ประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ต
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ประวัติศาสตร์จังหวัดภูเก็ต
เดิมคำว่า ภูเก็ต นั้นใช้คำว่า "ภูเก็จ" อันแปลว่าเมืองแก้ว ตรงกับความหมายเดิมซึ่งชาวทมิฬเรียก มณีคราม ตามหลักฐาน พ.ศ. 1568 ภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดีย โดยผ่านแหลมมลายู หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ หนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่เดินเรือของปโตเลมี เมื่อประมาณ พ.ศ. 700 กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสุวรรณภูมิลงมาจนถึงแหลมมลายู
จากประวัติศาสตร์ไทย ภูเก็ตเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตามพรลิงก์ ต่อมาจนถึงสมัยอาณาจักรศิริธรรมนคร เรียกเกาะภูเก็ตว่า เมืองตะกั่วถลาง เป็นเมืองที่ 11 ใน 12 เมืองนักษัตร โดยใช้ตราเป็นรูปสุนัข จนถึงสมัยสุโขทัย เมืองถลางไปขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ในสมัยอยุธยา ชาวฮอลันดามาสร้างสถานที่เก็บสินค้าเพื่อรับซื้อแร่ดีบุกจากเมืองภูเก็ต
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เกิดสงครามเก้าทัพขึ้น พระเจ้าปดุง กษัตริย์ของประเทศพม่าในสมัยนั้น ได้ให้แม่ทัพยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เช่น ไชยา นครศรีธรรมราช และให้ยี่หวุ่นนำกำลังทัพเรือพล 3,000 คนเข้าตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง และเมืองถลาง ซึ่งขณะนั้นเจ้าเมืองถลาง (พระยาพิมลอัยาขัน) เพิ่งถึงแก่อนิจกรรม ท่านผู้หญิงจัน ภรรยา และคุณมุก น้องสาว จึงรวบรวมกำลังต่อสู้กับพม่าจนชนะเมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น ท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รวบรวมหัวเมืองชายทะเลตะวันตกตั้งเป็น มณฑลภูเก็จ และเมื่อปี พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล เปลี่ยนมาเป็น จังหวัดภูเก็ต จนถึงปัจจุบัน
รัตนะ
[แก้]ยุคก่อนประวัติศาสตร์
[แก้]การค้นหาหลักฐานร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ในภูเก็ต ไม่ได้พบหลักฐานที่อยู่อาศัย เช่น ถ้ำหรือเพิงผา คงพบแต่เครื่องมือหิน โดยเฉพาะขวานหินขัดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าขวานฟ้าแต่มีลักษณะไม่สมบูรณ์นัก ที่ได้พบจากเหมืองแร่และใต้พื้นดินที่ทับถมกันมานาน ในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัยในเกาะภูเก็ตนั้นมีความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิศาสตร์มากกว่าพังงาและกระบี่ ซึ่งถ้ำหรือเพิงผาอาจถูกลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ทำลายจนไม่เหลือหลักฐาน
ชนเผ่าดั้งเดิมของภูเก็ตนั้น นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีส่วนใหญ่มีความเห็นว่าชนเผ่าดั้งเดิมที่พบเห็นได้ในปัจจุบันในคาบสมุทรมลายูได้แก่ ชาวซาไก (Sakai) และชาวเลหรือชาวน้ำ (C'hau Nam) ชาวซาไกซึ่งมีลักษณะคล้ายพวกเซมัง (Semang) ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ทางตะวันตกของคาบสมุทรมลายู สันนิษฐานว่าชาวซาไกได้เดินทางมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณเกาะถลาง (ภูเก็ต) ต่อมาได้มีชนชาติมอญจากพะโคมาอยู่ในดินแดนแถบนี้คือ พวกเซลัง (Selang หรือ Salon) กลุ่มคนพวกนี้ชำนาญในการดำน้ำ จึงเรียกว่าชาวน้ำ (C'hau Nam) กลุ่มคนพวกนี้ยังอาศัยอยู่ในหลายเกาะแถบอันดามันจนถึงปัจจุบัน แต่ชาวซาไกปัจจุบันไม่พบในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากชาวเผ่านี้รักสงบกลัวคนแปลกหน้า ฉะนั้นเมื่อมีคนต่างเผ่า ต่างหน้าตา อพยพเข้ามาอาศัยมากขึ้น ชาวซาไกก็หนีถอยร่นเข้าป่าลึก ในที่สุดข้ามเขาไปอยู่ในแผ่นดินใหญ่ฟากตะวันออกได้แก่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส ทำให้ภูเก็ตคงเหลือแต่ชาวเลที่ยังคงดำรงชีวิตอยู่ แต่ตามหลักฐานอาจมีชาวมอญ ชาวอินเดีย ชาวไทย ชาวจีนและชาวพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเก็ตด้วยเนื่องจากลักษณะบ้านเรือนในโบราณมีลักษณะเช่นเดียวกับบ้านชาวมอญที่เมืองมะริด และอาจสมรสกันจนเกิดเป็นชนรุ่นใหม่
ยุคอาณาจักรตามพรลิงก์ และอาณาจักรศิริธรรมนคร (ศรีวิชัย)
[แก้]อาณาจักรตามพรลิงก์และอาณาจักรศิริธรรมนครมีความสำคัญต่อภูเก็ตค่อนข้างมาก เนื่องจากศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่แถบภาคใต้มีอำนาจครอบคลุมคาบสมุทรมลายูโดยตลอดเป็นเวลาถึง 600 ปีระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-18 แต่ไม่มีโบราณวัตถุของสมัยศรีวิชัยในภูเก็ต แต่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบนี้อย่างมั่นคง
หลักฐานทางโบราณคดีเช่น ตำนาน พงศาวดาร ตลอดจนประวัติศาสตร์ ได้กล่าวถึงตำนานเมืองนครศรีธรรมราชก็ได้ระบุว่าในบรรดาเมืองสิบสองนักษัตรของนครศรีธรรมราชโบราณนั้น"เมืองตะกั่วถลาง"เป็นเมืองลำดับที่ 11 ชื่อว่า"เมืองสุนัขนาม"หรือเมืองประจำปีจอ มีตราประจำเมืองเป็นรูปสุนัข และผู้ปกครองภูเก็ตสมัยนั้นได้ถือรูปสุนัขมายกย่องนับถือ ซึ่งเมืองนี้อาจตั้งอยู่ที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีตำบลหนึ่งทางตะวันตกชื่อว่า ตำบลกมลา แต่ชาวบ้านโบราณเรียกว่า "บ้านกราหม้า" มีความหมายว่าหมู่บ้าน"ตราหมา"ซึ่งตรงกับตราประจำเมือง"สุนัขนาม"ในอดีต
จากหมู่บ้านกมลามามีพื้นที่ราบกว้างใหญ่ติดต่อเข้าสู่ภูเก็จฝั่งตะวันออก ในระหว่างฟากตะวันตกกับฟากตะวันออกของที่ราบนี้ มีหมู่บ้านชื่อว่า"บ้านมานิค"ซึ่งมาจากคำภาษาทมิฬโบราณ แปลว่า ทับทิม หรือ แก้ว มีการสันนิษฐานว่าเป็นชื่อผันแปรมาจากคำว่า "มนิกกิมัม"ในจารึกภาษาทมิฬที่พบจากอำเภอตะกั่วป่าใกล้ๆกับเทวรูปในศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไวษณพนิกายซึ่งถูกทิ้งอยู่ในเขาพระนารายณ์นานมาแล้ว คำว่า "มนิกกิมัม"แปลว่า"เมืองทับทิม" หรือ "เมืองแก้ว"
หลังจากนั้น ทมิฬโจฬะได้เข้าครอบครองอาราจักรตามพรลิงก์ จากพ.ศ. 1586 จนถึง พ.ศ. 1602 เป็นเวลาประมาณ 34 ปี กษัตริย์แห่งตามพรลิงก์สามารถขับไล่พวกทมิฬโจฬะออกไปได้สำเร็จ แล้วตั้งศิริธรรมนครขึ้นเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ของอาณาจักรไทยภาคใต้ สามรถดำรงอิสรภาพนานประมาณ 220 ปีก็ต้องสูญเสียเอกราชให้แก่อาณาจักรสุโขทัยในปีพ.ศ. 1823
สมัยอาณาจักรสุโขทัย
[แก้]พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัยทรงแผ่พระราชอาณาเขตออกกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้เป็นส่วนใหญ่ แล้วแผ่อำนาจลงมาทางใต้ และมีชัยชนะเหนืออาณาจักรศิริธรรมนครในพ.ศ. 1825
ภูเก็จ ซึ่งเป็นบริวารของนครศรีธรรมราชในลักษณะของ"เมืองประเทศราช" กล่าวคือ ทางสุโขทัยมิได้ส่งเชื้อพระวงศ์หรือข้าราชการลงมาปกครองหากแต่ปล่อยให้เจ้านครศรีธรรมราชปกครองอยู่เช่นเดิม โดยต้องจัดส่ง"ส่วย"เป็นเครื่องราชบรรณาการต่อกรุงสุโขทัยอย่างสม่ำเสมอมิให้ขาดตอน "ส่วย"ซึ่งมีความสำคัญในสมัยนั้นจากนครศรีธรรมราชและภูเก็จก็คือ ดีบุก ที่สุโขทัยต้องการมากสำหรับการหล่อพระพุทธรูปและเทวรูปทองสัมฤทธิ์ ทองสัมฤทธิ์ที่ใช้หล่อพระพุทธรูปและเทวรูปต่างๆนั้นต้องใช้ดีบุกผสมกับทองแดงหรือทองคำ สุโขทัยสามารถชนะนครศรีธรรมราชก็เท่ากับว่าได้แหล่งดีบุกแหล่งใหญ่เข้าไว้ในอำนาจการสร้างศิลปะทางปฏิมากรรมด้วยทองสัมฤทธิ์จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วและอย่างมีคุณค่า
ผลจากการที่สุโขทัยเข้าปกครองภาคใต้ หรือศิริธรรมนครและเมืองบริวารในฐานะเมืองประเทศราช จากพ.ศ. 1823 - พ.ศ. 1921รวมเวลาประมาณ 98 ปี ทำให้ได้แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมระหว่างภาคใต้และภาคอื่นๆในอาณาจักรทำให้มีการผสมผสานกลมกลืนกัน เป็นพื้นฐานให้สามรถรวมกันเข้าเป็นอาณาจักรไทยในเวลาต่อมา ภูเก็จหรือเกาะถลางในสมัยนั้นเป็นที่รู้จักและสนใจของชาวไทย ตลอดจนชาวต่างชาติมากขึ้นด้วย ทำให้เกิดการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ทั้งในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และสังคมในเวลาต่อมา
สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวต่างประเทศในภูเก็ต และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ
[แก้]กรุงสุโขทัย มีอำนาจปกครองเหนือดินแดนนครศรีธรรมราช และหัวเมืองต่างๆทางคาบสมุทรมลายูเพียง 98 ปีก็สูญเสียเอกราชให้แก่อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อปีพ.ศ. 1921ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งกรุงศรีอยุธยา ภูเก็จได้ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ในสมัยอยุธยาชื่อภูเก็ต ยังมิได้ปรากฏขึ้นในทางราชการไทยมีแต่เพียงชื่อ เกาะถลาง เมืองถลางเท่านั้น แต่เอกสารหลักฐานบางฉบับเรียกว่า เกาะภูเก็ต เมืองภูเก็ต เกาะแห่งนี้ชาวต่างประเทศรู้จักกันในชื่อ จังซีลอน หรือ อุยังซาลอน ชาวต่างประเทศได้เดินทางเข้ามาในภูเก็ตมากในสมัยนี้ ส่วนมากจะเป็นการค้าขายสินค้าต่างๆแลกกับแร่ดับุกและของป่านานาประเภท รวมทั้งทรัพยากรทางทะเลเช่น อำพันทอง ไข่มุก เป็นต้น ชาวต่างประเทศพวกนั้นได้แก่
ชาวหมา
[แก้]ชาวจีน ชาวจีนได้เข้ามายังเกาะถลางเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าเข้ามาในยุคอาณาจักรตามพรลิงก์ ดินแดนคาบสมุทรมลายูเป็นศูนย์กลางของการติดต่อค้าชายระหว่างจีนและอินเดีย คนจีนอาจจะรู้จักถลางในสมัยนั้น และยังคงเดินทางแสวงโชคในการค้าขายกับชาวพื้นเมืองจนตกลงใจตั้งรกรากอยู่ที่เมืองนี้ เป็นชนวนให้ญาติมิตรทางจีนค่อยๆเดินทางมาสมทบเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ดังที่ เจรินีได้เขียนไว้ว่า เมื่อเมืองถลางสิ้นสุดเจ้าเมืองฝรั่งชาวยุโรปลงแล้ว ชาวจีนก็ได้เป็นเจ้าเมืองแทนในช่วง 30 ปี หลังจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตแล้วในพ.ศ. 2231 คือประมาณพ.ศ. 2261 เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่าคนจีนได้ร่วมทำการค้าแร่ดีบุกกับท้าวเทพกระษัตรีมีถึงกัปตันฟรานซิส ไลท์ ก็ระบุถีงชาวจีนที่คุมแร่ดีบุกจากถลางไปยังปีนัง
ชาวโปรตุเกส ชาวโปรตุเกสได้เข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2054 ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2ดังมีจดหมายเหตุของฝรั่งเศสที่ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2229 ที่ว่า"...แต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยมีนักพรตของศาสนามาอยู่ในเมืองนี้เลย เว้นแต่มิชชั่นนารี ชาวโปรตุเกสซึ่งได้เล่าเรียนในโรงเรียนของเราที่กรุงศรีอยุธยาคนเดียวเท่านั้น มิชชั่นนารีคนนี้ได้มาอยู่เมืองภูเก็ตได้ 3 ปีแล้วและได้กลับไปเย 15 ปีมาแล้ว..." แสดงว่ามีชาวโปรตุเกสในภูเก็ตเพียงคนเดียว แต่เชื้อสายของชาวโปรตุเกสยังคงมีอยู่ในเมืองถลาง ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2แห่งกรุงศรีอยุธยาพ.ศ. 2054 จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์พ.ศ. 2452 ผสมกลมกลืนจนกลายเป็นคนไทยในที่สุด
ชาวฮอลันดา ประมาณ พ.ศ. 2146 ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บริษัท วี.โอ.ซี.ของชาวฮอลันดาได้เข้ามาสู่ประเทศไทย โดยมาตั้งสถานีการค้าที่เมืองปัตตานีก่อนแล้วส่งทูตไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในพ.ศ. 2147 เป็นผลให้ได้เปิดสถานีการค้าขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ไทรบุรี และภูเก็ต (ถลาง) สินค้าที่ชาวฮอลันดาต้องการ ได้แก่ ไม้ฝาง หนังสัตว์ ขี้ผึ้ง น้ำตาล รังนก ไม้กฤษณา และดีบุก
การซื้อแร่ดีบุกของชาวฮอลันดาในภูเก็ตครั้งนั้น เป็นไปอย่างขาดความเป็นธรรม จึงถูกชาวภูเก็ตและชาวมลายูทำการต่อต้านโดยเผาสถานีสินค้าและฆ่าฟันชาวฮอลันดาตายหมดสิ้น เป็นผลให้ชาวฮอลันดาต้องออกจากเกาะภูเก็ตไป
ชาวอังกฤษ ชาวอังกฤษได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ. 2160 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏว่าได้มาทำการค้าที่เมืองถลางแต่ประการใด คงทำการค้าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากถูกกีดกันจากชาวญี่ปุ่นและชาวฮอลันดา ประกอบกับเจ้าหน้าที่ในบริษัทการค้าของอังกฤษที่กรุงศรีอยุทธยาทุจริตต่อบริษัทจนทำให้ขาดทุนอย่างมากจึงต้องล้มเลิกไปเมื่อพ.ศ. 2165
อังกฤษกลับเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่งในพ.ศ. 2227 แต่อังกฤษก็ไม่ได้เข้ามาซื้อขายแร่ดีบุกในเกาะถลาง เนื่องจากเกาะถลางมีเจ้าเมืองเป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ เรเน ชาร์บอนโน (Rene Charbonneau) ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้เป็นเจ้าเมืองถลางตั้งแต่พ.ศ. 2224 การค้าแร่ดีบุกบนเกาะถลาง จึงอยู่ภายใต้ฝรั่งเศส อังกฤษได้รับอนุญาตให้ชื้อแร่ดีบุกที่เมืองไชยา ชุมพร และพัทลุง
อังกฤษกลับมามีบทบาทสำคัญในเมืองถลางอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกัปตันฟรานซิส ไลต์ได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าขึ้นที่บ้านท่าเรือในสมัยกรุงธนบุรีคือเมื่อพ.ศ. 2315 ในช่วงที่เมืองถลางรู้จักกันอย่างแพร่หลายแล้ว
ชาวฝรั่งเศสชาวฝรั่งเศสเข้ามาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ. 2216 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นผลให้กรุงศรีอยุธยาแต่งตั้งชาวฝรั่งเศสชื่อ เรเน ชาร์บอนโน (Rene Charbonneau) มาเป็นเจ้าเมืองถลางระหว่างพ.ศ. 2224 - พ.ศ. 2228 และแต่งตั้ง มองซิเออร์ บิลลี่ (Sieur de Billi) เป็นเจ้าเมืองต่อจากชาร์บอนโนจนสิ้นสุดรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ครั้นสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ กรุงศรีอยุธยาได้เป็นปริปักษ์ต่อฝรั่งเศสอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้นายทหารฝรั่งเศสชื่อ นายพลเดฟาสจ์ (Desfarges) นำกำลังเรือรบจำนวน 4 ลำ มายึดเกาะถลางระหว่างพ.ศ. 2231 - พ.ศ. 2232 ปรากฏรายละเอียด อยู่ในเอกสารทั้งจดหมายเหตุฝ่ายฝรั่งและฝ่ายไทย
เหตุการณ์สำคัญในภูเก็ต สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
[แก้]เจ้าเมืองถลางถูกประหารชีวิต
[แก้]เกิดขึ้นในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา มีเจ้าเมืองถลางคนหนึ่งชื่อ พระยาสุรินทราชา (จอมสุริน) เจ้าเมืองผู้นี้ตั้งเมืองอยู่ที่บ้านลี้พอนคือ บ้านลิพอนในปัจจุบัน พงศาวดารเมืองถลาง ในประชุมพงศาวดารหอสมุดแห่งชาติได้กล่าวถึงคำให้การของชาวถลางเมื่อ พ.ศ. 2384 ได้ให้ความย้อนหลังขึ้นไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายคือเหตุการณ์ครั้งนั้นคงเกิดขึ้นประมาณพ.ศ. 2233 หรือ พ.ศ. 2234 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระเพทราชาและทรงทำการปราบชาวฝรั่งเศสและผู้เอาใจฝรั่งเศสอย่างรุนแรง พงศาวดารเมืองกล่าวว่า"...ฝ่ายบ้านลี้พอนจอมสุรินคิดมิชอบ จะตั้งตัวเป็นใหญ่ มีตราออกมาให้จับจอมสุรินฆ่าเสีย เพราะเป็นโทษขบถต่อแผ่นดินสิ้นเชื้อผู้ดีเมืองถลางว่าง พระยาถลางคางเซ้ง ชาวกรุงออกมาเป็นเจ้าเมือง..."
เจรินี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ"เค้าเงื่อนประวัติศาสตร์ถลาง" (Historical Retrospect of Junkceylon Island) ว่า หลังจากฝรั่งเศสได้รับการแต่งตั้งจากกรุงศรีอยุธยา 2 คน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในระยะต่อมาก็ได้ชาวจีนได้รับการแต่งตั้งมาเป็นเจ้าเมืองถลาง เป็นข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็น พระยาถลางคางเซ้งในคำให้การของชาวถลางในพงศาวดารถลาง ราชทินนามน่าจะเป็นพระยาสุรินทราชาตามยศและตำแหน่งเดิม แต่ชาวบ้านนิยมเรียกระบุชื่อเพื่อมิให้สับสน
ชาวถลางปล้นเรืออังกฤษ
[แก้]เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศซึ่งราชการบ้านเมืองในกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอลง เนื่องจากการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างพระเจ้าเอกทัศกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร และมีการสงครามระหว่างพม่าเข้ามาติดพันอีกด้วย ความระส่ำระสายในแผ่นดินจึงเกิดไปทั่ว ตามจดหมายเหตุชาวฝรั่งเศสชื่อ มองซิเออร์ บรีโกต์เขียนถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2305 ความตอนหนึ่งว่า
“ | "...ตั้งแต่ครั้งสมัยก่อนๆมาพระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินเท่ากับกฎหมายในเมืองนี้ ครั้งมาบัดนี้เจ้านายผู้หญิงทุกองค์ก็มีอำนาขเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินและข้าราชการก็ต้องเปลี่ยนกันอยู่เสมอ แต่ก่อนๆมาผู้ที่มีความผิดฐานขบถฆ่าคนตายและเอาไฟเพาบ้านเรือนต้องรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิต แต่มาบัดนี้ความโลภของเจ้านายผู้หญิงได้เปลี่ยนการลงโทษความผิดชนิดนี้เพียงแต่ริบทรัพย์และทรัพย์ที่ริบไว้ได้ต้องตกเป็นสมบัติของเจ้าหญิงเหล่านี้ทั้งสิ้น ฝ่ายข้าราชการเห็นความโลภของเจ้านายผู้หญิงเป็นตัวอย่าง ก้หาหนทางที่จะหาประโยชน์บ้าง ถ้าผู้ใดเป็นถ้อยความแล้ว ข้าราชการเหล่านี้ก็คิดหาประโยชน์จากคู่ความให้ได้มากที่สุดที่จะเอาได้ การทำเช่นนี้ก็ปิดความหาให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบไม่ แต่ถ้าห่างพระเนตรพระกรรณออกไปแล้ว ข้าราชการเหล่านี้ก็ลักขโมยอย่างไม่กลัวทีเดียว เมื่อปีกลายนี้ข้าราชการที่เมืองภูเก็ตได้ปล้นเรืออังกฤษลำหนึ่งซึ่งได้หนีจากเมืองเบงกอลมาพักที่ภูเก็ตเพื่อหนีท่านเค้าน์ เดซแตง เมื่อปีนี้พวกข้าราชการเมืองภูเก็ตได้แนะนำให้เรืออังกฤษลำหนึ่ง เข้าไปซ่อมแซมเรือที่ฝั่งเมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) ใกล้เมืองโตยอง (Teyon) ซึ่งเป็นเมืองที่เข้ารีตมากที่สุดในแถบเกาะภูเก็ตนี้ ครั้นเรืออังกฤษได้ไปทอดที่เมืองแตร์แฟม พวกไทยและมลายูกับข้าราชการได้รู้กัน จึงได้ฟันแทงพวกอังกฤษและขึ้นปล้นเรือเก็บสินค้าในเรือไปจนหมดสิ้น ฝ่ายข้าราชการเมืองภูเก็ตได้ใส่ร้ายผู้เข้ารีตในเมืองโตยองเป็นคนปล้นและทำร้ายเรืออังกฤษ ลงท้ายสุดพวกเข้ารีตเหล่านี้พลอยฉิบหายไปเปล่าๆ ยังมีบาทหลวงคณะฟรังซิซแกลเป็นชาติโปรตุเกสคนหนึ่งได้ตายด้วยความตรอมใจและถูกทรมาน เพราะเจ้าพนักงานเมืองภูเก็ตได้จับบาทหลวงคนนี้ขังไว้ในระหว่างพิจารณาความเกือบเดือนหนึ่ง" | ” |
เมืองแตร์แฟม (Terre Ferme) ในจดหมายฉบับนี้ เป็นภาษาฝรั่งเศสและแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า dry land, mainland, solid ground ซึ่งสัณนิฐานว่า น่าจะเป็นบ้านดอน หรือไม่ก็เป็นตัวเมืองภูเก็ตในปัจจุบัน เพราะมีคลองสายใหญ่และลึกพอที่จะให้เรือเทียบท่าได้ เมืองภูเก็ตในฉบับนี้คือเมืองถลางทั้งหมด ส่วนเมืองโตยอง (Teyon) สันนิษฐานว่าคือ"บ้านตลาดนั่งยอง" ตำบลฉลองในปัจจุบัน ซึ่งสมัยก่อนมีคลองใหญ่และลึกเช่นเดียวกับบ้านท่าแครง
ตระกูลของท้าวเทพกระษัตรี (ปลายอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา)
[แก้]ท้าวเทพกระษัตรีเป็นบุตรีของจอมร้างบ้านเคียน เจ้าเมืองถลางในสมัยนั้น ซึ่งมีการเกี่ยวดองทางเครือญาติกับพระปลัด (หนู) เมืองนครศรีธรรมราช พงศาวดารได้กล่าวไว้ว่า เจ้าเมืองถลางจอมร้าง มีพี่ช่ยร่วมบิดาต่างมารดาอยู่คนหนึ่งชื่อ จอมเฒ่าบ้านดอน เป็นเจ้าเมืองถลางบ้านดอน สองพี่น้องมีความรักใคร่กลมเกลียวมาก จอมเฒ่ายังมีชื่อที่ชาวถลางเรียกขานไว้คือ จอมทองคำ จอม่ทองคำน่าจะเป็นชื่อจริงบเพราะมีบุตรชายชื่อ ทองพูน ได้เป็นพระยาถลางหลังจากเมืองถลางชนะศึกพม่า ปีพ.ศ. 2328 แล้ว
โดยประเพณีไทยโบราณนั้น เมื่อผู้ชายเข้าพิธีสมรส ก็จะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง หม่อมศรีภักดีภูธรบุตรจอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่งเมื่อเข้าพิธีสมรสกับคุณจัน (นามเดิมของท้าวเทพกระษัตรี) บุตรีจอมร้างบ้านตะเคียนเมืองถลาง จึงต้องมาอยู่บ้านของฝ่ายภรรยา ซึ่งเป็นการเหมาะสมเนื่องจากจะได้ช่วยราชการเมืองของจอมร้าง ในขณะที่สูงอายุ แต่มีเพียงบุตรีคนโตคือคุณจันเท่านั้นที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการปกครองบ้านเมืองเพราะบุตรชายคือ คุณอาดและคุณเรืองยังอยู่ในวัยเด็กมาก ไม่อาจช่วยงานราชการได้ แต่หม่อมศรีภักดีภูธรบุญน้อย พอมีบุตรกับคุณจันได้ 2 คนคือ คุณปรางบุตรีและคุณเทียน หม่อมศรีภักดีถึงแก่กรรม คุณจันจึงตกเป็นพุ่มหม้าย
ขณะนั้นกรุงศรีอยุธยากำลังระส่ำระสายด้วยการผลัดแผ่นดินจากสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นพระเจ้าอุทุมพร แล้วเปลี่ยนเป็นพระเจ้าเอกทัศและกลับเปลี่ยนเป็นพระเจ้าอุทุมพรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการสู้ศึกกับพม่า ซึ่งยกทัพเข้ามาโจมตีกรุงศรีอยุธยายืดเยื้อติดต่อกันนับตั้งแต่พ.ศ. 2301 จนถึงพ.ศ. 2310 อันเป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาล่มสลาย
ปัญหาในเมืองถลาง
[แก้]พระยาพิมลขัน เจ้าเมืองกระบุรี ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เพียงเป็นพระกระในครั้งนั้น หนีศึกพม่าลงมาเข้ากับเจ้านครศรีธรรมราชคนใหม่ เจ้านครฯจึงส่งให้มาช่วยราชการเมืองถลางแทนหม่อมศรีภักดีที่ถึงแก่อนิจกรรมลง โดยตอนนั้นคุณหญิงจันตกเป็นพุ่มหม้าย พระกระได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระยาพิมลอัยา (ขัน) และได้สมรสกับคุณหญิงจันในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2314)
เมื่อสิ้นบุญจอมร้างบ้านเคียน ก็เกิดปัญหาเรื่องมรดกในเมืองถลาง ว่าผู้ใดควรจะได้สืบทายาทความเป็นเจ้าเมืองต่อไป พระยาพิมลขันว่าที่สามีคุณหญิงจันซึ่งได้ช่วยราชการมานานพอควรและสูงด้วยวัยวุฒิ สมควรแก่เจ้าเมืองถลางในครั้งนั้น แต่เนื่องจากไม่ใช่ทายาทสายตรงของจอมร้าง ซึ่งมีบุตรชาย 2 คน และมีหลานชายคือ คุณเทียน ผู้มีสายสกุลของหม่อมศรีภักดี สายสกุลเมืองนคร คุณหญิงจันไม่ยอมให้มรดกเมืองถลางตกอยู่กับพระยาพิมลว่าที่สามีใหม่ เพราะเกรงข้อครหาที่ว่าหลงใหลว่าที่สามียิ่งกว่าน้องชายร่วมสายโลหิตเดียวกันคือ คุณอาด และคุณเรือง เป็นเหตุให้พระยาพิมลขันเกิดความน้อยใจจึงแยกตัวจากถลางไปยังนครศรีธรรมราชอีกครั้ง และได้ย้ายไปยังเมืองพัทลุง
คุณอาด บุตรจอมร้าง ผู้เป็นน้องชายของคุญหญิงจันก็ได้รับการยกย่องขึ้นเป็นเจ้าเมือง ชาวบ้านเรียกว่า"พระยาถลาง (อาด)" ส่วนน้องชายที่ชื่อเรือง ก็ได้เป็นพระพลจางวานด่าน (เรือง)ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าเมืองถลาง แต่ว่าราชการไม่นานถูกโจรยิงเสียชีวิต โจรสลัดแขกชาวไทรบุรีได้บุกเข้ายึดเมืองถลางไว้ระยะหนึ่งแต่ชาวถลางเชื้อสายไทยไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจแขกไทรบุรี จึงทำการส้องสุมกำลังไว้ที่บ้านสาคูและบ้านไม้ขาว และยึดเมืองคินมาได้สำเร็จภายในคืนเดียว ซึ่งเป็นคืนวันสารทของชาวถลาง มีการชุมนุม แห่กระจาดพืชพันธุ์ผลไม้ และอาหารแห้งไปทำบุญ โดยซ่อนอาวุธในกระจาดและภาพสัตว์ต่างๆ รวมกำลังกันจู่โจมที่พักเจ้าเมืองชาวไทรบุรี ฝ่ายแขกตั้งตัวไม่ทันจึงเร่งรีบลงเรือหนีไป การขับไล่แขกมลายูครั้งนี้ พระยายกบัตร (ชู) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในครั้งนี้ จึงได้รับแต่งตั้งจากเจ้านครศรีธรรมราชที่แข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาให้เป็นเจ้าเมืองถลาง ชื่อว่า"พระยาถลาง (ชู)"
สมัยกรุงธนบุรี
[แก้]เมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในปีพ.ศ. 2310 ก่อให้เกิดความแตกแยกกันขึ้นในระหว่างข้าราชการและขุนนาง ฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชนั้น เจ้าพระยานครพระยาไชยาธิเบศร์ก็ถูกเรียกตัวเข้าไปช่วยราชการงานศึกที่กรุงศรีอยุธยา แล้วถึงแก่อนิจกรรมไม่ได้กลับมาที่นครศรีธรรมราชอีก พระปลัด (หนู)จึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะประกาศอิสรภาพแก่นครศรีธรรมราช ซึ่งเคยเป็นเมืองอิสระแต่ครั้นโบราณกาล จึงตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2307 และได้เกลี้ยกล่อมหัวเมืองปักษ์ใต้ให้เข้าเป็นพวกด้วย
ต้นรัชสมัยธนบุรีและการค้นพบแหล่งแร่ดีบุก
[แก้]ครั้งล่วงปีพ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตีชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชได้ โปรดให้เจ้านราสุริยวงศ์มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในปีนั้นมีการเปลี่ยนเจ้าเมืองในเมืองบริวารของนครศรีธรรมราชหลายคน
การค้าแร่ดีบุกนั้น ปรากฏว่า ชาวอังกฤษชื่อ กัปตันฟรานซิส ไลท์ พ่อค้าในสังกัดบริษัทอินเดียตะวันออก ได้นำเรือกำปั่นแวะเวียนมาทำการค้าขายที่เมืองถลางตั้งแต่ปีพ.ศ. 2315 จนได้แต่งงานกับฆญิงสาวชาวถลางลูกครึ่งโปรตุเกสชื่อ มาร์ตินา โรเซลล์ กัปตันฟรานซิส ไลท์ได้สร้างที่พักอาศัยและสำนักงานที่บ้านท่าเรือ
ระหว่างปีพ.ศ. 2312 ถึง พ.ศ. 2314 พระยาพิมลขันถูกกุมตัวเอาตัวเข้าไปรับราชการที่ธนบุรี คุณหญิงจันตกพุ่มหม้ายอยู่ที่เมืองถลางในฐานะสามัญชน พร้อมด้วยน้องสาวชื่อ มุก ลูกสาวคนโตชื่อ ปราง และบุตรชายคนโตชื่อ เทียน ต้องพยายามกอบกู้ชื่อเสียงฐานะที่เคยรุ่งเรืองแล้วกลับถดถอยลง ด้วยการค้าดีบุกกับชาวต่างชาติ โดยผ่านเจ้าเมืองถลาง
เมื่อปีพ.ศ. 2314 - พ.ศ. 2315 กับตันฟรานซิส ไลท์ ได้เข้าไปขอพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อตั้งสำนักงานผูกขาดแร่ดีบุกเมืองถลางที่บ้านท่าเรือ ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาต เนื่องจากพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูฐานะเมืองไทยหลังสงคราม ซึ่งประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง การค้าแร่ดีบุกจึงเป็นหนทางช่วยเหลืออันมีประโยชน์อย่างแท้จริงทางหนึ่ง ฝ่ายพระยาพิมลนั้น ขณะรับราชการทรงเป็นผู้จงรักภักดีทำให้พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไว้วาวพระทัยมาก จึงโปรดให้พระยาพิมลขันออกมากำกับดูแลการค้าแร่ระหว่างเมืองถลางกับกัปตันฟรานซิส ไลท์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2314 สืบมาจนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองถลาง ในปีพ.ศ. 2319 จึงได้กลับมายังถลางใช้ชีวิตร่วมกับคุณหญิงจันและมีบุตรด้วยกัน เป็นบุตรหญิงชื่อ ทอง ซึ่งต่อมาได้นำเข้าไปถวายตัวในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อพ.ศ. 2330 โปรดสถาปนาเป็นเจ้าจอมมารดาทอง ประสูติพระธิดาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอุบล เมื่อพ.ศ. 2334
ระหว่างที่คุณหญิงจันและครอบครัสทำการค้าที่เมืองถลางนั้น คุณเทียน ผู้เป็นบุตรได้ค้นพบแหล่งดีบุกขนาดใหญ่ในบริเวญป่าดงดิบอันอุดมด้วยแม่น้ำลำธาร บริเวณนี้อยู่ที่ บ้านตะปำ (สะปำ) พระยาพิมลขันเห็นว่าเป็น ผลประโยชน์แก่แผ่นดินอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตามประเพณี ส่งผลให้คุณเทียนได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าเมืองภูเก็จ มีราชทินนามว่า เมืองภูเก็ต ส่วนคุณหญิงจันเมื่อบุตรทำความดีความชอบ จึงได้รับการเลื่อนขึ้นเป็น ท่านผู้หญิงจัน
บรรดาศักดิ์และการค้าดีบุก
[แก้]ครั้นล่วงถึงปี พ.ศ. 2319 เจ้านราสุริยวงศ์ ผู้ครองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเห็นว่าเจ้านครที่ถูกนำตัวไปธนบุรีประพฤติดีตลอดด้วยความจงรักภัคดี พระองค์จึงสถาปนาเจ้านครขึ้นเป็นเจ้าประเทศราชครองเมืองนครศรีธรรมราช โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาบดี ออกมาพระราชทานมอบเมืองให้เจ้านคร เสร็จแล้วโปรดให้อยู่ชำระว่ากล่าวเร่งรัดส่วยอากรในเมืองนครและทั่วแคว้น
เจ้พระยาอินทวงศา มาตั้งวังอยู่ที่ปากพระฝั่งเมืองตะกั่วทุ่ง เพื่ออดูแลเร่งรัดภาษีดีบุก อันเป็นภาษีสำคัญของหัวเมืองฝั่งตะวันตก พระยาพิมลขันซึ่งเคยภักดีต่อเจ้านครแต่เดิม ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ใหม่ตามตำแหน่งเจ้าเมืองถลางว่า "พระยาสุรินทราชา (พระยาพิมลขัน) " ในการกลับมาของพระยาสุรินทราชา (พระยาพิมลขัน) นั้น ได้แต่งตั้งกรมการเมืองถลางขึ้นใหม่หลายคนและมีตำแหน่ง "พระยาทุกขราช" หรือตำแหน่งที่ปรึกษาหรือปลัดเมือง ในสมัยนั้นคือ พระยาทุกขราช (ทองพูน) บุตรจอมเฒ่าผู้มีอำนาจเสมอเมืองถลางที่บ้านดอน พระยาทุกขราช (ทองพูน) เป็นปลัดเมืองถลางอยู่ระหว่างพ.ศ. 2319 จนถึง พ.ศ. 2327 ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพระยาฦๅราชนิกูลธรรมไตรโลก ข้าหลวงผู้มีอำนาจสำเร็จราชการหัวเมืองฝั่งตะวันตกในสมัยรัตนโกสินทร์ ให้ขึ้นเป็น ผู้ว่าราชการเมืองถลางแทนพระยาสุรินทราชา (พระยาพิมลขัน) ซึ่งถูกถอนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
เมืองถลางปีพ.ศ. 2320 ถึง พ.ศ. 2325 มีการค้าขายดีบุกเป็นอันมาก การซื้อหาอาวุธปืนจากต่างประเทศ โดยใช้ดีบุกเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
[แก้]กบฏอั้งยี่
[แก้]1 มูลเหตุที่ผลักดันให้กรรมกรจีนก่อการกบฏขึ้นที่เมืองภูเก็ตเมื่อปี พ.ศ. 2419 นั้นมีอยู่หลายประการเช่น ราคาดีบุกตกต่ำ นโยบายการคลังที่ตึงตัวของรัฐบาล ราคาประมูลภาษีอากรสูงเกินไปและ กรรมกรจีนไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- ประสิทธิ ชิณการณ์, ถลาง ภูเก็ต และภูเก็ต, ISBN 974-92938-7-8