ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์
พระฉายาลักษณ์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2556
พระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์
ครองราชย์30 เมษายน พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน
(11 ปี 343 วัน)
พิธีขึ้นครองราชย์30 เมษายน พ.ศ. 2556
ก่อนหน้าสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์
รัชทายาทเจ้าหญิงคาทารีนา-อะมาเลีย เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์
นายกรัฐมนตรีมาร์ก รึตเตอ
ดิก สโคฟ
พระราชสมภพ27 เมษายน พ.ศ. 2510 (57 พรรษา)
ยูเทรกต์ เนเธอร์แลนด์
คู่อภิเษกสมเด็จพระราชินีมักซิมา
(พ.ศ. 2545 – ปัจจุบัน)
พระราชบุตร
พระนามเต็ม
วิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ ครอส จอร์จ เฟอร์ดินานด์
ราชวงศ์
พระราชบิดาเจ้าชายเคลาส์
พระราชมารดาสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์
ศาสนาคริสต์ (โปรเตสแตนต์)
ลายพระอภิไธย

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์[1] หรือพระนามเต็ม วิลเลิม อเล็กซานเดอร์ คลอส จอร์จ เฟอร์ดินานด์ (ดัตช์: Willem-Alexander Claus George Ferdinand; พระราชสมภพ 27 เมษายน พ.ศ. 2510) เป็นพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์พระองค์ปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556 เป็นพระราชโอรสพระองค์โตของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์และเจ้าชายเคลาส์ มีพระอนุชา 2 พระองค์คือ เจ้าชายฟริโซและเจ้าชายคอนสแตนติน อเล็กซิออส

พระชนม์ชีพช่วงต้น

[แก้]
สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ (ซ้าย) เมื่อพระชนมายุ 14 พรรษา และเจ้าชายฟริโซแห่งออเรนจ์-นัสเซา ในปี 2525

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์พระราชสมภพเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2510 ณ Academic Hospital Utrecht (ปัจจุบันคือ University Medical Center Utrecht) ที่ยูเทรกต์ เป็นพระโอรสพระองค์แรกของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ และเจ้าชายเคลาส์ ทำให้พระองค์เป็นรัชทายาทลำดับแรกของราชบัลลังก์เนเธอร์แลนด์ในขณะนั้น[2] และเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกในสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาและเจ้าชายแบร์นฮาร์ท พระองค์ยังเป็นเจ้าชายพระองค์แรกของราชวงศ์เนเธอแลนด์ที่ประสูตินับตั้งแต่การประสูติของเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ เมื่อปี 2394 และเป็นรัชทายาทโดยตรงเพศชายพระองค์แรกนับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายอเล็กซานเดอร์เมื่อปี 2427

ตั้งแต่ประสูติ สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ทรงดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายแห่งเนเธอร์แลนด์ (ดัตช์: Prins der Nederlanden) เจ้าชายแห่งออเรนจ์-นัสเซา และ Jonkheer of Amsberg[2] พระองค์รับศีลจุ่มในฐานะสมาชิกของ Dutch Reformed Church[3] เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2510[4]ในโบสถ์ Saint Jacob ที่เดอะเฮก[5] พระบิดาและพระมารดาอุปถัมภ์ของพระองค์ ได้แก่ เจ้าชายแบร์นฮาร์ทแห่งลิพเพอ-บีสเทอร์เฟ็ลท์ (พระอัยกา) บารอนเนสกอซตา ฟอน เดม บุสส์เช-เฮดเดนฮัวเซน (พระอัยยิกาฝ่ายพระบิดา) Prince Ferdinand von Bismarck อดีตนายกรัฐมนตรี Jelle Zijlstra Jonkvrouw Renée Röell และสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก[4]

พระองค์มีพระอนุชาสองพระองค์ ได้แก่ เจ้าชายฟริโซ (พ.ศ. 2511 – 2556) และเจ้าชายคอนสตันติน (ประสูติ พ.ศ. 2512) พระองค์ประทับร่วมกับครอบครัว ณ ปราสาท Drakensteyn ในหมู่บ้าน Lage Vuursche ไม่ไกลจาก Baarn ตั้งแต่ประสูติจนถึงปี 2524 ก่อนจะย้ายไปยังพระราชวัง Huis ten Bosch ที่เดอะเฮก ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ในปี 2523 สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์พระมารดาของพระองค์ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์ หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาพระอัยกาสละราชสมบัติ ส่งผลให้พระองค์ได้รับพระอิสริยยศเจ้าชายแห่งออเรนจ์ ในฐานะรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์เนเธอร์แลนด์ ขณะมีพระชนมายุ 13 พรรษา[2]

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ทรงเข้ารับศึกษาในโรงเรียนประถมของรัฐ Nieuwe Baarnse Elementary School ที่ Baarn ตั้งแต่ปี 2516 ถึง 2522 ต่อมาทรงศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยม 2 แห่ง ได้แก่ Baarns Lyceum ที่ Baarn ระหว่างปี 2522 ถึง 2524 และ Eerste Vrijzinnig Christelijk Lyceum ที่เดอะเฮก ระหว่างปี 2524 ถึง 2526 หลังจากนั้นทรงศึกษาต่อที่วิทยาลัยเตรียมอุดมศึกษาเอกชน Atlantic College ที่ประเทศเวลส์ ระหว่างปี 2526 ถึง 2528 ซึ่งพระองค์ได้รับวุฒิบัตร International Baccalaureate ที่นั่น[2][6]

หลังจากเสร็จสิ้นการรับราชการทหารตั้งแต่ปี 2528 ถึง 2530 สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยไลเดิน ตั้งแต่ปี 2530 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท (doctorandus) ในปี 2536[7][8] พระองค์ได้เขียนวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ "การตอบสนองของเนเธอร์แลนด์ต่อการตัดสินใจของฝรั่งเศสภายใต้ประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล ในการถอนตัวจากโครงสร้างการบังคับบัญชารวมของเนโท"[2]

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ทรงพูดภาษาอังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และเยอรมัน (ซึ่งเป็นภาษาแม่ของพระบิดา) นอกเหนือจากภาษาดัตช์ซึ่งเป็นภาษาแม่ของพระองค์[9]

พระมหากษัตริย์

[แก้]

หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์พระราชมารดาสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556 พระองค์จึงขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนเธอร์แลนด์พระองค์แรกนับตั้งแต่พระเจ้าวิลเลิมที่ 3 เสด็จสวรรคตเมื่อปี 2433 เป็นอันสิ้นสุดการครองราชย์โดยสมเด็จพระราชินีนาถที่ยาวนานถึง 123 ปี

ราชาภิเษกสมรส

[แก้]

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ทรงเข้าพิธีหมั้นกับสมเด็จพระราชินีมักซิมา ธิดาของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของอาร์เจนตินา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2544 และทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ทรงได้รับการจดทะเบียนสมรสโดยนายกเทศมนตรีอัมสเตอร์ดัมที่ Beurs van Berlage และทรงเข้ารับการประสาทพรที่โบสถ์นิวเวอร์แคร์กในกรุงอัมสเตอร์ดัม

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม-อเล็กซานเดอร์และสมเด็จพระราชินีมักซิมา มีพระธิดาด้วยกัน 3 พระองค์คือ

  1. เจ้าหญิงคาทารีนา-อะมาเลีย เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์ (ประสูติ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2546)
  2. เจ้าหญิงอะเลกซียา (ประสูติ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2548)
  3. เจ้าหญิงอารียาน (ประสูติ 10 เมษายน พ.ศ. 2550)

พระราชกรณียกิจ

[แก้]

ด้านการทหาร

[แก้]

สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ทรงผ่านการฝึกจากสถาบันราชนาวีของเนเธอร์แลนด์ พระองค์ทรงรับราชการเป็นนายทหารประจำเรือหลวง Tromp และเรือหลวง Abraham Crijnssen และทรงดำรงยศนาวาโท นอกจากนั้นยังทรงผ่านการฝึกจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรของเนเธอร์แลนด์ ดำรงยศนาวาอากาศโทแห่งกองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์และพลจัตวาแห่งกองทัพบกเนเธอร์แลนด์

ด้านกีฬา

[แก้]

พระองค์เป็นสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากลตั้งแต่ปี 2541 จนกระทั่งก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ นอกจากนั้น พระองค์ยังสนพระทัยในกีฬาเทนนิส กรีฑา สกี ว่ายน้ำ แล่นเรือใบ กอล์ฟ ปีนเขา ขี่ม้า สเก็ตช์น้ำแข็ง และดำน้ำ ทรงเข้าร่วมการแข่งขันสเก็ตช์น้ำแข็งมาราธอน[10]และการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่นิวยอร์กอีกด้วย

ด้านการบิน

[แก้]

พระองค์ทรงสนพระทัยในการบินเป็นอย่างยิ่ง ทรงได้รับใบอนุญาตขับเครื่องบินส่วนพระองค์และใบอนุญาตขับเครื่องบินพาณิชย์

พระราชอิสริยยศ

[แก้]
ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนเธอร์แลนด์
ธงประจำพระอิสริยยศ
ตราประจำพระองค์
การทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพระพุทธเจ้าค่ะ/เพคะ
ลำดับโปเจียม1
  • 27 เมษายน พ.ศ. 2510 – 30 เมษายน พ.ศ. 2523: ฮิสรอยัลไฮเนส เจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์
  • 30 เมษายน พ.ศ. 2523 – 30 เมษายน พ.ศ. 2556: ฮิสรอยัลไฮเนส เจ้าชายวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์ เจ้าชายแห่งออเรนจ์
  • 30 เมษายน พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน ฮิสมาเจสตี สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระราชวงศ์เนเธอร์แลนด์ เก็บถาวร 2014-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ราชกิจจานุเบกษา
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "The Prince of Orange" (PDF). Dutch Royal House (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). May 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-05-09. สืบค้นเมื่อ 2009-07-19.
  3. "Doop Willem-Alexander" [Baptism of Willem-Alexander]. Nederlandse Omroep Stichting (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-31. สืบค้นเมื่อ 2009-12-13.
  4. 4.0 4.1 "40 meest gestelde vragen" [40 most frequently asked questions]. Dutch Royal House (ภาษาดัตช์). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-04. สืบค้นเมื่อ 2009-12-13.
  5. "Doopplechtigheid Prins Willem-Alexander in Sint Jacobskerk" [Baptism ceremony of Prince Willem-Alexander in St. Jacob Church: 3 parts]. Radio Netherlands Worldwide (ภาษาดัตช์). 2009-04-27. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-27. สืบค้นเมื่อ 2009-12-13.
  6. "Z.M. koning Willem-Alexander, koning der Nederlanden, prins van Oranje-Nassau" [H.M. King Willem-Alexander, King of the Netherlands, Prince of Orange-Nassau]. Parlement (ภาษาดัตช์). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2013-04-05.
  7. Hoff, Ruud. "Leiden, 2 juli 1993" [Leiden, 2 July 1993]. ANP Historisch Archief Community. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-12. สืบค้นเมื่อ 2017-06-15.
  8. "Dutch royals in Leiden". Leiden University. 26 April 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-17. สืบค้นเมื่อ 2022-04-26.
  9. "Prins Willem-Alexander blundert tijdens staatsbezoek Mexico" [Prince Willem-Alexander blunders during state visit to Mexico]. 925. 2009-11-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-10. สืบค้นเมื่อ 2013-05-03.
  10. Han (4 October 2012). "FAQ: eleven facts about the Eleven Cities Race | Radio Netherlands Worldwide". Radio Netherlands Worldwide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-13. สืบค้นเมื่อ 28 January 2013.
ก่อนหน้า สมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลิม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ ถัดไป
สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์
พระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์
(30 เมษายน พ.ศ. 2556 – ปัจจุบัน)
ยังอยู่ในราชสมบัติ