วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
College of Music, Mahasarakham University | |
![]() | |
ชื่อย่อ | วดศ. / วิดดุ / MUA |
---|---|
คติพจน์ | สร้างคน สร้างจินตนาการ สร้างงานคุณภาพ |
สถาปนา | วิชาเอกดุริยางคศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ · 29 มิถุนายน พ.ศ. 2523 คณะศิลปกรรมศาสตร์ · 26 กันยายน พ.ศ. 2551 |
คณบดี | ผศ.ดร.คมกริช การินทร์ |
ที่อยู่ | อาคารวิทยบริการ C เขตพื้นที่ขามเรียง (ม.ใหม่) เลขที่ 41 หมู่ 20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม |
วารสาร | วารสารดนตรีและศิลปะวัฒนธรรม |
สี | สีม่วง |
มาสคอต | โน้ตดนตรี ซอด้วง และโปงลาง |
เว็บไซต์ | https://music.msu.ac.th/ |
![]() |
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ: College of Music, Mahasarakham University) บ้างเรียก คณะดุริยางคศิลป์ เป็นหน่วยงานไทยระดับคณะวิชาสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดการเรียนการสอนด้านดนตรี เป็นวิทยาลัยดนตรีชั้นนำของประเทศ และในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโรงเรียนดนตรีแห่งที่ 4 ของประเทศไทยถัดจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ (มหิดล), คณะดุริยางคศาสตร์ และ วิทยาลัยดนตรี โดยก่อตั้งในปี 2551 พร้อมกันกับ วิทยาลัยดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ และคณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นคณะวิชาลำดับที่ 17 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจุบันเป็นวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนด้านดนตรีเทียบเท่าคณะแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประวัติ
[แก้]สาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์
[แก้]
ในปี พ.ศ. 2512 ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เดิมชื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ในขณะนั้น) ได้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาศิลปะกับมนุษย์เป็นวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้พัฒนาสู่การเปิดสอนเป็นวิชาโทศิลปศึกษา ต่อมาเมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517[1] และได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศแบ่งส่วนราชการจัดตั้งให้เป็นคณะต่างๆ จึงได้มีการแยกคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ออกเป็น 2 หน่วยงานคือ คือ "คณะมนุษยศาสตร์ (Faculty of Humanities)" และ"คณะสังคมศาสตร์ (Faculty of Social Sciences)" โดยมีวิทยาเขตหลักอยู่ที่ประสานมิตร (ที่ตั้งหลักของคณะ)[2] วิชาโทศิลปศึกษาจึงได้สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม และได้พัฒนาเป็นวิชาเอกศิลปศึกษาในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาจึงได้แตกแขนงเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ รวมทั้งสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ด้วย
ภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์
[แก้]ต่อมามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคามได้ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537 จึงได้มีการควบรวมคณะมนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์เข้าด้วยกันเป็นหน่วยงานเดียวคือ "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Faculty of Humanities and Social sciences, Mahasarakham University"[3][4] คณาจารย์สาขาศิลปศึกษา ก็ได้เปิดหลักสูตรสาขาวิชาจิตรกรรมขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่งซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีนิสิตและบัณฑิตเพียงรุ่นเดียวด้วย
ในปีการศึกษา 2539 หลักสูตรจิตรกรรมได้ถูกปรับเป็นหลักสูตรทัศนศิลป์ และในปีเดียวกันนี้เอง สาขาวิชาศิลปศึกษาได้รวมกันกับสาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ตั้งเป็น “ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง” สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์[5] และได้สร้างหลักสูตรสาขานาฏศิลป์ขึ้นมาในภาควิชาในปี พ.ศ. 2540 นั่นเอง ทำให้ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง จึงมี 3 กลุ่มสาขาวิชา คือ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์
และในปี พ.ศ. 2539 นั้นเอง ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดงและสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้นำเสนอโครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยเปิดหลักสูตรจัดการศึกษา 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ สาขาวิชานาฏยศิลป์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ และสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยในปี พ.ศ. 2540 ได้เปิดหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.) สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2541 หลักสูตรสาขาวิชานฤมิตศิลป์และสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ขอแยกตัวออกไปและจัดตั้งเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์[6]
ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีมติให้จัดตั้ง “คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Fine and Applied arts, Mahasarakham University ”[7] ประกอบด้วยภาควิชาทัศนศิลป์ ภาควิชาดุริยางคศิลป์ และภาควิชานาฏศิลป์ (ศิลปะการแสดง) และปี พ.ศ. 2549 เปิดหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ศป.ม.) สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2550 ภาควิชาดุริยางคศิลป์ ได้ร่วมมือกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดการเรียนการสอนหลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี และในปี พ.ศ. 2551 ได้เปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาดุริยางคศิลป์
ก่อตั้งคณะ
[แก้]ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550 ภาควิชาดุริยางคศิลป์ สังกัดคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้แยกการบริหารออกมาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นโครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการจัดการเรียนการสอนให้แก่บุคคลที่สนใจศึกษาในสาขาวิชาด้านดนตรี
ในปี พ.ศ. 2551 โครงการจัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้รับประกาศให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานระดับคณะวิชา ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 โดยสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามในการประชุมครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2551 อนุมัติให้จัดตั้ง“วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “College of Music, Mahasarakham University”[8] มีสถานะเป็นส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ พ.ศ. 2550 และมีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา
หน่วยงานภายใน
[แก้]การแบ่งหน่วยงานภายในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งหน่วยงานภายในออกเป็นส่วนงานต่าง ๆ ดังนี้[9]
![]() การบริหารงานภายในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[10] | |||
---|---|---|---|
ด้านการบริหารงาน | ด้านการเรียนการสอน | ด้านการวิจัยและพัฒนา | |
|
|
|
การศึกษา
[แก้]หลักสูตรที่เปิดสอน
[แก้]ปัจจุบัน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดการเรียนการสอนในหลักสูตร[11] ได้แก่
![]() หลักสูตรที่เปิดสอนในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม | |||
---|---|---|---|
ภาควิชา | ระดับปริญญาบัณฑิต | ระดับปริญญามหาบัณฑิต | ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต |
ภาควิชาดุริยางคศิลป์พื้นบ้าน |
หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต (ดศ.บ.)
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)
|
หลักสูตรดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต (ดศ.ม.)
|
|
ภาควิชาดุริยางคศิลป์ไทย |
หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต (ดศ.บ.)
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)
|
||
ภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันตก |
หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต (ดศ.บ.)
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)
|
หลักสูตรดุริยางคศาสตรมหาบัณฑิต (ดศ.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
ภาควิชาดุริยางคศิลป์ตะวันออก |
หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต (ดศ.บ.)
|
หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี
[แก้]หลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนร่วมกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม)
หลักสูตรเตรียมอุดมดนตรี
- โครงการพิเศษ ห้องเรียนศิลป์-ดนตรี ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
ทำเนียบผู้บริหาร
[แก้]ตั้งแต่เปิดทำการสอน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีคณบดีดำรงตำแหน่งในสังกัดต่าง ๆ ของวิทยาลัย ตามลำดับต่อไปนี้
ความร่วมมือกับภาคเอกชน
[แก้]สถาบันดนตรียามาฮ่า (สยามกลการ) ผู้นำดนตรีศึกษารายแรกของเมืองไทย จับมือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดโรงเรียนสอนดนตรี ณ ศูนย์การค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์ ด้วยเงินลงทุน 10 ล้านบาท[12][13] เตรียมปั้นบุคลากรดนตรีครั้งใหญ่ โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นเทรนเนอร์ คัดเลือกนิสิต นักศึกษาคนรุ่นใหม่ เปิดประสบการณ์ดนตรีสร้างรายได้มหาศาล เตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2015 บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด มองเห็นความสำคัญในการผลิตบุคลากรด้านดนตรี นับเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาดนตรี ควบคู่ไปกับการพัฒนานิสิต นักศึกษา ที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรี เพื่อเสริมศักยภาพของนิสิตไทยสู่บุคลากรดนตรี มืออาชีพ และก้าวสู่ระดับสากล อีกทั้ง เตรียมก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2015 โดยมีความพร้อมในการขยายเครือข่ายร่วมกับพันธมิตรธุรกิจดนตรี คือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดโรงเรียนสอนดนตรี ณ ศูนย์การค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์ ติดกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยได้รับความร่วมมือคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ในการเป็นเทรนเนอร์ของโรงเรียนในแขนงวิชาต่าง ๆ อาทิ เปียโน กีตาร์คลาสสิค กีตาร์ไฟฟ้า กีตาร์เบส กลองชุด ไวโอลิน และหลักสูตรอื่น ๆ ของสถาบัน ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรดนตรีในสาขาดนตรีไทย และดนตรีพื้นบ้าน เพื่อเปิดสอนให้กับบุคคลทั่วไป และยังเป็นการผลิตบุคลากรนักดนตรีที่มีความรู้ และมีคุณภาพ ตลอดจนให้ความสำคัญเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอนต้องได้มาตรฐานสากล เพื่อรักษาระดับมาตรฐานทางด้านการเรียนการสอนเอาไว้ให้ดีที่สุดในเมืองไทย ตอบสนองความต้องการของนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่สนใจอยากศึกษาดนตรี
สถานที่ตั้งและพื้นที่
[แก้]วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ตั้งอยู่ที่อาคารวิทยบริการ C มีอาณาเขตอยู่ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขตพื้นที่ขามเรียง (ม.ใหม่) ติดกับวิทยาลัยการเมืองการปกครองและสำนักคอมพิวเตอร์ อยู่ตรงข้ามกับอาคารบรมราชกุมารี ที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มีพื้นที่ลานอัฐศิลป์หรือลานแปดเหลี่ยม เป็นสถานที่ทำกิจกรรมหลักของคณะเช่นเดียวกับวิทยาลัยการเมืองการปกครอง
อาคารวิทยบริการ C หรือ อาคารเรียนรู้ด้วยตนเองและปฏิบัติการเครือข่าย (อาคาร C) ก่อสร้างโดยมีวงเงินงบประมาณที่ก่อสร้างจำนวนทั้งสิ้น 64,500,000 บาท มีการทำสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2548 (เลขที่สัญญาจ้างจ.28/2548) วันสิ้นสุดสัญญาจ้างวันที่ 17 มิถุนายน 2549 ผู้ออกแบบคือ บริษัท CAPE จำกัด บริษัทที่ปรึกษาผู้ควบคุมงานคือ บริษัท CAPE จำกัด บริษัทผู้รับจ้าง คือ บริษัท บิลเลียนเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนและปฏิบัติการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีลักษณะอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูงจำนวน 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 11,000 ตารางเมตร ต่อมาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะล่าสุดในกลุ่มศิลปกรรมศาสตร์/วิจิตรศิลป์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งนี้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์จึงได้ย้ายเข้ามายังอาคารเรียนรู้ด้วยตนเองและปฏิบัติการเครือข่าย (อาคาร C) ใช้เป็นที่ทำการใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2555
ปัจจุบันอาคารเรียนรู้ด้วยตนเองและปฏิบัติการเครือข่าย (อาคาร C) หรืออาคารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ประกอบด้วย
- ชั้น 1 ห้องเรียนวิชาดนตรีตะวันตก
- ชั้น 2 สำนักงานวิทยาลัยดุริยางคศิลป์, ห้องประชุมบุญชม ไชยโกษี
- ชั้น 3 ห้องประชุมวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
- ชั้น 4 ห้องเรียนวิชาดนตรีพื้นบ้าน, ห้องเรียนวิชาดนตรีไทย
กิจกรรม
[แก้]กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์
[แก้]“กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์”[14] เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างวิทยาลัยการเมืองการปกครอง (วิดการเมือง), คณะวิทยาการสารสนเทศ (วิดยาการ), วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ (วิดดุ), คณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิดวะ) และคณะวิทยาศาสตร์ (วิดยา) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) โดยมีจุดประสงค์ให้ทั้ง 5 คณะ เกิดความผูกพัน มิตรภาพไมตรี และเกิดความสามัคคีแน่นแฟ้นต่อกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังได้รับความสนุกสนามเพลิดเพลินและผ่อนคลาย
ส่วนในกีฬานั้นจะแบ่งออกเป็น 2ประเภท คือกีฬาสากล กับกีฬาพื้นบ้าน ส่วนในเรื่องของแสตนเชียร์และผู้นำเชียร์ได้มีการตกลงถึงกฎ กติกา มารยาทในการแข่งขันกีฬา เช่น มีชักกะเย่อ ส่งลูกปิงปอง และเพิ่มสีสันด้วยกีฬาผู้นำคือให้ผู้นำแต่ละคณะได้ลงมาทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งมีการโชว์สแตนด์เชียร์ จัดกีฬาพื้นบ้านขึ้นมา เพื่อให้น้องที่สแตนด์มีส่วนร่วมด้วยเป็นประจำทุกปี เรียกได้ว่าเป็นประเพณีไปแล้ว สำหรับการเวียนเจ้าภาพ จะเวียนเป็นวงกลมตามภูมิลักษณะของมหาวิทยาลัย เริ่มต้นจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการสารสนเทศ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง และคณะวิทยาศาสตร์ ตามลำดับ
สานสัมพันธ์ 3 ศิลป์
[แก้]“โครงการสานสัมพันธ์ 3 ศิลป์”[15] เป็นโครงการที่จัดขึ้นจากความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น พิธีบายศรี สู่ขวัญ กีฬาสานสัมพันธ์ และงานเลี้ยงต้อนรับให้กับนิสิตใหม่ บริเวณคอร์ดกลางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ เพื่อให้คณาจารย์และนิสิตรุ่นพี่ได้แสดงความต้อนรับให้กับนิสิตใหม่ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความสมัครสมานสามัคคี และเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ระหว่าง 3 คณะต่อไป
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗. เก็บถาวร 2022-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย. การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๒๙. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
- ↑ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. ประวัติโดยย่อ. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
- ↑ สำนักงานอธิการบดี. พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๘. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
- ↑ กลุ่มงานประชุม. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 19 เมษายน 2565.
- ↑ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. "ประวัติคณะศิลปกรรมศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-04. สืบค้นเมื่อ August 3, 2021.
- ↑ "ระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยคณะศิลปกรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๕" (PDF). กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สืบค้นเมื่อ August 3, 2021.
- ↑ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อง จัดตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ พ.ศ. 2551 เก็บถาวร 2021-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 24 พฤษภาคม 2564.
- ↑ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รายงานข้อมูลพื้นฐานประจำปี 2560 หน้า 18 เก็บถาวร 2021-08-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 29 มิถุนายน 2564
- ↑ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. โครงสร้างการบริหารงาน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์. เก็บถาวร 2022-07-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 30 กรกฎาคม 2565.
- ↑ "หลักสูตรวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มมส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2021-06-24.
- ↑ สยามดนตรียามาฮ่า, สถาบันดนตรียามาฮ่าจับมือพันธมิตรมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 29 มิถุนายน 2564.
- ↑ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มมส จับมือ สถาบันดนตรียามาฮ่า ปั้นบุคลากรดนตรี เก็บถาวร 2021-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 29 มิถุนายน 2564.
- ↑ สื่อมวลชล. “กีฬา 5 วิด’สัมพันธ์” สานสัมพันธ์ 5 คณะ มมส. เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้น 6 ตุลาคม 2565.
- ↑ ข่าวประชาสัมพันธ์ มมส. มมส จัดโครงการสานสัมพันธ์ 3 ศิลป์. เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 6 ตุลาคม 2565.