ข้ามไปเนื้อหา

ฟัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟันมนุษย์)
ภาพแสดงโครงสร้างของเหงือกและฟัน

ฟัน เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในช่องปากของคนและสัตว์ มีส่วนรากติดอยู่กับขากรรไกรและมีตัวฟันโผล่พ้นเหงือกออกมา

ฟันเป็นอวัยวะที่เจริญเติบโตมาจากเนื้อเยื้อชั้นนอก (Ectoderm) เช่นเดียวกับผิวหนังหรือเกล็ดปลา ฟันเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในระบบย่อยอาหาร หน้าที่หลักของฟันคือ ฉีก บด อาหารให้คลุกเคล้ากับน้ำลาย และนอกจากนี้ยังมีส่วนสำคัญในการพูดออกเสียงด้วย

ลักษณะของฟันมีส่วนเกี่ยวข้องกับลักษณะอาหารของสัตว์แต่ละประเภทเช่นเดียวกับวิวัฒนาการ ตัวอย่างเช่น พืชนั้นยากที่จะย่อยดังนั้น สัตว์กินพืช (Herbivore) จึงต้องมีฟันกรามหลายซี่เพื่อใช้ในการเคี้ยว ส่วนสัตว์กินเนื้อ (Carnivore) ต้องมีฟันเขี้ยวเพื่อฆ่าและฉีกเหยื่อและเนื้อนั้นให้ย่อยง่าย พวกมันจึงกลืนได้โดยที่ไม่ต้องใช้ฟันกรามเคี้ยวมากนัก

ประเภทของฟัน

[แก้]
  • ฟันแท้ (permanent teeth)
  • ฟันน้ำนม (baby teeth)
  • ฟันตัดหน้าซี่กลาง (central incisor) : ขากรรไกรบน 2 ซี่ ขากรรไกรล่าง 2 ซี่ มีหนึ่งราก
  • ฟันตัดหน้าซี่ข้าง (lateral incisor) : ขากรรไกรบน 2 ซี่ ขากรรไกรล่าง 2 ซี่: ฟันตัดหน้าทั้งสองประเภททำหน้าที่ตัดอาหาร ในสัตว์ที่กินอาหารโดยการแทะฟันนี้จะเจริญที่สุด
  • ฟันเขี้ยว (cuspids or canines) : ขากรรไกรบน 2 ซี่ ขากรรไกรล่าง 2 ซี่: ทำหน้าที่ตัด ฉีก หรือแยกอาหารออกจากกัน
  • ฟันกรามน้อย (bicuspids or premolars) : ขากรรไกรบน 4 ซี่ ขากรรไกรล่าง 4 ซี่: ทำหน้าที่ตัดและฉีกอาหาร (สัตว์กินเนื้อเช่น เสือ สุนัข แมว จะมีเขี้ยวและกรามน้อยเจริญดีและแข็งแรงเป็นพิเศษ)
  • ฟันกราม (molars) : ขากรรไกรบน 6 ซี่ ขากรรไกรล่าง 6 ซี่: ทำหน้าที่เคี้ยวและบดอาหาร

ส่วนประกอบของฟัน

[แก้]
  • เคลือบฟัน (enamel) : เป็นส่วนที่แข็งที่สุดของฟันมีส่วนประกอบของแคลเซียมและฟอสเฟต
  • เนื้อฟัน (dentine) : เป็นส่วนที่แข็งน้อยกว่าเคลือบฟัน มีความแข็งพอๆกับกระดูก ชั้นนี้มีการสร้างและสลายอยู่ตลอดเวลา เป็นชั้นที่มีเซลล์เป็นจำนวนมาก
  • โพรงประสาทฟัน (pulp) : เป็นที่อยู่ของเส้นเลือดที่นำอาหารมาหล่อเลี้ยงฟัน และนำของเสียออกจากฟัน และมีเส้นประสาทรับความรู้สึกของฟัน
  • เคลือบรากฟัน (cementum) : เป็นส่วนของเนื้อเยื่อปริทันต์ที่อยู่ภายในรากฟัน ด้านหลังของเหงือก ซึ่งมีเส้นประสาทไหลเวียนมาก
  • ชั้นร่องเหงือก (gingival crevice) : ร่องระหว่างเหงือกตัวฟันกับขอบเหงือก มีความลึกประมาณ 2 มิลลิเมตร
  • เหงือก (gingiva) : เนื้อเยื่อที่หุ้มตัวฟันและกระดูกขากรรไกรไว้
  • กระดูกเบ้ารากฟัน (alveolar bone) : ส่วนกระดูกที่รองรับรากฟัน

ฟันของมนุษย์

[แก้]

โดยปกติคนเรามีฟันสองชุด
ชุดแรกคือ ฟันน้ำนม (deciduous teeth) ฟันชุดนี้จะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน และขึ้นครบ 20 ซี่เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง

ตารางแสดงระยะการขึ้นของฟันซี่ต่างๆ (ฟันน้ำนม)
ซี่ฟันน้ำนม ฟันบน ฟันล่าง
อายุที่ควรขึ้น อายุที่ควรหลุด อายุที่ควรขึ้น อายุที่ควรหลุด
ฟันตัดหน้าซี่กลาง 7 เดือนครึ่ง 7 ปีครึ่ง 6 เดือน 6 ปี
ฟันตัดหน้าซี่ข้าง 9 เดือน 8 ปี 7 เดือน 7 ปี
ฟันเขี้ยว 18 เดือน 10 ปีครึ่ง 16 เดือน 9 ปีครึ่ง
ฟันกรามน้อยซี่ที่ 1 14 เดือน 10 ปีครึ่ง 12 เดือน 10 ปี
ฟันกรามน้อยซี่ที่ 2 24 เดือน 10 ปีครึ่ง 20 เดือน 11 ปี

ฟันชุดที่สองคือ ฟันแท้หรือฟันถาวร (permanent teeth) ฟันชุดนี้มีทั้งหมด 32 ซี่ ฟันชุดนี้จะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ แต่จะขึ้นครบ 28 ซี่ เมื่ออายุครบ 12 ปี โดยที่เหลือคือฟันกรามซี่สุดท้าย 4 ซี่จะขึ้นมาในช่วงอายุ 18-25 ปี แต่ถ้าฟันทั้ง 4 ซี่ดังกล่าวไม่ขึ้นมาก็จะกลายเป็นฟันคุด

ตารางแสดงระยะการขึ้นของฟันซี่ต่างๆ (ฟันแท้)
ซี่ฟันแท้ อายุที่ควรขึ้น
ฟันตัดหน้าซี่กลาง 7 ปี
ฟันตัดหน้าซี่ข้าง 8 ปี
ฟันเขี้ยว 11-13 ปี
ฟันกรามน้อยซี่ที่ 1 10-11 ปี
ฟันกรามน้อยซี่ที่ 2 10-12 ปี
ฟันกรามซี่ที่ 1 6-7 ปี
ฟันกรามซี่ที่ 2 12-13 ปี
ฟันกรามซี่ที่ 3 18-25 ปี

ฟันถือเป็นอวัยวะที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ และมีความสำคัญต่อบุคลิกภาพ ดังนั้นจึงควรให้ความใส่ใจดูแลและรักษาอยู่เสมอ ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน หรือทุกครั้งหลังอาหาร เพื่อกำจัดเศษอาหาร และ คราบจุลินทรีย์ และควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็คสภาพฟันทุกๆ 6 เดือน

ดูเพิ่ม

[แก้]