สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ คือสถาปัตยกรรมในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลปัจจุบัน) เป็นยุคที่ได้รับอิทธิพลจากจากตะวันตก วิชาชีพสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มเป็นที่รู้จัก และถือได้ว่าการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมแผนใหม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งสถาบันการศึกษาสถาปัตยกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยน
รูปแบบ
[แก้]สถาปัตยกรรมทางศาสนา
[แก้]วัดในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 1 เเละรัชกาลที่ 2 มีรูปแบบดำเนินรอยตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา เช่น การสร้างโบสถ์วิหารให้มีฐานโค้งคล้ายเรือสำเภา เสามีการย่อมุม มีคันทวยรับน้ำหนักชายคา มีเครื่องลำยอง หน้าบันเป็นไม้เเกะสลัก มีการสร้างหอไตรหรือหอพระไตรปิฎกกลางน้ำ เป็นต้น ต่อมาเมื่อมีการทำมาค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น จึงได้รับอิทธิพลจากประเทศที่ไปติดต่อการค้ามากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 คือการรับเอาศิลปะจีนเข้ามาผสมกับสถาปัตยกรรมแบบเดิมจึงกลายเป็นรูปแบบเฉพาะเรียกว่า สถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 มีลักษณะคือ การเอาช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ออก โดยเปลี่ยนมาเป็นก่ออิฐถือปูนและใช้ลวดลายจากกระเบื้องดินเผาเคลือบประดับหน้าแทนการใช้ไม้แกะสลักแบบเดิม เสาเดิมที่นิยมทำย่อมุมเปลี่ยนมานิยมใช้เสาเป็นสี่เหลี่ยมทึบขนาดใหญ่ ไม่มีบัวเสาประดับ ไม่มีคันทวยรับชายคา
ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการรับศิลปะวิทยาจากตะวันตกมากขึ้นสถาปัตยกรรมบางแห่งจึงมีการตกแต่งโดยได้รับอิธิพลจากศิลปะตะวันตก วัดที่มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตก เช่น วัดนิเวศธรรมประวัติ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เเละภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธซึ่งเป็นศิลปะแบบกอธิค
พระราชวัง
[แก้]พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา 3 แห่ง คือพระบรมมหาราชวัง พระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวังบวรสถานพิมุข โดยทั้งตำแหน่งที่ตั้งนั้นยึดหลักยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ ตามตำราพิชัยสงคราม คือ "มีแม่น้ำโอบล้อมภูเขาหรือหากหาภูเขาไม่ได้ มีแม่น้ำเพียงอย่างเดียวก็ได้ เรียกว่า นาคนาม"
ที่อยู่อาศัยของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางไทยผู้สูงศักดิ์ในสมัยนั้น เรียกขานตามแต่บรรดาศักดิ์ ให้เห็นถึงยศที่ชัดเจน อาทิ พระตำหนัก พระที่นั่ง พระวิมาน หรือพระมหาปราสาท โดยเฉพาะพระวิมานและพระมหาปราสาท ใช้เฉพาะเรือนที่มีเจ้าของเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น ส่วนที่ประทับของพระมหากษัตริย์หรือแม้จะเป็นพระมหาอุปราช เรียกว่า พระราชวัง เว้นแต่พระราชวังประทับถาวรของพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่เรียกว่า พระบรมมหาราชวัง
วังหลายแห่งเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะไทยแขนงต่าง ๆ อันเนื่อง วังมักเป็นโรงงานช่างหรือโรงฝึกงานช่าง อย่างช่างสิบหมู่
ลักษณะของ ปราสาท พระราชวัง พระบรมมหาราชวัง ของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง แบ่งได้เป็น 3 สมัย คือ สมัยต้น (ร.1-3) เป็นยุคสืบทอดสถาปัตยกรรมแบบกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยกลาง (ร.4-6) ซึ่งประเทศไทยได้รับอิทธิสถาปัตยกรรมตะวันตก และสมัยหลัง (ร.7-ปัจจุบัน) เป็นยุคแห่งสถาปัตยกรรมร่วมสมัย
ที่พักอาศัย
[แก้]ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเหมือนกรุงศรีอยุธยาแห่งที่สอง มีการสร้างสถาปัตยกรรมที่สำคัญเลียนแบบกรุงศรีอยุธยา ส่วนบ้านพักอาศัย เรือนไทยที่คงเหลือจากสงครามก็ถูกถอดและนำประกอบใหม่
สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการติดต่อกับชาติตะวันตกมากขึ้น มีการสร้างอาคารต่างชนิดเพื่อรองรับกิจกรรมทางธุรกิจนอกเหนือจากที่อยู่ อาศัยและวัดวาอารามในอดีต ได้แก่ โรงงาน โรงสี โรงเลื่อย ห้างร้านและที่พักอาศัยของชาวตะวันตก นอกจากนี้การสร้างอาคารของทางราชการ กระทรวงต่าง ๆ และพระราชวังที่มีรูปแบบตะวันตกผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทยในรูปแบบนีโอ คลาสสิค เช่น พระที่นั่งจักรมหาปราสาท พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น
สำหรับที่พักอาศัย ในการประยุกต์ยุกแรก ๆ เรือนไม้จะนำศิลปะตะวันตกมาประยุกต์ เช่นเรือนปั้นหยา ซึ่งดัดแปลงมาจากเรือนไม้ของยุโรป สร้างขึ้นในพระราชวังก่อนแพร่หลายสู่บ้านเรือนประชาชน หลังคาเรือนปั้นหยาซึ่งมุงด้วยกระเบื้องโดยทุกด้านของหลังคาจะชนกันแบบปิรามิด ไม่มีหน้าจั่วแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม[1] จากนั้นได้วิวัฒนาการเป็นเรือนมะนิลา ในบางส่วนอาจเป็นหลังคาปั้นหยา แต่เปิดบางส่วนให้มีหน้าจั่ว หลังจากนั้นก็มีเรือนขนมปังขิง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเรือนขนมปังขิงสมัยโบราณของตะวันตก ซึ่งมีการตกแต่งอย่างหรูหรา มีครีบระบายอย่างแพรวพราว โดยทั้งเรือนขนมปังขิงและเรือนมะนิลา เป็นศิลปะฉลุลายที่เฟื่องฟูมากในสมัยรัชกาลที่ 5-6
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการให้กรรมสิทธิ์ที่ดิน อีกทั้งเกิดย่านตลาดเป็นศูนย์กลางชุมชน ทำให้เกิดที่พักอาศัยและร้านค้าตามย่านหัวเมือง เรียกสถาปัตยกรรมเช่นนี้ว่า เรือนโรง มีลักษณะเป็นเรือนพื้นติดดิน ไม่ตั้งอยู่บนเสาสูงเช่นเรือนไทยในอดีต ตั้งอยู่ยานชุมชนการค้าชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าขาย โดยเปิดหน้าร้านสำหรับขายของ ส่วนด้านหลังไว้พักอาศัย เมื่อเรียงรายกันเป็นแถว จึงกลายเป็น ห้องแถว ในเวลาต่อมา ถึงแม้ว่าเรือนไทยจะได้รับอิทธิพลตะวันตก แต่คนไทยก็ยังถือเรื่องคติการสร้างบ้านแบบไทย ๆ อยู่เช่น การยกเสาเอกและการถือเรื่องทิศ ต่อมาสถาปนิกและนักตกแต่งซึ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศได้กลับนำมาใช้ในการทำงาน ทำให้มีแนวโน้มนำเอารูปแบบสถาปัตยกรรมอื่นมาด้วย
ในปัจจุบันสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะในเมืองหลวงในตามเมืองใหญ่ ๆ แทบไม่หลงเหลือรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยในอดีต สถาปัตยกรรมในยุคหลังอุตสาหกรรมได้เน้นการสร้างความงามจากโครงสร้าง วัสดุ การออกแบบโครงสร้างให้มีความสวยงามในตัว เช่นใช้เหล็ก ใช้กระจกมากขึ้น ผนังใช้อิฐและปูนน้อยลง ใช้โครงสร้างเหล็กมากขึ้น ออกแบบรูปทรงให้เป็นกล่อง ผนังเป็นกระจกโล่ง เป็นต้น
โครงสร้าง
[แก้]ตั้งแต่ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2325-2367) วัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือนจะเน้นไปที่ไม้เป็นหลัก จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงรัชกาลที่ 3 ถึง 4 (พ.ศ. 2367-2411) จึงเริ่มมีวัสดุใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศ เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศจีน วัสดุก่อสร้างแบบจีนได้รับความนิยม คือ กำแพงรับน้ำหนัก (Bearing masonry wall) ซึ่งใช้อิฐก้อนใหญ่ก่อผนังหนา ฉาบปูน และใช้ผนังด้านนอกเป็นกำแพงไปในตัว ทำให้บ้านแบบจีนนั้นดูหนักแน่นและทนต่อดินฟ้าอากาศ แต่เนื่องจากใช้ผนังในการรับน้ำหนัก รวมถึงชนิดที่ก่ออิฐหุ้มเสาไม้ซึ่งเป็นแกนใน ทำให้อาคารแบบจีนและแบบที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมีผนังชั้นบนกับชั้นล่างตรงกัน (เพื่อการถ่ายน้ำหนัก) อาคารส่วนใหญ่จึงมีลักษณะทึบ มีช่องเปิดเฉพาะบางส่วนของผนัง
ส่วนคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือสมัยก่อนเรียก เฟอร์โรคอนกรีต (Ferroconcrete) เข้ามายังประเทศไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453)[2] โดยช่วงแรกที่เริ่มใช้ก่อสร้างโครงสร้างด้วยวัสดุนี้ มักใช้กับเสา คาน และพื้นชั้นล่าง ส่วนพื้นชั้นบนยังคงใช้ตง และพื้นไม้อยู่ รูปทรงอาคารจึงยังไม่แตกต่างจากอาคารที่ใช้ระบบผนังรับน้ำหนักมากนัก ต่อมาช่างมีความชำนาญจึงได้เปลี่ยนรูปแบบใช้สอยให้หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ใช้เป็นหลังคายอดโดม ผนังโค้ง หรือกันสาด ฯ ทำให้โครงสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 มีรูปทรงที่ซับซ้อนขึ้น[3]
การประกอบวิชาชีพ
[แก้]การประกอบอาชีพในสถาปัตยกรรมในช่วงรัชกาลที่ 4-5 มีข้อจำกัด เพราะอาคารก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นอาคารสาธารณะ มีประโยชน์ใช้สอยซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งสังคมยังต้องการผู้มีความรู้เฉพาะทางด้านเทคนิคที่เป็นสากลมากขึ้น ในช่วงระยะเวลานั้นเริ่มมีการแยกหน้าที่รับผิดชอบระหว่างสถาปนิกและวิศวกร และเริ่มมีผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมเป็นให้เห็นชัดเจนมากขึ้น
ในสมัยรัชกาลที่ 6 ประเทศไทยขยายการติดต่อการค้ากับประเทศตะวันตกมากขึ้น ช่างไทยในสมัยนั้นร่วมงานหรือปฏิบัติงานภายใต้การดำเนินงานชาวตะวันตก จึงได้เรียนรู้ความชำนาญทางการออกแบบก่อสร้างแบบสากลจากช่างชาวตะวันตก วิชาชีพสถาปัตยกรรมในช่วงนั้นค่อนข้างเป็นที่รู้จัก เริ่มมีการบัญญัติคำว่า สถาปัตยกรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานคำแปลจากคำว่า Architecture ส่วนคำศัพท์ว่า Architect แปลเป็นคำว่า สถาปก ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า สถาปนิก
สถาปนิกในประเทศไทยสมัยนั้นมักปฏิบัติงานกับนายช่างตะวันตกชาวอิตาลี เยอรมันและฝรั่งเศส ซึ่งนอกเหนือจากปฏิบัติหน้าที่ให้ราชการแล้วยังประกอบวิชาชีพอิสระ รับออกแบบอาคารให้ผู้ว่าจ้างเอกชนอีกด้วย ช่างไทยที่มีชื่อเสียงอาทิ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร แต่อย่างไรก็ตามในการประกอบวิชาชีพ ผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในการออกแบบอาคาร สามารถประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมได้อย่างเสรี
วิชาชีพสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
[แก้]ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกอันเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมถึงในประเทศไทยด้วยที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในการก่อสร้าง สถาปนิกต่างชาติเดินทางกลับประเทศ ทำให้การก่อสร้างลดน้อยลงไป ผนวกกับนักเรียนไทยจำนวนมากที่ได้เดินทางไปศึกษาต่อทางด้านวิชาสถาปัตยกรรม ณ ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสด้วยทุนรัฐบาลไทยและทุนส่วนตัว ได้กลับมารับราชการในหน่วยงานที่เกี่ยวกับงานการออกแบบแทนที่สถาปนิกชาวตะวันตก เมื่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมเริ่มมีแบบแผนและขอบเขตงานที่ชัดเจนขึ้น และถือได้ว่าการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมแผนใหม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งสถาบันการศึกษาสถาปัตยกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2476 โดยอาจารย์นารถ โพธิประสาท และการก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในปี พ.ศ. 2477 โดยกลุ่มนักเรียนไทยที่จบการศึกษาสถาปัตยกรรม อาทิ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณและอาจารย์นารถ โพธิประสาท เป็นต้น
ใน พ.ศ. 2479 เริ่มมีพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร เพื่อควบคุมการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ให้ได้ผลทางด้านความมั่นคง แข็งแรง อนามัย การสุขาภิบาล การป้องกันอัคคีภัย และการผังเมือง ถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพออกแบบและการก่อสร้างฉบับแรกในประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีประกาศ เทศบัญญัติเทศบาลนครกรุงเทพฯ เรื่องควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2483 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของวิชาชีพสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีต่อประชาชนสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. 2475-2500
[แก้]ในช่วงระยะเวลานี้ สถาปนิกส่วนใหญ่มักประกอบวิชาชีพในหน่วยงานราชการสำคัญ เช่นการออกแบบก่อสร้าง กรมโยธาธิการ กรมศิลปากร กรมรถไฟ กรมอู่ทหารเรือ และกรมยุทธโยธาทหารบก รูปแบบการทำงานของสถาปนิกจะทำงานครบวงจร ทั้งการศึกษาข้อมูลโครงการ ออกแบบ เขียนแบบก่อสร้าง รวมถึงควบคุมการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ นอกจากนี้สถาปนิกจากกรมโยธาธิการอาจต้องช่วยเหลืองานออกแบบให้กับหน่วยงานอื่นที่ไม่มีสถาปนิกเป็นของตนเอง
ส่วนการปฏิบัติวิชาชีพในรูปแบบสำนักงาน ยังไม่ปรากฏชัดเจน เป็นเพียงการรับงานส่วนตัวของสถาปนิกในหน่วยงานราชการเหล่านี้ ในส่วนของกฎหมายหรือข้อระเบียนควบคุมที่เกี่ยวข้องนั้น มีเพียงระเบียบและมาตรฐานการประกอบวิชาชีพจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เท่านั้น และไม่มีเกณฑ์มาตรฐานค่าบริการวิชาชีพที่แน่นอน
2501- 2506
[แก้]ในช่วงเวลานี้ สถาปนิกที่ประกอบวิชาชีพในหน่วยงานราชการยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่งเริ่มมีการจัดตั้งสำนักงานสถาปนิกของเอกชน เช่นสำนักงานสถาปนิกเจน สกลธนารักษณ์ ในยุคนั้นสำนักงานสถาปนิกมักตั้งชื่อบริษัทตามชื่อสถาปนิกเจ้าของสำนักงาน ต่อมาเริ่มมีรูปแบบการทำงานเป็นทีมมากขึ้น พร้อมๆ กับการก่อตั้งสำนักงานสถาปนิกต่างชาติ อันเนื่องจากการตั้งฐานทัพของสหรัฐอเมริกาในไทย
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2508 มีกฎหมายควบคุมการปฏิบัติวิชาชีพ ประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2508 ทำให้วิชาชีพสถาปนิกเป็นสาขาวิชาชีพสถาปนิกเป็นสาขาอาชีพที่มีการควบคุมจากทางราชการเป็นครั้งแรก ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม หรือ ก.ส. ส่วนการดำเนินงานของสำนักงานสถาปนิกมักเป็นสำนักงานขนาดเล็ก บริหารงานแบบครอบครัวหรือสตูดิโอ แต่ในส่วนค่าบริการวิชาชีพยังคงไม่เป็นมาตรฐาน
2517-2525
[แก้]ในส่วนภาคราชการ หน่วยงานมีสถาปนิกของตัวเอง และมีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มากขึ้น ส่วนในภาคเอกชนจะเป็นการบริการจากสำนักงานสถาปนิกขนาดเล็กและกลาง ในรูปแบบองค์กรแบบบริษัทจากการรวมหุ้นระหว่างผู้ก่อตั้งและผู้บริหารระดับสูง หรือผู้ก่อตั้งถือหุ้นรายใหญ่รวมทั้งเจ้าของโครงการเป็นผู้ถือหุ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีลักษณะการขยายบริษัทแบ่งเป็นบริษัทเล็ก ๆ ในเครือบริษัทขนาดใหญ่ มีการให้บริการเพิ่มเติมการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการปลูกสร้างอาคาร
ในช่วงนี้สถาปนิกบางกลุ่มได้เปลี่ยนมาปฏิบัติงานด้านบริหารงานก่อสร้างด้วยเช่นกัน และสำนักงานสถาปนิกเริ่มใช้คอมพิวเตอร์มาช่วงในการปฏิบัติงานมากขึ้น ในส่วนค่าบริการวิชาชีพถึงแม้ว่าจะมีการจัดทำเกณฑ์ค่าบริการวิชาชีพจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ แต่สถาปนิกก็พบกับปัญหาการต่อรองค่าออกแบบจากลูกค้าและจากราชการให้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานค่าบริการวิชาชีพ
2526-2537
[แก้]วงการวิชาชีพสถาปัตยกรรมมีการขยายตัวขึ้นอย่างมาก ตามสภาพความเป็นไปของเศรษฐกิจของประเทศไทย ขอบเขตการให้บริการวิชาชีพสถาปัตยกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตั้งแต่การเริ่มต้นศึกษาโครงการ การออกแบบ การบริหารงานก่อสร้าง การบริหารด้านอสังหาริมทรัพย์ และมีการเดินทางออกไปรับงานในต่างประเทศอีกด้วย งานในภาคเอกชนมีความต้องการสถาปนิกจำนวนมาก จนเกิดภาวะสมองไหลจากภาคราชการสู่ภาคเอกชน ภาคการศึกษากำหนดให้วิชาชีพสถาปนิกเป็นสาขาที่ขาดแคลนที่ต้องเร่งผลิตให้เท่าทันความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งส่งผลกระทบมายังระบบการศึกษาและปฏิบัติวิชาชีพของประเทศไทยในปัจจุบันเช่นกัน
การให้บริการสถาปนิก มีรูปแบบเปลี่ยนมาจัดตั้งบริษัทควบคุมงานและบริหารงานก่อสร้างกันมากขึ้น อันเนื่องมาจากความต้องการที่มากขึ้นของตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนวิชาชีพสถาปัตยกรรมถือได้ว่ามาถึงยุคเฟื่องฟูงถึงขีดสุด เห็นได้จากจำนวนบริษัทสถาปนิกที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ มีสูงถึงกว่า 200 บริษัท (และไม่เคยปรากฏมีจำนวนสูงมากเท่านี้จนถึงปัจจุบัน) และมีองค์กรที่มีบุคลากรในบริษัทตั้งแต่ 10 คนไปจนถึง 200 คนเศษ แต่ช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะดูด้อยคุณภาพไปจากอดีตที่ผ่านมา ในส่วนของค่าบริการวิชาชีพในภาพรวมของวงการจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น
2538 - 2543
[แก้]ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอันเนื่องมาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา งานในภาคราชการ ในวงการธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพทย์ชะลอตัวลงหรือล้มเลิกโครงการไปอย่างมากมาย บริษัทพัฒนาที่ดินหลายบริษัทปิดตัวลง สถาปนิกว่างงาน รวมถึงการลดจำนวนพนักงานไปหลายต่อหลายแห่ง สำนักงานสถาปนิกจำนวนมากปิดตัวไป ทำให้สถาปนิกล้นตลาดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน บริษัทสถาปนิกจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรไปจนถึงรูปแบบการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินเดือนและลดวันทำงาน และเปลี่ยนการให้บริการการออกแบบเป็นการควบคุมงานก่อสร้าง การบริหารโครงการหรือออกไปหางานจากประเทศเพื่อนบ้าน
สถาบันการศึกษาเริ่มปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานกรณ์ เช่น การเปิดการเยนการสอนในการรับบัญฑิตเข้าศึกษามากขึ้น เช่น เทคโนโลยีอาคาร และการจัดการทางสถาปัตยกรรม เป็นต้น ในช่วงนี้บุคคลสำคัญในวงการวิชาชีพหลายท่าน อาทิ คุณมติ ตั้งพานิช, คุณนิธิ สถาปิตานนท์, คุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์, คุณนคร ศรีวิจารณ์ ฯลฯ ได้ร่วมผลักดันให้เกิดการบริหารการจัดการและการกำกับดูแลการปฏิบัติวิชาชีพจากคนในวิชาชีพด้วยกันเองอย่างอิสระในรูปแบบสถาปนิกสภาขึ้น เพื่อแทนทีการกำกับดูแลจากรัฐบาลผ่านคณะกรรมการ ก.ส. เป็นเหตุให้เกิดความพยายามยกร่างกฎหมายดังกล่าวจากตัวแทนผู้กอบวิชาชีพเพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฏร และผู้นำรัฐบาล ในหลายรัฐบาล เพื่อให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของวิชาชีพและกฎหมายฉบับนี้ที่มีต่อคนไทย จนสามารถประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาปนิกสำเร็จเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543
2544
[แก้]จากจุดตกต่ำของวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรม ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสำนักงานสถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพที่ลดน้อยลง เช่นสถานการณ์การว่างจ้างงานสถาปัตยกรรมมีปริมาณงานไม่สอดคล้องกับจำนวนสำนักงานและปริมาณสถาปนิกที่มีอยู่เดิม การแข่งขันในวิชาชีพที่มีความเข้มข้นขึ้น พร้อมกับการขยายโอกาสให้บริการวิชาชีพไปยังต่างประเทศ ในแถบตะวันออกกลาง จีนและประเทศเพื่อนบ้านของสำนักงานสถาปนิกขนาดกลางและขนาดใหญ่
ผนวกกับการเปิดการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมในหลายสถาบันการศึกษา ทำให้มีจำนวนบัณฑิตสถาปัตยกรรมใหม่ เพิ่มากขึ้นสูงเกือบ 2,000 คนในแต่ละปี แต่อย่างไรก็ตามด้วยเงื่อนไขในการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ และความต้องการประกอบวิชาชีพที่มีความหลายหลายมากกว่างานสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว ทำให้จำนวนสถาปนิกใหม่ที่สอบผ่านได้รับใบอนุญาตฯ ในแต่ละปีมีจำนวนเพียงประมาณ 900-1,000 คนเศษ
เนื่องจากประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติสถาปนิกใน พ.ศ. 2543 ทำให้วิชาสถาปัตยกรรมมีสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและถูกควบคุมเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ สถาปัตยกรรมหลัก ภูมิสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมผังเมือง และสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์
จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือนโยบายการเปิดเสรีการค้าธุรกิจบริการที่มีผลบังคับใช้ ทำให้วงการวิชาชีพต้องพิจารณาผลกระทบจากการปฏิบัติวิชาชีพข้ามชาติของสถาปนิกทั้งจากตะวันตกและในภูมิภาคอาเซียน อันเนื่องมาจากข้อตกลงสถาปนิกอาเซียน ทำให้องค์การวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศ
สถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมมีโอกาสไปปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรมหาชนเกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง อันเนื่องจากบัณฑิตสถาปัตยกรรมแต่ละปีมีมากขึ้นเกินความจำเป็นของตลาด บัณฑิตสถาปัตยกรรมได้ผันตัวเองไปปฏิบัติงานในลักษณะอื่นกันมากขึ้น โดยเฉพาะในสายงานที่ใช้ความคิด สร้างสรรค์อื่น โดยอาศัยจุดแข็งทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของตนเอง เช่น งานออกแบบ กราฟิก งานออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ งานในแวดวงบันเทิง
แนวโน้ม
[แก้]แนวโน้มในการปฏิบัติวิชาชีพที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือสถาปนิกและผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่บางส่วน มีความพึงพอใจกับการประกอบวิชาชีพอิสระมาขึ้น โดยไม่เห็นความจำเป็นในการปฏิบัติงานประจำในสำนักงานหรือหน่วยงาน[4]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ http://www.thailife.com/images/Book2.pdf
- ↑ หม่อมราชวงศ์หญิงแน่งน้อย ศักดิ์ศรี (2537), มรดกสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ฯ 2, โรงพิมพ์กรุงเทพ, กรุงเทพ.
- ↑ ผุสดี ทิพทัส และมานพ พงศทัต (2525), บ้านในกรุงเทพฯ : รูปแบบและการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี (พ.ศ. 2325-2525), จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพ.
- ↑ "วิวัฒนาการและรูปแบบการประกอบอาชีพสถาปัตยกรรมในประเทศไทย". วารสารสภาสถาปนิก ฉบับเดือนธันวาคม 2552 หน้า 23-27