การเตรียมงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
มีการแนะนำว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรย้ายไปรวมกับบทความ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (อภิปราย) |
พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระราชพิธีที่จัดเพื่อแสดงความจงรักภักดี และถวายความอาลัย แด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยรัฐบาลกำหนดวันพระราชพิธีฯ ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 การเตรียมงานพระราชพิธีฯ ดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 และมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ครั้งแรก ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 การดำเนินการพระราชพิธีฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างพระเมรุ และอาคารประกอบ การบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาพิชัยราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธี รวมถึงการเตรียมงานมหรสพในงานออกพระเมรุ
การประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ
[แก้]เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2551 เวลา 15.00 น.พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นายธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เฝ้ารับเสด็จฯ
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานข้อคิดว่า ควรจะตกลงกันให้เรียบร้อยว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากคณะกรรมการฯ คิดตามแบบโบราณราชประเพณีว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดเป็นวันใด ทางสำนักพระราชวังจะได้แจ้งเป็นหนังสือมา จึงเริ่มดำเนินการไปตามวันที่โปรดเกล้าฯ ในส่วนพระเมรุ ได้วางรากฐาน และเสาตอม่อไปแล้วร้อยละ 95 งานวางคาน และตงเหล็ก แล้วเสร็จไปร้อยละ 80 และจะเสร็จสมบูรณ์ ในเดือนตุลาคมนี้ คณะกรรมการฯ จึงได้คาดหมายวันพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ในเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม ทั้งสองพระองค์รับสั่งให้เลือกวันจากปฏิทิน โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชดำริให้พิธีกฐินออกพรรษา และประเพณีลอยกระทงของประชาชน ซึ่งตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน ผ่านไปเสียก่อน ที่ประชุมจึงลงมติเลือกวันพระราชพิธีฯ ในระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีฯ จะได้จัดทำรายงานสรุปความก้าวหน้าต่างๆ ของการเตรียมงาน เพื่อนำขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ทรงทราบทุก 2-3 สัปดาห์
ริ้วขบวนพระอิสริยยศ
[แก้]รายละเอียดของแต่ละริ้วขบวน
[แก้]คณะกรรมการอำนวยการฯ พิจารณาเห็นชอบให้มีทั้งสิ้น 6 ริ้วกระบวน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพฯ
- ริ้วขบวนเชิญพระโกศ โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังพระมหาพิชัยราชรถ หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
- ริ้วขบวนเชิญพระโกศ โดยพระมหาพิชัยราชรถ จากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ไปยังพระเมรุ ท้องสนามหลวง
- ริ้วขบวนเชิญพระโกศ โดยพระยานมาศสามลำคาน เวียนพระเมรุโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) ครบ 3 รอบ แล้วเชิญพระโกศ ประดิษฐานบนพระเมรุ
- พระราชพิธีบรรจุพระอัฐิ
- ริ้วขบวนเชิญพระโกศพระอัฐิ โดยพระที่นั่งราเชนทรยาน และพระสรีรางคาร โดยพระวอสีวิกากาญจน์ จากพระเมรุ ท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง
- พระราชพิธีอัญเชิญพระโกศพระอัฐิ ขึ้นประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายหลังบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ
- ริ้วขบวนเชิญพระโกศพระอัฐิ โดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
- พระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคาร
- ริ้วขบวนเชิญพระสรีรางคาร จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปบรรจุ ณ อนุสรณ์สถานรังษีวัฒนา วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
การฝึกซ้อมริ้วกระบวน
[แก้]ในส่วนการซ้อมริ้วกระบวนพระราชอิสริยยศ คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มีฝึกการซ้อมริ้วกระบวนพระราชอิสริยยศขึ้น ได้ฝึกซ้อมในสถานที่จริง และเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศจริง โดยมี คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฯ ทหารกองเกียรติยศ ทหารรักษาพระองค์ ข้าราชการ ข้าราชบริพาร ข้าหลวง สมาชิกราชสกุล โรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนวชิรวุธวิทยาลัย ได้ร่วมเดินฝึกซ้อมริ้วกระบวนพระราชอิสริยยศขึ้น แต่ส่วนริ้วกระบวนเชิญพระสรีรางคาร ในริ้วกระบวนสุดท้ายนั้นทหารม้ารักษาพระองค์ได้ร่วมฝึกซ้อมภายในกองทหารม้าและครั้งต่อไปได้ร่วมฝึกซ้อมในสถานที่จริง
พระเมรุและอาคารประกอบ
[แก้]การออกแบบ
[แก้]สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้ใช้แบบพระเมรุทรงยอดปราสาท มีรูปแบบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม คล้ายพระเมรุของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวีออกแบบโดย นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
การก่อสร้าง
[แก้]พระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นกุฎาคารเรือนยอดประธานมณฑล สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นพระเมรุทรงปราสาทจตุรมุข ย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปักพระสัปตปฎลเศวตฉัตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงยกขึ้นสู่ยอดพระเมรุ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ความสูงจากฐานถึงยอดฉัตร 37.85 เมตร กว้าง 31.80 เมตร ยาว 39.80 เมตร สร้างด้วยไม้ โครงสร้างภายในเป็นเหล็กประดับด้วยกระดาษทองย่นตกแต่งด้วยลวดลาย
ฐานพระเมรุ จัดทำเป็น 2 ระดับ มีบันไดทอดถึงตลอดทั้ง 4 ทิศ ระดับแรกเรียกว่า ฐานชาลา ประดับด้วยรูปเทวดานั่งคุกเข่า พระหัตถ์ถือบังแทรกตรงกลางเป็นโคมไฟ ประดับตามพนักฐานชาลา ด้านในมีรูปเทวดา ประทับยืนถือฉัตรเครื่องสูงรายรอบ ระดับที่สองหรือฐานบนเรียกว่า ฐานพระเมรุ เป็นฐานสิงห์ มีบันไดทางขึ้นจากฐานชาลาทั้ง 4 ทิศ โถงกลางใหญ่ตั้งพระ จิตกาธานขนาดใหญ่สำหรับประดิษฐานพระโกศ เพื่อถวายพระเพลิง ทางด้านทิศเหนือของพระจิตกาธาน มีรางยื่นออกไปนอกมุขเป็นสะพานเกริน เพื่อใช้เป็นที่เคลื่อน พระโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นบนพระเมรุ
องค์พระเมรุทั้งด้านในและด้านนอก ประดับตกแต่งด้วยกระดาษทองย่นเกือบทั้งหมด ใช้สีทองเป็นหลักและประกอบด้วยสีอื่นๆ ที่เป็นสีอ่อนหวาน เหมาะกับพระอุปนิสัยและพระจริยวัตรที่นุ่มนวล สง่างาม ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระเมรุได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม
นอกจากนี้กรมศิลปากรยังได้สร้าง ลิฟท์ยกระบบไฮดรอลิก เป็นลิฟท์ที่ติดตั้งพิเศษอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งติดตั้งอยู่ทั้ง 2 จุด คือ ฐานชาลา และ ฐานพระเมรุ ซึ่งใช้เป็นที่ขึ้นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อเข้าสู่พระเมรุภายในพระจิตกาธาน อีกด้วย
การก่อสร้างอาคารประกอบและอุปกรณ์ติดตั้งภายในพระเมรุ
[แก้]สิ่งก่อสร้างอาคารประกอบ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ภายในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้แก่
- พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารโถง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุ ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรประทับทรงธรรมและทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระศพ รวมทั้งมีที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน สมาชิกรัฐสภา ตลอดจนคณะทูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ภายในพระที่นั่งทรงธรรม เป็นที่ตั้งอาสนะพระสงฆ์ และธรรมมาสน์ เป็นที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อทรงพักพระอิริยาบถ ซึ่งตรงกับมุขด้านหน้าของพระเมรุ มุขเหนือและใต้เป็นที่สำหรับข้าราชการเข้าเฝ้า
- หอเปลื้อง ตั้งอยู่ทางทิศตะวัน ออก ตรงมุขหลังของพระเมรุเป็นอาคารขนาดเล็ก ภายในเขต ราชวัติ หันหน้าเข้าหาพระเมรุ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย มีฝากั้นโดยรอบ หอเปลื้องเป็นสถานที่สำหรับเก็บพระโกศหลังจากได้เชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนจิตกาธานแล้ว และใช้เป็นที่เก็บสัมภาระต่างๆในการพระราชพิธี เช่น ฟืน ดอกไม้จันทน์ ขันน้ำ ซึ่งจะต้องตั้งน้ำสำหรับเลี้ยงเพลิงเวลาเมื่อพระราชทานเพลิง
- ซ่าง หรือ สำส้าง เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างขึ้นที่มุมทั้งสี่บนชาลาพระเมรุ ใช้เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ตลอดงานพระเมรุ ตั้งแต่พระโกศพระศพประดิษฐานบนพระจิตกาธาน จนกว่าจะถวายพระเพลิงเสร็จ คือจะมีพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งอยู่ประจำซ่างโดยจะผลัดกันสวดทีละซ่างเวียนกันไป
- ทับเกษตร ทับเกษตรเป็นอาคารขนาบสองข้างของซ่างตามแนวรั้วราชวัติ เป็นการก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมไทย มีลักษณะเป็นระเบียงโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลังคาจั่ว เป็นสถานที่สำหรับข้าราชการที่มาฟังสวดพระอภิธรรมในงานถวายพระเพลิงพระศพ
- ศาลาลูกขุนแบบที่ 1 เป็นอาคารโถงทรงโรง สร้างตรงปลายปีกพระที่นั่งทรงธรรม ทั้งด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการ าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ และข้าในพระองค์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ด้านละ 1 หลัง
- ศาลาลูกขุนแบบที่ 2 เป็นอาคารโถงทรงโรง สร้างตรงด้านหลังพระที่นั่งทรงธรรม ทั้งด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ใช้เป็นที่เฝ้าของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ และข้าในพระองค์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในงานถวายพระเพลิงพระศพ ด้านละ 1 หลัง และ ด้านหลังของทับเกษตรและทิมในแนวรั้วบริเวณขอบเขตรั้วราชวัติ ด้านทิศใต้ 3 หลัง
- ทิม ทิมเป็นอาคารที่ปลูกสร้างติดกับรั้วราชวัติ ใช้เป็นที่พักข้าราชบริพารและผู้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท มีจำนวน 6 หลัง อยู่ติดกับแนวรั้วราชวัติตรงกับปลายมุขเหนือและใต้ของพระที่นั่งทรงธรรม ด้านทิศตะวันออก 2 หลัง ตั้งทั้ง 4 ทิศ ด้านเหนือใต้ด้านละ 1 หลัง ด้านตะวันตกและตะวันออกด้านละ 2 หลัง ด้านหน้าเปิดโล่ง หลังคาเป็นลักษณะหลังคาปะรำ (หลังคาแบน) อยู่ระหว่างทับเกษตรมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทับเกษตรมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้ และตั้งอยู่ปลายปีกมุขทิศตะวันตกของพระที่นั่งทรงธรรม 2 หลัง โดยทุกอาคาร หันหน้าเข้าสู่มณฑลพิธี ใช้สำหรับเจ้าพนักงาน พระสงฆ์ แพทย์หลวงพักและใช้เป็นที่ตั้งเครื่องประโคมพระศพด้วย
การก่อสร้างอุปกรณ์ติดตั้งภายในพระเมรุ
[แก้]สิ่งก่อสร้างอุปกรณ์ติดตั้งภายในพระเมรุ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ภายในและนอกมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้แก่
สิ่งก่อสร้างภายในพระเมรุ
[แก้]- พระโกศจันทน์ ประดิษฐานอยู่บนพระจิตกาธานภายในพระเมรุ เพื่อใช้ที่สำหรับเข้าเฝ้าถวายเพลิง
- พระจิตกาธาน ประดิษฐานภายในพระเมรุ รองรับพระโกศจันทน์ โดยในวันจริงจะตกแต่งด้วยเครื่องสด เช่น หยวกกล้วยที่ผ่านการตกแต่งด้วยการแทงหยวก ผลไม้ต่างๆ ที่ผ่านการแกะสลัก โดยการจัดเครื่องสดประดับพระจิตกาธานนั้นจะทำก่อนวันพระราชพิธีประมาณ 1-2 วัน สำหรับการแทงหยวกนั้นจะใช้ช่างแทงหยวกจากจังหวัดเพชรบุรี มีนายประสม สุสุทธิ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ (แทงหยวก) พ.ศ. 2535 และเป็นช่างแทงหยวกประดับพระจิตกาธานในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเป็นอาทิ[1]
เครื่องประกอบพระอิสริยยศ
[แก้]- สัตปฎลเศวตฉัตร ติดตั้งอยู่บนเพดานตรงกลางของทับเกษตรทุกหลังด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศแนวรั้วราชวัติและบนยอดของพระเมรุและบนยอดสุพระจิตกาธานภายในพระเมรุ
- ฉัตร 5 ชั้น ติดตั้งอยู่ด้านนอกพระเมรุอยู่ข้างพระฉากบังเพลิง
- ฉัตร 3 ชั้น ติดตั้งอยู่บนยอดเสาหงส์ทุกต้นภายในและภายนอกของเขตรั้วราชวัติ
สิ่งอำนวยความสะดวกและระบบส่องสว่าง
[แก้]- ราชวัติ เป็นแนวรั้วกั้นเป็นเขตปริมณฑลของพระเมรุทั้ง 4 ด้าน และได้ติดตั้งเสาไฟตลอดแนวรั้วราชวัติ
- สะพานเกรินบันไดนาคเป็นสะพานเกรินที่อยู่ทางด้านทิศเหนือ เพื่อใช้เป็นที่เคลื่อนพระโกศจากพระยานมาศสามลำคานขึ้นบนสู่พระเมรุของพระจิตกาธาน
- ลิฟท์ยกระบบไฮดรอลิก ลิฟท์ที่ติดตั้งพิเศษอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งติดตั้งอยู่ทั้ง 2 ฐาน คือ ฐานชาลา และ ฐานพระเมรุ ซึ่งใช้เป็นที่ขึ้นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อเข้าสู่พระเมรุภายในพระจิตกาธาน
- เสาไฟสนาม เป็นเสาไฟสนามที่ติดตั้งอยู่ภายในพระเมรุ ด้านหน้านอกพระที่นั่งทรงธรรม สวนดอกไม้ด้านนอกรอบพระเมรุ เขตแนวรั้วราชวัติรอบพระเมรุ และด้านทิศตะวันออกของพระเมรุและหอเปลื้อง
เครื่องประดับตกแต่งบริเวณพระเมรุ
[แก้]- สวนดอกไม้ ซึ่งปลูกไว้อยู่ทางด้านนอกพระเมรุและด้านนอกตลอดขอบเขตแนวรั้วราชวัติและด้านนอกของพลับพลายกท้องสนามหลวง
- ฉัตรโลหะ ซึ่งติดตั้งอยู่บนเพดานด้านซ้ายและขวาของทับเกษตรทุกหลังด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้แนวรั้วราชวัติ
การก่อสร้างพลับพลายกและเกย
[แก้]พลับพลายกที่สร้างมี 3 หลัง ตั้งที่ท้องสนามหลวง นอกรั้วราชวัติ ด้านทิศเหนือ 1 หลัง ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท 1 หลัง และที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีกหนึ่งหลัง มีดังนี้
- พลับพลายกท้องสนามหลวง อยู่ด้านนอกเขตรั้วราชวัติด้านทิศเหนือ ใช้สำหรับที่ประทับพระบาทสมเด้จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และใช้สำหรับเสด็จรับพระศพลงจากราชรถ สู่พระยานมาศสามลำคาน
- พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ใช้สำหรับที่ประทับพระบาทสมเด้จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร ใช้สำหรับเสด็จรับพระศพจากพระยานมาศสามลำคาน สู่ราชรถ
- พลับพลายกพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท อยู่ด้านหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท หน้าพระบรมมหาราชวัง สำหรับเจ้านายฝ่ายในประทับ ทอดพระเนตรกระบวน และถวายบังคมพระศพ
- เกย มีลักษณะเป็นยกพื้นสี่เหลี่ยมย่อไม้แปด ตั้งอยู่ด้านหน้าประตูกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง มีบันไดขึ้นลงสามข้าง ด้านตะวันตกเป็นที่เทียบพระยานมาศสามลำคาน สำหรับอัญเชิญพระโกศพระศพขึ้นประดิษฐาน ด้านตะวันออกเป็นที่อัญเชิญพระโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นเกย ด้านเหนือ – ใต้ สำหรับเจ้าพนักงาน
สัตว์หิมพานต์ รูปเทวดาประดับและติดตั้งพระเมรุ
[แก้]สำหรับสัตว์หิมพานต์ รูปเทวดา ที่จะประดับ และติดตั้งพระเมรุนั้น กรมศิลปากรได้คัดเลือกรูปแบบสัตว์หิมพานต์ สำหรับประดับพระเมรุ โดย คณะทำงานได้คัดเลือกสัตว์หิมพานต์ประเภททวิบาทหรือ สัตว์ 2 เท้า 4 ชนิด จากสมุดไทยดำสมัยรัชกาลที่ 3 มาประดับบันไดทางขึ้นพระเมรุทั้ง 3 ด้าน และหล่อรูปเทวดา ได้แก่
- เทพกินนร ลักษณะครึ่งเทพบุตรครึ่งนก จะประดับบันไดทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยจะปั้นเทพกินนรในท่าพนมมือ แสดงการถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- อัปสรสีหะ ลักษณะครึ่งนางฟ้าครึ่งสิงห์ ประดับอยู่ด้านทิศเหนือซึ่งเป็นด้านอัญเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุ โดยจะปั้นอัปสรสีหะในท่าพนมมือ เพื่อถวายการเคารพเปรียบเสมือนการคอยรับพระศพขึ้นสู่พระเมรุ
- นกทัณฑิมา ลักษณะถือกระบอง จะประดับไว้ด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นที่สำหรับข้าราชการและประชาชนจะขึ้นถวายสักการะพระศพ
- หงส์ จะจัดสร้างลักษณะเสาหงส์ทางทิศตะวันออก สำหรับเป็นเสารับพระภูษาโยงในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพในงานออกพระเมรุ
- เทวดานั่งคุกเข่า รูปเทวดานั่งคุกเข่า พระหัตถ์ถือบังแทรกตรงกลางเป็นโคมไฟ ประดับตามพนัก ฐานชาลา ฐานพระเมรุ อยู่รอบพระเมรุทั้ง 4 ทิศ
- เทวดาประทับยืน รูปเทวดาประทับยืนถือฉัตรเครื่องสูงรายรอบ ประดับตามพนัก ฐานชาลา ฐานพระเมรุ อยู่รอบพระเมรุทั้ง 4 ทิศ
ซุ้มสำหรับประชาชนเข้าถวายดอกไม้จันทน์
[แก้]ส่วนประชาชนที่ต้องการร่วมถวายความอาลัย คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดพิธีให้ประชาชนเข้าถวายดอกไม้จันทน์ ณ ซุ้มรอบบริเวณท้องสนามหลวง จำนวน 8 ซุ้ม หรือตามความเหมาะสม ทั้งนี้ วัดต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะร่วมจัดพิธีดังกล่าวพร้อมกันด้วย โดยที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรมการถวายดอกไม้จันทน์ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ โดยมี นายจาดุร อภิชาตบุตร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ
การบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาพิชัยราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระราชพิธี
[แก้]พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถน้อย ราชยาน พระยานมาศสามลำคาน พระที่นั่งราเชนทรยาน พระวอสีวิกากาญจน์ ซึ่งได้ขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งพระมหาพิชัยราชรถ ราชรถน้อย ราชยาน พระยานมาศสามลำคาน พระที่นั่งราเชนทรยาน พระวอสีวิกากาญจน์ ได้ใช้เพียงแค่ชั่วคราว ซึ่งเอาไว้ใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในกรุงรัตนโกสินทร์ มาต่อๆกันมาจนถึงปี พ.ศ. 2551 เมื่อที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้สิ้นพระชนม์ และได้จัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ณ พระเมรุฯ ท้องสนามหลวง และขณะนี้ พระมหาพิชัยราชรถ ราชรถน้อย ราชยาน พระยานมาศสามลำคาน พระที่นั่งราเชนทรยาน พระวอสีวิกากาญจน์ ได้ทรุดโทรมลงมาก จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เครื่องประกอบพระราชพิธีขึ้น เพื่อที่จะเตรียมใช้งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเครื่องประกอบพระราชพิธี ที่จะดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ มีดังนี้
- พระมหาพิชัยราชรถ อัญเชิญพระโกศพระศพ จากหน้าวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม สู่พระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ท้องสนามหลวง
- ราชรถน้อย ที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชอ่านบทสวดพระอภิธรรม จากหน้าวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม สู่พระเมรุ ท้องสนามหลวง
- พระยานมาศสามลำคาน สำหรับอัญเชิญพระโกศพระศพ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง สู่หน้าวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม และ สู่พระเมรุ ท้องสนามหลวง สำหรับเวียนพระเมรุ 3 รอบ
- พระที่นั่งราเชนทรยาน อัญเชิญพระโกศพระอัฐิจากพระเมรุ ท้องสนามหลวง สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
- พระวอสีวิกากาญจน์ อัญเชิญพระผอบพระสรีรางคาร จากพระเมรุพระศพ ท้องสนามหลวง สู่พระศรีรัตนเจดีย์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
- พระเสลี่ยงกลีบบัว ที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชอ่านบทสวดพระอภิธรรม จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง สู่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และ สู่พระเมรุ ท้องสนามหลวง สำหรับเวียนพระเมรุ 3 รอบ
การรักษาความปลอดภัยและการจราจร
[แก้]- วางกำลังรักษาความปลอดภัย ภายในเขตมณฑลพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ โดยรอบใน ใช้กำลังนักเรียนนายร้อยตำรวจ รอบกลาง ใช้กำลังสารวัตรทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ รอบนอก และเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ
- จัดตั้งกองรักษาการณ์จำนวน 15 แห่ง เป็นจุดรวมพล และควบคุมการปฏิบัติ กระจายครอบคลุมพื้นที่ ตั้งแต่แยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินตลอดสาย ถนนสนามไชย ถนนมหาราช ถนนพระจันทร์ และโดยรอบท้องสนามหลวง
- จัดตั้งศูนย์อำนวยการ และศูนย์ปฏิบัติการร่วม รักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย และการจราจร
- กำหนดห้ามจอดรถ ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เวลา 18.00 น.
- กำหนดปิดการจราจร ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ตั้งแต่เวลา 00.00 น.
ทั้งนี้ จะได้ตั้งกองอำนวยการขึ้น ในบริเวณใกล้เคียงท้องสนามหลวง และบริเวณถนนราชดำเนินกลาง เพื่อให้บริการน้ำดื่ม อาหาร ห้องสุขา และห้องปฐมพยาบาล แก่ประชาชนที่ร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ตลอดจนติดตั้งเครื่องรับโทรทัศน์ขนาดใหญ่
การเชิญผู้ไปร่วมเข้าเฝ้าฯ
[แก้]พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีฯ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ โดยรัฐบาลไทยจะได้ทำหนังสือเชิญบุคคลสำคัญของประเทศ จำนวนประมาณ 3,000 คน เข้าเฝ้าฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธี อาทิ สมาชิกราชสกุล คณะองคมนตรี นายกรัฐมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คณะทูตานุทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการสังกัดหน่วยงานอิสระ ข้าราชการทหารตำรวจ ข้าราชการในพระองค์ ข้าราชการพลเรือน หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนภาคเอกชน พร้อมด้วยคู่สมรส ภายในเขตรั้วราชวัตร มณฑลพระราชพิธีฯ ได้มีการจัดสร้างอาคาร สำหรับเป็นที่นั่งเฝ้าฯ ประกอบด้วย พระที่นั่งทรงธรรม 1 อาคาร, ศาลาลูกขุน 7 อาคาร, ทับเกษตร 4 อาคาร, และ ทิม 2 อาคาร ซึ่งจะเรียนเชิญผู้ไปร่วมเฝ้าฯ ในงานพระราชพิธีฯ ในวันเสาร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ใน 3 เวลา คือเวลา 07.00 น.(การเชิญพระโกศออกพระเมรุ) เวลา 16.30 น. (พระราชทานเพลิงพระศพฯ) และเวลา 22.00 น. (พระราชทานเพลิงพระศพฯ พระราชพิธีจริง)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ มือแทงหยวกปีติ ถวายพระเมรุ[ลิงก์เสีย] เว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน เรียนดูข้อมูลเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551