ข้ามไปเนื้อหา

ฟรานซิส ไลต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ฟรานซิส ไลท์)
ฟรานซิส ไลต์
เกิดค.ศ. 1740
ดอลลิงฮู ซัฟฟอล์ก ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่
เสียชีวิต21 ตุลาคม ค.ศ. 1794 (53–54 ปี)[1]
ปีนัง บริติชมาลายา
อาชีพเจ้าหน้าที่รัฐอาณานิคม
มีชื่อเสียงจากนำพาปีนังสู่ความเป็นสมัยใหม่
ญาติบุตร: วิลเลียม ไลต์

กัปตันฟรานซิส ไลต์ (อังกฤษ: Francis Light; ป. ค.ศ. 1740–21 ตุลาคม ค.ศ. 1794) เป็นนักสำรวจชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งอาณานิคมอังกฤษบนเกาะปีนัง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศมาเลเซีย) และเมืองหลวงจอร์จทาวน์ขึ้นในปี ค.ศ. 1786 ส่วนวิลเลียม ไลต์ บุตรของเขา เป็นผู้ก่อตั้งเมืองแอดิเลดในออสเตรเลีย

ไลต์เสียชีวิตจากมาลาเรียเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1794[1]

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

ไลต์รับศีลจุ่มในดอลลิงฮู ซัฟฟอล์ก ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1740 มารดาของเขาคือแมรี ไลต์ ญาติซึ่งเป็นขุนนางชื่อวิลเลียม นีกัส (William Negus) รับเขาไปเลี้ยง ไลต์เข้าเรียนในโรงเรียนแกรมมาร์วูดบริดจ์[2] ในปี ค.ศ. 1747[3]

อาชีพการงาน

[แก้]

ถลาง ประเทศสยาม

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1765 เขาออกเดินทางมากับเรือ ไคลฟ์ ของบริษัทอินเดียตะวันออก[3] ซึ่งมีกัปตันเรือคือจอห์น แอลเลน (John Allen)[4] มุ่งหน้าบอมเบย์และมัทราส เมื่อเดินทางถึงอินเดีย เขาได้รับความไว้วางใจให้นำเรือของบริษัทค้าขาย Jourdain, Sulivan & Desouza จากมัทราส[3] ชื่อเรือ สปีดเวลล์ เพื่อออกเดินทางไปสยาม เขาเดินทางและค้าขายไปมาระหว่างถลางในสยาม (ปัจจุบันคือภูเก็ต), อาเจะฮ์ (ปัจจุบันอยู่ในอินโดนีเซีย) และคาบสมุทรมลายู โดยมีถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งอยู่ที่ถลาง ที่นั่นเขาพบกับสตรีชื่อว่ามาร์ทีนา รอเซลส์ (Martina Rozells) ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้งสถานีการค้าแห่งหนึ่งขึ้นในกัวลาเกอดะฮ์[5] ไม่นานนับจากนั้น เขามีอิทธิพลอย่างมากและได้รับความไว้วางใจจากสุลต่านแห่งไทรบุรี[3]

เขาตั้งรกรากในถลางและอาศัยอยู่เป็นเวลานับสิบปี เขาได้เรียนรู้ภาษาท้องถิ่นทั้งภาษามลายูและภาษาไทย รวมถึงในเวลาต่อมายังเป็นมิตรสหายกับคุณหญิงจัน คุณมุก และเจ้าเมืองถลาง ต่อมาในปี ค.ศ. 1785 เขาได้เตือนชนชั้นปกครองของถลางว่าเกาะอาจถูกพม่าบุกโจมตีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำเตือนของไลต์ทำให้ชาวถลางซึ่งนำโดยท่านผู้หญิงจันและท่านผู้หญิงมุกเตรียมความพร้อมต่อการสู้รบ และชนะข้าศึกพม่าได้สำเร็จ[6] ในปี ค.ศ. 1785 หลังเจ้าเมืองถลางถึงแก่กรรม ภรรยาหม้ายของเขาและญาติได้เสนอให้ไลต์ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองถลางคนต่อไป อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กษัตริย์แห่งสยามในเวลานั้น ทรงปฏิเสธข้อเสนอนี้[7]

ปีนัง

[แก้]

ไลต์เริ่มสนใจเกาะปีนังตั้งแต่ปี ค.ศ. 1771 เขาเคยเสนอแนวคิดอาณานิคมอังกฤษในแถบนี้แก่วอร์เรน เฮสติงส์ ผู้ว่าการอินเดียของบริษัทอินเดียตะวันออก เขายังเสนอว่าเกาะปีนังสามารถเป็น "คลังอาวุธ [en]สำคัญของการค้าขายในตะวันออก" กระนั้นแนวคิดของเขาไม่ได้รับความสนใจ[8] ในปี ค.ศ. 1776–1777 ไลต์เป็นผู้จัดการการขนส่งอาวุธปืนชุดใหญ่ให้แก่อาณาจักรธนบุรีซึ่งนำโดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช[9]

ในปี ค.ศ. 1786 ไลต์ในฐานะผู้แทนบริษัทอินเดียตะวันออกได้เช่าเกาะปีนังจากสุลต่านอับดุลเลาะห์ มูคาร์ราม ชาห์ ด้วยมูลค่า 6,000 ดอลลาร์สเปนต่อปี[10] ในสมัยการปกครองของผู้สำเร็จราชการเซอร์จอห์น แม็กเฟอร์สัน ไลต์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการหรือที่ชาวมลายูเรียก เทวราชา (Dewa Raja) ประจำอาณานิคมปีนังในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1786 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองของอังกฤษเหนือรัฐมลายู[5] ไลต์เริ่มการหักร้างถางพงเพื่อก่อตั้งเมืองจอร์จทาวน์ขึ้นใหม่ เขาตั้งชื่อเมืองนี้ตามพระนามของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ต่อมามีเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกสองลำมาจอดบนฝั่งจอร์จทาวน์ ไลต์ถือโอกาสนี้ชักชวนลูกเรือมาร่วมพิธีการที่จัดขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1786 เพื่อประกาศอาณานิคมแห่งใหม่ให้แก่เจ้าชายแห่งเวลส์ ในคืนวันก่อนวันพระราชสมภพของเจ้าชายแห่งเวลส์[11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Bastin, John; Stubbs Brown, M. (พฤษภาคม 1959). "Historical Sketch of Penang in 1794". Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society. Royal Asiatic Society of Great Britain and Ireland. 32 (1 (185)): 21–22. JSTOR 41503147. Light died on 21 October 1794, and was succeeded as Superintendent of Penang by Phillip Mannington...succeeded by Thomas Pegou as Acting-Superintendent on 30 November 1795 (footnote 31) See page-url.
  2. Steuart 1901, p. 4.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "Light, Francis (The Light Letters)". AIM25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 มีนาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2019. Part of The Malay Documents now held by School of Oriental and African Studies.
  4. "British Merchant east indiaman 'Clive' (1762)". Three Decks. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2019.
  5. 5.0 5.1 Khoo, Salma Nasution (2007). Streets of George Town, Penang (4th ed.). Areca Books. pp. 88, 112. ISBN 978-98-398-8600-9. Full text at archive.org.
  6. Simmonds 1965, p. 217–222.
  7. Steuart 1901, p. 9.
  8. Steuart 1901, p. 7.
  9. Wade, Geoff (2014). Asian Expansions: The Historical Experiences of Polity Expansion in Asia. Routledge Studies in the Early History of Asia. Routledge. p. 175. ISBN 978-1-135-04353-7. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2019.
  10. Steuart 1901, p. 13-25.
  11. Steuart 1901, p. 13–25.

บรรณานุกรม

[แก้]

อ่านเพิ่ม

[แก้]

ออนไลน์

[แก้]