เวทางค์
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
เวทางค์ (สันสกฤต: वेदाङ्ग) หรือ เวทางคศาสตร์ คือวิชาประกอบการศึกษาพระเวท[1] มี 6 อย่าง คือ 1. ศึกษา (วิธีออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้อง) 2.ไวยากรณ์ 3. ฉันท์ 4. โชยติษ (ดาราศาสตร์) 5. นิรุกติ (ประวัติของคำ) และ 6. กัลปะ (วิธีประกอบพิธีกรรม)
ประวัติ
[แก้]"เวทางคศาสตร์" เป็นชื่อคัมภีร์ชุดหนึ่งของศาสนาฮินดู จัดอยู่ในประเภทสมฤติ (คือ คัมภีร์ที่จดจำมา) มีหมายความว่า ศาสตร์ที่ว่าด้วยองค์ประกอบของพระเวท คือเป็นหนังสือคู่มือสำหรับการอ่าน ท่องจำ สาธยาย และเรียนพระเวท ตลอดจนสำหรับการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามที่พระเวทว่าไว้
สำหรับพระเวทนั้นเป็นคัมภีร์ชั้นต้นหรือคัมภีร์ประเภทศรุติ (คือ คัมภีร์ที่ได้ยินได้ฟังมา) เพราะเชื่อกันว่าพวกฤๅษีผู้มีฌานได้รับการเปิดเผยหรือวิวรณ์ (อังกฤษ: revelation) จากเทพเจ้าของศาสนาพราหมณ์มาโดยตรง แล้วนำมาบอกเล่าแก่ผู้อื่นโดยมิได้ต่อเติมเสริมแต่งตามความเห็นหรือมติ (อังกฤษ: opinion) ของตน ด้วยเหตุนี้ พระเวทจึงได้ชื่อว่าเป็น "อเปารุเษยะ" แปลว่า ไม่ใช่ผลงานของมนุษย์
องค์ประกอบ
[แก้]คัมภีร์เวทางคศาสตร์มีลักษณะสำคัญคือแต่งเป็นสูตรสั้น ๆ คล้ายทฤษฎีบททางคณิตศาสตร์เพื่อให้จำได้ง่ายและเร็ว แล้วมีคำอธิบายขยายความโดยละเอียดเพื่อความเข้าใจอันดียิ่งขึ้น ประกอบไปด้วยคัมภีร์หกคัมภีร์ซึ่งรวมกันเรียกว่า "เวทางคศาสตร์" ดังต่อไปนี้
1. ศิกฺษ หรือศึกษาศาสตร์ ว่าด้วยการอ่านออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้องตามอักขรวิธี ตามครุและลหุ ตลอดจนตามวิธีอ่านทั่วไป สูตรในศึกษาศาสตร์ที่สำคัญและรู้จักกันดีได้แก่ ปราติสาขยสูตร-ว่าด้วยกฎการอ่านออกเสียงภาษาพระเวทโดยนำคำต่าง ๆ ที่มีเสียงไพเราะมาประสมเข้าด้วยกันแล้วบอกวิธีอ่านออกเสียงที่มีลักษณะเด่นเฉพาะของสำนักพระเวทตาง ๆ เช่น สำนักฤคเวทที่ชื่อว่า "ศกกฺลยสาขาของเศานกะ (หรือของเสนกบัณฑิต)" สำนักยชุรเวทดำชื่อ "ไตตฺติรียปฺราติศาขฺยะ" สำนักยชุรเวทขาวชื่อ "วาชสเนยีปฺราติศาขฺยะ" และสำนักอถรรพเวทชื่อ "เศานกียตตุราธยายิกะ" ส่วนสามเวทไม่มีสำนักโดยเฉพาะ
2. ฉนฺท หรือฉันทศาสตร์ ว่าด้วยวิธีอ่านมนตร์ด้วยทำนองเสนาะให้ถูกต้องตามลักษณะฉันท์ และว่าด้วยวิธีแต่งฉันท์ ฉันทศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดได้แก่ฉบับของปิงคละ เขียนเมื่อประมาณ พ.ศ. 300
3. วฺยากรณ หรือไวยากรณศาสตร์ ว่าด้วยประเภทและระเบียบของคำที่ใช้ในพระเวท ไวยากรณศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบได้แก่ฉบับของปาณินิ (ประมาณ พ.ศ. 190-290) แต่ในคัมภีร์นี้ปาณินีได้อ้างนักไวยากรณ์ไว้หลายคนที่มีชีวิตอยู่ก่อนหน้าตน หนึ่งในนั้นคือ ศากฎายนะ ผู้ซึ่งมีรายงานว่าผลงานส่วนหนึ่งได้รับการค้นพบแล้ว
4. นิรุกฺต หรือนิรุกติศาสตร์ ว่าด้วยภาษา ความเข้าใจภาษา และการรู้จักใช้คำให้ผู้อื่นเข้าใจ ตลอดจนที่มาของคำในพระเวทที่มีความหมายยาก ๆ นิรุกติศาสตร์ที่รู้จักกันดีได้แก่ฉบับของยาสกะผู้มีชีวิตของก่อนปาณินิ ก่อนหน้ายาสกะก็มีผู้แต่งนิรุกติศาสตร์แล้วสิบเจ็ดคน แต่ผลงานเหล่านั้นสูญหายไปหมดแล้ว นิรุกติศาสตร์ของยาสกะประกอบไปด้วยบทย่อยที่เรียกว่า "ภาค" จำนวนสามภาค ดังนี้
- 4.1 ไนฆัณฑุกะ (บาลีว่า นิฆัณฑุ) ว่าด้วยประเภทศัพทมูลวิทยาหรืออภิธานศัพท์คำพ้อง
- 4.2 ไนคม (บาลีว่า นิคม) ว่าด้วยประเภทอภิธานศัพท์คำเฉพาะในพระเวท
- 4.3 ไทฺวตะ ว่าด้วยประมวลคำที่เกี่ยวกับพระเจ้าและพิธีกรรม
5. โชฺยติษฺ หรือโชยติษศาสตร์ ว่าด้วยวิธีคำนวณการโคจรของดวงดาวต่าง ๆ ตามที่พระเวทระบุไว้ เพื่อใช้ประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ คัมภีร์นี้ได้แก่ดาราศาสตร์ในปัจจุบัน
6. กลฺป หรือกัลปศาสตร์ ว่าด้วยวิธีนำมันตระต่าง ๆ ของพระเวทไปใช้ในพิธีกรรมทั้งหลาย ประกอบไปด้วยสูตรจำนวนสามสูตร ดังนี้
- 6.1 เศฺราตสูตร ว่าด้วยสูตรพิธีกรรมสำคัญ
- 6.2 คฺฤหยสูตร ว่าด้วยพิธีสังสการ อันเป็นพิธีที่ต้องกระทำในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งอาศรมทั้งสี่ของพราหมณ์ ได้แก่ พรหมจารี, คฤหัสถ์, วานปรัสถ์ และสันยาสี
- 6.3 ธรฺมสูตร ว่าด้วยภาระ และหน้าที่ ข้อปฏิบัติของประชาชนทุกวรรณะ
อิทธิพลต่อพุทธศาสนา
[แก้]ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นต้นของศาสนาพุทธได้ปรากฏชื่อคัมภีร์ในเวทางคศาสตร์อยู่หลายแห่ง เช่น ในอัมพัฏฐสูตร โสณทัณฑสูตร กูฏทันตสูตร แห่งทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เล่ม 9 ข้อ 356, 303 และ 331 ตามลำดับ) บรรยายความคงแก่เรียนของอัมพัฏฐพราหมณ์และกูฏทันตพราหมณ์ไว้ตรงกันว่า เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฎุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ตลอดจนรู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ
ซึ่งอรรถกถาทีฆนิกายอธิบายชื่อคัมภีร์ดังกล่าวไว้ดังนี้
1. ที่ว่า "ทรงจำมนตร์" หมายถึง ทรงจำมันตระหรือบทสวดในฤคมันตระ (ฤคเวท) ยชุรมันตระ (ยชุรเวท) และสามมันตระ (สามเวท)
2. ที่ว่า "นิฆัณฑุศาสตร์" ตรงกับคัมภีร์ไนฆัณฑุกะของนิรุกติศาสตร์ เวทางคศาสตร์
3. ที่ว่า "เกฎุภศาสตร์" นั้นเป็นชื่อคัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์กัลปศาสตร์ ภาษาสันกฤตว่า "ไกฎกศาสตร์"
4. ที่ว่า "อักษรศาสตร์" นั้นเป็นชื่อคัมภีร์ว่าด้วยการเปล่งเสียง การออกเสียง ซึ่งตรงกับศึกษาศาสตร์ เวทางคศาสตร์ และว่าด้วยการอธิบายคำศัพท์โดยอาศัยประวัติและกำเนิดของคำ ซึ่งตรงกับนิรุกติศาสตร์ เวทางคศาสตร์
5. ที่ว่า "ประวัติศาสตร์" นั้นเป็นชื่อคัมภีร์ประเภทพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ ตรงกับคัมภีร์อิติหาสะของศาสนาพราหมณ์
6. ที่ว่า "การทำนายลักษณะมหาบุรุษ" นั้นคือชื่อศาสตร์ที่ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญ เช่น พระพุทธเจ้า อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ชื่อว่า "มันตระ" ในส่วนเฉพาะที่ว่าด้วยพระพุทธเจ้าเรียกว่า "พุทธมันตระ" มีหนึ่งหมื่นหกพันคาถา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, หน้า 1129
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. ISBN 978-616-7073-80-4
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2545). รายงานประจำปี 2544 ราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หน้า 118-121.
- เจริญ อินทรเกษตร. (2514-2516). "โชยติษ". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 11). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย, (เล่ม 9). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
- เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป. (2503, 21 มกราคม). ลัทธิของเพื่อน. พระนคร : มปท. (ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพนางส่งศรี อมาตยกุล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 21 มกราคม 2503).
- อติศักดิ์ ทองบุญ. (2532). ปรัชญาอินเดีย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้มติ้งกรุพ จำกัด.
- John Dowson. (1957). A Classical Dictionary of Hindu Mythology and Religion, Geography, History and Literatures. London : Routledge & Kegan Paul, Ltd.
- R.C. Majumdar. (1968). "Literatures and Science (of Later Vedic Civilization)." Advanced History of India. London : Macmillan and Company, Ltd.
- Benjamin Walker. (1968). "Scriptures." Hindu World, (vol. 2). London : George Allen & Unwin, Ltd.