อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ
![]() ควีนเอลิซาเบธในแชร์บูร์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1966
| |
ประวัติ | |
---|---|
![]() | |
ชื่อ |
|
ตั้งชื่อตาม | สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี |
เจ้าของ |
|
ท่าเรือจดทะเบียน |
|
เส้นทางเดินเรือ | ทรานส์แอตแลนติก |
Ordered | 6 ตุลาคม 1936 |
อู่เรือ |
|
Yard number | 552 |
ปล่อยเรือ | 4 ธันวาคม 1936[1] |
เดินเรือแรก | 27 กันยายน 1938 |
Christened | 27 กันยายน 1938 |
สร้างเสร็จ | 2 มีนาคม 1940 |
Maiden voyage | 16 ตุลาคม 1946[2][3] |
บริการ | 1946–1972 |
หยุดให้บริการ | 9 มกราคม 1972 |
รหัสระบุ |
|
ความเป็นไป | ถูกเพลิงไหม้และพลิกคว่ำ ตัวเรือส่วนหนึ่งถูกแยกชิ้นชิ้นส่วนในช่วงปี 1974–75 ส่วนที่เหลือถูกกลบฝังภายใต้การถมที่ดิน |
ลักษณะเฉพาะ | |
ประเภท: | เรือเดินสมุทร |
ขนาด (ตัน): | 83,673 ตันกรอส |
ขนาด (ระวางขับน้ำ): | 83,000+ ลองตัน (84331+ เมตริกตัน) |
ความยาว: | 1,031 ฟุต (314.2 เมตร) |
ความกว้าง: | 118 ฟุต (36.0 เมตร) |
ความสูง: | 233 ฟุต (71.0 เมตร) |
กินน้ำลึก: | 38 ฟุต 9 นิ้ว (11.8 เมตร) |
ดาดฟ้า: | 13 |
ระบบพลังงาน: | 12 × หม้อไอน้ำแบบท่อไฟ |
ระบบขับเคลื่อน: |
|
ความเร็ว: |
|
ความจุ: | ผู้โดยสาร 2,283 คน |
ลูกเรือ: | 1,000+ คน |
อาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ (อังกฤษ: RMS Queen Elizabeth) เป็นเรือเดินสมุทรที่ให้บริการโดยบริษัทคูนาร์ดไลน์ร่วมกับอาร์เอ็มเอส ควีนแมรี เพื่อให้บริการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นประจำทุกสัปดาห์ระหว่างเซาแทมป์ตัน สหราชอาณาจักร กับนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยแวะจอดที่แชร์บูร์ ประเทศฝรั่งเศส
เรือลำนี้ถูกสร้างขึ้นโดยจอห์นบราวน์แอนด์คอมปานี ในไคลด์แบงก์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยใช้หมายเลขตัวเรือ 552[5] ปล่อยลงน้ำในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1938 ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 การออกแบบเรือลำนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากควีนแมรี ทำให้มีขนาดยาวกว่า 12 ฟุต และมีระวางบรรทุกรวมมากกว่าควีนแมรีหลายพันตัน เป็นผลให้เรือลำนี้กลายเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างขึ้นเป็นเวลาถึง 56 ปี เรือลำนี้เริ่มให้บริการในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1940 ในฐานะเรือขนส่งทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และไม่ได้ให้บริการเชิงพาณิชย์จนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1946
ด้วยความนิยมในเส้นทางข้ามแอตแลนติกลดลง เรือทั้งสองลำจึงถูกแทนที่ด้วยอาร์เอ็มเอส ควีนเอลิซาเบธ 2 (RMS Queen Elizabeth 2) ที่มีขนาดเล็กและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า ซึ่งได้ทำการเดินทางครั้งแรกใน ค.ศ. 1969 ควีนแมรีถูกปลดระวางในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1967 และถูกขายให้แก่เมืองลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ควีนเอลิซาเบธได้ถูกปลดระวางหลังการเดินทางข้ามแอตแลนติกครั้งสุดท้ายมายังนครนิวยอร์กในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1968[6] เรือลำนี้ถูกย้ายไปยังท่าเรือเอเวอร์เกลดส์ รัฐฟลอริดา และถูกดัดแปลงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1969 ธุรกิจดังกล่าวประสบความล้มเหลวและปิดตัวลงในเดือนสิงหาคมปีต่อมา ท้ายที่สุด เรือลำนี้ได้ถูกขายให้แก่ต่ง จ้าวหรง นักธุรกิจชาวฮ่องกง ซึ่งมีแผนที่จะปรับปรุงเรือลำนี้ให้เป็นมหาวิทยาลัยลอยน้ำที่ให้บริการการล่องเรือไปด้วยในนาม ซีไวส์ยูนิเวอร์ซิตี (Seawise University) ใน ค.ศ. 1972 ขณะเรือลำนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงสภาพในท่าเรือฮ่องกง ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นอย่างกะทันหันและไม่ทราบสาเหตุบนตัวเรือ ทำให้เรือพลิกคว่ำลงเนื่องจากปริมาณน้ำที่ใช้ในการดับเพลิงจำนวนมาก ในปีต่อมา ซากเรือดังกล่าวถูกพิจารณาว่าเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือในบริเวณนั้น และใน ค.ศ. 1974 ถึง 1975 ก็ได้มีการแยกชิ้นส่วนซากเรือบางส่วน ณ ที่เกิดเหตุ[7]
การออกแบบและการสร้าง
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/b/bf/Queen_Elizabeth_Construction.jpg/220px-Queen_Elizabeth_Construction.jpg)
ในวันออกเดินทางครั้งแรกของอาร์เอ็มเอส ควีนแมรี เซอร์เพอร์ซี เบตส์ ประธานบริษัทคูนาร์ด ได้แจ้งให้จอร์จ แพเทอร์สัน หัวหน้าคณะออกแบบของบริษัททราบว่าถึงเวลาเริ่มต้นการออกแบบเรือลำที่สองตามแผนแล้ว[8] สัญญาอย่างเป็นทางการระหว่างคูนาร์ดกับผู้ให้เงินทุนจากรัฐบาลมีการลงนามในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1936[9]
เรือลำใหม่นี้พัฒนาต่อยอดมาจากแบบของควีนแมรี[10] โดยมีการปรับปรุงแก้ไขในหลายประการ เช่น การลดจำนวนหม้อไอน้ำเหลือเพียง 12 ใบจาก 24 ใบในควีนแมรี ทำให้สามารถลดปล่องไฟหนึ่งต้น และเพิ่มพื้นที่ดาดฟ้า บรรทุกสินค้า และสำหรับผู้โดยสารได้มากขึ้น ปล่องไฟทั้งสองได้รับการออกแบบให้รับน้ำหนักตัวเองได้และมีการเสริมโครงสร้างภายในเพื่อให้มีรูปลักษณ์ดูสวยงามและสะอาดตาขึ้น เมื่อยกเลิกการใช้ช่องสินค้า (well deck) ด้านหน้า ทำให้รูปทรงตัวเรือดูเพรียวลมขึ้น อีกทั้งยังมีการออกแบบหัวเรือให้แหลมและเฉียงขึ้นเพื่อติดตั้งสมอที่หัวเรือเพิ่มอีกหนึ่งจุด[10] เรือลำนี้ถูกกำหนดให้มีความยาวเพิ่มขึ้น 12 ฟุต และมีระวางขับน้ำมากกว่าควีนแมรีถึง 4,000 ตัน[11][9]
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/a/aa/RMS_Queen_Mary_%281936%29_%2851022313917%29.jpg/220px-RMS_Queen_Mary_%281936%29_%2851022313917%29.jpg)
ควีนเอลิซาเบธถูกสร้างขึ้นบนลาดลงน้ำหมายเลข 4 ของจอห์นบราวน์แอนด์คอมปานี ในไคลด์แบงก์ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ในระหว่างการสร้าง เรือลำนี้ถูกเรียกด้วยชื่อหมายเลขประจำอู่ต่อเรือ คือ Hull 552[12] การตกแต่งภายในได้รับการออกแบบโดยคณะศิลปิน ภายใต้การนำของสถาปนิก จอร์จ เกรย์ วอร์นัม[13] บันได โถงทางเข้า และทางเข้าหลักของเรือสร้างขึ้นโดยบริษัท เอช.เอช. มาร์ติน แอนด์โค (H.H. Martyn & Co.)[14] ตามแผนของคูนาร์ด เรือลำนี้มีกำหนดปล่อยลงน้ำในเดือนกันยายน ค.ศ. 1938 โดยงานติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์เพื่อให้เรือพร้อมให้บริการในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1940[9] สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีปล่อยเรือในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1938[10] มีเรื่องเล่ากันว่า เรือเริ่มเคลื่อนลงสู่ผืนน้ำก่อนที่สมเด็จพระราชินีจะทรงประกอบพิธีปล่อยอย่างเป็นทางการ ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบ สมเด็จพระราชินีทรงสามารถทุบขวดไวน์แดงออสเตรเลียที่หัวเรือได้ทันก่อนที่เรือจะเคลื่อนออกไปนอกระยะเอื้อม[15] จากนั้นเรือถูกนำไปเทียบท่าเพื่อดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์และตกแต่งภายใน[9][10] มีการประกาศว่าในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1939 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธจะเสด็จมาเยี่ยมชมเรือลำนี้และห้องเครื่องจักร และมีกำหนดให้วันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1940 เป็นวันเริ่มต้นการเดินทางครั้งแรกของเรือลำนี้ แต่ด้วยการปะทุของสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้เหตุการณ์ทั้งสองต้องถูกเลื่อนออกไป และแผนของคูนาร์ดก็ถูกยกเลิก[9] ควีนเอลิซาเบธอยู่ที่ท่าต่อเรือของอู่ต่อเรือโดยยังคงใช้สีประจำของคูนาร์ดจนถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1939 เมื่อกระทรวงการเดินเรือออกใบอนุญาตพิเศษรับรองความพร้อมในการเดินเรือ วันที่ 29 ธันวาคม ได้ดำเนินการทดสอบระบบขับเคลื่อนเป็นครั้งแรก โดยให้เครื่องจักรทำงานต่อเนื่องเป็นเวลา 7 ชั่วโมงตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง 16.00 น. ภายใต้สภาวะปลดใบจักร เพื่อทำการตรวจสอบและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิและแรงดันของน้ำมันหล่อลื่นและไอน้ำในระบบ สองเดือนต่อมา คูนาร์ดได้รับหนังสือสั่งการจากวินสตัน เชอร์ชิล[16] ลอร์ดเอกแห่งกระทรวงทหารเรือในขณะนั้น ว่าให้เรือออกจากไคลด์แบงก์โดยเร็วที่สุดและ "อยู่ให้ห่างจากเกาะอังกฤษตราบที่คำสั่งยังคงมีผล"
สงครามโลกครั้งที่สอง
[แก้]ในช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง มีการตัดสินใจว่าควีนเอลิซาเบธมีความสำคัญต่อความพยายามในการทำสงครามอย่างยิ่ง จึงต้องไม่ให้การเคลื่อนไหวของเรือถูกติดตามโดยสายลับเยอรมันที่ปฏิบัติการอยู่ในไคลด์แบงก์ มีการวางแผนกลอุบายอันซับซ้อนเพื่อให้ฝ่ายเยอรมันหลงเชื่อว่าเรือลำนี้จะเดินทางไปเซาแทมป์ตันเพื่อดำเนินการตกแต่งให้สมบูรณ์[16] ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่เร่งให้เรือลำนี้ต้องออกเดินทางคือความจำเป็นในการเคลียร์ท่าเทียบเรือภายในอู่ต่อเรือเพื่อเตรียมพื้นที่ให้เรือหลวงดยุกออฟยอร์ก (HMS Duke of York)[16] สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์ขั้นสุดท้าย เนื่องจากท่าเทียบเรือแห่งนี้เป็นเพียงแห่งเดียวที่สามารถรองรับเรือประจัญบานชั้นคิงจอร์จที่ 5 ได้
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/9b/The_three_largest_ships_in_the_world%2C_New_York%2C_1940_-_photographic_postcard_%283796186285%29.jpg/300px-The_three_largest_ships_in_the_world%2C_New_York%2C_1940_-_photographic_postcard_%283796186285%29.jpg)
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จำกัดวันออกเดินทางของเรือคือมีน้ำขึ้นสูงใหญ่เพียงสองครั้งในปีนั้นเท่านั้นที่เอื้อให้ควีนเอลิซาเบธสามารถออกจากอู่ต่อเรือไคลด์แบงก์ได้[16] ซึ่งฝ่ายข่าวกรองเยอรมันก็ทราบเรื่องนี้ด้วย สำหรับการเดินทางครั้งนี้มีการจัดสรรลูกเรือจำนวนน้อยที่สุด 400 นาย โดยส่วนใหญ่ถูกย้ายมาจากเรืออาร์เอ็มเอส อาควิเทเนีย (RMS Aquitania) และได้รับแจ้งว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นการเดินทางเลียบชายฝั่งระยะสั้นไปเซาแทมป์ตัน[16] แต่ให้เตรียมสัมภาระสำหรับเวลาหกเดือน[17] ชิ้นส่วนต่าง ๆ ถูกส่งไปเซาแทมป์ตันและมีการเตรียมการเพื่อนำเรือเข้าสู่อู่แห้งคิงจอร์จที่ 5 (King George V Graving Dock) เมื่อเดินทางมาถึง[16] ชื่อของพนักงานอู่ต่อเรือบราวน์ได้รับการจองห้องพักไว้ ณ โรงแรมในท้องถิ่นของเซาแทมป์ตัน และกัปตันจอห์น ทาวน์ลีย์ ผู้เคยบัญชาการเรืออาควิเทเนียในการเดินทางครั้งหนึ่งและเรือขนาดเล็กของคูนาร์ดหลายลำได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกัปตันคนแรกของเรือลำนี้
ภายในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1940 ควีนเอลิซาเบธก็อยู่ในสภาพพร้อมออกเดินทาง โดยกระบวนการเตรียมความพร้อมได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งรวมถึงการเติมเชื้อเพลิง การปรับเทียบเข็มทิศ และการทดสอบระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นครั้งสุดท้าย สีประจำคูนาร์ดถูกทาทับด้วยสีเทาอย่างเรือรบ และในเช้าวันที่ 3 มีนาคม เรือก็ได้ออกจากท่าเรือในแม่น้ำไคลด์อย่างเงียบเชียบ และแล่นออกจากแม่น้ำ ณ จุดนั้นได้มีผู้ส่งสารของกษัตริย์เข้ามาส่งมอบคำสั่งปิดผนึกแก่กัปตันโดยตรง[16]
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/01/British_troops_arrive_in_the_Middle_East_having_been_transported_by_the_liner_QUEEN_ELIZABETH%2C_22_July_1942._E14706.jpg/220px-British_troops_arrive_in_the_Middle_East_having_been_transported_by_the_liner_QUEEN_ELIZABETH%2C_22_July_1942._E14706.jpg)
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/85/Ss_Queen_Elizabeth_FL10011_%28cropped%29.jpg/220px-Ss_Queen_Elizabeth_FL10011_%28cropped%29.jpg)
มีคำสั่งให้เรือมุ่งหน้าตรงไปยังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นกลาง โดยห้ามหยุดหรือชะลอความเร็วและต้องรักษาความเงียบทางวิทยุอย่างเคร่งครัด ในวันเดียวกันนั้น ขณะที่เรือลำนี้มีกำหนดเข้าเทียบท่าที่เซาแทมป์ตัน เมืองดังกล่าวก็ถูกโจมตีทางอากาศโดยกองทัพอากาศเยอรมัน[16][9]
ควีนเอลิซาเบธเดินทางแบบซิกแซกข้ามแอตแลนติกเพื่อหลบหลีกเรือดำน้ำเยอรมันและใช้เวลาหกวันในการเดินทางถึงนิวยอร์กด้วยความเร็วเฉลี่ย 26 นอต ณ ที่นั้น ควีนเอลิซาเบธได้เทียบท่าข้างควีนแมรี และนอร์ม็องดีของฝรั่งเศส เป็นเหตุการณ์เพียงครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้งสามลำได้เทียบท่าร่วมกัน[16] เมื่อกัปตันทาวน์ลีย์เดินทางมาถึง เขาได้รับโทรเลขสองฉบับ ฉบับหนึ่งจากภรรยาของเขา และอีกฉบับหนึ่งจากสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธเพื่อทรงขอบพระทัยสำหรับการส่งมอบเรืออย่างปลอดภัย จากนั้นเรือก็ได้รับการรักษาความปลอดภัยเพื่อไม่ให้บุคคลใดขึ้นไปบนเรือเว้นแต่ได้รับอนุญาตก่อน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ท่าเรือด้วย[16]
ควีนเอลิซาเบธออกจากท่าเรือนิวยอร์กในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 มุ่งหน้าสู่สิงคโปร์เพื่อเข้ารับการดัดแปลงเป็นเรือขนส่งทหาร[9] ภายหลังการแวะเติมเชื้อเพลิงและเสบียงในเกาะตรินิแดดและเคปทาวน์ เรือก็ได้เดินทางมาถึงอู่ทหารเรือสิงคโปร์ ซึ่งได้มีการติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานและทาสีตัวเรือใหม่เป็นสีเทา[ต้องการอ้างอิง]
ควีนเอลิซาเบธออกจากสิงคโปร์ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ และเข้าเทียบท่าในเอสควิมอลต์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา อย่างลับ ๆ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 เรือลำนี้เข้ารับการปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมภายในอู่แห้ง เช่น ที่พักอาศัยและอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยมีทหารเรือจำนวน 300 นายร่วมกันทาสีตัวเรืออย่างรวดเร็ว[18] กลางเดือนมีนาคม ควีนเอลิซาเบธเริ่มต้นการเดินทางข้ามมหาสมุทรเป็นระยะทาง 7,700 ไมล์จากซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา มุ่งหน้าสู่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีทหารอเมริกันจำนวน 8,000 นายเป็นผู้โดยสาร[19] ต่อมาเรือลำนี้ได้ขนส่งทหารออสเตรเลียไปยังเขตสงครามในทวีปเอเชียและแอฟริกา[20] หลัง ค.ศ. 1942 เรือควีนทั้งสองถูกย้ายไปประจำการในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือเพื่อภารกิจขนส่งทหารอเมริกันไปยังทวีปยุโรป[20] ความเร็วสูงของเรือทั้งสองลำทำให้สามารถหลบหลีกอันตรายต่าง ๆ ได้โดยเฉพาะเรือดำน้ำเยอรมัน ซึ่งโดยปกติแล้วทำให้ทั้งสองลำสามารถเดินทางนอกขบวนเรือและปราศจากการคุ้มกันได้[17] อย่างไรก็ตาม ควีนเอลิซาเบธตกเป็นเป้าหมายของเรือดำน้ำอู-704 (U-704) ซึ่งได้ยิงตอร์ปิโด 4 ลูกใส่ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1942[21] ผู้บังคับการฮอสท์ วิลเฮ็ล์ม เคสเลอร์ ได้ยินเสียงระเบิด[21] และการโฆษณาชวนเชื่อทางวิทยุของพรรคนาซีได้อ้างว่าเรือลำนี้อับปางลง[22] แท้จริงแล้ว ตอร์ปิโดลูกหนึ่งระเบิดก่อนเวลา ทำให้เรือไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ[23]
ในช่วงสงคราม ควีนเอลิซาเบธขนส่งทหารไปกว่า 750,000 นาย และเดินทางไปเป็นระยะทางประมาณ 500,000 ไมล์ (800,000 กิโลเมตร)[9]
หลังสงคราม
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/b/b2/RMS_Queen_Elizabeth_at_Southampton_1960_%281%29.jpg/235px-RMS_Queen_Elizabeth_at_Southampton_1960_%281%29.jpg)
หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ควีนเอลิซาเบธถูกปรับปรุงและตกแต่งใหม่เป็นเรือเดินสมุทร[9] ขณะที่ควีนแมรีซึ่งเป็นคู่วิ่งยังคงทำหน้าที่ในสงครามและคงสภาพสีเทาเดิมไว้ ยกเว้นปล่องไฟที่ถูกทาสีใหม่ด้วยสีประจำบริษัท ตลอดอีกหนึ่งปีนั้น ควีนแมรีได้ทำหน้าที่ทางทหารโดยรับภารกิจส่งทหารและเจ้าสาวสงครามชาวอเมริกันกลับประเทศ ขณะเดียวกันควีนเอลิซาเบธก็เข้ารับการซ่อมบำรุงใหญ่ที่อู่แห้งเฟิร์ทออฟไคลด์ ในกรีน็อก โดยอู่ต่อเรือจอห์นบราวน์
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/30/StateLibQld_1_143895_Queen_Elizabeth_%28ship%29.jpg/251px-StateLibQld_1_143895_Queen_Elizabeth_%28ship%29.jpg)
เนื่องจากภารกิจทางทหารเป็นระยะเวลาหกปี ทำให้ไม่สามารถดำเนินการทดสอบเดินทะเลอย่างเป็นทางการได้ จึงมีการดำเนินการดังกล่าวเป็นครั้งแรกในขณะนี้ ภายใต้การบัญชาการของพลเรือจัตวา เซอร์เจมส์ บิสเซต เรือลำนี้เดินทางไปยังเกาะแอร์รันเพื่อทำภารกิจดังกล่าว บนเรือมีสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ผู้ทรงเป็นต้นพระนามของเรือ และพระราชธิดาอีกสองพระองค์คือเจ้าหญิงเอลิซาเบธ และเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต[9] ในระหว่างการทดสอบ สมเด็จพระราชินีทรงควบคุมพังงาเป็นเวลาสั้น ๆ และพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ที่ยังทรงพระเยาว์ได้บันทึกเวลาในการวิ่งทดสอบทั้งสองครั้งด้วยนาฬิกาจับเวลาที่ได้รับมอบเป็นพิเศษสำหรับโอกาสนั้น บิสเซตอยู่ภายใต้คำสั่งที่เข้มงวดจากเซอร์เพอร์ซีย์ เบตส์ ซึ่งร่วมเดินทางในการทดสอบครั้งนี้ด้วยว่าเรือลำนี้ต้องทดสอบความเร็วด้วยความเร็วไม่เกิน 30 นอตจำนวนสองครั้ง และห้ามทำลายสถิติความเร็วที่ควีนแมรีเคยทำไว้[24] เครื่องจักรของควีนเอลิซาเบธมีความสามารถในการขับเคลื่อนให้เรือแล่นด้วยความเร็วเกิน 32 นอต[24] ภายหลังการทดสอบเสร็จสิ้น ควีนเอลิซาเบธก็ได้เข้าสู่การให้บริการผู้โดยสารอย่างเป็นทางการ ทำให้บริษัทคูนาร์ด-ไวต์สตาร์สามารถเปิดบริการเดินเรือข้ามแอตแลนติกสู่นครนิวยอร์กด้วยเรือสองลำต่อสัปดาห์ที่เป็นแผนที่วางไว้แต่เดิม[25] แม้ควีนเอลิซาเบธจะมีลักษณะเฉพาะคล้ายกับควีนแมรี แต่ก็ไม่เคยได้รับบลูริบบันด์ เนื่องมาจากเซอร์เพอร์ซีย์ เบตส์ ประธานบริษัทคูนาร์ด-ไวต์สตาร์ ได้ขอให้เรือทั้งสองลำไม่แข่งขันกัน[24]
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/d/d4/RMS_Queen_Elizabeth_at_Southampton_1967_%283%29.jpg/220px-RMS_Queen_Elizabeth_at_Southampton_1967_%283%29.jpg)
เรือประสบเหตุเกยตื้นบนดอนทรายใต้น้ำนอกชายฝั่งเซาแทมป์ตันในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1947 และสามารถลอยลำได้อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น[9]
ใน ค.ศ. 1955 ระหว่างการซ่อมบำรุงประจำปีในเซาแทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ ควีนเอลิซาเบธได้รับการติดตั้งครีบกันโคลงใต้น้ำเพื่อปรับปรุงความเสถียรในการแล่นบนทะเลที่มีคลื่นแรง มีการติดตั้งครีบแบบปรับได้ที่สองข้างตัวเรือ ซึ่งช่วยประหยัดเชื้อเพลิงในทะเลที่สงบและขณะจอดเทียบท่า[26] วันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 เรือประสบอุบัติเหตุชนกับเรือบรรทุกสินค้าสัญชาติอเมริกันชื่ออเมริกันฮันเตอร์ (American Hunter) ในสภาพอากาศที่มีหมอกหนาในท่าเรือนิวยอร์ก ทำให้ตัวเรือได้รับความเสียหายมีรูโหว่เหนือระดับน้ำ[27]
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/0f/RMSQE.jpg/220px-RMSQE.jpg)
ควีนเอลิซาเบธร่วมกับควีนแมรี และคู่แข่งกับเรือโดยสารสัญชาติอเมริกันคือ เอสเอส ยูไนเต็ดสเตตส์ (SS United States) และเอสเอส อเมริกา (SS America) ได้ครองตลาดการค้าผู้โดยสารข้ามแอตแลนติกกระทั่งความเจริญรุ่งเรืองของเรือเหล่านี้เริ่มเสื่อมลงเมื่อมีการนำเครื่องบินไอพ่นเชิงพาณิชย์ที่เร็วและประหยัดกว่ามาใช้ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1950[17] เมื่อจำนวนผู้โดยสารลดลง เรือเหล่านี้จึงกลายเป็นธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินได้อย่างคุ้มค่า เนื่องจากต้องเผชิญกับต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ในเวลาอันสั้น ควีนเอลิซาเบธภายใต้การบัญชาการของพลเรือจัตวา เจฟฟรีย์ ทริปเปิลตัน มาร์ ได้ทดลองทำหน้าที่คู่ขนานด้วยการสลับเส้นทางข้ามแอตแลนติกตามปกติกับการล่องเรือระหว่างนครนิวยอร์กและแนสซอ[9] สำหรับการเดินทางในเขตร้อนครั้งใหม่นี้ เรือได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 1965 โดยมีการเพิ่มดาดฟ้าชั้นอาบแดด (Lido deck) เข้าไปในส่วนท้ายของเรือ การปรับปรุงระบบปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพขึ้น และการติดตั้งสระว่ายน้ำกลางแจ้ง ด้วยการปรับปรุงเหล่านี้ คูนาร์ดตั้งเป้าหมายที่จะให้เรือลำนี้ยังคงให้บริการอย่างน้อยจนถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1970[28] ทว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวกลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความลึกของตัวเรือที่มากเกินไปทำให้ไม่สามารถเข้าเทียบท่าในเกาะต่าง ๆ ได้ และยังมีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงสูง เรือยังมีขนาดกว้างเกินกว่าจะสามารถผ่านคลองปานามา ทำให้การเดินทางไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นไปได้ยาก
คูนาร์ดปลดระวางควีนแมรีใน ค.ศ. 1967 และปลดระวางควีนเอลิซาเบธหลังการเดินทางข้ามแอตแลนติกครั้งสุดท้ายมายังนครนิวยอร์กในวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1968[6] ทั้งสองลำถูกแทนที่ด้วยควีนเอลิซาเบธ 2 ลำใหม่ที่มีขนาดเล็กลงและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า
ปีสุดท้าย
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/88/Postcard_Stevens_with_RMS_Queen_Elizabeth.jpg/220px-Postcard_Stevens_with_RMS_Queen_Elizabeth.jpg)
ในปลาย ค.ศ. 1968 ควีนเอลิซาเบธถูกขายให้แก่บริษัท เอลิซาเบธ คอร์ปอเรชัน จำกัด (Elizabeth Corporation) โดยกลุ่มนักธุรกิจจากฟิลาเดลเฟียถือหุ้นร้อยละ 15 ของบริษัท และคูนาร์ดไลน์ยังคงถือหุ้นร้อยละ 85 ไว้ บริษัทใหม่มีแผนที่จะให้เรือลำนี้เป็นโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวในพอร์ตเอเวอร์เกลดส์ รัฐฟลอริดา โดยมีแนวคิดคล้ายกับการนำควีนแมรีไปใช้เป็นโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวในลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย[9] "เอลิซาเบธ" ดังที่เรียกขานกันในปัจจุบัน เดินทางมาถึงพอร์ตเอเวอร์เกลดส์ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1968 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา นับว่าเร็วกว่าควีนแมรีที่เปิดให้บริการในสองปีต่อมาคือ ค.ศ. 1971 เรือถูกขายให้แก่บริษัท ควีน จำกัด (Queen Ltd) ซึ่งตั้งอยู่ที่พอร์ตเอเวอร์เกลดส์ในวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1969[6] ทว่า การปลดระวางของควีนเอลิซาเบธในรัฐฟลอริดานั้นไม่ได้ยืนยง สภาพอากาศในตอนใต้ส่งผลกระทบต่อตัวเรือมากกว่าสภาพอากาศในตอนใต้ของแคลิฟอร์เนียที่มีต่อควีนแมรี มีการหารือกันถึงแนวคิดที่จะจงใจทำให้ท้องเรือควีนเอลิซาเบธท่วมน้ำอย่างถาวร เพื่อให้เรือนอนบนพื้นคลองอินทราโคสตัลในท่าเรือฟอร์ตลอเดอร์เดล (พอร์ตเอเวอร์เกลดส์) และเปิดให้เข้าชมต่อไป อย่างไรก็ตาม เรือลำดังกล่าวจำต้องปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1970 เนื่องจากขาดทุนและถูกประกาศว่าเป็นแหล่งอันตรายจากอัคคีภัย[29] ต่อมาเรือถูกประมูลขายให้แก่ต่ง จ้าวหรง นักธุรกิจชาวฮ่องกงใน ค.ศ. 1970[9]
ต่งในฐานะเจ้าของบริษัทเดินเรือโอเรียนต์โอเวอร์ซีส์คอนเทนเนอร์ไลน์ (Orient Overseas Container Line หรือ OOCL) มีเจตนาที่จะปรับปรุงเรือลำดังกล่าวให้เป็นมหาวิทยาลัยเคลื่อนที่เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการเวิลด์แคมปัสอะโฟลต (World Campus Afloat) ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงโครงการและเปลี่ยนชื่อเป็นเซเมสเตอร์แอตซี (Semester at Sea) ตามธรรมเนียมประเพณีของบริษัทโอเรียนต์โอเวอร์ซีส์ไลน์ เรือลำนี้จึงได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นซีไวส์ยูนิเวอร์ซิตี (Seawise University)[9]
เรือลำนี้กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของฮ่องกง และได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ฮ่องกงในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1971[6] การกระทำดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ เนื่องจากเครื่องจักรและหม้อไอน้ำของเรืออยู่ในสภาพย่ำแย่หลังถูกละเลยมาหลายปี ต่งได้ว่าจ้างพลเรือตรี แอร์ มาร์ (ผู้เกษียณอายุ) และอดีตหัวหน้าวิศวกรประจำเรือให้เป็นที่ปรึกษาสำหรับการเดินทางไปยังฮ่องกง มาร์ได้เสนอให้ทำการลากซีไวส์ยูนิเวอร์ซิตีไปยังเขตดินแดนใหม่ แต่ต่งและลูกเรือของเขาเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะสามารถนำเรือไปยังจุดหมายได้โดยอาศัยเพียงเครื่องจักรและหม้อไอน้ำส่วนท้าย การเดินทางที่วางแผนไว้หลายสัปดาห์กลับกลายเป็นการเดินทางที่ยืดเยื้อหลายเดือน เนื่องจากลูกเรือต้องเผชิญกับปัญหาหม้อไอน้ำและเหตุการณ์เพลิงไหม้ การหยุดพักระหว่างการเดินทางที่ไม่ได้วางแผนไว้เป็นเวลานานครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เจ้าของรายใหม่สามารถส่งอะไหล่สำรองมายังเรือทางเครื่องบิน และดำเนินการซ่อมแซมก่อนที่จะกลับเข้าสู่เส้นทางเดิม โดยเรือได้เดินทางมาถึงท่าเรือฮ่องกงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1971
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/89/Queen_Elizabeth_on_fire_as_Seawise_University.gif/220px-Queen_Elizabeth_on_fire_as_Seawise_University.gif)
ขณะที่การปรับปรุงเรือซึ่งใช้งบประมาณ 5 ล้านปอนด์กำลังจะแล้วเสร็จ เรือก็ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นในวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1972[9] เพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการจงใจวางเพลิง เนื่องจากมีเปลวไฟหลายจุดเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วทั้งลำเรือ และจากการสอบสวนของศาลในภายหลังได้สรุปสาเหตุว่าเกิดจากการกระทำของผู้หนึ่งผู้ใดที่จงใจวางเพลิงโดยไม่ทราบตัวบุคคล[30] ความจริงที่ว่า ต่งซื้อเรือลำดังกล่าวในราคา 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้ทำประกันภัยไว้สูงถึง 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการฉ้อโกงเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัย มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างต่งซึ่งเป็นชาตินิยมจีนกับสหภาพแรงงานต่อเรือที่ได้รับอิทธิพลจากคอมมิวนิสต์[31]
เรือเอียงข้างลงเนื่องจากแรงกระแทกของน้ำที่ฉีดดับเพลิง และจมลงสู่ก้นอ่าววิกตอเรีย[32] ท้ายที่สุดแล้ว เรือถูกประกาศให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ และถูกแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปรีไซเคิลในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1974 ถึง 1975[33] ส่วนของตัวเรือที่ไม่สามารถกู้ขึ้นมาได้รวมถึงกระดูกงู หม้อไอน้ำ และเครื่องจักรยังคงจมอยู่ก้นอ่าว และบริเวณดังกล่าวได้ถูกระบุไว้ว่าเป็น "พื้นที่อันตราย" ในแผนที่เดินเรือท้องถิ่นเพื่อเตือนให้เรือไม่ทอดสมอในบริเวณนั้น คาดการณ์ว่าประมาณร้อยละ 40–50 ของซากเรือยังคงจมอยู่บนพื้นทะเล ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 ซากเรือที่เหลือทั้งหมดถูกฝังกลบในระหว่างการถมดินเพื่อก่อสร้างท่าบริการตู้สินค้าที่ 9[34] ซากเรือตั้งอยู่ ณ พิกัด 22°19′43″N 114°06′44″E / 22.32861°N 114.11222°E[35]
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/33/Seawise_University_wreck.jpg/220px-Seawise_University_wreck.jpg)
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/f/f3/Seawise_University_%28Queen_Elizabeth%29-jan1972-gc01.jpg/220px-Seawise_University_%28Queen_Elizabeth%29-jan1972-gc01.jpg)
หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ต่งได้นำหนึ่งในสมอเรือและตัวอักษรโลหะ "Q" และ "E" จากชื่อเรือที่อยู่ด้านหน้าเรือมาตั้งไว้ที่ด้านหน้าสำนักงานที่เดลอาโมแฟชันเซ็นเตอร์ในทอร์แรนซ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเป็นสำนักงานใหญ่ของโครงการซีไวส์ยูนิเวอร์ซิตี[36][37] ต่อมาถูกนำไปจัดแสดงพร้อมป้ายอนุสรณ์ในล็อบบีของวอลสตรีตพลาซา 88 ถนนไพน์ นครนิวยอร์ก แผ่นป้ายทองเหลืองสองแผ่นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเตือนอัคคีภัยบนเรือถูกกู้ขึ้นมาโดยเรือขุด และนำไปจัดแสดง ณ สโมสรเรือแอเบอร์ดีน ในฮ่องกง ในนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเรือลำดังกล่าว เศษซากธงเดินเรือที่ถูกเพลิงไหม้จนเกรียมนั้นได้ถูกตัดออกจากเสาธงและใส่กรอบใน ค.ศ. 1972 และยังคงประดับอยู่บนผนังห้องอาหารของนายตำรวจในกรมตำรวจน้ำฮ่องกง บริษัท พาร์เกอร์เพน จำกัด (Parker Pen Company) ได้ผลิตปากการุ่นพิเศษจำนวน 5,000 ด้าม โดยใช้วัสดุที่กู้คืนมาจากซากเรือ แต่ละด้ามบรรจุอยู่ในกล่องพิเศษ ปัจจุบันปากกาทั้งหมดนี้เป็นที่ต้องการของนักสะสมอย่างมาก[38]
หลังการอับปางของเอลิซาเบธ เรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดที่ยังให้บริการอยู่คือเอสเอส ฟร็องส์ (SS France) ที่มีขนาด 66,343 ตันกรอส และมีความยาวกว่า แต่มีน้ำหนักน้อยกว่าเรือควีนของคูนาร์ด ควีนเอลิซาเบธเคยครองสถิติเรือโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในโลกจนกระทั่งคาร์นิวัลเดสตินี (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คาร์นิวัลซันชายน์) ที่มีขนาด 101,353 ตันกรอส ถูกปล่อยลงน้ำใน ค.ศ. 1996 จนถึงปัจจุบัน ควีนเอลิซาเบธยังคงครองสถิติเป็นเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่สุดเป็นเวลานานที่สุดถึง 56 ปี[ต้องการอ้างอิง]
ในนิยาย
[แก้]ใน ค.ศ. 1959 เรือลำนี้ปรากฏตัวในภาพยนตร์ตลกเสียดสีของอังกฤษเรื่อง The Mouse That Roared นำแสดงโดยปีเตอร์ เซลเลอส์ และฌ็อง ซีเบิร์ก ขณะที่กองกำลังจาก “แกรนด์เฟนวิก” ประเทศขนาดเล็กในยุโรปที่สมมติขึ้น กำลังข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อเข้าทำสงครามกับสหรัฐ พวกเขาได้พบและแล่นผ่านควีนเอลิซาเบธที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก และได้รับแจ้งว่าท่าเรือนิวยอร์กปิดทำการเนื่องจากการซ้อมอากาศยานโจมตี[39]
ในนวนิยายเจมส์ บอนด์ เรื่อง Diamonds Are Forever ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1956 เอียน เฟลมมิง ได้เลือกควีนเอลิซาเบธเป็นฉากสำคัญในการดำเนินเรื่องถึงขีดสุด ส่วนในภาพยนตร์ดัดแปลงที่ฉายใน ค.ศ. 1971 นำแสดงโดยฌอน คอนเนอรี ได้ใช้เอสเอส แคนเบอร์รา (SS Canberra) ของบริษัทพีแอนด์โอ เป็นฉากแทนในลำดับเหตุการณ์เดียวกัน[40]
ซากเรือปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ เรื่องเพชฌฆาตปืนทอง ซึ่งออกฉายใน ค.ศ. 1974 โดยทำหน้าที่เป็นฐานปฏิบัติการลับของหน่วยข่าวกรองลับ MI6[41][42]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Pride of the North Atlantic, A Maritime Trilogy, David F. Hutchings. Waterfront 2003
- ↑ John Shephard, The Cunard – White Star liner Queen Elizabeth
- ↑ RMS Queen Elizabeth – Maiden Voyage after War – Cunard – Original footage, British Movietone News via youtube
- ↑ "RMS Queen Elizabeth". www.relevantsearchscotland.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 September 2022. สืบค้นเมื่อ 21 September 2022.
- ↑ "Big Liners Steel Frame Work Rises as Workers Speed Up" Popular Mechanics, left-side pg 346. Hearst Magazines. September 1937.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 "RMS Quen Elizabeth - 1939".
- ↑ "Classic Liners and Cruise Ships – Queen Elizabeth". Cruiseserver.net. สืบค้นเมื่อ 17 May 2012.
- ↑ RMS Queen Elizabeth from Victory to Valhalla. pp. 10
- ↑ 9.00 9.01 9.02 9.03 9.04 9.05 9.06 9.07 9.08 9.09 9.10 9.11 9.12 9.13 9.14 9.15 "Cunard Queen Elizabeth 1940 – 1972". Cunard.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 January 2010. สืบค้นเมื่อ 17 May 2012.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 Maxtone-Graham, John. The Only Way to Cross. New York: Collier Books, 1972, p. 355
- ↑ Pathé, British. "Sister Ship To The Queen Mary". www.britishpathe.com.
- ↑ RMS Queen Elizabeth, The Beautiful Lady. Janette McCutcheon, The History Press Ltd (8 November 2001)
- ↑ The Liverpool Post, 23 August 1937
- ↑ John Whitaker (1985). The Best. p. 238.
- ↑ Hutchings, David F. (2003) Pride of the North Atlantic. A Maritime Trilogy, Waterfront.
- ↑ 16.00 16.01 16.02 16.03 16.04 16.05 16.06 16.07 16.08 16.09 Maxtone-Graham 1972, p. 358–60
- ↑ 17.0 17.1 17.2 Floating Palaces. (1996) A&E. TV Documentary. Narrated by Fritz Weaver
- ↑ "Queen Elizabeth".
- ↑ The RMS Queen Elizabeth (1942) Zacha's Bay Window Gallery
- ↑ 20.0 20.1 "Rms. Queen Elizabeth". Ayrshire Scotland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 January 2009. สืบค้นเมื่อ 17 May 2012.
- ↑ 21.0 21.1 Blair, Clay (2000). Hitler's U-Boat War: The Hunted, 1942–1945. New York: Modern Library. p. 107.
- ↑ "Image". rmhh.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2024-01-31.
- ↑ "HISTORY - The CUNARD - WHITE STAR Liner rms QUEEN ELIZABETH (1938-1972)". earlofcruise.blogspot.com. สืบค้นเมื่อ 2024-01-31.
- ↑ 24.0 24.1 24.2 "RMS Quen Elizabeth - 1939". ssmaritime.com.
- ↑ Maxtone-Graham 1972, p. 396
- ↑ "Big Liner Sprouts Fins." Popular Science, June 1955, pp. 122–124.
- ↑ "Liner Queen Elizabeth in Collision". The Times. No. 54526. London. 30 July 1959. col A, p. 6.
- ↑ Maxtone-Graham 1972, p. 409
- ↑ "'Queen' Fire Hazard'". Journal and Courier. Lafayette, IN. Associated Press. 13 November 1969. p. 9 – โดยทาง Newspapers.com.
- ↑ "Arson Suspected as Blaze Destroys Queen Elizabeth". 10 January 1972. สืบค้นเมื่อ 17 May 2012.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "On This Day: The Queen Elizabeth Mysteriously Sinks in a Hong Kong Harbor". Findingdulcinea.com. 9 January 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2012. สืบค้นเมื่อ 17 May 2012.
- ↑ "Queen Elizabeth". Chriscunard.com. สืบค้นเมื่อ 17 May 2012.
- ↑ "The Cunard - White Star Liner QUEEN ELIZABETH 1938 - 1972". www.liverpoolships.org.
- ↑ "Sea queen to lie below CT9". สืบค้นเมื่อ 6 August 2011.
- ↑ "Providing Sufficient Water Depth for Kwai Tsing Container Basin and its Approach Channel Environmental Impact Assessment Report – Appendix 9.3 UK Hydrographic Office Data" (PDF). สืบค้นเมื่อ 6 August 2011.
- ↑ "Queen Elizabeth". cruisetalkshow.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2014. สืบค้นเมื่อ 7 July 2014.
- ↑ Whitlow, Z. e (14 December 2010). "The Captain's Table: The Queen Elizabeth in Torrance".
- ↑ "Parker 75 RMS Queen Elizabeth". Parker75.com. สืบค้นเมื่อ 29 August 2020.
- ↑ "The Mouse That Roared (1959) Trivia". IMDB. IMDB.com. สืบค้นเมื่อ 28 June 2019.
- ↑ "CANBERRA - The James Bond Ship - Cruising - Posters - P&O Collection". www.poheritage.com.
- ↑ "RMS Queen Elizabeth". สืบค้นเมื่อ 5 March 2015.
- ↑ Hann, Michael (3 October 2012). "My favourite Bond film: The Man with the Golden Gun". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 5 March 2015.
อ่านเพิ่มเติม
[แก้]- Butler, D.A. (2002). Warrior Queens: The Queen Mary and Queen Elizabeth in World War II (1st ed.). Mechanicsburg: Stackpole Books.
- Galbraith, R. (1988). Destiny's Daughter: The Tragedy of RMS Queen Elizabeth. Vermont: Trafalgar Square.
- Maddocks, Melvin (1978). The Great Liners. Alexandria, VA: Time-Life Books. ISBN 0809426641.
- Varisco, R. (2013). RMS Queen Elizabeth: Cunard's Big Beautiful Ship of Life. Gold Coast: Blurb Books.
- Harvey, Clive, 2008, R.M.S. Queen Elizabeth The Ultimate Ship, Carmania Press, London, ISBN 978-0-95436668-1