วัดนาขวาง
วัดนาขวาง | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดนาขวาง, วัดคูหาสวรรค์ |
ที่ตั้ง | หมู่ที่ 4 ถนนพระรามที่ 2 ตำบลกาหลง อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 74000 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดนาขวาง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 4 บ้านนาขวาง ตำบลกาหลง อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา
ประวัติ
[แก้]ไม่ทราบประวัติและผู้สร้างวัดนาขวางอย่างชัดเจน หนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ระบุว่าตั้งเมื่อ พ.ศ. 2315 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2465 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 9 เมตร ยาว 18.5 เมตร[1] ขณะที่ ประวัติวัดในจังหวัดสมุทรสาคร สังกัดมหานิกาย จำนวน 96 วัด ระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สมัยพระเจ้าเสือ โดยมีเรื่องเล่าว่า พระเจ้าเสือเสด็จประพาสทางชลมารคผ่านทางหมู่บ้านนาขวาง พบต้นไม้ใหญ่ขึ้นตามริมคลองกิ่งทอดก่ายกันเกะกะมองดูเหมือนถ้ำ จึงทรงตั้งชื่อว่า วัดคูหาสวรรค์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น "วัดนาขวาง" ตามชื่อหมู่บ้านสมัยที่สุนทรภู่ได้เดินทางไปเมืองเพชรบุรีและแต่งนิราศเมืองเพชร[2] นอกจากนี้ยังได้ขุดพบพระพุทธรูปสมัยอู่ทองในราว พ.ศ. 2467
อาคารเสนาสนะ
[แก้]พระอุโบสถนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยรัตนโกสินทร์ มีหลังคาเครื่องไม้ลดชั้น 3 ชั้น มุงกระเบื้องสีชั้นละ 3 ตับ มีช่อฟ้าใบระกาไม้แกะสลัก ด้านหน้าพระอุโบสถซ่อมแซมต่อเติมขึ้นในภายหลัง ทำเป็นชายคายื่นลาดต่ำออกมา มีเสาปูนสี่เหลี่ยม 2 ต้น กลม 2 ต้น รองรับโครงหลังคา หน้าบันด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักรูปเทพนม และกนกเป็นลำตัวนาคและเศียรนาค ประตูไม้ทาสีแดงไม่มีลวดลายแกะสลัก บานประตูหน้าต่างทาสีแดง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย พระพุทธรูปประทับยืนและนั่ง แสดงปางต่าง ๆ ศิลปะอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ทรงระฆังกลม 2 องค์ สภาพชำรุดยอดหักหาย เสมาโบราณด้านหน้าพระอุโบสถ ประชาชนสามารถปิดทองพระที่ประดิษฐานใต้พระอุโบสถ ปิดทองเสมา ลูกนิมิต ลอดใต้พระอุโบสถเพื่อสะเดาะเคราะห์
ศาลาการเปรียญกว้าง 12.80 เมตร ยาว 24.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 หอสวดมนต์กว้าง 10 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2532 กุฏิสงฆ์จำนวน 3 หลัง วิหารกว้าง 6.20 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 ศาลาอเนกประสงค์กว้าง 23.20 เมตร ยาว 35.20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 ศาลาบำเพ็ญกุศลจำนวน 1 หลัง นอกจากนี้มีหอกลองและหอระฆัง[3] ปากทางวัดยังมีศาลสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
รายนามเจ้าอาวาส
[แก้]- พระกลัด
- พระก้อน
- พระต่วน
- พระสุด
- พระเติม เตมิโย
- พระยนต์ ยนตสีโล
- พระครูสุนทรพัฒนาภรณ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2545. หน้า 33.
- ↑ "วัดนาขวาง". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
- ↑ "วัดนาขวาง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.