ข้ามไปเนื้อหา

สถานีโทรทัศน์เอแอลทีวี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอแอลทีวี
ประเทศไทย
พื้นที่แพร่ภาพไทย
เครือข่ายสถานีโทรทัศน์
ช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล
ประเภทบริการสาธารณะ
คำขวัญช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก พื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน
สำนักงานใหญ่เลขที่ 145 ถนนวิภาวดีรังสิต
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
แบบรายการ
ระบบภาพ576i (16:9 คมชัดปกติ)
1080p (16:9 คมชัดสูง, ออนไลน์)
ความเป็นเจ้าของ
เจ้าขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
ช่องรองสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ประวัติ
เริ่มออกอากาศระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน:
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 (4 ปี)
ระบบดาวเทียมเคเบิลทีวีและดิจิทัล:
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 (4 ปี)
ลิงก์
เว็บไซต์www.altv.tv
ออกอากาศ
ภาคพื้นดิน
ดิจิทัลช่อง 4 (มักซ์#4 : ส.ส.ท.)
เคเบิลทีวี
ทรูวิชันส์
กู๊ด ทีวี
เจริญเคเบิลทีวี
ช่อง 4
ทีวีดาวเทียม
ไทยคม 6 C-Band4007 H 15000
ไทยคม 8 KU-Band11560 H 30000
พีเอสไอ
จีเอ็มเอ็ม แซท
ช่อง 4
สื่อสตรีมมิง
ALTV4https://www.altv.tv/live

เอแอลทีวี (อังกฤษ: ALTV - Active Learning Television) เป็นช่องโทรทัศน์เพื่อการเรียนรู้ โดยมีสถานะเป็นหนึ่งในช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการสาธารณะ ดำเนินการโดยองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ถือเป็นสถานีโทรทัศน์รองของไทยพีบีเอส มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และบูรณาการการเรียนการสอนระหว่างบ้านและสถานศึกษา เริ่มทดลองออกอากาศเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และเริ่มออกอากาศจริงในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ก่อนจะต่อเพิ่มอีก 6 เดือน รวมเป็น 12 เดือน

เอแอลทีวีออกอากาศทุกวันตั้งแต่เวลา 6.00 - 22.00 น. โดยแบ่งเวลาการออกอากาศรายการให้เหมาะสมตั้งแต่เด็ก เยาวชน ครู และครอบครัว ตามลำดับ

ประวัติ

[แก้]

หลังการระบาดทั่วของไวรัสโคโรนาในประเทศไทย พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมในการเรียนให้กับเยาวชน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงอนุมัติให้มีช่องโทรทัศน์เพื่อการเรียนการสอนเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์บริการสาธารณะให้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ทดลองออกอากาศช่อง ไทยพีบีเอส คิดส์ ในระบบทีวีดิจิทัล ผ่านช่องหมายเลข 4 บนโครงข่ายของตัวเองเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน[1] ซึ่งหลังจากการอนุมัติดังกล่าว ส.ส.ท. ได้เปิดตัวช่องอย่างไม่เป็นทางการในชื่อ ไทยพีบีเอส เอแอลทีวี หรือ ไทยพีบีเอส แอคทีฟ เลิร์นนิง ทีวี ก่อนลดชื่อเหลือ เอแอลทีวี ก่อนออกอากาศ

เอแอลทีวีได้เริ่มต้นทดสอบการออกอากาศเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563 และมีการแถลงข่าวเปิดตัวในวันเดียวกัน ก่อนเริ่มออกอากาศเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดย ส.ส.ท. ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในแวดวงการศึกษา อาทิ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะครุศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เครือข่ายพ่อแม่ และเครือข่ายผู้ผลิตรายการเด็ก มาสนับสนุนและร่วมสร้างสรรค์เนื้อหาเพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่วิถีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21[2] ในระยะแรก เอแอลทีวีออกอากาศรายการเฉพาะตามช่วงเวลาออกอากาศ พ่วงกับการออกอากาศเนื้อหาและรายการที่เหมาะสมจากไทยพีบีเอสซ้ำอีกครั้ง โดยมีระยะเวลาออกอากาศในแต่ละวันตั้งแต่ 6.00-21.00 น.

ภายหลัง ส.ส.ท. ได้ยื่นขอใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อเริ่มออกอากาศเอแอลทีวีอย่างเป็นทางการ แต่ กสทช. ยังไม่อนุมัติ เนื่องจาก สำนักงาน กสทช. ยังไม่มีแนวทางสำหรับการให้ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรทัศน์ของรัฐเพื่อการส่งเสริมความรู้และการศึกษา อย่างไรก็ตาม กสทช. ได้ขยายระยะเวลาทดลองออกอากาศของสถานีโทรทัศน์เอแอลทีวีออกไปอีก 6 เดือน ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564[3] และได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยกำหนดวันสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือนเมษายน พ.ศ. 2573 เช่นเดียวกับทีวีดิจิทัลช่องอื่น ๆ รวมถึงไทยพีบีเอส

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เอแอลทีวี ได้ทุกบ้าน ทุกครอบครัว เริ่มส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในระบบ เคยูแบนด์ รับชมได้ที่ช่องหมายเลข 4

รูปแบบรายการ

[แก้]

สำหรับรูปแบบรายการของเอแอลทีวี จะแบ่งรูปแบบรายการเพื่อการเรียนรู้เป็น 6 ประเภท ดังนี้

  • Active Learning News: ข่าวสารการเรียนรู้ นำเสนอข่าวสารและสถานการณ์ประจำวันที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ในการเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ไปด้วยกัน
  • Homeroom Home Run: แนะแนวชีวิตและการศึกษา รายการที่เน้นชี้แนะแนวทางด้านการศึกษาและการสะท้อนชีวิตของแต่ละบุคคล
  • Smart Classroom: ห้องเรียนอัจฉริยะ นำเสนอรายการเพื่อเสริมทักษะใหม่ หรือ ทักษะเฉพาะทาง เน้นการสื่อสารแบบ อินเตอร์แอคทีฟ เพื่อให้ผู้เรียนรู้สามารถเข้าถึงทักษะการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
  • Farm รู้: เรียนรู้โลกกว้างผ่านกิจกรรม นำเสนอการเรียนรู้ผ่านการไปทำกิจกรรมภายนอกสถานที่ เน้นการบูรณาการระหว่างบ้าน โรงเรียน และชุมชน
  • Tutor Hub: นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ เป็นพื้นที่ทดลองการเรียนการสอน ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้เรียนทุกกลุ่ม เพื่อปูวิชาพื้นฐานและทบทวนความรู้เดิม รวมไปถึงการใช้นวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอน
  • Knowledge Pool: คลังแห่งความรู้และประสบการณ์ชีวิต นำเสนอความรู้ในแขนงต่าง ๆ อย่างหลากหลาย เสมือนคลังความรู้ขนาดใหญ่ ที่นำมาแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และนำเสนอและส่งต่อกันได้

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สรุปมติที่ประชุม กสทช. 8/2563". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-21. สืบค้นเมื่อ 2020-07-21.
  2. "ไทยพีบีเอส พร้อมเปิด "ALTV" ช่องโทรทัศน์เพื่อการเรียนรู้". ข่าวไทยพีบีเอส. 25 มิถุนายน 2563. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "กสทช. ตัดสินใจต่อใบอนุญาตชั่วคราวให้ ALTV อีก 6 เดือน – จบ 31 ธันวาคม 2564". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-02-26. สืบค้นเมื่อ 2021-03-21.