นายดีขุนหมื่น
นายดีขุนหมื่น | |
---|---|
เกิด | สมัยรัชกาลที่ 1 ตำบลบ้านช่างหล่อ วังหลัง ฝั่งธนบุรี |
เสียชีวิต | สมัยรัชกาลที่ 4 |
อาชีพ | ช่างเขียน กรมช่างสิบหมู่ |
ผลงานที่สำคัญ | แม่กองกำกับจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง รามเกียรติ์ วัดพระเชตุพน |
บุตร | หลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม โรจนกุล) |
ญาติ | นายนน (บิดา) |
นายดีขุนหมื่น หรือ นายดีมหาดเล็ก สกุลโรจนกุล เป็นช่างเขียน กรมช่างสิบหมู่ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล ผู้มีฝีมือชั้นเอกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีบทบาทในการการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3[1]
ประวัติ
[แก้]นายดีขุนหมื่น นามเดิม นายดี[2] เกิดเมื่อปลายรัชกาลที่ 1 นายนนเป็นบิดา[3] ปลูกเรือนเครื่องผูกย่านคลองบ้านช่างหล่อมาแต่สมัยกรุงธนบุรี บุตรชื่อหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม)[2] เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) มีนิวาสสถานเดิมที่ตำบลบ้านช่างหล่อ วังหลัง ฝั่งธนบุรี
สมัยรัชกาลที่ 2 นายดีได้เข้าสังกัดมูลนายของพระยาอร่ามมณเฑียร ฝ่ายพระราชวังบวร ตำแหน่งนายหมวด[3] มีหน้าที่ควบคุมไพร่ในสังกัดกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ต่อมานายดีจึงปลูกเรือนเครื่องสับที่ตรอกตลาดใหม่ ย่านวัดโสมนัสราชวรวิหาร กรุงเทพพระมหานครชั้นใน
สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เป็นช่างเขียนมหาดเล็ก ตำแหน่งช่างเขียน กรมช่างสิบหมู่ฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล
เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ครั้งใหญ่ พร้อมทั้งโปรดให้มีการบันทึกข้อมูลรายนามแม่กองผู้รับผิดชอบ ปรากฏว่านายดีช่างเขียนมหาดเล็ก ฝ่ายพระราชวังบวรได้กำกับผนังใหญ่งานจิตกรรมฝาผนัง[4] เรื่อง รามเกียรติ์ ตั้งแต่ตอนนนทกมาเกิดเป็นทศกัณฐ์ถึงตอนบุตรของท้าวลัสเตียนครองกรุงลงกา ณ ศาลาทิศใต้ของหอไตรพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) วัดพระเชตุพน ร่วมกับพระสมุห์ศรี ช่างบรรพชิตจากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยมีพระอภัยสุรินทร เจ้ากรมพลพันซ้าย กำกับการซ่อม และการเขียนช่าง[5] ปัจจุบันจิตรกรรมศาลาทิศใต้ของหอไตรพระมณฑป รวมทั้งศิลาจารึกที่อธิบายกำกับภาพได้เลือนหายไปจนหมดสิ้นแล้วในปัจจุบัน[4]
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/6/6b/Reclining_Buddha_Temple_Bangkok.jpg/300px-Reclining_Buddha_Temple_Bangkok.jpg)
และปรากฏต่อมาว่า นายดีช่างเขียนมหาดเล็กฝ่ายพระราชวังบวรมีหน้าที่ตรวจตราศาลารายรอบวัดพระเชตุพน ทั้งภายในและภายนอก ปรากฏตามบัญชีรายชื่อจิตรกรว่านายดีมหาดเล็กร่วมกับรายชื่อจิตรกรสมัยนั้นที่ทำงานให้วัดพระเชตุพน[6] และปรากฏใน ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ว่า:–
พระครูอุดมสังวร พระครูลงเครื่องเป็นผู้ชี้ขาดช่างพระสงฆ์ พระครูวินัยธรเป็นผู้ร่างเรื่องตำนาน นายดีมหาดเล็กตรวจตราทั่วไปทั้งศาลารายภายนอกและภายใน อาลักษณเป็นผู้เขียนเรื่องตำนาน หมื่นนิพนธ์เป็นผู้ช่วยทุกศาลา ภาพใดที่ไม่เหมาะก็ให้เปลี่ยนแปลงใหม่[7][8]: 50
สำหรับการบูรณะศาลาการเปรียญที่ศาลาทิศหอไตร (พระมณฑป) วัดพระเชตุพน ปรากฏว่านายดีมหาดเล็กมีหน้าที่เป็นผู้ตรวจ[9] ส่วนหลวงลิขิตปรีชา (คุ้ม โรจนกุล) บุตร ร่วมแต่งโครงประกอบจารึกวัดพระเชตุพน เช่น เพลงยาวกลบท โครงฤๅษีดัดตน และโครงบาทกุญชร ว่าด้วยมนุษย์ต่างภาษา เป็นต้น[8]: 38–40
สมัยรัชกาลที่ 4 เข้าสังกัดมูลนายกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) รับราชการเป็นที่นายดีขุนหมื่น[2] ตำแหน่งช่างเขียนกรมช่างสิบหมู่ฝ่ายพระราชวังบวรจนกระทั่งถึงแก่กรรม
นายดีขุนหมื่นเป็นหนึ่งในจิตรกรช่างเขียนรุ่นใหญ่ของกรมช่างสิบหมู่ฝ่ายวังหน้าผู้มีฝีมือชั้นเอกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น[10] และมีสมญานามว่า นายดี กินเจ[10]
ตำแหน่งราชการ
[แก้]- นายหมวด สังกัดมูลนายพระยาอร่ามมณเฑียร (ใหญ่) ฝ่ายพระราชวังบวร
- ช่างเขียนมหาดเล็ก กรมช่างสิบหมู่ฝ่ายพระราชวังบวร
- ช่างเขียนมหาดเล็ก กรมช่างสิบหมู่ฝ่ายพระราชวังบวร สังกัดมูลนายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)[2]
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. (2543). ร้อยคำร้อยความ: รวมประวัติและผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 182. ISBN 978-974-3-46130-9
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 ข่าวตาย. (2439). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 13. หน้า 289.
- ↑ 3.0 3.1 โดยพระบรมราชโองการ สารบาญชีส่วนที่ ๒ คือ ราษฎรในจังหวัด ถนนแลตรอก สำหรับเจ้าพนักงานกรมไปรสนีย์ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่จำนวนปีมะแมเบญจศก จุลศักราช ๑๒๔๕ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บ้านพระเทพผลู, 2425. หน้า 387.
- ↑ 4.0 4.1 อรวรรณ เชื้อน้อย. (2563). งานศิลปกรรมวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร : ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (The Arts in Wat Phrachetuphon Vimolmangklaram Rajawaramahaviharn : Social and Cultural Reflections in early Rattanakosin Period). วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ประวัติศาสตร์ศิลปะ). ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 203.
- ↑ น. ณ ปากน้ำ (ประยูร อุลุชาฎะ) และกนกวรรณ ฤทธิไพโรจน์. (2537). วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. หน้า 143. ISBN 978-974-7-36718-8
- ↑ พระธรรมราชานุวัตร, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร. (2541). โบราณวัตถุจากพระมหาเจดีย์ ๔ รัชกาล วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. หน้า 101. ISBN 978-974-8-36927-3 :– "สำหรับรายชื่อจิตรกรที่ทำงานให้วัดพระเชตุพนฯ ในสมัยนั้นมีดังนี้ หลวงราชานุรักษ์ หลวงชาญภูเบศร์ มหาดเล็กจากวังหน้า หลวงกรรภ์ยุบาลราชรักษ์ (จ่าจิตรนุกูล) หลวงพิทักษ์นรินทร์ จ่ายงมหาดเล็ก หลวงราชเสวก หลวงเสน่ห์รักษา นายด้วง สมุห์เพิก ราชกิจจิตรกรรม สมุห์จั่น สมุห์ศรี หลวงพิพิธ นายน้อย หลวงราชโยธา พระอภัยสุรินทร์ นายสุด นายเรืองมหาดเล็ก พระครูวิจิตรโฆษา นายดีมหาดเล็ก พระยาเพชรพิไชย พระยาอร่ามรัตนมณเฑียร มีหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้างสําหรับช่างเขียนในพระอุโบสถดังนี้ "ในพระอุโบสถมีรูปเขียนพระสาวกกำลังประคองอัญชลี รูปเขียนที่คอสอง มีการจ่ายราชทรัพย์สําหรับช่างด้าน ละ ๗ กระษาปณ์ ผนังด้านบนเขียนเรื่องมโหสถจ่ายเงินห้องละ ๗ กระษาปณ์ ผนังระหว่างหน้าต่างเขียนเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ ล้วนแต่เลือกช่างคฤหัสถ์และพระฝีมือเลิศ ผนังละ ๕ กระษาปณ์ เขียนลายประดับเสากลางพระอุโบสถจ่ายช่างเขียนเสาละ ๔ กระษาปณ์"
- ↑ บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ. (2550). "ภัยฝรั่ง" สมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ: มติชน. หน้า 142. ISBN 978-974-0-20004-8
- ↑ 8.0 8.1 ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน ฯ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระอริยวงศาตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ณ เมรูหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๑๗. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนสำกัด ศิวพร.
- ↑ สมใจ โพธิ์เขียว. (2550). การศึกษาวิเคราะห์โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (An Analytical Study of Klong Dan Patisangkhorn Wat Phrachetuphon By The Supreme Patriarch His Royal Highness Prince Paramanujitajinorasa). วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (วรรณคดีไทย). บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร. หน้า 57. doi:10.14457/KU.the.2007.563
- ↑ 10.0 10.1 จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. (2543). ร้อยคำร้อยความ: รวมประวัติและผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 182. ISBN 978-974-3-46130-9 :– "ตัวช่างรุ่นเก่าซึ่งได้เคยเขียนสําแดงฝีไม้ลายมือมาแต่เมื่อคราวนั้นซึ่งมีจำนวนมากกว่า ๑๕๐ ท่าน ตกมาถึงกาลปัจจุบันนี้ก็ล่วงโรยถึงอายุขัยไปเสียกว่ามาก คุณพระเทวาภินิมมต (ฉาย เทียมศิลปไชย) แม่กองกำกับการซ่อมแต่คราวโน้น ก็เดินทางไปสู่ปกโลกเสียน่านกว่า ๑๐ ปีแล้ว ยังมีช่างเขียนรุ่นใหญ่ฝีมือเป็นเอกในสมัยนั้น เช่น ครูเขมี ตาลลักษณะ ขุนเจนจิตรยง ครูเปรื่อง แสงเถกิง นายดี กินเจ นายยู่เก่ง ล่อเห่ง ฯลฯ ท่านที่กล่าวนามมานี้ล้วนหาชีวิตไม่แล้วทั้งสิ้น"