ข้ามไปเนื้อหา

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

พิกัด: 13°43′42″N 100°32′14″E / 13.72833°N 100.53722°E / 13.72833; 100.53722
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โรงแรมดุสิตธานี)
โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
อาคารโรงแรมเดิมในปี 2556
แผนที่
โรงแรมในเครือเครือดุสิตธานี
ข้อมูลทั่วไป
สถานะถูกรื้อถอน
ประเภทโรงแรม
ที่ตั้ง946 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
พิกัด13°43′42″N 100°32′14″E / 13.72833°N 100.53722°E / 13.72833; 100.53722
พิธีเปิด27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513
ปิดใช้งาน5 มกราคม พ.ศ. 2562
เจ้าของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย
ข้อมูลทางเทคนิค
จำนวนชั้น23
การออกแบบและการก่อสร้าง
เป็นที่รู้จักจากโรงแรมในเครือโรงแรมระดับนานาชาติที่เปิดดำเนินการมายาวนานที่สุดในประเทศไทย, โรงแรมระดับ 5 ดาวแห่งแรกในกรุงเทพฯ
ข้อมูลอื่น
จำนวนห้อง517
จำนวนร้านอาหาร2
จำนวนบาร์2

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ (อังกฤษ: Dusit Thani Bangkok) เป็นอดีตโรงแรมหรูในเขตบางรัก เคยเป็นอาคารที่สูงที่สุดของประเทศเมื่อเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2513 โดยถือเป็นทรัพย์สินแห่งแรกของเครือดุสิตธานี งานรื้อถอนอาคารเริ่มในปี พ.ศ. 2562 และสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2563 โรงแรมใหม่ที่มีชื่อเดียวกันมีกำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2567 โดยเป็นส่วนหนึ่งของดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

ประวัติ

[แก้]

โรงแรมดุสิตธานีก่อตั้งโดย ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เป็นโรงแรมแห่งที่ 2 ของเธอต่อจากโรงแรมปริ๊นเซสบนถนนเจริญกรุง ซึ่งเปิดในปี พ.ศ. 2491 และขยายตัวตามอุตสาหกรรมการบริการของกรุงเทพฯ ที่เติบโตในช่วงสงครามเย็น[1][2] โรงแรมตั้งอยู่บนที่ตั้งเดิมของบ้านศาลาแดงซึ่งเคยเป็นที่พำนักของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 8 ตรงมุมตะวันออกเฉียงใต้ของสี่แยกศาลาแดง จุดเริ่มต้นของถนนสีลม

ตัวอาคารมีความสูง 23 ชั้น นับเป็นอาคารสูงแห่งแรกในประเทศไทย และใช้สถาปัตยกรรมแบบไทยเดิมร่วมสมัยที่ออกแบบโดยกลุ่ม Kanko Kikaku Sekkeisha ที่นำโดย โยโซะ ชิบาตะ สถาปนิกชาวญี่ปุ่น[3] ในส่วนของชื่อโรงแรมได้ตั้งตามชื่อเมืองจำลองของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อันแปลว่า "เมืองสวรรค์" ซึ่งแต่เดิมพระองค์เคยมีพระราชประสงค์ที่ต้องการจะสร้างเมืองแห่งประชาธิปไตย และให้ชื่อว่า ดุสิตธานี นั่นเอง ซึ่งการตั้งชื่อโรงแรมยังเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปในตัว เนื่องมาจากพื้นที่ตั้งของโรงแรมตั้งอยู่ตรงข้ามสวนลุมพินี และมีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่[4]

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513[5] เมื่อเปิดให้บริการดุสิตธานีเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ที่สุด[6] และเป็นอาคารสูงที่สุดของไทยในเวลานั้น[7] อีกทั้งได้นำสิ่งใหม่มาให้สังคมในกรุงเทพ เช่น ดิสโก้เธค, ห้องบอลรูม และภัตตาคารที่ชั้นบนสุดของอาคาร นอกจากนี้ โรงแรมยังสะท้อนความเป็นไทยผ่านการตกแต่งและการให้บริการ[8] แขกคนสำคัญที่เคยพักโรงแรมแห่งนี้ เช่น วิตนีย์ ฮิวสตัน, กวินเน็ธ พัลโทรว์, โรนัลด์ เรแกน และทอม โจนส์ เป็นต้น[9]

เหตุการณ์สำคัญ

[แก้]

พุ่มพวง ดวงจันทร์ อิน คอนเสิร์ต

[แก้]

ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2529 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทอดพระเนตรคอนเสิร์ตของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ณ ห้องนภาลัยบอลรูม นับเป็นคอนเสิร์ตของนักร้องลูกทุ่งที่จัดในโรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก[10]

นางงามจักรวาล

[แก้]

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เป็นสถานที่พำนักของผู้เข้าประกวดนางงามจักรวาลในครั้งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพทั้ง 3 ครั้ง คือปี 1992, 2005 และ 2018[11] รวมทั้งกองประกวดยังมีการจัดกิจกรรมภายในโรงแรมด้วย[12]

การรื้อถอนอาคาร

[แก้]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 เครือดุสิตธานีได้ประกาศต่อสัญญาเช่าที่ดินกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นระยะเวลา 30 ปี พร้อมกับระยะเวลาปลอดหนี้อีก 7 ปี และได้รับสิทธิ์ในการเช่าต่อเนื่องอีก 30 ปี รวมทั้งสิ้น 67 ปี[13] เครือดุสิตธานีจึงประกาศแผนพัฒนาและยกระดับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโรงแรมที่เป็นที่นิยมระดับโลก ด้วยการจับมือกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสม (Mixed-use) บนที่ดินขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก ขึ้นมาทดแทน[14] เพื่อตอบรับต่อการพัฒนาเมืองและย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนำมาสู่การรื้อถอนอาคารเดิมของโรงแรมดุสิตธานี โดยเดิมกำหนดดำเนินการในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2561[15] ก่อนจะเลื่อนออกไปเป็นช่วงต้นปีถัดมา[16] และดำเนินการรื้อถอนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2563[17]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Horyingsawad, Wichit (20 August 2017). "The Magnificent Dusit Thani". Art4d (ภาษาอังกฤษ). Corporation 4D Limited. สืบค้นเมื่อ 10 March 2019.
  2. Pholdhampalit, Khetsirin (15 December 2018). "Memories of a more gracious time". The Nation (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-17. สืบค้นเมื่อ 10 March 2019.
  3. บันทึกหน้าสุดท้ายของโรงแรมดุสิตธานี ตำนานตั้งแต่รุ่นพ่อที่เป็นที่รักของคนไทย
  4. ‘ดุสิตธานี’ จุดเริ่มต้น การดิ้นรน และอวสานของโรงแรมไทยที่กำลังจะเป็นตำนาน
  5. "15 เรื่อง (ไม่) ลับแต่คนไม่ค่อยรู้ของ 'โรงแรมดุสิตธานี'". common: Knowledge, Attitude, make it Simple (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  6. "ชนัตถ์ ปิยะอุย : สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ Dusit Thani - ยอดมนุษย์..คนธรรมดา".
  7. "'ดุสิตธานี' การดิ้นรนของธุรกิจโรงแรมไทยที่กำลังจะเป็นตำนาน". common: Knowledge, Attitude, make it Simple (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  8. Mahavongtrakul, Melalin (4 January 2019). "The ground where history stands". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 10 March 2019.
  9. Cripps, Karla (9 November 2018). "Legendary Bangkok hotel prepares to close". CNN Travel (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 10 March 2019.
  10. ย้อนตำนานลูกทุ่ง 18 มกราคม 2529 "พุ่มพวง ดวงจันทร์ อิน คอนเสิร์ต"
  11. Dusit remains hotel of choice for Miss Universe contestants
  12. "ภาพฉบับเต็ม! "มิสยูนิเวิร์ส 2018" ภารกิจแรก ร่วมกิจกรรมเพื่อเด็ก พร้อมชมวัดอรุณฯ". www.sanook.com/women. 2018-12-04.
  13. รร.ดุสิตธานีต่อสัญญาเช่าที่อีก 30 ปี จับมือเซ็นทรัล ผุดมิกซ์ยูส
  14. รายการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ - บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา
  15. ""รื้อ หรือ รักษ์"? รร.ดุสิตธานี". komchadluek. 2017-03-06.
  16. "โรงแรมดุสิตธานีเลื่อนปิดเป็นต้นเดือน ม.ค.62". bangkokbiznews. 2018-01-03.
  17. สารสนเทศเกี่ยวกับการได้มาและจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ตามบัญชี 2 ของประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)