ประวัติสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลยูไนเต็ด
ประวัติสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลยูไนเต็ด ตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรถึงฤดูกาลปัจจุบัน
ก่อตั้งสโมสร
[แก้]ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1881 ทีมคริกเก็ตสแตนลีย์ได้ตัดสินใจตั้งทีมฟุตบอลขึ้น เพื่อลงเล่นในช่วงที่ฤดูกาลแข่งขันคริกเก็ตปิดตัวลงในฤดูหนาว พวกเขาชนะเกมแรกที่ลงแข่งขันด้วยสกอร์ 5-0 โดยมีคู่แข่งเป็นทีมเอลสวิก เลเธอร์ เวิร์คส์ชุดสำรอง หนึ่งปีต่อมา ทีมก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลอีสต์เอนด์
ขณะเดียวกัน ทีมคริกเก็ตอีกทีมหนึ่งในย่านเดียวกันก็ได้เริ่มสนใจที่จะตั้งทีมฟุตบอล จนกระทั่งมีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิล เวสท์ เอนด์ขึ้น ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1882 โดยในช่วงแรกนั้น พวกเขาใช้สนามคริกเก็ตเดิมเป็นสนามเหย้า ก่อนที่จะย้ายไปลงเตะในเซนต์เจมส์พาร์ค
หลังจากนั้น ได้มีการจัดตั้งฟุตบอลลีกท้องถิ่นขึ้นในปี ค.ศ. 1889 การที่มีลีกอาชีพในบริเวณใกล้เคียงให้ลงเตะ ประกอบกับความสนใจในถ้วยเอฟเอคัพ ทำให้นิวคาสเซิลอีสต์เอนด์เปลี่ยนจากทีมสมัครเล่นมาเป็นทีมอาชีพในปีเดียวกันนั้นเอง แต่ทว่าทางฝั่งนิวคาสเซิล เวสท์ เอนด์กลับล้มเหลวที่จะตามรอยทีมเพื่อนบ้านสู่สถานะทีมฟุตบอลอาชีพ จนกระทั่งในช่วงต้นปี ค.ศ. 1892 ผู้บริหารของนิวคาสเซิล เวสท์ เอนด์ได้ตัดสินใจที่จะขอเข้าควบกิจการกับนิวคาสเซิลอีสต์เอนด์ เพื่อมิให้ทีมต้องยุบตัวลงโดยสิ้นเชิง
การควบกิจการเป็นไปด้วยดี ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1892 ชื่อ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ก็ถูกเลือกให้เป็นชื่อใหม่ของทีม
การลงเตะอาชีพในช่วงแรก และตำแหน่งแชมป์เอฟเอคัพ
[แก้]นิวคาสเซิลสามารถคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศมาครองได้ถึงสามสมัยในช่วงทศวรรษ 1900s และยังเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพถึง 5 ครั้งใน 7 ฤดูกาล แต่สามารถเป็นแชมป์ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นในปี 1910 หลังจากเอาชนะบาร์นสลีย์ไปได้ในการเตะนัดรีเพลย์ที่กูดิสันพาร์ค
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง พวกเขาคว้าแชมป์เอฟเอคัพได้อีกสมัยโดยการเอาชนะแอสตันวิลลาในรอบชิงชนะเลิศที่สนามเวมบลีย์ นอกจากนั้น นิวคาสเซิลยังเป็นแชมป์ลีกได้อีกหนึ่งสมัยในปี 1927 อีกด้วย
ความสำเร็จในเอฟเอคัพช่วงทศวรรษ 1950s
[แก้]ในช่วงทศวรรษ 1950s นิวคาสเซิลเป็นแชมป์เอฟเอคัพถึง 3 สมัยในช่วงเวลา 5 ปี โดยเอาชนะแบล็กพูล 2-0 ในปี 1951 ชนะอาร์เซนอล 1-0 ในปี 1952 และชนะแมนเชสเตอร์ซิตี 3-1 ในปี 1955 โดยทีมนิวคาสเซิลในยุคนั้น มีผู้เล่นชื่อดังอยู่หลายคนด้วยกัน เช่น แจคกี มิลเบิร์น, บ็อบบี มิทเชลล์, และสแตน เซมัวร์
หลังจากตกชั้นลงไปเล่นในดิวิชันสองอยู่ชั่วขณะ นิวคาสเซิลที่นำโดยผู้จัดการทีม โจ ฮาร์วีย์ ก็ได้เลื่อนชั้นกลับสู่ลีกสูงสุดในปี 1965 แต่ทว่าฟอร์มของพวกเขาหลังจากนั้นไม่สม่ำเสมอนัก
แชมป์ถ้วยยุโรป
[แก้]ทีมของฮาร์วีย์สามารถทำอันดับผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลถ้วยยุโรปครั้งแรกในปี 1968 ก่อนจะคว้าแชมป์ถ้วยอินเตอร์-ซิตีส์ แฟร์ส คัพ (หรือถ้วยยูฟ่าคัพในปัจจุบัน) ไปครองอย่างเหนือความคาดหมายในปีถัดมา โดยสามารถเอาชนะทีมใหญ่ในยุโรปของยุคนั้นไปได้หลายราย ไม่ว่าจะเป็นสปอร์ติง ลิสบอน, เฟเยนูร์ด รอตเตอร์ดัม หรือ รีล ซาราโกซา และปิดท้ายด้วยการคว่ำทีมอุจเพสท์จากฮังการีในรอบชิงชนะเลิศ
นับตั้งแต่ก่อตั้งทีมมา นิวคาสเซิลมักจะมอบเสื้อหมายเลข 9 ให้แก่ผู้เล่นกองหน้าชื่อดังประจำทีม โดยประเพณีนี้ยังคงตกทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับในช่วงเวลานั้น ผู้เล่นที่ได้ใส่เสื้อหมายเลข 9 มีหลายคนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น วิน เดวีส์, ไบรอัน ร็อบสัน, บ็อบบี มอนเคอร์ หรือ แฟรงค์ คลาร์ก
หลังจากประสบความสำเร็จในฟุตบอลสโมสรยุโรป ฮาร์วีย์ก็ได้ดึงตัวผู้เล่นเกมรุกชื่อดังมากมายเข้ามาร่วมทีม นับตั้งแต่ จิมมี สมิธ, โทนี กรีน และเทอร์รี ฮิบบิทท์ ไปจนถึงยอดศูนย์หน้าอย่าง มัลคอล์ม แมคโดแนลด์ เจ้าของฉายา 'ซูเปอร์แมค' ผู้เป็นหนึ่งในตำนานของสโมสร แมคโดแนลด์พานิวคาสเซิลเข้าชิงชนะเลิศถ้วยเอฟเอคัพและลีกคัพกับลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ซิตีในปี 1974 และ 1976 ตามลำดับ แต่พลพรรคแม็กพายส์กลับล้มเหลวในรอบชิงทั้งสองครั้ง
ในช่วงต้นทศวรรษ 1980s นิวคาสเซิลอยู่ในช่วงตกต่ำ โดยได้ตกชั้นลงไปเล่นอยู่ในดิวิชัน 2 อยู่เป็นเวลาหลายปี ก่อนที่ผู้จัดการทีมอาร์เธอร์ ค็อกซ์จะสร้างทีมขึ้นมาใหม่โดยมีเควิน คีแกน อดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษเป็นแกนหลัก จนกระทั่งได้เลื่อนชั้นกลับสู่ลีกสูงสุด
หลังจากนั้น นิวคาสเซิลเล่นอยู่ในดิวิชัน 1 จนกระทั่งพวกเขาตกชั้นอีกครั้งในปี 1989
คืนสู่ลีกสูงสุด
[แก้]ในปี 1992 เควิน คีแกนได้กลับคืนสู่นิวคาสเซิลอีกครั้งในฐานะผู้จัดการทีม เมื่อเขาตอบรับสัญญาระยะสั้น เข้ามาคุมทีมแทนออสซี อาร์ดิเลส ตัวคีแกนเองนั้นกล่าวว่า งานคุมทีมนิวคาสเซิลเป็นงานเดียวเท่านั้น ที่สามารถทำให้เขาหวนคืนสู่วงการฟุตบอลได้ ในขณะนั้น นิวคาสเซิลกำลังดิ้นรนหนีการตกชั้นอยู่ในดิวิชัน 2 ถึงแม้ว่าจะเพิ่งถูกซื้อกิจการโดยเซอร์ จอห์น ฮอลล์ไปไม่นานก็ตาม
ในฤดูกาลนั้น นิวคาสเซิลสามารถหนีรอดพ้นการตกชั้นไปได้ โดยเปิดบ้านเอาชนะปอร์ทสมัธก่อนจะบุกไปเอาชนะเลสเตอร์ซิตีในสองเกมสุดท้ายของฤดูกาล
ในฤดูกาลถัดมา (1992-93) ฟอร์มของนิวคาสเซิลเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ พวกเขาเล่นฟุตบอลเกมรุกแบบตื่นตาตื่นใจ จนกระทั่งคว้าชัยชนะในเกมลีก 11 นัดแรก ก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งแชมป์ดิวิชัน 1 และเลื่อนชั้นขึ้นสู่พรีเมียร์ลีกด้วยชัยชนะเหนือกริมสบี ทาวน์ 2-0
พรีเมียร์ลีก
[แก้]นิวคาสเซิลประสบความสำเร็จในระดับสูงสุดภายใต้การคุมทีมของคีแกน พวกเขาจบฤดูกาล 1993-94 ที่อันดับ 3 และได้รับการตั้งฉายาโดยสื่อมวลชนอังกฤษว่าเป็น "The Entertainers"
ในปีถัดมา นิวคาสเซิลจบฤดูกาลที่อันดับ 6 หลังจากที่ช็อกแฟนบอลด้วยการขายกองหน้าจอมถล่มประตู แอนดี โคล ให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดด้วยค่าตัว 6 ล้านปอนด์บวกกับคีธ กิลเลสพี ปีกขวาดาวรุ่งชาวไอริช
ในปี 1995-96 นิวคาสเซิลเสริมทีมครั้งใหญ่ โดยดึงตัวผู้เล่นชื่อดังเช่นดาวิด ชิโนลาและเลส เฟอร์ดินานด์มาร่วมทีม พวกเขาเกือบที่จะคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ แต่ก็ทำได้เพียงตำแหน่งรองแชมป์ ทั้งที่ในช่วงคริสต์มาส พวกเขาทิ้งห่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดถึง 12 คะแนน เกมที่นิวคาสเซิลพ่ายให้กับลิเวอร์พูลไป 3-4 ที่สนามแอนฟิลด์ในฤดูกาลนี้ ได้รับการโหวตให้เป็นเกมยอดเยี่ยมตลอดกาลของพรีเมียร์ลีกเลยทีเดียว
นิวคาสเซิลเข้าป้ายเป็นอันดับที่ 2 อีกครั้งในปีถัดมา แม้ว่าจะทำการเซ็นสัญญากองหน้าทีมชาติอังกฤษ แอลัน เชียเรอร์ มาร่วมทีมด้วยค่าตัวสถิติโลก 15 ล้านปอนด์ สำหรับฤดูกาล 1996-97 นี้ เป็นที่จดจำของแฟนบอลหลายคน เนื่องจากนิวคาสเซิลได้ถล่มเอาชนะแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไปด้วยสกอร์ถึง 5-0 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1996
คีแกนลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมในเดือนมกราคม ปี 1997 และถูกแทนที่โดยเคนนี ดัลกลิช ซึ่งได้รับเลือกเพื่อมาช่วยแก้ปัญหาเกมรับของทีม ในช่วงครึ่งฤดูกาลหลังของปี 1997-98 ดัลกลิชพานิวคาสเซิลเข้าไปเล่นฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และพ่ายต่ออาร์เซนอลในรอบชิงชนะเลิศถ้วยเอฟเอคัพไป 0-2 หลังจากนั้น แฟนบอลก็เริ่มที่จะไม่พอใจกับสไตล์การทำทีมที่เน้นเกมรับของดัลกลิช เมื่อบวกกับผลงานที่ตกต่ำลงของทีม เป็นผลให้ดัลกลิชถูกปลดออกจากตำแหน่งในช่วงต้นฤดูกาล 1998-99
รืด คึลลิตก้าวเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมต่อจากดัลกลิช และพาทีมเข้าชิงชนะเลิศเอฟเอคัพอีกครั้ง ก่อนจะพ่ายให้กับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไปในที่สุด แต่คึลลิตได้ทำการซื้อตัวผู้เล่นราคาแพงหลายคนที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในพรีเมียร์ลีก เช่นมาร์เซลิโน กองหลังชาวสเปน และซิลวิโอ มาริช มิดฟิลด์โครเอเชีย นอกจากนี้คึลลิตยังมีปากเสียงกับผู้เล่นคนสำคัญหลายคนในทีม ทั้งหมดนี้ประกอบกับการเริ่มต้นฤดูกาล 1999-2000 ได้อย่างเลวร้าย ทำให้คึลลิตถูกกดดันให้ลาออกไป
นิวคาสเซิลตัดสินใจแต่งตั้งเซอร์ บ็อบบี ร็อบสัน อดีตผู้จัดการทีมชาติอังกฤษชาวจอร์ดี เข้ามากู้สถานการณ์ของทีม ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในโซนตกชั้น เกมเหย้าเกมแรกของนิวคาสเซิลภายใต้ร็อบสันจบลงด้วยชัยชนะ 8-0 เหนือเชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ พร้อมทั้ง 5 ประตูจากกัปตันทีมแอลัน เชียเรอร์ ในช่วงที่ร็อบสันคุมทีม นิวคาสเซิลได้สร้างทีมขึ้นมาใหม่โดยอาศัยนักเตะดาวรุ่งเป็นแกนหลัก ผู้เล่นอย่างคีรอน ดายเออร์, เคร็ก เบลลามี่ และโลรองต์ โรแบร์ ทำให้นิวคาสเซิลกลับมาเป็นทีมระดับหัวแถวของพรีเมียร์ลีกอีกครั้ง ฟุตบอลเกมรุกอันน่าตื่นเต้นของพวกเขาทำให้นิวคาสเซิลทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในฤดูกาล 2001-02 จนได้กลับเข้าไปเล่นในรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และได้เข้าไปเล่นในรอบ 8 ทีมสุดท้ายของถ้วยเอฟเอคัพและลีกคัพ
ในฤดูกาล 2002-03 นิวคาสเซิลได้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นทีมแรกในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกที่แพ้ในรอบแบ่งกลุ่ม 3 เกมแรกแล้วยังสามารถผ่านเข้ารอบต่อไปได้ ก่อนจะตกรอบแบ่งกลุ่มรอบสอง หลังจากถูกจับฉลากแบ่งสายไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับทีมยักษ์ใหญ่อย่างบาร์เซโลนาและอินเตอร์ มิลาน ส่วนผลงานในพรีเมียร์ลีกนั้น นิวคาสเซิลก็ยังคงทำได้ดีอย่างสม่ำเสมอ จนจบฤดูกาลในอันดับที่ 3
ต่อมาในฤดูกาล 2003-04 นิวคาสเซิลตกรอบคัดเลือกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกหลังพ่ายในการดวลจุดโทษให้กับพาร์ทิซาน เบลเกรด จนต้องตกลงไปเล่นในถ้วยยูฟ่าคัพแทน นิวคาสเซิลจบฤดูกาลในอันดับที่ 5 และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศถ้วยยูฟ่าคัพ
ยุคหลังร็อบสัน
[แก้]ร็อบสันถูกปลดออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2004 หลังจากคุมนิวคาสเซิลมานานถึง 5 ปี โดยบอร์ดบริหารชี้แจงเหตุผลว่าเป็นเพราะมีปัญหากับผู้เล่น แกรม ซูเนสส์ถูกเลือกให้มารับช่วงต่อในอีกสองสัปดาห์ถัดมา
ถึงแม้จะเริ่มต้นได้ดี ผลงานของทีมภายใต้ซูเนสส์ก็ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว นิวคาสเซิลจมอยู่ในครึ่งล่างของตารางพรีเมียร์ลีกปี 2004-05 จนถึงเดือนธันวาคม ก่อนจะจบฤดูกาลที่อันดับ 14 ซึ่งเป็นผลงานที่เลวร้ายที่สุดของนิวคาสเซิลในการเล่นฟุตบอลพรีเมียร์ลีก
ในเดือนสิงหาคม ปี 2005 นิวคาสเซิลได้เซ็นสัญญาคว้าตัวไมเคิล โอเวน ดาวซัลโวทีมชาติอังกฤษจากรีล มาดริดมาร่วมทีมด้วยค่าตัวสถิติสโมสร 17 ล้านปอนด์ แต่เนื่องด้วยอาการบาดเจ็บต่อเนื่อง ทำให้โอเวนได้ลงสนามเพียง 10 เกมเท่านั้นในช่วง 6 เดือนแรกกับต้นสังกัดใหม่
ฟอร์มของนิวคาสเซิลยังคงไม่กระเตื้อง เป็นผลให้ซูเนสส์ถูกปลดในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2006 หลังพ่ายต่อแมนเชสเตอร์ซิตีไป 0-3[1] และทำให้เกล็น โรเดอร์ อดีตผู้จัดการทีมของเวสต์แฮม ยูไนเต็ดซึ่งในขณะนั้นทำงานเป็นผู้บริหารทีมเยาวชนของนิวคาสเซิลอยู่ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราว นอกจากนี้แอลัน เชียเรอร์ยังได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมของโรเดอร์อีกด้วย
ในเกมแรกที่โรเดอร์คุมทีม เชียเรอร์สามารถพังประตูที่ 201 ของเขากับนิวคาสเซิลได้สำเร็จ ทำให้เขาได้รับการจารึกชื่อเป็นดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของสโมสรแทนที่แจ็คกี มิลเบิร์น เชียเรอร์ปิดฉากชีวิตการค้าแข้งด้วยการยิงประตูคู่ปรับเก่าซันเดอร์แลนด์เมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 2006 หยุดสถิติของเขาไว้ที่ 206 ประตู
ผลงานของโรเดอร์เหนือกว่าที่สื่อมวลชนคาดหมายกันไว้มาก โดยเขาพานิวคาสเซิลขึ้นไปถึงอันดับ 7 ทำให้ทีมได้เข้าไปเล่นในยูฟ่าอินเตอร์โตโตคัพ ก่อนที่โรเดอร์จะได้รับการต่อสัญญาแบบถาวรเป็นเวลา 2 ปี[2] ในช่วงก่อนเริ่มฤดูกาลใหม่ นิวคาสเซิลสามารถคว้าตัวปีกซ้ายชาวไอร์แลนด์ เดเมียน ดัฟฟ์ จากเชลซี มาด้วยค่าตัว 5 ล้านปอนด์ และยังได้ตัวกองหน้าไนจีเรียน โอบาเฟมี มาร์ตินส์ จากอินเตอร์ มิลาน เข้ามาสวมเสื้อหมายเลข 9 ต่อจากแอลัน เชียเรอร์
แอชลีย์เข้าเทคโอเวอร์สโมสร
[แก้]ในฤดูกาล 2006-07 แม้ว่านิวคาสเซิลจะสามารถคว้าแชมป์ยูฟ่าอินเตอร์โตโตคัพได้ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน จบแค่อันดับ 13 ในพรีเมียร์ลีก จนทำให้โรเดอร์ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการทีมหลังจากจบฤดูกาล[3] และ แซม อัลลาร์ไดซ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดการทีมโบลตันวันเดอเรอร์สได้เข้ามารับตำแหน่งแทน[4] โดยหลังจากที่อัลลาไดซ์เข้าดำรงตำแหน่งแล้วนั้น เฟรดดี เชพเพิร์ด ได้ตัดสินใจขายหุ้นให้กับ ไมค์ แอชลีย์ นักธุรกิจเจ้าของกิจการอุปกรณ์กีฬา[5] โดยอัลลาไดซ์ได้ซื้อผู้เล่นมากมายโดยส่วนใหญ่จะเป็นกองหลังคือ เคลาดิโอ กาซาปา เดวิด โรเซนาล ฮาบิบ เบย์ โฆเซ เอ็นริเก รวมถึงในตำแหน่งอื่นๆอย่าง โจอี บาร์ตัน แอลัน สมิธ มาร์ค วิดูกา และ เฌเรมี ด้วย
การกลับมาของคีแกน
[แก้]อัลลาไดซ์นำทีมชนะโบลตันในนัดแรกของฤดูกาล 3-1 แต่ด้วยความที่ชอบวางแผนโดยเน้นการตั้งรับและฟอร์มการเล่นที่ไม่ดีในช่วงหลังทำให้แฟนบอลไม่พอใจอัลลาไดซ์ ซึ่งทำให้อัลลาร์ไดซ์ต้องแยกทางกับนิวคาสเซิลในที่สุด[6] และเป็นการเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีมอีกรอบของ เควิน คีแกน อดีตผู้จัดการทีมชุดเอนเตอร์เทนเมื่อหลายปีก่อน โดยการที่คีแกนเข้าคุมทีมในครั้งนี้ทำให้เป็นความหวังสำหรับแฟนบอลขึ้นมาทันที[7] แต่ในการคุมทีมช่วงแรกนั้นคีแกนทำได้ไม่ค่อยดีนักจนเกือบถูกปลดออกจากตำแหน่ง แต่หลังจากนั้นทีมกลับโชว์ฟอร์มการเล่นอย่างยอดเยี่ยม ทำให้ ไมค์ แอชลีย์ เปลี่ยนใจไม่ปลดคีแกน และจบฤดูกาลด้วยอันดับ 12 ของตารางในที่สุด
โดยหลังจากจบฤดูกาลนิวคาสเซิลได้คว้าผู้เล่นมาเสริมทีมมากมาย เช่น ฟาบริซิโอ โคลอชชินี กองหลังทีมชาติอาร์เจนตินา แดนนี กัธทรี กองกลางของลิเวอร์พูล โฮนาส กูเตียร์เรส มิดฟิลล์ริมเส้นทีมชาติอาร์เจนตินา
ตกชั้นสู่เดอะแชมเปียนชิพ
[แก้]นิวคาสเซิลสร้างความประหลาดใจได้ในนัดแรกของฤดูกาลด้วยการเสมอกับแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 1-1 และสามารถโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมในช่วงต้นฤดูกาล แต่หลังจากนั้นคีแกนได้ขัดแย้งกับบอร์ดบริหารของสโมสรจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง[8] โดยแอชลีย์ได้แต่งตั้ง คริส ฮิวจ์ตัน รักษาการแทนท่ามกลางความไม่พอใจของแฟนบอล หลังจากที่คีแกนได้แยกทางกับสโมสรนิวคาสเซิลฟอร์มย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งแต่งตั้ง โจ คินเนียร์ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทีมแทนคีแกน โดยหลังจากคินเนียร์เข้าดำรงตำแหน่งฟอร์มของทีมก็ดีขึ้นตามลำดับ แต่ในเวลาไม่นานคินเนียร์มีอาการโรคหัวใจกำเริบ และต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และทางบอร์ดบริหารก็ได้ให้ฮิวจ์ตันรักษาการแทนอีกครั้ง[9] ช่วงท้ายฤดูกาลนิวคาสเซิลตัดสินใจประกาศแต่งตั้ง แอลัน เชียเรอร์ เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการทีม ในช่วง 8 นัดสุดท้ายเพื่อให้หนีตกชั้นได้สำเร็จ[10] แต่ในนัดสุดท้ายของฤดูกาลนิวคาสเซิลบุกไปแพ้แอสตันวิลลา 1-0 ที่วิลลาพาร์ค ทำให้ทีมต้องตกชั้นสู่เดอะแชมเปียนชิพด้วยอันดับ 18 ของตาราง[11]
ฤดูกาล 2009-10
[แก้]ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พอกันที ´´ซูอี้´´...สำหรับ ´´สาลิกาดง´´
- ↑ สาลิกาประกาศแต่งตั้ง ‘โรเดอร์’ คุมทัพ
- ↑ "โรเดอร์" เปิดหมวกอำลา"สาลิกาดง"
- ↑ บิ๊กแซมเซ็น 3 ปีคุม"สาลิกา"- ลั่นรั้งโอเว่น
- ↑ "แอชลีย์" ฮุบนิวคาสเซิล
- ↑ ปลดฟ้าผ่า!นิวไล่บิ๊กแซมแล้ว
- ↑ ด่วน!คีแกนคืนเก้าอี้คุมนิวคาสเซิลแล้ว[ลิงก์เสีย]
- ↑ เควิน คีแกน ไขก๊อกพ้น นิวคาสเซิล[ลิงก์เสีย]
- ↑ 'คินเนียร์’ เตรียมบายพาสหัวใจส่อพักยาว 8 สัปดาห์[ลิงก์เสีย]
- ↑ นิวคาสเซิลเปิดตัว แอลัน เชียเรอร์
- ↑ "นิวคาสเซิล เศร้า! บุกพ่าย "วิลลา" 0-1 ร่วงตกชั้น". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-28. สืบค้นเมื่อ 2009-07-06.