หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม โรจนกุล)
หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม โรจนกุล) | |
---|---|
เจ้ากรมพระอาลักษณ์ พระบรมมหาราชวัง | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2428 – 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2439 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
เจ้ากรมพระอาลักษณ์ พระราชวังบวรสถานมงคล | |
ดำรงตำแหน่ง รัชกาลที่ 3 – พ.ศ. 2428 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | พระสุนทรโวหาร (ภู่) |
ถัดไป | ยกเลิก (วิกฤตการณ์วังหน้า) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 19 เมษายน พ.ศ. 2362 แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงรัตนโกสินทร์ |
เสียชีวิต | 6 กันยายน พ.ศ. 2439 (77 ปี) แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงรัตนโกสินทร์ |
คู่สมรส | คุณหญิงลิขิตปรีชา (พึ่ง) |
บุตร | นายราชจํานง (อู๋ โรจนกุล) |
บุพการี |
|
ญาติ | หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก โรจนกุล) (หลาน) |
อาชีพ | อาลักษณ์ |
หลวงลิขิตปรีชา (19 เมษายน พ.ศ. 2362 – 6 กันยายน พ.ศ. 2439) มีนามเดิมว่า คุ้ม[1] เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล (ฝ่ายวังหน้า) รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ราชเลขานุการในพระองค์ และนักกวีสมัยรัชกาลที่ 3–5 กรุงรัตนโกสินทร์[2]
ประวัติ
[แก้]หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เกิดที่กรุงเทพพระมหานคร เมื่อวันจันทร์ แรม 10 ค่ำเดือนห้าปีเถาะสัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2362 สมัยรัชกาลที่ 2 มีนิวาสสถานอยู่ที่ย่านบ้านช่างหล่อ วังหลัง เคยเล่าเรียนหนังสือที่วัดโพธิ์ บิดาชื่อนายดีขุนหมื่น[3] ตำแหน่งช่างเขียนกรมช่างสิบหมู่ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งรับราชการอยู่กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไม่ปรากฎนามมารดา ภรรยาชื่อ คุณหญิงลิขิตปรีชา (พึ่ง) บุตรปรากฏว่าชื่อนายอู๋ รับราชการเป็นมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลมีบรรดาศักดิ์เป็นนายราชจํานง (อู๋) เป็นบิดาหลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก โรจนกุล)[4] เป็นทหารกองหนุนกระทรวงกลาโหมในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นทวดของพระยาชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล) กรมราชเลขาธิการ ข้าราชบริพารสำนักพระราชวัง[5]
สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล มีบรรดาศักดิ์เป็น นายราชอักษร (คุ้ม) ตำแหน่งนายเวร ถือศักดินา 400 โดยมีพระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือ สุนทรภู่ เป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 7 ตำลึง หลังรับราชการได้ 3 ปีเศษ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งนายราชอักษร (คุ้ม) นายเวร ให้เป็นหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวร ถือศักดินา 1,500 ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 1 ชั่ง แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งพระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นจางวางกรมพระอาลักษณ์ เมื่อ พ.ศ. 2408 ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) จึงได้ย้ายไปสมทบกับกรมพระอาลักษณ์ในพระบรมมหาราชวัง
สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) จึงได้ย้ายไปกรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวร หลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคตแล้วจึงย้ายไปสมทบกับกรมพระอาลักษณ์ในพระบรมมหาราชวังอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2435 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มอีกปีละ 5 ตำลึง พร้อมพระราชทานเหรียญรัชฎาภิเศกมาลา ร.ศ. ๑๑๒ แก่หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ๆ จึงได้รับเบี้ยหวัดเป็นปีละ 1 ชั่ง 5 ตำลึง[6]
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2439[7] หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ล้มป่วย จึงให้พระอ่อน วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหารรักษามีอาการทรุดๆ ทรงๆ จึงเปลี่ยนให้หมอสีชะเลยศักดิ์ (หมอเชลยศักดิ์) รักษาแทนแต่อาการกลับทรุดลงมาก เมื่อวันที่ 6 กันยายน มีอาการอ่อนเพลียและหอบจวนหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ถึงแก่กรรมเมื่อเวลา 20.00 น. ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ 77 ปี[3] คุณหญิงลิขิตปรีชา (พึ่ง) จึงได้เข้าจัดการศพ วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เพลิงหลวง พร้อมหีบศพเชิงชายเป็นเกียรติยศ
พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) ผู้ค้นคว้า รวบรวม และบันทึกเรื่องราวของพระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือสุนทรภู่ ได้เขียนบันทึกคำกล่าวของพระอมรสินธพ (นก) เมื่อ พ.ศ. 2456 ขณะมีอายุ 77 ปี[8] ซึ่งเล่าถึงหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ไว้ว่า:–
เวลานั้นใบฎีกามีของสมเด็จพระปรมา[หมายเหตุ 1] ได้เป็นหลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ท่านผู้นี้เจ้ายศเจ้าศักดิ์ ถือความมั่งมีภาคภูมิเต็มที่อย่างขุนนางโบราณคือ บ่าวไพร่นุ่งห่มร่มค้างคาวกล้องยาแดงกาน้ำเป็นต้น สุนทรภู่ถึงเป็นจางวางก็จริง แค่ลดความมั่งมีให้ท่านเจ้ากรม เวลาจะนั่งจะเดินอยู่ในกิริยาเป็นผู้ถ่อมตนยอมเป็นผู้ที่ ๒ ไม่ตีตนเสมอเลย[9]
ผลงาน
[แก้]งานประพันธ์ของหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) โดดเด่นที่มีปรากฏและค้นพบได้ในปัจจุบันมีดังนี้
โคลงกลอน
[แก้]- จารึกวัดโพธิ์ (พ.ศ. 2374-2381)
หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมแต่งโคลงดั้นบาทกุญชร จารึกวัดโพธิ์[10] ปรากฏหลักฐานในคำประพันธ์บทหนึ่งความว่า:– "ฉันทพากย์เพลงโคลงคล่อง สองหลวงว่องโวหาร ชาญภูเบศร์สมญา ลิขิตปรีชาเฉลียวอรรถ เจนแจ้งจัดทุกอัน ร่วมสังสรรค์เสาวพจน์"[11] จารึกวัดโพธิ์ได้รับการขึ้นทะเบียน มรดกความทรงจำของโลก[12][13] เมื่อ พ.ศ. 2551 โดย คณะกรรมการองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
คำโคลงจารึกวัดโพธิ์ ที่หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เป็นผู้แต่ง ปรากฏว่ามีดังนี้
จารึกโคลงภาพฤๅษีดัดตน[14]
ท่าที่ 27 ท่าดัดตนแก้อาการลมชักปากเบี้ยว ลมลิ้นตาย ลมเท้าเหน็บ ลมมือเหน็บ
- จารึกนี้กล่าวถึงพระฤๅษีกาลสิทธิ์ (ฤๅษีปู่เจ้าสมิงพราย) แสดงบทอาสนะแห่งฤๅษีด้วยท่าตัดตนแก้ลมชักปากเบี้ยว ลมลิ้นตาย ลมเท้าเหน็บ ลมมือเหน็บ ด้วยการใช้มือหนึ่งเหนี่ยวไหล่ กดปลายนิ้วลงเหนือซอกรักแร้ และอีกมือหนึ่งหน่วงข้อเท้า โดยกดหัวแม่มือกดลงที่เอ็นเหนือตาตุ่มด้านใน จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
ท่าที่ 40 ท่าดัดตนแก้เท้าเย็นสบาย ใจสวิงสวาย
- จารึกนี้กล่าวถึงพระฤๅษีกบิล แสดงบทอาสนะแห่งฤๅษีด้วยท่าดัดตนแก้เท้าเย็น ใจสวิงสวาย โดยการไขว้เท้าหนึ่งไปวางบนตักของอีกข้างหนึ่ง ซึ่งถูกสองมือกุมเข่า รัดแข้งยกเอาไว้จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
จารึกโคลงภาพคนต่างภาษา
แผ่นที่ 31 ภาพเขมร[15]
- เป็นหนึ่งในจารึกโคลงภาพต่างภาษาจำนวน 32 แผ่น จารึกนี้กล่าวถึงอัตลักษณ์และตัวตนชนชาติเขมรว่ามีผิวดำ นับถือศาสนาพุทธ อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นเมืองขึ้นของสยาม แต่งกายโดยนุ่งผ้าปูม สวมเสื้อสีคราม คาดแพรเยื่อไม้ของญวนที่สะเอว และไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ไม่ไว้ไรผม จารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
แผ่นที่ 32 ภาพลิ่วขิ่ว[16]
- เป็นหนึ่งในจารึกโคลงภาพต่างภาษาจำนวน 32 แผ่น จารึกนี้กล่าวถึงอัตลักษณ์และตัวตนชนชาติลิ่วขิ่ว ว่ามีการเกล้าผมมวยเหมือนจุกเด็ก สวมเสื้อสีหมากสุกยาวคลุมเข่า โพกศีรษะ บ้านเมืองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก และมีการถวายบรรณาการแด่จีนจารึกดังกล่าวถูกค้นพบที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร
แผ่นที่ 8 กลบทกินรเกบบัว
- จารึกกลบทกินรเกบบัว มีคำจารึก 19 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความชอกช้ำใจจากหญิงคนรักที่กลับห่างเหินไป
แผ่นที่ 20 กลบทพระจันท์ธรงกลด
- จารึกกลบทพระจันท์ธรงกลด มีคำจารึก 22 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความโศกเศร้าเพราะการพลัดพรากจากหญิงคนรัก
แผ่นที่ 39 กลบทก้านต่อดอก
- จารึกกลบทก้านต่อดอก มีคำจารึก 19 บรรทัดซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงความทุกข์ระทมที่ต้องอยู่ห่างไกลจากหญิงอันเป็นที่รัก
หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เป็นผู้แต่งศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบองในระหว่างที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)ทำการบูรณะสร้างกำแพงเมืองพระตะบองขึ้นใหม่ระหว่างสงครามอานามสยามยุทธ เป็นโครงสี่สุภาพสลับกาพย์ฉบับ 16 โดยคำประพันธ์ที่จารึกผนังด้านทิศตะวันออกมีระบุบรรดาศักดิ์เป็นหลวงลิขิตปรีชาเป็นผู้แต่ง ซึ่งณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตประเภทประวัติศาสตร์ ระบุว่า หลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ผู้นี้มีนามเดิมว่า คุ้ม กวีในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้แต่งโคลงดังกล่าว
ตัวอย่างคำประพันธ์
๏ อาลักษณ์ศักดิ์ยศพร้อง | สมญา | |
หลวงลิขิตปรีชา | ชื่ออ้าง |
นิพนธ์สรรพ์พจนา | โคลงพากย์ ฉันท์เอย | |
แนะตรนักนามป้อมสร้าง | สฤษดิ์ไว้เปนเฉลิม ฯ |
๏ ป้อมนารายน์นารายน์ทรง | จักรแก้วฤทธิรงค์ | |
ประหารประหัตดัษกร |
ป้อมเสือเสือร้ายแรงขจร | ในด้าวดงดอน | |
จัตุบาทฤๅอาจเทียบทัน ฯ | ||
— ศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง |
ส่วนคำประพันธ์ในจารึกผนังด้านทิศตะวันตก กล่าวถึงเหตุการณ์สร้างเมืองพระตะบองและยังกล่าวถึงการอธิษฐานขอให้เทพยดาช่วยรักษาคุ้มครองเมือง ซึ่งศิลาจารึกส่วนนี้เป็นของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เนื่องด้วยเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) สร้างเมืองไว้เพื่อป้องกันศัตรู
ตัวอย่างคำประพันธ์
๏ ปางปิ่นอดิศวร | ผู้ทรง ทศพิธธำรง | |
จารีตราชประเพณี |
เฉลิมดิลกพิภพศรี | อยุทธเยศบุรี | |
พระเกียรติเกริ่นธราดล ฯ |
๏ สถิตยพระโรงรัตนโสภณ | พร้อมหมู่มุขมน– | |
ตรีชุลีกรเดียรดาษ |
บัดเอื้อนราโชยงการประภาษ | สั่งตูข้าบาท | |
ผู้รองเบื้องมุลิกา ฯ | ||
— ศิลาจารึกศาลเจ้าหลักเมืองพระตะบอง |
- โคลงนิทานเบ็ดเตล็ด (พ.ศ. 2430)[19]
- สุริยพันธ์คำกลอน (พ.ศ. 2431)
สุริยพันธ์คำกลอนเป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นในรัชกาลที่ 4 ขณะยังทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ทรงพระนิพนธ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2431) ปรากฏว่าหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในขณะนั้นเป็นหนึ่งในกวีที่ได้ร่วมแต่งคำกลอนลงในพระนิพนธ์นี้ด้วยโดยมีปรากฏคำกล่อนใน สุริยพันธ์คำกลอน[20] ตอนที่ 5 ตอนที่ 8 ตอนที่ 9 ตอนที่ 12 และตอนที่ 21 เป็นต้น และเคยตีพิมพ์เผยแพร่ลงใน วารสารศิลปากร ฉบับปีที่ 4 เล่มที่ 5 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 - ฉบับ ปีที่ 8 เล่มที่ 12 วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
ตัวอย่างคำประพันธ์
๏ ฝ่ายพระสุริยพันธุ์พงศ์กษัตริย์ | ซึ่งวิบัติเรือแตกแยกสลาย | |
ลงเรือน้อยลอยไปไม่วางวาย | เอกากายผู้เดียวให้เปลี่ยวใจ |
ด้วยเวลาราตรีก็มืดมิด | ทั่วทุกทิศไม่เห็นสิ่งใดได้ | |
พายุกล้าสลาตันพรั่นฤทัย | โอ้ที่ไหนจะได้รอดตลอดคืน ฯ | |
— สุริยพันธ์คำกลอน ตอนที่ 5 |
- โคลงพิพิธพากย์ (พ.ศ. 2455)[21]
เป็นคำโคลงสุภาษิตที่แสดงถึงคุณและโทษของเรื่องที่ตั้งกระทู้ความ เช่นว่า ความงาม ความรัก ความชัง ความเบื่อหน่าย เป็นต้น ซึ่งกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณได้รวบรวมโคลงเหล่าให้เป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อ พ.ศ. 2457 หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ได้ร่วมแต่งโคลงนี้ในกระทู้ความเรื่อง ความอิจฉา
ตัวอย่างคำประพันธ์
๏ ความอิจฉาเกิดขึ้น | คนใด | |
พาจิตรไม่ผ่องใส | สดชื่น |
มักงุ่นง่านทยานใจ | เจียนคลั่ง | |
เพราะตฤกตรองตื้นตื้น | ต่ำช้าตนเฉา ฯ | |
— โคลงความอิจฉา |
- กำนันหลอกพราน
เป็นเพลงยาวมีความยาว 27 บท หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ร่วมแต่งกับนายนาน บางขุนพรหม ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกใน วารสารวชิรญาณวิเศษ[22] หมวดนิทานคำกลอน เล่ม 8 แผ่นที่ 20 ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก 111 ตรงกับ พ.ศ. 2435 และถูกตีพิมพ์อีกครั้งในหนังสือ นิทานวชิรญาณ เล่ม 1[23] เมื่อ พ.ศ. 2555 โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
นิราศ
[แก้]นิราศสรวมครวญเป็นวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยโคลงสุภาพชาตรีจำนวน 186 บท และใช้ร่ายสุภาพปิดท้ายโคลงนิราศซึ่งหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ร่วมแต่งกับขุนสาราบรรจง ขุนจำนงสุนธร และนายเวรจำลอง ภายหลังหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนีได้ตรวจสอบ ชำระใหม่และเขียนเพิ่มเติมเป็นฉบับ นรินทร์จัน-ประชันนรินทร์อิน ทรงใช้นามปากกาว่า พ.ณ.ประมวญมารค
ตัวอย่างคำประพันธ์
๏ เทเวนทรวาสุเทพท้าว | ผทมสินธุ์ | |
อ่อนอาสน์อุรัคคินทร์ | ค่ำเช้า |
ทรงสังข์จักราจิณ | เจนหัตถ์ | |
หลับอย่าลืมละเจ้า | ปิ่นไท้ผไทสยาม ฯ | |
— นิราศสรวมครวญ |
อื่นๆ
[แก้]- จินดามณี ฉบับหลวงลิขิตปรีชา
ตำรา จินดามณี ฉบับหลวงลิขิตปรีชา เป็นตำราภาษาไทยมีลักษณะเป็นฉันท์นมัสการว่าด้วยการใช้ตัว ส ศ ษ การไม้ม้วน ไม้มลาย การตัว ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ การแจกลูกอักษร การแต่งฉันท์ โคลง รหัสอักษร ตัวอย่างโคลงมณฑกคติ กาพย์ก่อโคลง และโคลงกลบท และมีเรื่องกลอนเพลงยาวและกลอนบทละคร พบต้นฉบับบันทึกเป็นสมุดไทยเลขที่ ๒๓๙ โดยกรมศิลปากร[25]
- เลียดก๊ก พงศาวดารจีน (พ.ศ. 2362)
เมื่อ พ.ศ. 2362 ตรงกับรัชกาลที่ 2 หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมแปลและเป็นบรรณาธิการ เลียดก๊ก พงศาวดารจีน ปรากฏในย่อหน้าที่ 3 ของพงศาวดารว่า:- "ห้องสินแลในเลียดก๊กนั้น ว่าด้วยพระเจ้าบู๊อ่องครองเมืองทั้งปวงคิดทำศึกกัน ข้าพเจ้าหลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ชำระขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย"[26] พร้อมด้วยกวีดังนี้ ขุนมหาสิทธิโวหาร พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรศร์โยธี หลวงญาณปรีชา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) พระยาโชดึกราชเศรษฐี หลวงวิเชียรปรีชา ขุนท่องสื่อ จมื่นไวยวรนาถ นายเล่ห์อาวุธ และจ่าเรศ
- ตำรานพรัตน์
ตำรานพรัตน์[27] ฉบับร้อยแก้วคือตำราว่าด้วยอัญมณี ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน งานบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชนมายุครบ ๖๐ พระพรรษาของสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อ พ.ศ. 2464 ในวาระต่อมาได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง นับว่า ตำรานพรัตน์ ฉบับนี้เป็นฉบับที่แพร่หลายมากที่สุด[28] ซึ่งหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เป็นผู้แต่งตำรับพุทธศาสตร์ประกอบ ตำรานพรัตน์ ว่า "วชิรํ รัตตํ อินฺทนีลํ เวฬุริยํ รัตฺตกาฬมิสิสกํ โอทาตปีตมิสสฺกํ นีลํ ปุสฺสราคํ มุตตาหารญจาติ อิมานิ นวากาทีนิ รตนานิ ตฺสมา รตนชาติ โย อเนกวิธา นานาปเทเสสุ อุปปชฺชนตีติ เวทิตฺพพา" ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ถอดความพระบาลี ว่า:–
อันว่ารัตนชาติทั้งหลายมีประการเป็นอันมากจะประมาณมิได้ มีแก้วเก้าประการเป็นอาทิ คือ แก้ววิเชียร ๑ แก้วแดง ๑ แก้วอินทนิล ๑ แก้วไพทูรย์ ๑ แก้วรัตกาลมิสก ๑ แก้วโอทาตปปิตมิสก ๑ นิลรัตน์ ๑ แก้วบุษราคัม ๑ แก้วมุกดาหาร ๑ แก้วทั้งเก้าประการมีพรรณต่างกัน แต่แก้ววิเชียรนั้นมีสีงามบริสุทธิ์ดังน้ำอันใส ตำราไสยศาสตร์ชื่อว่าเพชร นับถือว่าเป็นมงคล อันพราหมณ์ทั้งหลายนำมาใช้ให้ช่างเจียรนัยผูกเรือนธำมรงค์ประดับด้วยเนาวรัตน์จัดเอาเพชรตั้งเป็นปฐม อันว่าแก้วมีพรรณแดงงามสดใสยิ่งนักในตำราไสยศาสตร์สมมุติชื่อว่าปัทมราช ถ้ามีสีแดงอ่อนดังผลเมล็ดทับทิมสุกนั้นชื่อว่าทับทิมประดับเรือนธำมรงค์เนาวรัตน์เป็นที่สอง อันว่าแก้วอินทนิลมีพรรณผลนั้นเขียวเลื่อมประภัสสรดังแสงแห่งปีกแมลงทับประดับเรือนนพรัตน์เป็นที่สาม อันว่าแก้วไพทูรย์มีสีเหลืองเลื่อมพรายดังสีสรรพ์พรรณบุปผชาติทั้งหลายมีสีดอกทรึกเป็นอาทิ ประดับนับเข้าในเรือนนพรัตน์เป็นที่สี่ อันว่าแก้วอันมีสีดำและสีแดงเจือแกมกันดูงามสดใส สมมติว่ามีคุณอันพิเศษนำมาผูกเรือนธำมรงค์เนาวรัตน์จัดเป็นที่ห้า อันว่าแก้วอันมีสีขาวกับสีเหลืองเจือกันนั้นประดับเนาวรัตน์เป็นที่หก อันว่าแก้วอันมีสีขาวกับสีเหลืองเจือกันนั้นประดับเนาวรัตน์เป็นที่หก มีสีดอกอัญชันและดอกสามหาว ประดับเรือนเนาวรัตน์เป็นที่เจ็ด อันว่าบุษราคัม มีสีเหลืองเลื่อมประภัสสรดังสีวงแววหางปลาสลาด นัยหนึ่งมีสีดังหลังปู ประดับเรือนนพรัตน์เป็นที่แปด อันว่ามุกดาหารมีสีดังมุกอันเลื่อมพราย ดูงามเป็นที่จำเริญจักขุบุคคลอันเล็งแลดู ประดับเรือนพระธำมรงค์นพรัตน์เป็นที่เก้า[29]
โดยมีกวีในครั้งนั้นร่วมแต่ง ตำรานพรัตน์ ปรากฏว่ามี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) (ขณะยังเป็นพระยาสุริยวงศ์มนตรี) พระมหาวชิรธรรรม หลวงภักดีจินดาและนายชม รวมถึงบรรดากวีท่านอื่น ๆ ที่ได้ร่วมนิพนธ์กับหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ช่วงรัชกาลที่ 3 เช่น พระมหามนตรี (ทรัพย์) ขุนธนสิทธิ์ หมื่นพรหมสมพัตรสร หมื่นนิพนธ์อักษร ครูแจ้ง นายเกตุ นายช้าง นายนก นายพัต และกวีหญิงอีก 2 ท่านคือ คุณพุ่มและคุณสุวรรณ:–
ข้าพระพุทธเจ้า พระยาสุริยวงศ์มนตรี, พระมหาวชิรธรรรม, หลวงลิขิตปรีชา, หลวงภักดีจินดา, นายชม ปรึกษาพร้อมกับสอบตำราเพชรรัตน์ตำหรับพราหมณ์ ซึ่งหลวงภักดีจินดาได้เรียนไว้มาชำระเทียบต้องกันสามฉบับ พระมหาวิชาธรรนค้นพระบาลีพุทธศาสตร์ ประกอบกับตำราไสยศาสตร์ หลวงลิขิตปรีชาอาลักษณ์แต่งตำหรับพุทธศาสตร์ ประกอบกับตำราไสยศาสตร์ทูนเกล้าถวาย[30]
- พระพิไชยสงคราม (พ.ศ. 2368)
เมื่อ พ.ศ. 2368 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุริยวงศ์ กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิสุขวัฒนวิไชย ได้จัดข้าทูลอองธุลีพระบาทสนองพระบัณฑูรสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ให้ชำระคัมภีร์สาตรพยากรณ์ฤกษบนล่าง วิทธีวิชาไมยมนต์เลกยันต์แลอาถันข่มนาม และพระราชพิทธีข่มนามที่พยุหะ ซึ่งหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมชำระตำรับ พระพิไชยสงคราม เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 6 ค่ำ เดือน 8 ปีระกาสัพศก[31] เป็นตำราลับปกปิดที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงแต่งขึ้นเมื่อปีมะเมีย สัมฤทธิ์ศก ตรงกับ พ.ศ. 2041 โดยเชิญพระตำรับจำนวน 14 เล่ม ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล ความว่า:–
...พระเจ้าน้องยาเธอรับพระราชปริหาญ จัดข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้มีสติปัญญา ได้ พระยาบำเรอบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก ๑ พระมหาวิชาธรรม ๑ จางวาง ราชบัณฑิต ๑ หลวงลิขิตรปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ ๑ หลวงสุธรรมาจารย์ ๑ พระโหราธิบดี จางวางโหร ๑ หลวงญาณเวท ๑ หลวงไตรเพทวิไศรย ๑ ขุนโลกยพรหมา ปลัดกลม ๑ รวม ๙ นาย พระเจ้าน้องยาเธอเป็นแม่กอง ครั้น ณ วัน ๕ ๖ฯ ๘ ปีระกาสัพศก พร้อมกัน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ หลวงลิขิตรปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ เชิญพระตำรับพระพิไชยสงครามข้างที่ออกมาเป็นสมุดพระราชตำรับ ๑๔ เล่ม ให้ลงมือจับชำระสอบสวนกันที่ฟั่นเฟือนวิปลาดซ้ำกันก็วงกาตกเต็มให้ถูกถ้วนแล้วขึ้นกราบทูลพระกรุณา ทุกเวลาเสด็จออกวถายสังฑภัตทาน ทรงฟังเทศนาเช้าเย็น ภอพระทัยบ้าง ทรงชำระวงกาดัดแปลงบ้าง โปรดให้ออกมาเรียบเรียงชำระใหม่บ้าง แต่ได้ชำระพระตำรับพระพิไชยสงคราม ณ วัน ๕ ๖ฯ ๘ จุลศักราช ๑๑๘๗ ปีระกาสัพศก จนถึง ณ วัน จึงสำเร็จ ให้คัดส่งเข้าไว้ข้างที่ฉบับหนึ่งไว้ ณ หอหลวงฉบับหนึ่ง...[32]
- หนังสือ "องเลโบ” (พ.ศ. 2390)
หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) รับสั่งจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ให้แปลหนังสืออักษรญวนออกเป็นไทย พร้อมนำสำเนาแปลหนังสือญวนคำให้การของพญาราชเดชกับพญาธนาธิบดีขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งให้เป็นผู้พาพญาราชเดชกับพญาธนาบดี องค์ญวนของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) ทั้ง 2 องค์เข้ามาแจ้งราชการที่กรุงเทพด้วย เมื่อแปลเสร็จแล้วหลวงลิขิตปรีชา (ปลอบ) นำหนังสือบอก และสำเนาแปลหนังสือญวนคำให้การของพญาราชเดชกับพญาธนาธิบดี ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบแล้ว ทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ ว่า:–
ตั้งแต่แผ่นดินเทียวตรีมา ๗ ปี ได้ทรงฟังแต่หนังสือขุนนางญวนแม่ทัพซึ่งมีไปมาถึงเจ้าพญาบดินทรเดชา ก็เห็นเป็นปากร้ายตามทำนองแต่ก่อน พึ่งจะได้ทรงทราบสำนวนเจ้าเทียวตรีรู้ทำนองครั้งนี้ เห็นเป็นปากกล้าใจอ่อนผิดกับทำนองเจ้ามินมาง, เจ้าญาลอง, ทรงพระราชดำริราชการเมืองเขมรเข้าพระทัยว่า ทำนองญวนก็จะเหมือนกันกับทำนองแต่ก่อน ที่ไหนจะให้กลับมาให้สมคิดสมหมายง่าย ๆ พระราชดำริผิดไปแล้ว เจ้าพญาบดินทรเดชา ฯ คิดราชการถูกอุตส่าห์พวกเพียรจนสำเร็จได้ตามความปรารถนา ด้วยเดชะพระบารมีพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวที่จะได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้ตั้งอยู่ในเมืองเขมรฐีติการ ควรที่จะยินดีรับขวัญเอา ได้มาเถิงเมืองพร้อมเมืองแล้วก็กระหมวดไว้ให้หมั่น แต่ญวนเอาเมืองเขมรของเราไปตั้งแต่ปีวอกจัตวาศนับได้ถึง ๓๖ ปีแล้ว พึ่งได้ คืนมาเป็นของเราเมื่อ ณ วัน ๕ ๗ ค่ำ ปีมะแมนพศก และเจ้าพญาบดินทรเดชาฯ ออกไปลำบากกรากกรำคิดราชการจะเอาเมืองเขมรคืนตั้งแต่ปีมะเส็งเบ็ญจศกช้านานถึง ๑๕ ปี อุปมาเหมือนหนึ่งว่ายน้ำอยู่กลางพระมหาสมุทรไม่เห็นเกาะเห็นฝั่ง พึ่งจะได้้[33][34]
- พระสมุดโคลงแผนม้า ตำราพุกาม ฉบับกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (พ.ศ. 2395)[35]
หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์รับสั่งให้ชำระตำราร่วมกับขุนจำนงสุนทร ปลัดกรม เมื่อวันพฤหัสบดีเดือนสิบขึ้นห้าค่ำ ปีชวดจัตวาศก ตรงกับวันที่ 19 สิงหาคม ในสมัยรัชกาลที่ 4
- พระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๕ เล่ม 2
ประชุม พระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๕ เป็นหนังสือประชุมพระราชปุจฉาที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชดำรัสถามข้ออรรถธรรมที่ทรงสงสัยให้พระราชาคณะประชุมถวายวิสัชนา เมื่อ พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรรหารให้หาหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลเข้าเฝ้าทูลลองธุลีพระบาทเพื่อนำข้อความพระราชปุจฉา เช่น ข้ออรรถธรรมว่าด้วยเถรวาทผู้แต่งคัมภีร์อัตโนมัติเรื่องมารวิชัย และทศโพธิสัตว์แอบอ้างเอาพระพุทธฎีกาจะเป็นกล่าวพระพุทธวจนะหรือไม่ ถวายนิมนต์เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชให้วิสัชนา ณ วัน 6 แรม 6 ค่ำเดือน 12 วานรสังวัจฉรนักษัตรฉศก ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2367:–
จึงมีรับสั่งโปรดดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้พระมหาวิชาธรรม หลวงลิขิตปรีชา นำข้อความพระราชปุจฉานั้นออกไปเผดียงแก่สมเด็จพระสังฆราช ให้ประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงพร้อมกันวิสัชนา จึงจะหายความสงสัย[36]
- ศิริวิบุลยกิตต์
หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ได้ร่วมแต่งเพลงยาวกลบทและกลอักษรกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงนายชาญภูเบศร์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศน์ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ขุนธนสิทธิ์และจ่าจิตร์นุกูล
พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน เป็นพระสมุดพระราชพงศาวดารสมุดไทย 42 เล่ม มีเนื้อเรื่องตั้งต้นแต่พระเจ้าเชียงราย (พระเจ้าชัยศิริ) มาสร้างเมืองไตรตรฤง (เมืองไตรตรึงส์) แล้วพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนสร้างเมืองเทพนคร พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาจนขุนพิเรนคิดการจะจับขุนวรวงศาธิราช จนถึงจนถึงนายบุญเรืองเผาตัวตายที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2333 ซึ่งพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) รัชกาลที่ 4-5 ได้แบ่งกันคัดลอก โดยมี หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ขุนสาราบรรจง ปลัดกรมจำลอง และขุนจำนงสุนทร ปลัดกรม ปรากฏในปกหน้าสมุดไทย พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฉบับตัวเขียน ว่า:–
๏ ข้าพระพุทธเจ้าขุนษาราบันจงปลัดกรมจำลอง หลวงลิขิตปรีชาเจ้ากรม ขุนจำนงสุนทรปลัดกรม ธารทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายขอเดชะ ๚ะ[37]
การสงคราม
[แก้]อานามสยามยุทธ
[แก้]สมัยรัชกาลที่ 3 ขณะนั้นเกิดสงครามอานามสยามยุทธระหว่างเขมร และญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้จัดกองทัพเพื่อยกไปเมืองพระตะบอง[39] ใกล้กับจังหวัดจันทบุรี ณ วันเดือนยี่ ปีกุนเอกศก
กรมอาลักษณ์ซึ่งหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) เจ้ากรมขณะนั้นเป็นนายทัพ พร้อมเสื้อพระราชทานนายทัพ ดอกถี่ 1 ชุด ได้จัดบัญชีแก่กองทัพเจ้าคุณจำนวน 2 คน เป็นนาย 1 คน และไพร่ 1 คน และขุนสาราบรรจง ปลัดกรมขวา เป็นนายกอง พร้อมเสื้อพระราชทานนายกอง ดอกลาย 1 ชุด จัดกำลังขุนหมื่นในกรมจัดกำลังจำนวน 25 คน ประกอบด้วยขุนหมื่นในกรม 7 คน ช่างสมุด 6 คน ช่างสมุดเลว 9 คน นาย 2 คน และ ไพร่ 1 คน ตามลำดับ ดังปรากฏใน ประชุมพงศาวดาร เล่ม 42 ภาคที่ 66 (ต่อ) – 67 เรื่อง จดหมายเหตุรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี เล่าเรื่องไปชะวา ครั้งที่ 3 ฉบับที่ 2 บัญชีกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อยกไปเมืองพระตะบอง หน้า 180 วรรคที่ 2 ความว่า:–
กรมอาลักษณ์ หลวงลิขิตปรีชา นาย ๑ ไพร่ ๑ เป็น ๒ ขุนสาราบรรจง ๑ ขุนหมื่นในกรม ๗ ช่างสมุด ๖ เป็น ๑๓ ช่างสมุดเลว ๙ นาย ๒ ขุนหมื่น ๒๒ เป็น ๒๔ ไพร่ ๑ เป็น ๒๕[40]
บรรดาศักดิ์
[แก้]- บรรดาศักดิ์
- นายราชอักษร (คุ้ม) ศักดินา 400
- หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม) ศักดินา 1,500[42] (ทำเนียบวังหน้าบอกว่าถือศักดินา 1,800)[43]
หมายเหตุ: บรรดาศักดิ์ หลวงลิขิตปรีชา ปรากฏในทำเนียบตำแหน่งข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งเป็นทำเนียบในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว[44] จนถึงรัชสมัย กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลองค์สุดท้ายในสมัยรัตนโกสินทร์[45] บรรดาศักดิ์เจ้ากรมพระอาลักษณ์หลังรัชกาลที่ 5 ล้วนเป็น พระยาศรีสุนทรโวหาร[46] และกองรายงานหนังสือไปมา กรมราชเลขานุการ ปรากฏบรรดาศักดิ์ เป็น พระยาศรีราชอักษร[47] กระทั่ง ปี พ.ศ. 2475 กรมพระอาลักษณ์ ยุบเลิกตำแหน่งไปอยู่กับคณะรัฐมนตรี[48]
ตำแหน่งราชการ
[แก้]- นายเวรพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล
- พ.ศ. ?? – พ.ศ. 2428 เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล
- พ.ศ. 2428 – พ.ศ. 2439 เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2446 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายหน้า)
- พ.ศ. 2446 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
- พ.ศ. 2446 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
- พ.ศ. 2446 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)
- พ.ศ. 2435 – เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา (ร.ศ.)
หมายเหตุ:พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์ กรมราชเลขานุการในขณะนั้นรับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ข้าราชการกรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลก่อนมาจนถึงปีวอกวัตวาศกศักราช 123 ในงานพระราชพิธีสมภาคาภิเษก โดยหมายให้ข้าราชการมาบอกบัญชีที่กรมพระอาลักษณ์ หมายวันที่วันที่ 18 สิงหาคม 2444 โดยให้มาแจ้งความที่หม่อมนิวัทธอิศรวงษ์ (หม่อมราชวงศ์พยอม อิศรศักดิ์) ณ กรมพระอาลักษณ์ ให้จดบัญชีชื่อตั้งชื่อเดิม และรับตำแหน่งยศเป็นที่อะไร ปีใด ศักราชใด ให้เสร็จภายในวันที่ 10 กันยายน รัตนโกสินทร์ศก 122 (พ.ศ. 2446)[49][50] สำหรับตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ต.ช.) (ป.ม.) ประจำตำแหน่ง เหรียญราชอิสริยาภรณ์ (ร.ด.ม.) และ (ร.บ.ม.) สำหรับนักกวี ส่วน (ร.จ.พ.) กรณีที่รับราชการมามากกว่า 25 ปี สำหรับเครื่องราชอิสรยาภรณ์จุลจอมเกล้าโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สำหรับตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ (ชั้น ท.จ.) และร่วมทำหน้าที่ราชการทหาร การสงคราม (ต่อมารัชกาลภายหลังโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแทน)
อ้างอิง
[แก้]- หมายเหตุ
- เชิงอรรถ
- ↑ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (2505). สามเจ้าพระยา: เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร), เจ้าพระยาบดินทร์เดชา สิงห์ (สิงหเสนี), เจ้าพระยาทิพากรณ์วงศ์ (ขำ บุนนาค). พระนคร: โรงพิมพ์อาศรมอักษร. หน้า 454.
- ↑ ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. (2541). ประวัติวรณคดีวิจารณ์ไทย พ.ศ. 2325-2525 ทอไหมในสายน้ำ 200 ปี วรรณคดีวิจารณ์ไทย. กรุงเทพฯ: ประพันธ์สานส์, 2541. 291 หน้า. ISBN 974-230-708-3
- นันธนัย ประสานนาม. (2556). พิพิธพรรณวรรณา: ความทรงจำและสยาม - ไทยศึกษาในบริบทสากล. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์. 352 หน้า. หน้า 303. ISBN 978-616-278-111-7
- De Fels, Jacqueline. (1993). Promotion de la littérature en Thaïlande: vers les prix littéraires (1882–1982). Paris: INALCO. p. 640. ISBN 978-285-5-39587-6
- ↑ 3.0 3.1 ข่าวตาย. (๒๔๓๙). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๑๓. หน้า ๒๘๙–๒๙๐.
- ↑ ชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล), พระยา. คำสอนจากขุนพิสณฑ์สู่ลูกหลาน. หน้า 5.
- ↑ สำนักราชเลขาธิการ. (2544). ประวัติสํานักราชเลขาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขาธิการ. 379 หน้า. หน้า 177. ISBN 978-9-748-04979-3
- กฤตภาส โรจนกุล. (2554). เอกสารการค้นคว้าประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาเรื่อง โรจนกุล ชีวประวัติและเชื้อสายสัมพันธ์. กรุงเทพฯ: [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่).
- ↑ ชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล), พระยา. คำสอนจากขุนพิสณฑ์สู่ลูกหลาน. หน้า 18.
- ↑ ชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล), พระยา. คำสอนจากขุนพิสณฑ์สู่ลูกหลาน. หน้า 19.
- ↑ บุญชัย ใจเย็น. (2556). "เรื่องการเมืองในวังหลวง," ชายในหม่อมห้าม. กรุงเทพฯ: ปราชญ์. 160 หน้า. หน้า 65. ISBN 978-616-3-44209-3
- ↑ ปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์), พระยา. (2554). "สุนทรภู่จากพระอมรสินธพ (นก)," ประวัติสุนทรภู่ จากบันทึกของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์). (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล. 375 หน้า. หน้า 14. ISBN 978-974-1-10958-6
- ↑ กลิ่น คงเหมือนเพชร. (2547). วรรณกรรมทักษิณ: วรรณกรรมปริทัศน์. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์. 728 หน้า.
- จารึกวัดโพธิ์. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
- ↑ เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. (2540). กายบริหารแบบไทย: ท่าฤๅษีดัดตน. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า. 373 หน้า.
- ↑ ยูเนสโกขึ้นทะเบียน ‘จารึกวัดโพธิ์’ ‘มรดกความทรงจำของโลก’. (2551, 1 เมษายน). MRG Online.
- ↑ เก้า มกรา. (2551). ธรรมลีลา, (89).
- ↑ ปัฐมาภรณ์ เหมือนทอง. (2554). การศึกษาฤๅษีดัดตนเพื่อเป็นแนวคิดในการออกแบบตกแต่งภายในสถานบริการแพทย์แผนไทย. (วิทยานิพนธ์ศิลปมหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ. ศิลปวัฒนธรรม เล่มที่ 24 ฉบับที่ 4-6. [ม.ป.ป.] : 2546.
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ. คนแปลกหน้านานาชาติของกรุงสยาม. มติชน 2546.
- ↑ ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2538.
- ↑ ศานติ ภักดีคำ. (25 ธันวาคม 2562). "เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กับบทบาทสร้างเมืองใหม่ในกัมพูชา". ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สิบค้นเมื่อ เมษายน 2563
- ↑ รวมสารบัญหนังสือชุด "วชิรญาณ". กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2561. 404 หน้า. ISBN 978-616-412-012-9
- ↑ กรมศิลปากร. (2495). วารสารศิลปากร, 6(5): 32.
- ↑ หอพระสมุดวชิรญาณ. โคลงพิพิธพากย์. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2457. พระยาราชพินิจจัย พิมพ์แจกในงานศพ ว่าที่นายพันโท หลวงไกรกรีธา (ยรรยง บุรณศิริ) พ.ศ. ๒๔๕๗.
- ↑ หนังสือเก่าชาวสยาม, วชิรญาณวิเศษ เล่ม ๘ แผ่น ๑๖–๒๐. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำนักหอสมุดแห่งชาติ.
- ↑ กรมศิลปากร, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (2555). นิทานวชิรญาณ เล่ม 1–2. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 849 หน้า. ISBN 978-616-2-83002-0
- ↑ เอมอร จิตตะโสภณ. (2513). วรรณคดีนิราศ. ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
- จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี, หม่อมเจ้า. (2513). นิราศนรินทร์คำโคลงและนิราศปลีกย่อย ฉบับพิมพ์. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา. 347 หน้า
- ↑ จินดามณี ฉบับหลวงลิขิตปรีชา[ลิงก์เสีย]. ศูนย์ข้อมูลวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม 2567.
- ↑ กรมศิลปากร. (2548). เลียดก๊ก เล่ม ๑. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
- พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร. (2544). สำเภาสยาม ตำนานเจ๊กบางกอก. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์.
- ↑ บรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค), สมเด็จเจ้าพระยา และคณะ. (2464). ตำรานพรัตน์. พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงแจกในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศล “ฉลองพระชนมายุครบหกสิบพรรษา” วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔. กรุงเทพฯ: โสภณพิพรรฒธนากร.
- เอนก นาวิกมูล. (2541). เที่ยวชมหนังสือเก่า. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า. 385 หน้า.
- ↑ อรุณวรรณ คงมีผล. "อัญมณีวิทยาในวรรณคดีไทย," วารสารมนุษยศาสตร์, 20(พิเศษ) (2556): 16. ISSN 0859-3485
- ↑ พลูหลวง. (2540). คติสยาม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 203 หน้า. ISBN 978-974-7-36781-2
- ↑ สุริยวงศ์มนตรี, พระยา และคณะ. (2454). ตำรานพรัตน์. พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร. 23 หน้า. หน้า 1.
- ↑ กรมศิลปากร. (2545). ปูมราชธรรม เอกสารสมัยอยุธยาจากหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 224 หน้า.
- นิยะดา เหล่าสุนทร. (2544). พินิจวรรณคดี รวมบทความวิชาการด้านวรรณคดี. กรุงเทพฯ: แม่คำผาง.
- ตำราพิไชยสงครามคำกลอน. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลตรี พระยารามจตุรงค์ (เพ็ชร บุณยรัตพันธุ์). พระนคร: โสภณพิพรรฒธนากร, 2469.
- ภมรี สุรเกียรติ. "เสนางตพยุหะ และพยุหจักรี: ตำราพิชัยสงครามพม่าสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18", สงขลานครินทร์ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 20(1): 235.
- ↑ "ตำราพิไชยสังคราม" สมุดไทยดำอักษรไทยเส้นสีเหลือง. หน้า 179 (หน้าต้น). อ้างถึงใน วสันต์ มหากาญจนะ. (2539): 13–14.
- ↑ นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ และกรมศิลปากร. (2511). "ตราให้หากองทัพเจ้าพญาบดินทรเดชากลับจากกรุงกัมพูชา," ประชุมพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว. (พิมพ์ครั้งที่ 2). พิมพ์ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ ขุนวรรณวุฒิวิจารณ์ (ทองปาน จิตะสมบัติ) ณ ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันพุธที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑. พระนคร: เลี่ยงเซียงจงเจริญ. หน้า 155–157.
- ↑ ศานติ ภักดีคำ. (2557). ยุทธมรรคา เส้นทางเดินทัพไทยเขมร. กรุงเทพฯ: มติชน. 288 หน้า. หน้า 44. ISBN 978-974-0-21342-0 อ้างใน ตราให้หากองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชากลับจากกัมพูชา.
- ↑ วารสารศิลปากร, 46(1–3)(2546).
- ↑ พระราชปุจฉาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-รัชกาลที่ ๕ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2513. หน้า 68–76.
- ↑ ศานติ ภักดีคำ (ชำระ, บรรณาธิการ). (2558). "บานแพนก," ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. มูลนิธิ "ทุนพระพุทธยอดฟ้า" ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 558 หน้า. หน้า 2. ISBN 978-616-9-23510-1
- ↑ ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ ฯ กรมพระยา. (2512). "ฉบับที่ ๒ บัญชีกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง สิงหเสนี) เมื่อยกไปเมืองพระตะบอง," ประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๗ (ต่อ) ๖๘) จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ ๓ ตอนที่ ๑ (ต่อ) และตอนที่ ๒. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. หน้า 182.
- ↑ จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เลขที่ ๑๓. หนังสือออกญาสุภาวดี เรื่อง ส่งหลวงลิขิตปรีชาออกสืบราชการ. หอสมุดแห่งชาติ.
- ↑ ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ ๔๒ (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๗ (ต่อ) ๖๘) จดหมายเหตุเกี่ยวกับเขมรและญวนในรัชกาลที่ ๓ ตอนที่ ๑ (ต่อ) และตอนที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2512. 296 หน้า. หน้า 180.
- ↑ จดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์ ร.๔ จ.ศ. ๑๒๒๓ (พ.ศ. 2404) เลขที่ ๒๘๕.
- ↑ ประวัติขุนนางวังหน้า ร.๒.. หน้า 12.
- ↑ เทพ สุนทรศารทูล. (2533). ชีวประวัติพระสุนทรโวหาร (ภู่ ภู่เรือหงส์). กรุงเทพฯ: พระนารายณ์. 225 หน้า. ISBN 974-575-133-2
- ↑ สมบัติ พลายน้อย. (2536). เจ้าฟ้าจุฑามณี พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น (1977). 315 หน้า.
- ↑ ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. (2504). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ เล่ม ๒. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา.
- ↑ ตำแหน่งข้าราชการกรมรัฐมนตรีแลกรมพระอาลักษณ์ รัตนโกสินทรศก ๑๑๗. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๕. ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. 2441). หน้า ๙๒.
- ตำแหน่งข้าราชการกรมรัฐมนตรีแลกรมพระอาลักษณ์ รัตนโกสินทรศก ๑๑๘. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๖. ๒ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ.2442). หน้า ๑๘๓.
- ตำแหน่งข้าราชการราชเลขานุการแลกรมพระอาลักษณ์ ศก ๑๒๙. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๒๗. ๑๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. 2453). หน้า ๖๖๕.
- ↑ ราชพระนามและนามสมาชิกเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๓๓. ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙. หน้า ๒,๑๗๒.
- ↑ ประกาศปลดอธิบดีกรมพระอาลักษณ์. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๔๙. ๑๗ ฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕. หน้า ๔๙๗.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. หมายให้ข้าราชการมาบอกบัญชีที่กรมพระอาลักษณ์. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธ์ ราชเลขานุการ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาในรัชกาลก่อนมาจนถึงปีวอกวัตวาศกศักราช ๑๒๓๔ ในงานพระราชพิธีสมภาคาภิเษก. กรุงเทพ ฯ. เล่มที่ 18 หน้า 296 วันที่ 18 สิงหาคม 2444.
- ↑ ตำแหน่งข้าราชการกรมรัฐมนตรีและกรมอาลักษณ์ รัตนโกสินทร์ศก 118 ตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์
- บรรณาณุกรม
- ชำนาญอักษร (ปลอบ โรจนกุล), พระยา. (2467). คำสอนจากขุนพิสณฑ์สู่ลูกหลาน. พิมพ์แจกในงานศพ พ.ท.หลวงพิสณฑ์ยุทธการ (ปึก) ท.ช., ร.จ.ม. เมื่อปีจอ วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ณ เมรุวัดอมรินทรารามวรวิหาร บางกอกน้อย. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.
- สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, และคณะ. (2556). สุริยพันธุ์คำกลอน. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ISBN 978-616-5-43226-9
- โครงการประชุมวิชาการมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 2 วันที่ 22-23 สิงหาคม 2562 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์: 106-107.