พระราชวังเดิม
พระราชวังเดิม | |
---|---|
ท้องพระโรง พระราชวังเดิม | |
ชื่อเดิม | พระราชวังหลวง |
ชื่ออื่น | พระราชวังกรุงธนบุรี |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปลี่ยนสภาพ |
ประเภท | พระราชวัง |
สถาปัตยกรรม | ไทย, อื่น ๆ |
ที่ตั้ง | แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2310 |
เจ้าของ | กองทัพเรือไทย |
เว็บไซต์ | |
wangdermpalace | |
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกองบัญชาการกองทัพเรือ |
พระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิม เป็นพระราชวังหลวงในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ในเขตที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่งของพระราชวังเดิมเป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ สามารถสังเกตการณ์ได้ในระยะไกล อีกทั้งยังใกล้กับเส้นทางคมนาคม และเส้นทางการเดินทัพที่สำคัญ
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2310 ภายหลังจากที่ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย เพื่อใช้เป็นที่ประทับและว่าราชการ เมื่อทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พร้อมกับปรับปรุงป้อมวิไชยเยนทร์ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์
เดิมพระราชวังแห่งนี้มีอาณาเขต ตั้งแต่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ขึ้นมาจนถึงคลองเหนือวัดอรุณราชวราราม (คลองนครบาล) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เข้าไปในเขตพระราชวังเดิม ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งพระนคร โดยสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นเป็นที่ประทับ พระราชวังกรุงธนบุรีจึงได้ชื่อว่า "พระราชวังเดิม" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[1]
พระราชวังเดิมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
[แก้]ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงกำหนดเขตวังให้แคบกว่าเดิม โดยให้วัดทั้งสองที่กล่าวแล้วคือ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และวัดโมลีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) อยู่ภายนอกพระราชวัง และ นอกจากนี้ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์ชั้นสูงที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยมาประทับที่นี่ อันเนื่องจากเห็นว่าพระราชวังนี้มีความสำคัญทางด้านทำเลที่ตั้ง ได้แก่ [2]
- สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2328
- พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ประทับอยู่ตั้งแต่ทรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) จนกระทั่งเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปี พ.ศ. 2352
- สมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ประทับอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2365
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ประทับอยู่ขณะทรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนกระทั่งผนวชเมื่อ พ.ศ. 2368
- พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ขณะทรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้าพระองค์น้อย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จนกระทั่งทรงพิธีบวรราชาภิเษกและเสด็จไปประทับที่วังหน้าใน พ.ศ. 2394 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประทับอยู่ตั้งแต่ประสูติ กระทั่งเสด็จไปประทับที่วังใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชทาน
- พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ประทับอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. 2394 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2414
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ ประทับอยู่ขณะทรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ. 2424 จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2443
มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ สิ้นพระชนม์ ได้พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานจากนายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2449 หลังจากโรงเรียนนายเรือย้ายออกไปอยู่สัตหีบ และย้ายมาอยู่ที่สมุทรปราการ กองทัพเรือจึงได้ใช้ พระราชวังเดิมแห่งนี้เป็นที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพเรือ[3]
สถานที่สำคัญบริเวณพระราชวังกรุงธนบุรี
[แก้]- อาคารท้องพระโรง
- อาคารตำหนักเก๋งคู่หลังใหญ่
- อาคารเก๋งคู่หลังเล็ก
- อาคารตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ป้อมวิไชยประสิทธิ์
- อาคารเรือนเขียว
- ศาลพระเจ้าตากสินมหาราช
- ศาลศีรษะปลาวาฬ
- พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- ประตูโรงเรียนนายเรือ หรือ ประตูสามสมอ
ศาลพระเจ้าตากสิน พระราชวังเดิม
[แก้]ศาลพระเจ้าตากสินในพระราชวังเดิม มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สมัยแรกเป็นแต่เพียงศาลพระภูมิสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการสร้างบูรณะพระราชวังเดิมของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า "ศาลพระเจ้าตาก" ภายในศาลพระเจ้าตาก ประดิษฐานเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ลักษณะประทับยืนทรงพระแสดงดาบ ขนาดเท่าองค์จริง พระบรมรูปประทับนั่งขนาดสูงประมาณ 1 ฟุต 1 องค์ และเทวรูปจีนแกะสลักด้วยไม้ปิดทองอีก 1 องค์ มีปืนโบราณพร้อมฐาน 2 กระบอกประดับเชิงบันไดชั้นล่าง
-
ภายในท้องพระโรง
-
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชวังเดิม
- ↑ อรวรรณ ทรัพย์พลอย. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ปราชญ์ผู้เป็นกำลังของแผ่นดิน. กรุงเทพมหานคร : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2552. 352 หน้า. ISBN 978-974-341-578-4
- ↑ ข่าวกองทัพเรือ ประจำวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
- ↑ โบราณสถานในพระราชวังเดิม, เว็บไซด์:wangdermpalace.org/ .สืบค้นเมื่อ 19/12/2561
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระราชวังเดิม เก็บถาวร 2008-07-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พระราชวังเดิม
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์