ข้ามไปเนื้อหา

ปาเดนีเอเบียร์ลีนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปาเดนีเอเบียร์ลีนา
วลาดีมีร์ ซาเวเลียฟ และมาเรีย โนวาโควา ในบทอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และเอฟา เบราน์
กำกับมีเคอิล จีอาอูเรลี
เขียนบทปิออตร์ ปัฟเลนโค
บทภาพยนตร์ปิออตร์ ปัฟเลนโค
มีเคอิล จีอาอูเรลี
อำนวยการสร้างวิคตอร์ ซีร์กีลัดเซ
นักแสดงนำมีเคอิล เกลอวานี
โบริส อันเดรเยฟ
มารีนา โควาลีโอวา
กำกับภาพเลโอนิด คอสมาตอฟ
ตัดต่อตาตยานา ลีฮาเชวา
ดนตรีประกอบดมีตรี ชอสตาโควิช
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายแอมคีโน (สหรัฐอเมริกา)
วันฉาย
  • 21 มกราคม ค.ศ. 1950 (1950-01-21) (สหภาพโซเวียต)
  • 22 มิถุนายน ค.ศ. 1951 (1951-06-22) (ฝรั่งเศส)
  • 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1952 (1952-05-07) (สหราชอาณาจักร)
  • 8 มิถุนายน ค.ศ. 1952 (1952-06-08) (สหรัฐอเมริกา)
ความยาว167 นาที (ชุดดั้งเดิม)
151 นาที (ชุดหลัง ค.ศ. 1953)
ประเทศสหภาพโซเวียต
ภาษารัสเซีย

ปาเดนีเอเบียร์ลีนา (รัสเซีย: Падение Берлина) เป็นภาพยนตร์แนวสงครามของสหภาพโซเวียต และเป็นตัวอย่างของผลงานแนวสัจนิยมสังคมนิยม ปาเดนีเอเบียร์ลีนา มี 2 ภาค ออกฉายในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1950 กำกับโดยมีเคอิล จีอาอูเรลี เขียนบทโดยปิออตร์ ปัฟเลนโค และประพันธ์ดนตรีประกอบโดยดมีตรี ชอสตาโควิช

เรื่องย่อ

[แก้]

ภาค 1

[แก้]

อะเลคเซย์ อีวานอฟ กรรมกรโรงเหล็กขี้อาย ได้ทำงานหนักจนเกินเกณฑ์ที่ต้องทำให้ได้หลายเท่า ทำให้เขาได้รับการพิจารณาให้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลนินและพบปะกับโจเซฟ สตาลิน เป็นการส่วนตัว อะเลคเซย์ตกหลุมรักนาตาชา ครูสาวผู้มีอุดมการณ์ แต่ไม่กล้าเข้าหาเธอ เมื่อเขาได้พบกับสตาลินผู้ชอบดูแลสวน สตาลินช่วยให้เขาเข้าใจความรู้สึกของตนเองและบอกให้เขาท่องบทกวีให้เธอฟัง จากนั้น ทั้งคู่รับประทานอาหารร่วมกับผู้นำโซเวียตคนอื่น ๆ ในบ้านของสตาลิน เมื่อกลับจากกรุงมอสโก อะเลคเซย์ก็สารภาพรักต่อนาตาชา ขณะที่ทั้งสองกำลังเดินเล่นในทุ่งข้าวสาลี เมืองของพวกเขาก็ถูกโจมตีโดยทหารเยอรมันนาซีที่บุกสหภาพโซเวียต

อะเลคเซย์หมดสติและจมอยู่ในอาการโคม่า เมื่อเขาฟื้นขึ้นมาก็พบว่า นาตาชาหายตัวไปและกองทัพเยอรมันได้ประชิดประตูกรุงมอสโกแล้ว ในเมืองหลวง สตาลินวางแผนป้องกันเมือง โดยอธิบายกับเกออร์กี จูคอฟ ที่กำลังเสียขวัญให้เข้าใจวิธีปรับใช้กองกำลังของเขา อะเลคเซย์อาสาเข้าร่วมกองทัพแดง ได้เดินสวนสนามในจัตุรัสแดงและได้ต่อสู้ในยุทธการที่มอสโก ส่วนในกรุงเบอร์ลิน หลังจากได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรอย่างตุรกี นครรัฐวาติกัน โรมาเนีย และญี่ปุ่น และเห็นขบวนทาสแรงงานชาวโซเวียต (ซึ่งนาตาชาก็อยู่ในหมู่พวกเขาด้วย) อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็รู้สึกหัวเสียที่ได้ยินว่ากรุงมอสโกยังไม่แตก เขาปลดวัลเทอร์ ฟ็อน เบราคิทช์ ออกจากตำแหน่งและเสนอตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพแก่แกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท แต่ฟ็อน รุนท์ชเต็ท ปฏิเสธโดยกล่าวว่า สตาลินเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่และเยอรมนีจะเป็นผู้แพ้แน่นอน จากนั้นฮิตเลอร์ได้สั่งโจมตีนครสตาลินกราด ในขณะเดียวกัน แฮร์มัน เกอริง ได้เจรจาต่อรองกับนายทุนชาวบริเตนชื่อเบดสโตนซึ่งคอยสนับสนุนวัตถุดิบที่จำเป็นแก่เยอรมนี หลังจากสหภาพโซเวียตมีชัยที่นครสตาลินกราด วาซีลี ชุยคอฟ กล่าวกับอีวานอฟว่า สตาลินอยู่เคียงข้างกองทัพแดงเสมอ จากนั้นส่วนเนื้อเรื่องได้ข้ามไปยังการประชุมยัลตา ที่ซึ่งสตาลินและพันธมิตรตะวันตกได้อภิปรายเกี่ยวกับอนาคตของสงคราม วินสตัน เชอร์ชิลล์ พยายามขัดขวางไม่ให้กองทัพโซเวียตเข้าสู่กรุงเบอร์ลินและเกือบจะโน้มน้าวแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ให้ยอมรับแผนของเขาได้สำเร็จ สงครามยังคงรุกคืบสู่กรุงมอสโก โดยอะเลคเซย์อยู่ท่ามกลางสมรภูมิและนาตาชาถูกจับอยู่ในค่ายกักกัน

ภาค 2

[แก้]

สตาลินถามเหล่านายพลของตนว่า ใครจะยึดกรุงเบอร์ลินระหว่างพวกเขากับพันธมิตรตะวันตก เหล่านายพลตอบว่าพวกเขาจะยึดเอง กองทหารของอะเลคเซย์มุ่งหน้าไปยังกรุงเบอร์ลินในขณะที่ฮิตเลอร์เริ่มกระวนกระวายและสั่งให้ทหารของตนต่อสู้จนถึงที่สุด ทหารเยอรมันวางแผนสังหารเหล่านักโทษค่ายกักกัน (ซึ่งนาตาชาอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย) ก่อนที่กองทัพแดงจะมาถึง แต่หน่วยของอะเลคเซย์ได้ปลดปล่อยเหล่านักโทษก่อนที่ทหารเยอรมันจะดำเนินการได้สำเร็จ นาตาชาเป็นลมและอะเลคเซย์หาเธอไม่พบ เมื่อทหารโซเวียตรุกคืบเข้ามา ฮิตเลอร์และผู้นำเยอรมันก็ตกอยู่ในสภาวะสิ้นหวัง ฮิตเลอร์สั่งปล่อยน้ำให้ท่วมสถานีรถไฟใต้ดิน ทำให้พลเรือนหลายพันคนจมน้ำเสียชีวิต จากนั้นเขาได้ทำพิธีสมรสกับเอฟา เบราน์ และกระทำอัตวินิบาตกรรม นายพล ฮันส์ เครพส์ แจ้งข่าวอสัญกรรมของฮิตเลอร์ต่อกองทัพแดงและร้องขอให้หยุดยิง สตาลินสั่งให้ทหารโซเวียตยอมรับเพียงการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น อะเลคเซย์ได้รับเลือกให้เชิญธงชัยร่วมกับมีฮาอิล เยโกรอฟ และเมลีตอน คันตาเรีย หน่วยของพวกเขาบุกอาคารไรชส์ทาคและทั้งสามได้โบกชูธงเหนืออาคาร ทหารเยอรมันยอมจำนนและทหารกองทัพแดงจากทั่วสหภาพโซเวียตฉลองชัยชนะ เครื่องบินของสตาลินลงจอดที่กรุงเบอร์ลิน ฝูงชนจาก "ทุกชาติ" ได้รอต้อนรับเขาอย่างกระตือรือร้นโดยชูป้ายที่มีรูปของเขาและโบกธงชาติต่าง ๆ สตาลินกล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้เกิดสันติภาพโลก อะเลคเซย์และนาตาชาซึ่งอยู่ในฝูงชนได้พบกันอีกครั้ง นาตาชาขออนุญาตจูบสตาลินที่แก้ม ทั้งคู่กอดกันในขณะที่อดีตนักโทษต่างโห่ร้องสรรเสริญสตาลินในหลายภาษา ภาพยนตร์จบลงที่สตาลินอวยพรให้เกิดสันติสุขแก่ทุกคน

นักแสดง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]