วิสุทธิ
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
วิสุทธิ หมายถึง ความบริสุทธิ์ ความหมดจด ในศาสนาพุทธกล่าวถึง วิสุทธิ 7 ซึ่งหมายถึง ความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้นไปตามลำดับ เป็นการชำระให้บริสุทธิ์ ด้วยการฝึกฝนตนเองที่เรียกว่าไตรสิกขา ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดมุ่งหมายคือนิพพาน มี 7 ขั้น คือ
- ศีลวิสุทธิ หรือ ความหมดจดแห่งศีล คือ การถือศีลอย่างไม่งมงาย ละสีลัพพตปรามาส ด้วยการมีศรัทธาพละสมดุลกับปัญญาพละ ไม่ศรัทธาจนถืออย่างไม่เข้าใจ หรือมีปัญญามาก เกิดความลังเลสงสัย ได้แต่ถือแต่ใจกลับไม่มีศรัทธา เพราะสติสมบูรณ์ด้วยสัมปชัญญะ 4 จึงทำให้ศรัทธาพละและปัญญาพละสมดุลกัน ด้วยการประพฤติศีลและวัตร เพราะพิจารณาก่อนทำเห็นว่าเป็นประโยชน์ ไม่มีโทษ (สาตถกสัมปชัญญะ), พิจารณาประเมินหลังทำเสร็จว่าเหมาะสม ควรทำต่อไป (สัปปายสัมปชัญญะ), ใส่ใจจดจ่อขณะทำว่าเป็นกิจหน้าที่ ที่ต้องรักษา (โคจรสัมปชัญญะ) และไม่หลงลืมพลั้งเผลอ จดจำลำดับขั้นตอนในสิ่งที่ต้องทำได้ไม่ผิดพลาด (อสัมโมหสัมปชัญญะ)
เพราะการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ตั้งใจรักษา ทำให้สามารถปฏิบัติ สมาธิกับวิปัสสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้กล่าวถึงปาริสุทธิศีล 4 ซึ่งหมายถึง ความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีล มีสี่ข้อ ได้แก่
- ปาฏิโมกขสังวรศีล หมายถึง ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นจากข้อห้าม และทำตามข้ออนุญาต ตลอดจนประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบท (คือ ศีลและมารยาทที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกนั่นเอง)
- อินทรียสังวรศีล หมายถึง ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ 6 ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมเกิดขึ้นได้ ในขณะที่รับรู้อินทรีย์ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
- อาชีวปาริสุทธิศีล หมายถึง ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ เลี้ยงชีพในทางที่ชอบธรรม
- ปัจจัยสันนิสิตศีล หมายถึง ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัยสี่ คือ การพิจารณาใช้สอยปัจจัย ให้เป็นไปตามประโยชน์ที่แท้ของสิ่งนั้น ไม่บริโภคด้วยตัณหา เช่น ไม่บริโภคด้วยความอยากรับประทาน ไม่บริโภคด้วยความอยากใช้สอย
- จิตตวิสุทธิ หมายถึง ความหมดจดแห่งจิต คือ จิตที่สมดุล เพราะวิริยะพละเสมอกับสมาธิพละ ทำให้วิริยะก็สมดุล สมาธิก็สมดุล เป็นปัจจัยให้สติกำหนดรู้อยู่ในปัจจุบันขณะได้อย่างพอดี รู้จักอิริยาบถที่ปิดบังทุกขลักษณะ ไม่ไปในอนาคตเพราะวิริยะมีมาก ไม่อยู่ในอดีตเพราะสมาธิมีกำลังมากไป เป็นการฝึกอบรมจิตจนบังเกิดอัปปนาสมาธิ (หรือ ฌาน) ที่ปราศจากนิวรณ์ เพราะสติต่อเนื่องจนนิวรณ์ไม่สามารถเข้าแทรกในจิตได้ อันเป็นปทัฏฐานที่สำคัญ ทำให้เจริญวิปัสสนาได้ง่าย
- ทิฏฐิวิสุทธิ หมายถึง ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจ มองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง เห็นรูปธาตุและนามธาตุเป็นคนละธาตุกันอย่างชัดเจน แม้กระทั่งธัมมารมณ์ทางกาย เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย ชา คัน ที่ปกติจะไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ก็ยังสามารถจะรู้ได้ว่านี่คือเวทนา นี่คือโผฏฐัพพะหรือผัสสะทางกาย จนเห็นว่าขันธ์ 5 นี่ทั้งของเราและผู้อื่นล้วนเสมอกันเป็นแต่เพียงแค่รูปนามมาประชุมกันขึ้นหาได้มีตัวตนไม่ สักแต่ว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น รู้จักฆนะสัญญาที่ปิดบังอนัตตลักษณะ คือเป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าขันธ์นี้เป็นตัวตนของเรา (สักกายทิฏฐิ) ลงเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด
- กังขาวิตรณวิสุทธิ หมายถึง ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้แล้วจึงสิ้นสงสัย (วิจิกิจฉา) ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น รู้จักสันตติที่ปิดบังอนิจจลักษณะ เห็นลำดับขั้นการเกิดทุกข์ของจิต เห็นปฏิจจสมุปบาทสายเกิดหรืออนุโลม
- มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ หมายถึง ความหมดจดแห่งญาณเป็นเครื่องรู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง จิตรับรู้ถึงกระแสแห่งไตรลักษณ์ได้ ในวิสุทธินี้จะสามารถเห็นสังขตลักษณะ คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปได้ อธิบายว่าทำไมสังขตลักษณะจึงเกิดขึ้นภายหลังการเห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม นั้นเพราะสังขตลักษณะที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้จากการเห็นการเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะเห็นการตั้งอยู่เพราะเหตุปัจจัย เพราะเห็นการดับไปเพราะการไม่มีอยู่ของเหตุปัจจัย อุปมาด้วยเปลวไฟในตะเกียง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เพราะเหตุปัจจัยคือความร้อน ไส้ตะเกียง น้ำมันและอากาศ
- ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ หมายถึง ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน (วิปัสสนาญาณ 9) รู้ทุกขอริยสัจจ์ รู้สมุทัยอริยสัจจ์ รู้นิโรธอริยสัจจ์ รู้มรรคอริยสัจจ์ทั้ง 8 และพิจารณาทั้งสิ้นพร้อมกัน (สามัคคีธรรม) เมื่อถึงสัจจานุโลมิกญาณ คือหมุนธรรมจักรทั้ง 8 และพิจารณาดุจผู้พิพากษาพิจารณาเหตุทั้งสิ้น
- ญาณทัสสนวิสุทธิ หมายถึง ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ คือการปฏิบัติบริบูรณ์จนก้าวผ่านภูมิจิตเดิมคือโคตรภูญาณและวิทานะญาณ ได้ความรู้แจ้งในอริยมรรค หรือมรรคญาณ ความบรรลุเป็นอริยบุคคลหรือผลญาณ พิจารณาธรรมที่ได้บรรลุแล้วคือปัจจเวกขณะญาณ ย่อมเกิดขึ้นในวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันบรรลุผลที่หมายสูงสุดแห่งวิสุทธิ หรือไตรสิกขา หรือการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
วิสุทธิ 7 กับ วิปัสสนาญาณ
[แก้]วิสุทธิ 7 เป็นปัจจัยส่งต่อกันขึ้นไปเพื่อบรรลุนิพพาน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา ดังบรรยายในรถวินีตสูตร (พระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎกภาษาบาลี) เปรียบวิสุทธิ 7 ว่าเสมือนรถเจ็ดผลัด ส่งต่อกันให้บุคคลถึงที่หมาย สามารถเปรียบเทียบ ไตรสิกขา, วิสุทธิ 7, ญาณ 16 , ปาริสุทธิศีล 4 และสมาธิ ได้ดังนี้
- อธิศีลสิกขา
ศีลวิสุทธิ
- 1.ปาฏิโมกขสังวรศีล
- 2.อินทรียสังวรศีล
- 3.อาชีวปาริสุทธิศีล
- 4.ปัจจัยสันนิสิตศีล
- อธิจิตตสิกขา
จิตตวิสุทธิ
- -อุปจารสมาธิ
- -อัปปนาสมาธิ ในฌานสมาบัติ
- อธิปัญญาสิกขา
ทิฏฐิวิสุทธิ
- 1.นามรูปปริจเฉทญาณ
กังขาวิตรณวิสุทธิ
- 2.นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
- 3.สัมมสนญาณ
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
- 4.อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ
- 5.ภังคานุปัสสนาญาณ
- 6.ภยตูปัฏฐานญาณ
- 7.อาทีนวานุปัสสนาญาณ
- 8.นิพพิทานุปัสสนาญาณ
- 9.มุจจิตุกัมยตาญาณ
- 10.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
- 11.สังขารุเบกขาญาณ
- 12.สัจจานุโลมิกญาณ
ญาณทัสสนวิสุทธิ
- 13.โคตรภูญาณ
- 14.มัคคญาณ
- 15.ผลญาณ
- 16.ปัจจเวกขณญาณ
อ้างอิง
[แก้]- รถวินีตสูตร จากพระไตรปิฎก (ภาษาไทย)
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม". เก็บถาวร 2015-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พุทธธรรม".