ข้ามไปเนื้อหา

แนวรบด้านตะวันออก (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แนวรบด้านตะวันออก
ส่วนหนึ่งของ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

รูปภาพเรียงตามเข็มนาฬิกาเริ่มจากภาพบนซ้าย: ทหารประจำการบนเทือกเขาคาร์เพเทียน, ค.ศ. 1915; ทหารเยอรมันในกรุงเคียฟ เดือนมีนาคม ค.ศ. 1918; เรือประจัญบานสลาว่าของรัสเซีย, เดือนตุลาคม ค.ศ. 1917; กองทัพรัสเซีย ค.ศ. 1914; ทหารโรมาเนีย
วันที่17 สิงหาคม ค.ศ. 1914 - 3 มีนาคม ค.ศ. 1918
สถานที่
ผล

ฝ่ายมหาอำนาจกลางได้รับชัยชนะเด็ดขาด

คู่สงคราม

 เยอรมนี
 ออสเตรีย-ฮังการี
บัลแกเรีย บัลแกเรีย (1915–17)

 จักรวรรดิออตโตมัน (1916–17)

 รัสเซีย
(1914–17)
สาธารณรัฐรัสเซีย (1917)
ราชอาณาจักรโรมาเนีย โรมาเนีย (1916–17)
เบลเยี่ยม(1915–17)
สหราชอาณาจักร (1916–17)


สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย โซเวียตรัสเซีย (1918)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

จักรวรรดิเยอรมัน เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก
จักรวรรดิเยอรมัน แอริช ลูเดินดอร์ฟ
จักรวรรดิเยอรมัน เลโอโปลด์แห่งบาวาเรีย
จักรวรรดิเยอรมัน มักซ์ ฮอฟฟ์มันน์
ออสเตรีย-ฮังการี คอนราด ฟอน เฮิทเซนดอร์ฟ
บัลแกเรีย นิโคลา เชคอฟ

บัลแกเรีย สเตฟาน โทเชฟ

จักรวรรดิรัสเซีย ซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย
จักรวรรดิรัสเซีย แกรนด์ดยุคนิโคลัส
ราชอาณาจักรโรมาเนีย เฟอร์ดินานด์ที่ 1 แห่งโรมาเนีย
จักรวรรดิรัสเซีย อเล็กเซย์ บรูซิลอฟ
จักรวรรดิรัสเซีย ลาฟร์ คอร์นิลอฟ
รัสเซีย อเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี


สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย เลออน ทรอตสกี
ความสูญเสีย
จักรวรรดิเยอรมัน & ออสเตรีย-ฮังการี เสียชีวิตและสูญหาย 1.4 ล้านนาย[1] สูญเสีย 10,142,000 นาย[1]
จักรวรรดิรัสเซีย เสียชีวิตหรือสูญหาย 2,254,369 (รวมทหารหนีทัพ)
บาดเจ็บ 3,749,000 นาย
เชลยศึก 3,342,900 คน
โรมาเนีย เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ 800,000 นาย[1]

แนวรบด้านตะวันออก คือ เขตสงครามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งบริเวณยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก คำดังกล่าวขัดกับแนวรบด้านตะวันตก แม้จะแยกกันทางภูมิศาสตร์ เหตุการณ์ในเขตสงครามทั้งสองมีอิทธิพลต่อกันอย่างมาก ในแหล่งข้อมูลรัสเซีย บางครั้งเรียกสงครามนี้ว่า สงครามปิตุภูมิครั้งที่สอง

เขตสงคราม

[แก้]

ความยาวแนวรบในทางตะวันออกใหญ่กว่าแนวรบในทางตะวันตกมาก เขตสงครามจำกัดขอบเขตอย่างหยาบ ๆ ไว้โดยทะเลบอลติกทางตะวันตก และมินสค์ทางตะวันออก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กทางเหนือ และทะเลดำทางใต้ คิดเป็นระยะทางกว่า 1,600 กิโลเมตร ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อธรรมชาติของสงครามอย่างมาก ขณะที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งบนแนวรบด้านตะวันตกพัฒนาไปเป็นสงครามสนามเพลาะ แนวรบบนแนวรบด้านตะวันออกไหลลื่นกว่ามากและสนามเพลาะไม่เคยถูกพัฒนาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเพราะแนวรบที่ยาวทำให้ความหนาแน่นของทหารในแนวต่ำกว่า และแนวรบก็แตกได้ง่ายกว่า เมื่อแตกแล้ว เครือข่ายติดต่อสื่อสารที่กระจัดกระจายทำให้เป็นการยากสำหรับฝ่ายตั้งรับที่จะเร่งรุดส่งกำลังหนุนมายังรอยแตกของแนว เพื่อตีตอบโต้อย่างรวดเร็วและผนึกการเจาะผ่านนั้น กล่าวสั้น ๆ คือ บนแนวรบด้านตะวันออก ข้างฝ่ายป้องกันไม่มีข้อได้เปรียบมากมายเหมือนกับในแนวรบด้านตะวันตก อย่างไรก็ตาม ดังเช่นในสงครามนโปเลียนและสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพรัสเซียคุ้นชินกับภูมิประเทศของตน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบตามธรรมชาติของฝ่ายรัสเซีย

ลำดับเหตุการณ์

[แก้]

ค.ศ. 1914

[แก้]

เมื่อสงครามปะทุ ซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงแต่งตั้งพระภราดร (ลูกพี่ลูกน้อง) แกรนด์ดยุคนิโคลัส เป็นผู้บัญชาการกองทัพจักรวรรดิรัสเซียสูงสุด เมื่อระดมพลแล้ว กองทัพรัสเซียมีทหารราว 1.2 ล้านนาย ประกอบด้วย 70 กองพลทหารราบ และ 24 กองพลทหารม้า พร้อมปืนใหญ่อีกเกือบ 7,900 กระบอก กองทัพเหล่านี้ถูกแบ่งออกดังนี้ 32 กองพลทหารราบ และ 10.5 กองพลทหารม้าถูกส่งไปปฏิบัติต่อต้านเยอรมนี, 46 กองพลทหารราบ และ 18.5 กองพลทหารม้าถูกส่งไปปฏิบัติต่อต้านออสเตรีย-ฮังการี, 19.5 กองพลทหารราบ และ 5.5 กองพลทหารม้าถูกส่งไปป้องกันฝั่งทะเลบอลติกและทะเลดำ ส่วน กองพลทหารราบอีก 17 กองพล และกองพลทหารม้าอีก 3.5 กองพล ถูกส่งเข้ามาจากไซบีเรียและเตอร์กีสถาน

สงครามในทางตะวันออกเริ่มต้นขึ้นด้วยการรุกรานปรัสเซียตะวันออก และจังหวัดกาลิเซียของออสเตรีย-ฮังการี ของรัสเซีย ความพยายามแรกกลายเป็นความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วหลังยุทธการเทนเนนแบร์ก ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ส่วนการรุกล้ำที่สองประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ โดยรัสเซียควบคุมกาลิเซียเกือบทั้งหมดเมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1914 ภายใต้การบังคับบัญชาของนิโคไล อีวานอฟ และอเล็กเซย์ บรูซิลอฟ ฝ่ายรัสเซียชนะในยุทธการกาลิเซียในเดือนกันยายนและเริ่มการล้อมเพทเซมมาย (Przemysl) ปราการต่อไปบนเส้นทางสู่คราคูฟ (Kraków)

ความสำเร็จแต่เริ่มต้นของรัสเซียใน ค.ศ. 1914 บนชายแดนออสเตรีย-ฮังการีนั้น เป็นเหตุให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางกังวลและทำให้กองทัพเยอรมนีจำนวนมากถูกส่งมาทางตะวันออก เพื่อปลดเปลื้องแรงกดดันต่อออสเตรีย นำไปสู่การจัดตั้งกองทัพที่เก้าของเยอรมนีใหม่ เมื่อถึงปลายปี ค.ศ. 1914 ความสนใจหลักของการสู้รบเปลี่ยนไปเป็นส่วนกลางของโปแลนด์ ทางตะวันออกของแม่น้ำวิสตูลา ในยุทธการแม่น้ำวิสตูลาในเดือนตุลาคมและยุทธการวูทช์ (Łódź) ฝ่ายเยอรมนีประสบความสำเร็จเล็กน้อย แต่อย่างน้อยก็สามารถกันรัสเซียให้อยู่ในระยะปลอดภัยได้

กองทัพรัสเซียและออสเตรีย-ฮังการียังปะทะกันต่อไปทั้งในเทือกเขาคาร์พาเธียนและบริเวณใกล้เคียง ตลอดฤดูหนาว ค.ศ. 1914-1915 ปราการเพทเซมมายยังไม่ถูกยึดอยู่ลึกเข้าไปหลังแนวข้าศึกตลอดช่วงเวลานี้ ขณะที่รัสเซียเลี่ยงมันไปเพื่อโจมตีกองทัพออสเตรีย-ฮังการีไกลออกไปทางตะวันตก รัสเซียมีความคืบหน้าบ้าง โดยข้ามคาร์พาเธียนได้ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ค.ศ. 1915 แต่หลังจากนั้น เยอรมนีได้ส่งความช่วยเหลือมาและหยุดยั้งการรุกเพิ่มเติมของรัสเซีย ซึ่งระหว่างนั้น เพทเซมมายเกือบจะถูกทำลายทั้งหมดและการล้อมเพทเซมมายยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของออสเตรีย

ค.ศ. 1915

[แก้]

ใน ค.ศ. 1915 กองบัญชาการเยอรมนีตัดสินใจทุ่มเทความพยายามส่วนใหญ่บนแนวรบด้านตะวันออก และย้ายกำลังขนาดใหญ่พอสมควรมาจากทางตะวันตก ในการกำจัดภัยคุกคามรัสเซีย ฝ่ายมหาอำนาจกลางเริ่มการทัพใน ค.ศ. 1915 ด้วยการรุกกอลิซ-ทาร์นอฟในกาลิเซียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1915 หลังยุทธการทะเลสาบมาซูเรียครั้งที่สอง กำลังเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีในแนวรบด้านตะวันออกดำเนินการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาร่วมกัน ไม่นานการรุกจะเปลี่ยนไปเป็นการคืบหน้าทั่วไปและตามด้วยการล่าถอยทางยุทธศาสตร์ของกองทัพรัสเซีย สาเหตุของการผันกลับนี้คือข้อผิดพลาดในแง่ยุทธวิธี เช่น การขาดประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ทางเทคนิค โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนใหญ่และเครื่องกระสุน เฉพาะจนถึง ค.ศ. 1916 ที่การพัฒนาอุตสาหกรรมสงครามรัสเซียเพิ่มการผลิตยุทธภัณฑ์ และพัฒนาสถานการณ์ด้านกำลังบำรุงได้

ถึงกลาง ค.ศ. 1915 รัสเซียถูกขับออกจากโปแลนด์และถูกผลักดันหลายร้อยกิโลเมตรจากชายแดนของประเทศฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งเป็นการกำจัดภัยคุกคามการรุกรานเยอรมนีหรือออสเตรีย-ฮังการีของรัสเซีย ปลาย ค.ศ. 1915 การรุกของเยอรมนีและออสเตรียถูกหยุดที่แนวริกา–Jakobstadt–Dvinsk–Baranovichi–Pinsk–Dubno–Ternopil แนวรบนี้โดยคร่าว ๆ ทั่วไปแล้วไม่เปลี่ยนแปลงกระทั่งจักรวรรดิรัสเซียล่มสลายใน ค.ศ. 1917

ค.ศ. 1916

[แก้]

จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916 รัสเซียมี 140 กองพลทหารราบ เทียบกับออสเตรียและเยอรมนีที่มี 105 กองพลทหารราบ และรัสเซียมี 40 กองพลทหารม้า เทียบกับออสเตรียและเยอรมนีที่มี 22 กองพลทหารม้า การระดมอุตสาหกรรมและการเพิ่มการส่งออกทำให้กองทัพรัสเซียยังคงเป็นฝ่ายรุกต่อไปได้ การโจมตีขนาดใหญ่บนแนวรบด้านตะวันตกเฉียงใต้ภายใต้การนำของพลเอกอเล็กเซย์ บรูซิลอฟ (เรียกว่าการรุกบรูซิลอฟ) เริ่มในเดือนมิถุนายน การโจมตี มีเป้าหมายต่อส่วนของแนวรบที่ควบคุมโดยออสเตรีย-ฮังการี ประสบความสำเร็จน่าประทับใจในช่วงแรก กองทัพรัสเซียรุกเข้าไปลึก 50-70 กิโลเมตร จับกุมเชลยได้หลายแสนคน และปืนใหญ่อีกหลายร้อยกระบอก การมาถึงของกำลังเสริมข้าศึก ความพ่ายแพ้ของโรมาเนีย ความล้มเหลวของพันธมิตรตะวันตกในการสั่นสะเทือนการป้องกันของเยอรมนี ทำให้การรุกของรัสเซียสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน

วันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1916 โรมาเนียเข้าสู่สงครามโดยอยู่ฝ่ายไตรภาคี และทำการรุกประสบความสำเร็จกระทั่งเดือนกันายน หลังจากนั้น โรมาเนียเริ่มประสบความสูญเสียอย่างหนักและพ่ายแพ้หลายครั้งจากกำลังเยอรมนี-ออสเตรีย-บัลแกเรีย-ออตโตมัน เพราะกองทัพโรมาเนียมียุทโธปกรณ์เลวและพันธมิตรรัสเซียให้การสนับสนุนบนแนวรบเล็กน้อย

ค.ศ. 1917–1918

[แก้]

จนถึง ค.ศ. 1917 เศรษฐกิจรัสเซียใกล้จะล่มสลายภายใต้ความพยายามของสงครามที่ตึงเกินไป ขณะที่ยุทโธปกรณ์ของกองทัพรัสเซียแท้จริงแล้วพัฒนาขึ้นเนื่องจากการขยายอุตสาหกรรมสงคราม การขาดแคลนอาหารในใจกลางนครที่สำคัญทำให้เกิดความไม่สงบขึ้น นำไปสู่การสละราชสมบัติของซาร์และการปฏิวัติกุมภาพันธ์ ความสูญเสียจำนวนมากในสงครามยังสร้างความไม่พอใจและทัศนะขัดขืนในกองทัพ ซึ่งจุดชนวนโดยพรรคบอลเชวิคผู้ปลุกปั่น และนโยบายปล่อยเสรีใหม่ของรัฐบาลเฉพาะกาลรัสเซียต่อกองทัพ โดยการลดอาณัติของนายทหารโดยให้อำนาจอย่างกว้างขวางครอบคลุมแก่ "คณะกรรมาธิการทหาร" และการยกเลิกโทษประหารชีวิต) การรุกครั้งสุดท้ายของกองทัพรัสเซียในสงคราม คือ การรุกเคเรนสกีที่เกิดขึ้นช่วงสั้น ๆ และไม่สัมฤทธิ์ผลในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1917

วันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 พรรคบอลเชวิคที่เป็นคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจการปกครองอยู่ภายใต้การนำของวลาดีมีร์ เลนิน หัวหน้าพรรค รัฐบาลใหม่บอลเชวิคของเลนินพยายามยุติสงครามแต่เยอรมนีเรียกร้องให้ยกดินแดนผืนใหญ่ให้ ท้ายที่สุด ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1918 มีการลงนามในสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ และแนวรบด้านตะวันออกยุติการเป็นเขตสงคราม แม้สนธิสัญญาดังกล่าวในทางปฏิบัติจะเลิกใช้ก่อนถึงสิ้นปี แต่ได้บรรเทาภัยแก่บอลเชวิค ซึ่งกำลังติดพันอยู่ในสงครามกลางเมือง และรับรองเอกราชของฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ยูเครน และลิทัวเนีย เยอรมนีสามารถโอนกองกำลังขนาดใหญ่ไปทางตะวันตกเพื่อโจมตีในฝรั่งเศสในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1918 อย่างไรก็ตาม การรุกดังกล่าวไม่อาจเจาะผ่านอย่างเด็ดขาดได้ และการมาถึงของทหารอเมริกันที่มากขึ้นทุกทีในยุโรป ทำให้ข้อได้เปรียบของเยอรมนีหมดไป แม้หลังรัสเซียจะล่มสลายลงแล้ว ทหารเยอรมันนับล้านนายยังต้องประจำอยู่ทางตะวันออกกระทั่งสงครามยุติ ในความพยายามที่จะจัดการกับดินแดนส่วนที่เพิ่มเติมแก่จักรวรรดิเยอรมันในยุโรปที่มีอายุสั้น ๆ เท่านั้น ในตอนท้าย เยอรมนีและออสเตรียสูญเสียดินแดนที่ยึดครองได้ทั้งหมด และนอกเหนือจากนั้น ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาหลายฉบับที่ลงนามหลังสัญญาสงบศึกใน ค.ศ. 1918

อ้างอิง

[แก้]