ข้ามไปเนื้อหา

พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชวัชรธรรมโสภณ

(ศิลา สิริจนฺโท)
ส่วนบุคคล
เกิด14 ตุลาคม พ.ศ. 2488 (78 ปี)
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษานักธรรมเอก, เปรียญธรรม 6 ประโยค
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่ที่พักสงฆ์ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา สิริจนฺโท ป. ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
อุปสมบท22 ธันวาคม พ.ศ. 2539
พรรษา27 พรรษา
ตำแหน่ง• เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหมื่นหิน
• ประธานคณะสงฆ์ที่พักสงฆ์ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา สิริจนฺโท ป.
• ประธานที่ปรึกษาคณะทำงานกู้ภัยหมื่นหิน กู้ภัยหมื่นหิน (ฮง เต็ก เสี่ยงตึ๊ง)

พระราชวัชรธรรมโสภณ (ศิลา สิริจนฺโท) เป็นพระสงฆ์ชาวไทยและเป็นพระราชาคณะชั้นราช ปัจจุบันเป็นพระสังฆาธิการดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหมื่นหิน ตำบลกุดปลาค้าว อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

ประวัติ[แก้]

ชาติภูมิ[แก้]

พระราชวัชรธรรมโสภณ เกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2488 นามเดิมว่า "ศิลา นิลจันทร์" บิดานามว่า แก่น นิลจันทร์ และมารดานามว่า น้อย นิลจันทร์ เกิดที่บ้านเบิด ตำบลเบิด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ในช่วงนั้น ครอบครัวอพยพจากภาวะทุพภิกขภัยมาพำนักที่บ้านส้อง ตำบลธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จากนั้น ในปี พ.ศ. 2494 เมื่ออายุได้ 6 ปี ได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่อาศัย ณ บ้านเกิดของมารดา ที่บ้านธาตุประทับ (ในปัจจุบัน คือ บ้านยางกระธาตุ) อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด[1]

ภาพที่ระลึกหลวงปู่มหาศิลา กับพระอุปัชฌาย์พระพรหมวชิรโสภณ (ศรีจันทร์ ปุญฺญรโต)
เหรียญที่ระลึกหลวงปู่มหาศิลา เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์พัดยศฐานานุกรมพระครูปลัดวชิรโสภณญาณ
ภาพที่ระลึกหลวงปู่มหาศิลา เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์พัดยศฐานานุกรม พระครูปลัดวชิรโสภณญาณและพัดยศป.ธ.6

บรรพชาและอุปสมบท[แก้]

พระราชวัชรธรรมโสภณ บรรพชาเมื่อปี พ.ศ. 2500 ขณะอายุ 12 ปีเป็นสามเณร ที่วัดธาตุประทับ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย บ้านธาตุประทับ อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด มีหลวงพ่อพิมพ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ติดตามพระอาจารย์ออกร่วมคณะธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุพนม ระหว่างเดินธุดงค์ มีโอกาสอุปัฏฐากพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสี คือ พระครูสีลขันธ์สังวรณ์ (อ่อนสี สุเมโธ) ที่จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นพระอาจารย์ในสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และได้รับคำสอนผญาธรรม (หรือ คำสอนอีสาน) จากพระธรรมราชานุวัตร (แก้ว กันโตภาโส) อดีตเจ้าอาวาสพระธาตุพนม

อุปสมบทครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2509 เมื่ออายุย่าง 21 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดบูรพาภิราม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระสิริวุฒิเมธี (พุทธา สิริวุฑฺโฒ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า "สิริจนฺโท" และได้ลาสิกขาเมื่อปี พ.ศ. 2521 ด้วยเหตุได้รับการวิงวอนจากญาติให้ลาสิกขาออกมาเป็นครูผู้ช่วยสอน ที่โรงเรียนธาตุประทับ และดูแลมารดารวมถึงญาติผู้ใหญ่ป่วยหนักเป็นเวลา 1 ปี

ต่อมา ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 อุปสมบทครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 34 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดมาลุวาคณาราม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตำบลพลับพลา อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด มีพระสมุห์เป ปุญฺโญ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระน้อย สีลวณฺโณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดสมาน ธมฺมรกฺขิโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า "สุริยจิตฺโต"[2] หลังอุปสมบทช่วงปี พ.ศ. 2522–2539 ย้ายไปพำนักที่วัดโนนเดื่อ ตำบลมะอึ อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด สลับกับวัดธาตุประทับ และได้ลาสิกขา เมื่อปี พ.ศ. 2539 ด้วยเหตุเกิดเหตุการณ์ทางครอบครัว ญาติเพียงคนเดียวป่วยจากโรค จนถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา เมื่อหมดภาระหน้าที่ในครอบครัว กับการลาสิกขาออกมาอยู่8เดือนแล้วกลับเข้าอุปสมบทใหม่

และในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2539 อุปสมบท ครั้งที่ 3 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดแสงประทีป สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตำบลหมูม้น อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระครูวิธานสมณกิจ (อำนวย จนฺทสาโร) เจ้าอาวาสวัดแสงประทีป และเจ้าคณะตำบลหมูม้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายานามว่า "สิริจนฺโท" และได้พำนัก ที่วัดธาตุประทับ สลับกับการออกจาริกธุดงค์ ที่บ้านพรานเหมือน ตำบลบ้านขาว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

ในปี พ.ศ. 2565 มีการญัตติ ทัฬหีกรรม เป็นพระสงฆ์สังกัดธรรมยุติกนิกาย ที่วัดบึงพระลานชัย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระพรหมวชิรโสภณ (ศรีจันทร์ ปุญฺญรโต) เป็นพระอุปัชฌาย์

จำพรรษา[แก้]

ในปี พ.ศ. 2559 พระราชวัชรธรรมโสภณออกจาริกไปบ้านหนองแซง ตำบลแจ้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และได้ออกจาริกในปี พ.ศ. 2565 เกิดอาการอาพาธด้วยโรคหัวใจขาดเลือด และพักรักษาตัว ที่กุฎีอโรคยาปรมาลาภา เสนาสนะสงฆ์ พระธาตุจอมศรีสัมมาสัมพุทธเจดีย์ จังหวัดมหาสารคาม และในปัจจุบัน พระราชวัชรธรรมโสภณพำนักอยู่ที่พักสงฆ์ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา สิริจนฺโท ป. ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

สมณศักดิ์[แก้]

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการพระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์เป็น พระราชวัชรธรรมโสภณ สถิตที่พักสงฆ์ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา จังหวัดกาฬสินธุ์ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 4 รูป คือ พระครูปลัด พระครูสังฆรักษ์ พระครูสมุห์ และพระครูใบฎีกา[3]

การศึกษา[แก้]

พระราชวัชรธรรมโสภณเริ่มเรียนนักธรรม ในปี พ.ศ. 2500 ขณะอายุ 12 ปี สอบไล่ได้นักธรรมตรี ที่สำนักศาสนศึกษาวัดธาตุประทับ จังหวัดร้อยเอ็ด และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501–2503 สอบไล่ได้นักธรรมโท และนักธรรมเอก และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506–2515 สอบไล่ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ถึงเปรียญธรรม 6 ประโยค เมื่ออายุ 26 ปี ที่สำนักศาสนศึกษาวัดบูรพาภิราม อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด

กรณียกิจ[แก้]

ด้านปกครองคณะสงฆ์[แก้]

ในปี พ.ศ. 2565 เป็นประธานสงฆ์ธรรมอุทยานหลวงปู่ศิลา สิริจันโท ป. ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางพระสังฆาธิการเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหมื่นหิน ประเภทวัดราษฎร์ ตำบลกุดปลาค้าว อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์[4]

ด้านการศึกษา[แก้]

ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรม-บาลี สำนักศาสนศึกษาวัดบูรพาภิราม อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด และในปี พ.ศ. 2521 เป็นครูผู้ช่วยสอนที่โรงเรียนธาตุประทับ อำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด

ด้านสาธารณสงเคราะห์[แก้]

พระราชวัชรธรรมโสภณได้สงเคราะห์อุปกรณ์และสถานที่ทางการแพทย์หลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, โรงพยาบาลกาฬสินธุ์, โรงพยาบาลร้อยเอ็ด, และโรงพยาบาลธวัชบุรี การมอบรถกู้ชีพ และรถกู้ภัยให้มูลนิธิหลายแห่ง เป็นต้น

และสงเคราะห์สบทบทุนทางศาสนา เช่น สร้างสะพานเข้าหอเจ้าเฮือน 3 พระองค์ ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร สร้างพระอุโบสถวัดโพนโป่งให้แล้วเสร็จ ตำบลเวียงคุก อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย และบูรณะหลังคาพระอุโบสถวัดป่าศรีโพนทอง ตำบลแวง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ดมอบเงินสมทบวิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และวิทยาลัยสงฆ์ร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นต้น

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

ในปี พ.ศ. 2564 ได้รับพระราชทานรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาบำเพ็ญประโยชน์ โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[5]

สมณศักดิ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. https://kalasin.prd.go.th/th/content/category/detail/id/33/iid/48887
  2. https://board.postjung.com/1121320
  3. ไทยโพสต์. โปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระราชาคณะ จำนวน 4 รูป. 2566.
  4. "ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการขออนุญาตสร้างวัด ณ ที่พักสงฆ์พระธาตุหมื่นหินวชิรโสภณ". ksn.onab.go.th.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-12. สืบค้นเมื่อ 2022-08-12.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 140, ตอนที่ 28 ข, 30 มิถุนายน 2566, หน้า 1