พระสังฆาธิการ
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
พระสังฆาธิการ
[แก้]"พระสังฆาธิการ"[1]เป็นคำรวมตำแหน่งพระภิกษุผู้ปกครองคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕[2] ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เริ่มใช้มาแต่ พ.ศ. 2506 จนถึงปัจจุบัน โดยมีกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ กำหนดนามเป็นครั้งแรก โดยเปลี่ยนคำว่า "พระคณาธิการ" มาเป็น "พระสังฆาธิการ" ให้สอดคล้องกับลักษณะการดำเนินกิจการคณะสงฆ์ รวมคำว่า "พระ" "สังฆ" และ "อธิการ" เป็น "พระสังฆาธิการ" แปลตามรูปศัพท์ว่า "พระภิกษุผู้ทำงานโดยสิทธิขาดในทางคณะสงฆ์" "พระภิกษุผู้ทำงานคณะสงฆ์โดยมีอำนาจเต็มตามตำแหน่ง" ซึ่งในแม่บทท่านบัญญัติว่า หมายถึง "พระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์" มีตำแหน่งดังนี้
- เจ้าคณะใหญ่
- เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค
- เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด
- เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ
- เจ้าคณะตำบล รองเจ้าคณะตำบล
- เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส
เจ้าคณะและเจ้าอาวาสดังกล่าวนี้ เป็นผู้ทำงานคณะสงฆ์อย่างมีอำนาจเต็มตามกฎหมาย และครอบคลุมงานทุกส่วนในเขตปกครองหรือในวัด ส่วนรองเจ้าคณะ รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส จะมีอำนาจหน้าที่เต็มตามตำแหน่ง ก็เพราะได้รับการมอบหมาย จึงบัญญัตินามว่า "พระสังฆาธิการ" ซึ่งเทียบได้กับข้าราชการของฝ่ายราชอาณาจักร ส่วนเลขานุการเจ้าคณะและเลขานุการรองเจ้าคณะ หาได้เป็นพระสังฆาธิการไม่ เพราะเป็นเพียงผู้ทำการเลขานุการ
ความแตกต่างระหว่างพระคณาธิการ กับ พระสังฆาธิการ
[แก้]- "พระคณาธิการ" เป็นนามบัญญัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มีอำนาจหน้าที่เฉพาะการบริหารการคณะสงฆ์และการพระศาสนาตามที่กำหนดในองค์การทั้ง 4 คือ องค์การปกครอง องค์การศึกษา องค์การเผยแผ่ และองค์การสาธารณูปการ
- ในส่วนภูมิภาค เจ้าคณะตรวจการและเจ้าคณะตรวจการผู้ช่วยภาคต่าง ๆ ก็เพียงทำหน้าที่ควบคุม สั่งการ และแนะนำ ชี้แจง กิจการอันเกี่ยวกับการบริหารการคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย สังฆาณัติ กติกาสงฆ์ กฎองค์การ กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ
- ในชั้นจังหวัดและชั้นอำเภอ ได้แยกหน้าที่บริหารการคณะสงฆ์เป็นองค์การ มีกรรมการสงฆ์ประจำองค์การ โดยเจ้าคณะจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการสงฆ์จังหวัด เจ้าคณะอำเภอเป็นประธานคณะกรรมการสงฆ์อำเภอ แม้ในตอนสุดท้ายแห่งการใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ในชั้นภาค ก็ได้กำหนดให้มีเจ้าคณะตรวจการประจำองค์การดังเช่นชั้นจังหวัดและอำเภอ แต่ยังมิได้แต่งตั้งเจ้าคณะตรวจการประจำองค์การตามที่กำหนดขึ้นใหม่ ก็ถูกยกเลิกเสียในชั้นตำบลและชั้นวัด เจ้าคณะตำบลและเจ้าอาวาส คงรับปฏิบัติหน้าที่งานของทุกองค์การ
- "พระสังฆาธิการ"[3] เป็นนามบัญญัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองคณะสงฆ์ในเขตปกครองของตน คือ บริหารการคณะสงฆ์และการพระศาสนาตามที่กำหนดใน 4 องค์การเดิม แต่มิได้จัดเป็นองค์การ ซึ่งเป็นตัวองค์กรบริหาร คงยึดเอาเฉพาะลักษณะงานในองค์การนั้น ๆ เปลี่ยนเรียกว่า "การ" กล่าวคือ
- การรักษาความเรียบร้อยดีงาม (เดิมคืองานในองค์การปกครอง)
- การศาสนศึกษา (เดิมคืองานในองค์การศึกษา)
- การเผยแผ่พระพุทธศาสนา (เดิมคืองานในองค์การเผยแผ่)
- การสาธารณูปการ และ
- เพิ่มการศึกษาสงเคราะห์และการสาธารสงเคราะห์เข้า พร้อมทั้งเอาการนิคหกรรม (เดิมคือการวินิจฉัยอธิกรณ์) รวมเข้าอยู่ในอำนาจหน้าที่เจ้าคณะชั้นนั้น ๆ เพื่อมิให้เกิดความถ่วงดุลแห่งอำนาจดังเช่นกฎหมายฉบับเดิม เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม ได้กำหนดให้มีรองเจ้าคณะ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะในชั้นนั้น ๆ อีกส่วนหนึ่ง แม้ในส่วนวัด ก็ให้มีรองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เพื่อเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ
คุณสมบัติพระสังฆาธิการ
[แก้]คุณความดีเฉพาะตัวของผู้จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆาธิการก็ดี ของผู้จะดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการต่อไปก็ดี เรียกว่า "คุณสมบัติพระสังฆาธิการ" แยกเป็น 2 ด้าน ดังนี้
- คุณสมบัติทั่วไป กำหนดไว้ 7 ข้อ ได้แก่
- มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง
- มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง
- มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย
- เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์
- ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจ
- ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน
- ไม่เคยถูกถอดถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน
- คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง มีรายละเอียดแตกต่างกัน ดังความในกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ข้อ ๗, ๑๐, ๑๔, ๑๘, ๒๒, ๒๖, ๒๙, และ ๓๐ คุณสมบัติดังกล่าวนี้ คงกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ สูงไปกว่าที่กำหนดไว้เป็นการดียิ่ง และกำหนดตายตัวเฉพาะพรรษา นอกนั้นหากมีความจำเป็นผ่อนผันได้เฉพาะกรณี
จริยาพระสังฆาธิการ
[แก้]จริยาพระสังฆาธิการ หมายถึง ข้อที่พระสังฆาธิการต้องปฏิบัติตาม บัญญัติไว้เพื่อเป็นหลักควบคุมพระสังฆาธิการ โดยมีบทบัญญัติดังนี้
จริยา
[แก้]- ข้อ ๔๔ พระสังฆาธิการต้องเคารพเอื้อเฟื้อต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช สังวรและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด
- ข้อ ๔๕ พระสังฆาธิการต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งโดยชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ถ้าไม่เห็นพ้องด้วยคำสั่งนั้น ให้เสนอความเห็นทัดทานเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง และเมื่อได้ทัดทานดังกล่าวมานั้นแล้ว แต่ผู้สั่งมิได้ถอนหรือแก้คำสั่งนั้น ถ้าคำสั่งนั้นไม่ผิดพระวินัยต้องปฏิบัติตาม แล้วรายงานจนถึงผู้สั่ง
ในกรณีที่มีการทัดทานคำสั่งดังกล่าวในวรรคแรก ให้ผู้สั่งรายงานเรื่องทั้งหมดไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนเพื่อพิจารณาสั่งการ ในการปฏิบัติหน้าที่ ห้ามทำข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตพิเศษเป็นครั้งคราว
- ข้อ ๔๖ พระสังฆาธิการต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง มิให้เกิดความเสียหายแก่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา และห้ามมิให้ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร
- ข้อ ๔๗ พระสังฆาธิการต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ และห้ามมิให้ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่สมควร
- ข้อ ๔๘ พระสังฆาธิการต้องสุภาพเรียบร้อยต่อผู้บังคับบัญชาเหนือตนและผู้อยู่ในปกครอง
- ข้อ ๔๙ พระสังฆาธิการต้องรักษาส่งเสริมสามัคคีในหมู่คณะ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ
- ข้อ ๕๐ พระสังฆาธิการต้องอำนวยความสะดวกในหน้าที่การคณะสงฆ์และการพระศาสนา
- ข้อ ๕๑ พระสังฆาธิการต้องรักษาข้อความอันเกี่ยวกับการคณะสงฆ์ที่ยังไม่ควรเปิดเผย
ทั้ง 8 ข้อนี้ เป็นตัวจริยาอันพระสังฆาธิการต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด เพราะละเมิดแล้ว ย่อมได้รับโทษฐานละเมิดจริยา
การรักษาจริยา
[แก้]นอกจากจะบัญญัติให้พระสังฆาธิการต้องรับปฏิบัติตามกล่าว คือต้องรักษาจริยาสำหรับตัวเองแล้ว ยังบัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับคอยควบคุมและพิจารณาลงโทษในเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาละเมิดจริยา ดังบทบัญญัติข้อ ๕๒ และ ๕๓
- ข้อ ๕๒ ให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มีหน้าที่ควบคุม ดูแล แนะนำ ชี้แจง หรือสั่งให้ผู้อยู่ในบังคับบัญชาปฏิบัติตามจริยาโดยเคร่งครัด
ถ้าผู้บังคับบัญชารู้อยู่ว่า ผู้อยู่ในบังคับบัญชาละเมิดจริยา ต้องพิจารณาว่า ความละเมิดของผู้อยู่ในบังคับบัญชานั้น อยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้หรือไม่ ถ้าอยู่ในอำนาจที่ตนจะสั่งลงโทษได้ ก็ให้สั่งลงโทษ แล้วรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน ถ้าเห็นว่าความละเมิดนั้น ควรจะลงโทษหนักกว่าที่ตนมีอำนาจที่จะสั่งลงโทษได้ ก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไป เพื่อพิจารณาสั่งลงโทษตามควร ผู้บังคับบัญชารูปใด ไม่จัดการลงโทษผู้อยู่ในบังคับบัญชาที่ละเมิดจริยาหรือจัดการลงโทษโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชารูปนั้นละเมิดจริยา
- ข้อ ๕๓ พระสังฆาธิการ[4] รูปใด ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยาต้องปฏิบัติตามทันที ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการร้องทุกข์ แต่ถ้าปรากฏว่าเป็นการร้องทุกข์เท็จ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง
โทษฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ
[แก้]โทษที่พระสังฆาธิการจะพึงได้รับ เพราะละเมิดจริยา มีหนักเบากว่ากันตามความละเมิด ตามความในข้อ ๕๔ ดังนี้
- ข้อ ๕๔ พระสังฆาธิการรูปใดประพฤติละเมิดจริยา ต้องได้รับโทษฐานละเมิดจริยาอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- ถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
- ปลดจากตำแหน่งหน้าที่
- ตำหนิโทษ
- ภาคทัณฑ์
การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่
[แก้]การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ ต้องยึดหลักเกณฑ์และวิธีการตามความในข้อ ๕๕ ดังนี้
- ข้อ ๕๕ การถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่นั้น จะทำได้ต่อเมื่อพระสังฆาธิการละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง แม้ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่
- ละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเกินกว่า 30 วัน
- ขัดคำสั่งอันชอบด้วยการคณะสงฆ์ และการขัดคำสั่งนั้นเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
- ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่การคณะสงฆ์
- ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดรายงานตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจแต่งตั้ง เมื่อได้สอบสวนและได้ความจริงตามรายงานนั้นแล้ว ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจากตำแหน่งหน้าที่ได้
ตำแหน่งที่ไม่ใช่พระสังฆาธิการ
[แก้]- ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
- ตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม
- ตำแหน่งพระอุปัชฌาย์
- ตำแหน่งที่ปรึกษามหาเถรสมาคม, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค, ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด, ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ, ที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบล, ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัด
- พระสังฆาธิการที่ได้รับการยกขึ้นให้ดำรงตำแหน่งเป็นกิตติมศักดิ์ เจ้าคณะจังหวัดกิตติมศักดิ์, เจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์, เจ้าคณะตำบลกิตติมศักดิ์, เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์
- ตำแหน่งเลขานุการเจ้าอาวาสวัด, เลขานุการเจ้าคณะตำบล, เลขานุการเจ้าคณะอำเภอ, เลขานุการการเจ้าคณะจังหวัด, เลขานุการเจ้าคณะภาค, เลขานุการเจ้าคณะใหญ่, เลขานุการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติกนิกาย, เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
อ้างอิง
[แก้]- บทความพระสังฆาธิการ พระมหาบุญโฮม ปริปุณฺณสีโล (ไชยฤทธิ์) วัดท่าไทร ต.ท่าทองใหม่ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๒๙๐
- http://journal.nmc.ac.th/th/admin/Journal/2558Vol9No1_13.pdf
- https://e-research.siam.edu/wp-content/uploads/2020/01/MPA-2019-IS-Efficiency-of-Sangha-Administration-A-Case-Study-of-Temples-compressed.pdf
- ↑ http://www.mahabunhome.com/sangkatikan.html
- ↑ http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5803011104_5061_4900.pdf
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-02-07. สืบค้นเมื่อ 2023-02-07.
- ↑ https://www.sanook.com/dictionary/dict/dict-th-th-royal-institute/search/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3/