ข้ามไปเนื้อหา

โรคกลัวที่ชุมชน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก อาการกลัวที่โล่ง)
โรคกลัวที่ชุมชน
(Agoraphobia)
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10F40.00 หากไม่พบร่วมกับโรคตื่นตระหนก, F40.01 หากพบร่วมกับโรคตื่นตระหนก
ICD-9300.22 หากไม่พบร่วมกับโรคตื่นตระหนก, 300.21 หากพบร่วมกับโรคตื่นตระหนก

โรคกลัวที่ชุมชน[1] หรือ อาการกลัวที่โล่ง[2] (อังกฤษ: Agoraphobia) เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากความกลัวที่จะเกิดอาการตื่นตระหนก (panic attack) ในสถานที่ที่หนีออกไปลำบากหรือไม่มีคนช่วยเหลือ ผู้ป่วยจากโรคกลัวที่ชุมชนจึงมักหลีกเลี่ยงสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ในผู้ป่วยที่อาการรุนแรงอาจหมกตัวอยู่ในบ้านและไม่กล้าออกจากสถานที่ที่คิดว่าปลอดภัย

นิยาม

[แก้]

คำว่า "agoraphobia" เป็นคำภาษาอังกฤษที่มีที่มาจากคำภาษากรีกคือ agora (αγορά) และ phobos (φόβος) รวมความแปลว่า โรคกลัวที่ชุมชน

โรคกลัวที่ชุมชนคือภาวะที่บุคคลมีอาการวิตกกังวลในสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยหรือรู้สึกว่าตนเองควบคุมได้น้อย สิ่งเร้าสำหรับอาการวิตกกังวลนี้ได้แก่ ฝูงชน ที่โล่งแจ้ง หรือการเดินทาง (แม้ระยะทางสั้น ๆ) อาการวิตกกังวลนี้มักจะประกอบด้วยความกลัวการขายหน้าต่อประชุมชน เพราะโรคกลัวที่ชุมชนเป็นอาการนำของอาการตื่นตระหนกที่ทำให้ผู้ป่วยคลุ้มคลั่งต่อหน้าผู้อื่น

ผู้ที่มีโรคกลัวที่ชุมชนจะมีอาการตื่นตระหนกในสถานการณ์ที่ตนเองอึดอัด รู้สึกไม่ปลอดภัย ควบคุมไม่ได้ หรือห่างไกลจากสิ่งที่สามารถช่วยเหลือเขาได้ ในรายที่มีอาการมากจะอยู่แต่กับบ้านไม่ออกไปไหนเป็นปี ๆ ผู้มีอาการจำนวนมากชอบที่จะมีผู้มาเยี่ยมอยู่ในบริเวณที่พวกเขาควบคุมได้และชอบที่จะทำงานในที่ ๆ รู้สึกว่าปลอดภัย ถ้าผู้กลัวที่โล่งออกไปจากเขตปลอดภัยของตน อาจจะเกิดอาการตื่นตระหนกได้

ความชุก

[แก้]

ความชุกของโรคกลัวที่ชุมชนในสหรัฐอเมริกาคือประมาณร้อยละ 5 ต่อปี[3] ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Mental Health) ระบุว่า ณ ขณะหนึ่ง ๆ มีชาวอเมริกันอายุ 18-24 ปีประมาณ 3.2 ล้านคนมีโรคกลัวที่ชุมชน ประมาณหนึ่งในสามของผู้ที่เป็นโรคตื่นตระหนก (panic disorder) จะดำเนินโรคต่อเป็นโรคกลัวที่ชุมชน[4]

ความแตกต่างระหว่างเพศ

[แก้]

โรคกลัวที่ชุมชนเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 2 เท่า[5] ความแตกต่างระหว่างเพศอาจจะเกิดจากปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมที่เอื้อให้เพศหญิงแก้ปัญหาด้วยการหลีกเลี่ยงมากกว่าเพศชาย ทฤษฎีอื่น ๆ ได้เสนอว่าผู้หญิงมักจะใฝ่หาความช่วยเหลือจึงทำให้ได้รับการวินิจฉัยมากกว่าเพศชายที่มักจะพึ่งสุราเพื่อหลีกหนีความวิตกกังวลและทำให้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้เสพติดสุราแทน และบทบาททางเพศของหญิงตามประเพณีเดิมก็ทำให้ผู้หญิงตอบสนองต่อความวิตกกังวลด้วยการพึ่งพาและความสิ้นหวัง[6] ผลการวิจัยยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างแน่ชัดเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างเพศในโรคกลัวที่ชุมชน

สาเหตุและปัจจัยเกื้อหนุน

[แก้]

สาเหตุของโรคกลัวที่ชุมชนยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด คาดว่าโรคกลัวที่ชุมชนเกี่ยวข้องกับอาการวิตกกังวลอื่น ๆ สภาพแวดล้อมที่เคร่งเครียดและการใช้สารเสพติด อาการนี้พบมากในเพศหญิง[7] การใช้ยากดประสาทและยานอนหลับ เช่น เบนโซไดอะซีพีน (benzodiazepines) อย่างต่อเนื่องจัดเป็นเหตุให้เกิดโรคกลัวที่ชุมชนเพราะการหยุดใช้ยาและการรักษาอาการติดยาดังกล่าว ทำให้โรคกลัวที่ชุมชนทุเลาลง[8]

งานวิจัยยังได้กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างโรคกลัวที่ชุมชนและความลำบากในการรับรู้เชิงสถานที่ (spatial orientation)[9][10] คนปกติสามารถรักษาสมดุลของข้อมูลรวมจากระบบการรักษาสมดุล (vestibular system) ระบบการรับภาพ (visual system) และการรับรู้อากัปกิริยา (proprioception) แต่ในผู้ที่มีโรคกลัวที่ชุมชนจะพึ่งพาระบบการรับภาพและการรับรู้อากัปกิริยามากขึ้นเพราะระบบการรักษาสมดุลทำหน้าที่ลดลง ทำให้เสียการรับรู้ได้ง่ายเมื่อการมองเห็นกระจัดกระจาย เช่น ในที่โล่งแจ้งหรือท่ามกลางฝูงชน และอาจจะมีอาการสับสนเมื่อประสบกับความลาดเอียงหรือพื้นผิวที่ไม่สม่ำเสมอเช่นเดียวกัน[11] ในการศึกษาความจริงเสมือน (virtual reality) ผู้กลัวที่ชุมชนโดยเฉลี่ยสามารถจัดการข้อมูลภาพและเสียงที่เปลี่ยนไปได้แย่กว่ากลุ่มควบคุม[12]

อ้างอิง

[แก้]
  1. บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับประเทศไทย (อังกฤษ-ไทย) ฉบับปี 2009. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2552.
  2. "ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 6 สิงหาคม 2001.
  3. Anxiety Disorders (PDF). NIH Publication No. 06-3879. 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 26 กันยายน 2007. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2009.
  4. Robins, LN; Regier, DN, บ.ก. (1991). Psychiatric Disorders in America: the Epidemiologic Catchment Area Study. New York, NY: The Free Press.
  5. Magee, W. J., Eaton, W. W. , Wittchen, H. U., McGonagle, K. A., & Kessler, R. C. (1996). Agoraphobia, simple phobia, and social phobia in the National Comorbidity Survey, Archives of General Psychiatry, 53, 159–168.
  6. Agoraphobia Research Center. "Is agoraphobia more common in men or women?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 ธันวาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2007.
  7. "Agoraphobia". Mayo Foundation for Medical Education and Research.
  8. Professor C Heather Ashton (1987). "Benzodiazepine Withdrawal: Outcome in 50 Patients". British Journal of Addiction. 82: 655–671.
  9. Yardley L, Britton J, Lear S, Bird J, Luxon LM (พฤษภาคม 1995). "Relationship between balance system function and agoraphobic avoidance". Behav Res Ther. 33 (4): 435–9. doi:10.1016/0005-7967(94)00060-W. PMID 7755529.
  10. Jacob RG, Furman JM, Durrant JD, Turner SM (1996). "Panic, agoraphobia, and vestibular dysfunction". Am J Psychiatry. 153: 503–512.
  11. Jacob RG, Furman JM, Durrant JD, Turner SM (พฤษภาคม–มิถุนายน 1997). "Surface dependence: a balance control strategy in panic disorder with agoraphobia". Psychosom Med. 59 (3): 323–30. PMID 9178344.
  12. Viaud-Delmon I, Warusfel O, Seguelas A, Rio E, Jouvent R (ตุลาคม 2006). "High sensitivity to multisensory conflicts in agoraphobia exhibited by virtual reality". Eur Psychiatry. 21 (7): 501–8. PMID 17055951.