พระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร
พระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
พระเจ้าหลวงพระบาง | |||||||||
ครองราชย์ | 15 ธันวาคม พ.ศ. 2415 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2431 | ||||||||
ก่อนหน้า | พระเจ้าจันทรเทพประภาคุณ | ||||||||
ถัดไป | พระเจ้าสักรินทรฤทธิ์ | ||||||||
พระราชสมภพ | พ.ศ. 2354 | ||||||||
สวรรคต | 15 ธันวาคม พ.ศ. 2438 | ||||||||
พระอัครมเหสี | พระนางกามุนี | ||||||||
| |||||||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ล้านช้างหลวงพระบาง | ||||||||
พระราชบิดา | เจ้ามันธาตุราช | ||||||||
พระราชมารดา | พระนางคำมูน |
พระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร มีพระนามเดิมว่า เจ้าอุ่นคำ[1] เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 11 แห่งราชอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง และเป็นพระองค์สุดท้ายภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรสยาม
พระราชประวัติ
[แก้]ทรงพระราชสมภพ ณ นครหลวงพระบาง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2354 เป็นพระราชโอรสในเจ้ามันธาตุราชกษัตริย์ล้านช้างหลวงพระบางพระองค์ที่ 8 และพระนางคำมูน ทรงครองราชย์ครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2415 ถึง พ.ศ. 2430 โดยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าผู้ครองนครหลวงพระบาง มีพระนามว่า "เจ้ามหินทรเทพนิภาธร วรวิสุทธธรรมสัตยา มหาปเทศาธิบดี ศรีสัตนาคนหุต วุฒิเกษตราธิฐาน ประชานุบาลมลาวพงษ์ ดำรงนครหลวงพระบางราชธานี เจ้านครหลวงพระบาง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกเป็นที่จางวาง มีพระนามว่า "พระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร ขจรสัจธรรมวิสุทธ วรวุฒิกูลวงษ์ มลาวพงษาธิบดีศรีสัตนาคนหุต อุตมเขตรวิเศษศักดิ์ อรรคมหาปธานาธิการ ภูบาลบพิตร จางวางเมืองนครหลวงพระบาง[2] และครองราชย์ครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2432 ถึง พ.ศ. 2438[3][4] การครองราชย์ของพระองค์สิ้นสุดลงด้วยการที่ลาวตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส
พระองค์มีพระโอรส 2 องค์ คือ เจ้าคำสุก เจ้าศรีสุพรรณ และมีพระธิดา 4 องค์ คือ เจ้านางหนูคิ้ม เจ้านางหนูคำ เจ้านางคำหลา เจ้านางอ่อนแก้ว
การเสด็จลงมายังกรุงเทพมหานคร
[แก้]ในปี พ.ศ. 2429 (2430 นับอย่างปัจจุบัน) เจ้านครหลวงพระบางเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเกิดกบฏฮ่อ โดยมีรายละเอียดในการเข้าเฝ้าฯ ดังต่อไปนี้
"วันที่ 6 เดือน 12 ขึ้น 5 ค่ำ เวลาย่ำค่ำเศษ พระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ครึ่งยศ ทรงสร้อยจักรีบรมราชวงศ์ เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานทองคำภายใต้พระมหาเสวตรฉัตร ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เจ้าพนักงานประโคมแตรฝรั่ง มโหรทึก ทหารเป่าแตรสรรเสริญพระบารมี ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว กรมวังกรมมหาดไทย นำเจ้านายเมืองนครหลวงพระบางเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระยาศรีทูลเบิกนำ พระบริรักษโยธี ปลัดขวาเมืองพิไชย ผู้นำ 1 เจ้ามหินทรเทพนิภาธร 1 เจ้าศรีสุพรรณ ว่าที่ราชบุตร 1 เจ้าปาน 1 เจ้าศรีสนไชย 1 เจ้าบวรพันธุ 1 บุตรเจ้ามหินทรทั้งสามคน เจ้าสวมคำ บุตรเจ้าอุปราชคำบัว 1 เจ้ายม บุตรเจ้าราชบุตรแก่น 1 รวมเจ้านายเมืองหลวงพระบางเข้าเฝ้า 7 คน จำนวนคนที่ลงมา เจ้านครหลวงพระบาง 1 เจ้าศรีสุพรรณ ว่าที่ราชบุตร 1 เจ้านายบุตรหลาน ชาย 13 หญิง 12 รวม 27 ไพร่ชายหญิง 50 รวม 77"
แล้วพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสปฏิสันฐานมีเนื่องความดังต่อไปนี้
1 "เจ้านครหลวงพระบางลงมาอยู่กรงเทพฯ ไม่เจ็บไข้อันใดฤา"
"ขอเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ เจ้านครหลวงพระบางแลบุตรหลานมีความสุขสบาย"
2 "เรามีความสงสารในการที่เสียเมืองครั้งนี้ ต้องเสียทรัพย์สมบัติ แลพรัดพรากจากถิ่นถานบ้านเรือน การที่เสียเมืองหลวงพระบางครั้งนี้ ก็เป็นการเสียเกียรติยศกรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน แต่เจ้านครหลวงพระบาง ได้อุสาห์รักษาเมืองหลวงพระบางอยู่จนถึงเวลาอับจนนั้น ก็เป็นความชอบอยู่แล้ว อย่ามีความกลัวว่าจะมีความผิดเลย"
"ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แด่เจ้านครหลวงพระบางทั้งนี้ พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ การที่ต้องเสียเมืองครั้งนี้ ขอพระบารมีเป็นที่พึ่งสืบไป"
3 "การเมืองหลวงพระบางคงจะขึ้นไปจัดให้เรียบร้อย ตัวเจ้านครหลวงพระบางก็จะให้ขึ้นไปด้วยกับกองทัพใหญ่ แต่การรักษาบ้านเมืองแต่ก่อนมา เป็นการหละหลวมไม่เป็นหลักฐาน ต้องให้เจ้านครหลวงพระบางคิดปฤกษาหาฤากับแม่ทัพ แลข้าหลวง จัดการรักษาบ้านเมืองจะได้ไม่เป็นการลำบากเสียบ้านเมืองต่อไป"
"การที่ทรงพระกรุณาดังนี้ เจ้านครหลวงพระบาง จะคิดปฤกษาหาฤากับแม่ทัพ แลข้าหลวงรักษาราชการ ฉลองพระเดชพระคุณเต็มสติกำลัง"
แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม มหาสุราภรณ์ ม.ส.ม. ทรงสรวมพระราชทาน แล้วพระราชทานเครื่องยศอื่นๆ[5]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2429 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[6] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสวมพระราชทาน
เครื่องยศ
[แก้]- เมื่อครั้งพระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร เสด็จมายังกรงเทพมหานคร เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศใหม่ แทนของเดิม ได้แก่ "พระมาลากำมะหยี่สีลูหว้าขลิบทองคำ 1 ดาบฝักสักกะหลาดแดงบั้งทอง 1 หอกคอทอง 1 คู่ พานทองกลมเครื่องในพร้อม 1 คนโททอง 1 กระโถนทอง 1 ประคำทอง 1 สาย ประคำโมรา 1 สาย เสื้อเข้มขาบริ้วดี 1 เสื้อเข้มขาบดอกใหญ่ 1 เสื้อญี่ปุ่นแพรจีนเจา 1 ผ้าส่านวิลาศ 1 แพรขาวหงอนไก่ 1 แพรโล่ดอก 1 ปูมเขมร 1 ผ้าเกี้ยว 1 ผ้าลายอย่างละ 1" นอกจากนี้ยังได้พระราชทานเงินจำนวน 30 ชั่ง สำหรับซื้อเครื่องอุปโภคใช้สอยไปก่อนเสด็จขึ้นนครหลวงพระบาง
ราชสกุลวงศ์
[แก้]ข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้มาจากเว็บไซต์ royalark.net[7] ยกเว้นเฉพาะข้อมูลของราชสกุลสายเจ้าศรีสญชัย อ้างอิงตามข้อมูลจากการค้นคว้าที่ปรากฏในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก ไสว ไสวแสนยากร ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. 22 มีนาคม 2524[8]
รายพระนามพระภรรยาเจ้าและรายนามพระสนม
[แก้]- พระอัครมเหสีสิมพลี
- พระอัครมเหสีกมล
- เสด็จเจ้าหญิงบุดดี
- เสด็จเจ้าหญิงบัวสี
- เสด็จเจ้าหญิงอบมา
- เจ้าหม่อมกา
- หม่อมปอง
- หม่อมแพงแก้ว
รายพระนามพระราชโอรส
[แก้]- องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายคำสุก (เจ้าคำสุก) ประสูติแต่พระนางสิมพลี ต่อมาเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าสักรินทรฤทธิ์ธำรง
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายตรีศรีสุพรรณ (เจ้าศรีสุพรรณ) เจ้าราชวงศ์แห่งนครหลวงพระบาง ประสูติแต่เสด็จเจ้าหญิงบุดดี เป็นต้นสกุล "กันยา" (สืบเชื้อสายจากเสด็จเจ้าชายกันยา เจ้ากรมเลก พระโอรสองค์ใหญ่ในองค์เสด็จเจ้าชายตรีศรีสุพรรณ)
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายศรีสุมัง ประสูติแต่เสด็จเจ้าหญิงบุดดี
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายบัวระพัน (เจ้าบวรพันธุ) ประสูติแต่เสด็จเจ้าหญิงบัวสี
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายแก่นคำ ประสูติแต่เสด็จเจ้าหญิงอบมา
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายคำบัว ประสูติแต่เสด็จเจ้าหญิงอบมา
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายคำตัน ประสูติแต่เสด็จเจ้าหญิงอบมา
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายคำเหง้า เจ้ากรมพระคลัง ประสูติแต่เจ้าหม่อมกา
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายคำพัน เจ้ากรมแสง ประสูติแต่หม่อมปอง
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าชายศรีสญชัย (เจ้าศรีสญชัย หรือศรีสนไชย) ประสูติแต่หม่อมแพงแก้ว มียศเป็นนายร้อยตรีแห่งกองทัพบกราชอาณาจักรสยาม ได้อพยพครอบครัวลงมาอยู่ที่กรุงเทพหลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112 สิ้นพระชนม์ที่หลวงพระบางระหว่างสะสางธุระต่างๆ เพื่อย้ายตามครอบครัวลงมาที่กรุงเทพ เป็นต้นสกุล
- อุ่นคำ (สืบเชื้อสายจากเจ้าศรีสญชัยโดยตรง)
- มหินทรเทพ (สืบเชื้อสายจากรองอำมาตย์โท ขุนศรีสวัสดิ์ประภา นามเดิม เจ้าศรีสวัสดิ์ อุ่นคำ โอรสองค์ที่ 2 ของเจ้าศรีสญชัยกับหม่อมสมบุญ)
- ไสวแสนยากร (สืบเชื้อสายจาก พล.อ.ไสว ไสวแสนยากร นามเดิม เจ้าศรีไสว อุ่นคำ โอรสองค์ที่ 4 ของเจ้าศรีสญชัยกับหม่อมสมบุญ)
รายพระนามพระราชธิดา
[แก้]- องค์เสด็จเจ้าฟ้าหญิงหนูคิ้ม ประสูติแต่พระสนม (ไม่ทราบชื่อ)
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าหญิงหนูคำ ประสูติแต่พระสนม (ไม่ทราบชื่อ)
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าหญิงคำหล้า ประสูติแต่เสด็จเจ้าหญิงบุดดี
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าหญิงสุมณฑา ประสูติแต่เสด็จเจ้าหญิงบัวสี
- องค์เสด็จเจ้าฟ้าหญิงคำดวง ประสูติแต่เสด็จเจ้าหญิงอบมา
เชิงอรรถและอ้างอิง
[แก้]- ↑ ในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ทรงออกพระนามของพระองค์ในสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสมอบเอกราชให้พระราชอาณาจักรลาว เมื่อวันที่ 22 เดือนตุลาคม ค.ศ. 1953 ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตอุ่นคำ https://www.facebook.com/sivid.nor.1/videos/pcb.166391927265410/166388970599039/?type=3&theater
- ↑ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2433/043/390.PDF
- ↑ "LUANG PRABANG". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-05. สืบค้นเมื่อ 2013-05-10.
- ↑ Merriam-Webster's Biographical Dictionary. Merriam-Webster Incorporated, 1995.
- ↑ ข่าวเจ้านครหลวงพระบางเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท, ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 4 หน้า 231 - 232.
- ↑ มหาสุราภรณ์
- ↑ http://royalark.net/Laos/prabang7.htm
- ↑ https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:2349
ก่อนหน้า | พระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าจันทรเทพประภาคุณ | พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง (15 ธันวาคม พ.ศ. 2415 – 25 มีนาคม พ.ศ. 2431) |
พระเจ้าสักรินทรฤทธิ์ |