ข้ามไปเนื้อหา

โมฆะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โมฆกรรม)

โมฆะ (อังกฤษ: void) มีความหมายโดยทั่วไปว่า เปล่า ว่าง ไม่มีประโยชน์ หรือไม่มีผล โดยในทางกฎหมายนั้นหมายความว่า เสียเปล่า หรือไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย[1]

นิติกรรม (อังกฤษ: juristic act) ที่ตกเป็นโมฆะนั้น เรียก "โมฆกรรม" (อังกฤษ: void act) โดยเป็นนิติกรรมที่เสียเปล่า ใช้บังคับไม่ได้ และจะทำให้กลับคืนดีอีกก็ไม่ได้ เปรียบดั่งคนที่ตายไปแล้ว โดยนิติกรรมจะตกเป็นโมฆะเมื่อมีความวิปลาสอย่างร้ายแรง จนกฎหมายไม่อาจยอมให้มีผลตามที่คู่กรณีในนิติกรรมนั้นประสงค์ไว้ได้ และในประเทศไทย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆกรรมขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนก็ได้ทุกเมื่อ ไม่มีอายุความกำกับไว้

ทั้งนี้ กฎหมายไทยปัจจุบันเขียน "โมฆกรรม" เป็น "โมฆะกรรม" ตามรูปแบบการเขียนโบราณสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในเมื่อสัญญา (อังกฤษ: contract) เป็นนิติกรรมสองฝ่าย สัญญาที่ตกเป็นโมฆะจึงเรียก "โมฆสัญญา" และคำว่า "โมฆกรรม" ย่อมหมายความรวมถึงโมฆสัญญาด้วย

นิยามและลักษณะ

[แก้]

โมฆกรรม หรือนิติกรรมที่เป็นโมฆะ คือ นิติกรรมที่เกิดขึ้นแล้วในทางข้อเท็จจริง มีองค์ประกอบต่าง ๆ ทางข้อเท็จจริงที่ดูเหมือนว่านิติกรรมนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว แต่เนื่องจากองค์ประกอบดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งมีความผิดปรกติอย่างร้ายแรง กระทั่งกฎหมายไม่อาจยอมรับให้มีผลในทางกฎหมายได้ นิติกรรมอย่างนี้จึงกลายเป็นนิติกรรมที่เสียเปล่าในทางกฎหมาย และไม่ก่อผลใด ๆ ในทางกฎหมายเลย เรียกได้ว่า โมฆกรรมเป็นนิติกรรมที่ไม่ได้อยู่ในสายตาของกฎหมาย[2]

ในทางตำราไทย เข้าใจว่าโมฆกรรม คือ นิติกรรมที่เสียเปล่า แต่กฎหมายไทยมิได้ระบุว่าความเสียเปล่าคืออะไร ซึ่งก็เข้าใจกันอีกว่าคือ สภาพที่เสมือนมิได้ทำขึ้นเลย[3] [4] เป็นอันไม่มีเลย[5] หรือไม่เกิดผลอย่างใด ๆ เลยในทางกฎหมาย[6] [7]

กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ความเสียเปล่านั้นได้แก่การที่นิติกรรมไม่เกิดผลดังผู้กระทำต้องการให้เกิดเลย โดยเขากล่าวว่า[8]

"...นิติกรรมนั้นปกติเกิดจากการแสดงเจตนาที่ประสงค์ต่อผลทางกฎหมาย แต่ในบางกรณีมีการแสดงเจตนาแล้วแต่กฎหมายไม่รับบังคับให้เพราะมีเหตุสำคัญที่กฎหมายไม่รับรอง...เช่น นิติกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์ขัดต่อกฎหมาย เป็นพ้นวิสัย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ไม่ได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับ หรือทำขึ้นโดยขัดกับเจตนาที่แท้จริง ฯลฯ ดังนั้น กฎหมายจึงถือว่านิติกรรมนั้นเสียเปล่าไป

ซึ่งควรเข้าใจว่า นิติกรรมนั้นไม่มีผลผลทางกฎหมายตามความประสงค์ของผู้ทำนิติกรรม...ไม่ได้หมายความว่านิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะนี้ไม่มีผลทางกฎหมายใด ๆ หรือไม่เกิดผลใด ๆ เลย เพราะแม้ไม่มีผลตามความประสงค์ของผู้ทำนิติกรรม แต่อาจเกิดผลทางกฎหมายอย่างอื่นจากการแสดงเจตนาหรือการกระทำทางข้อเท็จจริงของผู้ทำนิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะนั้นก็ได้...เช่น ถ้าเป็นเจตนาลวงก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงไม่ได้...ทรัพย์สินที่ได้ไว้เพราะโมฆะกรรมก็ต้องคืนแก่กันตามหลักลาภมิควรได้..."

สาเหตุ

[แก้]

วัตถุประสงค์ประสงค์ของนิติกรรม

[แก้]
"การใด มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ"
ป.พ.พ. ม.150

ตามกฎหมายไทยแล้ว นิติกรรมตกเป็นโมฆะ เมื่อวัตถุประสงค์ของนิติกรรมนั้นต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น การจดทะเบียนสมรสซ้อน การว่าจ้างให้ไปฆ่าคน ฯลฯ หรือวัตถุประสงค์นั้นเป็นการอันพ้นวิสัย ไม่อาจบรรลุเจตนาที่แสดงเอาไว้ได้ เช่น การจ้างให้ไปยกภูเขาหิมาลัยมาไว้หน้าบ้าน (ป.พ.พ. ม.150)

แบบของนิติกรรม

[แก้]
"การใด มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้ การนั้นเป็นโมฆะ"
ป.พ.พ. ม.152

ตามกฎหมายไทยแล้ว นิติกรรมตกเป็นโมฆะ หากนิติกรรมนั้นมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเรียกว่าเป็น "แบบ" (อังกฤษ: form) ของนิติกรรมนั้น และไม่ได้ทำตามแบบดังกล่าว (ป.พ.พ. ม.152)

เจตนาในการทำนิติกรรม

[แก้]
"การแสดงเจตนาใด แม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพันตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น"
ป.พ.พ. ม.154
"การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ"
ป.พ.พ. ม.155
"การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ

ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น"
ป.พ.พ. ม.156

ตามกฎหมายไทยแล้ว นิติกรรมตกเป็นโมฆะ หากเกิดจากการแสดงเจตนาที่ไม่ตรงกับใจจริงและคู่กรณีอีกฝ่ายรู้ หรือที่เรียกว่า "เจตนาลวง" (ป.พ.พ. ม.154) หรือเกิดจากเจตนาลวงที่คู่กรณีสมคบกันทำขึ้นเพื่อลวงบุคคลภายนอก โดยไม่ได้มีเจตนาจะทำนิติกรรมนั้นจริง ๆ หรือที่เรียกว่า "นิติกรรมอำพราง" (ป.พ.พ. ม.155) หรือเกิดจากความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม (ป.พ.พ. ม.156)

เงื่อนไขของนิติกรรม

[แก้]

กฎหมายไทย โดย ป.พ.พ. ม.188 ว่า "นิติกรรมใดมีเงื่อนไขอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ"

ม.189 ว.1 ว่า "นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน และเงื่อนไขนั้นเป็นการพ้นวิสัย นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ"

และ ม.190 ว่า "นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน และเป็นเงื่อนไขอันจะสำเร็จได้หรือไม่สุดแล้วแต่ใจของฝ่ายลูกหนี้ นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ"

โมฆียกรรมที่ถูกบอกล้าง

[แก้]

นิติกรรมจะตกเป็นโมฆะ หากนิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะมาก่อน และต่อมาถูกบอกล้างเสีย

ความเสียเปล่าของโมฆกรรม

[แก้]

ความเสียเปล่า

[แก้]
"โมฆกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้

ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ"
ป.พ.พ. ม.172

ความเป็นโมฆะหรือความเสียเปล่าของนิติกรรมเกิดขึ้นโดยทันทีและโดยอัตโนมัติที่นิติกรรมนั้นได้ทำขึ้นโดยมีสาเหตุอันจะตกเป็นโมฆะ แม้ผู้ทำนิติกรรมจะเข้าใจว่านิติกรรมนั้นสมบูรณ์และมีความเคลื่อนไหวแห่งสิทธิต่อกันก็ตาม แต่กฎหมายถือว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นตามที่ผู้ทำนิติกรรมต้องการทั้งนั้น[9]

ผู้ใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับนิติกรรมนั้นในทางที่ได้รับประโยชน์ หรืออาจได้รับผลกระทบจากนิติกรรมนั้น ซึ่งกฎหมายเรียก "ผู้มีส่วนได้เสีย" (อังกฤษ: interested person) และมิได้จำกัดว่าผู้มีส่วนได้เสียต้องเป็นแต่คู่สัญญาเท่านั้น ย่อมสามารถยกเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆกรรมขึ้นอ้างเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนก็ได้ทุกเมื่อ ไม่มีกำหนดอายุความไว้[10] [11]

เช่น โรงเรียน ก ได้รับสินบนจากบิดาของนาย ข ให้ตรวจผลสอบเข้าของนาย ข ให้ได้คะแนนที่หนึ่ง ทั้ง ๆ ที่นาย ค ควรจะเป็นที่หนึ่ง, นาย ค สามารถฟ้องศาลให้แก้ผลสอบนั้นเสียใหม่ โดยอ้างว่านิติกรรมการตรวจให้นาย ข ได้คะแนนที่หนึ่งนั้นเป็นการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน มีผลให้การนั้นเป็นโมฆะ นาย ข ไม่ควรได้รับประโยชน์จากการอันเป็นโมฆะนั้น และขอให้ศาลสั่งแก้ให้ตนเป็นที่หนึ่งแทนได้

หรือ นาย ก อยู่ในที่ดินของนาย ข, ต่อมานาย ข ขายที่ดินให้แก่นาย ค แต่มิได้ทำให้ถูกแบบในเรื่องการซื้อขายที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนาย ข และนาย ค จึงเป็นโมฆะ, หากนาย ค มาขับไล่นาย ก ให้ออกจากที่ดินผืนนั้น นาย ก อาจยกความเป็นโมฆะดังกล่าวขึ้นยันกับนาย ค เพื่อปฏิเสธที่จะออกไปตามคำร้องขอได้ แม้ว่านาย ก จะมิได้เป็นคู่สัญญาในการซื้อขายนั้นก็ดี, แต่หากนาย ข และนาย ค กลับไปทำให้ถูกต้องตามแบบ ผลก็อาจเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ความมากน้อยของความเสียเปล่า

[แก้]
"ถ้าส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น เว้นแต่จะพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่กรณีเจตนาจะให้ส่วนที่ไม่เป็นโมฆะนั้นแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะได้"
ป.พ.พ. ม.173

กฎหมายไทย ป.พ.พ. ม.173 ว่า นิติกรรมใดแม้เป็นโมฆะบางส่วน ก็ให้ถือว่าเป็นโมฆะไปเสียทั้งหมด โดยกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่า คู่กรณีมีเจตนาว่า หากส่วนใดส่วนหนึ่งของนิติกรรมที่เขาทำไปกลายเป็นใช้ไม่ได้เสียแล้ว เขาก็ไม่ประสงค์จะเข้าทำนิติกรรมนั้นเลย[12] ทั้งนี้ เว้นแต่จะสามารถสันนิษฐานได้จากพฤติการณ์แห่งกรณีนั้นว่า คู่กรณีประสงค์จะให้แยกส่วนที่เป็นโมฆะออกจากส่วนที่ไม่เป็นโมฆะได้ ก็จะเป็นโมฆะเฉพาะส่วนเท่านั้น[13]

เช่น นาย ก ทำสัญญาจ้างนาย ข เป็นผู้จัดารโรงงานของนาย ก โดยมีข้อตกลงข้อหนึ่งว่า นาย ข จะได้ใช้ความรู้พิเศษของตนเปลี่ยนตะกั่วให้เป็นทอง แต่ที่สุดก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นการพ้นวิสัย ข้อตกลงข้อนี้จึงเป็นโมฆะ แต่ข้อที่เกี่ยวกับการตั้งนาย ข เป็นผู้จัดการโรงงานนั้นไม่มีความบกพร่องเสื่อมเสียอะไร จึงไม่เป็นโมฆะ แต่ทั้งนี้ ตามกฎหมายไทยแล้ว ข้อตกลงแม้เป็นโมฆะข้อเดียว ก็จะส่งผลต่อข้อตกลงอื่น ๆ ให้กลายเป็นโมฆะไปด้วยทั้งหมด

มหาอำมาตย์โท พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) ประธานศาลฎีกา ว่า ควรระวังว่า เฉพาะนิติกรรมที่กฎหมายยอมให้แยกส่วนได้เท่านั้น จึงจะแยกส่วนที่เป็นโมฆะออกจากที่ไม่เป็นโมฆะได้ หากนิติกรรมใดที่กฎหมายถือเป็นโมฆะไปทั้งหมดแล้ว แม้คู่กรณีจะแสดงเจตนาให้สามารถแยกส่วนได้ก็ไม่อาจเป็นผล เช่น นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องเป็นโมฆะไปทั้งส่วน[14]

"...แนวบรรทัดฐานการพิจารณาที่เราควรนำมาปรับใช้ในกรณีนี้ก็คือ การหาคำตอบว่า หากคู่กรณีพึงล่วงรู้ถึงปัญหานี้ คู่กรณีนั้นจะได้พึงตกลงกันไว้อย่างไรเป็นเกณฑ์ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความประสงค์โดยสุจริตของคู่กรณีและปกติประเพณีในเรื่องนั้นประกอบกันไปด้วย...ในกรณีเช่นนี้เราต้องคำนึงถึงพฤติการณ์เป็นกรณี ๆ ประกอบ...เช่น มูลเหตุจูงใจในการทำสัญญาคืออะไร ปกติประเพณี ประโยชน์ได้เสียของคู่กรณี และความมุ่งหมายสำคัญของสัญญานั้นเองเป็นอย่างไร เป็นต้น"
กิตติศักดิ์ ปรกติ[15]

กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า นิติกรรมที่สามารถแยกส่วนได้ หมายความว่า "...หากแยกส่วนที่ไม่มีผลออกไปแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่มีเนื้อหาสาระพอจะเรียกได้ว่าเป็นนิติกรรมอันหนึ่งได้หรือมีสภาพเป็นนิติกรรมโดยตัวของมันเอง..."[16]

ข้อยกเว้นเรื่องการแยกส่วนนี้ พึงดูเจตนาของคู่กรณีเป็นการเบื้องต้น ในกรณีที่คู่กรณีแสดงความประสงค์จะให้แยกได้หรือไม่ไว้อย่างชัดเจนแล้วก็ให้ถือตามนั้น หากคู่กรณีมิได้กำหนดไว้ล่วงหน้าเช่นนั้น ก็ตกเป็นหน้าที่ของศาลที่จะตีความ[15]

กรณียกเว้น

[แก้]

แม้โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายไทยจะให้สันนิษฐานว่า หากส่วนหนึ่งส่วนใดของนิติกรรมเป็นโมฆะ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะทั้งสิ้น แต่อาจมีกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นอื่นได้ เช่น กรณีที่มีการกำหนดไว้เฉพาะเจาะจง[17]

เป็นต้นว่า ป.พ.พ. ม.1684 ซึ่งมุ่งให้การตีความพินัยกรรมที่มีข้อความเป็นหลายนัย เป็นไปในทางที่จะสำเร็จตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นดีที่สุด ดังนั้น หากปรากฏว่าผู้ทำพินัยกรรมได้วางข้อกำหนดในพินัยกรรมไว้หลายประการ และปรากฏว่าข้อกำหนดใดเป็นโมฆะ ย่อมสันนิษฐานผลทางกฎหมายต่างไปจากกรณีทั่วไป กล่าวคือ สันนิษฐานไปในทางว่านิติกรรมส่วนอื่น ๆ ย่อมมีผลบังคับได้ตามความประสงค์อันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมเป็นสำคัญ[18] จึงจะเห็นได้ว่าการสันนิษฐานให้ส่วนอื่นของนิติกรรมมีผลนี้ย่อมสออดคล้องกับความมุ่งหมายของผู้ทำพินัยกรรมที่สุด เพราะจะให้ทำพินัยกรรมขึ้นใหม่ทดแทนก็เป็นไปไม่ได้อีก เพราะขณะที่พินัยกรรมเดิมมีผล ผู้ทำพินัยกรรมก็ถึงแก่ความตายไปแล้ว

สถานะของทรัพย์สินในโมฆกรรม

[แก้]
"ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น"
ป.พ.พ. ม.181

นิติกรรมที่ตกเป็นโมฆะนั้น ยังไม่ก่อผลใด ๆ ทางกฎหมาย ทรัพย์สินที่มีการส่งมอบให้แก่กันนั้น ฝ่ายที่ส่งหรือมอบจึงมีสิทธิกล่าวอ้างหรือเรียกคืนได้ แต่หากยังไม่มีใครกล่าวอ้างหรือเรียกคืนซึ่งทรัพย์สินที่แต่ละฝ่ายได้รับไป จนจำเนียรกาลผ่านไป ผู้รับทรัพย์นั้นไว้ในความครอบครองก็อาจได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น กรณีนี้ต้องเป็นการได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์[19]

การเรียกคืนทรัพย์สินในกรณีโมฆกรรมนี้ต้องกระทำโดยร้องขอต่อศาล ภายในอายุความหนึ่งปีนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธิเรียกคืนบังเกิดขึ้น (ป.พ.พ. ม.181) ทั้งนี้ พึงแยกแยะอายุความในการเรียกคืนทรัพย์สินจากโมฆกรรมออกจากการที่ผู้มีส่วนได้เสียสามารถยกโมฆกรรมขึ้นอ้างเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตน เพราะไม่มีอายุความ

อนึ่ง ตามกฎหมายไทยแล้ว (ป.พ.พ. ม.172 ว.2) ทรัพย์สินที่ส่งมอบกันไปตามนิติกรรมที่เป็นโมฆะ นับว่าผู้รับทรัพย์สินนั้นได้ทรัพย์ไปโดยไม่มีมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงต้องคืนให้แก่เจ้าของเดิมพร้อมกับดอกผลที่งอกเงยจากทรัพย์สินดังกล่าวด้วย โดยให้คืนทรัพย์สินตามหลัก "ลาภมิควรได้" (อังกฤษ: unjust enrichment)[20]

ทว่า การคืนทรัพย์สินในฐานลาภมิควรได้นี้ มิใช่การคืนเพื่อให้คู่กรณีกลับสู่สถานะเดิมก่อนทำนิติกรรม เพราะกรณีนั้นต้องเป็นการคืนทรัพย์สินทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ลาภมิควรได้เป็นการคืนเฉพาะทรัพย์สินเท่าที่เหลืออยู่ หรือบางกรณีก็อาจไม่ต้องคืนเลยก็ได้[21]

โมฆกรรมที่เข้าข่ายเป็นนิติกรรมอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะ

[แก้]
"การใดเป็นโมฆะแต่เข้าลักษณะเป็นนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะ ให้ถือตามนิติกรรมซึ่งไม่เป็นโมฆะ ถ้าสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า หากคู่กรณีได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะแล้ว ก็คงจะได้ตั้งใจมาตั้งแต่แรกที่จะทำนิติกรรมอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะนั้น"
ป.พ.พ. ม.174

กฎหมายไทย โดย ป.พ.พ. ม.174 ให้อำนาจแก่ศาลเป็นพิเศษ ที่จะสามารถวินิจฉัยให้ถือเอานิติกรรมอันหนึ่งแทนนิติกรรมที่คู่กรณีทำไว้ หรือให้ถือเอาเจตนาอีกอย่างแทนที่คู่กรณีแสดงไว้[22] เช่น นาย ก ทำหนังสือยกที่ดินให้นาย ข ผู้เป็นหลาน โดยเขียนด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ ระบุให้โอนสิทธิในที่ดินนับแต่วันเขียนหนังสือนั้น และตลอดเมื่อนาย ก สิ้นลมไปแล้วก็มิให้ใครมาเรียกร้องแบ่งมรดกไปจากนาย ข ด้วย, แล้วก็มอบหนังสือนี้พร้อมที่ดินให้นาย ข ปกครอง, ต่อมาไม่กี่เดือนนาย ก ก็ตายลง, นาย ค ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของนาย ก มาฟ้องเรียกร้องเอาที่ดินคืนจากนาย ข โดยอ้างว่านิติกรรมมอบที่ดินดังกล่าวไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขณะที่กฎหมายกำหนดให้ทำ พินัยกรรมจึงต้องเป็นโมฆะ, ศาลก็อาจวินิจฉัยว่า แม้นิติกรรมการมอบที่ดินให้ระหว่างมีชีวิตจะกลายเป็นโมฆะ แต่มีการทำเป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือทั้งฉบับ ทำให้สมบูรณ์ในฐานเป็นพินัยกรรมที่เขียนเองทั้งฉบับได้

"เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้นดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล"
ป.พ.พ. ม.10

มหาอำมาตย์โท พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) ประธานศาลฎีกา ว่า ปรกติแล้วศาลเป็นผู้ตีความเจตนาที่คู่กรณีแสดงออก โดยเพ่งเล็งเจตนาที่แท้จริง แต่กรณีนี้ศาลก็อาจเอานิติกรรมหรือเจตนาอื่นเข้าแทนที่นิติกรรมหรือเจตนาอันแท้จริงของคู่กรณีได้ อย่างไรก็ดี พึงเข้าใจว่าเป็นคนละเรื่องกับการตีความให้เกิดผลบังคับได้ตาม ป.พ.พ. ม.10 เพราะโมฆกรรมที่เข้าข่ายเป็นนิติกรรมอื่นซึ่งไม่เป็นโมฆะนี้ เป็นกรณีที่นิติกรรมหรือเจตนาไม่มีข้อกำกวมสงสัย แต่กลับเป็นโมฆะ จึงยอมให้ศาลสามารถเอาอย่างอื่นเข้าแทนอย่างที่เป็นโมฆะได้[23]

เขายังกล่าวอีกว่า[23]

"ข้อสำคัญที่จะนำหลักในบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ [ป.พ.พ. ม.174] ไปใช้ได้ ต้องเป็นเรื่องที่คู่กรณีไม่รู้ว่านิติกรรมเป็นโมฆะ ถ้าหากเป็นเรื่องที่ผู้กระทำนิติกรรมได้รู้ดีแต่ต้นว่านิติกรรมของเขาเป็นโมฆะแล้ว จะนำหลักแห่งมาตรานี้ไปใช้ไม่ได้...แต่อย่างไรก็ดี ในเรื่องเช่นนี้อาจเป็นปัญหาในการตีความตามเจตนาของคู่กรณี ซึ่งอาจเป็นว่า เขามีความประสงค์ว่าเมื่อนิติกรรมอย่างหนึ่งเป็นโมฆะ ให้ถือเป็นนิติกรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีผลอย่างเดียวกัน แต่ใช้หลักวินิจฉัยคนละทาง

อีกประการหนึ่ง การที่จะเอานิติกรรมอื่นมาสับเปลี่ยนแทนนิติกรรมซึ่งคู่กรณีเขาได้เจตนาจะกระทำนั้น นิติกรรมที่จะนำมาสับเปลี่ยนนี้ต้องเป็นนิติกรรมที่เห็นได้ว่า ถ้าหากคู่กรณีได้รู้ว่านิติกรรมของเขาไม่สมบูรณ์เป็นโมฆะ เขาก็ 'คงจะ' ตั้งใจให้เป็นนิติกรรมอย่างที่นำมาสับเปลี่ยน...ถ้ากรณีไม่ได้ความแจ่มแจ้ง จะเอาเอาว่าเขา 'อาจจะ' มีเจตนาอย่างนั้นอย่างนี้หาได้ไม่ การทำดังนี้ได้ชื่อว่าเข้าทำนิติกรรมโดยแสดงเจตนาแทนเขา ซึ่งเกินความประสงค์ในหลักแห่งมาตรานี้"

การพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับโมฆกรรม

[แก้]

มีปัญหาอยู่ว่า ศาลที่พิจารณาคดีจะอ้างความเป็นโมฆะของนิติกรรมเองได้หรือไม่ แม้ว่าคู่ความจะมิได้ยกขึ้นอ้างก็ตาม ซึ่งจากคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับทำให้สรุปได้ว่า ศาลอาจอ้างความเป็นโมฆะของนิติกรรมได้ แม้คู่ความจะไม่ได้ยกขึ้นอ้างก็ตาม[24] เช่น

ฎ.791/2463 ว่า โจทก์กับจำเลยพนันชนไก่กัน ตกลงกันว่าผู้แพ้ต้องเสียค่าพนัน แต่ต่อมาเกิดปัญหาจึงมาฟ้องกันเรื่องชนไก่ เพื่อให้ศาลตัดสินว่าไก่ใครแพ้ใครชนะ ศาลฎีกาสั่งยกฟ้องโดยไม่วินิจฉัยให้ว่าไก่ใครแพ้ใครชนะ เพราะสัญญาที่เกิดจากการพนัน เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมเป็นโมฆะ และไม่ควรยอมให้ฟ้องกันได้เพราะการพนัน

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  2. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2551 : 143-144.
  3. พระยาเทพวิทุร (บุญช่วย วณิกกุล), 2503 : 470.
  4. จิ๊ด เศรษฐบุตร, 2522 : 177.
  5. จิ๊ด เศรษฐบุตร, 2522 : 175.
  6. ประกอบ หุตะสิงห์, 2519 : 75.
  7. ศักดิ์ สนองชาติ, 2551 : 240.
  8. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 153-154.
  9. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2551 : 148.
  10. พระยาเทพวิทุร (บุญช่วย วณิกกุล), 2545 : 49.
  11. อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์, 2551 : 273.
  12. พระยาเทพวิทุร (บุญช่วย วณิกกุล), 2545 : 51-52.
  13. พระยาเทพวิทุร (บุญช่วย วณิกกุล), 2545 : 52-53.
  14. พระยาเทพวิทุร (บุญช่วย วณิกกุล), 2545 : 53.
  15. 15.0 15.1 กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 157.
  16. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 155.
  17. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 161.
  18. กิตติศักดิ์ ปรกติ, 2552 : 162.
  19. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2551 : 146.
  20. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์), 2549 : 302.
  21. ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, 2551 : 149-150.
  22. อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์, 2551 : 274.
  23. 23.0 23.1 พระยาเทพวิทุร (บุญช่วย วณิกกุล), 2545 : 53-56.
  24. พระยาเทพวิทุร (บุญช่วย วณิกกุล), 2545 : 51.

อ้างอิง

[แก้]
  • กิตติศักดิ์ ปรกติ. (2552). เอกสารประกอบการศึกษาวิชากฎหมายลักษณะนิติกรมและสัญญา (น. 101). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก[ลิงก์เสีย]>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549, มีนาคม). พจนานุกรมกฎหมาย. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9742883653.
  • จิ๊ด เศรษฐบุตร. (2522). หลักกฎหมายแพ่งลักษณะนิติกรรมและหนี้. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • ประกอบ หุตะสิงห์. (2519). กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. ธนบุรี : นิติบรรณการ.
  • พระยาเทพวิทุร (บุญช่วย วณิกกุล).
    • (2503). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1-2. พระนคร : เนติบัณฑิตยสภา.
    • (2545). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรียงมาตรา บรรพ 1 หลักทั่วไป นิติกรรม ระยะเวลา อายุความ. กรุงเทพฯ : กองทุนศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ISBN 9749010655.
  • ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. (2551). คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 13, แก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : วิญญูชน. ISBN 9789742886653.
  • โสภณ รัตนากร. (2521-2522). "นิติกรรม." สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (15 : ธรรมวัตร-นิลเอก). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์.
  • ราชบัณฑิตยสถาน.
    • (2543). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123529.
    • (2544). พจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์. ISBN 9748123758.
    • (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
    • (ม.ป.ป.). ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • ศักดิ์ สนองชาติ. (2551). คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. (พิพม์ครั้งที่ 10). กรุงเทพฯ : นิติบรรณการ. ISBN 9789744473714.
  • ศาลฎีกา. (2550, 26 มกราคม). ระบบสืบค้นคำพิพากษาและคำสั่งคำร้องศาลฎีกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2010-01-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน> (เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • สุชาติ รุ่งทรัพยธรรม. (2547). ย่อหลักทรัพย์และนิติกรรม. มปท. ISBN 9749248902.
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2551, 10 มีนาคม). ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2003-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน> เข้าถึงเมื่อ: 11 มกราคม 2552).
  • อักขราทร จุฬารัตน. (2531). คำอธิบายวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์. (2551). "การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ." ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย. มานิตย์ จุมปา, บรรณาธิการ. (พิมพ์ครั้งที่ 8). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ISBN 9789740321316.