คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Faculty of Fine-Applied Arts and Cultural Science, Mahasarakham University | |
ชื่อย่อ | ศปว. / FACS |
---|---|
คติพจน์ | ศิลปะและวัฒนธรรม สร้างสรรค์สังคมและพัฒนาชาติ |
สถาปนา | วิชาเอกศิลปศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม · 29 มิถุนายน พ.ศ. 2523 คณะศิลปกรรมศาสตร์ · 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 |
สังกัดการศึกษา | มหาวิทยาลัยมหาสารคาม |
คณบดี | ผศ.ดร. พีระ พันลูกท้าว |
ที่อยู่ | อาคารศิลปกรรมศาสตร์ เลขที่ 41 หมู่ 20 ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 44150 อาคารวัฒนธรรมศาสตร์ เลขที่ 269 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม 44000 |
วารสาร | วารสารวิถีทรรศน์ศิลปะและวัฒนธรรม |
สี | สีทอง สีเงิน |
มาสคอต | พระพิฆเนศ |
เว็บไซต์ | facs.msu.ac.th |
คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ : Faculty of Fine-Applied Arts and Cultural Science, Mahasarakham University) เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชาสังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 11 ของมหาวิทยาลัยโดยมติสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 แต่เดิมคือวิชาเอกศิลปศึกษา ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 ต่อมาได้พัฒนาเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์ในปี 2545 และในภายหลังได้รวมกับคณะวัฒนธรรมศาสตร์ โดยคณะฯ ตั้งอยู่ทั้ง 2 วิทยาเขต ได้แก่ อาคารศิลปกรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ที่เขตพื้นที่ขามเรียง (ม.ใหม่) และอาคารวัฒนธรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ เขตพื้นที่ในเมือง (ม.เก่า) ปัจจุบันได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก
ประวัติ
[แก้]วิชาเอกศิลปศึกษา คณะมนุษยศาสตร์
[แก้]ในปี พ.ศ. 2512 ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เดิมชื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ในขณะนั้น) ได้มีการจัดการเรียนการสอนวิชาศิลปะกับมนุษย์เป็นวิชาพื้นฐานของสถาบัน ต่อโดยสังกัดคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ และได้พัฒนาสู่การเปิดสอนเป็นวิชาโทศิลปศึกษาในปี พ.ศ. 2516
ต่อมาเมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคามยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517[1] ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการจัดตั้งให้เป็นคณะ จึงได้มีการแยกคณะวิชามนุษยธรรมศึกษาและสังคมศาสตร์ออกเป็น 2 คณะ คือ "คณะมนุษยศาสตร์ (Faculty of Humanities)" และ"คณะสังคมศาสตร์ (Faculty of Social Sciences)" โดยขึ้นตรงกับสำนักงานคณบดีที่ตั้งอยู่ประสานมิตร (ที่ตั้งหลักของคณะ)[2] วิชาโทศิลปศึกษาจึงได้โอนย้ายมาสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และได้พัฒนาเป็นวิชาเอกศิลปศึกษา (สาขาศิลปศึกษา) ในปี พ.ศ. 2523 ถึงปีการศึกษา 2541
ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
[แก้]ต่อมามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคามได้ยกฐานะเป็น "มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537 จึงได้มีการควบรวมคณะมนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์เข้าด้วยกันเป็นหน่วยงานเดียวคือ "คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Faculty of Humanities and Social sciences, Mahasarakham University"[3][4] คณาจารย์สาขาศิลปศึกษา ก็ได้เปิดหลักสูตรสาขาวิชาจิตรกรรมขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่งซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีนิสิตและบัณฑิตเพียงรุ่นเดียวด้วย
ในปีการศึกษา 2539 หลักสูตรจิตรกรรมได้ถูกปรับเป็นหลักสูตรทัศนศิลป์ และในปีเดียวกันนี้เอง สาขาวิชาศิลปศึกษาได้รวมกันกับสาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ตั้งเป็น “ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง” สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์[5] และได้สร้างหลักสูตรสาขานาฏศิลป์ขึ้นมาในภาควิชาในปี พ.ศ. 2540 นั่นเอง ทำให้ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง จึงมี 3 กลุ่มสาขาวิชา คือ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์
คณะศิลปกรรมศาสตร์
[แก้]ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ภาควิชาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดงได้ร่วมกับสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อนำเสนอ “โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” โดยเปิดหลักสูตรจัดการศึกษา 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาทัศนศิลป์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ สาขาวิชานาฏยศิลป์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ และสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2541 หลักสูตรสาขาวิชานฤมิตศิลป์และสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ขอแยกตัวออกไปและจัดตั้งเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์[6] และได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็น “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์” ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 โครงการจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จึงดำเนินการโดย 3 สาขาวิชาหลัก คือ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ และได้เสนอขอเป็นคณะวิชา ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 เรื่อง “จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์” โดยไม่เป็นส่วนราชการตามความในมาตร 6 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2537 ความว่า
“โดยที่เป็นการสมควรให้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 (4) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2537 และมติสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 2 / 2545 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 อนุมัติ ให้จัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Fine and Applied Arts” โดยไม่เป็นส่วนราชการตามความในมาตร 6 และ มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2537 ให้มีหน้าที่จัดการศึกษาทำนองเดียวกันกับคณะ”
ส่งผลให้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 สภามหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีมติให้จัดตั้ง “คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Faculty of Fine and Applied arts, Mahasarakham University ”[7] และให้ถือว่าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นวันสถาปนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปีการศึกษา 2549 ได้มีการจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขวิชาทัศนศิลป์ และดุริยางคศิลป์
ในปีการศึกษา 2550 หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ และหลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ ได้ขอแยกตัวออกไปเพื่อจัดตั้งเป็นวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
คณะวัฒนธรรมศาสตร์
[แก้]ปี พ.ศ. 2553 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงคุณ จันทจร และคณาจารย์ ได้ดำเนินการริเริ่มและดำเนินการขอจัดตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์ จากเดิมที่เป็นสาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนการขอจัดตั้งส่วนงานภายในจนสามารถจัดตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์ได้เป็นที่สำเร็จ ในปี พ.ศ. 2554 การจัดตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์โดยมีบุคคลสำคัญที่ให้การสนับสนุน คือ ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต และท่านนายกสภามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านอำนวย ปะติเส ซึ่งบุคคลทั้งสามถือได้ว่าเป็นบุคคลริเริ่มในการก่อตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์ โดยมหาวิทยาลัยมีมติให้จัดตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์เป็นส่วนงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554 ให้มีชื่อเรียกว่า “คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ภาษาอังกฤษคือ “Faculty of Cultural science, Mahasarakham University” และถือได้ว่าเป็นวันก่อตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์ นับเป็นคณะวัฒนธรรมศาสตร์คณะแรกของประเทศไทยและเป็นหน่วยงานลำดับที่ 19 ของมหาวิทยาลัย[8]
คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์
[แก้]ปีการศึกษา 2563 มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีมติให้ยุบคณะวัฒนธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งโอนกิจการภายในของคณะไปรวมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์[9] และเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ภาษาอังกฤษคือ “Faculty of Fine-Applied Arts and Cultural Science, Mahasarakham University”[10] ตามประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปัจจุบัน คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานนอกระบบราชการในกำกับของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แบ่งการบริหารงานออกเป็นสำนักเลขานุการคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ และภาควิชาจำนวน 3 ภาควิชา สามารถอำนวยการสอนได้ 5 หลักสูตร 9 สาขาวิชาในระดับปริญญาตรี โทและเอก ในปีการศึกษา 2563 คณะมีบุคคลากรทั้งหมดรวม 79 คนและนิสิตจำนวน 1,195 คน[11] ทำการเรียนการสอนที่อาคารศิลปกรรมศาสตร์ เขตพื้นที่ขามเรียงและอาคารวัฒนธรรมศาสตร์ เขตพื้นที่ในเมือง
อัตลักษณ์
[แก้]- สัญลักษณ์
คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาทั้งสองพื้นที่ กล่าวคือ พระพิฆเนศวร องค์สำเร็จนิรันดร์ ปั้นต้นแบบโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สันติสุข แหล่งสนาม ปั้นต้นแบบจากภาพร่างเดิมของศาสตรเมธี นนทิวรรธน์ จันทะนะผลิน หล่อด้วยโลหะเนื้อดี ขนาดหน้าตักกว้าง 113 เซนติเมตร สูง 215 เซนติเมตร ประดิษฐาน ณ พระแท่นประทับประกอบป้ายศาสตร์และศิลป์ของคณะเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563 และประกอบพิธีบวงสรวง เบิกเนตร และเทวาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 12 เวลา 13.00-16.30 น. โดยพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสีพราหมณกุล) เป็นผู้ดำเนินพิธีเทวาภิเษก นอกจากนี้ ยังได้รับความเมตตาจะพระเถรานุเถระสำคัญของภาคอีสาน มาทำพิธีพุทธาภิเษกองค์พระพิฆเนศวรเช่นกัน กอปรด้วย หลวงปู่หนูอินทร์ กิตติสาธร หลวงปู่จื่อ พันธมุตโต หลวงปู่ขำ เกสาโร หลวงปู่เจ (บุญมา) กตปุญโญ พระอาจารย์มนูญชัย มนุญญพโล เป็นต้น
ส่วนคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์พื้นที่ในเมือง มีพระพุทธรูปโลหะสำริดแบบอีสานล้านช้างปางเปิดโลก ที่งดงาม ศักดิ์สิทธิ์ และมีเอกลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนของศิลปวัฒนธรรมอีสานล้านช้าง ขนาดความสูง 3 เมตร ประทับบนพระแท่นประกอบป้ายคณะ พระแท่นดังกล่าวถูกออกแบบให้แฝงคติธรรม เปิดแผ่นหลังองค์พระปฏิมา ให้พุทธศาสนิกชนและสาธารณชนทั่วไปได้เคารพสักการะ พร้อมกับมา “ปิดทองหลังองค์พระปฏิมา” ตามกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงตรัสไว้เป็นแนวทางการกระทำความดีแก่ปวงชนชาวไทย
- สาขาทัศนศิลป์ สาขาศิลปะการแสดง สาขาวิชาการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสาขาวิชาการวิจัยและสร้างสรรค์ศิลปกรรมศาสตร์
- สาขาการจัดการวัฒนธรรม และสาขาวัฒนธรรมศาสตร์
หน่วยงานภายใน
[แก้]คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ แบ่งการบริหารหน่วยงานภายในได้ดังนี้
หลักสูตร
[แก้]หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม | |||
---|---|---|---|
ภาควิชา | ระดับปริญญาบัณฑิต | ระดับปริญญามหาบัณฑิต | ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต |
ภาควิชาทัศนศิลป์ | หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.)
|
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ศป.ม.)
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
ภาควิชาศิลปะการแสดง | หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.)
|
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (ศป.ม.)
|
- |
ภาควิชาวัฒนธรรมและการออกแบบ | หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ศป.บ.)
|
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)
|
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)
|
ทำเนียบคณบดี
[แก้]รายนามคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีดังนี้
ทำเนียบผู้บริหารคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม[12] | |||
---|---|---|---|
คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม | คณบดีคณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม | ||
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง |
1. นายนนธิวรรธน์ จันทนะผะลิน | พ.ศ. 2546 - 2554 (สองวาระ) | 1. ผศ.ดร.ทรงคุณ จันทจร | พ.ศ. 2554 - 2558 |
2. ผศ.พีระพงศ์ เสนไสย | พ.ศ. 2554 - 2558 | 2. ผศ.ดร.ซิสิกกา วรรณจันทร์ | พ.ศ. 2558 - 2561 |
3. รศ.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ (รักษาการแทนฯ) | พ.ศ. 2558 | 3. ผศ.ดร.ปฐมพงศ์ ณ จัมปาศักดิ์ | พ.ศ. 2561 - 2562 |
4. รศ.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ | พ.ศ. 2558 - 2563 (รักษาการแทนฯ) | 4. นายปรีชา ประเทพา (รักษาการแทนฯ) | พ.ศ. 2562 - 2563 |
คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม | |||
รายนามคณบดี | วาระการดำรงตำแหน่ง | ||
1. รศ.ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ | พ.ศ. 2563 - 2565 | ||
2. ผศ.ดร. พีระ พันลูกท้าว | พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน |
หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น
สถานที่ตั้งและพื้นที่
[แก้]คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามตั้งอยู่ทั้ง 2 เขตพื่นที่โดยส่วนคณะศิลปกรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ที่เขตพื่นที่ขามเรียง เลขที่ 41 หมู่ 20 จำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย ระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯและคณะการบัญชีและการจัดการ และส่วนคณะวัฒนธรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ที่เขตพื้นที่ในเมือง เลขที่ 269 หมู่ 2 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างคณะศึกษาศาสตร์และสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ก่อสร้างอาคารเรียนรวมคณะศิลปกรรมศาสตร์ ขึ้น สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2544 วงเงินก่อสร้าง 97,000,000 บาท ผู้ออกแบบโดยบริษัท CAPE บริษัทผู้รับจ้าง หจก. กำจรกิจก่อสร้าง การใช้ประโยชน์ใช้เป็นอาคารเรียนของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ลักษณะอาคาร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 12,000 ตารางเมตร
ปัจจุบันอาคารเรียนรวมศิลปกรรมศาสตร์ ได้เป็นที่ทำการสำนักงานคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์
- ชั้น 1 สำนักงานคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์
- ชั้น 2 ภาควิชาศิลปะการแสดง
- ชั้น 4 ภาควิชาทัศนศิลป์
วงโปงลางศิลป์อีสาน
[แก้]วงโปงลางศิลป์อีสานเดิมชื่อวงแคนเงิน พ.ศ. 2544 ก่อตั้งขึ้นจากสโมสรนิสิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของมหาวิทยาลัย[13] โดยการรวมกลุ่มของนิสิตสาขาดุริยางคศิลป์ สาขาศิลปะการแสดง และสาขาทัศนศิลป์ ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2549 สำนักนันทนาการ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดการประกวดดนตรีพื้นบ้านขึ้น ผลการประกวดในปีนี้วงโปงลางศิลป์อีสานซึ่งเป็นการเข้าร่วมเป็นครั้งแรกได้รับรางวัลชนะเลิศ จากนั้นวงศิลป์อีสานจึงได้ร่วมแข่งขันในทุก ๆ จนปี พ.ศ. 2557 วงโปงลางศิลป์อีสานก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดอีกครั้งหนึ่ง[14]
สานสัมพันธ์ 3 ศิลป์
[แก้]“โครงการสานสัมพันธ์ 3 ศิลป์”[15] เป็นโครงการที่จัดขึ้นจากความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น พิธีบายศรี สู่ขวัญ กีฬาสานสัมพันธ์ และงานเลี้ยงต้อนรับให้กับนิสิตใหม่ บริเวณคอร์ดกลางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ เพื่อให้คณาจารย์และนิสิตรุ่นพี่ได้แสดงความต้อนรับให้กับนิสิตใหม่ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ สร้างความสมัครสมานสามัคคี และเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม ระหว่าง 3 คณะต่อไป
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
[แก้]- สุดารัตน์ บุตรพรม (ตุ๊กกี้ ชิงร้อย) นักแสดง/ดาราตลก ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์[16]
- ธิติ ศรีนวล หรือ ต้องเต เป็นนักแสดงไทบ้าน เดอะซีรีส์ ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ เอกศิลปะการละคร ภาควิชาศิลปะการแสดง[17]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๑๗. เก็บถาวร 2022-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย. การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. ๒๕๒๙. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
- ↑ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. ประวัติโดยย่อ. สืบค้นเมื่อ 28 สิงหาคม 2564.
- ↑ สำนักงานอธิการบดี. พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๘. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2564.
- ↑ กลุ่มงานประชุม. ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม. 19 เมษายน 2565.
- ↑ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. "ประวัติคณะศิลปกรรมศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-04. สืบค้นเมื่อ March 31, 2019.
- ↑ "ระเบียบมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ว่าด้วยคณะศิลปกรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๕" (PDF). กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. สืบค้นเมื่อ July 27, 2021.
- ↑ คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. "ประวัติคณะวัฒนธรรมศาสตร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-29. สืบค้นเมื่อ March 30, 2019.
- ↑ ประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อง การยุบเลิกคณะวัฒนธรรมศาสตร์ เพื่อรวมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ พ.ศ. 2563. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2564.
- ↑ ประกาศมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรื่อ การเปลี่ยนชื่อคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็น คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์. สื่บค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2564.
- ↑ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : สถิติจำนวนบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามปีการศึกษา 2563 โดย กองแผนงาน สำนักงานธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เก็บถาวร 2021-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2564.
- ↑ ทำเนียบคณบดี คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์, 23 มีนาคม 2564
- ↑ วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. กระบวนการสร้างสรรค์ดนตรีพื้นบ้านวงโปงลางในภาคอีสาน Creative Process of Ponglang Folk Music Ensemb. 21 เมษายน 2565.
- ↑ ข่าวประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. วงศิลป์อีสาน มมส คว้ารางวัลชนะเลิศ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2557. เก็บถาวร 2022-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 21 เมษายน 2565.
- ↑ ข่าวประชาสัมพันธ์ มมส. มมส จัดโครงการสานสัมพันธ์ 3 ศิลป์. เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 6 ตุลาคม 2565.
- ↑ ประวัติตุกกี้ ชิงร้อย สืบค้นเมื่อ 2 ตุลาคม 2564.
- ↑ ธิติ ศรีนวล (ต้องเต) 21 เมษายน 2565.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เก็บถาวร 2019-03-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เฟซบุ๊ก (สโมสรนิสิตศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)