ข้ามไปเนื้อหา

อำเภอพุทไธสง

พิกัด: 15°32′54″N 103°1′30″E / 15.54833°N 103.02500°E / 15.54833; 103.02500
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อ.พุทไธสง)
อำเภอพุทไธสง
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Phutthaisong
ใจกลางอำเภอพุทไธสง
ใจกลางอำเภอพุทไธสง
คำขวัญ: 
คูเมืองเก่าแต่โบราณ นมัสการพระเจ้าใหญ่
สุดสวยผ้าไหมไทย แลวิไลบึงสระบัว
แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์ เน้นอำเภอพุทไธสง
แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์ เน้นอำเภอพุทไธสง
พิกัด: 15°32′54″N 103°1′30″E / 15.54833°N 103.02500°E / 15.54833; 103.02500
ประเทศ ไทย
จังหวัดบุรีรัมย์
พื้นที่
 • ทั้งหมด330.0 ตร.กม. (127.4 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด45,770 คน
 • ความหนาแน่น138.70 คน/ตร.กม. (359.2 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 31120
รหัสภูมิศาสตร์3109
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอพุทไธสง
หมู่ที่ 1 ถนนอรุณประเสริฐ ตำบลพุทไธสง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ 31120
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

พุทไธสง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์เป็นเมืองประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีชื่อเสียงด้านการเป็นแหล่งทอผ้าไหมมัดหมี่ที่สวยงาม และมีพระคู่บ้านคู่เมือง คือ พระเจ้าใหญ่ วัดหงษ์

ประวัติศาสตร์เมืองพุทไธสง

[แก้]

ตามหลักฐานจากการสำรวจของรองศาสตราจารย์ ศรีศักดิ์ วัลลโภดม และของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทิวา ศุภจรรยาและคณะ ได้ปรากฏว่ามีชุมชนโบราณที่มีลักษณะมีคูน้ำคันดินล้อมรอบในแถบลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีถึงจำนวน 671 แห่ง ซึ่งลักษณะที่มาของคูน้ำคันดินแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ แบบสี่เหลี่ยมและแบบทรงกลม จากหลักฐานแบบสี่เหลี่ยมเกิดขึ้นในยุคที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เกิดขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศวรรษที่ 7 สำหรับแบบทรงกลมได้รับอิทธิพลจากเพื่อนบ้านที่มีอารยธรรมสูงกว่า และมีความมั่นคงทางการเมือง เกิดขึ้นราว 3,000 – 5,000 ปีมาแล้ว ก่อนสมัยทวาราวดีของอินเดีย ผศ. ทิวา ศุภจรรยา ให้ความเห็นว่า การสร้างคูน้ำคันดินรอบชุมชนนี้น่าจะเกิดขึ้นเองเป็นครั้งแรกในแถบลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำชีและใกล้เคียงแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช จากจำนวนชุมชนที่มีคูน้ำคันดินทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 700 แห่ง ความหนาแน่นของชุมชนอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้และเขตติดต่อระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดนครราชสีมา

โดยหนึ่งในชุมชนเหล่านั้นคือ เมืองพุทไธสง ตามที่นักโบราณคดีสำนักศิลปากรที่ 12 อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สันนิษฐานว่าเมืองพุทไธสงโบราณถูกสร้างมาประมาณ 3,000 ปีแล้ว และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเมืองในสมัยทวาราวดี ซึ่งลักษณะของเมืองในสมัยทวาราวดี ที่ปรากฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบมีลักษณะทรงกลม คล้ายเมืองโบราณในประเทศอังกฤษและประเทศจีน เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งในประเทศไทยพบการตั้งถิ่นฐานจำนวนมากตามลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำชี

ลักษณะทางทางภูมิศาสตร์ของเมืองพุทไธสง

ตัวเมืองมีคูเมืองเก่าที่เป็นคันคูน้ำอยู่จำนวน 2 ชั้น ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพุทไธสงในปัจจุบัน ประกอบไปด้วย

1.คูบึงชั้นนอกด้านทิศเหนือประกอบไปด้วย บึงสระบัวหรือบึงใหญ่ หนองเม็ก คูบึงชั้นในด้านทิศเหนือ มีบึงเจ๊กและบึงอ้อ ตั้งอยู่เขตหมู่ที่ 1 บ้านพุทไธสง ในเขตตำบลพุทไธสง รอบโนนที่ตั้งเมืองพุทไธสง

2.คูบึงชั้นนอกด้านทิศตะวันออกประกอบไปด้วย บึงมะเขือ บึงบัวขาว ง คูบึงชั้นในด้านทิศตะวันออก มีบึงกลาง บึงสร้างนาง และมีหนองน้ำชั้นนอกคือหนองกระจับ หนองสรวง

3.คูบึงชั้นนอกด้านทิศใต้ประกอบไปด้วย บึงฆ่าแข่ ห้วยเตย หนองบัว คูบึงชั้นในด้านทิศใต้ มีบึงสร้างนาง หนองกระทุ่มหนา

4.คูบึงชั้นนอกด้านทิศตะวันตก มีหนองน้ำชื่อร่องเสือเต้น กั้นเขตแดนระหว่างโรงเรียนพุทไธสงและโรงเรียนตงศิริราษฎร์อนุสรณ์ในปัจจุบัน เป็นลักษณะบึงสั้นๆ ไม่ตลอดแนว และด้านนี้ไม่มีคูบึงชั้นใน ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบสลับที่เนินเตี้ยๆ พื้นที่โดยรวมลาดเอียงจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่ดอนที่เรียกว่าโนน(เนิน)เมืองจำนวน 7 โนนดังนี้

1.โนนโรงเรียนพุทไธสงเดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งคิวรถและตลาดสดเทศบาลตำบลพุทไธสง ในอดีตเป็นเนินใหญ่สุดและเป็นศูนย์กลางตั้งตัวเมืองจนถึงปัจจุบัน

2.โนนอนามัยเดิม ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานสาธารณสุขอำเภอพุทไธสง สถานีตำรวจภูธรพุทไธสง เป็นเนินที่มีความสูงที่สุด

3.โนนโรงเรียนนุบาลพุทไธสง (โอภาสประชานุกูล) เดิมมีน้ำล้อมรอบและใช้เป็นป่าช้าที่ฝังศพ

4.โนนบ้านโพนทอง เป็นโนนสูงกว้างใหญ่ หลังจากตั้งเมืองพุทไธสงใหม่ที่บ้านมะเฟือง มีข้าราชการจากเมืองมาตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ที่โนนแห่งนี้

5.โนนโรงเรียนตงศิริราษฎร์อนุสรณ์ เป็นโนนสูงด้านทิศตะวันตก หลังจากการขุดปรับแต่งหน้าดิน พบว่าดินมีลักษณะเป็นดินปนหินขี้ตะกรันเหล็ก อาจเป็นแหล่งถลุงเหล็กทำเครื่องมือและอาวุธในอดีต

6.โนนหนองสรวงตั้งอยู่ทางทิศใต้ ลักษณะยาวตามทิศตะวันออกไปตะวันตก เป็นที่ตั้งบ้านโนนหนองสรวง

7.โนนอีแก้ว เป็นโนนสูงขนาดเล็กอยู่ทางทิศใต้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศูนย์หม่อนไหมบุรีรัมย์สาขาพุทไธสง

ในยุคอารยธรรมขอมรุ่งเรือง ได้พบหลักฐานการสร้างปราสาทหินและหลักฐานอื่นๆ ในบริเวณเมืองพุทไธสง ได้แก่ ปรางค์กู่สวนแตง ที่บ้านกู่สวนแตง ตำบลกู่สวนแตง กุฏิฤๅษีที่บ้านกู่ฤๅษี ตำบลหนองเยือง ในเขตอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ พระธาตุบ้านดู่ อำเภอนาโพธิ์

ทั้งยังมีหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองพุทไธสงอื่นๆอีก เช่น พระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ บ้านศีรษะแรต ตำบลมะเฟือง เป็นพระพุทธรูปประจำคู่เมืองพุทไธสง สร้างขึ้นในช่วงราวปี พ.ศ. 1500 เป็นพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี สร้างด้วยมวลสารและยางบง ปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง 1.6 เมตร สูง 2 เมตร องค์พระเจ้าใหญ่เป็นศิลปะการก่อสร้างที่แตกต่างไปจากขอม กล่าวคือเป็นศิลปะทางพระพุทธศาสนาโดยสันนิษฐานว่าคงสร้างตามอิทธิพลของอารยธรรมลาว(ล้านช้าง)ในถิ่นนี้ และยังพบพระธาตุ 1 องค์ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวิหารพระเจ้าใหญ่ วัดหงษ์ ซึ่งมีส่วนสูงของพระธาตุ 12 เมตร ฐานกว้าง 6 เมตร ก่อด้วยอิฐแดงไม่ฉาบปูนคงจะเป็นรุ่นเดียวกันกับพระธาตุพระพนมฝีมือลาวในสมัยทวารวดี ปัจจุบันได้สร้างพระธาตุใหม่ครอบไว้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานพระพุทธรูปในสมัยเดียวกันในท้องที่อำเภอข้างเคียง เช่น พระพุทธรูปในลำน้ำมูล พบที่บ้านวังปลัด อำเภอคูเมือง และพบใบเสมาที่บ้านปะเคียบ อำเภอคูเมือง เป็นต้น

ในระยะต่อมาเมืองพุทไธสง ได้เป็นถิ่นที่อยู่กลุ่มชาติพันธุ์ลาวที่มาอยู่รวมกันในแถบลุ่มน้ำมูล ทั้งนี้จากหลักฐานต่างๆถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดบุรีรัมย์ จะรวมกลุ่มกันตั้งถิ่นฐานอยู่ 3 เมืองใหญ่ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันคือ กลุ่มชาติพันธุ์เขมรจะรวมกลุ่มกันอยู่เมืองตลุง(ประโคนชัย) กลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราชจะรวมกลุ่มกันอยู่ที่เมืองนางรอง กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสานหรือไทลาวจะรวมกลุ่มกันอยู่ที่เมืองพุทไธสง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีเมืองอยู่เดิมแล้วในบริเวณที่กล่าวถึงนี้

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองพุทไธสงเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองหน้าด่านกันชนให้ทั้งสามราชอาณาจักร สยาม ลาว เขมร พร้อมกับเมืองสำคัญที่เป็นเมืองหน้าด่านทางภาคอีสานซึ่งประกอบไปด้วย เมืองพิมาย เมืองกันทรลักษณ์ เมืองกันทรวิชัย เมืองพุทไธสง เมืองนางรอง เมืองตลุง(ประโคนชัย) เมืองเหล่านี้ต่างเป็นเมืองใหญ่มีประชากรมากและมีเจ้าเมืองปกครอง ต่อมาเมืองพุทไธสงได้ถูกทิ้งร้างไป

ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เจ้าพระยาจักรี ทรงยกทัพไปตีเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตในปี พ.ศ. 2318 และได้เกณฑ์ไพร่พลในหัวเมืองต่างๆในบริเวณต่างๆของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน และในจำนวนนี้มีเพี้ยศรีปาก(นา) ซึ่งเป็นคณะอาญาสี่ของเมืองสุวรรณภูมิ รวมถึง เพียเหล็กสะท้านผู้มีหน้าที่จัดทำอาวุธ เพียไกรสอนผู้มีหน้าที่เกณฑ์ไพร่พลทหารและทหารรวม 200 คนไปด้วย เพียศรีปากได้ทำการสู้รบด้วยความองอาจกล้าหาญ มีความสามารถ จนกองทัพไทยทำการสำเร็จได้รับชัยชนะกลับกรุงธนบุรี และได้กวาดต้อนผู้คนกลับมาเป็นจำนวนมาก ในช่วงเดินทัพกลับนั้นได้เดินทัพผ่านมายังเมืองพุทไธสงเก่า และได้พักแรมที่หนองแสนโคตร (บริเวณบ้านมะเฟืองในปัจจุบัน) และได้สำรวจตัวเมืองเก่า เพื่อตั้งเมืองพุทไธสงขึ้นใหม่ เห็นว่าเมืองเก่าถูกละทิ้งมานานเป็นป่ารกยากแก่การบูรณะ จึงให้สร้างเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านโนนหมากเฟืองและบ้านหัวแฮด

ในปี พ.ศ. 2342 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพี้ยศรีปาก(นา) พร้อมบุตรชาย 2 คน คือ ท้าวหน่อ (เพี้ยเหล็กสะท้อน) และท้าวนา (เพี้ยไกรศรเสนา) ได้นำความกราบบังทูลขอพระราชทานตั้งบ้านโนนหมากเฟือง ขึ้นเป็นเมืองพุทไธสง ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา โดยแบ่งเขตแดนจากเมืองสุวรรณภูมิ และเพี้ยศรีปาก ได้เป็นเจ้าเมืองพุทไธสงคนแรก มีราชทินนามว่า พระยาเสนาสงคราม ดังปรากฏในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ภาค 1 ว่า

"ลุจุลศักราช ๑๑๖๑ ปีมแมเอกศก เพี้ยศรีปาก เพี้ยเหล็กสะท้อน เพี้ยไกรสร เสนาเมืองสุวรรณภูมิ คบคิดกันเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าเปนพวกพ้องตัวเลขได้สองร้อยคนเศษ แยกออกจากเมืองสุวรรณภูมิ ไปสมัคขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสิมา ๆ มีบอกมายังกรุงเทพ ฯ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เพี้ยศรีปากเปนพระเสนาสงครามเจ้าเมือง ยกบ้านหมากเฟืองบ้านหนองหัวแรดซึ่งอยู่ริมเมืองพุดไทยสงเก่า เปนเมืองพุดไทยสงขึ้นกับเมืองนครราชสิมา (มณฑลนครราชสิมา) โปรดเกล้า ฯ ให้เมืองสุวรรณภูมิปันเขตรแขวงให้ ตั้งแต่ฟากลำพังชูทางตวันตกไป ถึงลำสะแอกเปนเขตรแดนเมืองพุดไทยสง"

อุปฮาดราชวงศ์ เจ้าอาญาสี่ผู้ปกครองเมืองพุทไธสง

[แก้]

พระยาเสนาสงคราม เดิมชื่อ เพียศรีปาก(นา) เกิดที่ เมืองท่งศรีภูมิ แห่งราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ เป็นบุตรชายของท้าวพร และเป็นหลานของท้าวเซียงหรือพระรัตนวงศา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนที่4 ซึ่งมีเชื้อสายของเจ้าแก้วมงคลเจ้าเมืองท่งศรีภูมิท่านแรก เพี้ยศรีปากมีพี่น้องอยู่1คนได้แก่ เพี้ยเมืองแพน(ศักดิ์)หรือพระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองขอนแก่นคนแรก เดิมเพี้ยศรีปากเป็นกรมการเมืองสุวรรณภูมิ ต่อมาเกิดการผลัดอำนาจจากกลุ่มท้าวเซียงเป็นกลุ่มท้าวสุทนต์มณี ในปีพ.ศ. 2335 โดยท้าวอ่อนบุตรชายของท้าวสุทนต์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ซึ่งท้าวสุทนต์มณีเป็นเจ้าอาวของท้าวเซียงและมีสายเลือดเจ้าจารย์แก้วเหมือนกันซึ่งอาวกับหลานมีความขัดแย้งกันจากการแย่งชิงอำนาจกันในเครือญาติอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว หลังจากท้าวอ่อนดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ต่อมาเพี้ยศรีปากจึงได้พาไพร่คนในบังคับบัญชาของตนแยกออกจากเมืองทุ่งศรีภูมิหรือเมืองสุวรรณภูมิ มาตั้งบ้านเมืองขึ้นเมืองที่ริมกำแพงเมืองผะไธสงฆ์เก่า (พุทไธสง) ภายหลังได้รับพระราชทานราชทินนามเป็น พระยาเสนาสงคราม เจ้าเมืองพุทไธสง พร้อมกับการตั้งเมืองพุทไธสง เมื่อ พ.ศ. 2342 [1]

พระยาเสนาสงคราม มีบุตรปรากฏนาม 2 คนคือ

1.ท้าวหน่อพุทธางกูรหลวงเวียงพุทไธสง (พระยานครภักดี) ต่อมาได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองแปะ(บุรีรัมย์)คนแรก

2.ท้าวนา ต่อมาได้เป็นพระเสนาสงครามที่ 2 เจ้าเมืองพุทไธสงคนที่ 2

พระยาเสนาสงคราม ได้ปกครองเมืองพุทไธสงตั้งแต่ พ.ศ. 2342 - พ.ศ. 2370 เป็นระยะเวลา 28 ปี และได้ถึงแก่กรรมในปีนั้น สิริอายุ 81 ปี

ลำดับเจ้าเมืองพุทไธสง

[แก้]

1.พระยาเสนาสงคราม (เพียศรีปาก) (พ.ศ. 2342-2370)

2.พระเสนาสงครามที่ 2 (พ.ศ. 2370-2407)

3.พระเสนาสงครามที่ 3 (พ.ศ. 2407-2440)

เมืองพุทไธสงสู่รูปแบบการปกครองในปัจจุบัน

[แก้]

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบเดิมและจัดการปกครองแบบใหม่ การปกครองหัวเมืองอยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น

ในวันที่ 25 พฤษภาคม ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442) เมืองพุทไธสง ได้รับการจัดตั้งเป็น อำเภอเมืองพุทไธสง (ชื่ออำเภอในระยะแรกตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา) ขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา พร้อมกับอีก 18 อำเภอ โดยมีหลวงเจริญทิพยผล (คง) เป็นนายอำเภอเมืองพุทไธสงคนแรก[2]

ในปีเดียวกันนี้เอง พระรังสรรค์สารกิจ (เลื่อน) ข้าหลวงประจำเมืองบุรีรัมย์ ได้ทำการย้ายที่ตั้งอำเภอพุทไธสงขึ้นใหม่ที่บริเวณที่ดินในคูเมืองในเขตเทศบาลตำบลพุทไธสงในปัจจุบัน ซึ่งเดิมนั้นเป็นป่ารกทึบมีสัตว์ป่า มีภูมิแข็ง มีไก่ป่า นกกระทา ชาวบ้านจะแตะต้องไม่ได้ถ้ามีใครแตะต้องจะต้องเป็นไข้ตาย ลงท้องตาย อาศัยพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินเบิกป่าจึงสามารถผ่าเหตุการณ์ไปได้สะดวก

โดยแต่แรกเริ่มนั้นอำเภอพุทไธสง มีพื้นที่ในการปกครองประมาณ 760 ตารางกิโลเมตร มีตำบลในการปกครอง ได้แก่

1.ตำบลพุทไธสง

2.ตำบลมะเฟือง

3.ตำบลบ้านจาน

4.ตำบลบ้านเป้า

5.ตำบลนาโพธิ์

6.ตำบลบ้านดู่

และได้มีเหตุการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองของอำเภอพุทไธสงตามลำดับ ดังนี้

พ.ศ. 2450 อำเภอพุทไธสง ได้ขึ้นตรงต่อกับเมืองบุรีรัมย์ มณฑลนครราชสีมา ตามการจัดระเบียบการปกครองของกระทรวงมหาดไทย

(ไม่ทราบปี) ตั้งตำบลบ้านคู โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลนาโพธิ์

พ.ศ. 2457 ตั้งตำบลทองหลาง โดยแบ่งเขตการปกครองจากบ้านเป้า

28 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการเรียกเมืองเป็นจังหวัด เมืองบุรีรัมย์ จึงถูกเปลี่ยนเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอพุทไธสง จึงได้อยู่ในการปกครองของจังหวัดบุรีรัมย์ มณฑลนครราชสีมา ตั้งแต่นั้นมา[3]

พ.ศ. 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มณฑลนครราชสีมาจึงถูกยกเลิกไป

27 มีนาคม พ.ศ. 2481 ตั้งตำบลหนองแวง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลทองหลาง[4]

24 กันยายน พ.ศ. 2512 ตั้งตำบลบ้านแวง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลพุทไธสง[5]

29 กันยายน พ.ศ. 2521 ตั้งตำบลแดงใหญ่ โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลบ้านเป้า[6]

26 กันยายน พ.ศ. 2522 ตั้งตำบลบ้านยาง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลมะเฟือง และตั้งตำบลดอนกอก โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลบ้านคู[7]

18 มีนาคม พ.ศ. 2524 ได้แบ่งเขตการปกครอง ตำบลนาโพธิ์ ตำบลบ้านคู ตำบลบ้านดู่ และตำบลดอนกอก รวมพื้นที่ 255 ตารางกิโลเมตร จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาโพธิ์ ขึ้นกับเภอพุทไธสง[8]

9 มิถุนายน พ.ศ. 2524 ตั้งตำบลศรีสว่าง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลนาโพธิ์ ในท้องที่กิ่งอำเภอนาโพธิ์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์[9]

29 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 ตั้งตำบลหายโศก โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลบ้านจาน[10]

2 กันยายน พ.ศ. 2528 ตั้งตำบลกู่สวนแตง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลหนองแวง[11]

3 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ตั้งตำบลหนองเยือง โดยแบ่งเขตการปกครองจากตำบลทองหลาง[12]

30 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ตั้งกิ่งอำเภอนาโพธิ์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็น อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์[13]

13 มีนาคม พ.ศ. 2535 ได้แบ่งเขตการปกครอง ตำบลหนองแวง ตำบลกู่สวนแตง ตำบลทองหลาง ตำบลหนองเยือง และ ตำบลแดงใหญ่ พื้นที่ 175 ตารางกิโลเมตร จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ ขึ้นกับอำเภอพุทไธสง[14]

15 กันยายน พ.ศ. 2540 ตั้งกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็น อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์[15]

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค

[แก้]

อำเภอพุทไธสงแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 7 ตำบล 97 หมู่บ้าน

1. พุทไธสง (Phutthaisong) 13 หมู่บ้าน
2. มะเฟือง (Mafueang) 13 หมู่บ้าน
3. บ้านจาน (Ban Chan) 13 หมู่บ้าน
4. บ้านเป้า (Ban Pao) 12 หมู่บ้าน
5. บ้านแวง (Ban Waeng) 13 หมู่บ้าน
6. บ้านยาง (Ban Yang) 18 หมู่บ้าน
7. หายโศก (Hai Sok) 15 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น

[แก้]

ท้องที่อำเภอพุทไธสงประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลพุทไธสง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลพุทไธสง ตำบลมะเฟือง และตำบลบ้านจาน
  • องค์การบริหารส่วนตำบลพุทไธสง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพุทไธสง (นอกเขตเทศบาลตำบลพุทไธสง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลมะเฟือง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมะเฟือง (นอกเขตเทศบาลตำบลพุทไธสง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านจาน (นอกเขตเทศบาลตำบลพุทไธสง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเป้า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านเป้าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแวงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านยาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านยางทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหายโศก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหายโศกทั้งตำบล

ที่ตั้งและอาณาเขต

[แก้]

อำเภอพุทไธสงตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. https://m.facebook.com/722488218128250/posts/1180913005619100/
  2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2442/009/119_2.PDF
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-04-09. สืบค้นเมื่อ 2021-05-06.
  4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/16.PDF
  5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2512/D/089/3057.PDF
  6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2521/D/117/3590.PDF
  7. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2522/D/200/4597.PDF
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-04. สืบค้นเมื่อ 2021-05-06.
  9. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2524/D/116/2281.PDF
  10. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2524/D/140/2882.PDF
  11. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2528/D/175/57.PDF
  12. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2530/D/150/5581.PDF
  13. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2530/A/278/33.PDF
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-03-24. สืบค้นเมื่อ 2021-05-06.
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-01-27. สืบค้นเมื่อ 2021-05-06.