นยายะ
ลัทธินยายะ (อังกฤษ: Nyaya; สันสกฤต: ny-āyá) เป็นปรัชญาในศาสนาฮินดู คำว่านยายะมาจากภาษาสันสกฤตหมายถึงนำไปสู่ความจริงแท้ ลัทธินี้เริ่มขึ้นหลังพุทธกาลโดยมีฤๅษีโคตมะเป็นผู้แต่งนยายสูตร ต่อมาได้มีผู้แต่งคัมภีร์อธิบายความเพิ่มเติมต่อมาคือวาตสยายนะ แต่งนยายภาษยะ อุททโยตกระ แต่งวารติกะ และ วาจัสปติแต่งตาตปรยฎีกา ทำให้ได้คัมภีร์ในลัทธินยายะที่สมบูรณ์
ลัทธินี้มีความเห็นว่าชีวิตในโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ และโมกษะเป็นสภาวะที่ดับทุกข์สิ้นเชิง ความทุกข์ของสัตว์โลกเกิดจากสังโยชน์หรือพันธนะเป็นเครื่องผูกมัดสรรพสัตว์ให้ติดอยู่ในสังสารวัฏ เหตุที่ทำให้เกิดโลกคือปรมาณูของธาตุทั้งสี่คือดินน้ำลมไฟ ปรมาณูของธาตุทั้งสี่นี้เกิดขึ้นเองไม่มีใครสร้างและทำลายได้ พระเจ้าทรงสร้างโลก โดยนำปรมาณูของธาตุทั้งสี่มารวมกันในสัดส่วนที่เหมาะสม และการทำลายโลกของพระเจ้าคือการที่ทรงแยกปรมาณูเหล่านี้ออกจากกัน ชีวาตมันหรือวิญญาณเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเองและดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์ มนัสหรือจิตรเป็นสื่อในการรับรู้อารมณ์ของชีวาตมัน จนกระทั่งชีวาตมันบรรลุโมกษะจึงแยกออกจากมนัสได้โดยเด็ดขาด การเกิดคือการที่ชีวาตมันมาอาศัยในร่างกายและการตายคือการที่ชีวาตมันแยกออกจากร่างกาย
อ้างอิง
[แก้]- ฟื้น ดอกบัว.ปวงปรัชญาอินเดีย. กทม. ศยาม. 2555