ข้ามไปเนื้อหา

กันทาริยามหาเทวมนเทียร

พิกัด: 24°51′11″N 79°55′11″E / 24.8530°N 79.9197°E / 24.8530; 79.9197
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Kandariya Mahadeva Temple)
กันทาริยามหาเทวมนเทียร
ศาสนา
ศาสนาศาสนาฮินดู
เขตฉตารปุระ
เทพพระศิวะ (มหาเทวะ)
ที่ตั้ง
ที่ตั้งขชุราโห
รัฐมัธยประเทศ
ประเทศอินเดีย
พิกัดภูมิศาสตร์24°51′11″N 79°55′11″E / 24.8530°N 79.9197°E / 24.8530; 79.9197
สถาปัตยกรรม
ประเภทอินเดียเหนือ
ผู้สร้างพระเจ้าวิทยาธาระ
เสร็จสมบูรณ์ราวปี 1030

กันทรริยามหาเทวมนเทียร (เทวนาครี: कंदारिया महादेव मंदिर, Kandāriyā Mahādeva Mandir) แปลว่า "มหาเทพแห่งถ้ำ" เป็นโบสถ์พราหมณ์ที่ใหญ่ที่สุดและวิจิตรที่สุดในบรรดาหมู่มนเทียรยุคกลางที่พบในเมืองขชุราโห รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของมนเทียรที่สามารถคงสภาพมาจนถึงปัจจุบัน

ที่ตั้ง

[แก้]

กันทาริยามหาเทวมนเทียรตั้งอยู่ในอำเภอฉตารปุระ รัฐมัธยประเทศในอินเดียกลาง[1] ตั้งอยู่ในหมู่บ้านขชุราโห และเป็นหนึ่งในหมู่มนเทียรที่กินพื้นที่ราว 6 ตารางกิโลเมตร (2.3 ตารางไมล์)[2] มนเทียรนี้ตั้งอยู่ในส่วนตะวันตกของหมู่บ้าน ทางตะวันตกของมนเทียรพระวิษณุ[3][4]

หมู่มนเทียรแห่งหมู่บ้านขชุราโหนั้นตั้งอยู่ที่ความสูง 282 เมตร (925 ฟุต) และเชื่อมต่อกับทั้งทางถนน, ทางราง และทางอากาศ ขชุราโหนั้นตั้งอยู่ 55 กิโลเมตร (34 ไมล์) ทางใต้ของมโหบา, 47 กิโลเมตร (29 ไมล์) ทางตะวันออกจากตัวเมืองฉตารปุระ, 43 กิโลเมตร (27 ไมล์) จากปันนะ, 175 กิโลเมตร (109 ไมล์) ทางรถจากฌันสีทางเหนือ และ 600 กิโลเมตร (370 ไมล์) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเดลี ขชุราโหตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟ 9 กิโลเมตร (5.6 ไมล์)[1][5] และอยู่ภายใต้พื้นที่บริการของท่าอากาศยานขชุราโห (รหัสทีาอากาศยาน IATA: HJR) ซึ่งมีเที่ยวบินระหว่างขชุราโหกับเดลี, อัคระ และ มุมไบ ตัวท่าอากศยานตั้งอยู่ห่างออกไป 6 กิโลเมตร (3.7 ไมล์) จากมนเทียร[5][6]

ประวัติ

[แก้]

ขชุราโหในอดีตเคยเป็นราชธานีของจักรวรรดิจันเทละ กันทาริยามหาเทวมนเทียรซึ่งเป็นหนึ่งในมนเทียรที่มีการบำรุงรักษาไว้ได้ดีที่สุดจากยุคกลางของอินเดีย[1][7] นั้นถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาหมู่มนเทียรทางตะวันตกซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้ปกครองชาวจันเทละ เทพเจ้าองค์ประธานของมนเทียรนี้คือพระศิวะซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในครรภคฤห์ของมนเทียร[8]

กันทาริยามหาเทวมนเทียรสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าวิทยธาร (ครองราชย์ 1003-1035)[9] ในยุคสมัยต่าง ๆ ของจักรวรรดิจ้นเทละได้มีการสร้างมนเทียรที่มีชื่อเสียงหลายแห่งเพื่อถวายบูชาแด่พระวิษณุ, พระศิวะ, พระสูรยะ, พระศักติในศาสนาฮินดู และตีรถังกรต่าง ๆ ในศาสนาไชนะ พระเจ้าวิทยธารหรือ “บีดา” (Bida) ตามบันทึกของนักประวัติศาสตร์มุสลิม อิบน์-ออลาฏีร์ ทรงเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจมาก และเคยต่อสู้กับมะห์มุดแห่งกันซีหลังถูกรุกรานในปี 1019[1] ศึกนี้ไม่สามารถหาผู้ชนะได้ และมะห์มุดก็ได้เดินทางกลับกันซี ก่อนจะทำสงครามต่อพระเจ้าวิทยธารอีกครั้งในปี 1022 มะห์มุดได้โจมตีป้อมกลินชร[1] แต่การยึดป้อมนั้นไม่สำเร็จและถูกยกเลิกไป ท้ายที่สุดทั่งมะห์มุดและพระเจ้าวิทยธารได้ตกลงสงบศึกกัน, ตกลงเป็นมิตรและแลกเปลี่ยนของขวัญซึ่งกันและกัน พระเจ้าวิทยธารฉลองชัยชนะเหนือมะห์มุดและผู้ปกครองอื่น ๆ ด้วยการสร้างกันทาริยามหาเทวมนเทียรขึ้น เพื่อถวายบูชาแด่พระศิวะ เทพเจ้าประจำตระกูลของพระองค์ จากการศึกษาตีความจารึกที่พบบนเสาผนังด้านหน้าของมณฑปของมนเทียร พบว่าระบุชื่อผู้ก่อสร้างคือ วิริมทะ (Virimda) ที่ซึ่งตีความว่าเป็นอีกนามหนึ่งของพระเจ้าวิทยธาร[1] การก่อสร้างนั้นดำเนินขึ้นระหว่างปี 1025 และ 1050[4]

หมู่มนเทียรโดยรอบแห่งขชุราโห รวมถึงกันทาริยามหาเทวมนเทียร ได้รับการรับรองสถาเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกในปี 1986 ด้วยเกณฑ์ข้อ III สำหรับผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ และเกณฑ์ข้อ V สำหรับวัฒนธรรมของชาวจันเทละที่เป็นที่นิยมในดินแดนจนกระทั่งถูกรุกรานโดยมุสลิมในปี 1202[2][10]

องค์ประกอบ

[แก้]
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมฮินดูที่ปรากฏบนกันทาริยามหาเทวมนเทียร

กันทาริยามหาเทวมนเทียรมีความสูง 31 เมตร (102 ฟุต) และตั้งอยู่ในหมู่มนเทียรทางตะวันตก มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาทั้งสามกลุ่มของโบราณสถานแห่งขชุราโห[11] หมู่มนเทียรตะวันตกซึ่งประกอบด้วยมนเทียรกันทาริยา, มตังเกศวร (Matangeshwara) และ วิศวนาถ นั้นมีการจัดเรียงที่เปรียบได้กับ "การออกแบบจักรวาลหกเหลี่ยม (ยันตระ หรือภาพเขียนของจักรวาล)" อันสื่อถึงสามรูปของพระศิวะ[5] สถาปัตยกรรมของมนเทียรประกอบด้วยระเบียงและหอคอยที่สุดท้ายบรรจบกันเป็นศิขระ องค์ประกอบซึ่งพบได้ทั่วไปในศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมาในโดยเฉพาะในพื้นที่อินเดียกลาง[11]

มนเทียรตั้งอยู่บนฐานขนาดมหึมา ความสูง 4 เมตร (13 ฟุต)[12] ส่วนโครงสร้างของมนเทียรบนฐานนั้นออกแบบและก่อสร้างอย่างชาญฉลาดและวิจิตรตระการตา[13] โครงสร้างหลักนั้นสร้างในรูปของภูเขาชัน (steep mountain) สัญลักษณ์สื่อถึงเขาเมรุ ที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดที่มาของการสร้างโลก[8] โครงสร้างหลักนั้นประกอบด้วยหลังคาที่มีการประดับประดาอย่างวิจิตร ฐานมีขนาดใหญ่ก่อนจะบรรจบกันด้านบนในรูปของศิขระ ประกอบด้วยยอดขนาดเล็กย่อย ๆ อีก 84 ยอด[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Ring, Salkin & Boda 1994, p. 468.
  2. 2.0 2.1 "Khajuraho Group of Monuments". UNESCO World Heritage Centre. United Nations Educational Scientific and Cultural Organization. สืบค้นเมื่อ 25 June 2023.
  3. "Kandariya Temple (built c. 1025–1050)". Oriental Architecture.
  4. 4.0 4.1 4.2 Abram 2003, pp. 420–21.
  5. 5.0 5.1 5.2 "Physical and Regional Setting of Khajuraho" (PDF). Shodhganga – INFLIBNET Centre.
  6. "Khajuraho airport". Airport Authority of India (AAI). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กรกฎาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2015.
  7. Bhatnagar, Asgwini (20 March 1999). "Ode to immortality Celebrating 1000 years of celestial ecstasy". The Tribune.
  8. 8.0 8.1 "Kandariya Mahadeva Temple". Asian Art Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-22. สืบค้นเมื่อ 2020-11-18.
  9. Sushil Kumar Sullerey 2004, p. 26.
  10. "Evaluation Report:World Heritage List No 240" (PDF). UNESCO Organization. สืบค้นเมื่อ 12 August 2015.
  11. 11.0 11.1 "Kandarya Mahadeva". Encyclopædia Britannica.
  12. "The Greatest Sacred Buildings". Museum of World Religions. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2017. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2015.
  13. Allen 1991, p. 210.

บรรณานุกรม

[แก้]

อ่านเพิ่มเติม

[แก้]
  • Michell, George; Singh, Snehal. Hindu temples of India (PDF)
  • Surface, Space and Intention: The Parthenon and the Kandariya Mahadeva. Gregory D. Alles. History of Religions, Vol. 28, No.1, August 1988, pp. 1–36.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]