่าให้นำตนไปรักษาตัวให้พ้นจากอันตรายหลังจากถูกยิงชุดแรกและนำตัวลงจากหลักประหาร
  • กิ่งแก้วถูกบีบคอ อุดจมูก กลิ้งตัว และเค้นเลือด อรรถยุทธได้ค้านว่าในการประหารชีวิตจะมีสักขีพยานจากหน่วยงานต่าง ๆ หากทำไม่ถูกต้องสักขีพยานจะค้านทันทีและผู้ที่กระทำอาจจะเป็นผู้ต้องโทษคดีฆ่าคนตาย
  • หัวใจของกิ่งแก้วอยู่ด้านขวา อรรถยุทธได้ค้านว่าเพียงแค่หัวใจอยู่กลางอกมากกว่าปกติ (หัวใจกินขวา)
  • วิญญาณนางกิ่งแก้ววนเวียนในเรือนจำกลางบางขวาง และส่งเสียง "ฉันไม่ผิด" อรรถยุทธได้ค้านว่าไม่มีเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางบางขวางเคยพบวิญญาณกิ่งแก้วเลย รวมทั้งอรรถยุทธเอง แม้จะได้เข้าเวรยามในจุดที่ใกล้ห้องประหารชีวิตและช่องเก็บศพที่สุดและในวันดังกล่าวมีการประหารชีวิตผู้ต้องโทษ ก็ไม่เคยพบวิญญาณตนใดเลย

นอกจากนี้อรรถยุทธกล่าวว่ามีครั้งหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวได้ให้บทพูดเรื่องวิญญาณกิ่งแก้วเพื่อให้ตนเล่า แต่อรรถยุทธได้ปฏิเสธไปและให้เหตุผลว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและหลอกลวงประชาชน[3]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 จารุบุณย์, เชาวเรศน์ (2015). The Last Executioner: Memoirs of Thailand's Last Executioner (ภาษาอังกฤษ). Maverick House. p. 100. ISBN 978-1-908518-41-5.
  2. 2.0 2.1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (18 มกราคม 2522). "รายงานการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 7/วันที่ 18 มกราคม 2522". กรุงเทพมหานคร: LIRT คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 พวงสุวรรณ, อรรถยุทธ (4 มกราคม 2563). "ข้อเท็จจริงเรื่องนางกิ่งแก้ว". สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help) และ พวงสุวรรณ, อรรถยุทธ (11 พฤศจิกายน 2562). "ความจริงของคดีนางกิ่งแก้ว". สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ไทยรัฐออนไลน์ (17 พฤศจิกายน 2562). "3 นาทีคดีดัง : เรื่องจริง "กิ่งแก้ว" นักโทษประหารหญิง ยิงเป้าไม่ยอมตาย (คลิป)". กรุงเทพมหานคร: ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  5. 5.0 5.1 Algie, Jim (2011). Catherine Lim Collection: Tales of Crime, Sex and Black Magic (ภาษาอังกฤษ). Marshall Cavendish International Asia Pte Ltd. p. 34. ISBN 978-981-4351-86-7.
  6. Waller, Tom (Director) (3 กรกฎาคม 2556). 'Innocent' - Clip from THE LAST EXECUTIONER (2014). Bangkok: De Warrenne Pictures.
  7. เลิกสันเทียะ, อุทัย (19 มิถุนายน 2561). "ย้อนคดีโทษประหารสุดหลอน!! นาง กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน นักโทษประหารถูกยิงถึง 15 นัด กว่าจะเสียชีวิต จนกลายเป็น วิญญาณเฮี้ยนเฝ้าเรือนจำ! (คลิป)". นนทบุรี: ทีนิวส์. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  8. McNeil, Louise; Michel, Lucie; Zinck, Tristan; บรีน, แดนทอง (ตุลาคม 2561). สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (บ.ก.). ผู้หญิง การจำคุก และโทษประหารชีวิตในประเทศไทย (PDF). แปลโดย หาญอนันทสุข, สมศรี; วงศ์สารพิกูล, เลอเกียรติ์. กรุงเทพมหานคร: มาสเตอร์เพรส. p. 3. ISBN 978-616-93217-0-5. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
ก่อนหน้า
ใย สนบำรุง
ผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2477
กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน
ถัดไป
สมัย ปานอินทร์