การเลือกตั้งระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อท้องถิ่น
ส่วนหนึ่งของชุดการเมือง |
ระบบการลงคะแนน |
---|
สถานีย่อยการเมือง |
บัญชีรายชื่อท้องถิ่น (อังกฤษ: Localized list, Local List) เป็นแบบย่อยแบบหนึ่งของระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อเพื่อใช้กำหนดผู้สมัครจากพรรคการเมืองจะได้รับเลือกจากบัญชีรายชื่อ โดยที่บัญชีรายชื่อท้องถิ่นมีความแตกต่างจากบัญชีรายชื่อแบบเปิดและบัญชีรายชื่อแบบปิด โดยคล้ายคลึงกับกรณีบัญชีแบบเปิด บัญชีรายชื่อท้องถิ่นจะยอมให้แต่ละเขตเลือกตั้งลงคะแนนเลือกผู้แทนได้เป็นรายบุคคล แต่การจัดลำดับความชอบนั้นกระทำผ่านขั้นตอนการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นหรือระดับเขตแทน ส่วนบัญชีรายปิดนั้นผู้ลงคะแนนไม่สามารถเลือกผู้แทนเป็นรายบุคคลได้ โดยทำได้เพียงแค่เลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น
ในการลงคะแนนในบัญชีรายชื่อท้องถิ่นนี้จะกระทำในระดับเขตซึ่งแต่ละพรรคการเมืองนั้นส่งผู้สมัครพรรคละหนึ่งคน โดยมีความคล้ายคลึงกับการลงคะแนนระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (FPTP) หรือระบบอื่นๆ ที่ใช้หาผู้ชนะเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในเขตนั้นไม่จำเป็นที่จะชนะการเลือกตั้งเสมอไปเนื่องจากระบบนี้จะมีเงื่อนไขด้านความเป็นสัดส่วนของผู้แทนอยู่
เพื่อที่จะทำให้แต่ละพรรคการเมืองได้รับที่นั่งอย่างเป็นสัดส่วนต่อคะแนนเสียงรวมทั้งหมด (Popular Vote) ขั้นตอนแรกในการนับคะแนนคือการรวมผลคะแนนที่เลือกพรรคการเมืองที่มักจะกระทำเป็นคะแนนรวมทั้งประเทศ (at-large) หรือโดยเป็นแบบแบ่งเขตแบบมีผู้แทนหลายคน ผลลัพธ์ของแต่ละพรรคการเมืองจะนำมาหารกับจำนวนที่นั่งทั้งหมดอย่างเป็นสัดส่วนระหว่างพรรคการเมือง โดยบัญชีรายชื่อนั้นประกอบด้วยรายชื่อผู้สมัครของแต่ละเขตเลือกตั้ง
เมื่อทราบถึงจำนวนที่นั่งที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับแล้ว ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นที่มีคะแนนเสียงสูงที่สุดในเขตนั้นจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือก โดยจะจัดสรรจนกว่าที่นั่งทั้งหมดของพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะถูกจัดสรรครบทุกที่นั่ง
ระบบนี้มีข้อดีคือทำให้ผู้ลงคะแนนเลือกผู้สมัครเป็นรายบุคคลได้ อย่างไรก็ตามระบบนี้ถูกออกแบบให้มีความเป็นสัดส่วน ดังนั้นผู้สมัครรายที่ได้คะแนนสูงที่สุดในเขตอาจจะไม่ได้รับเลือก (เพราะว่าผู้สมัครร่วมพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งอื่นๆ อาจจะได้คะแนนรวมที่สูงกว่า) และผู้สมัครรายที่ได้คะแนนน้อยกว่าอาจจะได้รับเลือก (เพราะว่าผู้สมัครรายนี้เป็นผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองต้นสังกัด) จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคนที่จะได้รับเลือกในเขตเลือกตั้งหนึ่ง หรืออาจจะไม่มีผู้สมัครรายใดในเขตเลือกตั้งหนึ่งได้รับเลือกเลยก็เป็นได้
บัญชีรายชื่อท้องถิ่นใช้สำหรับการเลือกตั้งระดับจังหวัดในอิตาลี และยังเคยใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในระหว่างปีค.ศ. 1948 ถึงค.ศ. 2001
กรณีตัวอย่าง
[แก้]ตัวอย่างต่อไปนี้คำนวนจากสมมติฐานของเขตเลือกตั้งที่แบ่งเป็นเขตย่อยจำนวนสี่เขตที่มีผู้แทนเขตละสี่คนโดยแต่ละเขตมีประชากรจำนวนเท่าๆ กัน โดยทั้งเขตเลือกตั้งนั้นกำหนดให้มีผู้แทนทั้งหมดสี่คน แต่ผู้สมัครที่ได้รับเลือกนั้นจะถือเป็นผู้แทนของทั้งเขตเลือกตั้ง ไม่ได้ถือเป็นผู้แทนของเขตย่อยเขตใดเขตหนึ่ง ตัวอย่างทั้งสองตัวอย่างนี้เหมือนกันทุกประการ ยกเว้นในตัวอย่างที่สอง จะมีคะแนนเสียงของพรรคน้ำเงินสูงกว่าในเขต 4 ต่อเขต 3 การจัดสรรที่นั่งในพรรคการเมืองนั้นใช้โควตาแฮร์ในวิธีเหลือเศษสูงสุด
ตัวอย่างที่ 1
[แก้]เขต 1 | เขต 2 | เขต 3 | เขต 4 | คะแนนพรรคการเมือง |
---|---|---|---|---|
จอห์น (แดง), 600 | ชาลส์ (แดง), 210 | ฮิวห์ (แดง), 470 | แอนน์ (แดง), 390 | 1670 |
แคริว (เหลือง), 200 | เจมส์ (เหลือง), 350 | ดันแคน (เหลือง), 180 | ไมเคิล (เหลือง), 160 | 890 |
มิลลี (เขียว), 50 | พอล (เขียว), 250 | แพตตี (เขียว), 60 | เทรเวอร์ (เขียว), 170 | 530 |
แอนดรูว์ (น้ำเงิน), 150 | รอนนี (น้ำเงิน), 190 | โจชัว (น้ำเงิน), 290 | แมรี (น้ำเงิน), 280 | 910 |
ผู้ลงคะแนน 1000 คน | ผู้ลงคะแนน 1000 คน | ผู้ลงคะแนน 1000 คน | ผู้ลงคะแนน 1000 คน | รวม 4000 คน |
จำนวนที่นั่งทั้งหมดมี 4 ที่นั่ง พรรคแดงได้ 1970 คะแนน พรรคน้ำเงิน 910 คะแนน พรรคเหลือง 890 คะแนน และพรรคเขียว 530 คะแนน พรรคแดงจึงชนะไป 2 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคน้ำเงินและเหลืองได้พรรคละ 1 ที่นั่ง โดยผู้สมัครของพรรคซึ่งได้แก่ จอห์น เจมส์ ฮิวห์ และโจชัว (ตัวหนา) ได้รับเลือกตั้ง ในเขต 3 นั้นมีผู้แทนได้รับเลือกถึง 2 คน ในขณะที่เขต 4 ไม่มีผู้แทนได้รับเลือกเลย แต่โดยหลักการแล้วไม่ถือเป็นปัญหาเนื่องจากผู้ได้รับเลือกตั้งทั้งหมดถือเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองนั้นต่อทั้งเขตใหญ่ไม่ใช่เป็นผู้แทนของเขตย่อย
ตัวอย่างที่ 2
[แก้]เขต 1 | เขต 2 | เขต 3 | เขต 4 |
---|---|---|---|
จอห์น (แดง), 600 | เจมส์ (เหลือง), 350 | ฮิวห์ (แดง), 470 | แอนน์ (แดง), 370 |
แคริว (เหลือง), 200 | พอล (เขียว), 250 | โจชัว (น้ำเงิน), 290 | แมรี (น้ำเงิน), 300 |
แอนดรูว์ (น้ำเงิน), 150 | ชาลส์ (แดง), 210 | ดันแคน (เหลือง), 180 | เทรเวอร์ (เขียว), 170 |
มิลลี (เขียว), 50 | รอนนี (น้ำเงิน), 190 | แพตตี (เขียว), 60 | ไมเคิล (เหลือง), 160 |
ผู้ลงคะแนน 1000 คน | ผู้ลงคะแนน 1000 คน | ผู้ลงคะแนน 1000 คน | ผู้ลงคะแนน 1000 คน |
จำนวนที่นั่งทั้งหมดมี 4 ที่นั่ง พรรคแดงได้ 1650 คะแนน พรรคน้ำเงิน 930 คะแนน พรรคเหลือง 890 คะแนน และพรรคเขียว 530 คะแนน เช่นเดิมคือพรรคแดงชนะ 2 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคน้ำเงินและเหลืองชนะพรรคละหนึ่งที่นั่ง โดยผู้สมัครของพรรคซึ่งได้แก่ จอห์น เจมส์ ฮิวห์ และแมรี ได้รับเลือก ในกรณีนี้ผู้มีคะแนนนำในเขตย่อย 4 แพ้การเลือกตั้งให้กับผู้มีคะแนนลำดับสอง แต่เช่นเดิมคือ โดยหลักการแล้วไม่ถือเป็นปัญหาเนื่องจากแมรีเป็นผู้แทนของพรรคน้ำเงินของทั้งเขตเลือกตั้งและยังเป็นผู้ที่มีคะแนนสูงสุดของพรรคน้ำเงิน