เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ประเภท | บริษัทมหาชนจำกัด |
---|---|
การซื้อขาย | SET:M |
ISIN | TH4577010002 |
อุตสาหกรรม | อาหาร |
ก่อตั้ง | 2 มีนาคม พ.ศ. 2529 (เอ็มเคสาขาแรก) 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 (จดทะเบียนบริษัท) |
ผู้ก่อตั้ง | มาคอง คิงยี |
สำนักงานใหญ่ | 1200 ถนนเทพรัตน แขวงบางนาใต้ เขตบางนา กรุงเทพมหานคร |
บุคลากรหลัก | ฤทธิ์ ธีระโกเมน (ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) |
ผลิตภัณฑ์ | ร้านอาหาร |
รายได้ | 17,233.76 ล้านบาท (2561) |
สินทรัพย์ | 16,981.55 ล้านบาท (30 มิถุนายน 2562) |
ส่วนของผู้ถือหุ้น | 14,376.80 ล้านบาท (30 มิถุนายน 2562) |
เว็บไซต์ | www |
บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ย่อ M) ประกอบธุรกิจร้านอาหาร จดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจหลัก คือ ร้านอาหารประเภทสุกียากี้ ชื่อ เอ็มเค สุกี้ นอกจากนี้ยังดำเนินงานร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ, ฮากาตะ และ มิยาซากิ มีร้านอาหารไทย ณ สยาม และ เลอสยาม มีร้านร้านกาแฟ/เบเกอรี่ ที่ชื่อ เลอ เพอทิท[1] ร้านข้าวกล่องที่ชื่อ บิซซี่ บ็อกซ์ และร้านขนมหวานที่ชื่อ เอ็มเค ฮาร์เวสต์
จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 มีร้านเอ็มเค สุกี้ ทั้งสิ้น 455 สาขา (รวมร้านเอ็มเค โกลด์ 5 สาขา และเอ็มเค ไลฟ์ 4 สาขา), ร้านอาหารญี่ปุ่น ยาโยอิ 193 สาขา, ร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ด 31 สาขา, ร้านอาหารญี่ปุ่น ฮากาตะ 2 สาขา, ร้านมิยาซากิ 15 สาขา, ร้านอาหารไทย เลอ สยาม 3 สาขา, ร้านอาหารไทย ณ สยาม 1 สาขา, ร้านบิซซี่ บ็อกซ์ 3 สาขา, ร้านเลอ เพอทิท 3 สาขา ยังมีแฟรนไชส์ร้านในประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารในสิงคโปร์[2]
ประวัติ
[แก้]จุดเริ่มต้นของภัตตาคารเอ็มเค เป็นร้านอาหารไทยคูหาเดียว ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าสยามสแควร์ ดำเนินกิจการโดย ทองคำ เมฆโต ซึ่งซื้อกิจการมาจาก มาคอง คิงยี (Markon Kingyee - MK) ชาวฮ่องกง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2505[3] โดยมีอาหารต่าง ๆ อาทิ ข้าวมันไก่ ผัดไทย ผัดขี้เมา เนื้อตุ๋น ปลาช่อนแป๊ะซะ เนื้อย่างด้วยเตาถ่านแบบเกาหลี และต่อมาขยายเป็นสองคูหา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ อดีตประธานกรรมการบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ชักชวนให้ทองคำเปิดร้านอาหารไทย ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ด้วยชื่อร้านใหม่ว่า กรีน เอ็มเค [4]
ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2529 ร้านกรีนเอ็มเคก็เปลี่ยนมาเป็น ร้านสุกี้เอ็มเคสาขาแรก ซึ่งในช่วงเดียวกันนี้ บุตรชาย-บุตรสาวและบุตรเขยของทองคำ ก็เข้ามาช่วยนำการตลาดสมัยใหม่ในการดำเนินกิจการ พร้อมทั้งขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2539 เอ็มเคฯ เริ่มทยอยเปลี่ยนหม้อต้มสุกียากี้ จากระบบแก๊สหุงต้มมาเป็นไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยยิ่งขึ้นของลูกค้าและพนักงาน พร้อมทั้งปรับปรุงรูปแบบการตกแต่งร้านและผลิตภัณฑ์ภายในร้านขึ้นใหม่[4]
ภัตตาคารเอ็มเคฯ ยังเปิดให้บริการร้านสุกียากี้คุณภาพสูง ในชื่อเอ็มเคโกลด์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 และร้านสุกี้ยากี้เพื่อสุขภาพ ในชื่อเอ็มเคไลฟ์ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560
ธุรกิจ
[แก้]ธุรกิจร้านสุกี้
[แก้]ร้านเอ็มเค สุกี้ มีอาหารหลักประเภทสุกี้ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ลูกชิ้น ผักสด กว่า 100 รายการ สำหรับลวกในหม้อสุกี้ ยังมีอาหารประเภทอื่น ได้แก่ ติ่มซำ ซาลาเปา ขนมจีบ ฮะเก๋า อาหารจานเดียว เช่น เป็ดย่าง หมูแดงอบน้ำผึ้ง ซี่โครงหมูนึ่งอบเต้าเจี้ยว เนื้อเปื่อยฮ่องกง บะหมี่หยก เกี๊ยวน้ำ รวมถึงผลไม้ ขนมหวาน ไอศกรีม เครื่องดื่มต่าง ๆ
ร้านเอ็มเค สุกี้ มีจำนวน 446 สาขาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า โมเดิร์นเทรด และคอมมูนิตีมอลล์ ได้แก่ บิ๊กซี โลตัส โรบินสัน เดอะมอลล์ เป็นต้น มีกลุ่มเป้าหมายคือ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน คนทำงานที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ร้านเอ็มเค โกลด์ มีกลุ่มเป้าหมายเดิมของร้านเอ็มเค สุกี้ ที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มี 5 สาขา ตั้งอยู่สยามพารากอน ศาลาแดง เอสพลานาด รัชดาภิเษก เอกมัย และจังซีลอน ส่วนร้านเอ็มเค ไลฟ์ มีกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มเจเนอเรชันวาย มีเมนูพิเศษ เช่น สุกี้นึ่ง และสุกียากี้สไตล์ญี่ปุ่นต้นตำรับ มี 4 สาขา ได้แก่ สาขาเอ็มควอเทียร์ เมกาบางนา ไอคอนสยาม และเซ็นทรัลเวิลด์[2]
ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น
[แก้]ร้านอาหารยาโยอิ ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ในการดำเนินกิจการจาก Plenus Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น สาขาแรกเปิดในปี พ.ศ. 2549 บริการอาหารญี่ปุ่นจานเดียวและอาหารเป็นชุด มีเมนูเช่น หมูชุบแป้งทอดราดซอสมิโสะ หมูย่าง กระทะร้อน ข้าวหน้าเนื้อประเภทต่างๆ ข้าวกล่องแบบญี่ปุ่น อุด้ง ราเมน ของทานเล่น เช่น เกี๊ยวซ่า พิซซ่าญี่ปุ่น และขนมหวาน เครื่องดื่ม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีร้าน 195 สาขาทั่วประเทศ
ร้านฮากาตะ เปิดสาขาแรกที่โรงพยาบาลศิริราช บริการอาหารญี่ปุ่นประเภทราเมนชนิดต่าง ๆ เกี๊ยวซ่า และเครื่องดื่ม มีจำนวน 2 สาขา ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช และดอนเมือง
ร้านมิยาซากิ เปิดสาขาแรกในเดือนตุลาคม ปี 2555 ที่ศูนย์การค้าเดอะซีน ทาวน์อินทาวน์ ซ. ลาดพร้าว 94 ให้บริการอาหารญี่ปุ่นกระทะร้อนประเภทต่าง ๆ (เทปปันยากิ) เครื่องดื่มและขนมหวาน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ร้านมิยาซากิ มีจำนวน 13 สาขา[2]
ธุรกิจร้านอาหารไทย
[แก้]ในปี พ.ศ. 2562 เอ็มเคได้เข้าร่วมลงทุนในกิจการร้านอาหารแหลมเจริญซีฟู้ด ในสัดส่วนร้อยละ 65 ของทุนจดทะเบียนบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด[5]
ร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ด เป็นร้านอาหารทะเลแบบไทยที่มีเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดระยอง มีความโดดเด่นด้วยคุณภาพ ความสด และรสชาติ โดยมีเมนูยอดนิยม อาทิ ปลากระพงทอดน้ำปลา โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ร้านแหลมเจริญ ซีฟู้ด มีจำนวน 36 สาขา
ร้าน ณ สยาม เป็นร้านอาหารไทยตกแต่งร้านรูปแบบไทย มีสาขาแรกที่สยามสแควร์ เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง มีเมนูอาหารประเภทกับข้าวได้แก่ น้ำพริก ต้มยำ แกง ผัดผักชนิดต่าง ๆ อาหารจานเดียว ก๋วยเตี๋ยว อาหารทานเล่น ของหวาน และเครื่องดื่ม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มี 1 ร้าน ตั้งอยู่เซ็นทรัล บางนา
สำหรับร้านอาหาร เลอ สยาม เป็นร้านอาหารไทยตกแต่งร้านรูปแบบไทย เน้นกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ หรือกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ค่อนข้างสูง และต้องการใช้ร้านเป็นสถานที่เลี้ยงรับรอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มี 3 สาขา ได้แก่ สาขาศาลาแดง สาขาจังซีลอน จังหวัดภูเก็ต และลอนดอนสตรีต กรุงเทพฯ[2]
ธุรกิจร้านกาแฟและเบเกอรี
[แก้]ร้านเลอ เพอทิท เปิดร้านแรกปี 2555 บริการขนมทานเล่น เบเกอรี กาแฟ และเครื่องดื่ม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มี 3 สาขา คือ สาขาโรงพยาบาลศิริราช สาขาลอนดอนสตรีท และสาขาสำนักงานใหญ่ ถนนเทพรัตน[2]
ธุรกิจอื่น
[แก้]ร้านข้าวกล่อง ชื่อร้าน บิซซี่ บ็อกซ์ เป็นเมนูข้าวกล่อง ลูกค้านำเงินไปจ่ายที่แคชเชียร์ มีอาหารไทย ญี่ปุ่น ตะวันตก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ร้านบิซซี่ บ็อกซ์ มีทั้งหมด 2 สาขา ในเขตกรุงเทพมหานคร
บริษัทฯ ยังมีบริการส่งถึงบ้าน และบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ดำเนินงานโดยบริษัท เอ็ม เค อินเตอร์ฟู้ด จำกัด
บริษัทย่อย
[แก้]ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีบริษัทย่อยดังนี้[6]
- บริษัท เอ็ม เค อินเตอร์ ฟู้ด จำกัด (MKI) ถือหุ้นร้อยละ 100.00 ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ
- บริษัท เอ็ม เค เซอร์วิส เทรนนิ่ง จำกัด (MKST) ถือหุ้นร้อยละ 100.00 ให้บริการฝึกอบรมบริการแก่บริษัทในเครือ
- บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (IFS) ถือหุ้นร้อยละ 100.00 ผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย
- บริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด (MSL) ถือหุ้นร้อยละ 49.75 ประกอบธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าและจัดส่ง
- บริษัท มาร์ค วัน อินโนเวชั่น เซ้นเตอร์ จำกัด (MKO) ถือหุ้นร้อยละ 100.00 วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม
- บริษัท พลีนัส แอนด์ เอ็มเค พีทีอี ลิมิเท็ด ถือหุ้นร้อยละ 50.00 ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในประเทศสิงคโปร์
- บริษัท พลีนัส-เอ็มเค ลิมิเท็ด ถือหุ้นร้อยละ 12.00 ดำเนินธุรกิจร้านเอ็มเค สุกี้ ในประเทศญี่ปุ่น
- บริษัท แหลมเจริญซีฟู้ด จำกัด (LCS) ถือหุ้นร้อยละ 65.00 ดำเนินธุรกิจร้านอาหารแหลมเจริญ ซีฟู้ด
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)". ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 11 ตุลาคม 2019.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "รายงานประจำปี 2565" (PDF). สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022.
- ↑ ประวัติของเอ็มเค. mkrestaurant.com.
- ↑ 4.0 4.1 ระบบสารสนเทศและประวัติของเอ็มเค. MK for goodhealth. 15 กันยายน 2010.
- ↑ "รายงานประจำปี 2564" (PDF). สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "ภาพรวมธุรกิจ". mkrestaurant.com. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2020.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ (เอ็มเค ประเทศไทย) และ (เอ็มเค ประเทศญี่ปุ่น)