ข้ามไปเนื้อหา

สงครามพิวนิก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สงครามพิวนิก

ภาพเคลื่อนไหวแสดงถึงดินแดนที่ถูกปกครองโดยโรมและคาร์เธจ ในช่วงสงครามพิวนิก และการเปลี่ยนดินแดนในระหว่างสงคราม
  ดินแดนคาร์เธจ
  ดินแดนโรมัน
วันที่264 – 146 ปีก่อน ค.ศ.
สถานที่
ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก
ผล โรมชนะ คาร์เธจถูกทำลาย
คู่สงคราม
โรม คาร์เธจ

สงครามพิวนิก เป็นสงครามสามครั้งระหว่างโรมกับคาร์เธจ เกิดขึ้นระหว่างปี 264 ก่อนคริสตกาลถึงปี 146 ก่อนคริสตกาล[1] คำว่า "พิวนิก" มาจากพิวนิคัส (Punicus) อันเป็นคำที่ใช้เรียกชาวคาร์เธจ ผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวฟินีเชีย[2] มูลเหตุหลักของสงครามมาจากการแย่งชิงความเป็นใหญ่เหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตก ซึ่งในขณะนั้นโรมแผ่อิทธิพลไปทั่วคาบสมุทรอิตาลี ในขณะที่คาร์เธจมีกองเรือที่เข้มแข็งที่สุด

สงครามครั้งแรกเริ่มขึ้นในปี 264 ก่อนคริสตกาล เมื่อโรมเข้าแทรกแซงความขัดแย้งบนเกาะซิซิลีของคาร์เธจ ชัยชนะของฝ่ายโรมันในยุทธการที่อากรีเจนตัมทำให้โรมันยึดเกาะซิซิลีไว้ได้เกือบทั้งหมด ต่อมาฝ่ายโรมันซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์การรบทางเรือใช้วิธีการรบบนบกที่พวกตนชำนาญเอาชนะคาร์เธจได้ในยุทธนาวีไมไล ฝ่ายคาร์เธจโต้กลับด้วยทหารรับจ้างชาวสปาร์ตาจนสามารถจับตัวมาร์กุส อาตีลีอุส เรกูลุส แม่ทัพฝ่ายโรมันได้ ฝ่ายโรมันจึงล่าถอยไปที่ซิซิลี หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายผลัดกันแพ้ชนะจนในปี 241 ก่อนคริสตกาล ทัพเรือโรมันชนะฝ่ายคาร์เธจที่หมู่เกาะอีกาเดียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของซิซิลี ฝ่ายคาร์เธจซึ่งไม่มีกำลังสนับสนุนยอมจำนนและลงนามในสนธิสัญญาลูทาชิอุส ต้องเสียซิซิลีและค่าปฏิกรรมสงครามให้ฝ่ายโรมัน[3]

ปี 240 ก่อนคริสตกาล เกิดสงครามทหารรับจ้าง (Mercenary War) ขึ้นในคาร์เธจ ทำให้คาร์เธจเสียคอร์ซิกาและซาร์ดิเนียให้โรม การเสียเมืองท่าสำคัญทำให้แฮมิลการ์ บาร์กา แม่ทัพชาวคาร์เธจยกทัพไปคาบสมุทรไอบีเรียเพื่อสร้างเมืองใหม่[4] ก่อนจะล้อมเมืองซากุนตัมของโรม ศึกครั้งนี้ทำให้เกิดสงครามพิวนิกครั้งที่สอง แฮนนิบัล บุตรของแฮมิลการ์ฉวยโอกาสตอนที่โรมกำลังทำสงครามกับชาวอิลีเรียเดินทัพจากไอบีเรีย ข้ามเทือกเขาแอลป์มายังตอนเหนือของอิตาลีและรบชนะในยุทธการที่กันไน ทำให้ทัพคาร์เธจมีโอกาสเข้าใกล้กรุงโรม[5] แต่กำลังที่เหลือน้อยทำให้แฮนนิบัลไม่สามารถบุกเข้ากรุงโรมได้โดยตรง[6] ด้านฝ่ายโรมันนำโดยสกีปีโอ อาฟรีกานุสตีโต้ฝ่ายคาร์เธจจนแฮนนิบัลต้องถอนทัพกลับไปยังไอบีเรียและแอฟริกาเหนือ ในปี 202 ก่อนคริสตกาล โรมเอาชนะคาร์เธจในยุทธการที่ซามา ทำให้คาร์เธจยอมแพ้ในปีต่อมา คาร์เธจถูกสั่งให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามและห้ามทำสงครามโดยปราศจากการยินยอมจากโรม[7]

ปี 151 ก่อนคริสตกาล ชาวนูมิเดียล้อมเมืองโอรอสโคปาของคาร์เธจ ทำให้คาร์เธจต้องยกทัพไปปราบ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โรมมองว่าคาร์เธจละเมิดสนธิสัญญาและประกาศสงครามครั้งที่สามกับคาร์เธจ คาร์เธจพยายามขอเจรจาแต่ภายหลังยกเลิกเนื่องจากข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นธรรมของโรม คาร์เธจสามารถยันทัพโรมันได้ถึงปี 146 ก่อนคริสตกาล ก่อนฝ่ายโรมันจะบุกเข้ากรุงคาร์เธจได้สำเร็จ พวกเขาเผาเมืองและจับชาวเมืองเป็นทาส แล้วผนวกคาร์เธจเป็นจังหวัดแอฟริกา[8]

ชัยชนะของโรมในสงครามพิวนิก รวมถึงการพิชิตมาซิดอนในสงครามมาซิโดเนียและการปราบพระเจ้าแอนทิโอคัสมหาราชในสงครามโรมัน–ซิลูซิด ทำให้โรมกลายเป็นมหาอำนาจเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5

อ้างอิง

[แก้]
  1. Chris Scarre, "The Wars with Carthage," The Penguin Historical Atlas of Ancient Rome (London: Penguin Books, 1995), 24–25.
  2. Sidwell, Keith C; Jones, Peter V (1997). The world of Rome: an introduction to Roman culture. Cambridge University Press. p. 16. ISBN 0-521-38600-4.
  3. Mark Cartwright (26 May 2016). "First Punic War". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ 25 July 2018.
  4. Donald L. Wasson (22 February 2013). "Carthago Nova". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ 25 July 2018.
  5. Evan Andrews (2 August 2016). "Ancient Rome's Darkest Day: The Battle of Cannae". HISTORY. สืบค้นเมื่อ 25 July 2018.
  6. "Hannibal Barca". Biography.com. สืบค้นเมื่อ 26 July 2018.
  7. Mark Cartwright (29 May 2016). "Second Punic War". Ancient History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ 25 July 2018.
  8. Rupert Matthews. "Battle of Carthage". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ 25 July 2018.