ข้ามไปเนื้อหา

กุฏิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
กุฏิสงฆ์สร้างด้วยไม้สักที่วัดอุดมธนี จังหวัดนครนายก

กุฏิ หรือ กุฎี (อ่านว่า กุด หรือ กุดติ) บางครั้งปรากฏคำสะกด กุฏี หมายถึงที่พักอาศัยของนักบวชในศาสนาหรือความเชื่อ ในศาสนาคริสต์บางนิกายอาจเรียกอาราม และในศาสนาฮินดูอาจเรียกอาศรม

ในศาสนาพุทธ

[แก้]

กุฏิ สมัยก่อนจะแยกกันเป็นหลัง ๆ อยู่รวมกันหลาย ๆ หลัง เช่น กุฏิเรือนไทย เรียกว่า กุฏิหมู่ หรือ หมู่กุฏิ บางแห่งสร้างเป็นหลายชั้นและหลายห้อง เรียกว่า กุฏิแถว

สำหรับกุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้ามีชื่อเรียกเป็นพิเศษว่า พระคันธกุฎี เพราะมีกลิ่นหอมอยู่ตลอดเวลา

กุฏิที่อยู่อาศัย พุทธบัญญัติเดิมกําหนดขนาดของ กุฏิให้พอดีที่พระภิกษุรูปเดียวจะอาศัยอยู่ได้สะดวก มีเนื้อที่กําหนดความยาว 12 คืบพระสุคต และกว้าง 7 คืบพระสุคต คือ ประมาณ 3.00 เมตร x 1.75 เมตร ตามมาตราส่วนปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ขนาดตามที่กําหนดไว้นี้กําหนดเพื่อการอยู่อาศัย โดยแท้จริงมิใช่เพื่อสะสมสิ่งใด ๆ ด้วยเลย ตัวอย่างเช่น กุฏิที่ใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนาโดยทั่วไปในปัจจุบัน การที่พระภิกษุแต่ละรูปจะมีกุฏิอยู่อาศัยเองได้นั้น จะต้องประกาศต่อสาธารณะว่าจะทํากุฏิอยู่อาศัยอยู่ถึง 3 ครั้ง หากไม่มีผู้ใดคัดค้านกรรมสิทธิ์ในที่ดินจึงจะทํากุฏิอยู่ได้ ที่มีพุทธบัญญัติให้กระทํา ดังนี้ก็เพื่อมิให้พระภิกษุล่วงละเมิด ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น หรือพระภิกษุ อาจเข้าอยู่อาศัยในที่ที่มีผู้สละแบ่งให้ก็ได้ เช่นในเรือนที่พระภิกษุจะต้องอยู่รวมกันหลาย ๆ รูป แต่การอยู่อาศัยรวมกันนั้น ก็จะต้องมีการกำหนด แบ่งเขตให้เป็นสัดส่วนเฉพาะของภิกษุแต่ละรูป เขตเฉพาะตนดังกล่าวนี้เรียกว่า เขตของการครองผ้าไตรจีวร เขตนี้มีเครื่องล้อมบังเป็นที่หมายกำหนด แต่ถ้าไม่มีเครื่องล้อมบัง จะถือเอากำหนดหัตถบาสที่มีระยะหนึ่งศอกโดยรอบตัวเป็นเขตกำหนด หรือเป็นป่าก็อนุญาตให้อย่างมาก 7 อัพภันดรโดยประมาณ คือในวงรอบ 98 เมตร เป็นเขตครองผ้าไตรจีวร เขตครองผ้าไตรจีวร หมายถึง เขตที่พระภิกษุ จะต้องรักษาเครื่องนุ่งห่มที่เรียกว่าไตรจีวร (ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และผ้าพาดไหล่) ไว้กับตัวเฉพาะในเวลากลางคืน จนกว่าจะถึงเวลาเช้า แม้ในเวลานอนก็จะต้องรักษาไตรจีวรไว้ใกล้ตัว หากพระภิกษุละทิ้งให้ไตรจีวรอยู่ห่างจากตัว แม้ระยะห่างเกินกว่าหัตถบาสรอบตัว ก็ถือว่าขาดจากความเป็นเจ้าของ จะต้องประกาศความเป็นเจ้าของกับพระภิกษุรูปอื่นใหม่ เพื่อให้เป็นพยานจึงนำมานุ่งห่มได้อีก การที่มีบัญญัติเช่นนี้ ก็เพื่อให้มีการรู้จักระมัดระวังข้าวของของตน ไม่ให้ถูกลักขโมยได้ง่าย

ลักษณะอาคารที่ใช้สอยในเขตสังฆวาสนี้ ไม่มีข้อกำหนดว่า จะต้องเป็นรูปหรือทรวดทรงอย่างไร ตามที่ปฏิบัติกันมานั้น กุฏิส่วนมากก็มีลักษณะดังเรือนราษฎรอยู่อาศัย เพราะพระภิกษุก็คือราษฎรที่มาบวชนั่นเอง แต่ถ้าจะมีการกำหนดจำแนกแล้ว กุฏิที่พระสงฆ์อยู่อาศัยอาจมีได้ ดังนี้

  1. ภิกษุสร้างขึ้นเองโดยวิธีประกาศหาที่ที่ไม่มีผู้คัดค้าน และอยู่ในขนาดที่มีพุทธานุญาต
  2. บุคคลปลูกถวายพระภิกษุด้วยความศรัทธา
  3. บุคคลยกเรือนเดิมรื้อมาถวายอุทิศให้พระภิกษุอยู่อาศัย

โดยเฉพาะในกรณีข้อ 3 นี้มักปรากฏอยู่เนือง ๆ บุคคลในที่นี้อาจเป็นราษฎร หรืออาจเป็นผู้มีอำนาจปกครองก็ได้ กรณีที่ราษฎรยกบ้านเรือนถวายแก่สงฆ์มักเป็นกรณีที่ บ้านเรือนนั้นอยู่อาศัยไม่เป็นปกติ เกิดมีความเจ็บไข้หรือมี คนตายเนือง ๆ หรือบ้านเรือนนั้นอาจมีสิ่งที่ไม่เป็นมงคลเช่น เชื่อกันว่ามีผีปิศาจสิง ทำให้ผู้คนที่อยู่อาศัยเกิดความหวาดกลัว หรือเป็นเรือนที่เจ้าของเสียชีวิตไม่มีผู้อยู่อาศัยต่อมา ทายาทจึงได้รื้อเรือนไปปลูกถวายวัด หรือพระมหากษัตริย์ ถวายเรือนของบรรพชนนำมาสร้างเป็นกุฏิสงฆ์ ดังที่เคย กล่าวมาแล้วในตอนต้น

ลักษณะกุฏิเท่าที่นิยมสร้างกันมานั้นสังเกตว่าอาจ จำแนกวิธีการสร้างได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. กุฏิเดี่ยว เป็นกุฏิชนิดที่มีพระภิกษุอยู่อาศัยเพียงรูปเดียว มีห้องที่อาศัยหลับนอนเพียงหนึ่งห้อง มีชานนั่งหน้าห้องแบบชานพะไลเรือน กุฏิประเภทนี้มักนิยมใช้เป็นแบบกุฏิของภิกษุ ที่ปรารถนาปฏิบัติวิปัสสนาธรรมปลูกแยกห่างจากกัน เหมาะสำหรับการสร้างในที่ดอนและตามป่า
  1. กุฏิแถว เป็นกุฏิเช่นเดียวกับกุฏิเดี่ยวแต่ต่อเรียง

ติดกันหลายห้อง มีชานแล่นให้เดินติดต่อ กันได้ตลอด กุฏิชนิดนี้เป็นกุฏิที่ต้องการ ความสะดวกในการอยู่รวมกันจำนวนมาก ๆ มักนิยมปลูกในวัดที่มีพระภิกษุจำนวนมาก และในที่ที่น้ำท่วมถึง

  1. คณะกุฏิ เป็นกุฏิชนิดเกาะหมู่อยู่รวมกัน โดยทำเป็นกุฏิแถวล้อมสองด้านหรือสี่ด้าน มีหอฉันหรือลานอยู่กลาง กุฏิชนิดนี้มักจะทำขึ้นในวัดที่มีการแบ่งการควบคุม ดูแลเป็นกลุ่มใหญ่เรียกว่าคณะหลาย

ๆ คณะ

อ้างอิง

[แก้]

พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548