มหาเวสสันดรชาดก
มหาเวสสันดรชาดก เป็นชาดกเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นพระโคตมพุทธเจ้า
ประวัติ
[แก้]มหาพระเวสสันดรชาดก เป็นเรื่องหนึ่งในนิบาตชาดก มีปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิบาต ในหัวข้อทศชาติชาดก ยังปรากฏการกล่าวถึงในคัมภีร์ชินมหานิทาน พุทธจริยา และพุทธตำนาน และพบภาพสลักในสถูประยะแรก อย่าง สถูปสาญจีและภารหุต ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 4–5
ที่มาของมหาเวสสันดรชาดกน่าจะเป็นเรื่องเล่าหรือนิทานของชาวพื้นเมืองอินเดียมาก่อน พัฒนาการวรรณกรรมมหาพระเวสสันดรในระยะแรกพบว่า เวสสันดรชาดก เป็นชื่อในภาษาบาลี ส่วนภาษาสันสกฤตเรียกว่า วิศวันตระอวทาน มีเนื้อเรื่องแตกต่างกันบางอนุภาค เช่น ไม่ปรากฏชื่อชูชกในภาษาบาลี สำหรับภาษาบาลีในพระสุตตันตปิฎก เชื่อว่าแต่งโดยพระพุทธโฆษะเถระ ในพุทธศาสนาศรีลังกาในช่วง พุทธศตวรรษที่ 10–11[1]
ในอุษาคเนย์รับมาจากลังกาโดยคณะสงฆ์กับคณะโยมสงฆ์ที่ใกล้ชิดมูลนายคนชั้นนำในวัฒนธรรมหลวงของรัฐใหญ่ ราว พ.ศ. 1700 เช่น รัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลางตอนล่าง ในสยามประเทศ รัฐลุ่มน้ำอิรวดี ในพม่าประเทศ เป็นต้น
นักวิชาการพบหลักฐานว่ามีจิตรกรรมเรื่องเวสสันดร (เขียนร่วมกับมโหสถชาดก) เรียงต่อกันเป็นแนวยาวในวิหารโลกเทียกพัน เมืองพุกาม อายุราว พ.ศ. 1650[2] ภาพสลักเรื่องเวสสันดรที่ปรากฏเป็นหลักฐานเหลืออยู่ในปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย คือ ภาพสลักบนใบเสมา พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 13–16 โดยพบร่วมกับภาพสลักทศชาติชาดกเรื่องอื่น ๆ สำหรับในอาณาจักรเขมรโบราณ มีการสลักภาพชาดกเรื่องเวสสันดรไว้บนหน้าบันที่ปราสาทธมมานนท์ ในกลุ่มโบราณสถานเมืองเสียมราฐ ภาพสลักบนทับหลังปราสาทพระขรรค์ ในเมืองเสียมราฐและปราสาทตาพรหมแห่งแม่น้ำบาตี ทำให้ทราบว่า คนกัมพูชาโบราณรู้จักเรื่องเวสสันดรชาดกมาอย่างน้อย 900 ปี ข้อสังเกตประการหนึ่งคือภาษาที่ใช้ในอาณาจักรกัมพูชาโบราณนั้นนอกจากจะใช้ภาษาเขมรโบราณแล้ว ยังใช้ภาษาสันสกฤต[3]
มหาเวสสันดรชาดกมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "มหาชาติชาดก" ในการเทศนา เรียกว่า "เทศมหาวิทยาลัย" มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นอย่างน้อยเพราะปรากฏหลักฐานอยู่ในจารึกหลักที่ 3 หรือจารึกนครชุม ซึ่งจารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1900 ในรัชกาลของพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไท ความว่า "…ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่า พระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลย…"[4] มหาชาติฉบับภาษาไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่มีต้นฉบับเหลือมายังปัจจุบัน เป็นของแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2025 ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงให้ราชบัณฑิตแต่ง เรียกว่า มหาชาติคำหลวง แต่ต้นฉบับไม่สมบูรณ์ จากนั้นมีฉบับพระเจ้าทรงธรรม เมื่อ พ.ศ. 2170 เรียกว่า กาพย์มหาชาติ แต่งแปลเป็นภาษาไทยใช้ฉันทลักษณ์เดียวคือ ร่ายยาว เพื่อใช้สำหรับเทศน์ให้อุบาสกอุบาสิกได้ฟังกัน[5]
การเทศน์มหาชาติในล้านนานั้นได้ผูกกับประเพณีตั้งคำหลวง ที่มาทางแรกน่าจะมาจากการแปล คาถาพัน ที่เป็นภาษาบาลี 1,000 พระคาถา ซึ่งพระยากือนาทรงให้พระ 3 นิกายแปล ทางที่สองกล่าวว่าน่าจะมีมาแต่เดิมมาก่อนที่พระพุทธศาสนานิกายพระสุมนจะเจริญในแถบนี้ กล่าวคือมีการเทศน์มหาชาติล้านนามาแต่นิกายเดิมที่เรียกว่า นิกายพื้นเมืองโบราณ ซึ่งรับมาจากมอญ[6] ในล้านนามีฉบับสำคัญเรียกว่า เวสสันตรทีปนี แต่งขึ้นโดยพระศิริมังคลาจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2060 เป็นวรรณกรรมบาลีเรียบเรียงแบบร้อยแก้ว มี 13 กัณฑ์
มหาเวสสันดรชาดกฉบับภาษาลาวฉบับเดิมซึ่งเป็นอักษรธรรม ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แต่ง และแต่งขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นหรืออาณาจักรล้านช้างได้รับเอาคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากอาณาจักรล้านนา ราว พ.ศ. 2066[7]
ชาวไทเขินในเมืองเชียงตุง รัฐชานของประเทศพม่า มีประเพณีการตั้งธัมม์เวสสันตรชาตกะ (การฟังพระธรรมเทศนาเรื่องเวสสันดรชาดก) มีมาช้านานตั้งแต่สมัยในอดีต ไม่ทราบเวลา จากบันทึกเมื่อ พ.ศ. 2367 พอทราบว่า การตั้งธัมม์เวสสันตรชากะของชาวไทเขินเมืองเชียงตุง เจ้ามหาขนาน หรือเจ้าฟ้าผู้ปกครองเมืองเชียงตุงขณะนั้นเอาธัมม์เวสันต์กัปแก้ว ซึ่งมีอยู่เดิม 13 กัณฑ์ มาแต่งสำนวนใหม่ เรียกชื่อว่า เวสสันต์หลวง หรือ เวสสันต์ มีจำนวน 4 กัณฑ์[8]
กัณฑ์
[แก้]มหาเวสสันดรชาดก นิยมในการนำมาเล่าเรื่องราวในทั้ง 13 กัณฑ์ กัณฑ์ทศพรถือเป็นกัณฑ์แรกเป็นกัณฑ์ที่ว่าด้วยการที่พระอินทร์ประทานพร 10 ประการให้กับนางผุสดี ก่อนจะลงไปจุติเป็นมารดาของพระเวสสันดรชาดก
กัณฑ์ที่ 2 คือกัณฑ์หิมพานต์ เป็นกัณฑ์ที่เป็นมูลเหตุในการออกไปอยู่ป่าของพระเวสสันดร พระเวสสันดรประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ให้แก่พราหมณ์ 8 คนจากเมืองกลิงคราษฎร์ที่กำลังประสบปัญหาฝนแล้ง ส่งผลให้พระเวสสันดรต้องถูกเนรเทศออกจากเมือง โดยมีนางมัทรี พระกัณหา และพระชาลี ติดตามไปด้วย
กัณฑ์ที่ 3 คือทานกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรได้ถวายทานราชรถจนพระองค์และนางมัทรีต้องอุ้มพระชาลีพระกัณหาขึ้นบ่าแทน
กัณฑ์ที่ 4 คือกัณฑ์วนประเวศน์ เสด็จไปยังเมืองเจตราษฎร์ ซึ่งกษัตริย์เมืองเจตราษฎร์จะยกราชสมบัติให้แต่พระองค์ปฏิเสธ กษัตริย์เมืองเจตราษฎร์จึงให้พรานเจตบุตรทำหน้าที่เป็นคนเฝ้าทางเข้าป่าแทน เมื่อทั้ง 4 พระองค์เดินทางไปถึงป่าแล้ว พระอินทร์ได้ให้เทวดามาเนรมิตศาลาไว้รองรับ
กัณฑ์ที่ 5 คือกัณฑ์ชูชกเล่าเรื่อง ชูชกเป็นพราหมณ์ที่มีรูปร่างน่าเกลียด มีอาชีพเป็นขอทาน ที่จะมาขอพระกัณหาและพระชาลีมาเป็นทาสรับใช้
กัณฑ์ที่ 6 คือกัณฑ์จุลพน ว่าด้วยการเดินทางครึ่งแรกของชูชกเพื่อไปหาพระเวสสันดร ชูชกโดนหมาของพรานเจตบุตรไล่จนต้องขึ้นไปหลบบนต้นไม้
กัณฑ์ที่ 7 คือกัณฑ์มหาพน เล่าต่อจากกัณฑ์จุลพน พูดถึงการหลอกคนให้หลงเชื่อของชูชก ชูชกหลอกถามทางอัจจุตฤๅษี
กัณฑ์ที่ 8 นามว่ากัณฑ์กุมาร ชูชกรอจนนางมัทรีออกไปหาผลไม้ในป่าจึงเดินเข้าไปขอสองกุมารกับพระเวสสันดร พระกัณหาและพระชาลีต่างหนีไปหลบอยู่ในสระบัวจนพระเวสสันดรต้องตามไปเกลี้ยกล่อม
กัณฑ์ที่ 9 คือกัณฑ์มัทรี เล่าเหตุการณ์ระหว่างที่นางมัทรีหาผลไม้เสร็จ กำลังจะกลับไปหาพระเวสสันดร เหล่าเทวดากลัวว่านางมัทรีจะไปขัดขวางการประทานสองกุมารให้ชูชก
กัณฑ์ที่ 10 คือกัณฑ์สักกบรรพ ว่าด้วยท้าวสักกะหรือพระอินทร์ แปลงกายมาเป็นพราหมณ์มาทูลขอนางมัทรี ซึ่งพระเวสสันดรก็ยกให้
กัณฑ์ที่ 11 คือกัณฑ์มหาราช ชูชกผูกเปลขึ้นไปนอนบนต้นไม้ ทิ้งสองกุมารให้อยู่บนพื้น จนเทวดาต้องแปลงตัวเป็นพระเวสสันดรและนางมัทรีมาดูแลสองกุมาร จากนั้นไปเมืองเชตุดรของพระเจ้าสัญชัย ชูชกพาทั้งสองเข้าไปยังเมืองเชตุดรจนทำให้ได้พบกับพระเจ้าสัญชัย ซึ่งพระองค์ตัดสินใจไถ่ตัว 2 กุมารจากชูชก พร้อมดูแลชูชกอย่างดีจนชูชกกินเกินขนาดจนท้องแตกตาย พระเจ้าสัญชัยจึงตัดสินใจที่จะไปพาพระเวสสันดรกับนางมัทรีกลับเมือง
กัณฑ์ที่ 12 คือกัณฑ์ฉกษัตริย์ เป็นเรื่องราวการรับพระเวสสันดรกลับเมือง โดยเล่าถึงขบวนเสด็จของพระเจ้าสัญชัย นางผุสดี พระกัณหา และพระชาลี ที่เดินทางไปถึงอาศรมของพระเวสสันดรและนางมัทรี กัณฑ์สุดท้าย คือนครกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่พูดถึงการเสด็จกลับเมืองเชตุดรของพระเวสสันดรและคณะ ซึ่งเมื่อกลับไปถึง พระเวสสันดรก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ปกครองเมือง
การดัดแปลงในสื่อต่าง ๆ
[แก้]เรื่องมหาเวสสันดรชาดก ได้รับการนำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา อีกทั้งมีการสร้างเป็นเทป ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสารคดี เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนมานับครั้งไม่ถ้วน
ฉบับภาพยนตร์ถูกนำไปสร้างครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504 ในชื่อว่า มหาเวสสันดร กำกับการแสดงโดยเนรมิต อำนวยการสร้างโดย จรี อมาตยกุล สร้างและจัดจำหน่ายโดย เนรมิตภาพยนตร์ นำแสดงโดย รุจน์ รณภพ, ช่อทิพย์ ชิดชอบ, เชาว์ แคล่วคล่อง, สมจิตต์ ทรัพย์สำรวย, ทัต เอกทัต, ทองต่อ จาตุรงค์กุล, สมพงษ์ พงษ์มิตร, ล้อต๊อก [9]
ภาพยนตร์ฉบับปี พ.ศ. 2516 โดยใช้ชื่อว่า ชูชก กัณหา ชาลี สร้างโดยบริษัท ไทยสากลธุรกิจ จำกัด ของ ณรงค์ สันติสกุลชัยพร กำกับการแสดงโดย รัตน์ เศรษฐภักดี นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี ในบทบาทพระเวสสันดร ร่วมด้วย พิศมัย วิไลศักดิ์ ในบทพระนางมัทรี ส่วนบทชูชก รับบทโดย ประพัตร์ มิตรภักดี และนางอมิตาดา ภรรยาของชูชกรับบทโดย สุชีรา สุภาเสพ สำหรับกัณหาและชาลี รับบทโดย 2 พี่น้อง ด.ช. เอ๋ และ ด.ช. อวบ สมชาติ และพรานเจตบุตร รับบทบาทโดย อดินันท์ สิงหิรัญ ออกฉายวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2516 ที่โรงภาพยนตร์เพชรรามา และต่อมาได้มีการนำฟิล์มเรื่องนี้มาตัดต่อ ปรับแต่งใหม่ เน้นตัวละครต่างกัน แล้วนำออกฉายในปี พ.ศ. 2523 ในชื่อใหม่ว่า "พระเวสสันดร" ออกฉายวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2523 ที่โรงภาพยนตร์เพชรเอ็มไพร์
โดยเฉพาะละครโทรทัศน์ฉบับปี พ.ศ. 2530 ซึ่งสร้างโดยมูลนิธิแผ่นดินธรรม เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ออกอากาศครั้งแรกทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30 - 19.30 น. ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2529 ถึง 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 จำนวนทั้งสิ้น 18 ตอน ตอนละ 45 นาที นำแสดงโดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ รับบทเป็น พระเวสสันดร, ม.ล. สราลี กิติยากร เป็น พระนางมัทรี, ไพโรจน์ ใจสิงห์ เป็น พระเจ้ากรุงสัญชัย, ส.อาสนจินดา เป็น อัจจุตฤๅษี, เสรี หวังในธรรม เป็น ชูชก, ตุ๊กติ๊ก จินดานุช เป็น กัณหา, เอราวัต เรืองวุฒิ เป็น ชาลี และนักแสดงกิตติมศักดิ์ ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ กำกับการแสดงโดย ชาติ รอบกิจ
นอกจากนี้ยังเป็นละครโทรทัศน์ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 นำแสดงโดย พัลลภ พรพิษณุ รับบทเป็น พระเวสสันดร, เยาวเรศ นิศากร รับบทเป็น พระนางมัทรี, ประพัตร์ มิตรภักดี รับบทเป็น ชูชก, แฉล้ม บัวเปลี่ยนสี และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2539 บริษัทสามเศียรได้ผลิตละครชื่อว่า กัณหา ชาลี (มหาเวสสันดรชาดก) ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน นำแสดงโดย มาฬิศร์ เชยโสภณ, กชกร นิมากรณ์, ด.ช.ดรีม ด้วงสง, ด.ญ.เอเซีย ปทุมแก้ว ออกอากาศหลังจบละครเรื่อง มโหสถชาดก แล้ว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ชาญคณิต อาวรณ์. "เวสสันดรชาดก : จิตรกรรมกับประวัติศาสตร์สังคมล้านนา" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ. "เทศน์มหาชาติ มาจากไหน? (1) เทศน์มหาชาติเป็นทำนอง ไม่มีในอินเดีย-ลังกา". มติชนสุดสัปดาห์.
- ↑ กังวล คัชชิมา. "มหาชาติคำหลวง : ความเกี่ยวโยงกับเวสสันดรชาดกในกัมพูชา".
- ↑ "ทศชาติชาดก 101 : เวสสันดรชาดก". เดอะคลาวด์.
- ↑ "ที่มาและความเป็นมาของเรื่องมหาเวสสันดร" (PDF). สถาบันศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "การศึกษาวรรณกรรมล้านนา เรื่องมหาชาติภาคพายัพ ฉบับสร้อยสังกร" (PDF).
- ↑ พระมหาภิรมย์ คุ้มเพชร. "การศึกษามหาเวสสันดรชาดก ฉบับวัดแสนสุขาราม หลวงพระบาง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ "คุณค่าการตั้งธัมม์เวสสันตรชาตกะของชาวไทขืน". มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม.
- ↑ ฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย เรื่อง มหาเวสสันดร[ลิงก์เสีย]