อรินทราช 26
อรินทราช 26 | |
---|---|
กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล | |
เครื่องหมายหลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย อาร์มหน่วยอรินทราช 26 | |
ประจำการ | พ.ศ. 2526 – ปัจจุบัน |
ประเทศ | ไทย |
หน่วยงาน | สำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
รูปแบบ | หน่วยยุทธวิธีตำรวจ |
บทบาท |
|
ขึ้นกับ | กองบัญชาการตำรวจนครบาล ทางยุทธการ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล กองบัญชาการกองทัพไทย |
กองบัญชาการ | เขตหลักสี่, กรุงเทพมหานคร |
โครงสร้างหน่วย | |
กำลังปฏิบัติการ | กองร้อย |
ความสำคัญ | |
ปฏิบัติการสำคัญ | เหตุการณ์ก๊อด'ส อาร์มี่บุกยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542 และโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี พ.ศ. 2543 เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู พ.ศ. 2565[1] |
วันสถาปนา | 25 เมษายน |
อรินทราช 26 เป็นหน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ (อังกฤษ: Special Weapons And Tactics: S.W.A.T.) สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการพิเศษต่อภัยคุกคามที่เป็นอาชญากรรม และการก่อการร้าย ด้วยการแย่งชิงตัวประกัน การจับกุม ฯลฯ ตามแนว "การบริหารวิกฤตการณ์" (อังกฤษ: Crisis Management) โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในเมืองหลวงคือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เป็นหน่วยระดับกองร้อย มีอุปกรณ์ครบมือ เช่น ปืนยิงแห, ปืนไฟฟ้า, ปืนพก, ปืนลูกซอง, ปืนกลเบา, ปืนกลมือ, ปืนเล็กยาว, ปืนเล็กสั้น, ระเบิดมือ, ระเบิดแก๊สน้ำตา, ปืนไรเฟิลซุ่มยิง, อุปกรณ์ต่อต้านการจลาจล ฯลฯ
ประวัติ
[แก้]ในปี พ.ศ. 2520 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในไทย ทั้งจากก่ออาชญากรรมร้ายแรงและการก่อการร้ายสากลที่มีรูปแบบเปลี่ยน พันตำรวจเอก ชุมพล อัตถศาสตร์ ผู้กำกับการ กองกำกับการป้องกันและปราบปรามจราจล จึงได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษขึ้นซึ่งมีชื่อว่า "Anti-Hijacker" โดยคัดเลือกตำรวจในหน่วยที่มีความพร้อมทั้งร่างกาย,จิตใจและสติปัญญา ตามคุณสมบัติที่กำหนดมาทำการฝึกเพื่อรองรับภารกิจที่รูปแบบสากลในการฝึกครั้งนั้นยังไม่มีงบสนับสนุนที่ไม่เพียงพอ ต่อมาเมื่อ พันตำรวจเอก ชุมพล อัตถศาสตร์ ได้การแต่งตั้งไปยังหน่วยงานอื่น และหน่วยนี้ซึ่งเปลี่ยนแปลงไป
พ.ศ. 2526 เกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายสากลและการก่อความสงบขึ้นในไทย โดยเฉพาะพื้นที่ในกรุงเทพฯ พลตำรวจตรี ทิพย์ อัศวรักษ์ ผู้บังคับการกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งได้ฟื้นหน่วยนี้ขึ้นมาใหม่ โดยเสนอขออนุมัติแผนการฝึกหน่วยนี้ ซึ่งเป็นรูปแบบสากล
ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 กรมตำรวจได้มีคำสั่งจัดตั้งหน่วยนี้ขึ้น ในสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในนามว่าอรินทราช 26
โดยความหมายของ"อรินทราช 26"
- อริ = ข้าศึก, ศัตรู
- อินท = จอม, ผู้เป็นใหญ่
- ราช = พระเจ้าแผ่นดิน
- 26 = ปีที่ก่อตั้ง (พ.ศ. 2526)
ซึ่งมีความหมายว่า พระราชาผู้เป็นใหญ่เหนือข้าศึกศัตรูทั้งหลาย
ปัจจุบัน อรินทราช 26 อยู่ในสังกัด กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (191) และขึ้นตรงกับ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.)
ภารกิจของหน่วย
[แก้]- ช่วยเหลือตัวประกัน
- ควบคุมการก่อจลาจล
- ต่อต้านการก่อการร้าย
- ให้ความปลอดภัยบุคคลสำคัญในประเทศและต่างประเทศ
- เพิ่มการรักษาความปลอดภัยในจุดสำคัญ ในเวลาปกติ และเมื่อมีกิจกรรมพิเศษ
- การก่อความสงบในประเทศ
- การก่อวินาศกรรมสถานที่ราชการหรือสถานที่สำคัญ
- การปราบปรามจี้ยึดอากาศยาน
- การรีดค่าไถ
การฝึก
[แก้]อรินทราช 26 มาจากผู้ที่เรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือนายสิบตำรวจ การฝึกในครั้งแรกไม่มีรูปแบบที่แน่นอน โดยได้รับการสนับสนุนครูฝึกจากตำรวจ และยึดรูปแบบการปฏิบัติการเป็นทีม 5 คน เหมือนหน่วยปฏิบัติการพิเศษ GSG 9 ของประเทศเยอรมนี มีการฝึกการยิงปืนทางยุทธวิธี การฝึกพลแม่นปืน การปฏิบัติการทางน้ำ การต่อสู้ป้องกันตัว การขับขี่ยานพาหนะในรูปแบบต่าง ๆ เมื่อการฝึกรุ่นแรกสำเร็จ ก็มีการถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่เข้าประจำการในกองร้อยปฏิบัติการพิเศษเรื่อยมา อีกทั้งมีการจัดส่งกำลังพลไปฝึกในหลักสูตรต่าง ๆ ของต่างประเทศและนำวิชาความรู้กลับมาถ่ายทอดให้กับกำลังพลที่อยู่ในหน่วย โดยจะทำการฝึกกันเองถ่ายทอดกันต่อ ๆ มา และได้มีการจัดแบ่งหลักสูตร ออกเป็น 5 หลักสูตร คือ
- หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 24 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุใหม่
- หลักสูตรทบทวนการต่อต้านการก่อการร้ายสากล 6 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่ประจำการอยู่ในหน่วย และฝึกทดสอบแผนปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย 1 สัปดาห์
- หลักสูตรการทำลายระเบิด 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง "พลเก็บกู้ทำลายระเบิด"
- หลักสูตรพลแม่นปืน 4 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง "พลซุ่มยิง"
- หลักสูตรผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์ 12 สัปดาห์ สำหรับกำลังพลที่บรรจุในตำแหน่ง "ผู้ชำนาญการอิเล็กทรอนิคส์"
นอกจากนี้ยังมีการฝึกต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น "แผนกรกฎ 48" การฝึกในสถานการณ์สมมุติ และการฝึกร่วมกับหน่วยงานอื่น
การฝึกหน่วย Anti-Hijacker (อรินทราช 26 ) ช่วงแรก ๆ
[แก้]อุปกรณ์
[แก้]ชุดสำหรับปฏิบัติหน้าที่
[แก้]ในการแต่งกายจะไม่สามารถเปิดเผยใบหน้าได้ ที่ชุดบริเวณไหล่ซ้าย มีอาร์มสีบานเย็น รูปสี่เหลี่ยมคางหมู ตรงกลางมีรูปอักขระยันต์ มีตัวหนังสือบอกหน่วยสังกัดว่า "ตำรวจนครบาล ปฏิบัติการพิเศษ" นั่นคือ "ตำรวจ 191" เนื้ออาร์มมีคำว่า "อรินทราช 26" บริเวณหน้าอก มีรูปโล่อยู่ตรงกลาง พื้นโล่สีดำแดง กลางโล่มีสายฟ้าสีขาว มีดอกชัยพฤกษ์สีทองพุ่งเข้าหาโล่จากด้านข้าง ข้างละ 6 ดอก สีพื้นของชุดจะเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีสำหรับหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยชุดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- ชุดทำงานปกติ สามารถเห็นได้ทั่วไปตามจุดสำคัญ
- ชุดเวสสีน้ำเงิน ใช้สำหรับฝึกและเตรียมพร้อมก่อนปฏิบัติงาน
- ชุดเวสพร้อมอุปกรณ์ โดยจะมีอุปกรณ์ครบมือ ตั้งแต่หมวกกันกระสุน, เสื้อกันกระสุน, อาวุธอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น
- ชุดปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย โดยชุดนี้จะเหมือนแบบที่ 3 เว้นแต่สีชุดที่เป็นสีดำ จะใส่ชุดนี้เมื่อต้องทำงานกับหน่วยงานอื่น (การสนธิกำลัง)
อาวุธประจำกาย
[แก้]ในหน่วยงานราชการมีการเปลี่ยนแปลงแทนที่ยุทธภัณฑ์อยู่เสมอ สำหรับปืนสั้น เคยมีการใช้ Browning ปัจจุบันมีการใช้ Glock 19 และ HK P7M8 ส่วนอาวุธประจำกายคือ MP5 สำหรับบางคนจะใช้ปืนเล็กยาว หรือปืนลูกซองแทน ในการปราบจลาจลอาจมีการใช้โล่ และกระบอง หรือใช้กระสุนซ้อมมาแทนที่
ดูเพิ่ม
[แก้]- หน่วยปฏิบัติการพิเศษ – หน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษระดับตำรวจภูธร สังกัดตำรวจภูธรภาค 1 – 9 และในระดับหน่วยปฏิบัติการภายใต้ตำรวจภูธรจังหวัด 76 จังหวัด
- นเรศวร 261 – หน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษระดับประเทศไทย สังกัดกองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ตำรวจส่ง "ชุดหนุมานกองปราบปราม" และ "อรินทราช 26" ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ไล่ล่าคนร้ายกราดยิงศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู". ฐานเศรษฐกิจ. 2022-10-06. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.