สาธารณรัฐโรมัน
สาธารณรัฐโรมัน Rēs pūblica Rōmāna | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
509 ปีก่อนคริสต์ศักราช–27 ปีก่อนคริสต์ศักราช | |||||||||
อาณาเขตสาธารณรัฐโรมันยามที่จูเลียส ซีซาร์ถูกลอบสังหาร, 44 ปีก่อนคริสต์ศักราช | |||||||||
เมืองหลวง | โรม | ||||||||
ภาษาทั่วไป | ละติน (ภาษาทางการ) | ||||||||
ศาสนา | พหุเทวนิยมโรมัน | ||||||||
การปกครอง | สาธารณรัฐรัฐธรรมนูญ | ||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | สมัยคลาสสิก | ||||||||
509 ปีก่อนคริสต์ศักราช | |||||||||
• จูเลียส ซีซาร์ประกาศตนเป็นผู้เผด็จการ | 47 ปีก่อนคริสต์ศักราช | ||||||||
2 กันยายน 31 ปีก่อนคริสต์ศักราช | |||||||||
• อ็อกตาวิอุสประกาศตนเป็นเอากุสตุส | 16 มกราคม 27 ปีก่อนคริสต์ศักราช | ||||||||
พื้นที่ | |||||||||
326 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1] | 10,000 ตารางกิโลเมตร (3,900 ตารางไมล์) | ||||||||
200 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1] | 360,000 ตารางกิโลเมตร (140,000 ตารางไมล์) | ||||||||
146 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1] | 800,000 ตารางกิโลเมตร (310,000 ตารางไมล์) | ||||||||
100 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1] | 1,200,000 ตารางกิโลเมตร (460,000 ตารางไมล์) | ||||||||
50 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1] | 1,950,000 ตารางกิโลเมตร (750,000 ตารางไมล์) | ||||||||
|
สาธารณรัฐโรมัน (ละติน: Rēs pūblica Rōmāna [ˈreːːs ˈpuː.blika roːˈmaːna]; อังกฤษ: Roman Republic) เป็นยุคสมัยของอารยธรรมโรมันโบราณขณะมีรัฐบาลเป็นสาธารณรัฐ เริ่มต้นจากการโค่นล้มราชาธิปไตยโรมัน ซึ่งมักถือว่าเมื่อราว 509 ปีก่อนคริสต์ศักราช และแทนที่ด้วยรัฐบาลซึ่งนำโดยกงสุลสองคน ซึ่งพลเมืองเลือกตั้งทุกปีและได้รับคำแนะนำจากวุฒิสภา รัฐธรรมนูญที่ซับซ้อนค่อย ๆ ได้รับการพัฒนา โดยมีศูนย์กลางอยู่บนหลักการแบ่งแยกอำนาจและการตรวจสอบและถ่วงดุล ยกเว้นในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงของประเทศ ตำแหน่งราชการถูกจำกัดไว้ที่หนึ่งปี เพื่อที่ในทางทฤษฎีจะไม่มีปัจเจกบุคคลใดสามารถครอบงำพลเมืองได้
ในทางปฏิบัติ สังคมโรมันเป็นแบบลำดับชั้น[2][3] วิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโรมันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากการต่อสู้ระหว่างชนชั้นสูงผู้ถือครองที่ดินของโรม (พวกคณะพรรค) ผู้ซึ่งมีบรรพบุรุษย้อนไปตั้งแต่ประวัติศาสตร์ยุคต้นของอาณาจักรโรมัน กับชนชั้นไพร่ฟ้าประชาชน (พวกสามัญ) ที่มีจำนวนมากกว่ามาก เมื่อเวลาผ่านไป กฎหมายซึ่งให้สิทธิ์ขาดตำแหน่งสูงสุดของโรมแก่พวกคณะพรรคถูกยกเลิกหรือหย่อนลง ทำให้พวกสามัญเริ่มเข้ามาเรียกร้องสิทธิในอำนาจ บรรดาผู้นำของกรุงโรมได้พัฒนาประเพณีและศีลธรรมแข็งซึ่งต้องการบริการส่วนรวมและการอุปถัมภ์ในยามสันติและสงคราม หมายความว่า ความสำเร็จทางทหารและการเมืองเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ได้ ระหว่างสองศตวรรษแรก สาธารณรัฐโรมันได้ขยายตัวผ่านการพิชิตและพันธมิตรร่วมกัน จากอิตาลีตอนกลางเป็นทั้งคาบสมุทรอิตาลี เมื่อถึงศตวรรษต่อมา รวมถึงแอฟริกาเหนือ คาบสมุทรไอบีเรีย กรีซ และพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเป็นฝรั่งเศสตอนใต้ อีกสองศตวรรษจากนั้น ใกล้ปลายศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล รวมถึงฝรั่งเศสปัจจุบันที่เหลือ และพื้นที่อีกมากในทางตะวันออก ถึงขณะนี้ แม้จะมีข้อจำกัดตามประเพณีและกฎหมายของสาธารณรัฐต่อการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองอย่างถาวรของบุคคล การเมืองโรมันถูกครอบงำโดยผู้นำโรมันไม่กี่คน พันธมิตรที่อึดอัดระหว่างพวกเขาถูกคั่นด้วยสงครามกลางเมืองเป็นระยะ
ผู้ชนะคนสุดท้ายในสงครามกลางเมืองเหล่านี้ อ็อกตาวิอุส (เอากุสตุส) ปฏิรูปสาธารณรัฐเป็นสมัยผู้นำ โดยตั้งตนเป็น "พลเมืองหมายเลขหนึ่ง" (princeps) ของโรม วุฒิสภายังคงประชุมและโต้วาทีกัน มีการเลือกตั้งพนักงานผู้ปกครองประจำปีดังก่อน แต่การตัดสินใจสุดท้ายในประเด็นนโยบาย การสงคราม การทูตและการแต่งตั้งเป็นเอกสิทธิ์ของ princeps ในฐานะ "ผู้เป็นเอกในบรรดาผู้เท่าเทียม" (หรือ imperator เนื่องจากการถืออำนาจสิทธิ์ขาด อันเป็นที่มาของคำว่า จักรพรรดิ) อำนาจของพระองค์เป็นแบบระบอบกษัตริย์ทุกอย่างเว้นแต่นามเท่านั้น และพระองค์ถืออำนาจไว้ตลอดชีพ ในนามของวุฒิสภาและประชาชนแห่งกรุงโรม สาธารณรัฐโรมันไม่เคยถูกฟื้นฟู แต่ก็ไม่เคยถูกล้มล้างเช่นกัน ดังนั้น เหตุการณ์อันเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนผ่านสู่จักรวรรดิโรมันจึงยังเป็นประเด็นที่ต้องตีความต่อไป นักประวัติศาสตร์เสนอหลากหลายเหตุการณ์ เช่น การแต่งตั้งจูเลียส ซีซาร์เป็นผู้เผด็จการตลอดชีพเมื่อ 44 ปีก่อนคริสต์ศักราช, ความพ่ายแพ้ของมาร์ค แอนโทนีในยุทธนาวีที่อักติอูงเมื่อ 31 ก่อนคริสต์ศักราช และการมอบอำนาจเต็มแก่ออกเตเวียน (ออกัสตัส) ของวุฒิสภาโรมันภายใต้ข้อตกลงแรกเมื่อ 27 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นเหตุการณ์นิยามการสิ้นสุดสาธารณรัฐ
โครงสร้างทางกฎหมายและนิติบัญญัติจำนวนมากของโรมยังพบเห็นได้ทั่วยุโรปและพื้นที่ส่วนอื่นของโลกโดยรัฐชาติสมัยใหม่และองค์การระหว่างประเทศ ภาษาละติน ภาษาของชาวโรมัน ส่งอิทธิพลต่อไวยากรณ์และคำศัพท์ทั่วบางส่วนของยุโรปและโลก
ประวัติศาสตร์
[แก้]509 ปีก่อนคริสตกาล ลูกิอุส ตาร์กวินิอุส ซุแปร์บุส กษัตริย์แห่งโรมคนสุดท้าย ได้ถูกรัฐประการโค่นอำนาจลง กรุงโรมได้สถาปนาการปกครองในระบอบสาธารณรัฐขึ้น และในอีก 16 ปีต่อมา กรุงโรมก็ประกาศเป็นพันธมิตรกับสันนิบาตละตินเพื่อต่อต้านอำนาจของกรีก แม้กรุงโรมจะร่วมมือกับพวกละตินในการทำสงครามกับกรีกหลายครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล สันนิบาตละตินซึ่งประกอบด้วย 30 ชนเผ่าที่ใช้ภาษาละตินแข็มแข็งขึ้นและกลายเป็นมหาอำนาจในคาบสมุทรอิตาลี การผงาดขึ้นมาของพวกละตินทำให้รัฐบาลกรุงโรมต้องหวาดระแวงต่อสหายเก่า ระหว่างปี 340-338 ก่อนคริสต์ศักราช กรุงโรมได้ทำสงครามกับสันนิบาตละตินและได้รับชัยชนะ รัฐบาลกรุงโรมได้ยุบสันนิบาตละตินทิ้ง
ด้วยการพยายามปกป้องอาณาเขตของตนจากเพื่อนบ้านและศัตรูผู้รุกราน ชาวโรมันได้ขยายอาณาเขตของสาธารณรัฐโรมันไปจนถึงดินแดนของชาวอีทรัสคันทางตอนเหนือ ตลอดจนดินแดนเกาะซิซิลีทางตอนใต้ซึ่งเคยถูกปกครองโดยกรีก กล่าวได้ว่าสาธารณรัฐโรมันในปี 270 ก่อนคริสต์ศักราช ได้ครอบครองดินแดนเกือบทุกส่วนของที่เป็นประเทศอิตาลีในปัจจุบัน เมื่อสาธารณรัฐโรมันเกิดความขัดแย้งกับชาวคาร์เธจในประเด็นเรื่องการค้าในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก็เกิดเป็นสงครามครั้งใหญ่ขึ้นเรียกว่า "สงครามพิวนิก" ซึ่งได้กินระยะเวลายาวนานถึง 120 ปีระหว่างปี 264–146 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวโรมันต้องเผชิญจากการรุกรานโดยกองทัพของฮันนิบาลที่พยายามบุกยึดดินแดนแถบอิตาลีโดยผ่านทางเทือกเขาแอลป์ แต่ต่อมาฮันนิบาลก็ยกทัพกลับแอฟริกาเหนือไป ในขณะเดียวกัน แม่ทัพโรมันนามว่าชิพิโอก็ได้ยกทัพไปตีกรุงคาร์เธจและได้รับชัยชนะ
ในขณะที่โรมันต่อสู้กับคาร์เธจ การค้าที่เติบโตทำให้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นคือพวกพ่อค้าวาณิชย์และผู้รับเหมางานของรัฐ เมื่อพวกนี้มีความมั่งคั้งขึ้นก็กลายเป็นคู่แข่งของสมาชิกวุฒิสภาและบรรดาเจ้าที่ดิน ชนชั้นใหม่นี้ถูกเรียกว่า อัศวิน หรือผู้ขี่ม้า เนื่องจากคนพวกนี้สามารถเข้าทำงานในกองทัพและได้เป็นทหารม้ามากกว่าทหารราบ โดยปกติพวกอัศวินนี้จะไม่สนใจการเมืองยกเว้ยในเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของตนเอง ชัยชนะทางการทหารและการติดต่อค้าขายกับโลกกรีก ทำให้ขุนนาง เจ้าที่ดิน และอัศวินของโรมันมีความเป็นอยู่ที่ร่ำรวยฟุ่มเฟือย ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยกว้างขึ้น จนในที่สุดก็กลายเป็นความไม่สงบซึ่งบั่นทอนเสถียรภาพการปกครองโรมัน
เกษตรกรรม
[แก้]ในระหว่างสงครามพิวนิกอันยาวนานนั้นเอง ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางวัฒนธรรมและทางการเมืองในกรุงโรม อันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความมั่งคั่งและความสำเร็จทางด้านการทหารของกรุงโรม เชื่อว่าเมื่อกรุงโรมพิชิตกรีกได้นั้น กรุงโรมค่อยๆตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรมของกรีก ทั้งความฟุ่มเฟือยและความเป็นปัจเจกนิยม สิ่งเหล่านี้ได้กัดกร่อนความเป็นอนุรักษนิยมและความเห็นแก่ส่วนรวมของชาวโรมัน การทำสงครามได้นำความมั่งคั่งและทาสจำนวนมากมาสู่สาธารณรัฐโรมันโดยเฉพาะแถบภาคกลางของอิตาลี ชาวโรมันได้นำระบบเกษตรกรรมแบบกรีกที่เรียกว่า "ลาติฟุนเดีย" มาใช้ ระบบลาติฟุนเดียเป็นระบบเกษตรกรรมเพื่อกำไร ผลิตผลหลักได้แก่ องุ่น (เพื่อผลิตไวน์), มะกอก (เพื่อผลิตน้ำมันมะกอก), ขนแกะ (เพื่อผลิตเครื่องนุ่งห่ม) เป็นต้น ระบบนี้ได้แปรเปลี่ยนผืนนาเล็กๆจำนวนมากทางใต้ของอิตาลีกลายเป็นผืนนาขนาดใหญ่ เกษตรกรรายย่อยต่างขายที่ดินของตนเองและอพยพเข้าสู่เมืองต่างๆ
การเมืองการปกครอง
[แก้]การปกครองในตอนต้นของสาธารณรัฐโรมัน อำนาจยังไม่ได้อยู่ในมือประชาชนอย่างแท้จริง อำนาจส่วนใหญ่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มขุนนางและชนชั้นปกครอง ต่อมาจึงค่อยๆมีการขยายสิทธิทางการเมืองในโรมันให้กว้างขึ้น ทำให้ราษฎรส่วนใหญ่มีสิทธิมีเสียงในการปกครอง ซึ่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ พลเมืองโรมันสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ
- พวกคณะพรรค (Particians): คือกลุ่มขุนนางซึ่งมีที่ดินเป็นของตนเอง มีฐานะร่ำรวยและมั่นคง คิดเป็นจำนวน 10% ของประชากร
- พวกสามัญ (Plebeaus): คือสามัญชน ผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขาย กรรมกร และเกษตรกรที่ยากจน คิดเป็นจำนวน 90% ของประชากร
หลังจากชาวโรมันขับไล่ชาวอีทรัสคันออกไปได้แล้ว พวกคณะพรรคก็กลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองโดยผูกขาดที่นั่งในวุฒิสภาและคณะกงสุล ในขณะที่พวกสามัญซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่แม้จะถูกจำกัดสิทธิในอำนาจรัฐแต่ก็ยังสามารถสะสมเงินทองได้ ในเวลาต่อมา เมื่อพวกสามัญมีฐานะร่ำรวยขึ้น ก็ได้รณรงค์เรียงร้องสิทธิทางการเมืองที่มากขึ้นในปี 494 ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งในระยะแรกนั้น พวกคณะพรรคก็ไม่ยินยอม ส่งผลให้พวกสามัญได้พากันอพยพจากกรุงโรมไปยังเนินเขาศักดิ์สิทธิ์เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้นมา เมื่อพวกคณะพรรคทราบเรื่องก็ต่างตกใจเพราะต่างต้องพึ่งพาอาศัยกำลังพวกสามัญเป็นแรงงานและทหาร ส่งผลให้พวกคณะพรรคต้องยอมจัดตั้งสภาขึ้นมาอีกคณะหนึ่งสำหรับให้พวกสามัญคัดเลือกผู้แทนของตนมารักษาผลประโยชน์ ผู้แทนเหล่านี้เรียกว่า ทริบุนุส (ละติน: Tribunus)
นับแต่นั้นมา สาธารณรัฐโรมันจึงกลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยอำนาจสามฝ่ายได้แก่ วุฒิสภา, สภาสามัญ และคณะกงสุล ซึ่งองค์กรทั้งสามต่างระแวดระวังกันและคอยคานอำนาจกัน ทำให้ไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจมากล้นเพียงฝ่ายเดียว
วุฒิสภา
[แก้]วุฒิสภา (Senate) ประกอบด้วยสมาชิก 300 คนที่เลือกจากพวกคณะพรรค สมาชิกมีวาระดำรงตำแหน่งตลอดชีพ กงสุลที่หมดวาระจะได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยอัตโนมัติ วุฒิสภาดูแลด้านการคลัง การต่างประเทศ การสงคราม การยุติธรรม ผู้พิพากษาในคดีแพ่งจะถูกแต่งตั้งโดยสภานี้ วุฒิสภาโรมันได้ร่างกฎหมายโดยศึกษาจากกฎหมายโซลอนของกรีก แล้วปรับมาเป็นของโรมันที่เรียกว่า "กฎหมายสิบสองโต๊ะ" ซึ่งประกาศใช้ในปี 450 ก่อนคริสต์ศักราช
สภาสามัญ
[แก้]สภาสามัญ (Plebeian Council) ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่งทั้งจากพวกคณะพรรคและพวกสามัญ สมาชิกสภานี้ถูกเรียกว่า ทริบุนุส (ละติน: Tribunus) สภานี้มีหน้าที่แต่งตั้งกงสุล เจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ความยินยอมหรือปฏิเสธกฎหมายที่เสนอโดยวุฒิสภา สภาสามัญมีอำนาจคัดค้านหรือออกคำสั่งหากมีการตรากฎหมายที่ขัดผลประโยชน์ สภาสามัญสามารถสั่งให้กฎหมายนั้นตกไปได้ ตำแหน่งทริบุนุสนี้ เริ่มแรกมีเพียง 2 คนก่อนที่ต่อมาจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 คน ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในการตรากฎหมาย หากผู้ใดทำร้ายทริบุนุสจะต้องโทษถึงตาย
คณะกงสุล
[แก้]กงสุล เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีจำนวนสองคน มีอำนาจเท่าเทียมกันโดยมีอำนาจเต็มทั้งในยามสงบและในยามสงคราม กงสุลเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทั้งทางทหาร ตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งกลสุลมาจากการสรรหาโดยวุฒิสภาและต้องได้รับการลงมติเลือกโดยสภาสามัญ มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละหนึ่งปี มีอำนาจยับยั้งซึ่งกันและกันได้ ทั้งนี้ในยามสงครามหรือยามฉุกเฉิน คณะกงสุลอาจมอบอำนาจให้แก่บุคคลเดียวโดยความยินยอมจากวุฒิสภา ผู้รับมอบอำนาจนี้ถูกเรียกว่า ผู้เผด็จการ (ละติน: magister populi) โดยจะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 6 เดือน ผู้เผด็จการมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเฉกเช่นกงสุล
แม้ตำแหน่งกงสุลจะดูเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในกองทัพ แต่การทำสงครามหรือเดินทัพจำเป็นต้องใช้เสบียงและยุทธปัจจัยมากมาย การจะจัดหามาได้นั้นก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากวุฒิสภา ในขณะที่สภาสามัญก็มีสิทธิคัดค้านวุฒิสภาได้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Taagepera, Rein (1979). "Size and Duration of Empires: Growth–Decline Curves, 600 BC to 600 AD". Social Science History. Social Science History, Vol. 3, No. 3/4. 3 (3/4): 115–138 [125]. doi:10.2307/1170959. JSTOR 1170959.
- ↑ Gary Forsythe, A Critical History of Early Rome: From Prehistory to the First Punic War, p.368, University of California Press, 2006
- ↑ V. Henry T. Nguyen, Christian Identity in Corinth: A Comparative Study of 2 Corinthians, Epictetus and Valerius Maximums, p.24, Mohr Siebeck, 2008