เรือนจำกลางคลองเปรม
ที่ตั้ง | ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร |
---|---|
พิกัดภูมิศาสตร์ | 13°50′50″N 100°33′14″E / 13.84722°N 100.55389°E |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ระดับความปลอดภัย | ความมั่นคงสูงสุด |
ความจุ | 10,831 |
นักโทษ | 6,541 (ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567)[1] |
เปิดให้บริการ | 2433 (เรือนจำแห่งเดิม) 2502 (บางส่วน) 2505 ย้ายมายังเขตบางเขน |
ปิดให้บริการ | 2513 (เรือนจำแห่งเดิม) |
ชื่อเดิม | คุกกองมหันตโทษ, เรือนจำกลางประจำเขตคลองเปรม |
บริหารโดย | กรมราชทัณฑ์ |
ผู้บัญชาการ | สมบูรณ์ ศิลา |
เรือนจำกลางคลองเปรม หรือ คุกลาดยาว หรือฉายาโดยชาวต่างชาติ แบงคอก ฮิลตัน เป็นเรือนจำความมั่นคงสูงสุด โดยย้ายมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเดิม (ปัจจุบันคือสวนรมณีนาถ) เป็นเรือนจำที่ใช้คุมขังนักโทษในคดีอุกฉกรรจ์ อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เรือนจำแห่งนี้คุมขังนักโทษเด็ดขาดที่มีโทษตั้งแต่ 15 ปี ถึงประหารชีวิต เรือนจำตั้งอยู่ที่ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
เรือนจำแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง โดยเป็นสถานที่คุมขังนักโทษเด็ดขาดในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และนักโทษระหว่างรอการพิจารณาคดีในความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดที่มีกำหนดโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเรือนจำแห่งนี้เป็นที่ตั้งของเรือนจำพิเศษกรุงเทพโดยเป็นที่คุมขังนักโทษระหว่างพิจารณาคดีและนักโทษเด็ดขาดที่โทษไม่เกิน 15 ปี และเรือนจำแห่งนี้เป็นที่ตั้งของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
ในปี พ.ศ. 2563 เรือนจำแห่งนี้มีผู้ต้องขังทั้งหมด 7,921 คน โดยนักโทษที่รับโทษจำคุกตลอดชีวิตภายในเรือนจำจะถูกคุมขังในห้องขนาด 2 x 3 เมตร และเพดานสูงจากพื้น 2.2 เมตร โดย 1 ห้องจะมีนักโทษอย่างน้อย 4 คน[2]
ส่วนของพื้นที่คุมขังนักโทษหญิงซึ่งใกล้กับเรือนจำมีชื่อว่า ทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังนักโทษหญิงและนักโทษประหารหญิง[3][4]
ประวัติ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2478 ขุนศรีสรากร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เห็นว่าเรือนจำลหุโทษ (ปัจจุบันคือสวนรมณีนาถ) ควรถูกสร้างใหม่และย้ายไปที่อื่นเนื่องจากเรือนจำแห่งเดิมเก่าแก่และทรุดโทรม โดยได้เลือกที่ดินที่ตั้งเรือนจำเป็นฝั่งตรงข้ามคลองเปรมประชากรของตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2486 กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2486 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีจัดตั้งกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลาดยาว[5]
ในปี พ.ศ. 2496 กรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 86 ล้านบาท และในปีเดียวกันได้มีการเปลี่ยนชื่อกองลหุโทษเป็นเรือนจำกลางคลองเปรม ต่อมาในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2502 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 21 และ 43 ให้กรมราชทัณฑ์ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่อบรม และฝึกวิชาชีพ ให้กับผู้ประพฤติตนเป็นอันธพาล
เมื่อการก่อสร้างเรือนจำเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2513 ได้มีการย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางคลองเปรมแห่งเดิมที่ถนนมหาไชยไปยังเรือนจำกลางคลองเปรมแห่งใหม่ที่บางเขน ส่วนเรือนจำแห่งเดิมได้ถูกยุบและเปลี่ยนชื่อเป็นเรือนจำจังหวัดพระนครและธนบุรี[6]
ในปี พ.ศ. 2516 ได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของประเทศเป็นกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้เรือนจำถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
การย้ายที่ตั้ง
[แก้]ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการปรับปรุงทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขน หรือ "เรือนจำกลางคลองเปรม" และได้ย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาควบคุมรวมกัน และให้ปรับปรุงพื้นที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเดิมเป็นสวนสาธารณะในชื่อ สวนรมณีนาถ[7]
การเยี่ยมญาติ
[แก้]ผู้มาติดต่อมาขอเยี่ยมผู้ต้องขัง ต้องกรอกรายละเอียดต่างๆลงในแบบฟอร์มใบเยี่ยมญาติ ซึ่งการเยี่ยมญาติถูกแบ่งออกเป็นแดนตามรอบเช้ากับรอบบ่ายของแต่ละวัน โดยไม่สามารถมาเยี่ยมในวันเสาร์และอาทิตย์ได้[8] ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19การเยี่ยมญาติต้องจองคิวผ่านไลน์[9][10]
กิจกรรมในเรือนจำ
[แก้]เรือนจำแห่งนี้มีการจัดการศึกษานอกระบบของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และในบางครั้งมีการจัดคอนเสิร์ตให้กับผู้ต้องขัง[11]
เนื่องจากเรือนจำแห่งนี้มีนักโทษชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากส่งผลให้มีการจัดฟุตบอลโลกเรือนจำหรือPrison World Cup โดยนักฟุตบอลจะถูกคัดเลือกมาจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่ง 1 ทีมจะมี 10 คน ซึ่งทีมนักฟุตบอลที่ถูกคัดเลือกมา ให้เป็นตัวแทนของประเทศไนจีเรีย, ประเทศญี่ปุ่น, ประเทศสหรัฐอเมริกา, ประเทศอิตาลี, ประเทศฝรั่งเศส, ประเทศอังกฤษ, ประเทศเยอรมนี และประเทศไทย ซึ่งทีมที่ชนะจะได้รับแบบจำลองถ้วยฟุตบอลโลกที่ทำขึ้นจากไม้ในโรงงานไม้ของเรือนจำ[12][13]
เหตุการณ์สำคัญ
[แก้]การแหกคุกในปี พ.ศ. 2539
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2536 เดวิด แมคมิลแลน พ่อค้ายาเสพติดชาวอังกฤษ-ออสเตรเลีย ซึ่งถูกจับกุมที่เยาวราช โดยตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นายที่ปลอมตัวเป็นตัวแทนสำนักท่องเที่ยว ซึ่งเขาถูกตั้งข้อหาจำหน่ายเฮโรอีนและถูกส่งตัวไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม เดวิดอ้างว่าเขาใช้เงินจำนวน 200 ดอลลาร์ ติดสินบนผู้คุม เพื่อให้ย้ายไปอยู่ในห้องขังที่สะดวกสบายมากขึ้น โดยเดวิดกล่าวว่าวิธีเดียวที่จะอยู่รอดในเรือนจำแห่งนี้คือการติดสินบนผู้คุมและนักโทษผู้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้เดวิดมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านักโทษคนอื่น เดวิดมีพ่อครัวและคนรับใช้ของตนเอง และมีวิทยุ ต่อมาเขาถูกศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิตและจะต้องส่งตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวาง เขาจึงตัดสินใจที่จะหลบหนีจากเรือนจำ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2539 เมื่อเวลา 24.00 น. เดวิดได้ใช้ใบเลื่อยที่ลักลอบนำเข้ามาตัดลูกกรง หลังจากออกจากห้องขัง หลังจากนั้นได้ปีนชั้นหนังสือเพื่อออกจากแดนที่คุมขังทางหน้าต่าง หลังจากนั้นได้ใช้บันไดไม้ไผ่ที่ยึดด้วยเชือกผูกรองเท้าข้ามกำแพงเรือนจำ 6 กำแพง เมื่อผ่านกำแพงชั้นนอก เขาใส่กางเกงสีกากีและใช้ร่มปิดบังใบหน้าของตนเองขณะเดินผ่านหอสังเกตการณ์ หลังจากออกจากเรือนจำเขาได้นั่งแท็กซี่ไปยังแฟลตเพื่อรับหนังสือเดินทางปลอม และเดินทางไปยังสนามบิน เพื่อเดินทางไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยใช้เวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมงหลังจากออกจากเรือนจำ ซึ่งขณะที่เครื่องบินกำลังจะออกจากสนามบิน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังมายังสนามบิน แต่ไม่สำเร็จเพราะเครื่องได้ออกจากสนามบินไปแล้ว[14] หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปยังประเทศปากีสถาน แต่ก็ถูกจับกุมในความผิดฐานลักลอบขนยาเสพติดที่ลาฮอร์หลังจากผู้จัดส่งยาเสพติดซัดทอดไปยังเดวิด หลังจากพ้นโทษเขาเดินทางมายังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปีพ.ศ. 2542[15] ต่อมาในปีพ.ศ. 2545 เขาถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ ในความผิดฐานลักลอบขนยาเสพติดระดับ A จำนวน 500 กรัม และติดคุกเป็นเวลา 2 ปี[16] ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 เขาถูกตำรวจออร์พิงตันจับกุมอีกครั้งในความผิดฐานลักลอบนำเข้ายาเสพติดระดับ A และถูกตัดสินจำคุก 6 ปี และเดวิดถูกปล่อยตัวในปีพ.ศ. 2557[17] ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน ประเทศไทยได้เจรจากับประเทศอังกฤษเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเดวิด[18] แต่สองสัปดาห์ก่อนการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนประเทศไทยได้ยกเลิกแผนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของเดวิด [19]
ความพยายามแหกคุกในปี พ.ศ. 2541
[แก้]เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2541 นักโทษคดียาเสพติด จำนวน 2 คน ได้ใช้เหล็กแหลมขู่คนขับรถขยะที่ขับรถเข้ามาในแดน 4 หลังจากนั้นนักโทษ 2 คนได้ขึ้นมาบนรถ ส่วนอีก 3 คนได้วิ่งตามรถขยะ และขับรถขยะพุ่งชนะประตูแดนที่ 4 หลังจากชนประตูทั้งหมด 2 บาน รถขยะได้พุ่งชนประตูเหล็ก ส่งผลให้รถเสียหลักตกข้างทาง ทำให้นักโทษที่อยู่บนรถทั้งหมด 4 คน ได้พยายามปีนรั้วไฟฟ้าหลบหนีแต่ก็ถูกผู้คุมยิงจนเสียชีวิตทั้ง 4 คน ส่วนนักโทษที่วิ่งตามรถ บางคนได้รับบาดเจ็บหรือถูกจับกุม[20]
แผนการแหกคุกของบรรยิน ตั้งภากรณ์
[แก้]ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 บรรยิน ตั้งภากรณ์ได้วางแผนให้นักโทษอีกคนลักพาตัวภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อแลกกับการให้บรรยินออกไปจากเรือนจำ แต่แผนดังกล่าวเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์สืบทราบได้ก่อน ส่งผลให้เขาถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวาง[21][22][23]
นักโทษที่มีชื่อเสียง
[แก้]- วิกเตอร์ บูท นักธุรกิจและพ่อค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซีย ซึ่งถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่กองปราบปรามและเจ้าหน้าที่DEA ที่โรงแรมในย่านสีลม เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2551[24] ในข้อหาร่วมกันจัดหาและรวบรวมทรัพย์สินเพื่อการก่อการร้าย[25] โดยเขาถูกคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรมเพื่อรอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐ[26] และเขาถูกส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553[27][28]
- ปิ่น พึ่งญาติ สามีของกิ่งแก้ว ลอสูงเนินและเป็นผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักพาตัวเด็กไปเพื่อฆ่า - ถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวางเพื่อประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2522[29]
- เกษม สิงห์ลา ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักพาตัวเด็กไปเพื่อฆ่า (ถูกตัดสินประหารชีวิตร่วมกับปิ่นและกิ่งแก้ว) - ถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวางเพื่อประหารชีวิตและถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2522[30]
- อำพล ตั้งนพกุล มักเรียกกันว่า อากง ผู้ถูกฟ้องว่าได้ส่งข้อความสั้นซึ่งมีเนื้อหาเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินีทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 4 ข้อความไปหาเลขานุการของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมี อำพลถูกตัดสินจำคุก 20 ปี และเสียชีวิตภายในเรือนจำเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555[31]
- พลเอก สุรจิต จารุเศรนี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ในคดีรับสินบนสัมปทานป่าไม้ เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2511
- รักเกียรติ สุขธนะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุดรธานี 7 สมัย และอดีตรัฐมนตรี 5 สมัย ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานรับสินบน 5 ล้านบาทจากบริษัทยาและมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่งผลให้เขาถูกศาลตัดสินในปีพ.ศ. 2546 รวมโทษทั้งสิ้นเป็น 17 ปี 6 เดือน แต่เขาไม่มาฟังคำพิพากษา ส่งให้เขาถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 แต่ก็ได้รับการลดโทษหลายครั้งและถูกพักโทษเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552[32][33]
- มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เขาถูกตัดสินจำคุก 50 ปี ในคดึค้ามนุษย์ และจำคุก 20 ปีในคดีฟอกเงิน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลภายในเรือนจำ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564[34]
- มานัส ทับนิล, ณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์, ชาติชาย เมณฑ์กูล, ประชาวิทย์ ศรีทองสุข และธงชัย วจีสัจจะ ผู้ร่วมกันก่อเหตุฆาตกรรมวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ พี่ชายของผู้พิพากษาอาวุโสของศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อให้ยกฟ้องในคดีโอ้นหุ้นนายชูวงษ์ มานัสถูกตัดสินจำคุก 33 ปี 4 เดือน ส่วนชาติชาย, ประชาวิทย์, ธงชัย และณรงค์ศักดิ์ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต - ถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพเทพมายังเรือนจำกลางคลองเปรม
- เดวิด แมคมิลแลน พ่อค้ายาเสพติดชาวอังกฤษ-ออสเตรเลีย ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานจำหน่ายเฮโรอีน และถูกตัดสินประหารชีวิต โดยเขาได้แหกคุกเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อปีพ.ศ 2539 และหลบหนีไปยังประเทศสิงโปร์ โดยการแหกคุกของเขานับเป็นนักโทษชาวต่างชาติคนแรกที่สามารถแหกคุกเรือนกลางคลองเปรมสำเร็จและเขาได้เขียนหนังสือซึ่งเกี่ยวกับการแหกคุกของเขาโดยมีชื่อว่า Escape: The True Story of the Only Westerner Ever to Break out of Thailand's Bangkok Hilton ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปีพ.ศ 2550[35]
- ซาเวียร์ อันเดร จัสโต้ อดีตผู้บริหารของบริษัท ปิโตซาอุดิ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ติดคุกจากการข่มขู่เพื่อรีดทรัพย์ และอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเบอร์ฮัดการพัฒนา 1มาเลเซีย
- สังข์ทอง สีใส นักร้องเพลงลูกทุ่งที่ต้องคดีพยายามฆ่า ในปี พ.ศ. 2518 เนื่องจากพยายามควบคุมความเรียบร้อยให้ผู้ชมที่มาชมการแสดงของเขา - ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี พ้นโทษในปี พ.ศ. 2524[36]
- สุขุม เชิดชื่น สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 7และนักธุรกิจ และตัดสินว่ามีความผิดฐานจ้างวานฆ่าแพทย์หญิงนิชรี มะกรสาร วิสัญญีแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬา เมื่อปีพ.ศ. 2539 ถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ศาลฎีกาลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต[37] โดยได้รับการลดโทษตามลำดับชั้นเหลือโทษจำคุก 22 ปี 6 เดือน 20 วัน โดยเขาได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564 รวมระยะเวลาจำคุก 17 ปี 2 เดือน 20 วัน[38][39][40][41]
- วิชิต เกตุคำศรี หรือฉายา เปี๊ยก กีวี อันธพาลเมืองหลวงรุ่นพ.ศ. 2499 ซึ่งถูกจับกุมในคดีขว้างระเบิดขวดใส่ทหาร เขาถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี แต่เข้ากับอัทธพาลรุ่นเดียวกันในคุกไม่ได้ ทำให้ถูกย้ายไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดสระบุรี
- ชัยยศ สมบูรณ์ ผู้ก่อเหตุฆ่าสุรพล คำแถลง พลเมืองดีที่ขัดขวางการวิ่งราวทรัพย์ที่ซอยประดู่ 1 เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2515 ถูกย้ายตัวไปเรือนจำกลางบางขวาง และถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515
- จุ่ง แซ่เตียว พ่อค้าเฮโรอีนซึ่งถูกจับพร้อมกับ ซ้ง แซ่เอี่ยวที่เซ็นต์หลุยซอย 3 ขณะกำลังนำเฮโรอีนไปส่งลูกค้า ถูกฝากขังที่เรือนจำกลางคลองเปรมในคดีมีอาวุธปืนเถื่อน ถูกย้ายตัวไปเรือนจำกลางบางขวาง และถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พร้อมกับซ้ง
- สนธิ ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี[42] ในความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่เป็นเหตุให้บริษัทเสียหายโดยร่วมกันกระทำการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้, ร่วมกันไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัท และร่วมกันทำบัญชีไม่ครบถ้วนไม่เป็นปัจจุบันซึ่งไม่ตรงต่อความเป็นจริงเพื่อลวงให้บริษัทและผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์[43] จากการร่วมกันทำรายงานการประชุมเท็จของบริษัทแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2540 ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวหลังจากติดคุกเป็นเวลา 3 ปี 1 เดือน[44][45]
- บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้ถูกตัดสินจำคุก 48 ปี จากคดีระบายข้าวจีทูจี ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง เหลือโทษจำคุก 10 ปี และจะพ้นโทษในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2571[46][47]
- ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น ผู้ถูกตัดสินจำคุก 36 ปี จากคดีระบายข้าวจีทูจี[48][49] ได้รับพระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง เหลือโทษจำคุก 8 ปี และจะพ้นโทษในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2568[50]
- จำเนียร จันทรา นักล้วงกระเป๋า ที่ถูกจับกุมในข้อหาซ่องโจรที่พญาไทในปี พ.ศ. 2513 และถูกตัดสินจำคุก 30 วัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 เขาถูกจับกุมอีกครั้งในข้อหาซ่องโจรที่บางรัก และติดคุกอยู่ 30 วัน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว[51]
- วัฒนา เมืองสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี จากการเรียกรับเงินสินบนจากบริษัทผู้รับเหมาโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 82.6 ล้านบาท เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้ได้สัญญาก่อสร้าง ถูกตัดสินจำคุก 99 ปี แต่จำคุกจริง 50 ปี[52][53][54][55]
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
[แก้]เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นเรือนจำซึ่งคุมขังผู้ต้องขังชายระหว่างพิจารณาคดี และนักโทษเด็ดขาดชายคดีทั่วไป ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี[56]
- บรรยิน ตั้งภากรณ์, มานัส ทับนิล, ณรงค์ศักดิ์ ป้อมจันทร์, ชาติชาย เมณฑ์กูล, ประชาวิทย์ ศรีทองสุขและ ธงชัย วจีสัจจะ ผู้ร่วมกันก่อเหตุฆาตกรรมวีรชัย ศกุนตะประเสริฐ พี่ชายของผู้พิพากษาอาวุโสของศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อให้ยกฟ้องในคดีโอ้นหุ้นนายชูวงษ์ แซ่ตั๊งของบรรยิน ตั้งภากรณ์ โดยบรรยินถูกย้ายตัวไปเรือนจำกลางบางขวางเนื่องจากแผนการลักพาตัวภรรยาของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ[57][58][59][60]
- ประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก กำนันตำบลตาก้อง อำเภอเมืองนครปฐม ผู้ก่อเหตุใช้ให้หน่อง หมั่นมากหรือหน่องท่าผา ยิงพลตำรวจตรีศิวกร สายบัว ตำรวจทางหลวงจนเสียชีวิตและพลตำรวจโทวศิน พันปีจนได้รับบาดเจ็บ ถูกย้ายตัวจากเรือนจำกลางสมุทรสงครามมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ[61][62][63][64]
- ประสิทธิชัย เขาแก้ว ผู้ก่อเหตุโจรกรรมร้านทองออโร่ร่าภายในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จังหวัดลพบุรีส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 4 คน ถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวาง[65]
- ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อของพรรครักประเทศไทย ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปกปิดบัญชีทรัพย์สินและแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยถูกตัดสินจำคุก 1 เดือนและได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561[66][67][68]
- จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ[69]
- สรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐกระทำผิดด้วยการยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” จากการยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ "คุยคุ้ยข่าว" ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน แต่ศาลฎีกาตัดสิน 6 ปี 24 เดือน พระราชทานอภัยโทษ 2 ครั้ง จนได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564[70][71][72][73]
- ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย โดยถูกจับกุมหลังเดินทางกลับมายังประเทศไทยที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ตามหมายจับ 3 คดี ของศาลฎีกา ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี[74][75] แต่ได้รับการพระราชทานอภัยลงโทษโดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เหลือโทษจำคุกต่อจากวันที่พระราชทานลงมาอีก 1 ปี[76][77] เขาถูกย้ายตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจเนื่องจากอาการป่วยฉุกเฉินในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566 โดยเขาได้รับการพักโทษเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[78][79][80][81]
- พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมือง นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- แวมาฮาดี แวดาโอะ หรือ หมอแว เขาถูกอาราฟิน บิน อาลี สมาชิกกลุ่มก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามิยาห์ ซัดทอดว่ามีส่วนร่วมกับวางแผนก่อวินาศกรรมระเบิดสถานทูต 5 แห่งในกรุงเทพ ในช่วงการประชุมเอเปค ส่งผลให้เขาถูกจับกุมในพ.ศ. 2546 และติดคุกเป็นเวลา 2 ปี ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะยกฟ้อง
- ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ นักเคลื่อนไหว, นักร้อง, นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์ชาวไทย
- อานนท์ นำภา ทนายความและมีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมายในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติเนื่องจากกิจกรรมทางการเมือง ในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2565 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566ขาถูกตัดสินจำคุก 4 ปี ตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และถูกตัดสินจำคุกเพิ่ม 4 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 จากการโพสต์ทางโซเชียลมีเดียเมื่อ พ.ศ. 2564
- พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตนักแสดง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เขาถูกตัดสินจำคุก 1 ปี จากกรณีหมิ่นประมาทนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะได้รับการพักโทษในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 หลังจากติดคุกเป็นเวลา 9 เดือน 16 วัน[82]
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมาย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองและถูกนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขาถูกศาลแขวงดุสิตยกฟ้องจากคดีไม่ไปรายงานตัว[83]
- สมตระกูล จอบกระโทก, พ.อ.อ.กิตติชาติ กุลประดิษฐ์, ทองสุข ชนะการี, ณรงค์ อุ่นแพทย์ (กลม บางกรวย), สุริยัน ดวงแก้ว (ผู้ใหญ่หมึก), พิชัย เทพอารักษ์ (ชัย โคกสำโรง) ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดจากเหตุการณ์ทุจริตการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2544 ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี ส่วนพิชัยถูกตัดสินจำคุก 2 ปี
- สมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ผู้กว้างขวางในภาคตะวันออก และอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข ผู้ถูกตัดสินจำคุก 30 ปี 4 เดือน จากการจ้างวานฆ่าประยูร สิทธิโชคและทุจริตเขาไม้แก้ว แต่เขาหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาในปีพ.ศ. 2549 โดยถูกจับกุมเจ้าหน้าที่กองปราบปรามจับกุมเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556 ที่ด่านเก็บเงินลาดกระบัง บนถนนมอเตอร์เวย์ โดยเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จากอาการป่วยส่งผลให้เขาถูกย้ายตัวไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ต่อมาเขาถูกย้ายไปยังเรือนจำจังหวัดชลบุรี ก่อนจะถูกย้ายตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลชลบุรี[84] ก่อนจะมีคำสั่งให้กลับมารักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์[85] แล้วส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ต่อมาในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560 คณะกรรมการพิจารณาพักโทษได้พิจารณาพักโทษสมชาย เนื่องจากสมชายมีอายุเกิน 70 ปีและป่วยหนัก[86][87][88]
- ลูไอ แซแง, วิลดัน มาหะ และมูฮัมหมัดอิลฮัม สะอิ ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจากเหตุระเบิดในกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 โดยลูไอกับวิลดันถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแต่ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีจึงลดโทษเหลือจำคุก 39 ปี 16 เดือน ส่วนมูฮัมหมัดอิลฮัมถูกตัดสินจำคุก 164 ปี 72 เดือน 240 วัน แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกต้องไม่เกิน 50 ปี จึงพิพากษาจำคุก 50 ปี[89] คาดว่าถูกย้ายตัวไปยังเรือนจำกลางบางขวางหลังถูกศาลชั้นต้นตัดสิน[90]
ทัณฑสถานหญิงกลาง
[แก้]ที่ตั้ง | ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร |
---|---|
พิกัดภูมิศาสตร์ | 13°50′42.2″N 100°33′25.1″E / 13.845056°N 100.556972°E |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ระดับความปลอดภัย | ความมั่นคงสูงสุด |
ความจุ | 4,302[91] |
นักโทษ | 4,082 (ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567)[92] |
เปิดให้บริการ | 2515 |
เว็บไซต์ | https://www.app-cwci.com/ |
ทัณฑสถานหญิงกลาง เป็นเรือนจำที่คุมขังผู้ต้องหาหญิง ซึ่งถูกบริหารโดยกรมราชทัณฑ์ ตั้งอยู่ที่ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ใกล้กับเรือนจำกลางคลองเปรม โดยเรือนจำแห่งนี้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังหญิงที่มีโทษจนถึงประหารชีวิต[93][94]
ประวัติ
[แก้]ทัณฑสถานหญิงกลาง เคยเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำกลางคลองเปรมแห่งเดิมที่ตำบลสำราญราษฎร์ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 กรมราชฑัณฑ์ได้แยกทัณฑสถานหญิงออกเป็นเอกเทศโดยมีชื่อใหม่ว่าทัณฑสถานหญิงพระนคร ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2515 กรมราชฑัณฑ์ได้ย้ายผู้ต้องขังหญิงมายังทัณฑสถานหญิงแห่งใหม่ที่ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เนื่องจากมีจำนวนผู้ต้องขังมากขึ้นและไม่เอื้อต่อการดำเนินงานด้านการควบคุมงาน โดยเปลี่ยนชื่อสถานที่ใหม่เป็นฑัณฑสถานหญิง ต่อมาในวันที่ 16 เดือนมกราคม พ.ศ. 2538 ได้เปลี่ยนชื่อสถานที่ใหม่เป็นฑัณฑสถานหญิงกลาง[95]
ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ห้องซักรีดของฑัณฑสถาน ส่งผลให้มีผู้ต้องขังหญิงได้รับบาดเจ็บ 7 คน จากการสำลักควันไฟ[96]
กิจกรรมภายในเรือนจำ
[แก้]เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ฑัณฑสถานหญิงกลางได้นิมนต์พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) มาเป็นผู้บรรยายในโครงการให้คำปรึกษาซึ่งมีชื่อว่าปัญญาบำบัด โดยโครงการดังกล่าวจะจัดที่ห้องประชุมของฑัณฑสถาน ทุกๆวันศุกร์เวลา 9.00 น.[97][98]
นักโทษที่มีชื่อเสียง
[แก้]- สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ ผู้ก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องโดยใช้การวางไซยาไนด์ในอาหารหรือเครื่องดื่ม โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 คน และรอดชีวิต 1 คน โดยในปัจจุบันยังถุกคุมขังเพื่อรอการพิจารณาคดีและได้แท้งลูกไปแล้ว[99][100]
- สุมาลี โพธิ์สุวรรณ หรือ เล็ก พยาบาล และพุฒิพรรณ วงศ์คำลือ ผู้ร่วมกับอ๊อต พืชพันธ์ กับบุญ พืชพันธ์ ก่อเหตุฆาตกรรมกำธร ลาชโรจน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี 2 สมัย ทั้งสองได้วางแผนให้พุฒิพรรณหลอกล่อกำธรให้หลับนอนกับเธอ แล้ววางยานอนหลับในเครื่องดื่มของกำธร ก่อนจะปลดทรัพย์ไป ต่อมาทั้งสองกลัวความผิดจึงพยุงกำธรออกจากโรงแรม และไปรับอ๊อตกับบุญ หลังจากนั้นอ๊อตได้ฆ่ากำธรบนรถ ทั้งสี่ได้นำทรัพย์สินของกำธรมาแบ่ง แล้วนำศพของกำธรทิ้งไว้ข้างทาง ก่อนจะแยกย้ายกันหลบหนีไป ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเนื่องจากให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ไม่ทราบสถานะทางคดีในปัจจุบัน คาดว่าได้รับการปล่อยตัวแล้ว[101][102]
- สมศรี เกตุจันทร์ ผู้ช่วยพยาบาลผู้ก่อเหตุพามือปืนมาก่อเหตุฆาตกรรมครอบครัวของนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สามีของเธอ เมื่อปีพ.ศ. 2528 ถูกตัดสินประหารชีวิต การลดโทษไปแล้ว
- กิ่งแก้ว ลอสูงเนิน ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานลักพาตัวเด็กไปเพื่อฆ่า (ถูกตัดสินประหารชีวิตร่วมกันปิ่นและเกษม) ย้ายไปเรือนจำกลางบางขวางเพื่อประหารชีวิต โดยถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2522 โดยในการประหารชีวิตกิ่งแก้ว เธอไม่เสียชีวิตในการยิงชุดแรก ทำให้ถูกนำตัวมายิงเป้าในรอบที่สองส่งผลให้เธอเสียชีวิต[103][104]
- สมัย ปานอินทร์ ผู้จำหน่ายยาเสพติดชาวไทย ซึ่งร่วมกับนางสมใจ ทองโอ, นางมาลี เดชาภิรมย์, นายอรุณศักดิ์ หงษ์สร้อยคำและ ด.ช.เล็ก (นามสมมุติ) ร่วมกันค้าขายเฮโรอีน โดยสมัยเป็นคนนำเฮโรอีนไปขายที่ชุมชนคลองเตยล็อกที่ 4 ทำให้เธอได้รับฉายาว่าเจ้าแม่ล็อก 4 โดยเธอถูกตัดสินประหารชีวีตและถูกย้ายตัวไปเรือนจำกลางบางขวางเพื่อประหารชีวิต โดยถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542และนับเป็นนักโทษประหารหญิงคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าโดยประเทศไทย[105][106][107]
- สมควร พยัคฆ์เรือง ภรรยาของบัณฑิต เจริญวานิช โดยถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่1ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย และถูกตัดสินประหารชีวิตร่วมกับบัณฑิตและจิรวัฒน์ แต่เธอได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนบัณฑิตและจิรวัฒน์ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552
- กัลยาณี อร่ามเวชอนันต์ ผู้ส่งลูกชาย 2 คนไปเรียนวิชาเคมีที่ประเทศไต้หวัน เพื่อผลิตยาบ้า ต่อมาครอบครัวของเธอได้เช่าบ้านในอำเภอบางกรวยเพื่อผลิตยาบ้ายี่ห้อเปาบุ้นจิ้น ในปีพ.ศ. 2530 ได้มีการประกาศให้ยาบ้าผิดกฎหมาย ส่งผลให้เธอ สามีและลูกชาย 2 คนถูกจับกุม[108]
- เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี พระสนมในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถูกถอดยศและถูกคุมขังเนื่องจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการรวมทั้งการไม่เคารพต่อสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พระบรมราชินี โดยได้รับการปล่อยตัวภายหลังการพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563[109]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ รายงานแสดงสภาพความแออัดในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567[ลิงก์เสีย]
- ↑ โลกอีกใบใน ‘เรือนจำกลางคลองเปรม’
- ↑ ประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง การกำหนดอำนาจการคุมขังของเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ Joseph, Joanne and Larissa Focke. Drug Muled: Sixteen Years in a Thai Prison. Jacana Media, 2013. ISBN 1920601201, 9781920601201. p. 195. "Goosen says that[...]when she was on death row,[...]She tells of how, shortly after she arrived at Lard Yao,[...]"
- ↑ [1]
- ↑ ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองเปลี่ยน “คุกกลางกรุงเทพฯ” เป็น “มหาลัยลาดยาว”
- ↑ 134 ปี ประวัติ “เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” ตั้งอยู่ที่ไหน เยี่ยมนักโทษอย่างไร
- ↑ อธิบดีเยี่ยมคุมคลองเปรมย้ำบริการญาติให้ดี
- ↑ "กรมราชทัณฑ์เตรียมย้าย"วัฒนา"เข้าเรือนจำคลองเปรม". mgronline.com. 2022-03-05.
- ↑ บันทึกเยี่ยม 4 ผู้ต้องขัง: คาดหวังการประกันตัวและเป็นห่วงครอบครัวที่อยู่ไกล
- ↑ โลกอีกใบใน ‘เรือนจำกลางคลองเปรม’
- ↑ Thailand prisoners host their own World Cup behind bars
- ↑ Jason Gagliardi (17 June 2002). "Gaaoooool!". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 January 2010. สืบค้นเมื่อ 17 May 2009.
- ↑ How to plan a successful jailbreak
- ↑ อดีตนักโทษออสเตรเลีย เผยนาทีแหกคุกคลองเปรมสำเร็จคนแรก จนกระหึ่มโลก
- ↑ Drug dealer who escaped Bangkok jail is on the run in London
- ↑ อดีตนักโทษ เผยนาทีระทึก หนีคุกไทย ใช้เลื่อยตัดเหล็ก นิตยสารโป๊ และร่ม!!
- ↑ From escaping a deadly fire inside the most notorious jail in Melbourne to sawing his way out of cell in Thailand: Australian drug smuggler relives 20 years of survival in world's worst prisons
- ↑ 'Press Pack 2'|http://davidmcmillan.net/gallery/press%20pack%202.pdf เก็บถาวร 23 เมษายน 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ แหกคุกมรณะ 7 ผู้ต้องขังลาดยาว จี้รถขยะฝ่าด่านแดน 4
- ↑ แฉแผนลับ แหกคุกช่วย บรรยิน ระเบิดเรือนจำ จับเมียผบ.ต่อรอง
- ↑ 'บรรยิน' สารภาพกลางศาลฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา เล่าแผนสุดเลือดเย็น
- ↑ หน่วยหนุมาน คุม "บรรยิน" มาศาลฯ คดีอุ้มพี่ชายผู้พิพากษา
- ↑ ศาล US ชี้คำแถลง “วิคเตอร์ บูท” ในคุกไทยเป็น “โมฆะ” เหตุถูกข่มขู่สารพัด
- ↑ ปิดฉาก "วิคเตอร์ บูท" พ่ อ ค้ า ค ว า ม ต า ย
- ↑ คดี วิคเตอร์ บูท ไทยตกอยู่ในหว่างเขาควายพญาอินทรี - หมีขาว
- ↑ วิคเตอร์ บูท : สหรัฐฯ แลกตัว “พ่อค้าความตาย” ที่ไทยจับส่ง กับนักบาสหญิงอเมริกันในคุกรัสเซีย
- ↑ ทนาย “วิคเตอร์ บูท” ยันต่อศาลสหรัฐฯ ลูกความไม่เคยค้าอาวุธ
- ↑ Chapter Nine – The Last Executioner
- ↑ Chapter Nine – The Last Executioner
- ↑ "Thai man dies during 20-year jail term for insulting queen". The Guardian. 8 May 2012. สืบค้นเมื่อ 9 May 2012.
- ↑ http://www.bangkokpost.com/print/158506/ Rakkiat to be released from jail today Published: 29/10/2009 at 05:36 PM
- ↑ "ราชทัณฑ์อนุมัติพักการลงโทษ'รักเกียรติ สุขธนะ'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-11-01. สืบค้นเมื่อ 2009-10-30.
- ↑ พล.ท. มนัส คงแป้น จำเลยคนสำคัญคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาเสียชีวิตในเรือนจำ ส่วน พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดทำคดีขอลี้ภัย
- ↑ 'Press Pack 2'|http://davidmcmillan.net/gallery/press%20pack%202.pdf เก็บถาวร 23 เมษายน 2021 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ลูกสังข์ทอง เปิดศึกอาหน้าผี สุเทพ สีใส ฉกเพลงมรดกพ่อไปขาย
- ↑ ปิดฉาก! ศาลฎีกาสั่งประหาร'สุขุม เชิดชื่น' อดีตสว.จ้างฆ่า'หมอนิชรี'
- ↑ พักโทษ! อดีตส.ว.โทษประหาร พ้นเรือนจำแล้ว
- ↑ พักโทษ พ้นคุก ‘สุขุม เชิดชื่น’ อดีตส.ว.โทษประหาร คดีจ้างวานฆ่าหมอรพ.จุฬา
- ↑ เสาร์-อาทิตย์ นี้ ปล่อยตัวจำเลย 2 คดีดัง "สรยุทธ"อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง-"สุขุม เชิดชื่น" อดีต ส.ว.
- ↑ ย้อนคดี ย้อนอดีตตัวตน “สุขุม เชิดชื่น”จ้างวานสังหาร พญ. ถึง “ประหารชีวิต!”
- ↑ ย้อนรอยจำคุก20ปี สนธิ ทำเอกสารเท็จค้ำประกันกู้กรุงไทยพันล้าน
- ↑ ศาลฎีกาจำคุก "สนธิ ลิ้มทองกุล" 20 ปี ไม่รอลงอาญา คดีทำเอกสารเท็จกู้เงิน ธ.กรุงไทย
- ↑ 'ชูวิทย์' ไขข้อสงสัย ทำไม 'สนธิ' ติดคุกแค่ 3 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษ
- ↑ ฎีกายืนจำคุก‘สนธิ ลิ้มฯ’ 20ปี! ทำเอกสารเท็จ ค้ำประกันกู้กรุงไทยพันล้าน
- ↑ ราชทัณฑ์ย้าย ‘บุญทรง-ภูมิ’ เข้าคุกคลองเปรม เผยทั้งคู่ป่วยโรคผู้สูงวัย
- ↑ "บุญทรง เตริยาภิรมย์" ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดวันต้องโทษ
- ↑ "สั่งจำคุก "บุญทรง" 42 ปี "ภูมิ สาระผล" 36 ปี คดีทุจริตขายข้าว "จีทูจี"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-08. สืบค้นเมื่อ 2024-03-07.
- ↑ 'บุญทรง-ภูมิ' คุกคืนแรกเจอ 'จตุพร' สหายเก่า-จ่อส่งคลองเปรม
- ↑ ย้อนรอย "อดีต 9 นักการเมืองชื่อดัง" ถูกจองจำในคุกจริง
- ↑ "สาวต้นเหตุเข้าพบตำรวจไม่กล้าชี้ตัว สั่งคุมใกล้ชิดเกรงจะฆ่าตัวตาย". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ. 14 June 1972. p. 16.
- ↑ 'วัฒนา'มีโรคประจำตัวฉีควันซีน3เข็มแล้ว เตรียมย้ายขังคุกคลองเปรม
- ↑ ศาลฎีกาฯ พิพากษายืนจำคุก "วัฒนา" 50 ปี คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
- ↑ ราชทัณฑ์เตรียมย้าย'วัฒนา เมืองสุข' ไปคุกคลองเปรม
- ↑ บ้านเอื้ออาทร: พิพากษายืนจำคุก 99 ปี วัฒนา เมืองสุข คดีทุจริตบ้านเอื้ออาทร
- ↑ "การย้ายผู้ต้องขังกำหนดโทษสูงเกินอำนาจการควบคุม" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-19. สืบค้นเมื่อ 2024-03-07.
- ↑ แฉแผนลับ แหกคุกช่วย บรรยิน ระเบิดเรือนจำ จับเมียผบ.ต่อรอง
- ↑ 'บรรยิน' สารภาพกลางศาลฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา เล่าแผนสุดเลือดเย็น
- ↑ หน่วยหนุมาน คุม "บรรยิน" มาศาลฯ คดีอุ้มพี่ชายผู้พิพากษา
- ↑ แบบอย่างงานสืบสวน
- ↑ ย้ายเรือนจำ 6 ตร. มาขังกรุงเทพ แยกกำนันนก แดนมั่นคงสูง
- ↑ ย้อนประวัติ "กำนันนก" วันที่ถูกเด็ดปีก จากเสี่ยพันล้านสู่ผู้ต้องหาจ้างฆ่า
- ↑ 10 ปมสั่งตาย ทลายเครือข่าย “กำนันนก”
- ↑ เหตุการณ์ “ยิงสารวัตรทางหลวง” จะไปถึงไหน?
- ↑ คุม "ประสิทธิชัย เขาแก้ว" โจรปล้นร้านทองฝากขัง ชาวบ้านตะโกน "ขอให้โดนประหาร"
- ↑ หมดเคราะห์เสียที! 'เสี่ยชูวิทย์' รับโทษครบ พรุ่งนี้กลับสู่อิสรภาพ
- ↑ เคยติดคุกมาแล้ว! ชูวิทย์ อยู่ในเรือนจำวันแรก สบายดีไม่มีเครียด
- ↑ คุ้นเคย! ชูวิทย์ ไม่เครียด! เจอจตุพรในคุก ชวนเม้าธ์มอยทั้งคืนจนหลับ!
- ↑ พลิกแฟ้มคดีการเมือง แกนนำเหลือง-แดง-นกหวีด ใครติด ใครหลุด
- ↑ ชัด ๆ คำพิพากษาศาล! คดี‘สรยุทธ-พวก’โฆษณาเกินเวลา 138 ล.
- ↑ "สรยุทธ" ไม่รอด ศาลฎีกาตัดสินจำคุก 6 ปี 24 เดือน ไม่รอลงอาญา
- ↑ ปีนิดๆ คอนเฟิร์ม "สรยุทธ" พ้นห้องขัง 14 มีนาฯ นี้
- ↑ สรยุทธ สุทัศนะจินดา : ขอใช้เวลาสักพักก่อนตัดสินใจหวนกลับวงการสื่อ ยืนยันยังจะทำงานกับช่อง 3 หลังถูกปล่อยตัว พักโทษติดกำไลอีเอ็ม
- ↑ ศาลฎีกาฯ สั่งจำคุก ‘ทักษิณ’ จากความผิด 3 คดี ส่งตัวเข้าเรือนจำทันที
- ↑ ทักษิณ ชินวัตร จะอยู่ตรงไหน หลังมีระเบียบใหม่ราชทัณฑ์ “คุมขังนอกเรือนจำ”
- ↑ ในหลวง "พระราชทานอภัยลดโทษ" ทักษิณ ชินวัตร เหลือจำคุก 1 ปี หวังให้ “ทำคุณประโยชน์” แก่ชาติ-สังคม-ประชาชน หลังพ้นโทษ
- ↑ ส่งตัว 'ทักษิณ' เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แยกขังเดี่ยวแดน 7 จัดจนท.เฝ้าระวัง 24 ชม.
- ↑ เผยอาการป่วย "ทักษิณ" ยังทรง ยืนยันไม่ให้ย้ายโรงพยาบาล "อิ๊ง" สวนพวกเกรียน
- ↑ วิกฤตป่วย "ทักษิณ" 180 วัน ตั้งแต่กลับไทยถึงพักโทษ
- ↑ เปิดระเบียบราชทัณฑ์ เอื้อ ‘ทักษิณ’หรือไม่ นอนรักษาตัว รพ.เกิน120 วัน ใครมีอำนาจเห็นชอบ
- ↑ “เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” เตรียมแผนรับ “ทักษิณ”
- ↑ พักโทษ"พร้อมพงศ์-เกียรติอุดม"คืนสู่อิสรภาพ
- ↑ prachachat (2021-06-08). "ศาลยกฟ้อง! "วรเจตน์" ชนะคดีไม่ไปรายงานตัว "คสช." เมื่อปี 57". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ ป่วยกำเริบ ย้าย'กำนันเป๊าะ'ไปเรือนจำชลฯ ส่งรักษาตัวรพ.
- ↑ ย้ายกำนันเป๊าะรักษาที่ รพ.ราชฑัณฑ์กลาง หลังอาการไม่ดีขึ้น(ชมคลิป)
- ↑ กรมราชทัณฑ์พักโทษ "กำนันเป๊าะ" หลังอายุเกิน 70 ปีและป่วยเป็นโรคมะเร็ง
- ↑ เผย กำนันเป๊าะ-พงศ์พัฒน์-ผู้พันตึ๋ง ได้พระราชทานอภัยโทษ (ชมคลิป)
- ↑ ราชทัณฑ์ แจง 'กำนันเป๊าะ' ป่วยหนักส่งรักษารพ.ตำรวจ ปัดชง ขอพักโทษ
- ↑ ศาลอาญา สั่งจำคุกตลอดชีวิต 3 โจ๋ชายแดนใต้ ลอบวางระเบิดป่วนกรุงหลายจุด
- ↑ พิพากษาคุก 39-50 ปี! สามจำเลยบึ้มป่วนกรุงปี 62
- ↑ กรมราชทัณฑ์ขอแจ้งข้อมูลความจุผู้ต้องขังของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ณ วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘ มาเพื่อใช้เป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนบริหารจัดการในด้านต่างๆ ให้เกิด ประสิทธิภาพ ดังมีรายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้
- ↑ รายงานแสดงสภาพความแออัดในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ณ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567[ลิงก์เสีย]
- ↑ ประกาศกระทรวงยุติธรรม เรื่อง การกำหนดอำนาจการคุมขังของเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๕๔
- ↑ Joseph, Joanne and Larissa Focke. Drug Muled: Sixteen Years in a Thai Prison. Jacana Media, 2013. ISBN 1920601201, 9781920601201. p. 195. "Goosen says that[...]when she was on death row,[...]She tells of how, shortly after she arrived at Lard Yao,[...]"
- ↑ ทัณฑสถานหญิงกลาง
- ↑ เพลิงไหม้เรือนจำคลองเปรมเจ็บ 7 ราย
- ↑ เรือนจำหญิงกลางใช้ "ปัญญาบำบัด" ช่วยผู้ต้องขังต่างชาติให้เป็นอิสระทางใจ
- ↑ นอกจากกำลังใจ มนุษย์ยังต้องการโอกาส
- ↑ แอม ไซยาไนด์ แท้งลูกเพราะครรภ์เป็นพิษ แอดมิต รพ.ราชทัณฑ์ ล่าสุดปลอดภัยแล้ว
- ↑ สรุปข่าวเด่นในรอบปี 2566
- ↑ ย้อนรอยการเมือง Di Selatan (21)
- ↑ ล่าตัว “นางนกต่อ” แก๊งพยาบาลฆ่า “สส.กำธร ลาชโรจน์”
- ↑ Chapter Nine – The Last Executioner
- ↑ 3 นาทีคดีดัง : เรื่องจริง “กิ่งแก้ว” นักโทษประหารหญิง ยิงเป้าไม่ยอมตาย
- ↑ นักโทษประหาร...ในบันทึก'เพชฌฆาต'
- ↑ รายนามเพชฌฆาตที่ทำหน้าที่ยิงเป้า ของเรือนจำกลางบางขวาง
- ↑ "Newsmakers: Making News Why Just Jimmy Lai". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-12-17. สืบค้นเมื่อ 2024-03-07.
- ↑ ต้นกำเนิดยาม้าในประเทศไทย
- ↑ Andrew MacGregor Marshall [@zenjournalist] (28 August 2020). "Here's the notice from the Central Women's Correctional Institution at Lat Yao banning visitors yesterday and today due to a "big cleaning day". This is to enable King Vajiralongkorn's former consort Sineenat "Koi" Wongvajirapakdi to be quietly removed from the prison" (ทวีต) – โดยทาง ทวิตเตอร์.