ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าปราสาททอง)
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 2173–2199[1] (27 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระอาทิตยวงศ์
ถัดไปสมเด็จเจ้าฟ้าไชย
สมุหนายกเจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น)
พระราชสมภพพ.ศ. 2143[2]
สวรรคตพ.ศ. 2199[1] (56 พรรษา)
พระราชบุตรสมเด็จเจ้าฟ้าไชย
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
กรมหลวงโยธาทิพ
เจ้าฟ้าอภัยทศ
เจ้าฟ้าน้อย
ราชวงศ์ปราสาททอง
ศาสนาพุทธ

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[3] หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 5 เป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยารัชกาลที่ 24 และทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปราสาททอง ราชวงศ์ที่ 4 แห่งอาณาจักรอยุธยา

พระราชประวัติ

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2143 เป็นบุตรของ ออกญาศรีธรรมาธิราช[2] เดิมเป็นขุนนางในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม มีบรรดาศักดิ์เป็นพระมหาอำมาตย์ และออกญาศรีวรวงศ์ ภายหลังมีความชอบจากการปราบกบฏญี่ปุ่น จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ และได้รับพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมาก[4]

เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชสืบราชสมบัติต่อมาได้ 4 เดือน มารดาเจ้าพระยากลาโหมถึงแก่กรรม มีข้าราชการใหญ่น้อยไปช่วยงานมากสมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงเชื่อว่าเจ้าพระยากลาโหมเตรียมการจะก่อกบฏ จึงโปรดให้ตั้งกองทหารไว้ แล้วให้ขุนมหามนตรีไปเรียกเจ้าพระยากลาโหมมาดูมวย แต่เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีส่งข่าวไปแจ้งแผนการก่อน เจ้าพระยากลาโหมจึงบอกขุนนางว่า "เจ้าแผ่นดินว่าเราเป็นกบฏแล้วเราจะทำตามรับสั่ง" แล้วยกกองกำลังเข้ายึดพระราชวังได้ ส่วนสมเด็จพระเชษฐาธิราชกับข้าหลวงเดิมลงเรือหนีไป[5] เจ้าพระยากลาโหมให้พระยาเดโชและพระยาท้ายน้ำออกติดตามในคืนนั้นจนตามจับได้ที่ป่าโมกน้อย แล้วให้นำไปสำเร็จโทษ[6]

จากนั้นจึงอัญเชิญสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ขึ้นสืบราชสมบัติต่อ แต่ผ่านไปได้ประมาณ 6 เดือน เหล่ามุขมนตรีก็เห็นว่าสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ยังทรงพระเยาว์เกินไป ไม่รู้จักว่าราชการจนเสียการแผ่นดิน[7] จึงถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระยากลาโหมให้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง[8] ส่วนในกฎหมายพระธรรมนูญ กรมศักดิ์ ลักษณะอาญาหลวง ออกพระนามว่าสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตร[9] แล้วทรงปูนบำเหน็จมากมายแก่ขุนนางที่สวามิภักดิ์ และทรงตั้งพระอนุชาเป็นสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา[10]

ถึงปี พ.ศ. 2199[1] สมเด็จพระเจ้าปราสาททองประชวรหนัก ทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งเบญจรัตน์ ได้ตรัสมอบราชสมบัติและพระแสงขรรค์ชัยศรีแก่สมเด็จเจ้าฟ้าไชย หลังจากนั้น 3 วัน ก็เสด็จสวรรคต ครองราชย์ได้ 25 ปี[11]

พระราชกรณียกิจ

[แก้]
ด้านศาสนา

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างวัดไชยวัฒนาราม วัดชุมพลนิกายารามราชวรวิหาร สร้างพระปรางค์วัดมหาธาตุ ในช่วงพระราชพิธีลบศักราชได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามกว่าร้อยแห่ง เช่น วัดหน้าพระเมรุ เป็นต้น และโปรดเสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลในโอกาสต่าง ๆ เช่น สมโภชพระพุทธบาท เป็นต้น

ด้านเศรษฐกิจ

รัชสมัยของพระองค์เป็นยุคที่การค้าทางเรือระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังรุ่งเรือง โดยเฉพาะบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ที่เข้ามารับซื้อของป่า หนังกระเบน ดีบุกและข้าวสาร ต่อมายังได้รับพระราชทานสิทธิ์ขาดในการส่งออกหนังสัตว์ด้วย นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าสเปน โปรตุเกส อินเดีย เปอร์เซีย และอาร์มีเนีย เข้ามาค้าขาย ทำให้การเงินของประเทศมั่งคั่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดรัชกาล[12]

ด้านสถาปัตยกรรม

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างปราสาทนครหลวง พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระตำหนักธารเกษม และพระที่นั่งวิหารสมเด็จ นอกจากนี้ยังโปรดให้ตกแต่งพระตำหนักท่าเจ้าสนุกและสร้างศาลาตามรายทางที่ไปนมัสการพระพุทธบาทเพื่อให้ประชาชนได้พักผ่อนและอาศัย

ด้านการปกครอง

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงปรับการบริหารให้รวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยให้เจ้าเมืองต่าง ๆ มาปฏิบัติหน้าที่เข้าเฝ้าที่ศาลาลูกขุนในพระราชวังทุกวัน แล้วส่งผู้รั้งเมืองไปปกครองหัวเมืองแทน นอกจากนี้ยังโปรดให้ตรากฎหมายขึ้นหลายฉบับ เช่น พระไอยการทาส พระไอยการลักษณะมรดก พระไอยการลักษณะกู้หนี้ พระไอยการลักษณะอุทธรณ์ และกฎหมายพระธรรมนูญ อันเป็นรากฐานแห่งกฎหมายตราสามดวง

พระราชบุตร

[แก้]

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีพระราชโอรสธิดาเท่าที่ปรากฏพระนามในพงศาวดาร ดังนี้

พระอัครมเหสี
พระราชเทวี (เชื่อว่าเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม)[13]
พระมเหสี (ไม่ทราบพระนาม)
พระสนม (ไม่ทราบนาม)[14]
พระสนมเลื่อน ธิดาของเจ้าพระยาอภัยราชา (ชื่น)[15]

ส่วน คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงรับพระราชธิดาทั้งแปดพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมาเป็นพระมเหสี โดยแบ่งเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาอย่างละสี่พระองค์ และมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระปทุมาเทวีและพระสุริยารวมกันเจ็ดพระองค์ ดังนี้[16]

อ้างอิง

[แก้]
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 144
  2. 2.0 2.1 เรื่องพระชาติกำเนิดสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หนังสือเล่ม พระเจ้าปราสาททอง เลขส่วนเนื้อหา 4 หน้าที่ ๑๘ เรียบเรียงโดย เกริกฤทธิ์ ภพสุริยะ
  3. ราชกิจจานุเบกษา, รายนามแลพระนาม ผู้ที่ทำลับแลไฟ ทรงพระราชอุทิศในพระเจ้าแผ่นดิน ในพระราชกุศลบรรจบรอบเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๒๕ ปี, เล่ม ๑๐ ตอนที่ ๓๐ หน้า ๓๑๙, ๒๒ ตุลาคม ๑๑๒
  4. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 262
  5. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) หน้า 267
  6. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 268
  7. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 269
  8. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 271
  9. อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี, หน้า 22
  10. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 272
  11. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 283
  12. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 143
  13. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย, หน้า 152
  14. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), หน้า 274
  15. พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ (บรรณาธิการ) "เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค จากเอกสารพิมพ์ดีด ๒๔๘๒ กรุงเทพฯ:บันทึกสยาม พ.ศ. 2553 หน้า 48
  16. ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 92
บรรณานุกรม
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ. อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2468. 29 หน้า.
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6

ดูเพิ่ม

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ถัดไป
สมเด็จพระอาทิตยวงศ์
(ราชวงศ์สุโขทัย)

(พ.ศ. 2173)

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
(ราชวงศ์ปราสาททอง)

(พ.ศ. 2173–2199)
สมเด็จเจ้าฟ้าไชย
(ราชวงศ์ปราสาททอง)

(พ.ศ. 2199)