ปืนใหญ่ลำกล้อง
ปืนใหญ่ลำกล้อง[1] (อังกฤษ: cannon) หมายถึง อาวุธปืนที่มีความกว้างปากลำกล้องตั้งแต่ 20 มิลลิเมตรขึ้นไป โดยมีระยะยิงกลางถึงไกล มีอำนาจทำลายล้างสูง ใช้การยิงหัวกระสุนด้วยแรงดันจากการเผาไหม้ดินส่งกระสุนให้เกิดก๊าซจนเคลื่อนที่ออกไป โดยสามารถทำการยิงได้ทั้งแนววิถีราบหรือวิถีโค้ง โดยภายในหัวกระสุนจะบรรจุวัตถุระเบิดและตัวจุดชนวน เมื่อหัวกระสุนตกกระทบเป้าหมายจะเกิดการระเบิดสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ปัจจุบันคำว่า "ปืนใหญ่" (Cannon) ในภาษาอังกฤษเริ่มถูกใช้น้อยลง โดยถูกทดแทนด้วยคำเรียกปืนขนาดลำกล้องใหญ่ประเภทต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นในสมัยต่อๆมา[2] เช่น ปืน howitzer หรือ ปืน mortar (ปืนครก) แต่ในภาษาไทยมักเรียกรวมว่าเป็น "ปืนใหญ่" ทั้งหมด
ประวัติของปืนใหญ่ลำกล้อง
[แก้]ประเทศจีนเป็นชาติแรกที่ประดิษฐ์ดินปืนขึ้นใช้ได้ และแนวคิดปืนใหญ่เริ่มปรากฏขึ้นในแผ่นดินจีน ในช่วงราชวงศ์ซ่ง หรือราวศตวรรษที่ 12 โดยปรากฏหลักฐานเป็นหนึ่งในรูปปั้นของงานแกะสลักหินแห่งต้าจู๋. อย่างไรก็ดี ปืนใหญ่ไม่ได้รับการผลิตขึ้นใช้จริงจนกระทั่งศตวรรษที่ 13. ในปีคริสต์ศักราช 1288 มีการบันทึกว่า กองทัพของราชวงศ์หยวนมีปืนใหญ่มือไว้ใช้ในการรบ. หลังจากนั้นเทคโนโลยีปืนใหญ่ก็เริ่มปรากฏตัวขึ้นในยุโรปในราวต้นศตวรรษที่ 14.
วิวัฒนาการของปืนใหญ่ลำกล้องในยุคสมัยใหม่
[แก้]การพัฒนาการทางเทคโนโลยีในช่วงปลายของศตวรรษที่ 15 ทำให้ปืนใหญ่มีความคล่องตัวขึ้น และสามารถนำไปใช้ในยุทธวิธีที่มีความหลากหลาย รถลากปืนใหญ่ทำให้ปืนใหญ่ขนาดกลาง และขนาดย่อมสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่ายขึ้น. นอกจากนี้สูตรดินปืนที่พัฒนาใหม่ การสร้างลูกปืนใหญ่ที่หล่อจากโลหะทั้งลูก (cast-iron projectile) และการกำหนดขนาดลำกล้องมาตรฐาน ทำให้ปืนใหญ่มีแสนยานุภาพสูง และน่าเกรงขามขึ้นแม้จะมีขนาดลำกล้องไม่ใหญ่โตนัก. ในการศึกระหว่างอังกฤษและสก็อตแลนด์ ในยุทธการที่ฟล็อดเดน ปี 1513 ปืนใหญ่สนามขนาดเบาของกองทัพอังกฤษสามารถยิงข่มปืนใหญ่ปิดล้อม (siege cannon).
ปืนใหญ่ลำกล้องในประเทศไทย
[แก้]ปืนใหญ่ในประเทศไทยนั้นนำมาใช้เป็นเวลาช้านานแล้ว หนังสือวิวัฒนาการแห่งศัสตราวุธในกองทัพบกไทย[3] ว่า มีการใช้ปืนใหญ่สมัยสุโขทัย ชวาเก็บปืนใหญ่ไทยจำนวน 2 กระบอกจากการรบกับพวกมัชฌปาหิตในสงครามตีเมืองชวาประมาณ พ.ศ. 1857 และมีบันทึกในพระราชพงศาวดารว่า ในสมัยสมเด็จพระราเมศวร กองทัพอยุธยาใช้ปืนใหญ่ยิงกำแพงเมืองเชียงใหม่พังไป 5 วา[4] กฎหมายสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็กล่าวถึงหน่วยทหารปืนใหญ่เช่นกัน[5] อนึ่ง หลังจากที่โปรตุเกสเดินทางเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ก็เริ่มมีการซื้อปืนใหญ่ของโปรตุเกสเข้ามาประจำการในกองทัพกรุงศรีอยุธยา
การหล่อปืนใหญ่ของอยุธยามีคุณภาพดีเป็นที่เลื่องลือมาก โชกุนโทะกุงะวะ อิเอะยะสุเคยส่งสารมาทูลขอพระราชทานปืนใหญ่และไม้หอมจากสมเด็จพระเอกาทศรถ นอกจากนี้ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงส่งปืนใหญ่ 2 กระบอก[6] ที่ผลิตในอยุธยาไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และได้มีบันทึกต่อมาว่า ปืนสองกระบอกนี้เองที่ใช้ยิงทลายประตูคุกบาสตีย์[7][8] ปัจจุบัน ปืนคู่นี้ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ทหารบกฝรั่งเศส[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ บทที่ 13 การปฏิบัติงานแผนที่ในแต่ละระดับหน่วย (Survey operation) (PDF). โรงเรียนทหารปืนใหญ่ ค่ายภูมิพล. p. 260.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "What is the difference between a field gun and a Howitzer? – Quora". quora.com. สืบค้นเมื่อ 26 December 2016.
- ↑ หนังสือวิวัฒนาการแห่งศัสตราวุธในกองทัพบกไทย หน้า 62
- ↑ "ปืนใหญ่ประเภทต่าง ๆ ข้อมูลโดยพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-22. สืบค้นเมื่อ 2014-08-13.
- ↑ "เหล่าสนับสนุนการรบ (Artillery Corps). กำเนิดเหล่าทหารปืนใหญ่ของไทย หน้า 3" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ 2014-08-14.
- ↑ 6.0 6.1 หนังสือมองประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านศัสตราวุธ หน้า 79
- ↑ Chapter VI. Storm and Victory. July 14th, 1789. ย่อหน้า ที่ 6
- ↑ A propos des canons siamois offerts à Louis XIV qui participèrent à la prise de la Bastille. ect. (แผ่นที่ 5 ) เก็บถาวร 2016-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน