ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

พิกัด: 15°12′5″N 102°30′27″E / 15.20139°N 102.50750°E / 15.20139; 102.50750
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปราสาทพิมาย)
อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
Phimai Historical Park
ชาลาทางเดินและองค์ประธาน
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทปราสาทหิน
สถาปัตยกรรมขอมแบบบาปวน (ยุคแรก)
ขอมแบบนครวัด (ยุคต่อเติม)
เมืองอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
ประเทศประเทศไทย
พิกัด15°12′5″N 102°30′27″E / 15.20139°N 102.50750°E / 15.20139; 102.50750
เริ่มสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 16
(ผู้สร้าง พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1)
ปรับปรุงราวพุทธศตวรรษที่ 17
(ผู้บูรณะ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7)
ข้อมูลทางเทคนิค
พื้นที่115 ไร่ กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร
การออกแบบและการก่อสร้าง
เป็นที่รู้จักจากเป็นปราสาทหินที่มีปรางค์ประธานสูงที่สุดในประเทศไทย คือมีความสูงจากฐานสู่ยอด 28 เมตร[1]

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นปราสาทหินทรงขอมโบราณแบบบาปวน ตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วยปราสาทหินในสมัยอาณาจักรขอมที่ใหญ่โตและงดงาม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อใช้เป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ และเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนานิกายมหายาน ในเวลาต่อมา

ปราสาทหินพิมาย สร้างขึ้นตามความเชื่อเกี่ยวกับสวรรค์ และโลกมนุษย์ ลักษณะผังของปราสาทหินพิมายนั้นสร้างขึ้นคล้ายเขาพระสุเมรุ มีองค์ปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ใจกลางของเทวสถาน เป็นเสมือนทางเชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์[2] ปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในอำเภอพิมาย และจังหวัดนครราชสีมา[3]

ประวัติปราสาทพิมาย

[แก้]
ผังอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะขอม มีลักษณะเป็นเวียงสี่เหลี่ยม ชื่อ พิมาย น่าจะมาจากคำว่า วิมาย หรือ วิมายปุระ ที่ปรากฏในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินตรงกรอบประตูระเบียงคดด้านหน้าของปราสาท จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะสร้างบ่งบอกว่า ปราสาทหินพิมายคงเริ่มสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในฐานะเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ รูปแบบของศิลปะเป็นแบบบาปวนผสมผสานกับศิลปะแบบนครวัด ซึ่งหมายถึงปราสาทนี้ได้ถูกดัดแปลงมาเป็นสถานที่ทางศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7[4]

เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย

ที่ตั้งปราสาทพิมาย

[แก้]

ตัวอุทยานตั้งอยู่ฟากทิศตะวันออกของแม่น้ำมูล และอยู่ในจังหวัด นครราชสีมา อ.พิมาย บนพื้นที่ 115 ไร่ วางแผนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 เมตร ยาว 1,030 เมตร ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่น ๆ ที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมือง พระนคร เมืองหลวงในสมัยนั้นของอาณาจักรเขมร ซึ่งเข้ามาสู่เมืองพิมายทางทิศใต้[5]

สิ่งก่อสร้างภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย

[แก้]

พลับพลา

[แก้]

ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้ากำแพงชั้นนอก ด้านซ้ายมือของทางเดินเข้าสู่ตัวปราสาท เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เดิมเรียกกันว่า "คลังเงิน" จากตำแหน่งที่ตั้งสันนิษฐานว่าคงเป็นที่พักเตรียมพระองค์สำหรับกษัตริย์ หรือเจ้านายชั้นสูงที่เสด็จมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งเป็นสถานที่พักจัดขบวนสิ่งของถวายต่าง ๆ จากการขุดแต่งบริเวณนี้เมื่อปี พ.ศ. 2511 ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก มีทั้งรูปเคารพ เครื่องประดับ และเหรียญสำริด เป็นเหตุให้เรียกกันว่า "คลังเงิน"

สะพานนาคราช

[แก้]
สะพานนาคราช ปราสาทหินพิมาย

ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้าโคปุระด้านทิศใต้สร้างด้วยหินทราย มีผังเป็นรูปกากบาท กว้าง 4 ม. ยาว 31.70 ม. ยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นตัวนาค ที่ปลายราวสะพานทำเป็นรูปนาคราชชูคอแผ่พังพานเป็นรูปนาค 7 เศียร สะพานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเข้าสู่ศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาล เชื่อว่าเป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ คตินีถือสืบกันมาในศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานิกายมหายาน

ซุ้มประตูและกำแพงแก้ว

[แก้]
บริเวณชาลาทางเดินเข้าสู่ปราสาทประธานภายใน

ซุ้มประตูหรือโคปุระ ตั้งอยู่กึ่งกลางของแนวกำแพงแก้ว อยุ่ในแนวตรงกันหมดทั้ง 4 ด้าน คือ ทิศเหนือ-ใต้ อยู่ตรงกึ่งกลางของกำแพง ทิศตะวันออก-ตะวันตกค่อนไปทางเหนือเล็กน้อย ผังโดยรอบของซุ้มประตูจะมีลักษณะเป็นรูปกากบาท จากกำแพงแก้วเข้ามาด้านในเชื่อกันว่าเป็นดินแดนของโลกสวรรค์ อันเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า

ชาลาทางเดิน

[แก้]

ก่อสร้างด้วยหินทราย เชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูด้านทิศใต้ของระเบียงคดที่ล้อมรอบปราสาทประธาน โดยทำทางเดินยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่องทางเดิน ผังทำเป็นรูปกากบาท จากการบูรณะพบเศษกระเบื้องมุงหลังคาและบราลีดินเผาจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นระเบียงโปร่ง หลังคามุงกระเบื้อง รองรับด้วยเสาไม้

ซุ้มประตูและระเบียงคต

[แก้]

เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายยกพื้นสูง อยู่ล้อมรอบปราสาทประธาน ระเบียงคตมีลักษณะคล้ายกำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน โดยมีตำแหน่งที่ตั้งตรงกับแนวของประตูเมือง และประตูทางเข้าปราสาทประธาน ปรากฏหลักฐานสำคัญที่ซุ้มประตูด้านทิศใต้ บริเวณกรอบประตูพบจารึกภาษาเขมร อักษรขอมโบราณ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 1651–1655 กล่าวถึงการสร้างรูปเคารพ การสร้างเมือง ตลอดจนปรากฏพระนามของขุนนางชั้นสูง และพระนามมหากษัตริย์คือ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่1

ปราสาทประธาน

[แก้]
ปรางค์ประธาน

เป็นส่วนสำคัญที่สุดของปราสาทหินพิมาย เป็นปราสาทองค์ใหญ่ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16–17 ก่อสร้างด้วยศิลาทรายสีขาวหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งแตกต่างจากศาสนสถานแบบขอมในที่อื่น ๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทประธานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ มณฑป และ เรือนธาตุ มีการจำหลักลวดลายประดับตามส่วนต่าง ๆ เช่น หน้าบัน ทับหลัง มักจำหลักเป็นภาพเล่าเรื่องรามเกียรติ์และเรื่องราวทางพุทธศาสนา ยกเว้นทางด้านทิศใต้ จำหลักเป็นภาพศิวนาฏราช ภายในเรือนธาตุเป็นส่วนสำคัญที่สุดเรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพสำคัญ พื้นห้องตรงมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีร่องน้ำมนต์ต่อลอดผ่านพื้นห้องออกไปทางด้านนอก เรียกว่า ท่อโสมสูตร

ปรางค์หินแดง

[แก้]

สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของปรางค์ประธาน มีมุขยื่นออกไปทั้ง 4 ทิศ เหนือกรอบประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ มีทับหลังหินทรายจำหลักภาพเล่าเรื่องมหากาพย์มหาภารตะ ตอนอรชุนล่าหมูป่า ส่วนกรอบประตูด้านอื่นคงเหลือร่องรอยเฉพาะเสาประดับกรอบประตูศิลปะแบบเขมรประดับอยู่

หอพราหมณ์

[แก้]

เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับปรางค์หินแดง ในปี พ.ศ. 2493 ได้ค้นพบศิวลึงค์ สลักด้วยหินทรายจำนวน 7 ชิ้นอยู่ภายในหอพราหมณ์ เชื่อกันว่าอาคารหลังนี้คงเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ แต่จากรูปแบบและตำแหน่งที่ตั้งเดิมคงเป็นที่ตั้งของบรรณาลัยมากกว่า

ปรางค์พรหมทัต

[แก้]

ลักษณะของปรางค์องค์นี้ สร้างด้วยศิลาแลงตั้งอยู่ด้านหน้าของ สันนิษฐานว่าเป็นรูปจำลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านเรียกว่า ท้าวพรหมทัต ส่วนอีกรูปเป็นรูปสตรีนั่งคุกเข่าสลักด้วยหินทราย ส่วนศีรษะและแขนหักหายไป เชื่อกันว่าเป็นรูปของพระนางชัยราชเทวีมเหสี ชาวบ้านเรียกตามนิยายพื้นบ้านว่า นางอรพิม ปัจจุบันประติมากรรมทั้ง 2 ชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย

บรรณาลัย

[แก้]

ตั้งอยู่บริเวณลานชั้นนอก ระหว่างกำแพงแก้วและซุ้มประตูระเบียงคด ด้านทิศตะวันตกเป็นอาคาร 2 หลังขนาดเดียวกัน ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ก่อด้วยหินทรายกั้นเป็นห้องยาวตลอดแนว พบร่องรอยหลุมเสารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เดิมคงเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เชื่อกันว่าบรรณาลัยคือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา

ทัศนียภาพปราสาทพิมาย

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินทรายสีขาว". phanomrungpuri.co.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 ธันวาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015.
  2. "ครอบครัวข่าว 3 พาเที่ยว อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย หรือ ปราสาทหินพิมาย พุทธสถานในนิกายมหายานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา". news.ch3thailand.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 สิงหาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2019.
  3. "จัดเต็ม แสง สี เสียง ที่ปราสาทหินใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ในงาน 'เที่ยวพิมาย นครราชสีมา'". mgronline.com. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2019.
  4. "ปราสาทหินพิมาย". RakKorat.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 มกราคม 2019. สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2021.
  5. "อุทยานประวัติศาสตร์ ปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย". สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]