วินัย ภัททิยกุล
วินัย ภัททิยกุล | |
---|---|
ปลัดกระทรวงกลาโหม | |
ดำรงตำแหน่ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 30 กันยายน พ.ศ. 2551 | |
ก่อนหน้า | พลเอก สิริชัย ธัญญสิริ |
ถัดไป | พลเอก อภิชาต เพ็ญกิตติ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 |
ศาสนา | พุทธ |
คู่สมรส | ศศิณี ภัททิยกุล |
พลเอก วินัย ภัททิยกุล (เกิด 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491) ประธานกรรมการ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), ประธานกรรมการ บริษัท สบายดี แอร์เวย์ส จากัด[1] อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อดีตเลขาธิการ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ อดีตราชองครักษ์พิเศษ[2] และอดีตปลัดกระทรวงกลาโหมและเป็นหนึ่งในผู้ดูแลการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
ประวัติ
[แก้]พลเอก วินัย ภัททิยกุล เกิดเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 มีชื่อเล่นว่า "ตุ่น" ซึ่งสื่อมวลชนนิยมเรียกว่า "บิ๊กตุ่น" จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล, โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 6 (ตท.6-ร่วมรุ่นกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์, พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข, พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์), โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น พ.ศ. 2508 หรือ จปร.17 และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ นางศศิณี ภัททิยกุล (นามสกุลเดิม ชลออยู่-มีศักดิ์เป็นหลานของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ อดีต ผบ.ทร.และหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน) มีบุตรและธิดา 3 คน คือ นายสกลธี ภัททิยกุล, พ.ต.สุธีพัฒน์ ภัททิยกุล และ นางสาวภัสวดี ภัททิยกุล
ชีวิตราชการและการเมือง
[แก้]รับราชการอยู่ในกองบัญชาการทหารสูงสุด สังกัดกรมข่าวทหาร ได้รับพระราชทานยศพลตรี (พล.ต.) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2535 เป็นรองผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2538 เป็นรองเจ้ากรมข่าวทหาร เมื่อ พ.ศ. 2539 และรับพระราชทานยศพลโท (พล.ท.) ตำแหน่งเจ้ากรมข่าวทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2544 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก
พล.อ.วินัย ได้รับพระราชทานยศพลเอก (พล.อ.) ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ กองบัญชาการทหารสูงสุด เมื่อ พ.ศ. 2545 ก่อนจะย้ายไปดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
โดยก่อนหน้านั้น พล.อ.วินัย ถือได้ว่าเป็นนายทหารที่ใกล้ชนิดสนิทสนมกับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ด้วยการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาก่อน และเคยถูกควบคุมตัวในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ท่าอากาศยานกองบิน 6 (สนามบิน บน.6) ของกองทัพอากาศ พร้อม พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์
และ พล.อ.วินัย ยังสนิทสนมกับ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน มาก ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ถึงขนาดรับประทานอาหารร่วมกันและนอนเตียงเดียวกันมาก่อน ในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พล.อ.วินัย เป็นนายทหารระดับสูงคนแรกที่ พล.อ.สนธิชักชวนมาร่วมการรัฐประหารด้วย โดย พล.อ.วินัยเป็นผู้ที่ตั้งชื่อคณะรัฐประหารครั้งนี้เองว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (คปค.) โดยมีเจตนาจะให้รำลึกถึง คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ที่เป็นญาติผู้ใหญ่ของภริยา ที่มีบทบาทในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 หลังจากนั้น บทบาทของ พล.อ.วินัย เป็นไปในลักษณะของที่ปรึกษาของคณะ คปค.และ คมช. และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ คมช.และได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม[3] จนได้รับฉายาว่า "ขงเบ้ง คมช." อีกทั้งเมื่อหลังจากที่ พล.อ.สนธิ เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ. มีข่าวว่า พล.อ.สนธิ แต่งตั้ง พล.อ.วินัย ให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.[4][5]
พลเอก วินัย ได้รับแต่งตั้งพระราชทานยศ พลเรือเอก พลอากาศเอก และแต่งตั้งเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ และประจำกรมนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ กองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศ ในปี พ.ศ. 2549[6]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
[แก้]- พ.ศ. 2545 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[7]
- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[8]
- พ.ศ. 2523 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[9]
- พ.ศ. 2513 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ พิธีเจิมเครื่องบินและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ อากาศยาน ลำที่ 10 NewGen Airways[ลิงก์เสีย]
- ↑ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ (จำนวน ๖๑๒ ราย)
- ↑ หนังสือ ลับ ลวง พราง ปฏิวัติปราสาททราย ISBN 9789746038294 โดย วาสนา นาน่วม :สำนักพิมพ์มติชน
- ↑ เปิดตัว..ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ ไฉนไม่ใช่พี่พรั่ง ? (1)[ลิงก์เสีย] จากโอเคเนชั่น
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศทหารและแต่งตั้งนายทหารพิเศษ (พลเอก วินัย ภัททิยกุล พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย (ชั้นสายสะพาย ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕) เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม 119 ตอนที่ 21ข วันที่ 4 ธันวาคม 2545
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ชั้นสายสะพาย จำนวน ๕,๐๑๖ ราย ในวโรกาสพระราชพิธีฉัตรมงคล วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๑)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-28. สืบค้นเมื่อ 2013-06-18.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๘๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๓, ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๓
- ↑ MINDEF Singapore. President Nathan Confers Top Military Award on Thailand's Former Permanent Secretary for Defence. เมื่อ 23 มิถุนายน 2552. สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2566
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2491
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- ทหารบกชาวไทย
- ปลัดกระทรวงกลาโหมไทย
- บุคคลจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล
- บุคคลจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
- บุคคลจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ป.ช.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรมาลา
- เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ