สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต)
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | ท่านเจ้าประคุณ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 17 กันยายน พ.ศ. 2479 อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด ประเทศสยาม |
มรณภาพ | 15 มีนาคม พ.ศ. 2565 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรุงเทพมหานคร |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | ป.ธ.9 น.ธ.เอก |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 |
พรรษา | 68 |
ตำแหน่ง | อดีตคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช,อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม,อดีตประธานคณะสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช,อดีตเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต,อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร |
สมเด็จพระวันรัต ฉายา พฺรหฺมคุตฺโต (นามเดิม:จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์) เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย อดีตคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช,อดีตเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต[1], อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม, อดีตประธานคณะสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20[2] และอดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
ประวัติ
[แก้]สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2479 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านเกาะเกตุ ตำบลชำราก อำเภอเมือง จังหวัดตราด โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายจันทร์และนางเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์ ท่านสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ตำบลชำราก อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด จากนั้น ได้เข้าพิธีบรรพชาเมื่อวันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ วัดคิรีวิหาร ตำบลชำราก อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด โดยมีพระวินัยบัณฑิตเป็นพระอุปัชฌาย์ กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตฺตโร) วัดคิรีวิหาร จังหวัดตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธมฺมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังอุปสมบทได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
ทั้งนี้สมเด็จพระวันรัต นับว่าเป็นพระนวกะ (พระบวชใหม่) ร่วมสมัยกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงผนวชวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 และประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร จนกระทั่งทรงลาผนวชวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 และเมื่อคราวที่ สมเด็จพระวันรัต ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอมรโมลี ยังได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเรื่องพระธรรมวินัย แด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงผนวชเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ด้วย
ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 สมเด็จพระวันรัต ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี ได้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
รวมทั้งในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555 สมเด็จพระวันรัต ได้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
และในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระวันรัต ได้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระบรมศพ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงอีกวาระหนึ่ง
หน้าที่พิเศษอีกประการหนึ่งของสมเด็จพระวันรัต คือ การที่ได้รับมอบหมายจากเถรสมาคมเป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติไทย) และให้ความเห็น ก่อนที่จะประกาศใช้ในแต่ละปี นอกจากนี้ยังเดินหมุดและคำนวณปฏิทินปักขคณนาสำหรับวันลงอุโบสถให้กับคณะสงฆ์ธรรมยุตด้วย
สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร อาพาธด้วยโรคมะเร็งถุงน้ำดี ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564 จนถึงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 14.22 น. สมเด็จพระวันรัต ได้มรณภาพด้วยอาการสงบนั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการสวดพระอภิธรรมศพระหว่าง 18-23 มีนาคม พ.ศ. 2565 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน พระราชทานเพลิงศพ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนชั้นเกียรติยศประกอบศพ จากโกศไม้สิบสอง เป็นโกศมณฑป ฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวด ซึ่งจะพระราชทานเฉพาะพระเจ้าบรมวงศ์ พระองค์เจ้า และพระเจ้าวรวงศ์ พระองค์เจ้า ที่ทรงกรม ข้าราชการชั้นเสนาบดีที่เป็นราชสกุล จึงนับเป็นเกียรติยศสูงสุดที่พระราชทานแก่พระราชาคณะชั้นสมเด็จ
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังเสด็จพระราชดำเนินมาในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพสมเด็จพระวันรัตด้วยพระองค์เอง วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2565 และการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565 อีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วิทยฐานะ
[แก้]- พ.ศ. 2491 สำเร็จวิชาสามัญศึกษา (ป.4) จากโรงเรียนวัดคิริวิหาร ตำบลชำราก อำเภอเมือง จังหวัดตราด
- พ.ศ. 2495 สอบได้นักธรรมชั้นเอก ในสนามหลวงสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
- พ.ศ. 2515 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในสนามหลวงสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
ลำดับสมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2517 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระอมรโมลี,สป. [3]
- พ.ศ. 2531 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสุมนต์มุนี ตรีปิฎกบวรวิภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
- พ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพกวี ศรีปริยัติวิภูษิต ตรีปิฎกบัณฑิต ธรรมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [5]
- พ.ศ. 2541 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมกวี ศรีธรรมประยต วิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
- พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ธรรมสาธกวิจิตรปฎาณ ปริยัติวิธานกิจจการี ตรีปฎกบัณฑิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
- พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้น เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระวันรัต ศรีวชิรญาณวงศวิวัฒ ปริยัติพิพัฒนพงศ์ วิสุทธิสงฆปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภีรญาณสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี[8]
ตำแหน่งงานปกครองคณะสงฆ์
[แก้]- เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร[9]
- เป็นกรรมการวัดบวรนิเวศวิหาร
- เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
- เป็นผู้อำนวยการศึกษา สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
- เป็นเจ้าคณะขาบบวร-เขียวบวร
- เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม[10]
- เป็นกรรมการเถรสมาคมธรรมยุต
- เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต)
- เป็นอนุกรรมการฝ่ายการปกครอง ของมหาเถรสมาคม
- เป็นพระอุปัชฌาย์
- เป็นกรรมการสนามหลวง แผนกบาลี
- เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง
- เป็นกรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของมหาเถรสมาคม
- เป็นรองประธานกรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของมหาเถรสมาคม
- เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
- กรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของมหาเถรสมาคม
- เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต[11]
- เป็นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช[12]
- เป็นประธานคณะสนองงานในสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่20[13]
หน้าที่
[แก้]- เป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติไทย) และให้คำแนะนำ ก่อนประกาศใช้ในแต่ละปี
- เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
- เป็นกรรมการชำระอรรถกถา ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
- เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
- เป็นผู้แสดงพระธรรมเทศนา ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล, งานพระราชพิธีฯ ในบางโอกาส
- เป็นผู้ถวายการสอนพระธรรมวินัยแด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในคราวผนวช เสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
- เป็นกรรมการกองตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย
- เป็นหัวหน้ากองตำรามหามกุฏราชวิทยาลัย
- เป็นกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
- เป็นประธานคณะกรรมการตำราและวิชาการ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
- สนองงานถวายเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ที่ได้รับพระบัญชาในบางโอกาส
งานที่ได้รับมอบหมาย
[แก้]- พ.ศ. 2541 - ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค 3 (ธรรมยุต) ในจังหวัดสิงห์บุรี, อ่างทอง, ลพบุรี
- พ.ศ. 2541 - ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค 7 (ธรรมยุต) ในจังหวัดเชียงใหม่
- พ.ศ. 2543 - ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค 12 (ธรรมยุต) ในจังหวัดจันทบุรี,ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค 13 (ธรรมยุต) ในจังหวัดปราจีนบุรี
- พ.ศ. 2545 - ตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค 8 (ธรรมยุต), รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี (ธรรมยุต)
อ้างอิง
[แก้]- มงคลข่าวสด. (2551,21 กันยายน). อายุวัฒนมงคล72 ปี พระพรหมมุนี.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก<http://news.sanook.com/crime/crime_305840.php>. (เข้าถึงเมื่อ: 12 กรกฎาคม 2552).
- ↑ "สมเด็จพระสังฆราชถวายสมเด็จพระวันรัต ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตแทน". พัดยศ สมณศักดิ์พระสงฆ์ไทย. 20 มิถุนายน 2560. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2560.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ มส.ตั้ง 5 สมเด็จ ช่วยสนองงานให้พระสังฆราช
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 91, ตอนที่ 229, 31 ธันวาคม 2517, หน้า 7
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 105, ตอนที่ 207, 9 ธันวาคม 2531, หน้า 3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 109, ตอนที่ 101, 12 สิงหาคม 2535, หน้า 5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 115, ตอนที่ 24 ข, 9 ธันวาคม 2541, หน้า 4
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 117, ตอนที่ 28 ข, 28 ธันวาคม 2543, หน้า 2
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 127, ตอนที่ 7 ข, 9 กรกฎาคม 2553,หน้า 3-5
- ↑ "เสนอแต่งตั้ง สมเด็จพระวันรัต ให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร" (PDF). สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม. 21 ธันวาคม 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-01. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ การเสนอขอแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายปกครองของมหาเถรสมาคม เก็บถาวร 2020-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๖/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน๒๕๔๕ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑๐/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๕
- ↑ "เสนอแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต" (PDF). สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม. 21 ธันวาคม 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-01. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2559.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สมเด็จพระสังฆราชทรงรับทราบและทรงเห็นชอบการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เก็บถาวร 2020-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, การประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๓/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗
- ↑ "มส.ตั้ง 5 สมเด็จ ช่วยสนองงานให้พระสังฆราช". www.thairath.co.th. 2020-07-31.
ก่อนหน้า | สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร | เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต (พ.ศ. 2558 – พ.ศ. 2560) |
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) | ||
พระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภาโค) |
แม่กองธรรมสนามหลวง (พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2559) |
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) |