ข้ามไปเนื้อหา

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
อักษรย่อบช.ก.
คำขวัญมืออาชีพ เป็นกลาง เคียงข้างประชาชน
ข้อมูลองค์กร
ก่อตั้ง11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484; 83 ปีก่อน (2484-02-11)
โครงสร้างเขตอำนาจ
หน่วยงานแห่งชาติประเทศไทย
เขตอำนาจในการปฏิบัติการประเทศไทย
สำนักงานใหญ่1106 ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ผู้บริหารหน่วยงาน
หน่วยงานปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กองบังคับการ • 11 กองบังคับการ
เว็บไซต์
cib.go.th

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (อังกฤษ: Central Investigation Bureau) หรือ ซีไอบี เป็นหน่วยงานระดับกองบัญชาการ อยู่ในส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ดูแลกองบังคับการในสังกัดที่มีอำนาจในการปฏิบัติการทั่วราชอาณาจักร

ประวัติ

[แก้]

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484[1] จากการก่อตั้ง กองสอบสวนกลาง และรับโอนภารกิจจากตำรวจสันติบาล จำนวน 3 กองกำกับการมาอยู่ในการดูแล คือ กองกำกับการ 1 สืบสวนปราบปรามโจรผู้ราย กองกำกับการ 3 เทคนิคตำรวจ และกองกำกับการ 5 ตำรวจสรรพสามิตร[2] และได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2485 แบ่งส่วนความรับผิดชอบของกองสอบสวนกลางเป็น 3 กองกำกับการ คือ กองกำกับการกอง 1 ค้นคว้าสมมุติฐานของการประทุษร้าย มี 5 แผนก กองกำกับการกอง 2 ทะเบียน มี 5 แผนก กองกำกับการกอง 3 วิชาการตำรวจ แบ่งเป็น 5 แผนก[3]

พ.ศ. 2491 กองสอบสวนกลาง ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แบ่งส่วนราชการเป็น 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทะเบียน กองตำรวจสันติบาล กองปราบปราม กองตำรวจรถไฟ กองตำรวจจราจรทางหลวง กองตำรวจน้ำ กองวิทยาการ กองการสื่อสาร กองยานยนต์ โรงเรียนสืบสวน กองพิเศษ และกองกำกับการโรงเรียนตำรวจสอบสวนกลาง[4]

ภารกิจ

[แก้]

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีภารกิจหลักในการถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเฉพาะทาง อาชญากรรมที่มีความซับซ้อนที่มีลักษณะเป็นองค์กร หรือมีขอบเขตอำนาจนอกเหนือจากตำรวจท้องที่จะดำเนินการ ซึ่งรวมไปถึงอาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย[5] โดยมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามอาชญากรรม สืบสวนสอบสวนครอบคลุมทั้งประเทศ

ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสมในแต่ละกองบังคับการ อาทิ การป้องกันและระงับเหตุอาชญากรรมด้วยระบบกล้องตรวจจับการกระทำผิด โดย ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบและเฝ้าระวังรถต้องสงสัย (Suspect Vehicle Command Center) โดยกองบังคับการตำรวจทางหลวง[6] ในการตรวจจับและเข้าตรวจค้น

หน่วยงานในสังกัด

[แก้]

ด้วยอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีความหลากหลายและเฉพาะทาง จึงมีการแบ่งโครงสร้างหน่วยงานออกเป็นระดับกองบังคับการ ประกอบไปด้วย

กองบังคับการปราบปราม

[แก้]

กองบังคับการปราบปราม มีหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน ป้องกัน และปราบปราม ทั่วประเทศไทย ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ยกเว้นคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ, คดีเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และความผิดทางเศรษฐกิจโดยตรง

กองบังคับการตำรวจทางหลวง

[แก้]

กองบังคับการตำรวจทางหลวง ทำหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาและจราจร บริการประชาชนผู้ใช้ทางให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในเขตทางหลวงและทางพิเศษที่อยู่ในอำนาจรับผิดชอบ และควบคุมดูแลการใช้ทางหลวงให้เป็นไปตามกฎหมาย

กองบังคับการตำรวจรถไฟ

[แก้]

กองบังคับการตำรวจรถไฟ เป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ในส่วนบริเวณรถไฟของประเทศไทย มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถไฟทั่วประเทศ และจับกุมบุคคลที่มีหมายจับตามกฎหมายที่ใช้รถไฟเป็นพาหนะ ก่อตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กองบังคับการตำรวจน้ำ

[แก้]

กองบังคับการตำรวจน้ำ มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติตำรวจเช่นเดียวกับบนฝั่งทุกประการ และมีหน้าที่เพิ่มเติมคือการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตามกฎหมายทางทะเลที่กำหนด

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

[แก้]

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในชนบทโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทยานแห่งชาติและป่าแห่งชาติ นอกจากนี้ยังทำ หน้าที่เจ้าหน้าที่การจับกุมลอบล่าสัตว์ป่า, การสืบสวนการละเมิดสิ่งแวดล้อม, อาคารที่ผิดกฎหมาย, การปกป้องสัตว์คุ้มครองสัตว์บังคับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์กฎหมายและการป้องกันไฟป่า

กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์

[แก้]

กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทั่วราชอาณาจักร

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

[แก้]

มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ให้บริการและอำนวยความสะดวกรวมถึงรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ[7]

กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

[แก้]

กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในหน่วยงานราชการทั่วประเทศ ปฏิบัติภารกิจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่น ๆ เกี่ยวกับความผิดทางอาญา การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและในวงการราชการ[8]

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค

[แก้]

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สืบสวนสอบสวนการกระทำที่มีโทษในทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม[9]

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

[แก้]

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับ ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ

[แก้]

กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ เป็นหน่วยงานปฏิบัติการพิเศษที่มีศักยภาพสูงของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีภารกิจหลักในการถวายความปลอดภัยแก่ องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทน ผู้แทนพระองค์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ รักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันปราบปรามการก่อจลาจล ควบคุมฝูงชนที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัย รอบเขตพระราชฐาน รวมถึงการต่อต้านการก่อการร้าย สนับสนุนและป้องกันปราบปรามการก่อการร้าย ระงับเหตุฉุกเฉินและวินาศกรรมทั่วราชอาณาจักร[10]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ผบ.ตร.ร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง". m.mgronline.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "ประวัติความเป็นมาของสันติบาล". กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. 2016-05-06.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2485 (soc.go.th) 12 พฤษภาคม 2485, เล่มที่ 59 ตอนที่ 32 หน้าที่ 1062 - 1063.
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2498 (soc.go.th) 12 กรกฎาคม 2498, เล่มที่ 72 ตอนที่ 51 หน้าที่ 1084 - 1094.
  5. "วิสัยทัศน์/อำนาจหน้าที่ -". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-18. สืบค้นเมื่อ 2022-02-18.
  6. aumarsr (2022-01-31). "ตำรวจสอบสวนกลาง ใช้เทคโนโลยีกล้องตรวจจับ SVCC ตรวจสอบรถยนต์ต้องสงสัยพบมีการปลอมแปลงเอกสาร". Chiang Mai News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-19. สืบค้นเมื่อ 2022-02-19.
  7. "เกี่ยวกับเรา – ECD – กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-21. สืบค้นเมื่อ 2022-03-17.
  8. adminccd. "อำนาจหน้าที่". ACD Police. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-09. สืบค้นเมื่อ 2022-03-17.
  9. "เกี่ยวกับเรา – cppd". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-16. สืบค้นเมื่อ 2022-03-17.
  10. ราชกิจจานุเบกษา. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2563 (soc.go.th) เล่มที่ 137 ตอนที่ 60 ก, วันที่ 25 กรกฎาคม 2563, หน้า 13-16