นิติภาวะ
อักษรย่อ | คำเต็ม |
---|---|
ฎ. | คำพิพากษาศาลฎีกา (คลิก เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) |
ป.พ.พ. | ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ของไทย (คลิก เก็บถาวร 2003-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) |
พ.ร.บ. | พระราชบัญญัติ (คลิก เก็บถาวร 2004-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) |
ม. | มาตรา |
รก. | ราชกิจจานุเบกษา (คลิก) |
ว. | วรรค |
การใช้อักษรย่อในนี้เพื่อมิให้บทความเยิ่นเย้อเท่านั้น แต่โดยปรกติแล้วควรเขียนด้วยคำเต็มไม่ควรย่อ เช่น "พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544" ควรเขียนว่า "พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544" มากกว่า |
นิติภาวะ (อังกฤษ: majority, full age หรือ lawful age; ละติน: sui juris) คือ ภาวะที่บุคคลเป็นผู้มีความสามารถใช้สิทธิทำนิติกรรมตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง การบรรลุนิติภาวะย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้วแต่กรณี
ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เรียก "ผู้เยาว์" (อังกฤษ: minor) ซึ่งกฎหมายจำกัดความสามารถเอาไว้ โดยพิจารณาสรุปว่าผู้เยาว์ทั่วไปแล้วมีปรกติเป็นเด็กไม่อาจบริหารสติปัญญาได้ดีเท่าผู้ใหญ่ได้ จึงจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิไว้ให้มีผู้ที่เรียก "ผู้แทนโดยชอบธรรม" (อังกฤษ: legal representative หรือ statutory agent) เป็นผู้ตัดสินใจใช้สิทธิแทน จนกว่าผู้เยาว์จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีความสามารถในการใช้สิทธิได้เต็มเปี่ยม เว้นแต่เขาจะกลายเป็นคนวิกลจริต (อังกฤษ: person of unsound mind), คนไร้ความสามารถ (อังกฤษ: incompetent person) หรือ คนเสมือนไร้ความสามารถ (อังกฤษ: quasi-incompetent person)
การบรรลุนิติภาวะโดยทั่วไป
[แก้]ผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะเมื่อใดนั้น หลักเกณฑ์ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
ตามกฎหมายโรมันโบราณ ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุได้ยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ตามเกณฑ์การแบ่งอายุดังต่อไปนี้[1]
1. ช่วงทารก (ละติน: infantes) - อายุตั้งแต่เกิดจนถึงเจ็ดปี ทำนิติกรรมใด ๆ ไม่ได้เลย
2. ช่วงพาลก (ละติน: impuberes infantia majores) - อายุตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบสองปีสำหรับเด็กหญิง และถึงสิบสี่ปีสำหรับเด็กชาย ทำนิติกรรมได้โดยความยินยอมของผู้ใช้อำนาจปกครองซึ่งเรียกว่า "ทิวเทอร์" (ละติน: tutor) เว้นแต่เป็นนิติกรรมที่ผู้เยาว์มีแต่ได้กับได้ก็สามารถกระทำได้เลย
3. ช่วงวัยแรกรุ่น (ละติน: puberes) - อายุตั้งแต่สิบสี่หรือสิบสองปีถึงยี่สิบห้าปี ทำนิติกรรมได้อย่างช่วงพาลก แต่ผู้ใช้อำนาจปกครองจะเรียกว่า "เคียวเรเทอร์" (ละติน: curator)
ต่อมาในปลายพุทธศตวรรษที่ 24 กฎหมายในประเทศต่าง ๆ ส่วนมากกำหนดให้บุคคลบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุได้ยี่สิบเอ็ดปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในประเทศที่มีการปกครองระบอบสังคมนิยม จะบรรลุเมื่ออายุสิบแปดปีบริบูรณ์ ซึ่งในราวพุทธทศวรรษที่ 251 เป็นต้นมา ภาคพื้นยุโรปก็ทยอยเปลี่ยนมาเป็นบรรลุที่อายุสิบแปดปี ขณะที่ประเทศออสเตรียบรรลุที่สิบเก้าปี ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ยี่สิบปี และประเทศบราซิลกับทั้งประเทศอาร์เจนตินาที่ยี่สิบเอ็ดปี[2]
สำหรับประเทศไทยซึ่งใช้ ป.พ.พ. อันลอกเลียนมาจากประมวลกฎหมายแพ่งแห่งสวิตเซอร์แลนด์ หรือ "ซีวิลเกเซทซ์บุค" (เยอรมัน: Zivilgesetzbuch) นั้น ผู้เยาว์จึงบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์เยี่ยงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย ม.19 ป.พ.พ. ว่า "บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์"
การบรรลุนิติภาวะเหตุสมรส
[แก้]"ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้น ได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448" |
ม.20 ป.พ.พ. |
"การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรส ก่อนนั้นได้" |
ม.1448 ป.พ.พ. |
"เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรส เพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทำการฝ่าฝืน มาตรา 1448 มาตรา 1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509" |
ม.1503 ป.พ.พ. |
นอกจากการบรรลุนิติภาวะเพราะมีอายุถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้เยาว์ยังสามารถบรรลุนิติภาวะได้โดยการสมรสอีกด้วย แม้เมื่อสมรสนั้นจะมีอายุไม่ถึงเกณฑ์บรรลุนิติภาวะก็ตาม
ตามกฎหมายไทยแล้วกำหนดว่า ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรสที่เป็นไปตามบทบัญญัติ ม.1448 ป.พ.พ. และตาม ม.1448 ป.พ.พ. นั้น การสมรสเกิดขึ้นได้สองกรณีด้วยกัน คือ
1. เมื่อผู้จะสมรสกันมีอายุได้สิบเจ็ดปีบริบูรณ์ และบิดาและมารดาทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในกรณีที่อีกฝ่ายหาตัวไม่แล้วก็ดี หรือผู้ปกครองในกรณีที่บิดาและมารดาไม่มีอำนาจปกครองบุตรแล้วก็ดี หรือผู้รับบุตรบุญธรรมก็ดี ได้ให้ความยินยอมแล้ว ทั้งนี้ หากผู้เยาว์เมื่ออายุครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์สมรสกัน แม้มิได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวก็ตาม ก็จะบรรลุนิติภาวะโดยอัตโนมัติ
2. เมื่อศาลอนุญาตให้สมรสกันได้เพราะมีเหตุควรสมรส แม้คู่สมรสจะมีอายุยังไม่ถึงสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ก็ตาม เหตุควรสมรส เช่น ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์เมื่ออายุสิบหกปี เป็นต้น อย่างไรก็ดี ศาลจะไม่อนุญาตให้มีการสมรสกับผู้มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี เพราะโดยนิตินัยแล้วขัดกับ ม.279 ป.อ.
ผู้เยาว์ที่บรรลุนิติภาวะเพราะได้ทำการสมรสตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ต่อมาการสมรสสิ้นสุดลงในระหว่างที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์บรรลุนิติภาวะก็ไม่ต้องกลับไปเป็นผู้เยาว์อีก
ในกรณีที่การสมรสนั้นตกเป็นโมฆียะเพราะเป็นไปโดยฝ่าฝืน ม.1448 ป.พ.พ. เช่นว่า ผู้เยาว์อายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปีสมรสกัน หรือศาลมิได้อนุญาตให้สมรสกันในกรณีที่อายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปี เป็นต้น และต่อมาหากศาลสั่งให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะขณะคู่สมรสยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผลจะต่างไปจากกรณีก่อน เพราะในโมฆกรรม คู่กรณีจะกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนนิติกรรมอันเป็นโมฆะนั้นจะเกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อการสมรสของผู้เยาว์ถูกศาลสั่งให้เป็นโมฆะขณะผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้เยาว์ที่เป็นคู่สมรสนั้นก็จะกลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนได้สมรสกัน กล่าวคือมิได้บรรลุนิติภาวะอีก ทั้งนี้ ในการฝ่าฝืน ม.1448 ป.พ.พ. ดังกล่าว หากฝ่ายหญิงเกิดตั้งครรภ์ขึ้นก่อนคดีความจะมาถึงศาล ศาลจะสั่งให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะมิได้ เพราะกฎหมายไทยถือว่าการสมรสนั้นสมบูรณ์แล้ว และให้สมบูรณ์ย้อนหลังไปถึงวันที่สมรสกัน ซึ่งผู้เยาว์ที่สมรสกันตามกรณีหลังนี้บรรลุภาวะนับแต่วันที่สมรสกันนั้น
อายุที่บรรลุนิติภาวะเรียงตามประเทศ
[แก้]ต่อไปนี้เป็นรายการอายุที่บรรลุนิติภาวะ ตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศหรือเขตการปกครองกำหนดไว้
ผู้เยาว์
[แก้]ผู้เยาว์ (อังกฤษ: adolescent, child, infant, minor, nonage หรือ person of infancy) คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ คือยังมีอายุไม่ถึงที่กฎหมายกำหนด หรือยังมิได้บรรลุนิติภาวะโดยประการอื่น เช่น โดยการสมรส
ตราบใดที่บุคคลยังเป็นผู้เยาว์อยู่จะมีความสามารถกระทำการต่าง ๆ ตามกฎหมายโดยจำกัด ตามกฎหมายไทยแล้ว นิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำลงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายต่อเมื่อผู้เยาว์ได้รับความยินยอมจากบุคคลที่เรียก "ผู้แทนโดยชอบธรรม" (อังกฤษ: legal representative หรือ statutory agent) ซึ่งได้แก่ "ผู้ใช้อำนาจปกครอง" (อังกฤษ: parent) คือ บิดามารดาทั้งสองคน หรือมารดาในกรณีที่บิดามิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือถูกศาลเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรเสีย ส่วนมารดานั้นเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรเสมอ, หรือ "ผู้ปกครอง" (อังกฤษ: guardian) ในกรณีที่บิดาและมารดาหาตัวมิได้แล้ว หรือถูกศาลเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรเสีย นิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำลงโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว ตกเป็นโมฆียะ
ดูเพิ่ม
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]ภาษาไทย
[แก้]- กิตติศักดิ์ ปรกติ. (2550). คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไปว่าด้วยบุคคลธรรมดา และหลักทั่วไปว่าด้วยนิติบุคคล. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
- ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549, มีนาคม). พจนานุกรมกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
- จิตติ ติงศภัทิย์. (2530). กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ราชบัณฑิตยสถาน.
- (2546). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
- (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
- ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. (2551). คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 13, แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : วิญญูชน.
- ศาลฎีกา. (2550, 26 มกราคม). ระบบสืบค้นคำพิพากษาและคำสั่งคำร้องศาลฎีกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน> (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
- สมทบ สุวรรณสุทธิ. (2510). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบุคคล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2003-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน> (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
- เสนีย์ ปราโมช. (2520). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ เล่ม 1 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2505. กรุงเทพฯ : นิติบรรณการ.
- อรพินท์ ขจรอำไพสุข. (2551). "ผู้ทรงสิทธิ." ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ภาษาต่างประเทศ
[แก้]- Interpol. (2006, September). "National Laws : Legislation of Interpol member states on sexual offences against children." [Online]. Available: <click เก็บถาวร 2011-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 4 June 2009).
- Konrad Zweigert & Hain Kötz.
- (1984). Einführung in die Rechtsvergleichung. (2.Aufl.). Tuebingen : Mohr & Siebeck.
- (1988). An Introduction to Comparative Law. Tony Weir (translator). (Third Edition). Oxford : Clarendon Press.
- Rudolf Sohm. (1884). Institution des Roemischen Rechts. Leipzig : Duncher & Humflot.
- Susan Munroe. (2009). "Age of majority". About.com. [Online]. Available: <click>. (Accessed: 4 June 2009).