หมู่บ้านคุ้งตะเภา
หมู่บ้านคุ้งตะเภา Ban Khung Taphao | |
---|---|
หมู่บ้าน | |
ป้ายหมู่บ้านคุ้งตะเภา ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2535 | |
พิกัด: 17°39′24.44″N 100°8′54.56″E / 17.6567889°N 100.1484889°E | |
ตำบล | คุ้งตะเภา |
อำเภอ | เมืองอุตรดิตถ์ |
จังหวัด | อุตรดิตถ์ |
ประเทศ | ไทย |
การปกครอง | |
• ผู้ใหญ่บ้าน | สมชาย สำเภาทอง[1] |
พื้นที่(2,657 ไร่)[2] | |
• ทั้งหมด | 0.6928 ตร.กม. (0.2675 ตร.ไมล์) |
• พื้นที่ทั้งหมด | 4.2512 ตร.กม. (1.6414 ตร.ไมล์) |
ความสูง | 62 เมตร (203 ฟุต) |
ประชากร | |
• ทั้งหมด | 1,436 คน |
• ความหนาแน่น | 59.22 คน/ตร.กม. (153.4 คน/ตร.ไมล์) |
437 ครัวเรือน[3] | |
รหัสไปรษณีย์ | 53000 |
เว็บไซต์ | www.watkungtaphao.ob.tc |
หมู่บ้านคุ้งตะเภา หรือ บ้านคุ้งตะเภา เดิมชื่อว่า "ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา"[4] เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ นับเป็นหมู่บ้านในแถบลุ่มแม่น้ำน่านฝั่งขวาตอนบนที่เคยอยู่ในการปกครองของหัวเมืองพิชัยที่เก่าแก่ที่สุดหมู่บ้านหนึ่ง
หมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นชุมชนคนไทยดั้งเดิมที่ตั้งอยู่ปลายเหนือสุดของวัฒนธรรมที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบน ตัวหมู่บ้านอยู่ติดริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสองระดับ โดยพื้นที่ติดริมแม่น้ำน่านจะเป็นที่ระดับต่ำมีชั้นลดจากที่ราบปกติ เดิมตัวหมู่บ้านตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มชั้นลดดินตะกอนแม่น้ำพัดดังกล่าว แต่ในปัจจุบันบ้านเรือนส่วนใหญ่ได้ย้ายขึ้นมาตั้งอยู่บนที่ราบภาคกลางริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 โดยพื้นที่เกษตรกรรมของหมู่บ้านส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ทิศตะวันออกของหมู่บ้านและที่ราบลุ่มตะกอนแม่น้ำพัดริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกของหมู่บ้าน
ชาวบ้านคุ้งตะเภาในปัจจุบันส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท มีวัฒนธรรมคล้ายกับหมู่บ้านชนบททั่วไปในแถบภาคกลางตอนบน โดยมีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง สถานีอนามัย 1 แห่ง และ โรงเรียนระดับพื้นฐาน 1 โรง เส้นทางคมนาคมหลักคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ สมชาย สำเภาทองเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน
นิรุกติศาสตร์
[แก้]ดูเพิ่มได้ที่ ความเป็นมาของชื่อคุ้งตะเภา
คุ้งตะเภา มีความหมายว่า "คุ้งเรือสำเภา" มาจากศัพท์คำว่า "คุ้ง" หมายถึง ส่วนเว้าโค้งเข้าไปของฝั่งน้ำด้านที่ตรงกันข้ามกับหัวแหลม[5] และ "ตะเภา" แผลงมาจากศัพท์เดิม คือ "สำเภา" ที่ตั้งของหมู่บ้านในอดีตนั้นอยู่ติดริมแม่น้ำน่านและอยู่ใกล้กับชุมนุมการค้าที่สำคัญของภาคเหนือที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือ ตำบลท่าเสา โดยในอดีตมีการส่งสินค้าทางเรือขึ้นเหนือไปถึงหลวงพระบางซึ่งในฤดูฝนนั้นแม่น้ำมีน้ำหลากทำให้เรือขนาดใหญ่ได้ ความเป็นมาชื่อคุ้งตะเภา มีที่มาจากคำบอกเล่าที่กล่าวกันมาว่า เคยมีเรือสำเภาล่ม บริเวณโค้งแม่น้ำน่านหน้าวัด (วัดคุ้งตะเภาปัจจุบัน) ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า โค้งสำเภาล่ม ซึ่งต่อมาเพี้ยนเป็น คุ้งสำเภา มาตลอดสมัยอยุธยาตอนปลาย[6]
ทั้งนี้ปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ของเรือลำดังกล่าวหลงเหลืออยู่ ข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์พบความเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของพื้นที่ภาคกลางชายฝั่งยื่นออกไปเป็นพื้นที่ภาคกลางตอนล่างในปัจจุบัน[7] ทำให้เรือสำเภานั้นไม่สามารถเแล่นเข้ามาสู่แผ่นดินตอนในเกินกว่าเมืองอยุธยาได้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว[8]] อย่างไรก็ตามบาทหลวงปาลกัว มุขนายกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กล่าวอ้างอิงถึงตำนานโบราณของสยามตอนหนึ่งว่าในสมัยสุโขทัย เรือสำเภาจีนเดินทะเลสามารถขึ้นมาได้ถึงเมืองสวรรคโลก (สังคโลก)[8] ทำให้ตำนานเรือสำเภาล่มอาจหมายถึงเรือสำเภาในสมัยสุโขทัยก็เป็นได้[9]
ต่อมา เมื่อปีขาล โทศก จุลศักราช 1132 ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์เสด็จมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี และประทับชำระคณะสงฆ์จัดการหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ตลอดฤดูน้ำ[10] พระองค์ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้คนในแถบคุ้งสำเภาที่อพยพลี้ภัยสงคราม ได้ย้ายกลับมาตั้งครัวเรือนเหมือนดังเดิม ทรงสร้างวัดและศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ ณ ริมคุ้งสำเภาล่ม พร้อมทั้งตรัสเรียกชื่อวัดที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า "วัดคุ้งตะเภา"[11][12][13] ปัจจุบันทางราชการได้นำชื่อวัดคุ้งตะเภาไปใช้ตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านและชื่อตำบลคุ้งตะเภาสืบมาจนปัจจุบัน
จากข้อมูลคำประพันธ์ในขุนช้างขุนแผน พบหลักฐานว่า คนทั่วไปยอมรับนามวัด ที่ได้รับพระราชทานเมื่อคราวตั้งวัดคุ้งตะเภา มาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว[9]
นอกจากนี้ ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภาหรือทุ่งบ้านคุ้งตะเภาในอดีต ยังได้ถูกใช้เป็นชื่อเรียกครอบคลุมเขตย่านตำบลแถบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกมาตั้งแต่โบราณ เพราะในแถบย่านแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกด้านตรงข้ามกับตำบลท่าเสาในสมัยก่อนยังไม่มีหมู่บ้านใดตั้งขึ้น คนทั่วไปจึงได้ใช้ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภาเรียกขานย่านบริเวณตำบลแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกว่า ตำบลคุ้งตะเภา มาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการเรียกแถบตำบลนี้ว่า "ตำบลคุ้งตะเภา" มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยในสมัยนั้นหมู่บ้านคุ้งตะเภา เรียกว่า "ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา" อยู่ในเขตการปกครองของ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภออุตรดิฐ แขวงเมืองพิชัย มณฑลพิษณุโลก[14][15]
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
[แก้]บริบท
[แก้]หมู่บ้านคุ้งตะเภาในอดีตเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ราบลุ่มอันเกิดจากดินตะกอนแม่น้ำพัดของแม่น้ำน่าน ปรากฏหลักฐานบริเวณรอบหมู่บ้านคุ้งตะเภาที่แสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวและการตั้งถิ่นฐานของแหล่งชุมชนมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่า 2,000 ปี ดังการค้นพบเครื่องมือหินขัดและซากกระดูกมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านบุ่งวังงิ้วซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน และการค้นพบกลองมโหระทึกสำริดที่บ้านท่าเสาซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านคุ้งตะเภาในปี พ.ศ. 2470[a][18]
หมู่บ้านตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ในทำเลเส้นทางคมนาคมสำคัญตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์[19][20] มายุคจักรวรรดิเขมรปรากฏหลักฐานว่าแถบตำบลท่าเสา-ท่าอิฐเป็นแหล่งชุมชนการค้าที่สำคัญแล้ว[21] จนมาในสมัยสุโขทัย ได้มีการการปรากฏขึ้นของเมืองฝางอันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในสมัยสุโขทัยที่มีที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือน้ำของหมู่บ้านคุ้งตะเภา[22] ทำให้แถบโดยรอบของคุ้งตะเภามีความสำคัญเพิ่มขึ้นในฐานะทางผ่านและจุดเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์[17]
การตั้งถิ่นฐาน
[แก้]การตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษชาวบ้านคุ้งตะเภาปัจจุบันนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด อย่างไรก็ตาม จากบริบทด้านชาติพันธุ์และสำเนียงภาษา จึงสามารถสันนิษฐานได้ชัดเจนว่าพื้นเพของคนคุ้งตะเภานั้นเป็น "คนไทยเหนือ" ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา[23] คือเป็นกลุ่มคนชาติพันธุ์ไทยเดิมที่อยู่แถบเมืองพิษณุโลก, พิจิตร และสุโขทัย อันเป็นรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมภาคกลางและวัฒนธรรมล้านนาที่อยู่เหนือขึ้นไป พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำกรมศิลปากร สันนิษฐานว่าสำเนียงคนคุ้งตะเภานั้น เป็นสำเนียงดั้งเดิมของคนไทยที่อยู่มาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย[24] โดยกล่าวว่าคนบ้านคุ้งตะเภานั้น
"มีสำเนียงพูดเหน่อ... แบบเดียวกับสำเนียงชาวบ้านฝาง บ้านท่าอิฐ บ้านทุ่งยั้ง ..บ้านท่าเสา.. และหมู่บ้านในเขตอำเภอพิชัย ที่อยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน และเหมือนกับสำเนียงพื้นบ้านของชาวสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร อันเป็นกลุ่มหัวเมืองเหนือในสมัยอยุธยา หรือบ้านเมืองที่เคยอยู่ในเขตแคว้นของสุโขทัยแต่เดิม"
— พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ประจำกรมศิลปากร[25]
ตำนานหมู่บ้านและประเพณีมุขปาฐะมีว่ากลุ่มคนที่มาตั้งหมู่บ้านกลุ่มแรกเป็นทหารจากเมืองสุโขทัยที่เดินเท้าไปรบทางลาวหลวงพระบางหรือล้านนา เมื่อผ่านมาเห็นบริเวณนี้เป็นที่อุดมสมบูรณ์ไม่มีเจ้าของ หลังเสร็จศึกจึงชวนกันมาตั้งหลักแหล่ง[26] ตำนานดังกล่าวมีโครงความจริง เพราะหมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้จุดเคลื่อนและแวะพักทัพสำคัญในสงครามระหว่างลาวกับไทยในสมัยโบราณ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสงครามซึ่งผู้บุกเบิกคุ้งตะเภาจะไปทำศึกนั้นหมายถึงสงครามใด แต่เมื่อพิจารณาจากพระราชพงศาวดารที่ระบุสงครามระหว่างไทยกับหลวงพระบางหรือล้านนาครั้งล่าสุด พบว่าเป็นคราวที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพขึ้นเหนือจะไปชิงเชียงใหม่จากพม่าช่วงปี พ.ศ. 2313–2314[27] แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะหมู่บ้านคงตั้งมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
และจากการศึกษาข้อมูลและเทียบเคียงสำเนียงการพูดของภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา และภาษาถิ่นบ้านพระฝาง พบคำศัพท์ใกล้เคียงกันมากที่สุดกว่าสำเนียงสุโขทัยแบบอื่น จึงมีข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งว่า ชาวบ้านคุ้งตะเภาอาจสืบเชื้อสายมาจากครัวเรือนที่พระมหากษัตริย์สุโขทัยพระราชทานพระบรมราชูทิศไว้เพื่อให้เป็นผู้ดูแลรักษาพระทันตธาตุแห่งพระมหาธาตุพระฝาง เมืองสวางคบุรี[28]
พัฒนาการของหมู่บ้าน
[แก้]การสร้างและขยายหมู่บ้าน
[แก้]หมู่บ้านคุ้งตะเภามีหลักฐานชุมชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 23 บริเวณแถบหมู่บ้านคุ้งตะเภาจึงเป็นบริเวณที่มีความเจริญมาช้านานแล้ว[29] แต่คงไม่มีหลักฐานชัดเจนปรากฏความมีตัวตนของหมู่บ้านคุ้งตะเภาในเอกสารอื่นใดในสมัยอยุธยา ตั้งแต่สมัยอยุธยา หมู่บ้านมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับหมู่บ้านเก่าแก่ใกล้เคียงคือหมู่บ้านท่าเสา ท่าอิฐ บางโพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทยสำเนียงกลุ่มเมืองในแคว้นสุโขทัย โดยคนคุ้งตะเภามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหมู่บ้านท่าเสามากที่สุด เพราะอยู่ตรงข้ามคนละฝั่งแม่น้ำน่าน และชาวบ้านมีบรรพบุรุษหรือมีความเชื่อมโยงกับคนในบ้านท่าเสา คนในรุ่นปัจจุบันหลายคนเมื่อสืบสายสกุลลงไปก็มีความเกี่ยวข้องกับคนบ้านท่าเสา
ในช่วงสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาคงได้อพยพลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีความปลอดภัยกว่า ดังปรากฏหลักฐานในพงศาวดารว่ามีชุมนุมเจ้าพระฝางอยู่ที่เมืองฝางเหนือขึ้นไป และอาจมีชาวบ้านเข้าไปหลบภัยอยู่ในเมืองฝางด้วย จวบจนสิ้นชุมนุมเจ้าพระฝางใน พ.ศ. 2313 ชาวคุ้งตะเภาบางส่วนก็ได้กลับเข้ามาบูรณะและอาศัยในถิ่นฐานเดิม ดังปรากฏหลักฐานว่าทางการได้อนุญาตให้ชาวคุ้งตะเภาสามารถตั้งวัดคุ้งตะเภาได้ในปีเดียวกัน ทั้งนี้ ชาวคุ้งตะเภาคงถูกเกณฑ์ไปรบพุ่งกับพม่าอีกตลอดช่วงกรุงธนบุรีจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่แถบนี้ในช่วงนั้นก็คงมีความสงบพอสมควร เพราะแถบนี้ไม่เคยเป็นทางผ่านและสมรภูมิ ใน พ.ศ. 2395 พงสาวดารว่ามีคนคุ้งตะเภาย้ายออกจากหมู่บ้านไปยังพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อแสวงหาที่ทำกินและตั้งบ้านเรือนใหม่จนกลายมาเป็นหมู่บ้านป่าขนุนปัจจุบัน[30]
อิทธิพลตะวันตก
[แก้]ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงในเมืองอุตรดิตถ์จากอิทธิพลตะวันตก ชาวบ้านคุ้งตะเภาก็มีการเปลี่ยนจากสร้างเรือนไม้เป็นรูปแบบตามสมัยนิยมมากขึ้น ดังรูปแบบอาคารบ้านขุนพิเนตรจีนภักดิ์ ที่เป็นเรือนไม้หลังคาแบบทรงตะวันตกมุงกระเบื้องว่าวสถาปัตยกรรมแบบ ARCH ของโรมัน ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5[31] โดยอิทธิพลรูปแบบบ้านตะวันตกดังกล่าวได้กลายเป็นที่นิยมแพร่หลายในช่วงกว่าร้อยปีก่อนcล้ว และทำให้ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นพยายามเปลี่ยนรูปแบบบ้านทรงไทยภาคกลางแบบมาเป็นรูปแบบใหม่จนเกือบหมด บ้านทรงไทยภาคกลางแบบโบราณเดิมหลังสุดท้ายอายุประมาณ 60 ปี ปัจจุบันถูกแม่น้ำน่านซัดจมตลิ่ง ทำให้บ้านรุ่นเก่า ๆ ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันคงเป็นบ้านทรงสมัยใหม่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสมัยรัชกาลที่ 5 หรือเป็นบ้านที่มีการปรับปรุงแบบใหม่ในช่วงหลังจากนี้ เช่นเปลี่ยนหลังคาเป็นแบบมะนิลา แทนที่จะเป็นทรงจั่วแบบไทยภาคกลาง
ในช่วงรัชกาลที่ 5 มีหลักฐานยืนยันว่าคนคุ้งตะเภายังให้ความสำคัญกับการศึกษาในวัด ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการบวชเรียนและส่งพระเณรชาวคุ้งตะเภาไปเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมที่พระอารามหลวงในกรุงเทพมหานคร โดยมีสายวัดสระเกศราชวรมหาวิหารเป็นสำนักเรียนหลักที่ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาจะส่งพระเณรไปศึกษาต่อ และในสมัยนี้เคยมีพระชาวคุ้งตะเภาสำเร็จเป็นเปรียญธรรมในสนามหลวงต่อหน้าพระที่นั่งด้วย[32] ซึ่งยังคงเป็นสมัยสอบปากเปล่าต่อหน้าพระที่นั่งในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก่อนเปลี่ยนเป็นสอบด้วยข้อเขียนในช่วงหลัง
สมัยใหม่
[แก้]ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หมู่บ้านคุ้งตะเภาไม่ได้รับผลกระทบมากนักเว้นแต่ตกเป็นเป้าการโจมตีทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยมีเหตุการณ์รถไฟขนส่งอ้อยของโรงงานน้ำตาลวังกะพี้สายที่วิ่งผ่านบริเวณทางรถไฟบ้านไร่คุ้งตะเภาถูกเครื่องบินรบยิงกราดใส่ (ปัจจุบันเส้นทางนี้กลายเป็นเส้นทางระบายน้ำชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม) ประมาณปี พ.ศ. 2487 และชาวบ้านคุ้งตะเภาก็มีการขุดหลุมหลบภัยและมีการพรางแสงตามบ้านเรือนหลังสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดจนพินาศ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487[33] และเย็นวันที่ 5 ตุลาคม 2487 ได้มีเครื่องบินทิ้งระเบิด 4 เครื่องยนต์ บี 24 มาโจมตีเส้นทางลำเลียงรถไฟของทหารญี่ปุ่นที่ฝั่งบางโพ-ท่าเสา-อุตรดิตถ์ และถูกปืนต่อสู้อากาศยานยิงตกตกที่ม่อนดินแดงใกล้บ้านไร่คุ้งตะเภา ชาวบ้านคุ้งตะเภาในสมัยนั้นได้นำเศษชิ้นส่วนของเครื่องบินรบบี-24 ที่ตกมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ปัจจุบันหลงเหลือภาชนะที่ทำจากเศษชิ้นส่วนของปีกเครื่องบิน B-24 จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา
ในปี พ.ศ. 2493 หมู่บ้านคุ้งตะเภาประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้บ้านเรือนที่ตั้งอยู่เลียบริมแม่น้ำได้รับความเสียหายมาก ประกอบกับเส้นทางคมนาคมแม่น้ำน่านได้ถูกลดความสำคัญลงเพราะมีการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์ใน พ.ศ. 2459 ทำให้ชาวบ้านคุ้งตะเภาตัดสินใจย้ายที่ตั้งกลุ่มหมู่บ้านเดิม ณ ที่ลุ่มเลียบริมแม่น้ำน่านขึ้นมาตั้งในพื้นที่ดอนสูงกว่าจนถึงปัจจุบัน หลังจากการตัดเส้นทางรถไฟผ่านเมืองอุตรดิตถ์ที่ทำให้แหล่งชุมนุมการค้าย่านท่าเสาและท่าอิฐหมดความสำคัญลงดังกล่าว ประกอบกับการสร้างเขื่อนสิริกิติ์กั้นแม่น้ำน่านในเขตอำเภอท่าปลาในปี พ.ศ. 2510 ทำให้การคมนาคมทางน้ำของชาวบ้านคุ้งตะเภายุติลงสิ้นเชิง ไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้านคุ้งตะเภาใน พ.ศ. 2518[34] ด้วยทำเลที่ตั้งและความไม่สะดวกในการคมนาคมทางบกในช่วงนั้นทำให้หมู่บ้านคุ้งตะเภากลายเป็นหมู่บ้านโดดเดี่ยว
หลังจากทางการได้ตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 ผ่านกลางหมู่บ้านประมาณปี พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมทางบกหลักของจังหวัดอุตรดิตถ์และทางผ่านสำคัญเพื่อเข้าสู่ภาคเหนือ และหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ตัวเมืองอุตรดิตถ์หลายครั้ง ทำให้เริ่มมีผู้หันมาพัฒนาที่ดินที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านที่ไม่เคยประสบอุทกภัยมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินที่อยู่ติดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 ในเขตตำบลคุ้งตะเภา[9]
ภูมิศาสตร์
[แก้]หมู่บ้านคุ้งตะเภาตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ มีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 มีทรัพยากรแหล่งน้ำ คือ แม่น้ำน่าน มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง บ้านพักอาศัยตั้งอยู่ทิศตะวันตกของหมู่บ้าน เดิมการตั้งบ้านเรือนจะอยู่ใกล้กัน แต่เมื่อมีการตัดถนนใหญ่ผ่านทางด้านตกวันตกของหมู่บ้านในช่วงพุทธทศวรรษ 2520 บ้านเรือนส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของถนนเอเชีย ปัจจุบันชาวบ้านคุ้งตะเภาเรียกบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ตั้งแต่สี่แยกคุ้งตะเภาขึ้นไปว่า "บ้านไร่" หรือ "บ้านไร่คุ้งตะเภา" ได้ชื่อจากในอดีตเป็นที่ปลูกพืชไร่ ทางการเคยขอแบ่งหมู่บ้านคุ้งตะเภาออกเป็นสองส่วนดังกล่าว แต่ถูกชาวบ้านคุ้งตะเภาคัดค้าน[9]
ในอดีตหมู่บ้านคุ้งตะเภาอยู่ในเส้นทางเดินทัพของไทยไปทำสงครามกับล้านนาและหลวงพระบาง ผู้อาวุโสกล่าวถึงถนนโบราณที่ปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1047 เคยเป็นทางผ่านเดินทัพสู่หลวงพระบาง (ล้านช้าง) โดยทางบก ทางเส้นนี้จะไปสุดที่บ้านปากลาย เพื่อลงเรือในแม่น้ำโขงขึ้นไปที่หลวงพระบาง โดยต้นทางถนนโบราณที่เป็นท่าเรือที่ขึ้นจากแม่น้ำน่านในอดีต (คนคุ้งตะเภาเรียกว่าท่าควาย หรือบ้านท่าควาย) จะปรากฏเป็นลักษณะร่องลึกอันเกิดจากการเดินเท้าของคนจำนวนมาก (ในช่วงเส้นทางจากห้าแยกป่าขนุนลงไปทางวัดใหม่เจริญธรรมตรงไปท่าทรายชลิตดาในปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันถูกถมและลาดยางหมดแล้ว) ทำให้เมื่อมีน้ำหลากน้ำก็จะท่วมท่าเข้ามาถนนเสมอ ด้วยเพราะทางเส้นนี้เป็นทางเดินทัพโบราณ เวลายกกองทัพมาพักที่ท่าเสาแล้ว เมื่อจะเคลื่อนทัพไปลาวทางบกหรือเมืองฝาง ก็จะข้ามแม่น้ำน่านมาขึ้นที่นี่เพื่อผ่านไปเมืองฝางตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยกรุงธนบุรี เส้นทางนี้เล่าว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีใช้ผ่านมาปราบก๊กเจ้าพระฝาง[35] แม้ในกรณีพิพาทอินโดจีน พ.ศ. 2484 กองพลพายัพก็อาศัยเส้นทางนี้ทำสะพานไม้ข้ามแม่น้ำน่านเพื่อเดินทางเข้าไปยึดเมืองปากลายด้วย[36]
หมู่บ้านคุ้งตะเภามีพื้นที่ทั้งหมด 2,657 ไร่ พื้นที่บางส่วนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.)[37][38] แบ่งเป็นพื้นที่ทางเกษตรกรรม 1,915 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย 433 ไร่[2] พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของหมู่บ้าน แบ่งเป็นพื้นที่ทำนา จำนวน 2,070 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 77.90 พื้นที่ทำสวน จำนวน 427 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 16.08 และพื้นที่ทำไร่ จำนวน 160 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 6.02[34] หมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นหมู่บ้านแรกในจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำน่านเมื่อ พ.ศ. 2522[39] ทำให้สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้งตั้งแต่นั้นมา
หมู่บ้านคุ้งตะเภามีพื้นที่ติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียง ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำน่าน (หมู่บ้านวังสีสูบ ตำบลงิ้วงาม)
- ทิศใต้ ติดต่อกับหมู่บ้านป่าขนุน ตำบลคุ้งตะเภา
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับหมู่บ้านบ่อพระ ตำบลคุ้งตะเภา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับแม่น้ำน่าน (ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก)
หมู่บ้านยังมีสวนสาธารณะ ชื่อ สวนสาธารณะหาดน้ำน่าน งอยู่ริมแม่น้ำน่านทางด้านเหนือสุดของหมู่บ้านคุ้งตะเภา ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจมาตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภาจัดระเบียบร้านค้า จัดสร้างกำแพงกั้นและมีการจัดเก็บเงินค้าบำรุงสำหรับประชาชนที่มาพักผ่อนในช่วงเทศกาลสำคัญ รวมทั้งมีการฟื้นฟูกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ประเพณีเทศน์มหาชาติ เป็นต้น[40]
การปกครอง
[แก้]เดิมการปกครองของหมู่บ้านคุ้งตะเภาขึ้นอยู่กับตำบลท่าเสา อำเภอบางโพ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ปัจจุบัน) โดยในสมัยนั้นหมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นหมู่ที่ 14 ตำบลท่าเสา แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 มีการแยกการปกครองทั้งตำบลจากตำบลท่าเสามาตั้งเป็นตำบลใหม่[41] โดยใช้ชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นชื่อตำบล เนื่องด้วยเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่กึ่งกลางตำบลและเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าหมู่บ้านอื่นที่ได้รับการตั้งให้อยู่ในตำบลใหม่ด้วยกัน
ปัจจุบันหมู่บ้านคุ้งตะเภาเป็นหมู่ที่ 4 ของตำบลคุ้งตะเภา มีการปกครองโดยมีผู้ใหญ่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาโดยตลอด ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันเข้าดำรงตำแหน่งในวาระแรกตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 10) เมื่อปี พ.ศ. 2548 และหลังจากหมดวาระลงในปี พ.ศ. 2553 ก็ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านใหม่เป็นวาระที่ 2 ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) อันเป็นฉบับแก้ไขล่าสุด (ซึ่งมีกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านยาวนานจนปลดเกษียณอายุที่ 60 ปี) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2553 มีสถานีตำรวจ 1 แห่ง
รายชื่อผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ พ.ศ. 2528
[แก้]รายชื่อผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภาย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน
ชื่อ | วาระการดำรงตำแหน่ง | หมายเหตุ |
---|---|---|
สะอาด สวนศรีสุวรรณ์ | พ.ศ. 2528–2531 | |
บุญช่วย เรืองคำ (วาระที่ 1) | พ.ศ. 2532–2535 | ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 7 |
บุญช่วย เรืองคำ (วาระที่ 2) | พ.ศ. 2536–2539 | ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 9 |
สมหมาย มากคล้าย | พ.ศ. 2540–2543 | ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 9 |
เรียมจิตร สุรัตนวรินทร์ | พ.ศ. 2544–2547 | ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 10, หญิงคนแรก |
สมชาย สำเภาทอง (วาระที่ 1) | พ.ศ. 2548–2553 | ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 10 |
สมชาย สำเภาทอง (วาระที่ 2) | พ.ศ. 2553–ปัจจุบัน | ได้รับเลือกตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ฉบับที่ 11 |
เศรษฐกิจ
[แก้]ประชากรหมู่บ้านคุ้งตะเภาประกอบอาชีพหลากหลาย กว่าครึ่งนิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม แบ่งเป็นทำนาคิดเป็นร้อยละ 19.56 รองลงมาทำสวนร้อยละ 49.56 ค้าขายร้อยละ 2.91 รับจ้างทั่วไปร้อยละ 4.37 รับราชการร้อยละ 10.20 และอาชีพอื่นอีกร้อยละ 10.20[34] สัดส่วนประชากรรายได้เฉลี่ยต่อปี 30,000–50,000 บาทมีประมาณร้อยละ 46.64 และผู้มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 50,000–100,000 บาท ประมาณร้อยละ 34.98 ในหมู่บ้านมีร้านค้าจำนวน 10 ร้าน โรงสีขนาดเล็กจำนวน 3 โรง สถานีบริการน้ำมันจำนวน 2 แห่ง และหมู่บ้านคุ้งตะเภายังมีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรคุ้งตะเภา หมู่ 4 ซึ่งจัดทำผลิตภัณฑ์สร้างรายได้เสริม[42]
นอกจากนี้ หมู่บ้านคุ้งตะเภายังเป็นที่ตั้งของ กลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา เป็นกลุ่มเกษตรกรขนาดใหญ่มาก ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516[43] ที่มีการรวมตัวจากเกษตรหลายพื้นที่กว่า 900 คน มีทุนดำเนินงานกว่า 8 ล้านบาท มีลานตากข้าวขนาดใหญ่ เครื่องชั่ง โกดัง และโรงสีข้าวเปลือกของตนเอง[9]
การศึกษา
[แก้]หมู่บ้านคุ้งตะเภา มีสถานศึกษาระดับพื้นฐานประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง คือ โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภา โดยเปิดสอนในระดับปฐมวัยถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่ใกล้หมู่บ้านที่สุด คือ โรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านป่าขนุน ทั้งโรงเรียนสองเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนไม่มากนัก ประชากรที่มีฐานะนิยมส่งบุตรหลานเข้าไปเรียนในสถานศึกษาในตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไม่ถึง 10 กิโลเมตร
โรงเรียนบ้านคุ้งตะเภาได้ทำการสอนครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2465 โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่[44] โดยเริ่มเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้น ป.1–5 ต่อมาจึงเปิดตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 4 โดยมีเอี่ยม ศาสตร์จำเริญเป็นครูใหญ่คนแรก ปัจจุบันเปิดทำการสอนเป็น 2 ระดับชั้น คือระดับก่อนประถมศึกษา และระดับประถมศึกษา
สาธารณสุข
[แก้]ปัจจุบันในหมู่บ้านคุ้งตะเภา มีสถานให้บริการสาธารณสุขขั้นมูลฐานจำนวน 1 แห่ง คือ สถานีอนามัยประจำตำบลคุ้งตะเภา ตั้งอยู่บนที่ราชพัสดุ ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1213[45] นอกจากการสาธารณสุขขั้นมูลฐานแล้ว ภายในหมู่บ้านคุ้งตะเภายังมีสวนพฤกษศาสตร์สมุนไพร ตั้งอยู่ที่วัดคุ้งตะเภา วัดประจำหมู่บ้าน มีความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ในการจัดโครงการส่งเสริมและให้ความรู้สมุนไพร เช่น โครงการอรุณรุ่งที่คุ้งตะเภา ของสถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2545 และโครงการจัดตั้งศูนย์สมุนไพรตำบลคุ้งตะเภา ในปี พ.ศ. 2550[46]
ในปี 2553 มีการตั้งมูลนิธิสร้างคุณค่าชีวิตเด็กและเยาวชน[47] มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนที่พิการหรือบกพร่องทางกายภาพ[48] อัฑฒพงศ์ โมลี นักกิจกรรมบำบัด ได้ปรับพื้นที่บ้านของตนและที่ดินจำนวน 7 ไร่ ให้เป็นสถานบำบัดเชิงธรรมชาติ มีห้องทำกิจกรรมบำบัดกระตุ้นพัฒนาการ ลานจัดกิจกรรม เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการฟื้นฟูบำบัดเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อม[49]
ประชากรศาสตร์
[แก้]ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมกลุ่มแรกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านคุ้งตะเภา คือ คนไทยเดิม หรือ คนไทยเหนือ ตามคำปากของคนในสมัยอยุธยา[23] จากหลักฐานการตั้งวัดคุ้งตะเภาในสมัยธนบุรีทำให้ทราบว่าหมู่บ้านคุ้งตะเภามีคนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย
หมู่บ้านคุ้งตะเภามีนามสกุลใหญ่ในหมู่บ้าน คือ สกุลอ่อนคำ มากคล้าย และรวยอบกลิ่น ซึ่งถือเป็นญาติกันมาแต่เดิม จนในปัจจุบันนี้ทั้ง 3 สกุลก็ยังเป็นสกุลใหญ่ในหมู่บ้าน และประชากรของหมู่บ้านคุ้งตะเภาส่วนใหญ่ จะเป็นญาติพี่น้องสืบสายจากทั้งสามสกุลกันลงมาทั้งสิ้น[50]
ในอดีต ประมาณปี พ.ศ. 2480 ครัวเรือนในหมู่บ้านคุ้งตะเภามีเพียง 48 หลังคาเรือน แต่ในช่วงระยะหลังมีประชากรเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับมีประชากรจากถิ่นอื่นย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบันหมู่บ้านคุ้งตะเภามีครัวเรือนถึง 473 หลังคาเรือน และมีประชากรกว่า 1,436 คน (ข้อมูลปี 2550) ปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 18–50 ปี[34]
ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท สันนิษฐานว่าการนับถือศาสนาพุทธในหมู่บ้านคุ้งตะเภามาพร้อมกับประชากรกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งุถิ่นฐาน
การคมนาคม
[แก้]เส้นทางคมนาคม
[แก้]ในอดีตหมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณที่ลุ่มริมแม่น้ำน่าน การคมนาคมจึงอาศัยการเดินทางน้ำเป็นหลัก แต่หลังจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2493 ชาวบ้านคุ้งตะเภาจึงย้ายหมู่บ้านขึ้นมาตั้งบนที่ราบในปัจจุบันริมถนนเลียบแม่น้ำน่านเก่า (ถนนหลังวัดคุ้งตะเภา) ทำให้การคมนาคมหลักของหมู่บ้านคุ้งตะเภาเปลี่ยนเป็นทางบกแทน ต่อมาหลังจากการตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 (ถนนสายเอเชีย) ในปี พ.ศ. 2522 ทำให้การเดินทางมาหมู่บ้านคุ้งตะเภาสะดวกยิ่งขึ้น และถนนดังกล่าวกลายเป็นเส้นทางคมนาคมหลักแทน
นอกจากทางหลวงแผ่นดินอันได้แก่ถนนสายเอเชียและทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1213 แล้ว ยังมีถนนในความดูแลของกรมทางหลวงชนบทและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกหลายสายที่ตัดผ่านในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านคุ้งตะเภาจะมีคำปากใช้เรียกถนนต่าง ๆ ในหมู่บ้านแตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดยนับเอาแยกคุ้งตะเภาเป็นจุดกำหนด[9] เช่น "เส้นบ้านไร่, เส้นเหนือล่าง" หมายถึงทางหลวงชนบทที่ตัดผ่านหมู่บ้านคุ้งตะเภาเลียบแม่น้ำน่านทางด้านทิศเหนือ, "เส้นอนามัย, เส้นเหนือบน" หมายถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1213 ที่ตัดผ่านบริเวณหมู่บ้านทางทิศตะวันออก เส้นอนามัยหมายถึงถนนที่ตัดผ่านสถานีอนามัยตำบลคุ้งตะเภา, "เส้นเอเชีย, เส้นนอก" หมายถึงทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 11 ตลอดทั้งสายที่ผ่านหมู่บ้าน โดยแบ่งเป็นถนนระยะเหนือหมู่บ้านจะเรียกว่า เส้นนอกบน และถนนระยะใต้หมู่บ้านจะเรียกว่า เส้นนอกล่าง, "เส้นในล่าง, เส้นใน" หมายถึงทางหลวงชนบทที่ตัดผ่านหมู่บ้านคุ้งตะเภาทางด้านทิศใต้ของวัดคุ้งตะเภา นอกจากนี้คำว่า "เส้นใน" ยังอาจหมายถึงเส้นทางที่นอกเหนือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ก็ได้ด้วย[51]
บริการขนส่งสาธารณะ
[แก้]ปัจจุบันการให้บริการขนส่งสาธารณะเส้นทางเข้าสู่ตัวจังหวัดอุตรดิตถ์มีเอกชนให้บริการประจำจำนวน 3 ราย คือรถโดยสารชุมชนสาย อุตรดิตถ์-คุ้งตะเภา-เอกลักษณ์ (โรงงานน้ำตาลเอกลักษณ์) จำนวน 2 ราย โดยมีค่าบริการครั้งละ 25 บาทตลอดสาย และแท็กซี่ไม่ประจำทางจำนวน 1 ราย คิดค่าบริการในอัตราเดียวกับรถโดยสารชุมชนปกติหากมีผู้นั่งเต็มคันรถ โดยรถโดยสารทั้งหมดจะหยุดพักรถที่จุดหมายบริเวณหน้าร้านขายยาไพศาลเภสัช ริมแม่น้ำน่านใกล้กับวัดท่าถนน อันเป็นชุมชนการค้าและตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งนอกจากผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะแบบประจำเส้นทางแล้วยังมีผู้ให้บริการแบบไม่ประจำเส้นทางอีกหลายราย แต่ส่วนใหญ่คิดค่าบริการในอัตราเดียวกับผู้ให้บริการประจำ[51]
นอกจากนี้ หมู่บ้านคุ้งตะเภายังมีจุดพักรับส่งผู้โดยสารของบริษัทเชิดชัยทัวร์ มีศูนย์ย่อยให้บริการอยู่บริเวณห้องแถวเหนือสะพานลอยบ้านคุ้งตะเภา รับส่งในเส้นทาง แม่สาย (เชียงราย) -กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ-แม่สาย (เชียงราย), เชียงใหม่-กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โดยรถทัวร์จะหยุดรับส่งผู้โดยสารต่อเมื่อมีผู้จองตั๋วรถโดยสารไว้แล้วเท่านั้น[52] เนื่องจากถนนสายเอเชียเป็นถนนหลักจึงมีรถโดยสารสาธารณะวิ่งผ่านเกือบตลอดวัน ดังนั้นชาวบ้านคุ้งตะเภาส่วนใหญ่ที่เดินทางโดยรถโดยสารจึงมักเลือกผู้ให้บริการที่สามารถหยุดรถริมถนนดังกล่าวหรือส่งที่บ้านตน[51]
ศาสนสถาน
[แก้]หมู่บ้านคุ้งตะเภา มีศาสนสถานจำนวน 1 แห่ง คือ วัดคุ้งตะเภา ไม่ปรากฏศาสนสถานในศาสนาอื่นในเขตหมู่บ้าน วัดคุ้งตะเภานับว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา อายุประมาณปี 2310[53] ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ อาคารธนาคารหมู่บ้านคุ้งตะเภา, สำนักงานสมาพันธ์สหกรณ์การเกษตรเพื่อการพัฒนา, ร้านค้าชุมชน, ศูนย์สาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชน, ศูนย์ศึกษาการทำสมุนไพรภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัดคุ้งตะเภายังเป็นศูนย์กลางการศึกษาของคณะสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา โดยได้รับการจัดตั้งจากคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ให้เป็นสำนักศาสนาศึกษาประจำตำบล ซึ่งมีผู้สอบผ่านธรรมศึกษาได้มากติดอันดับต้น ๆ ของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์[54] และยังเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน
หมู่บ้านคุ้งตะเภายังเป็นที่ตั้งของ มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา[55] มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมงานวัฒนธรรมประเพณีไทย และสาธารณสงเคราะห์ในชุมชน
วัฒนธรรมประเพณี
[แก้]ปัจจุบันประเพณีบางอย่างยังคงหลงเหลืออยู่ แต่การละเล่นแบบโบราณซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนบ้านคุ้งตะเภาได้สูญหายไปหมดแล้ว เหลือไว้แต่คำบอกเล่าว่าเคยมีการละเล่นนั้น ๆ อยู่ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันการเล่นลิเกหรือดนตรีในงานประเพณีเป็นการจ้างคนนอกหมู่บ้าน
วัฒนธรรมดั้งเดิมส่วนใหญ่ของหมู่บ้านคุ้งตะเภาคล้ายกับหมู่บ้านในแถบภาคกลางตอนบน รูปแบบจึงไม่ต่างจากชาวพุทธเถรวาทที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่จัดงานประเพณีที่วัด[9]
ภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา
[แก้]สำเนียงพูดในภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา (ยังคงมีพูดกันอยู่ในหมู่ 4, 3 ตำบลคุ้งตะเภา) เป็นส่วนหนึ่งของสำเนียงในภาษาถิ่นสุโขทัย ซึ่งเป็นสำเนียงที่ไม่ตรงกับภาษาเขียนและสำเนียงพูดของชาวภาคกลางมาแต่โบราณ[56] ปัจจุบันพบได้ในจังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดใกล้เคียงในพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอาณาจักรสุโขทัย โดยคนคุ้งตะเภาดั้งเดิมนั้นจะมีสำเนียงการพูดภาษาถิ่นสุโขทัย คล้ายคนสุโขทัยเดิม และเมืองฝางสวางคบุรี ในเรื่องนี้ สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย กล่าวว่า
...สำเนียงสุโขทัยเก่า หลงเหลืออยู่ในพื้นที่... นอกเขตจังหวัดสุโขทัย เช่น... บริเวณตำบลรอบ ๆ วัดพระมหาธาตุพระฝาง เมืองสวางคบุรี (คือ ตำบลผาจุก, ตำบลคุ้งตะเภา) คือข้าพระโยมสงฆ์ที่พระมหากษัตริย์สุโขทัย ถวายขาดไว้ในพุทธศาสนา คือไม่ต้องไปราชการทัพ ทำให้สำเนียงสุโขทัยหลงเหลืออยู่ในพื้นที่นอกจังหวัดสุโขทัยด้วย...
— สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย[57]
ปัจจุบันคนบ้านคุ้งตะเภาดั้งเดิมยังใช้สำเนียงพูดแบบสุโขทัยอยู่ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลและเทียบเคียงสำเนียงการพูดของภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา และภาษาถิ่นบ้านพระฝาง พบว่ามีการใช้คำศัพท์ใกล้เคียงกันมากที่สุดกว่าสำเนียงสุโขทัยแบบอื่น[58]
ประเพณี
[แก้]- ประเพณีทำบุญกลางบ้าน
เป็นประเพณีโบราณซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย รูปแบบคล้ายกับชาวบ้านในแถบภาคกลาง โดยแยกจัดพิธีเป็นสองครั้งคือ ในต้นเดือน 3 จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันออก (บ้านเหนือ) และปลายเดือน จัดพิธีทำบุญกลางบ้านที่บ้านคุ้งตะเภาฝั่งตะวันตก (บ้านใต้) มีบริเวณในการจัดแน่นอนคือบ้านเหนือจัดที่ทางสามแพร่งเหนือหมู่บ้าน ส่วนบ้านใต้จัดที่ลานข้าวกลุ่มเกษตรกรทำนาคุ้งตะเภา สำหรับวันทำบุญชาวบ้านเป็นผู้กำหนดร่วมกัน ขั้นตอนเริ่มจากชาวบ้านเตรียมทำกะบาน ใช้ดินเหนียวปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนคนในบ้านรวมสัตว์เลี้ยง จากนั้นเป็นการก่อเจดีย์ทรายพร้อมนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์พระปริตรในเวลาเย็น ในวันที่สองมีการนิมนต์พระสงฆ์มาฉันภัตตาหารเช้าถวายจตุปัจจัย ประเพณีดังกล่าวสะท้อนการผสานความเชื่อ คือ การขอบคุณผีที่ประทานความอุดมสมบูรณ์และสะเดาะเคราะห์ และการอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและเสริมสวัสดิมงคลในศาสนาพุทธ
- ประเพณีแรกตักข้าว
- หมายถึง วันแรกที่นำข้าวที่เก็บไว้จากฤดูเก็บเกี่ยวปีก่อนมาสี โดยกำหนดวันแรกตักไว้ตรงกับวัน 3 ค่ำเดือน 3 มีความเชื่อว่าถ้าตักข้าวมาก่อนกำหนดจะถูกผีตะมอยกิน ซึ่งน่าจะเป็นอุบายของคนโบราณเพื่อไม่ให้บริโภคข้าวที่ยังไม่แห้งดี และเพื่อให้ใช้ข้าวค้างยุ้งฉางให้หมดก่อนไม่เหลือทิ้งไว้ อย่างไรก็ดี ประเพณีนี้พึ่งสูญหายไปเมื่อไม่เกิน 30 ปีมานี้
- ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือก
- จัดตรงกับวันขึ้น 14–15 ค่ำเดือน 3 ของทุกปี ชาวบ้านจะแบ่งข้าวเปลือกที่เพาะปลูกได้ในปีก่อนนำมาถวายวัด โดยในวัน ขึ้น 14 ค่ำ จะมีการเจริญพระพุทธมนต์ฉลององค์พระเจดีย์ข้าวเปลือก และวันรุ่งขึ้น มีการถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ในวัด พร้อมกับทำพิธีถวายองค์เจดีย์ (ข้าวเปลือก) คล้ายพิธีสู่ขวัญข้าว
- ตรุษไทย
- ชาวคุ้งตะเภายังรักษาธรรมเนียมตรุษไทยไว้โดยจัดทำบุญติดต่อกัน 2 วัน คือ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ถึง วันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ในสมัยโบราณจะชาวบ้านรวมตัวกันกวน "ข้าวแดง" ซึ่งส่วนประกอบหลักได้แก่ ข้าว อ้อยและน้ำตาล แจกจ่ายคนในหมู่บ้านและถวายพระสงฆ์ แต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีการรวมตัวกันกวนข้าวแตงอีกแล้ว คงเหลือแต่การทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ตามปรกติ
- สงกรานต์
- คล้ายกับพื้นที่อื่น คือ มีทำบุญ 3 วัน วันแรกมีการทอดผ้าป่าสามัคคี วันที่สองในบางปีจะมีการรวมตัวจัดอุปสมบทหมู่เพื่อบวชลูกหลานซึ่งกลับจากต่างถิ่น มีการทำพิธีปลงผมนาคในเวลาเที่ยงและ เวลาบ่ายทำการแห่นาค เมื่อถึงช่วงเย็นมีการเทศน์สอนนาค และอุปัชฌาย์พร้อมทั้งกรรมวาจา-อนุสาวนาจารย์ วันสุดท้ายมีพิธีสรงน้ำพระตามประเพณีและอุปสมบทนาคในเวลาเช้ามืด จากนั้นเวลาเช้ามีการเจริญพระพุทธมนต์ฉลองพระบวชใหม่ และในเวลาบ่ายมีการจัดพิธีแห่อัญเชิญสมโภชพระบรมสารีริกธาตุและพิธีขอขมาและสรงน้ำ จบท้ายด้วยการสักการะเจดีย์บรรจุอัฐิของบรรพบุรุษตน
- พิธีเวียนเทียนพระภิกษุใหม่
- วัดคุ้งตะเภาเป็นวัดเดียวยังคงอนุรักษ์พิธีกรรมนี้อยู่จนปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง] พิธีดังกล่าวมีประกอบเมื่อพระภิกษุใหม่ผ่านการบรรพชาอุปสมบทในอุโบสถแล้ว พิธีจัดบนศาลาการเปรียญของวัด โดยมี "หมอทำพิธี" และพระสงฆ์บวชใหม่นั่งอยู่กลางมณฑลพิธี มีญาติโยมนั่งล้อมเป็นวงกลม จะมีการกล่าวมนต์ คาถาและบทเฉพาะสำหรับพิธีกรรมต่าง ๆ เสร็จแล้วหมอพิธีจะนำใบพลูเก้าใบห่อและจุดแว่นเทียนชัยจำนวน 9 เล่มไปเวียนเทียนรอบพระประธานสามรอบ และส่งต่อให้ชาวบ้านนำไปทำพิธีเวียนเทียนแบบพราหมณ์ทีละคนจนครบแล้วส่งคืนให้หมอพิธีเพื่อนำเวียนรอบพระประธานอีกครั้ง
- ประเพณีถวายสลากภัต
- จัดระหว่างขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี[59] โดยชาวบ้านจะนำสำรับภัตตาหารและผลไม้มาถวายพระสงฆ์ โดยจะนิมนต์พระสงฆ์กว่าร้อยรูปมาฉันภัตตาหารและถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ในอดีตมีการจับฉลากเลือกพระสงฆ์รับสังฆทานตามประเพณี และเวลากลางคืนมีการละเล่นต่าง ๆ เช่นชกมวยคาดเชือก มวยไทยสายพระยาพิชัย ฯลฯ
- ประเพณีสารทไทย
- ตรงกับแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ในอดีตมีการรวมตัวของคนในหมู่บ้านกวนข้าวกระยาสารท และมีการละเล่นต่าง ๆ แต่ปัจจุบันคงเหลือแต่การทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ตามปรกติ
- ประเพณีเทศน์มหาชาติ
- จัดตรงกับ วันแรม 4–6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี วันแรกมีการเทศน์ "พระมาลัยสูตร 3 ธรรมาสน์" วันที่สองเวลาเช้าพระสงห์อ่านเวสสันดรชาดกเป็นภาษาบาลี ส่วนในเวลาบ่ายจะเทศน์เวสสันดรชาดกเป็นทำนองเหล่ วันที่สามมีการถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์และมีเทศน์อานิสงส์ฟังเวสสันดรชาดก ทั้งนี้ ปัจจุบันส่วนใหญ่มีแต่พระสงฆ์และผู้อาวุโสมาช่วยกันประดับตกแต่งศาลาการเปรียญ
-
กะบานในประเพณีทำบุญกลางบ้าน
-
การสรงน้ำสมโภชพระบรมธาตุเจ้าวัดคุ้งตะเภาในวันมหาสงกรานต์
-
หญิงชาวบ้านถือแว่นเทียนชัยในพิธีเวียนเทียนพระภิกษุบวชใหม่
-
การจุดเทียนพระคาถาพัน 1,000 เล่มตามประเพณีการเทศน์มหาชาติ
ดนตรีพื้นบ้าน
[แก้]ปัจจุบันดนตรีพื้นบ้านของหมู่บ้านคุ้งตะเภายังเหลือกลองยาว หมู่บ้านคุ้งตะเภามีชื่อเสียงเรื่องกลองยาว ประกอบด้วยเครื่อง 8 เครื่อง 9 และเครื่อง 12 ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง กลอง สามารถแข่งขันกลองยาว ชนะวงในตำนานอย่างวงนกขมิ้น ต.ทุ่งยั้งได้ คือวงของยัง กลิ่นลอย ซึ่งเล่นครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2505 โดยในบ้านวงกลองยาวของยังสมัยนั้น มีกลองสองหน้า ซึ่งเป็นกลองยืนกลองหลอนในวงมังคละ แต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันไม่มีผู้ใดรับสืบทอดวิชา และอุปกรณ์ได้สูญไปหมดแล้ว
มังคละซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนบ้านคุ้งตะเภาได้สูญหายไปหมดแล้ว ผู้เล่นมังคละคนสุดท้าย คือกี่ มีชำนะ เสียชีวิตไปเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2540 สันนิษฐานว่าเขาเป็นผู้สืบทอดการเล่นมังคละคนสุดท้ายของหมู่บ้าน และหาผู้เข้าประสมวงตามนวภัณฑ์ไม่ได้ จึงกลายมาเป็นวงปี่กลองที่ใช้กลองเพียงลูกเดียว และใช้ซอสีแทนปี่ ซึ่งหาผู้เป่ายากในช่วงสุดท้าย[60] อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน วัดคุ้งตะเภาพยายามรื้อฟื้นมังคละเภรีโดยจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านมังคละเภรีศรีสวางคบุรี ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดคุ้งตะเภา เพื่อฝึกสอนการเล่นมังคละ
จากประเพณีมุขปาฐะ หมู่บ้านคุ้งตะเภามีการละเล่นคล้ายกับการละเล่นพื้นบ้านทั่วไปในแถบภาคกลางตอนบน เช่น การเล่นนางด้ง นางกะลา การรำช่วง การร้องเพลงเกี่ยวข้าว จนไปถึงมังคละเภรี ส่วนการจัดงานวัดหรือกิจกรรมร่วมกันของชุมชน ที่จัดให้มีมหรสพต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากเกือบทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าการละเล่นของชาวบ้านคุ้งตะเภาในอดีตผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันยังพอมีการละเล่นพื้นบ้านอยู่บ้าง แต่เป็นเพียงการละเล่นเฉพาะในพิธีกรรมหรืองานบุญทางศาสนา ปัจจุบันหมู่บ้านคุ้งตะเภายังคงมีวงดนตรีไทยเดิม (วงปี่พาทย์) อยู่ เป็นวงดนตรีไทยเดิมวงเดียวของตำบลคุ้งตะเภา และเมื่อออกแสดงในงานต่าง ๆ ต้องรวบรวมลูกวงจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมด้วย เพื่อให้สามารถเล่นดนตรีไทยเดิมได้ครบวง
เพลงประจำหมู่บ้าน
[แก้]ชาวบ้านคุ้งตะเภาจัดทำเพลงประจำหมู่บ้านขึ้น โดยวิเชียร ครุฑทอง ปราชญ์ชุมชนของตำบลคุ้งตะเภา เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง รวมทั้งเป็นผู้ขับร้อง ซึ่งได้มีการบันทึกเสียงดนตรีที่ห้องบันทึกเสียงคณะดนตรีวง "ไทไท" ในปี พ.ศ. 2547 เพลงที่แต่งขึ้นมี 2 บทเพลง ทั้งสองเพลงเป็นเพลงขับร้องแบบลูกทุ่ง ชื่อ "คุ้งตะเภารำลึก" มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติหมู่บ้านคุ้งตะเภา และ "อรุณรุ่งที่คุ้งตะเภา" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านปัจจุบัน ทั้งสองเพลงได้มีการเปิดบรรเลงตามเสียงตามสายของหมู่บ้าน[9]
ตำนาน
[แก้]ตำนานหลักของหมู่บ้านได้แก่ ตำนานเรือสำเภาล่ม ซึ่งมีมาตั้งแต่แรกตั้งหมู่บ้าน อดีตผู้ใหญ่บ้าน บุญช่วย เรืองคำ บันทึกไว้ตามคำบอกเล่า พอสรุปได้ว่า "ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีเรือสำเภาส่งสินค้าลำหนึ่ง ซึ่งมีพี่น้องบิดามารดาเดียวกันสองคนที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา ได้ทำมาหากินรับส่งสินค้าขึ้นล่องทางเมืองเหนือ จนวันหนึ่งเรือของสองพี่น้องดังกล่าวได้ล่องแม่น้ำน่านผ่านหน้าวัดคุ้งตะเภาและปรากฏว่ามีลมพายุใหญ่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถประคองเรือไว้ได้ เรือจึงล่มลงตรงหน้าวัดคุ้งตะเภา [ปัจจุบันเป็นหลังวัด และร่องน้ำน่านบริเวณที่เรือล่มได้ตื้นเขินไปแล้วเพราะแม่น้ำเปลี่ยนทิศทางเดินไปไกลจากวัดมาก] ลูกเรือทั้งปวงหนีขึ้นฝั่งได้ แต่สองพี่น้องได้จมหายไปกับเรือ ทิ้งสมบัติไว้กับเรือนั่นเอง"[6] ชาวบ้านคุ้งตะเภาเล่าต่อกันมาว่ามีสมบัติถูกฝังไปพร้อมกับเรือ และมีตำนานเล่าว่าเคยมีคนขุดเจอซากเรือและหีบบรรจุเหรียญเงิน แต่ต่อมาเสียชีวิต ชาวบ้านเพิ่งมาเชื่อตำนานเจ้าแม่สำเภาทองนั้นในระยะหลัง จากเหตุการณ์ที่พระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาได้ยินเสียงหญิงร้องไห้อยู่หลังวัดทุกวันที่มีฝนตกในช่วงเข้าพรรษา และเจ้าแม่ได้เข้าฝันพระสงฆ์ในวัดบอกว่าเสียงผู้หญิงนั้นเป็นคน ๆ เดียวกับที่จมไปกับเรือสำเภาในตำนาน[61] ชาวบ้านและพระสงฆ์จึงร่วมกันสร้างศาลให้หลังหนึ่งบริเวณหลังวัด จากนั้นก็ไม่ปรากฏเสียงผู้หญิงร้องไห้อีก ทั้งนี้ ความเชื่อเรื่องเจ้าแม่สำเภาทองได้เสื่อมลงไปบ้างในช่วงหลัง
นอกจากเรื่องตำนานเรือสำเภาล่มแล้ว ยังมีความเชื่อเรื่องเจ้าแม่โพธิ์เขียวเป็นรุกขเทวดาประจำต้นพระศรีมหาโพธิ์ประจำวัดคุ้งตะเภา[62] เจ้าแม่จุฑามาศ ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องเทวดาประจำต้นยางยักษ์ที่วัดคุ้งตะเภานำขึ้นมาจากท้องแม่น้ำน่าน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2550[63] เช่นเดียวกับป่าไผ่หลวงและเขาหญ้าวัว (เขาเยี่ยววัว, เขายูงงัว)
เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ แจ้ง เลิศวิลัย เป็นผู้พบกลองมโหระทึกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังกล่าว โดยได้ขุดพบที่ตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ใน พ.ศ. 2470 และได้ส่งมอบให้แก่ทางราชการ ปัจจุบันกลองมโหระทึกดังกล่าวตั้งแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร[17]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ข้อมูลรายชื่อผู้ใหญ่บ้านจาก เว็บไซด์กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย[ลิงก์เสีย]
- ↑ 2.0 2.1 โปสเตอร์สรุป ข้อมูลหมู่บ้านและปัญหาความต้องการของประชาชน บ้านคุ้งตะเภา ประจำปี 2547 (ข้อมูล จปฐ.) .จาก คณะกรรมการอำนวยการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท (พชช.) กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
- ↑ ข้อมูลประชากร หมู่บ้านคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ (กันยายน 2550) .จาก สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศบอกล่วงหน้าจะแจกโฉนดสำหรับที่ดิน ในทุ่งบ้านวังหมู ตำบลวังหมู อำเภออุตรดิตถ์,ทุ่งบ้านป่าเซ่า ตำบลป่าเซ่า อำเภออุตรดิตถ์,ทุ่งบ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภออุตรดิตถ์ แขวงเมืองพิชัย[ลิงก์เสีย], เล่ม ๒๔, ๑๕ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๖, หน้า ๕๘๕
- ↑ พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
- ↑ 6.0 6.1 บุญช่วย เรืองคำ. (ม.ป.ป). พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านคุ้งตะเภาหมู่ที่ ๔. อุตรดิตถ์ : สำนักงานที่ทำการผู้ใหญ่บ้านคุ้งตะเภา. อัดสำเนา.
- ↑ ผ่องศรี วนาสิน. (2523). เมืองโบราณบริเวณชายฝั่งทะเลเดิมของที่ราบภาคกลางประเทศไทย :, การศึกษาตำแหน่งที่ตั้งและภูมิศาสตร์สัมพันธ์. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ภาควิชาภูมิศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ↑ 8.0 8.1 Pallegoix, Jean Baptiste. (1854). Description du Royaume Thai ou Siam. Paris : Mission de Siam.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. (2551). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์: วัดคุ้งตะเภา
- ↑ _________________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.). หน้า 49-51
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2558). วัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [1] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). จำนวนวัดจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2554. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [2] เก็บถาวร 2015-09-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 30-3-55
- ↑ กรมการศาสนา. (2531). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๗. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา. หน้า 34.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงเกษตราธิการ ประกาศยกเลิกหนังสือสำคัญเดิมสำหรับที่ดิน ตำบลป่าคาย ตำบลน้ำอ่าง อำเภอตรอน ตำบลวังกะพี้ ตำบลวังหมู ตำบลป่าเซ่า ตำบลคุ้งตะเภา อำเภออุตรดิตถ์ แขวงเมืองพิชัย, เล่ม ๒๔, ตอน ๓๕, ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐, หน้า ๘๙๓
- ↑ ความเป็นมาของชื่อคุ้งตะเภา จากประวัติวัดคุ้งตะเภา ในวิกิซอร์ซ
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2545). ศาสนาการเมืองในประวัติศาสตร์สุโขทัย-อยุธยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.
- ↑ 17.0 17.1 "หวน พินพันธุ์, ผศ.. (2529). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-28. สืบค้นเมื่อ 2009-08-24.
- ↑ ชิน อยู่ดี และสุด แสงวิเชียร. (2517). อดีต. กรุงเทพฯ : ฝ่ายวิชาการนักศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 170-171
- ↑ พระวิภาคภูวดล (เจมส์ ฟีตซรอย แมกคาร์ธี). (2533). บันทึกการสำรวจและบุกเบิกในแดนสยาม. กรุงเทพฯ : สโมสรนายทหาร กรมแผนที่ทหาร
- ↑ ขอม - เขมร - กัมพูชา ... เป็นเรื่องแล้ว ขอม คือไทย ไม่ใช่เขมร. เว็บไซต์ oknation. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [3] เก็บถาวร 2022-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 25-8-52
- ↑ วิบูลย์ บูรณารมย์. (2540). ตำนานเมืองอุตรดิษฐ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. อุตรดิตถ์ : โรงพิมพ์พี.ออฟเซ็ทอาร์ท.
- ↑ ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง. (2521). ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
- ↑ 23.0 23.1 ชุนนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง "แผ่นดินทอง แผ่นดินพระร่วง" คนไทยในสมัยสุโขทัย
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2535). หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ แม่บุญมี เจียจันทร์พงษ์. (ม.ป.ท.). หน้า 104
- ↑ __________. (2543). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร. หน้า 104.
- ↑ น้อย มากคล้าย และผิว มากคล้าย (มีกล่ำ) เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, มานะ มากคล้าย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่บ้านเลขที่ 229 บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 13 เมษายน 2541.
- ↑ กรมตำรากระทรวงธรรมการ. (2472). พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (พระเจ้าตากสิน) จุลศักราช ๑๑๒๘-๑๑๔๔. พิมพ์ครั้งที่ ๔. พระนคร : โรงพิมพ์กรมตำรากระทรวงพระธรรมการ. หน้า ๗๖-๘๑.
- ↑ เว็บไซต์วัดคุ้งตะเภา, สำเนียงภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา (ภาษาสุโขทัย), [ออน-ไลน์], เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/kitchakam/kungtapaomuseum/language เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงเมื่อ 31-10-57.
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. (2530). วัดใหญ่ท่าเสา : รายงานการสำรวจและแนวทางการสงวนรักษาอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร. ถ่ายเอกสาร.
- ↑ นุชนารถ พรมลัภ. (2545). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษาบ้านป่าขนุน หมู่ที่ 3 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. สารนิพนธ์ ป.กศ. (หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและการประเมินโครงการ). อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. อัดสำเนา
- ↑ หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดอุตรดิตถ์. (2530). สถาปัตยกรรมในเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ. หน้า 24-26
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์สามเณร ที่สอบไล่ได้ รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ซึ่งได้รับพระราชทานพัดเปรียญ [4], เล่ม ๒๘, ๑๔ มกราคม ร.ศ.๑๓๐, หน้า ๒๒๔๕
- ↑ มณเฑียร ดีแท้. (2523). มรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุตรดิตถ์. กรุงเทพฯ: วิเทศธุรกิจการพิมพ์. หน้า 56
- ↑ 34.0 34.1 34.2 34.3 ธนวรรณ ฮองกุล. (2545). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษาบ้านคุ้งตะเภา หมู่ที่ 4 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. สารนิพนธ์ ป.กศ. (หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและการประเมินโครงการ). อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. อัดสำเนา
- ↑ พระอู๋ ปญฺญาวชิโร (แสงสิน) เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, เทวประภาส มากคล้าย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 19 สิงหาคม 2549.
- ↑ คณะทำงานโครงการอุตรดิตถ์เมืองน่าอยู่. (2545). อุตรดิตถ์...ที่เป็นมา. กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน).
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๒๖, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๑๓๕, ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๖, ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลขุนฝาง ตำบลบ้านด่านนาขาม ตำบลคุ้งตะเภา ตำบลผาจุก ตำบลป่าเซ่า และตำบลหาดกรวด อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๘๕ ก, ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔, หน้า ๑๓
- ↑ ประวัติสาธารณูปโภค จังหวัดอุตรดิตถ์ จาก เว็บไซด์รักษ์บ้านเกิด.คอม
- ↑ คืนชีวิต "หาดน้ำน่าน" ผลงานชุมชน-อ.บ.ต.คุ้งตะเภา.เว็บไซต์กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, เรื่องตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ, เล่ม ๖๔, ตอน ๔๖, ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๐, หน้า ๒๕๑๖
- ↑ สำนักส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. แบบรายงาน ส.ว.ช.01_2. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [5]. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 28-6-52
- ↑ ศูนย์สารสนเทศ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. ทะเบียนกลุ่มเกษตรกรในประเทศไทย รายงานแบ่งตามเขตตรวจราชการ จังหวัดอุตรดิตถ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงข้อมูลได้จาก [6] เก็บถาวร 2008-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 28-6-52
- ↑ ประวัติวัดคุ้งตะเภา : ศาลาการเปรียญวัดคุ้งตะเภา จาก วิกิซอร์ซ
- ↑ ศูนย์บริหารจัดการฐานข้อมูลสุขภาพระดับปฐมภูมิ สำนักนโนบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (2551). รายละเอียดสถานพยาบาลสถานีอนามัยตำบลคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. แหล่งข้อมูล http://healthcaredata.moph.go.th/regis/serviceplacedetail.php?provincecode=53&off_id=06254[ลิงก์เสีย]
- ↑ โครงการจัดตั้งศูนย์สมุนไพรตำบลคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. (2550)./แหล่งที่มา : http://tobt.nhso.go.th/report/admin_report/admin_report3_5.php?[ลิงก์เสีย]
- ↑ มูลนิธิสร้างคุณค่าชีวิตเด็กและเยาวชน. (2554).
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้ง "มูลนิธิสร้างคุณค่าชีวิตเด็กและเยาวชน", เล่ม ๑๒๗ ตอน ๔๗ ง, ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓, หน้า ๑๒๔
- ↑ สถาบันพระบรมราชชนก. (2554). สารสัมพันธ์สถาบันพระบรมราชชนก ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2554. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : http://www.pi.ac.th/includes/download.php?id=2189 เก็บถาวร 2011-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ พื้นเพคนคุ้งตะเภา จาก ประวัติวัดคุ้งตะเภา ในวิกิซอร์ซ
- ↑ 51.0 51.1 51.2 ชาติชาย มุกสง. (2543). อุตรดิตถ์-ภูมิประเทศและการท่องเที่ยว. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.
- ↑ เว็บไซค์รถทัวร์ไทย. บริษัทรถทัวร์ที่ให้บริการเส้นทางมากกว่า 1 ภาคในประเทศไทย. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก [7]. เข้าถึงเมื่อ 24-8-52
- ↑ จรูญ พรหมน้อย, พระมหา. (2545). เอกสารฉลองวัดป่ากล้วยครบ ๑๕๐ ปี คืนสู่เหย้า ชาวบ้านป่ากล้วย. อุตรดิตถ์ : องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา.
- ↑ ผลสอบธรรมศึกษาจังหวัดอุตรดิตถ์. สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง : แผนกสถิติ-ข้อมูล
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ "มูลนิธิ ๒๕๐ ปี วัดคุ้งตะเภา", เล่ม ๑๓๓ ตอน ๔๔ ง, ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙, หน้า ๔๙-๕๐
- ↑ เคียง ชำนิ, "สำเนียงพูดคนสุโขทัย," ศิลปวัฒนธรรม, ๒๒,๑ (พฤศจิกายน ๒๕๔๓) : ๙๒-๙๔.
- ↑ สมชาย เดือนเพ็ญ นักวัฒนธรรมผู้เชี่ยวชาญภาษาถิ่นสุโขทัย ใน "เวทีประชาคมเพื่อชุมชนเข้มแข็ง ภาษาสุโขทัยรากฐานแผ่นดิน" ออกอากาศ ทางช่อง NBT วันที่ 10 เมษายน 2556
- ↑ เว็บไซต์วัดคุ้งตะเภา, สำเนียงภาษาถิ่นบ้านคุ้งตะเภา (ภาษาสุโขทัย), [ออน-ไลน์], เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก : https://sites.google.com/site/watkungtaphao/kitchakam/kungtapaomuseum/language เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงเมื่อ 31-10-57.
- ↑ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์. (2553). บันทึกการค้นคว้าวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นจากปราชญ์พื้นบ้านและภูมิปัญญาของแผ่นดินจังหวัดอุตรดิตถ์ประจำปีงบประมาณ 2553. อุตรดิตถ์ : พีออฟเซ็ตอาร์ต. หน้า 25
- ↑ พระมหาเทวประภาส มากคล้าย. "มังคละเภรี วิถีท่าเหนือที่สาบสูญ สืบค้นรากเหง้าคนลุ่มน้ำน่านภาษาถิ่นสุโขทัยตอนบน ในจังหวัดอุตรดิตถ์" ใน สูจิบัตรพิธีไหว้ครูดนตรีไทย ประจำปี ๒๕๕๘. คณะมนุษยศาสตร์ : มหาวิทยาลัยนเรศวร. ๒๕๕๘. หน้า ๔๖-๔๘.
- ↑ พระเดือนชัย แก้วแก้ว เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, เทวประภาส มากคล้าย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่วัดคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 19 สิงหาคม 2549.
- ↑ พระอธิการธง ฐิติธมฺโม (พระครูประดิษฐ์ธรรมธัช) เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, เทวประภาส มากคล้าย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่กุฎิสงฆ์วัดคุ้งตะเภา บ้านคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 13 เมษายน 2550.
- ↑ วิชลักษณ์ จั่นจีน เป็นผู้ให้สัมภาษณ์, เทวประภาส มากคล้าย เป็นผู้สัมภาษณ์, ที่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน สำนักปฏิบัติธรรมตระกูลธรรมะ บ้านคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ 31 กรกฎาคม 2550.
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
[แก้]- เทวประภาส มากคล้าย. (2553). คุ้งตะเภา จากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ISBN 9789743648847
- ธีระวัฒน์ แสนคำ. (2558). สวางคบุรีศรีคุ้งตะเภา : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับสมรภูมิสวางคบุรี-คุ้งตะเภา อนุสรณ์ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์ : สำนักงานสภาวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กระทรวงวัฒนธรรม. ISBN 978-616-543-334-1
- ธนวรรณ ฮองกุล. (2545). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษาบ้านคุ้งตะเภา หมู่ที่ 4 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. สารนิพนธ์ ป.กศ. (หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและการประเมินโครงการ). อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. อัดสำเนา
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซด์วัดคุ้งตะเภา เก็บถาวร 2015-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. วัดประจำหมู่บ้านคุ้งตะเภา
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ หมู่บ้านคุ้งตะเภา
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์