ไมดลัง
แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก | |
---|---|
ชื่อทางการ | ไมดาม – ระบบการฝังศพเนินดินของจักรวรรดิอาหม |
ที่ตั้ง | รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย |
เกณฑ์พิจารณา | วัฒนธรรม: (iii) (iv) |
อ้างอิง | 1711 |
ขึ้นทะเบียน | 2024 (สมัยที่ 46th) |
ไมดลัง (อาหม: 𑜉𑜩𑜓𑜝𑜪) หรือ ไมดาม หรือ มอยด้ำ[1] (อักษรโรมัน: Moidam หรือ maidam, เบงกอล: মৈদাম) เป็นเนินฝังศพแบบธรรมเนียมในศาสนาอาหม[2] ไมดลังหลวงแห่งจาไรเทวได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกในปี 2024[3][4] ไมดลังมักได้รับการเปรียบเปรยกับปีรามิดอียิปต์หรือสุสานหลวงของราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงในจีน[5][6] ปัจจุบัน มีอยู่สี่เผ่าของอาหมที่ยังคงยึดถือปฏิบัติธรรมเนียมการสร้างไมดลัง ได้แก่ โมะหุง (Mo-Hung), โมะจาม (Mo-Cham), เจาดาง (Chaodang) และ โมะปลง (Mo-Plong)[2]
พิธีศพของชาวไตส่วนใหญ่เช่นชาวอาหมตามธรรมเนียมดั้งเดิมนิยมใช้การฝังศพ ซึ่งต่างกันกับพิธีศพแบบธรรมเนียมฮินดูที่นิยมใช้การเผาศพ ดังนั้น นับตั้งแต่กษัตริย์แห่งอาหมรับศาสนาฮินดูมาปฏิบัติ ก็เปลี่ยนมาเป็นการฝังอัฐิของตนภายใต้ไมดลังแทน ชุมชนชาวอาหมในรัฐอัสสัมของประเทศอินเดียในปัจจุบันยังคงยึดถือการฝังศพเป็นส่วนสำคัญของธรรมเนียมปฏิบัติของตน ไมดลังมีความสัมพันธ์อย่างมากกับคติบูชาบรรพชนของอาหม และเทศกาลเมด้ำเมผี
โครงสร้างของไมดลังประกอบด้วยห้องใต้ดินหนึ่งห้องเป็นอย่างน้อย[7] และมีโครงสร้างใหญ่รูปกรวยครอบทับ ปกคลุมด้วยเนินดินทรงครึ่งทรงกลม บนยอดเป็นศาลาแบบเปิดที่เรียกว่า โจวจาฬี (chow chali) ส่วนที่ฐานมีกำแพงเตี้ยรูปแปดเหลี่ยมล้อมรอบ ความสูงของไมดลังขึ้นอยู่กับอำนาจอขงกษัตริย์ผู้สร้างไมดลังนั้น ๆ และส่วนมากไม่มีการระบุชื่อของกษัตริย์ที่สร้างหรือฝังร่างไว้ ยกเว้นแต่เพียงบางแห่ง เช่น ของคฑาธร สิงห์ และ รุทร สิงห์ ไมดลังขนาดใหญ่โตส่วนใหญ่มาจากศตวรรษที่ 17-18 ตามธรรมเนียมแล้ว ผู้จะกระทำการฝังร่างของกษัตริย์หรือราชินีอาหมได้จะต้องมาจากเผ่าตระกูล ฆรฟลิยะ (Gharphaliya) หรือ ลขูรขาน (Lakhurakhan) เท่านั้น สำหรับการก่อสร้างนั้นจะต้องใช้เจ้าหน้าที่พิเศษในตำแหน่ง จางรุง ฟูกาน (Chang-Rung Phukan) ผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ของสถาปนิกในอาณาจักรอาหม เท่านั้น[8]
คำว่าไมดลังเป็นรูปย่อยของคำภาษาไต-อาหม ว่า ฟราง ไม ดลัง (Phrang-Mai-Dam; หรือ ผรัง ไม ด้ำ)[9] โดยคำว่า ฟราง ไม (Phrang-Mai; หรือ ผรัง ไม) แปลว่าการ “ฝังไว้” และ ดลัง (Dam; หรือ ด้ำ) แปลว่าคนเสียชีวิตหรือวิญญาณบรรพชน[10]
ในระหว่างปี 2000-2002 กรมสำรวจโบราณคดีอินเดีย สาขาคุวาหาฏี ได้ทำการขุดค้นไมดลังหมายเลขสองแห่งจาไรเทว ในศิวสาคร รัฐอัสสัม ซึ่งยังคงโครงสร้างของไมทลังอย่างดั้งเดิมอยู่ จากการขุดค้นนี้พบว่าห้องใต้ดินของไมดลังสร้างมาจากอิฐ และยังมีการพบรูบนเพดานซึ่งบ่งบอกว่าไมดลังนี้น่าจะโดนปล้นมาก่อนหน้าแล้ว กระนั้นภายในยังคงมีโบราณวัตถุมากมาย รวมถึงพบโครงกระดูกห้าร่าง ชิ้นส่วนงาช้างสำหรับเป็นเครื่องประดีบ ชิ้นส่วนไม้ โศไรที่ออกแบบเป็นรูปเสา แผ่นแสดงตราของราชวงศ์อาหมทำจากงาช้าง ประติมากรรมรูปช้าง นกยูง และดอกไม้ เป็นต้น ทั้งนี้กรมโบราณคดีไม่สามารถระบุอายุที่แน่ชัดของไมดลังนี้ได้ แต่คาดว่าเก่าแก่กว่าศตวรรษที่ 18[8] และเชื่อว่าเป็นไมดลังของกษัติรย์แห่งอาหม ปรมัตต์ สิงห์ หรือ ราเชศวร สิงห์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทอาหม
- ↑ 2.0 2.1 Gohain, Dr. BK (2009). Tai-ahom Janagosthi Aru Tai Parampara Ed. 1st. p. 283.
- ↑ World Heritage List
- ↑ Kalita 2023, Times of India, Unesco ICOMOS Expert Arrives At Assam's Charaideo District, Vying For World Heritage Status
- ↑ Moidams – the Mound-Burial system of the Ahom Dynasty - UNESCO
- ↑ Desai, Raha (2004), page 450, The Dying Earth People's Action, Nature's Reaction,ACB Publications,ISBN:9788187500216, 8187500212
- ↑ (ASI 2007)
- ↑ 8.0 8.1 "Maidams at Charaideo" (PDF). 2014.
- ↑ Brochure on moidams at Charaideo, Sivasagar, Government of Assam p. 04
- ↑ Brochure on moidams at Charaideo, Sivasagar, Government of Assam p. 04