ข้ามไปเนื้อหา

อาสนวิหารตูล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก มหาวิหารตูล)
อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนแห่งตูล
ทางเข้าหลักด้านหน้าฝั่งทิศตะวันตก
แผนที่
48°40′31″N 5°53′40″E / 48.67528°N 5.89444°E / 48.67528; 5.89444
ที่ตั้งตูล จังหวัดเมอร์เตมอแซล
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะอาสนวิหาร
เหตุการณ์ระเบียงคดสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์กอทิก
แล้วเสร็จค.ศ. 1561
ความสูงอาคาร62 เมตร (203 ฟุต) (หอระฆัง)
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ (ค.ศ. 1840)[1]

อาสนวิหารตูล (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Toul) เรียกชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนแห่งตูล (Cathédrale Saint-Étienne de Toul) เป็นอาสนวิหารในนิกายโรมันคาทอลิก สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญสเทเฟน (ปฐมมรณสักขี) ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าของตูล จังหวัดเมอร์เตมอแซล ในแคว้นกร็องแต็สต์ ประเทศฝรั่งเศส เป็นที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลน็องซี-ตูลร่วมกับอาสนวิหารแม่พระรับสารและนักบุญซีฌแบร์แห่งน็องซี

อาสนวิหารแห่งนี้เป็นหนึ่งตัวอย่างของอาคารกอทิกที่สวยงามและสมบูรณ์ โดยเฉพาะหน้าบันทางเข้าทิศตะวันตก อีกทั้งยังเป็นงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกแบบกอทิกแบบฟล็องบัวย็องซึ่งรวมถึงระเบียงคดแบบกอทิก ซึ่งถือว่าเป็นระเบียงคดแห่งที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองในประเทศฝรั่งเศส นอกจากนั้นยังมีชาเปลแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยาอีก 2 แห่งด้วย

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1840[2] (รายชื่อครั้งที่ 1)

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

[แก้]

หอคู่บริเวณหน้าบันหลักนั้นสูง 65 เมตร[3] บริเวณกลางโบสถ์ยาว 98 เมตร สูงถึงระดับเพดานโค้ง 32 เมตร และแขนกางเขนกว้าง 56 เมตร

ถึงแม้ว่าการก่อสร้างของอาสนวิหารจะกินเวลารวมกว่า 3 ศตวรรษ แต่ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความกลมกลืนทางสถาปัตยกรรม (ยกเว้นส่วนหน้าบันทางเข้า) งานก่อสร้างที่เสร็จในช่วงแรก (คริสต์ศตวรรษที่ 13) ได้แก่บริเวณร้องเพลงสวด แขนกางเขน บริเวณกลางโบสถ์ช่วงเสาสุดท้าย (ก่อนถึงจุดตัดกลางโบสถ์) บริเวณซุ้มทางเดินข้างช่วงแรก และวิหารคด ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญมากเป็นอันดับแรกในการก่อสร้างแขนกางเขน ได้แก่การประดับประดาหน้าต่างด้วยงานกระจกสีและหน้าต่างกุหลาบ ซึ่งช่วยยกระดับของความสูงของผนังบริเวณแขนกางเขนให้สูงและโอ่อ่าขึ้น ซึ่งงานกระจกสีแบบนี้ได้ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างในส่วนของบริเวณหน้าบันฝั่งทางเข้าหลัก (ทิศตะวันตก) ของอาสนวิหารแม็สในอีกหนึ่งราวร้อยปีต่อมา ซึ่งเหมือนกันกับในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่มีการปรับปรุงส่วนแขนกางเขนให้เหมือนกับที่มหาวิหารนักบุญบิเซนเตแห่งแม็ส

ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 บริเวณกลางโบสถ์อีกสี่ช่วงเสาที่เหลือได้เสร็จสิ้นลง ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 หน้าบันหลักแบบกอทิกฟล็อมบัวย็องอันวิจิตรตระการตาได้เสร็จพร้อมกันกับบริเวณกลางโบสถ์สองช่วงเสาแรกที่ต่อกัน

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้มีการต่อเติมชาเปลแบบฟื้นฟูศิลปวิทยาบริเวณทางเดินข้างฝั่งทิศเหนือ และอีกแห่งทางทิศใต้ ได้แก่ "ชาเปลแห่งนักบุญ" (la chapelle de Tous-les-Saints) ซึ่งกลายเป็นที่ฝังศพของฌ็อง ฟอร์แฌ นักบวชผู้เป็นอนุศาสนาจารย์และผู้นำร้องเพลงสวดประจำเคนัน อีกหนึ่งแห่งได้แก่ "ชาเปลแห่งมุขนายก" (la chapelle des Évêques) ที่ประกอบด้วยเพดานเรียบแบบมีหลุม และคานโค้งแบบเรียบ ๆ ซึ่งถูกปิดมานานกว่า 50 ปีเพื่อรอการบูรณะซ่อมแซม

สถิติสำคัญ

[แก้]
ระเบียงทางเดินทิศตะวันออก (ระเบียงคด)
  • ความยาวรวม (จากบริเวณร้องเพลงสวดจนถึงหน้าบันหลักฝั่งทิศตะวันตก) 89.81 เมตร (294.7 ฟุต)
  • บริเวณทางเดินข้างสูง 16.77 เมตร (55.0 ฟุต)
  • บริเวณแขนกางเขนยาว 47.78 เมตร (156.8 ฟุต) และกว้าง 16.45 เมตร (54.0 ฟุต) (บริเวณทิศเหนือ)
  • บริเวณหน้าบันหลักกว้าง 37 เมตร (121 ฟุต) และสูง 40 เมตร (130 ฟุต)
  • หอคู่สูง 62 เมตร (203 ฟุต) และปลายยอดหลังคาที่ไม่เคยสร้างเสร็จ (ตามแผนจะมีความสูงถึง 90 เมตร (300 ฟุต))
  • บริเวณร้องเพลงสวดสูงสุด 28.23 เมตร (92.6 ฟุต)

ประวัติ

[แก้]

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอาสนวิหารนี้ถูกสร้างบนที่เดิมที่เคยเป็นบริเวณวัดในสมัยโรมโบราณ ซึ่งต่อมาถูกทำลายลงโดยกองทัพชาวฮัน

กลุ่มอาสนวิหาร

[แก้]
เพดานเรียบแบบมีหลุมแบบฟื้นฟูศิลปวิทยา

อาสนวิหารแห่งแรกสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่นักบุญสเทเฟนและพระแม่มารีย์ คาดว่าสร้างช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 มีลักษณะเป็นหมู่วิหารจำนวน 3 แห่ง แห่งหนึ่งอุทิศให้แก่พระแม่มารี อีกแห่งให้แก่นักบุญสเทเฟน และแห่งที่สามแก่นักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมาซึ่งใช้เป็นหอล้างบาป

อาสนวิหารโรมาเนสก์

[แก้]

ระหว่างปี ค.ศ. 963–967 มุขนายกเฌราร์แห่งตูล ดำเนินการสร้างอาสนวิหารแบบโรมาเนสก์บนบริเวณที่ตั้งของกลุ่มอาสนวิหารทั้งสามเดิม ซึ่งครานี้จะสร้างเหลือเพียงแค่อาคารเดียว ซึ่งต่อมาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 ก็ได้มีการบูรณะปรับปรุงตามอย่างวิหารแบบโรมันแถบลุ่มแม่น้ำไรน์ (ตัวอย่างสำคัญได้แก่ บริเวณร้องเพลงสวด 2 แห่งตรงข้ามกันซึ่งขนาบข้างด้วยหอทั้งสอง)

งานบูรณะเป็นแบบกอทิก

[แก้]

การบูรณะเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมเริ่มในปี ค.ศ. 1221 เริ่มในสมัยของมุขนายกเอิดที่ 2 แห่งซอร์ซี (ค.ศ. 1219–1228) โดยดำเนินการทั้งหมดกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ใช้เวลากว่า 300 ปี โดยเริ่มจากการรื้อถอนอาสนวิหารแบบโรมาเนสก์หลังเดิมทีละส่วนเพื่อการต่อเติมกลับในแบบสถาปัตยกรรมกอทิก เริ่มจากบริเวณร้องเพลงสวดก่อน และขนาบด้วยหอสูงทั้งสองด้านผสมผสานกันอย่างกลมกลืนกันตามแบบสถาปัตยกรรมกอทิกบนฐานเดิมแบบโรมาเนสก์ (คล้ายกับที่อาสนวิหารแวร์เดิง) บริเวณร้องเพลงสวดบูรณะเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1235 การก่อสร้างบริเวณแขนกางเขนและบริเวณกลางโบสถ์ห้าช่วงเสาสุดท้ายกินเวลาระหว่างปี ค.ศ. 1331–1400 พร้อมกับการรื้อถอนของบริเวณกลางโบสถ์เดิมแบบโรมาเนสก์

บริเวณระเบียงคดสร้างโดยปีแยร์ แปรา พร้อมกับซุ้มประตูทางเข้าหลักฝั่งทิศตะวันตก และถูกระงับการก่อสร้างอันเนื่องมาจากสงครามระหว่างดัชชีบูร์กอญกับดัชชีลอแรน

ระเบียงคด

[แก้]
ระเบียงคดมองจากหอฝั่งทิศใต้

งานก่อสร้างเริ่มขึ้นราวปี ค.ศ. 1240 โดยเริ่มจากซุ้มทางเดินด้านทิศตะวันออก ในแบบสถาปัตยกรรมกอทิกแบบแรยอน็อง ซึ่งประกอบด้วยบานหน้าต่างที่กว้าง เปิดโล่ง และตกแต่งอย่างเรียบง่าย มีการระบายน้ำฝนจากหลังคาผ่านทางระบบรางระบายน้ำจากหลังคาลงไปที่รูปปั้นการ์กอยล์ ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยมาก ซึ่งได้ถูกศึกษาโดยเออแฌน วียอแล-เลอ-ดุก งานก่อสร้างทั้งหมดเสร็จสิ้นลงในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 13 และต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ห้องสวดมนต์ก็ได้ถูกย้ายไปอยู่บริเวณทางเดินฝั่งทิศเหนือของระเบียงคด ซึ่งเป็นส่วนที่ตรงกันข้ามกับบริเวณกลางโบสถ์ของอาสนวิหาร และปิดกั้นด้วยบานกระจกสีขนาดใหญ่ซึ่งสามารถมองเห็นทะลุถึงสวนตรงกลางได้

ระเบียงคดแห่งนี้เป็นระเบียงคดแบบกอทิกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศฝรั่งเศส ด้วยความยาวถึง 65 เมตร ในบริเวณซุ้มทางเดินฝั่งทิศตะวันออกที่มี 10 ช่วงหน้าต่าง (วัดจากทางเข้าหลักจากด้านนอกมาจรดกับซุ้มประตูที่เชื่อมเข้ามาบริเวณตัวอาคารอาสนวิหาร) บริเวณซุ้มทางเดินฝั่งทิศใต้มีความยาว 40 เมตร แบ่งเป็น 6 ช่วงหน้าต่าง และฝั่งทิศตะวันตก 52 เมตร 8 ช่วงหน้าต่าง ซึ่งโดยปกติแล้วระเบียงคดแบบกอทิกจะมีขนาดเล็กกว่าแบบโรมาเนสก์ ซึ่งในกรณีนี้ถือเป็นการปรับตัวของสถาปัตยกรรมตามแบบกอทิกที่ลงตัวบนฐานแบบโรมาเนสก์อย่างกลมกลืน ซึ่งขนาดความใหญ่โตของระเบียงคดแห่งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงขนาดและความสำคัญของมุขนายกในมุขมณฑลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุคกลาง

อ้างอิง

[แก้]
  1. [1] Base Merimée ref. PA00106374 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส
  2. [2] Base Merimée ref. PA00106374 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-11-14. สืบค้นเมื่อ 2013-03-31.

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Marie-Claire Burnand, La Lorraine gothique, Paris, 1989 (Les monuments de la France gothique), p.310-321.
  • Jacques Choux, La cathédrale de Toul avant le XIII siècle, Annales de l'Est, No.6, 1955, p.99-143.
  • Alain Villes, La Cathédrale de Toul : histoire d'un grand édifice gothique en Lorraine, Toul, 1983.
  • Michel Hérold, Les vitraux de la cathédrale de Toul, dans Congrès archéologique de France. 149eme session. Les Trois-Évêchés et l'ancien duché de Bar. 1991, p. 363-374, Société Française d'Archéologie, Paris, 1995